วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ขอประทานถวายรายงานการไปเที่ยวชวา อนุสนธิหนังสือซึ่งส่งมาถวายแต่บันดุง ลงวันที่ ๒๒ กันยายน นั้นต่อไป

ในวันที่ ๒๒ นั้น ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปดูโรงใบ้ จะเรียกว่าโรงพยาบาลหรือโรงเรียนอย่างเราก็เรียกไม่ลง รู้สึกในใจอย่างไรชอบกล จะสนุกก็ใช่จะเศร้าใจก็เชิง พูดไม่ถูก แต่รสชาติและที่เขาจัดทำกันอย่างไรนั้น ฝ่าพระบาทได้ทรงถึงแล้ว ไม่ควรกราบทูล

วันที่ ๒๔ เวลา ๙.๐๐ น. ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปเที่ยวจิลวนชา (Tjileuntja) อันเป็นตำบลที่มีโฮเต็ลอยู่ติดกับหนอง เป็นที่คนไปเล่นน้ำเล่นเรือ เที่ยวชมสถานที่ดื่มเครื่องดื่มแล้วกลับตำหนักบันดุง

วันที่ ๒๕ ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปบาดโฮเต็ล (Bad Hotel) ที่อาบน้ำ อันตั้งอยู่บนเขา ณ ตำบล ตันกูบันเปรา โปรดประทานเลี้ยงกลางวันส่งด้วยกับข้าวชวา แล้วกลับตำหนัก

วันที่ ๒๖ เวลา ๖.๐๐ น. ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปสนามบินพร้อมกันหมดที่อยู่ตำหนัก เพื่อพวกที่กลับจะได้ลา และพวกที่อยู่จะได้ส่ง เว้นแต่หญิงประสงค์คนเดียวเท่านั้นซึ่งเธอไม่ไปไหนเลย พอใกล้เวลาเครื่องบินออกเราก็ร่ำลากัน ทูลกระหม่อมกับแม่สัมพันธ์พาพวกเกล้ากระหม่อมขึ้นเครื่องบิน เวลา ๖.๒๕ น. เครื่องบินออกไปสู่สนามบตาเวีย เครื่องที่เดินสารไปวันนี้เป็นเครื่องใหม่ใช้เวลาเดินทางแต่บันดุงไปบตาเวียเพียง ๒๕ นาทีเท่านั้น เครื่องเก่าว่ากินเวลา ๔๕ นาที แม่โตนั้นครั่นคร้ามหนัก ด้วยได้ยินเขาว่ามีถุงกระดาษไว้ให้ใส่อาเจียนก็กลัวเมา แต่ถูกทูลกระหม่อมตรัสว่าถ้าไม่ไปเครื่องบินแล้วไปรถไฟคนเดียวเถิด ก็ต้องไป แต่ครั้นไปเข้าจริงๆ กลับชอบ ไม่มีท่าทางที่จะเมาเลย เห็นแผ่นดินน่าเอ็นดูเหมือนดุสิตธานี ค่อยเลื่อนไปช้าๆ สิ้นเวลา ๒๕ นาทีก็ถึงบตาเวียจริง ออกจากสนามบินบนบตาเวียด้วยรถยนตร์ไปโฮเต็ลเดอร์นิเดร์ลันเดนในเมือง ก็กินเวลา ๒๕ นาที เท่ากับเวลาที่มาเครื่องบินแต่บันดุงถึงบตาเวีย ทูลกระหม่อมทรงเลี้ยงอาหารเช้าด้วยข้าวต้มมัดและแซนด์วิชซึ่งทรงเตรียมไป กินกันที่ห้องพักในโอเต็ลเวลา ๑๐.๑๕ น. ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปส่งลงเรือชื่อ “โบถ” (Both) แล้วประทับสนทนาอยู่ด้วยจนเวลา ๑๑.๕๕ น. จึงเสด็จกลับจากเรือพร้อมด้วยแม่สัมพันธ์ พวกเกล้ากระหม่อมทูลลาจากด้วยใจอันหดหู่เวลาเที่ยงเรือออก ทูลกระหม่อมยังประทับยืนทอดพระเนตรอยู่ที่ท่าจนเรือเคลื่อนลับไป

วันที่ ๒๗ เวลา ๑๑.๔๕ น. เรือถึงมุนตก (Muntok) หยุดจอดสมอ มีเรือช่วงพ่วงเรือและบันทุกข้าราชการแต่งเต็มยศหลายคน ลงมารับข้าราชการคนหนึ่งซึ่งมาด้วยเรือที่เรามา เขาก็แต่งเต็มยศรับเหมือนกันเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ออกมาประจำการใหม่ เห็นขนของลงเรือพ่วงมากมาย มีบ่าวไพร่ชายหญิงด้วย ทั้งนี้บนบกก็แต่งธงเทียวเขียวเหลืองต้อนรับ เวลา ๑๒.๑๕ น. “โบถ” ออกเดินต่อไป มาเที่ยวนี้โชคไม่ดี แม่โตเมา แต่ชายงั่วเธอสังเกตเห็นว่าเพราะเรือต่อไม่ดี มีส่วนสั้นแต่กว้างมาก จึงทำให้โคลงเคลงไป

วันที่ ๒๘ เวลา ๗.๐๐ น. นึกว่าเรือจะไปจอดเทียบท่าที่ตันหยงปากาแต่ก็หาไปไม่ ทอดสมอลอยลำอยู่ที่หน้าเมือง ขณะเดียวกันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของ เรกษ์โฮเต็ล เอาเรือมารับขึ้นบก ถึงสะพานท่าน้ำก็มีมาอีกคนหนึ่ง จัดรถยนต์มารับไปโฮเต็ล ทั้งนี้เป็นด้วยได้เขียนหนังสือล่วงหน้ามาถึงกงสุลสยามให้จองโฮเต็ลไว้รับ พอถึงโฮเต็ลก็พบหม่อมเจ้าจิตรปรีดี ในกรมหลวงปราจิณ มาพักอยู่นั่นเหมือนกัน ว่าลามาเที่ยวเพื่อรักษาตัว จะไปเที่ยวชวาต่อไป อีกครู่หนึ่งกงสุลสยามก็มาเยี่ยม โฮเต็ลนั้น ในหลังที่พวกเกล้ากระหม่อมพักอยู่แรกเข้าก็สงบงบเงียบดี มีคนมาอยู่ก่อนแต่สองคน

วันที่ ๒๙ เกิดการโกลาหล ในเวลาบ่ายมีคนหลั่งไหลเข้ามามากล้วนแล้วไปด้วยผู้หญิงกับเด็ก ห้องมีว่างเท่าไรก็เข้าอยู่จนเต็มยัดเยียดกันห้องละห้าหกคน พวกเด็กๆ วิ่งเล่นกันอึกทึกอยู่หน้าห้องอย่างสนุกสนาน แต่เราไม่สนุกอย่างเอก นึกว่าช่างเถิด ทนเอาวันหนึ่งพรุงนี้ก็หลีกไปลงเรือเสีย แต่เรือเจ้ากรรมหามาถึงตามกำหนดไม่ เขาบอกว่าเลื่อนล่าไปอีกวันหนึ่ง ก็ไม่มีอย่างอื่น ต้องทนสู้ทุรกรรมไปอีกวันหนึ่ง พวกที่หลั่งไหลเข้ามาสู่โฮเต็ลนั้น สืบได้ความทีหลังว่าเป็นพวกครอบครัวของนายทหาร ซึ่งส่งจากประเทศอังกฤษไปเซี่ยงไฮ้ ส่วนตัวผัวนั้นว่าไปกางเตนต์อยู่ที่โรงทหาร เวลาค่ำไปกินเลี้ยงที่บ้านกงสุลสยาม เขาเชิญ

วันที่ ๓๐ เวลา ๑๑.๐๐ น. ไปดูมูเซียม ทราบอยู่แล้วว่ามูเซียมที่สิงคโปร์นั้นไม่ดี มีแต่ของจืดๆ และจับฉ่ายสุดแต่จะได้มา ไม่มีขีดขั้นก็แต่ทำไมจึงไปดู ไปด้วยสนทนากับกงสุลสยามถามเขาถึงของเก่าๆ ในมลายูประเทศ เขากล่าวถึงพระพุทธรูปซึ่งขุดได้ที่เประ ระลึกได้ว่าฝ่าพระบาทตรัสสรรเสริญว่าเป็นพระดีก็ให้อยากเห็น จึงถามเขาว่าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่ในมูเซียมสิงคโปร์นี่เอง นั่นแหละจึงต้องเผ่นไปดูแต่เหลวไม่มี ได้รับอธิบายว่าส่งมาไว้ชั่วคราวเพื่อให้ศาสตราจารย์ที่มูเซียมสิงคโปร์ตรวจจดบันทึกเท่านั้นเอง เสร็จแล้วส่งกลับไปไว้ไต้เผงเป็นอันเสียเส้นไปถนัดใจ ออกจากมูเซียมให้คนรถขับเที่ยววกวนไป เห็นมีกางเตนต์เป็นหมู่อยู่ที่สนามหน้าโรงเรียนชั้นสูงของจีนแห่งสิงคโปร์ หามีโรงทหารไม่ สืบได้ภายหลังว่าพวกที่มาจากเมืองอังกฤษนั้นอยู่ตึกในโรงทหาร ที่กางเตนต์อยู่นั้นเป็นพวกระดมพลในพื้นเมือง

วันที่ ๑ ตุลาคม เวลา ๑๔.๓๐ น. ไปลงเรือ “ลาลันเดีย” ดูรีบร้อนไปสักหน่อย เพราะเรือกำหนดว่าจะออกต่อเวลา ๑๗.๐๐ น. แต่ความจริงนั้นรีบหนีให้พ้นไปเสียจากฝูงเด็ก เวลา ๑๖.๐๐ น. กงสุลสยามมาส่ง แต่กลับไปก่อนด้วยเรือเลื่อนเวลาไปว่าจะออก ๒๓.๐๐ น. เพราะขนของขึ้นไม่แล้ว แตเขาก็รีบขน เวลา ๒๒.๐๐ น. ก็ได้ออกเรือเร็วกว่ากำหนดชั่วโมงหนึ่ง เรือเดินตลอดสองราตรีเรียบร้อยไม่มีคลื่นแต่หาปลอดตลอดไปไม่

วันที่ ๓ มีคลื่นมาทำให้เรือโยกไปบ้าง แม่โตลุกไม่ขึ้นตามเคย

วันที่ ๔ ตั้งแต่เช้าก็ไม่มีคลื่นแล้ว เวลา ๑๑.๒๕ น. ถึงเกาะสีชังพอถึงก็ได้รับหนังสือของชายดิศ บอกว่าเรือ “ลาลันเดีย” มาเที่ยวนี้บันทุกของมามากจะต้องถ่ายของลงเรือลำเลียงกันเวลาประมาณห้าหกวัน มีช่องที่เกล้ากระหม่อมจะหลบหลีกไปได้ นอกจากไปด้วยเรือเล็กสองทาง คือไปทางบกขึ้นที่ศรีราชาอย่างหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็คอยไปกับเรือ “นิภา” ซึ่งจะกลับจากจันทบุรีถึงเกาะสีชังวันที่ ๕ เวลาราว ๒ ยาม กลับเข้าถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๖ เช้า เกล้ากระหม่อมก็เลือกเอาหลังเพราะง่ายสะดวกกว่า ครั้นเวลาค่ำเธอมีหนังสือถึงหญิงอามว่าได้รับโทรเลขกัปตันเรือ “นิภา” ว่าเรือจะถึงเกาะสีชังได้ช้าไปกว่ากำหนด ต้องเปลี่ยนเวลาไปถ่ายลำลงเรือ “นิภา” เวลาเช้าวันที่ ๖ แล้วจะถึงกรุงเทพฯ วันนั้นเหมือนกันราว ๔ โมงเช้า ตามกำหนดใหม่นี้ก็เป็นการสะดวกขึ้น

วันที่ ๖ เวลา ๖.๒๐ น. กัปตันเรือ “ลาลันเดีย” จัดการให้ถ่ายลำไปลงเรือ “นิภา” ภายใน ๑๕ นาทีเรือ “นิภา” ก็ออกแล่นเข้ากรุงเทพฯ แต่ถึงท่าห้างอีสต์เอเซียติกวัดพระยาไกรเป็น ๑๓.๓๕ น. ไม่ใช่ ๑๐.๐๐ น. อย่างคาด แต่ก็หาเป็นไรไม่ อยู่ในเรือก็เหมือนอยู่บ้าน ครั้นถึงท่าแล้วก็พากันกลับบ้านคลองเตย เป็นสิ้นรายงานการไปเที่ยวชวาเพียงเท่านี้ คราวนี้ไปดีมาดีไม่มีใครเจ็บไข้ และไม่มีอะไรขัดข้องด้วย

ตามที่กราบทูลว่าจะย่อเรื่อง ปันหยีสะมิรัง มาถวายนั้น ได้เขียนย่อไว้เสร็จแล้ว แต่จะให้ดีดพิมพ์ส่งถวายมาในคราวนี้ด้วยก็สงสารลูกผู้ดีดพิมพ์ เกรงจะต้องติดตาดำตาแดงด้วยเวลามีน้อย หนังสือนี้ก็ยาวอยู่แล้ว จึงระงับไว้จะให้ดีดส่งมาถวายกับหนังสือคราวหน้า

ข้อที่ใคร่จะทรงทราบว่าใครไปงานทูลกระหม่อมชายที่วัดเบญจมบพิตรบ้างนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้นึกเมื่อเขียนรายงานถวายมาเหมือนกัน ว่าคงเป็นข้อที่ใคร่จะทรงทราบ แต่จะพรรณนารายชื่อมาถวายก็เห็นว่าจะยืดยาวนัก แล้วก็จะจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ทูลไม่ได้สมบูรณ์ก็ไม่ดี จึงจะตรัสกราบทูลจำเพาะแต่ที่ทรงพระวิตกเป็นข้อใหญ่ว่าพวกดิศกุลมีไปกันหลายคน

พระแก้วเชียงแสน ได้นึกเหมือนกันว่ามีโอกาสเดียว ที่กรมหลวงวงษาจะเป็นผู้นำมาถวาย แต่ไม่ได้เห็นลายพระราชหัตถเลขาจึงไม่แน่ใจ บัดนี้ได้รับพระดำรัสอธิบายได้ความแน่ใจถึงที่สุดแล้ว พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า

เรื่องหอพระนาก เมื่อได้ประทานพระดำรัสว่าเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ ก็ทำให้แจ้งใจยิ่งขึ้น ตามที่กราบทูลว่าเห็นเค้าหอพระนากเป็นชั้นรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นความจริงดังนั้น แต่สังเกตเห็นอยู่เหมือนกันว่า ลางสิ่งเป็นแบบก่อนที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ก็มี จึงเป็นอันยุติแน่ใจได้ ว่าเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ แล้วทำซ่อมแปลงแก้ไขในรัชกาลที่ ๓ เป็นส่วนมาก ทั้งทำเพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๕ และที่ ๗ อีกด้วย

เรื่องพระนากในหอพระนากนั้น ไม่เคยทราบเลยว่าคือองค์ใหญ่ที่อยู่ในวิหารยอด ด้วยไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเลย เห็นแต่หาพระเทพบิดรกัน เดาชี้กันว่าองค์นั้นองค์นี้ แต่เกล้ากระหม่อมไม่มีใจเห็นด้วยตามที่เดากันนั้นเลย เพราะพระเทพบิดรเดิมสร้างเป็นเทวรูป แล้วจึงมาแปลงเป็นพระพุทธรูป ถ้าชี้ถูกจะต้องเห็นปรากฏเค้าว่าเป็นบวชเทวรูปหุ่นอันหล่อด้วยอะไรก็ตาม จะปรากฏเป็นพระพุทธรูปอันครองจีวรหาได้ไม่ เว้นเสียแต่จะยุบหล่อใหม่ ส่วนองค์พระนากเดิมในหอย้ายไปไว้ที่วิหารยอดนั้น ว่าย้ายไปไว้วัดจักรวรรดิ์ก็เป็นอันเข้าใจผิดไปถนัดทีเดียว

ได้ส่งหมายกำหนดการมาถวายคราวนี้ด้วย ๓ ฉบับ ไม่มีประสงค์อย่างอื่นนอกจากเพื่อให้ทรงทราบ ว่าที่บางกอกมีงานอะไรอย่างไรเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ