วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ นั้นแล้ว

ผิดหวังที่ตั้งใจคอยฟังพระดำรัสเล่า ถึงเขาทำศราทธพรตถวายพระโป๊บ แต่เผอิญเป็นงานอย่างบ้านนอก ไม่มีอะไรหรูหราที่ควรตรัส ก็เป็นอันต้องระงับไปอยู่เอง

ส้มจัฟฟานั้น ไม่จำเป็นต้องทรงพระวิตกที่จะส่งเข้าไปประทานมากนัก แม้ได้ช่องที่มีพวกเราจะกลับ จะโปรดฝากให้นำไปประทานนั้นควรอยู่ ถ้าเป็นพวกอื่นเช่นฝรั่งที่ทรงรู้จักเป็นต้น ถึงว่าเขาจะกลับทางรถไฟก็ไม่ควรประทานฝากเข้าไปด้วยเป็นการลำบากแก่เขาที่เขาจะต้องนำไปส่ง ให้เป็นการได้ประทานอย่างง่ายสะดวก ดีกว่าที่จะได้ประทานอย่างยากเย็นด้วยเป็นประโยชน์ไม่คุ้มกัน

คราวนี้ว่างๆ จะกราบทูลปัญหาสองสามข้อที่คิดไว้ แต่สำหรับทรงเล่นสนุก ๆ เท่านั้น

ปัญหาที่ ๑ ลองประกอบโกศใส่ศพกับโกศใส่กระดูก เป็นของสิ่งเดียวกันหรือมิใช่ ตามสังเกตเห็นผิดกัน ลองประกอบโกศศพนั้นอ้วนเตี้ยสัณฐานไปทางมณฑป โกศกระดูกนั้นผอมสูง สันฐานไปทางกล่อง เช่นกล่องพระสุพรรณบัตร กล่องพระราชสาร และกล่องดวงใจทศกรรฐ์ ซึ่งเขาเขียนไว้ที่ฝาผนังเป็นที่สุด ตัวลองประกอบโกศศพกับโกศอัฐินั้นมีลักษณะเหมือนกัน คือมีสี่เหลี่ยมเจียดมุม (ไม้สิบสองก็อยู่ในพวกนี้ หากทำประณีตไปเท่านั้น) และมีแปดเหลี่ยม มีกลม (อย่างมณฑปนั้นเกิดทีหลังไม่นับเข้าด้วย) แต่ฝานั้นมีลักษณะน้อยกว่ากันไป ลองประกอบโกศศพมีฝาเป็นหลังคายอด เป็นมงกุฎและเป็นปริก แต่โกศกระดูกนั้นไม่มียอดที่เป็นหลังคา อันนี้ก็ไปสมกันเข้ากับที่สังเกตเห็นว่า โกศกระดูกรูปเหมือนกล่องไม่ใช่เรือน จึงไม่มีหลังคา ฉลองประกอบโกศศพเหมือนมณฑปฝาจึงได้มีหลังคา เพราะมาแต่เรือน ซ้ำฐานที่รองก็ช่วยอีกด้วย คือเบญจาอันมีลักษณะเป็นฐาน มีพนักคั่นกับซุ้มเหมือนกันกับฐานพระพุทธ (โบโรบดูร์ เว้นแต่ไม่มีกระไดเท่านั้นเพราะเล็ก ยิ่งแสดงให้เห็นปรากฏขึ้นอีกว่าลองประกอบโกศศพนั้นได้แก่มณฑป ที่ตั้งชั้นแว่นฟ้าก็คือเตียงกระจกซ้อนกัน เป็นของมาทีหลัง เมื่อรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใส่ศพแล้ว จับอะไรก็เอาเข้าไปสุดแต่ง่าย เป็นน่าประหลาดใจที่ว่าโกศศพนั้นมาแต่ไหน ดูเหมือนว่าจะเป็นของใหม่ แล้วใช้ใส่แต่เจ้า นอกนั้นใช้หีบ (แม้แต่พระพุทธเจ้า อันนับว่าสูงที่สุดแล้ว เห็นเขียนรูปภาพกันก็ใส่หีบ) ส่วนกระดูกนั้นใส่โกศทั่วไปไม่ใช้หีบเลย เพราะเหตุทั้งหลายเช่นพรรณนามาแล้วนั้น จึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าโกศศพกับโกศกระดูกจะเกี่ยวเนื่องกันหรือหาไม่

ปัญหาที่ ๒ การแต่งศพนั่งเข้าโกศเป็นแบบอย่างมาแต่ไหน แต่แรกนึกว่าเป็นประเพณีมาแต่อินเดีย แต่สืบดูก็หาใช่ไม่ ที่นั่นเขาไม่ได้แต่งศพนั่ง แม้มัมมีอิยิปต์ก็ได้สืบ ไม่มีแต่งนั่งเหมือนกัน

ปัญหาที่ ๓ การแต่งตัวดำขาวในการศพ เป็นประเพณีมาแต่ไหน แต่งดำนั้นรู้ว่าเอาอย่างฝรั่งมา ส่วนนุ่งขาวนั้นเดิมนึกว่าเอาอย่างจีน แต่ได้สอบถามพระเจนจีนอักษรกลายเป็นไม่ใช่ ว่าประเพณีจีนไว้ทุกข์ เขานุ่งผ้าป่าน (สีเหลืองเทา) ไม่ใช่ขาว ทั้งนี้ก็นึกได้สมจริง ด้วยได้เคยเห็นพระยารัษฎา (ซิมบี้) ไว้ทุกข์ให้แก่มารดา สวมเสื้อกางเกงผ้าป่าน และที่ปลายมือปลายเท้าซึ่งควรจะเล็มก็ไม่เล็มด้วย ปล่อยไว้ให้ทะลุ้ยรุกรุย เป็นทีว่าครองอยู่จนยับเยิน เมื่อเช่นนั้นก็เหลือแต่สงสัยไม่แจ้งว่ามาทางไหน จนเมื่อทูลกระหม่อมชายเสด็จไปเที่ยวอินเดีย ทรงพระเมตตาส่งสมุดรูป ตาช มหัล ในเมืองอากรา อันมีหนังสืออธิบายอยู่ในนั้นเล็กน้อยไปประทาน มีปรากฏว่า พระเจ้าฉ่าห์ซะห่าน (Shahzahan) ทรงขาวไว้ทุกข์ประทานพระอัครมเหสี ซึ่งพระศพอยู่ใน ตาช มหัล นั้นทำให้จับเอาใจว่า หรือการนุ่งขาวของเรา จะรับเอาประเพณีอาหรับในอินเดียมาดอกกระมัง ตามที่คิดเช่นนี้ก็เพราะเห็นพวกฮินดูเจ้าของประเทศเขาย่อมนุ่งขาวกันอยู่เป็นปกติ ไม่ใช่สัญญาไว้ทุกข์ แต่ก็เพียงสงสัยเท่านั้น ไม่ตัดสินใจลงไปเป็นแน่ได้ อาจมาทางอื่นก็ได้

ปัญหาที่ ๔ ถนนสีลม อีกชื่อหนึ่งทางปากถนนตรงจากหัวลำโพง เรียกว่า ศาลาแดง สีลมอยู่ที่ไหน ศาลาแดงเป็นศาลาอะไรอยู่ที่ไหนอะไรแดง ไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบเลย ฝ่าพระบาทจะได้ทรงทราบและตรัสชี้แจงให้ทราบเกล้าได้บ้างหรือไม่

เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ เข้าไปพระที่นั่งอมรินทร์ในการพระราชพิธีรัชมงคล มีการซึ่งมากออกไปกว่าที่มีในหมายกำหนดการ อันได้ส่งมาถวายอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ คือเมื่อเวียนเทียนแล้วมีพนักงานเชิญพระราชลัญจกรสำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ทำใหม่ ซึ่งรองพานตั้งไว้ที่เตียงลาพระที่นั่งเศวตฉัตรเป็นการฉลอง เข้าไปถวายประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ทรงเจิม เขาว่าพระราชลัญจกรนั้นแกะเป็นรูปพระโพธิสัตว์ปทัมปาณี คือตรารูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงบัญญัติขึ้นเป็นตราสำหรับพระราชวังดุสิตนั้น

จะกราบทูลแถมเป็นรายงานให้ทรงทราบว่า เมื่อกลับจากพระบรมมหาราชวังวันนั้น ผ่านร้านขายแผนที่ที่เชิงสะพานข้างโรงสี นึกขึ้นมาได้ถึงเกร็ดใหญ่ จึงแวะเข้าไปหาแผนที่ก็ได้สำเร็จสมดังประสงค์ ได้ที่หมายในนั้นตามที่กล่าว ปรากฏในราชพงศาวดาร มีหมู่บ้านไก่เตี้ยอยู่ใต้สามโคก มีหมายวัดลงไว้ในหมู่บ้าน แต่ไม่ได้จดชื่อวัดไว้ แม้กระนั้นก็ไม่มีสงสัยอะไร ชื่อวัดก็จะต้องเหมือนชื่อหมู่บ้าน จะเขียนแผนที่มาถวายให้ทอดพระเนตรในวันนั้น ที่สันนิษฐานทูลมาก่อน ว่าเชียงรากน้อยกับเชียงรากใหญ่ เห็นจะติดต่อกันเป็นแม่น้ำอ้อมนั้นผิด ที่แท้เป็นคนละลำไม่ติดต่อกัน ต่างก็ยื่นเข้าไปในทุ่งแยกไปหลายสาขา แต่ว่าขาดเป็นห้วงเป็นตอน กลายเป็นบึงเป็นหนองระกะไป จะเป็นลำน้ำไปติดต่อกับอะไรที่ไหนก็ไม่ได้พิจารณา เพราะว่าไม่ใช่ประโยชน์ที่จะพึงพิจารณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ