วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๘ ตุลาคม สมดังคาดแล้ว

การเสด็จไปชวาเที่ยวนี้ ตามที่ตรัสเล่ามานับได้ว่าเป็นสุขสนุกสบายเรียบร้อยตลอดทาง แม้คุณโตเมาคลื่นบ้างกลับถึงวังพบลูกหลานก็จะลืมความรำคาญในทันที น่าอัศจรรย์ที่เดี๋ยวนี้มีเครื่องบินลำใหม่วิเศษขึ้นกว่าเก่า อาจจะมาจากบันดุงถึงเมืองบะเตเวียได้เพียงเวลา ๒๕ นาที เมื่อหม่อมฉัน ๔๕ นาที จึงถึงก็ยังคิดพิศวงอยู่แล้ว ขึ้นเครื่องนั้นผิดคาดอยู่อย่างหนึ่งดังตรัสมา ที่รู้สึกว่ามาช้าๆ อยู่่บนนั้นไม่รู้สึกว่ารวดเร็วเลยดูแผ่นดินลงมาจากเครื่องบินในกรุงเทพฯ ยังยิ่งน่าพิศวงมาก เพราะแลเห็นสิ่งที่เราเคยรู้จักมักกลายไปเป็นอย่างหนึ่งมิได้เคยนึก เช่นเห็นยอดพระปรางค์วัดอรุณอยู่ตรงใต้ที่นั่งของเราเป็นต้น ทูลกระหม่อมชายท่านเคยพาหม่อมฉันไปลองขึ้นเครื่องบินครั้งแรกด้วยกันกับทูลกระหม่อมเอียดและกรมขุนมรุพงศ์ บินมาจากดอนเมืองพอถึงบางซื่อ หม่อมฉันแลเห็นสนามแห่งหนึ่งในพระนครสีแดงฉาด คิดฉงนไม่รู้ว่าอะไร จนใกล้จึงรู้ว่าผ้าแดงดาดหลังคาพลับพลาหน้าพระเมรุสมเด็จพระมหาสมณะที่ท้องสนามหลวง ดูสิ่งต่าง ๆตามพื้นที่สนุกเพลิดเพลินจนลืมหวาดหวั่น

จะทูลวินิจฉัยเรื่องพระเทพบิดรสนองลายพระหัตถ์ฉบับนี้ต่อไปสักหน่อย หม่อมฉันพลิกดูในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๑ (ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘) พบเรื่องพระเทพบิดรมีอยู่ในตอนว่าด้วยสร้างวัดพระแก้ว (หน้า ๖๘) ว่า “อนึ่งโปรดให้เชิญพระเทพบิดร คือพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมวงศ์สร้างกรุงเก่า มาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทองประดิษฐานไว้ในพระวิหาร พระวิหารนั้นพระราชทานนามว่าหอพระเทพบิดร” ดังนี้คิดเห็นอธิบาย ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ พระเทพบิดรนั้นเดิมเป็นเทวรูป จึง “แปลง” เป็นพระพุทธรูป

ข้อ ๒ พระเทพบิดรเมื่อเชิญลงมากรุงเทพฯ คงชำรุดเหลือแต่เป็นชิ้นๆ จึงเปนมูลเหตุที่ต้องบุรณปฏิสังขรณ์

ข้อ ๓ เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วโปรดให้สร้าง “หอพระเทพบิดร” เป็นที่ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรงกับความในร่างจารึกเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อรัชกาลที่ ๓ (ร่างจารึกนั้นหอพระสมุด พิมพ์แล้วถ้าท่านยังไม่ได้ทรงอ่านควรเรียกมาทรงพิจารณา ด้วยพรรณนาถึงสิ่งต่างๆที่เป็นอยู่อย่างไร เมื่อรัชกาลที่ ๑ หลายสิ่ง) เพิ่งมารื้อเสียเมื่อรัชกาลที่ ๓

แต่วินิจฉัยซึ่งหม่อมฉันเพิ่งคิดได้ใหม่ ดังจะทูลต่อไปนี้ นานมาแล้วหม่อมฉันไปเที่ยววัดพุทไธสวรรย์ เมื่อเดินดูองค์พระปรางค์ไปตามทางฐานประทักษิณถึงมุขหน้าทางข้างซ้าย เห็นมีบายศรีตองกับเครื่องสักการะทิ้งอยู่ หม่อมฉันถามพระยาโบราณกับพวกชาวกรุงเก่าที่ไปด้วย ว่านี่เขาบูชาอะไรกัน เขาบอกว่าคนชอบมาบูชาพระเทพบิดรที่อยู่ในซุ้มคูหาฝามุขพระปรางค์ตรงนั้น แลขึ้นไปดูเป็นซุ้มจรณัม มีประตูบานไม้อย่างมีอกเลาปิดอยู่ หม่อมฉันให้เปิดประตูดูองค์พระเทพบิดร เป็นพระพุทธรูปยืน (ดูเหมือนจะเป็นมุทรยกพระหัตถ์ข้างขวาประทานพร) สูงขนาดสักเท่าคนปั้นติดไว้กับฝาผนังข้างๆ ใน ดูฝีมือที่ทำไม่งดงามเป็นแต่ปิดทองไว้อร่ามทั้งองค์ พระยาโบราณเล่าเรื่องตามคำบอกเล่าของชาวกรุงเก่าให้หม่อมฉันฟัง ว่าพระเทพบิดรองค์นั้นเดิมเป็นเทวรูป พวกชาวกรุงเก่าเรียกกันว่า “พระเจ้าอู่ทอง” ศักดิ์สิทธิ์นัก ผู้คนจึงชอบบนบาลเส้นสรวงเสมอไม่ขาด แต่อยู่มาพระเจ้าอู่ทององค์นั้นเกิดดุร้ายจนชาวกรุงเก่าพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามทั่วไป กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมช้างเสด็จขึ้นบัญชาการซ่อมแซมพะเนียด ทรงทราบจึงโปรดให้ปั้นแปลงรูปพระเจ้าอู่ทองเป็นพระพุทธรูป แต่นั้นก็หายดุร้าย ถึงกระนั้นคนก็ยังนับถือกลัวเกรงพากันไปบนบวงอยู่เสมอ บายศรีที่หม่อมฉันเห็น ๆ จะเป็นของสินบนถวายเมื่อกลางคืนที่ล่วงมาจึงยังทิ้งอยู่ เวลานั้นหม่อมฉันก็ไม่ได้เอาใจใส่ไต่สวน เมื่ออ่านลายพระหัตถ์คิดถึงศักราชขึ้นจึงแลเห็นวินิจฉัยกว้างขวางออกไป คือ

เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาหอพระเทพบิดรอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในการพิธีถือน้ำประจำปีบรรดาข้าราชการต้องไปบูชาพระเทพบิดรเสมอเป็นนิจมาจนเสียกรุงในปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ครั้งเสียกรุงนั้นไฟไหม้วัดพระศรีสรรเพชญ์หมดทั้งวัด ของที่หล่อด้วยโลหะ เช่นพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ดาญาณเป็นต้น ตลอดจนรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างบรรดาที่อยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ถูกไฟไหม้ละลายเหลืออยู่แต่ทรากเป็นท่อนๆ ทั้งนั้น พระเทพบิดรก็คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน จนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้เชิญพระเทพบิดรลงมากรุงเทพฯ จึงเกิดปัญหาน่าคิดว่าในระหว่าง ๑๗ ปี ตั้งแต่เสียกรุงเก่ามาจนเชิญลงมากรุงเทพฯ พระเทพบิดรอยู่ที่ไหน ข้อนี้ส่อว่าเทวรูปพระเทพบิดรที่วัดพุทไธสวรรย์กับที่เชิญลงมากรุงเทพฯ เห็นจะเป็นองค์เดียวกันนั่นเอง เรื่องประวัติของพระเทพบิดรในตอนนั้นดูพอจะคิดเห็นได้ไม่ยาก ด้วยเมื่อสมัยกรุงธนบุรีราชธานีเก่ายับเยินหมด ราชธานีใหม่ก็ยังไม่ได้ตั้งเป็นปึกแผ่น หม่อมฉันอยากจะลงเนื้อเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเองทรงปรารภถึงพระเทพบิดร ซึ่งเคยนับถือว่าเป็นรูปพระมหาชนกของเมืองไทย แต่จะทำอย่างอื่นให้คืนดีเหมือนอย่างเดิมยังไม่ได้ เพราะเป็นเวลากำลังติดการทัพศึก และยังสร้างราชธานีใหม่ไม่สำเร็จ จึงโปรดให้เชิญไปปฏิสังขรณ์อย่างติดต่อปั้นพอกพอเป็นรูปประดิษฐานไว้ที่ซุ้มพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ อันเป็นวัดที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง ก็เทวรูปพระเทพบิดรนั้นนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก คนก็พากันชอบไปบูชาตลอดเวลาที่อยู่ ณ วัดพุทไธสวรรย์ หม่อมฉันเห็นว่าเมื่อเชิญพระเทพบิดรลงมากรุงเทพฯ นั้น คงเชิญมาจากวัดพุทไธสวรรย์และเลาะเอาแต่ชิ้นโลหะของเดิมมา จึงเกิดกรณีที่ต้องหล่อใหม่

ที่สร้างแปลงเป็นพระพุทธรูปนั้น หม่อมฉันคิดเห็นเหตุอีกอย่าง ๑ ด้วยจำเดิมแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มา ในงานพิธีถือน้ำประจำปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ข้าราชการถวายบังคมพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแทนพระเทพบิดรมา ๓ ปีแล้ว ถ้าหล่อพระเทพบิดรเป็นเทวรูปอย่างเดิมเกรงจะเกิดปัญหาว่า ควรคงถวายบังคมพระบรมมหาชนก หรือกลับถวายบังคมพระเทพบิดร ตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระวิตกเกรงจะเกิดเกี่ยงแย่งกันขึ้น จึงโปรดให้หล่อแปลงเป็นพระพุทธรูปเพื่อจะตัดปัญหานั้นมิให้เกิดขึ้นทีเดียว ที่ว่าข้อนี้เป็นแต่เพียงคะเนนึกซึ่งอาจจะผิดไม่มีมูลเลยก็ได้ หากทรงพระราชดำริเช่นนั้นจริงก็ถูก เพราะพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นพระราชวงศ์ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นต้นพระราชวงศ์ซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์

เขียนมาเพียงนี้ถึงเที่ยงครึ่งวันพฤหัสบดีที่จะส่งเมล์ ต้องงดเพียงนี้ที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ