วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน กับหมายกำหนดการรับเสด็จฉบับที่ ๙/๒ แล้ว

ความที่ทรงพรรณนารับเสด็จฯ ในลายพระหัตถ์นั้นหม่อมฉันชอบใจมาก ด้วยมีเรื่องลอดช่องที่ยังขาดอยู่ในหนังสือพิมพ์ข่าวเช่นบางกอกไตมส์เป็นต้น ทำให้รู้เรื่องที่อยากรู้บริบูรณ์ดีขึ้น พิเคราะห์โดยทั่วไปการรับเสด็จครั้งนี้ดูเป็นการรื่นเริงเรียบร้อยสมพระเกียรติยศงามดีทุกสถาน โปรแกรมที่กะนั้นก็ไม่มีที่ติดูพอสมควรแก่การหมดทุกอย่าง

หม่อมฉันเคยนึกเป็นกังวลถึงตอนที่จะทรงทำพิธีพุทธมามกะ อันเป็นพิธีซึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณะฯ ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับทำเมื่อส่งพระราชกุมารไปทรงศึกษายังต่างประเทศ พิธีนี้เคยทำแต่พระธรรมยุตตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณะเป็นต้นมาจนสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ หม่อมฉันหวาดมาแต่เรื่องลูกกรมขุนมรุพงศ์บวช เกรงว่าครั้งนี้จะนิมนต์แต่พระธรรมยุตเป็นคณะปรก ไม่นึกไปถึงว่าที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำพิธีพุทธมามกะนั้นเป็นการแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกด้วย ผิดกับผู้อื่นเคยทำพิธีพุทธมามกะมาแต่ก่อน ต้องนิมนต์ทั้งพระสงฆ์ธรรมยุตและมหานิกายรวมกันเป็นคณะปรกจึงจะสมควร และไม่ขัดข้องอย่างไรเพราะมิใช่ทำสังฆกรรม เมื่อความวิตกมีอยู่เช่นทูลมา เมล์มาถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ หม่อมฉันอ่านหนังสือบางกอกไตมส์เห็นรายการรับเสด็จ แม้แต่งเป็นภาษาและสำนวนอังกฤษก็สังเกตความพอรู้เรื่องได้ ปรากฏว่ากะโปรแกรมให้พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ไปรับเสด็จถวายชัยที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกวันหนึ่งต่างหาก แทนรับเสด็จที่ตำหนักแพอย่างแต่ก่อน เมื่อถึงวันกำหนดพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงบูชาพระรัตนตรัยแล้วทรงตั้งสมเด็จพระวันรัตน์เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วก็ทำพิธีพุทธมามกะติดต่อกันไป ถ้าถูกดังหม่อมฉันเข้าใจเช่นทูลนี้ พระสงฆ์คณะปรกก็เป็น ๒ นิกายรวม หม่อมฉันอยากชมความคิดที่จัดว่าดีและสมควรทุกสถาน

ยังมีการอื่นไม่เกี่ยวแก่รับเสด็จอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอยากชมรัฐบาลด้วยได้เห็นในหนังสือพิมพ์ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่ารัฐบาลเปลี่ยนชื่ออำเภอต่างๆ ตามหัวเมืองหลายอำเภอ สังเกตรายชื่อก็พอเข้าใจเหตุที่เปลี่ยนได้ เพราะเป็นเรื่องเคยเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันมาแต่ก่อน จะรวมเรื่องทูลให้ทรงทราบตั้งแต่ต้น เสมือนเขียนรักษาไว้ในจดหมายเวรมิให้เรื่องสูญเสีย

เดิมเมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเริ่มจัดระเบียบปกครองท้องที่ ได้กำหนดอาณาเขตการปกครองเป็นหลั่นกันเป็น ๕ ชั้น คือ

“มณฑล” เอาชื่อเมืองสำคัญกว่าเพื่อนในมณฑลนั้นใช้เป็นนามมณฑล เช่นเรียกว่ามณฑลพิษณุโลกและมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นต้น

“เมือง” ใช้ชื่อเดิมทั้งนั้น

“อำเภอ” ลักษณะที่ปันอาณาเขตเมืองเป็นอำเภอแต่โบราณ มีเฉพาะราชธานีกับหัวเมืองใหญ่บางเมือง เมื่อตั้งระเบียบใหม่ให้มีอำเภอทุกเมืองจึงต้องตั้งชื่ออำเภอ ในการตั้งชื่ออำเภอต่างๆ นั้น อำเภออันเป็นท้องที่ตั้งที่ว่าการเมืองให้เรียกว่า “อำเภอเมือง” ทุกแห่ง นอกจากอำเภอเมือง หม่อมฉันถือเป็นหลักว่าถ้าชื่อเดิมมีให้ใช้ชื่อเดิม ยกตัวอย่างดังเช่นที่พระนครศรีอยุธยา ในสมัยเมื่อยังเป็นราชธานีที่ภายนอกพระนครปันเป็น ๓ อำเภอ ทางฝ่ายเหนือเรียกว่า “อำเภอนคร”ทางฝ่ายใต้เรียกว่า “อำเภออุไทย” ทางฝ่ายตะวันตกเรียกว่า “อำเภอเสนา” และตรงที่ตั้งพระนครเรียกว่า “อำเภอรอบกรุง” (สงสัยว่าอำเภอนี้จะเพิ่งตั้งเมื่อมิได้เป็นราชธานีแล้ว) รวมเป็น ๔ อำเภอด้วยกัน เมื่อก่อนหม่อมฉันจัดระเบียบใหม่เห็นปันเขตอำเภอเป็นหลายภาคอยู่แล้ว มีอำเภออุไทยใหญ่และอำเภออุไทยน้อยเป็นต้น เมื่อหม่อมฉันจัดใหม่อำเภอใดมีคนมากเกินกว่าจะปกครองได้สะดวก จึงทำตามแบบเก่าปันอาณาเขตออกเป็น ๒ อำเภอบ้าง ๓ อำเภอก็มี หม่อมฉันให้คงใช้ชื่อเดิมเป็นแต่เพิ่มคำคุณศัพท์เข้าข้างท้ายเช่นว่า “อำเภอนครใน” “อำเภอนครหลวง” และ “อำเภอนครน้อย” ส่วนเมืองอื่นๆ เมื่อจัดระเบียบครั้งนั้นมียุบเมืองลงเป็นแต่อำเภอก็มี เช่น เมืองพรหม และเมืองอินทรเป็นต้น หม่อมฉันก็ให้คงใช้ชื่อเดิม เรียกว่าอำเภอพรหมบุรี และอินทรบุรี “เมืองขึ้น” ที่แปลงเป็นอำเภอ เช่น เมืองขลุง และเมืองแกลงที่ขึ้นเมืองจันทบุรี เป็นต้น ก็ให้คงชื่อเดิมเป็นแต่เปลี่ยนคำ “เมือง” เป็น “อำเภอ” ยังพวกเมืองที่มีในมณฑลอุดรและอิสานก็ยุ่งมาก เพราะตั้งเมืองไว้มากมายต้องยุบลงเป็นอำเภอก็มีจนถึงเป็นตำบลก็มี แต่หม่อมฉันถือเป็นหลักให้เรียกชื่อเดิมมิให้สูญเสีย ต่อท้องที่ที่ไม่เคยเป็นอำเภอมาแต่ก่อนตั้งเป็นอำเภอขึ้นใหม่จึงตั้งชื่อใหม่ เลือกเอาชื่อภูมิลำเนาที่ราษฎรถือกันว่าเป็นสำคัญในถิ่นนั้นใช้เป็นชื่ออำเภอ เช่น “อำเภอสองพี่น้อง” “อำเภอนางบวช” แขวงเมืองสุพรรณ และ “อำเภอเดิมบาง” แขวงเมืองชัยนาทเป็นต้น

“ตำบล” ใช้ชื่อบ้านสำคัญในท้องที่เป็นชื่อตำบล เช่น “ตำบลบ้านแป้ง” และ “ตำบลบ้านตลาดเกรียบ” แขวงอำเภอพระราชวัง (บางปะอิน) เป็นต้น

“หมู่บ้าน” ให้ใช้แต่จำนวนเลขเป็นลำดับกันในตำบลแทนชื่อ แต่ราษฎรชอบเรียกชื่อผู้ใหญ่บ้านเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่นว่า “หมู่บ้านผู้ใหญ่เสา” เป็นต้น

แบบที่จัดขึ้นดังพรรณนามานี้ได้ใช้เป็นระเบียบเรียบร้อยมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อหม่อมฉันทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เป็นสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล และเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เจ้าพระยายมราชใช้พระยาเพ็ชรปาณี (ดั่น รักตประจิตร) ซึ่งเคยรับราชการอยู่กับเจ้าพระยายมราช เมื่อยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดปันเขตอำเภอในกรุงเทพฯ ตามแบบอำเภอที่ได้วางเป็นระเบียบหัวเมือง (บางทีท่านคงจะทรงจำได้ เมื่อมีหลักป้ายบอกชื่ออำเภอรายระกะไปตามถนน) ครั้งนั้นสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ตรัสติชื่ออำเภอที่นครบาลคิดขึ้น ๒ อำเภอคือ อำเภอที่ตั้งริมคลองบางกอกน้อยให้ชื่อว่า “อำเภออมรินทร์”อำเภอ ๑ อำเภอที่ตั้งทางคลองบางกอกใหญ่ ให้ชื่อว่า “อำเภอหงสาราม” อำเภอ ๑ ดำรัสว่าไปเอาชื่อวัดมาเป็นชื่ออำเภอทำไม ชื่อบางสำคัญกว่า จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็น “อำเภอบางกอกน้อย” และ “อำเภอบางกอกใหญ่” ตามท้องที่ตั้งอำเภอ ครั้งนั้นทรงพระราชปรารภต่อไปถึงชื่ออำเภอตามหัวเมือง ว่ายังเรียกไม่ตรงกับชื่อท้องที่ตั้งมีอยู่หลายแห่ง เช่นที่เรียกว่าอำเภอเสนาและอำเภออุไทยในเขตกรุงเก่าเป็นต้น และเลยทรงพระราชดำริต่อไปถึงคำ “เมือง” ว่าหมายความเกินไป โปรดให้เรียกเป็น ๒ อย่าง ถ้าเรียกรวมทั้งอาณาเขต “เมือง” ตามแบบเก่าให้เรียกว่า “จังหวัด” ตรงกับ Province ให้เรียกเฉพาะแหล่งที่ตั้งสถานบังคับบัญชาการทั่วจังหวัด (ตามความเข้าใจของมหาดไทยครั้งนั้นว่า “อันมีป้อมปราการเป็นสำคัญ”) ว่า “เมือง” ตรงกับ Town โปรดให้มหาดไทยเปลี่ยนแปลงตามรับสั่ง เจ้าพระยาสุรสีห์ (เชย กัลยาณมิตร) ไม่เคยศึกษาโบราณคดีมีตราสั่งตามถ้อยคำในหนังสือรับสั่ง พวกเทศาสงสัยไต่ถามมหาดไทยก็ยืนยันถือเป็นหลัก ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ ที่ว่าการอำเภอตั้ง (ปักเสาเรือน) อยู่ในตำบลใด ให้เอาชื่อตำบลนั้นเรียกเป็นชื่ออำเภอ ข้อ ๒ ให้เรียกว่าเมืองแต่เฉพาะที่มีป้อมปราการ ที่ว่าการจังหวัดใดไม่มีป้อมปราการก็ไม่ให้เรียกว่าเมือง เพราะฉะนั้นชาวเมืองจึงเอาคำ “จังหวัด” ซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้ใช้เป็นอย่างหนึ่งต่างหาก มาเรียกแทนคำ “เมือง” ที่ถูกห้าม และชื่อ “อำเภอเมือง” ก็เลิกตามไปกลายชื่ออื่น ยกพอเป็นตัวอย่าง เช่นอำเภอเมืองเพชรบุรีกลายเป็นอำเภอคลองกะแชง อำเภอเมืองชัยนาทกลายเป็นอำเภอบ้านกล้วย ยุ่งเก๋ไปแทบทุกมณฑล พวกเทศาไม่มีใครเห็นชอบด้วย แต่ก็ไม่กล้าขัดตรารับสั่ง จึงทำกันต่างๆ พระยาโบราณเป็นคนรักโบราณคดีและรู้ว่ามหาดไทยเข้าใจผิด คิดอุบายอย่างแปลกสั่งให้เปลี่ยนชื่อตำบล (ก. และ ข.) อันเป็นที่ปลูกสถานว่าการอำเภอพรหมบุรีและอินทรบุรี ให้ชื่อว่าตำบลพรหมบุรีและตำบลอินทรบุรี ตามอำนาจเทศาจะทำได้ แล้วเอาชื่อตำบลพรหมบุรีและอินทรบุรีนั้นเรียกเป็นชื่ออำเภอตามท้องตราบางมณฑล เช่น อุดร อุบล และนครราชสีมา จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ ชื่ออำเภอคงอยู่อย่างเดิมโดยมาก หม่อมฉันรำคาญใจในเรื่องนี้มาช้านาน เมื่อมาเห็นประกาศแก้กลับให้เรียกว่าอำเภอเมืองทั่วไปอย่างเดิม และหมายความต่อไปว่าเมืองก็ไม่จำเป็นจะต้องมีป้อมปราการจึงจะเรียกว่าเมือง จึงรู้สึกยินดีอนุโมทนาอยู่นอกคอก

จดหมายเวรฉบับนี้จะมีแต่ทูลความยินดีทั้งฉบับ ความยินดีที่จะทูลต่อไป คือ ที่พระองค์ท่านได้รับพระราชทานตราจักรีประดับเพชรกับเหรียญรัตนาภรณ์ และคุณโตได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าชั้นที่สองพิเศษ และยังยินดีต่อไปอีกที่ท่านได้รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวกับทั้งเจ้าฟ้า ๒ พระองค์และสมเด็จพระชนนีฯ ที่ตำหนักโดยฉันพระญาติ หม่อมฉันนึกทายพระหฤทัยว่าท่านคงจะทรงชื่นชมโสมนัสและมีความหวังพระหฤทัยข้างฝ่ายดี เหมือนอย่างน้ำใจหม่อมฉันเมื่อได้รับเสด็จที่ปีนัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ