วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ได้รับประทานแล้ว

ข้อพระดำรัสที่ว่าหนังฉาย โดยมากทำเป็นเรื่องปลุกกามกิเลสนั้นจับใจมาก ด้วยได้สังเกตมา ครั้งแรกรู้สึกจากหนังสือแต่งสำหรับอ่านเล่น หนังสือที่คนไทยแต่งโดยปรุงขึ้นเอง ย่อมล้วนแล้วไปด้วยกามกิเลสทั้งเรื่อง ลางทีก็ถึงเป็นอย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “อิมมอรัล” ด้วย แต่ที่ฝรั่งเขาแต่งนั้นแต่งไปเป็นแต่กามกิเลสเป็นเหตุ ประกอบด้วยความขัดข้องเป็นผล ต่อมาไปดูหนังไทยทำ ก็ไปเห็นล้วนแล้วไปด้วยกามกิเลสตั้งแต่ต้นจนปลาย คิดเทียบกับหนังฉายของฝรั่งก็รู้สึกว่าของฝรั่งเขาทำเอาแต่กามกิเลสเป็นเหตุเหมือนกัน ทำให้รู้สึกในใจว่าความพอใจของไทยต่ำกว่าฝรั่งมาก ทำให้นึกถึงคำนักปราชญ์ฝรั่งมาก เขาว่าอยากรู้ความเป็นไปของชาติใดว่าเป็นไปดีชั่วเพียงไร ให้ดูคำสุภาษิตของชาตินั้น

เรื่องที่ตรัสเล่าถึงนักเรียนพม่าแต่งตำนานละครพม่า ข้อที่ว่าแต่ก่อนพวกพม่ามีแต่พวกร้องรำนั้น คิดว่าจะได้แก่ นัจจะ ของชาวอินเดีย แม้ไทยเราก็มีแยกเป็นสองทาง คือ ระบำ กับละคร อันระบำนั้นร้องรำไม่มีเรื่อง ละครนั้นเล่นมีเรื่อง การเล่นเรื่องย่อมดูสนุกกว่ารำเฉยๆ การเล่นระบำจึงตกไปเหลือแต่เล่นเรื่อง แม้ระบำซึ่งยังคงมีเล่นอยู่ก็จัดแก้ให้มีเรื่องขึ้น เช่นเป็นเทวดานางฟ้าเล่นรื่นเริงยังไม่พอ ซ้ำเอาเมขลารามสูรอรชุนมาประกอบเข้าด้วย เมื่อพิจารณาไปให้กว้างแล้วจะเห็นได้ว่าทางระบำของเรายังมีอยู่มาก เป็นต้นว่าเล่นเบิกโรงโขน อันมีตัวโขนสองตัวออกมารำหางนกยูงกัน ซึ่งเรียกว่า “ประเลง” เป็นเรื่องอะไร เป็นระบำมิใช่หรือ แต่ไม่มีใครดูก็ไม่มีใครคิดแก้เอาเรื่องเข้าประกอบ รำหางนกยูงนี้เองเป็นอย่างมาให้ละครหลวงรำดอกไม้เงินทองเบิกโรง เป็นระบำไม่มีเรื่องเหมือนกัน ทางเล่นระบำคือรำไม่มีเรื่องนั้นเห็นจะมีมาช้านาน ที่มาเล่นเรื่องเห็นจะมาภายหลังการเล่นหนังเป็นมูลเหตุ ตามที่ทรงพระดำริว่าเล่นเรื่องเพื่อประกาศคุณพระเป็นเจ้านั้นชอบยิ่งนัก หนังก็คือถ่ายทอดเอารูปเขียนรูปสลักที่เทวสถานมาเดินเล่นประกาศตามบ้าน แล้วหนังซึ่งเป็นตัวแบนนั้น แก้ไขเปลี่ยนเป็นตัวกลม คือเป็นหุ่น เมื่อเป็นหุ่นแล้วทำไมจะเอามาสู่คนไม่ได้ จึงได้เอามาจัดให้พวกระบำรำเล่นเป็นเรื่อง ดูรำเรื่องสนุกกว่ารำไม่มีเรื่อง จึ่งทำให้ระบำตกไปดั่งได้กราบทูลมาข้างต้นแล้ว

จะทูลถามเรื่องพระเทพบิดร ประเพณีสร้างรูปที่เคารพสนองพระองค์นั้นมีมานานแล้ว นับถือเป็นทางไสยศาสตร์ก็สร้างรูปเทวดาสนองพระองค์ นับถือพระพุทธศาสนาก็สร้างพระพุทธรูปสนองพระองค์ ที่ปรับว่าให้เทวรูปขาดพระไตรสรณาคมนั้นเป็นคำที่หึงกันทางศาสนา เหมือนพวกคาโธลิคเผาพวกโปรเตสตัน การแปลงเทวรูปพระเทพบิดรเป็นพระพุทธรูปนั้น เห็นจะเป็นการแปลงศาสนาเป็นเหตุต้นและรูปเดิมชำรุดเป็นเหตุปลาย

พระดุษฎีดิศจะออกมาเฝ้านั้น เกล้ากระหม่อมได้ทราบแล้ว เพราะหม่อมแช่มไปลาว่าจะพาพระลูกออกมา ตามที่ทรงคิดจัดให้เธอไปอยู่วัดสว่างอารมณ์นั้นดีแล้ว เจ้านายองค์หญิงในทูลกระหม่อมชาย เธอจะแบ่งกันไปอยู่โน่นบ้างนี่บ้างก็ไม่ขัดข้องตามธรรมดาก็ต้องเป็นไปตามใจและตามเหตุซึ่งมาเข้าช่อง ฝ่าพระบาทเป็นญาติผู้ใหญ่ ญาติผู้น้อยจะพึ่งพาอาศัยอย่างไรก็ต้องทรงรับฟังทั้งสิ้น นี่ว่าตลอดไปถึงหญิงประสงค์สมด้วย แม้ขากลับก็คงจะเป็นไปรูปนั้นอย่างเดียวกัน ส่วนข้อพระประสงค์ที่ใคร่จะทรงต้อนรับทูลกระหม่อมชายนั้น จะเป็นไปได้เพียงไรก็ต้องแล้วแต่โอกาสจะอำนวย

องค์ชายจุมภฏนั้น ได้ยินจากกรมหมื่นเทววงศ์ ว่าเปลี่ยนแปลงละจากที่คิดจะตั้งหลักฐานอยู่ที่ปีนัง เป็นเข้าไปตั้งหลักฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งครอบครัว

ในการที่ต้องทรงแก้คำพยากรณ์ปริศนาข้อหนึ่ง ซึ่งพระยาอินทรมนตรีคิดจะตีนั้นใหญ่มาก ตัวอย่างคำพยากรณ์ปริศนาข้อหนึ่งซึ่งประทานไปคราวนี้ มีความพิสดารกว่าคำพยากรณ์ประทานไปคราวก่อน อันทำความเข้าใจให้กว้างขวางออกได้อีกเป็นอันมาก ขอประทานโทษที่จะกราบทูลตลอด ในคำเทียบชื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยามหาอุปราช ในคำที่ว่า “องค์อัครมูลิกากร” ให้สงสัยว่า คำ “กร” นั้นผู้เขียนตำราจะสู่รู้เติมเข้าไป ที่แท้จะมีแต่ “องค์อัครมูลิกา” เท่านั้นจึงไปได้สัมผัสรับกันกับวรรคหลังอันมีว่า “ทุกนคราระอาเดช” ไม่มีคำในวรรคหลังซึ่งประกอบด้วยสระอรอันจะรับกับคำกร นั้นเลย แม้ว่ามีแต่คำ “มูลิกา” เฉยๆ ก็ไม่เห็นว่าผิดอะไร ไม่ต้องมี กร ก็ได้

รูปงานศพสุลต่านแประ ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดตัดจากหนังสือพิมพ์ประทานไปให้ดูนั้นจับใจมาก การที่กระบวนแห่ถือเชือกนั้นเป็นแน่แล้ว เชือกเป็นรั้วกันทะลวงเข้าไปในกระบวนแห่ ทำให้คนในกระบวนเดินมีระยะดีเป็นปลายเหตุ การล้อมวงกงกำผู้มีอำนาจวาสนาใหญ่นั้นเป็นการธรรมดา เมื่อเห็นฉะนี้ก็มารู้สึกในพระราชาภินิหารแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งรัชกาลที่ ๕ เป็นอันมากที่ทรงตัดการล้อมวงกงกำเสียได้ จนถึงทรงเล่นประพาสต้นก็มิได้ทรงเกรงภัย เหตุทั้งนั้นก็ด้วยอำนาจพระเมตตาบารมีสม่ำเสมอจนขาดคนคิดร้าย ในรูปต้นซึ่งตัดประทานไปมีรูปศพสุลต่านแประห่อผ้าขาววางบนแท่นกำมะลออะไรอันหนึ่ง มีโต๊ะฮะยีอ่านหนังสืออยู่สองข้างทางเข้าไปนั้น เห็นเข้าก็ให้นึกถึงคราวไปเยี่ยมศพพระยาจุฬา (สิน) มีลักษณะอย่างเดียวกัน เว้นแต่ศพพระยาจุฬาไม่ได้ห่อผ้าขาว เห็นจะยังไม่ถึงเวลา

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม อันเป็นวันที่ระลึกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ เกล้ากระหม่อมทั้งครัวเรือน ได้แต่งเครื่องบูชาไปสักการะถวายบังคมพระบรมรูปที่พระลานดุสิต แล้วเกล้ากระหม่อมกับลูกชายงั่วเข้าไปในการพระราชกุศลทักษิณานุปทานที่พระที่นั่งจักรี ถวายบังคมพระบรมอัฐิ และทอดผ้าไตรถวายสดับปกรณ์ ผลกุศลอันได้ทำด้วยกตเวทีนั้น ขอแบ่งถวายแด่ใต้ฝ่าพระบาท

แต่นี้จะกราบทูลเรื่องเมืองบาหลี สืบหนังสือเวรซึ่งถวายมาเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม นั้นต่อไป

อันศาลเจ้าในเมืองบาหลีนั้นมีมากมายนัก จะเป็นบ้านหรือเทวาลัย นอกจากที่เป็นสถานใหญ่แล้วก็สังเกตได้เป็นอันยาก ด้วยบ้านที่อยู่ติดกับเทวสถานจนไม่สามารถเห็นแยกกันได้ก็มี แม้ในบ้านแท้ๆ ก็มีศาลเทวดาอยู่่มากมาย พวกเดียวกับศาลพระภูมิของเรานั้น บรรดาเทวาลัย ถึงแม้จะเป็นสถานใหญ่ก็ทำวิจิตรพิสดารอยู่แต่ประตูกับกำแพงเท่านั้น ส่วนตัวศาลข้างในนั้นจอนจ่อ เห็นจะมีศักดิ์เท่ากับศาลพระภูมิของเรา ในสถานหนึ่งมีมากๆ ศาล ไม่ใช่เป็นจำนวนหนึ่ง หรือสาม หรือสี่ อันจะเข้าแบบพราหมณ์ที่เป็นศาลจำเพาะเทพเจ้าองค์ใด หรือเป็นตรีมุรติ หรือเป็นครัวแห่งเทพเจ้าฉะนั้นเลย เป็นศาลผีที่ศักดิ์สิทธิ อย่างเช่นเจ้าพ่อหนูเผือก เจ้าแม่ทับทิมอะไรของเรานั้น ถึงพราหมณ์เข้าไปอยู่ก็เสียเปล่า ชาวบ้านเคยถือผีล่วงๆ มาอย่างไรก็ถือกันไปอย่างนั้น พราหมณ์จะจูงเอาไปเข้าศาสนาพราหมณ์ทีเดียวก็หาได้ไม่ ลักษณะแห่งศาลมีชั้นเลวดีดั่งจะพรรณนาต่อไปนี้

๑ ศาลกำมะลอ ทำขึ้นด้วยไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ ไม่มีหลังคา ทำท่วงทีอย่างศาลเพียงตาของเรา ศาลชนิดนี้มีทำที่ไหนๆ กระทั่งในโรงชนไก่ ไปดูแต่งตัวละครในบ้านแห่งหนึ่ง ก็ได้เห็นโรงที่เขาแต่งละครนั้นมีศาลอยู่ในโรง เขาเอาเครื่องเล่นละครเก็บไว้บนศาล ตลอดถึงหนังสือก็มี จะเป็นบทเล่นละครหรือตำราเล่นละครอะไรก็อ่านของเขาออก ทำให้คิดถึงปัญหาซึ่งเคยโจษทูลถามมาคราวหนึ่ง ว่าศาลชำระความของเราทำไมจึ่งเรียกว่าศาล เรียกควบว่าโรงศาลก็มี หรือหนึ่งที่จะพิจารณาความเป็นโรงศาลในนั้น เป็นที่ไว้กฎหมายบนศาล เมื่อได้ไปเห็นโรงที่เขาแต่งตัวละคร มีศาลกำมะลอไว้เครื่องละครในนั้น ทำให้คิดเห็นว่าที่เดาว่าโรงพิจารณาความมีศาลในนั้นเป็นที่ไว้กฎหมายนั้นเดาไม่ผิด

๒ ถัดขึ้นไป เป็นศาลอย่างเดียวกัน แต่ดีขึ้นไปหน่อย เป็นทำด้วยไม้จริง

๓ อย่างดีขึ้นไปอีกเป็นศาลก่อด้วยอิฐหรือดินดาน หรือก่อสลับกันมีพนักดุจเก้าอี้

๔ ทำเป็นเรือนไม้บนศาลไม้หรือศาลก่อ มีหลังคามุงคาหรือมุงกระเบื้องเป็นหลังคาชั้นเดียวก็มี ซ้อนกันถึงสิบเอ็ดชั้นก็มี

๕ ทำเป็นเรือนก่อบนศาลก่อก็มี แต่จะอย่างไรก็เล็ก โดยมากคนเข้าไม่ได้ ที่ใหญ่ก็เพียงคนเข้าได้ แต่จะอาศัยอยู่ในนั้นหาได้ไม่และในนั้นมีเทวรูปอย่างไรเลย

๖ ทำเป็นเรือนชั้นก่อตัน ไม่มีทางเข้า

ลักษณะการสร้างสถานมีดั่งนี้

๑ มีศาลเทวดาเล็กๆ มากน้อยไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์

๒ มีแคร่ในที่กลางแจ้งหรือในโรง สำหรับวางเครื่องเซ่น เมื่อชาวบ้านนำมาบูชาในวันกำหนดนัดมีงาน

๓ มีหอตอง ๆ ได้แก่หอระฆังของเรา แต่เขาใช้ไม้ซุงรวงดุจเกราะ (หรือเกลาะ) เฆาะด้วยไม้ตะลุมพุกดังตองๆ แทนระฆังของเรา ตองๆ นี้ในบ้านอำเภอกำนัลก็มี สำหรับตีเป็นสัญญาเรียกลูกบ้าน

๔ มีประตู มีลักษณะทำอยู่เป็นสองอย่าง คือประตูมีซุ้มอย่างหนึ่ง ประตูขาดซุ้มตัดอีกอย่างหนึ่ง ได้สอบถามว่าทำเป็นสองอย่างเช่นนั้นมีหมายอย่างไร ได้คำอธิบายตอบสับปลับไม่อยู่รอย ฟังไม่ได้ คำอธิบายนั้นเหลวแหลกฟังไม่ได้ทั้งนั้น ดั่งจะทูลถวายตัวอย่าง เช่น ศาลตันห้าชั้นหลังหนึ่ง ปั้นลายไว้มีรูปภาพต่อกันห้าตัวเขาอธิบายว่า พระอิศวรขี่อรชุน อรชุนขี่ครุฑ ครุฑขี่นาค นาคขี่เต่า หมดดีกันเท่านั้น คำอธิบายไม่มีหลักฐานอะไรอย่างเดียวกับประตู อันประตูนั้นล้วนทำแคบๆ ยวดยานพาหนะเข้าไม่ได้ แม้ประตูบ้านก็แคบเหมือนกัน ประตูที่อย่างดีก็ทำวิจิตรมาก

๕ มีกำแพง ทำตันก็มี ทำโปร่งกรุลูกฟักจีนก็มี ที่ประตูวิจิตรกำแพงก็มักทำวิจิตรด้วย

(จะมีต่อไป)

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ