วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๔ มกราคมนั้น หม่อมฉันได้รับแล้ว หม่อมฉันจะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ก่อน

ว่าถึงสัตว์โง่หม่อมฉันประหลาดใจอยู่ที่สัตว์อีกอย่างหนึ่ง คือ โค ซึ่งมนุษย์นับถือกันว่าให้คุณยิ่งกว่าสัตว์อื่น บางจำพวกถึงกราบไหว้ สมมตว่าเป็นพาหนะของพระเป็นเจ้า แต่ที่จริงมันโง่อย่างน่าพิศวง หม่อมฉันเคยสังเกตเวลาไปรถยนต์เมื่อสวนกับฝูงโคดูมันเดินเฉยราวกับไม่เห็น ตั้งหน้าเข้ามาชนรถยนต์จนใกล้จวนจะโจนมันจึงหลีกเลี่ยง กิริยาที่หลีกนั้นก็เป็นอย่างโง่ มักแยกกันไปทั้งสองข้างทาง เมื่อแยกกันออกไปเป็นช่องว่างเราจะขับรถผ่านไป มีโคบางตัวที่หลีกไปทางข้างขวาแล้วกลับใจจะไปเข้ากับพวกข้างซ้ายเดินผ่านเฉียดหน้ารถถ้าหยุดรถไม่ทันก็โดน ดูไม่เห็นมันรู้สึกหวาดหวั่นระวังภัยอย่างไร ผิดธรรมดาของสัตว์อื่นอันย่อมระวังอยู่เป็นนิจ (เว้นแต่กิ้งคก ที่ตรัสมา) เลยคิดต่อไปว่าเพราะมันโง่นั้นเอง จึงไม่เคยเห็นพวกเซอคัสเอาโคไปหัดให้เล่นอะไรให้คนดูได้ คุณของมันแม้มีมากก็ไม่ได้เกิดแต่สติปัญญาของมันเลย

พระแสงอัษฎาวุธตามตำราไทย กับพระแสงทศาวุธของตำราอินเดียนั้น เป็นตำราอันเดียวกันแน่ ที่จำนวนผิดกันเป็น ๘ กับ ๑๐ นั้นเพราะเรียกเป็นภาษาสันสกฤต น่าสันนิษฐานว่าแบบเดิมเห็นจะเป็น ๘ อย่าง เรียกว่าอัษฎาวุธอยู่ก่อนแล้ว แล้วเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ จึงเรียกว่าทศาวุธ เกิดในอินเดียแต่โบราณทั้ง ๒ อย่าง ไทยเราได้ตำราเดิมที่นับจำนวน ๘ มาใช้ แต่มาจำอาวุธไม่ได้ว่าอะไรบ้างจึงเอาสิ่งอื่นเข้าแทน

คำแม่กะลองนั้นเป็นชื่อลำน้ำ ตั้งเมืองที่ริมลำน้ำนั้นจึงเอาชื่อลำน้ำเรียกเป็นชื่อเมือง บริษัทล่ำซำเคยทำป่าไม้ที่เมืองแม่กะลอง คัดซุงลอยลงมาทางลำน้ำแม่กะลองนั้น

ส่วนชื่อเมืองนครเขลางนั้น มีอธิบายที่จะทูลได้ เมืองนั้นเดิมชื่อเป็นภาษาไทยว่า “เมืองผากอง” ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ตีเมืองชากังราวว่า “ท้าวผากอง” มาช่วยเมืองชากังราว คำที่เรียกว่า “นครเขลาง” เกิดขึ้นด้วยพระสงฆ์ ซึ่งไปเรียนรู้ภาษามคธแตกฉานมาแต่ลังกา มาแต่งหนังสือพงศาวดารบ้านเมืองเป็นภาษามคธ ดังเช่นเรื่องชินกาลมาลินีเป็นต้น ตามอย่างหนังสือเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารเมืองลังกา แปลคำ “ผากอง” ภาษาไทยเป็น “เขลางค์” (เขละ – อังคะ) ภาษามคธ หม่อมฉันทราบมาดังนี้ แต่หัวเมืองหรือแม้ตำบลทางชายทะเลที่เรียกแปลกๆ เช่น เมืองขลุง เมืองแกลง เมืองระยอง เมืองตราดนั้น เป็นปัญหาหนึ่งต่างหาก แต่เป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง เพราะชื่อเป็นภาษาอื่นมิใช่ภาษาไทย และยังมีทางอื่นอีก เป็นต้นแต่ “เกาะสีชัง” (ซึ่งเพิ่งมาสมมตว่ามาแต่ “สีห์ชังค” หรือ “ศรีชลังค์” เมื่อเร็วๆ นี้) ชื่อหัวเมืองแหลมมลายูอยู่ในคำภาษาแปลกพวกนี้แทบทั้งนั้น เช่น เมืองชุมพร เมืองตรัง เมืองระนอง เป็นต้น

นายฟิโรจีช่างปั้นไม่ได้พบกับหม่อมฉันเมื่อขากลับ เพราะเรือที่แกมาไม่แวะปีนังพาไปส่งที่เมืองสิงคโปร์ แกมารถไฟจากสิงคโปร์ถึงปีนังแต่เช้ามีเวลาพักพอกินอาหารเช้าแล้วต้องรึบกลับไปขึ้นรถไฟ แต่เผอิญวันนั้นหญิงพิลัยไปส่งใครพวก ๑ ไปพบฟิโรจีที่สะพานท่าเรือขาไปไปรได้พูดกันเล็กน้อย

ที่ปีนังสัปดาหะนี้มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นในการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขาเสด็จกลับไปยุโรป เดิมนายประสิทธิ์กงสุลสยามเขาเอาโปรแกรมการรับเสด็จมาปรึกษาหม่อมฉัน เขากะเวลาสด็จขึ้นบกในวันที่ ๑๙ มกราคม เวลาเช้า ๑๐.๓๐ นาฬิกา จะเชิญเสด็จประพาสบนภูเขาปีนัง ซึ่งยังมิได้ทอดพระเนตรคราวก่อน ฝ่ายหม่อมฉันก็ได้เชิญเสด็จเสวยกลางวันตรัสรับไว้แล้ว จึงเอารายการเข้าประสมกัน เมื่อประพาสยอดภูเขาแล้วหม่อมฉันจะเชิญเสด็จเสวยกลางวันที่โฮเต็ลแคร๊กบนเขานั้น พอเวลาบ่ายเสด็จกลับลงมาทรงก่อฤกษ์ธรรมสภาที่วัดศรีสว่างอารมณ์ตามพวกกรรมการญาโณทัยสมาคมเขาเชิญเสด็จ แล้วไปเสวยเครื่องว่างที่สถานกงสุล ต่อนั้นเมื่อก่อนจะเสด็จกลับลงเรือ มีพระราชประสงค์จะเสด็จมาที่บ้านหม่อมฉัน กะว่าเวลาบ่าย ๑๗.๓๐ นาฬิกา แล้าเสด็จไปลงเรือ หม่อมฉันเตรียมว่าจะลงไปส่งเสด็จถึงในเรือซีแลนเดีย ซึ่งกำหนดว่าจะออกเวลา ๒๐ นาฬิกาค่ำวันนั้น

ครั้นเมื่อเช้าวันอังคารที่ ๑๗ มกราคม หม่อมฉันเห็นหนังสือพิมพ์ปีนังลงข่าวว่าเรือซีแลนเดีย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาจากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ก่อนกำหนดวันหนึ่ง เพราะผู้หญิงอเมริกันซึ่งมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้แล้วมาโดยสารเรือซีแลนเดียคน ๑ ออกฝีดาษที่ในเรือ ๆ จึงรีบมาส่งคนไข้ที่เกาะสำหรับรักษาโรคติดต่อ ณ เมืองสิงคโปร์ และห้ามมิให้ไปมาที่เรือนั้นนอกจากหมอและพวกพนักงาน ยอมให้แต่กงสุลเยเนอราลสยามลงไปเฝ้าคนเดียว แต่บังคับให้ปลูกฝีเสีย ก่อนจึงไป ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในระหว่างที่เรือถูกกักอยู่ที่เกาะ เขาถวายอนุญาตให้เสด็จขึ้นประพาสหรือพักที่เรือนหมอประจำเกาะได้ตามพระราชประสงค์ แต่ไม่ได้เสด็จขึ้น การที่เจ้าเมืองเตรียมรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ก็ต้องเลิก เดิมกำหนดว่าเสด็จจะมาถึงปีนังวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เดี๋ยวนี้ต้องเลื่อนไปเป็นวันศุกร์ที่ ๒๐ เพราะเรือซีแลนเดียต้องถูกกักให้ทำพิธีชำระเชื้อโรคเสียเวลาวัน ๑ ได้ยินว่าเมื่อเรือมาถึงปีนังก็จะห้ามมิให้คนโดยสารขึ้นบก และจะห้ามมิให้ใครลงไปในเรือ นอกจากหมอกับพนักงาน และจะยอมให้แต่พวกห้างอิสต์เอเซียติคกับกงสุลสยามลงไปแต่ต้องให้ปลูกฝีเสียก่อนทุกคน พวกคนที่จะโดยสารไปยุโรปจากปีนังด้วยเรือนี้ก็บังคับให้ปลูกฝีเสียก่อนจึงจะให้ลงเรือ มันเกิดลำบากมากมายดังทูลมาจึงว่าเป็นเหตุฉุกเฉิน โปรแกรมการรับเสด็จซึ่งได้กะไว้ก็เป็นอันล้มละลาย

ส่วนตัวหม่อมฉันแต่แรกนึกว่าจะไปยอมปลูกฝีเพื่อจะได้ลงไปส่งเสด็จที่ในเรือ แต่ลูกพากันห้ามปราม พระยารัษฎาก็ห้าม และที่สุดหมอฝรั่งที่รักษาหญิงพูนก็ห้ามซ้ำ ว่าคนแก่อายุขนาดหม่อมฉันหาควรจะไปเล่นปลูกฝีไม่ ก็เป็นอันต้องงดจะได้แต่เขียนหมายลงไปถวายพรส่งเสด็จ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ