วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งทรงพระวินิจฉัยในเรื่องพระพุทธรูป กับทั้งโปรดประทานสำเนาพระนิพนธ์ ซึ่งทรงเรียบเรียงเรื่องลำน้ำแม่กลองไปด้วยนั้น ได้รับประทานแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

อันเรื่องลำน้ำแม่กลองนั้นแร้นแค้นจริงๆ เหมือนอย่างนึกนิทานเรื่องกลองใหญ่นั้นเองซึ่งเกล้ากระหม่อมเคยฟังมา ดังได้กราบทูลมาว่าจำไม่ได้ แต่เรื่องเมือง “แม่กะลอง” นั้นยังไม่เคยได้ยิน ถ้าหากว่ามีจริงก็เข้าทีอยู่มาก

อันคำ “แม่” หรือ “น้ำ” หรือทั้งรวมกันว่า “แม่น้ำ” ย่อมหมายความว่าลำน้ำใหญ่ทั้งนั้น คำว่า “ปาก” หรือ “ปากน้ำ” หมายถึงที่สุดแห่งลำน้ำในเบื้องต่ำ ตามแต่จะสมมุติกันว่าเพียงไหน ลางทีก็เพียงจดกับลำน้ำอันใดอันหนึ่ง ลางทีก็ออกถึงทะเล ถ้าออกถึงทะเลลางทีก็มีคำแยกไปอีกว่า “ปากอ่าว”

อันชื่อแห่งลำน้ำนั้นจะเอาแน่ว่าถือเอาอะไรเป็นเกณฑ์ก็ไม่ได้ ลางชื่อก็พอสันนิษฐานได้ ลางชื่อก็มืดแปดด้าน อันชื่ออะไรต่างๆ นั้น เห็นจะเป็นทางที่คนอยากรู้กันมานานแล้วว่ามาแต่อะไร จึงได้มีนิทานบอกมูลเหตุแห่งชื่อเล่ากันมามากมายแต่เก่าแก่

พูดถึงชื่อแม่น้ำ ทำให้นึกถึงข้อที่เคยสงสัยขึ้นมาได้ มี “แม่กก” “แม่เลา” อยู่ในแขวงเมืองเชียงราย เหตุไฉนจึงมามีชื่อ “วัดกกวัดเลา” อยู่ที่คลองบางบอนกรุงเทพฯ ซ้ำเหมือนชื่อแม่น้ำในเชียงรายก็ไม่ทราบ ให้สงสัยไปว่าใครที่นั่นเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วสร้างวัด เอาชื่อแม่น้ำที่เชียงรายมาให้เป็นชื่อวัดที่นี่ เพื่อระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน

ในพระนิพนธ์ตอนหนึ่งซึ่งตรัสถึงหนองบึงเป็นการที่จับใจมาก เริ่มแรกที่เกล้ากระหม่อมจะรู้ทางเป็นไปนั้น ด้วยได้เห็นแผนที่ฝั่งตะวันตกแห่งแม่น้ำน่านท่อนหนึ่งซึ่งมีหนองอยู่ แต่หนองนั้นไม่ใช่มีแต่ห้วงเดียวย่อมมีหลายห้วงอยู่ติดต่อกันไป ทำให้เกิดญาณหยั่งเห็นขึ้นได้ว่า อันหนองนั้นก็คือแม่น้ำเก่านั้นเอง เมื่อแม่น้ำขาดตายไปแล้ว ที่ตื้นก็เป็นดอนไป ที่ลึกก็เป็นหนองอยู่ เหตุที่ทำให้แม่น้ำตายเห็นจะมีหลายอย่าง แต่อย่างที่จะพึงเห็นได้ง่ายก็คือขุดคลองลัดเป็นทำให้แม่น้ำตายได้ง่ายดายที่สุด

พูดถึงแม่น้ำตาย ทำให้นึกขึ้นมาถึง “คลองสาย” ในแขวงอ่างทอง เหตุอันเกิดแก่เกล้ากระหม่อมด้วยคลองนั้นนึกก็เห็นขบขันจะเก็บมาเล่าถวาย อันคลองนั้นปรากฏในแผนที่ ซึ่งมีต้นคลองเบื้องบนต่อกับแม่น้ำใหญ่ ที่ตำบลบางแก้วเหนือเมือง ลำคลองแล่นขนานมากับลำแม่น้ำใหญ่ ปลายคลองเบื้องล่างออกต่อกับแม่น้ำใหญ่ใต้เมือง ที่ปากคลองเบื้องล่างนั้นมีหมู่บ้าน ดูเหมือนเรียกว่าบ้านสาย เกล้ากระหม่อมมีธุระจะดูเนื้อที่ระหว่างแม่น้ำใหญ่กับคลองสาย ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องจับหาเอาคลองสายเป็นหลัก แต่แจวเรือหาปากคลองเบื้องล่างถึงสองสามกลับก็ไม่พบ จึงคิดว่าขึ้นไปถามชาวบ้านดูคงได้ความก็ขึ้นไปบนหมู่บ้าน ถามชาวบ้านว่าคลองสายอยู่ที่ไหน เขาก็ชี้ร่องข้างทางว่าอยู่ที่นี่ เกล้ากระหม่อมตกใจ ด้วยร่องนั้นกว้างไม่เกินศอกหนึ่ง ลึกไม่ถึงศอก มีโรงเจ๊กปลูกอยู่ข้างร่องริมทางชายคาตกตรงร่องพอดี นึกว่าเป็นร่องน้ำชายคา จะเชื่อว่าเป็นคลองสายหรือไม่ใช่ก็ใช่ที่ จึงเดินเข้าไปดูต่อไปก็เห็นร่องนั้นลึกกว้างออกไปทุกที ที่สุดเห็นเป็นแม่น้ำใหญ่ไม่ใช่คลอง มีวัดเก่าๆเรียงกันไปเป็นแถวยังไม่ร้าง จึงทำให้เข้าใจได้ว่าคลองสายนั้นเป็นแม่น้ำอ่างทองเก่า แต่เพราะเหตุไรไม่ทราบ จึงเกิดแม่น้ำใหม่ซึ่งตั้งเมืองอยู่บัดนี้ขึ้น และด้วยอำนาจแรงน้ำแห่งแม่น้ำใหม่ พัดเอาดินทรายมาปิดปากคลองสายเบื้องล่างเสีย จึงทำให้คลองสายซึ่งเป็นแม่น้ำเก่านั้นตายไป เมื่อเขาทำแผนที่ปากคลองเบื้องล่างคงจะยังมีเห็นปรากฏ เขาจึงขีดลงไว้ในแผนที่ คลองนี้ข้างต้นกับข้างปลายก็เรียกชื่อไม่เหมือนกัน เบื้องต้นเรียกว่า “คลองพายทอง” เบื้องปลายเรียกว่า “คลองสายทอง”

ทีนี้จะกราบทูลถวายถึงเรื่องศพเจ้าพระยายมราช ต่อที่ได้กราบทูลมาแล้วนั้นต่อไป

วันที่ ๓๑ ธันวาคม มีหมายสำนักพระราชวังออกมาว่า เจ้าพระยายมราชถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ เวลา ๑๕ นาฬิกา ด้วยโรคชรา กำหนดพระราชทานน้ำอาบศพวันนั้นเวลา ๑๗ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไปประกอบพระราชกิจแทนพระองค์ แล้วจัดตั้งศพระดับด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศไว้ (ไม่มีระบุว่าอะไรบ้าง) คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทอดผ้าไตรของพระราชทาน ๒๐ แต่งเต็มยศ และไว้ทุกข์ในราชสำนัก ๑๕ วัน พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำศพ (ไม่บอกว่ากี่วัน)

ในวันที่ ๓๑ นั้น เผอิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้หาให้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระตำหนักสวนจิตรลดาพร้อมด้วยแม่โตในเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา จึงต้องโปรดน้ำศพเสียแต่เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา ไม่เกี่ยวกับทางราชการ ไปเห็นหญิงจงอยู่ประจำที่ศพ ดูเขาจัดที่ตั้งศพ เห็นเขาตั้งแว่นฟ้าสองชั้นไว้ มีลองกุดั่นน้อยวางไว้ข้างฝา เครื่องสูงไม่มีเขาจะยังไม่เอาไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เวลายังวันอยู่มาก

ครั้นเวลา ๑๖ นาฬิกา จึงพร้อมด้วยแม่โตพากันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่พระตำหนักสวนจิตรลดา จะกราบทูลรายงานให้ทรงทราบว่า ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๒ แก่แม่โต แล้วพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า หาที่เปรียบมิได้

ครั้น ณ วันที่ ๓ มกราคม มีหมายสำนักพระราชวังออกมาบอกการทำบุญ ๗ วันที่ศพเจ้าพระยายมราชเป็นงานหลวงกำหนด ณ วันที่ ๔ ที่ ๕ มีรายละเอียดแจ้งอยู่ในหมายกำหนดการ ซึ่งได้ถวายมาให้ทราบฝ่าพระบาทนี้แล้ว กำหนดเร็วไปวันหนึ่ง ทราบว่าเพราะวันที่ ๖ กำหนดจะเสด็จไปลพบุรี เปิดโรงพยาบาล “อานันทมหิดล” อันได้สร้างขึ้นที่นั้นโดยพระบรมราชานุเคราะห์ เห็นหนังสือพิมพ์ลงว่า ในงานทำบุญ ๗ วันที่ศพเจ้าพระยายมราชนั้นก็เสด็จพระราชดำเนิน แต่เพียงทรงวางพวงมาลาหาได้ทรงประกอบพระราชกิจอย่างอื่นไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ