วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๖ ตุลาคมแล้วด้วยความดีใจ จะประมาทหนังสือเวรหาได้ไม่ ถึงเป็นของเล่นก็จริง แต่ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นเสมอ

ขอบพระเดชพระคุณในความหวังพระทัย ว่าเกล้ากระหม่อมทั้งครอบครัวจะกลับถึงบ้านด้วยความสุขสนุกสบาย การก็เป็นไปเช่นนั้นสมเหมือนพระทัยหวัง

ความสังเกตเห็นอะไรมาจากเกาะบาหลี จัดว่าเป็นของแห้ง จะกักไว้กราบทูลเมื่อไม่มีอะไรจะทูล กาลนี้จะกราบทูลของสดเสียก่อน

เรื่องไม้เท้าที่เสียไปแก่ลิง ตามที่กราบทูลมาในหนังสือถวายส่งจากบันดุง ลงวันที่ ๙ กันยายน ว่าหัวไม้ทำด้วยเขากวางนั้นผิด เกล้ากระหม่อมถูกหลอก ที่แท้เขาหล่อด้วยอะไรก็ไม่ทราบ ทำปลอมเป็นเขากวาง บางครึ่งมิลิเมตรเท่านั้น เอาปูนขาวยัดไว้ข้างใน เพราะฉะนั้นจึงหัก เสียไม้ไปให้แก่ลิงโดยง่าย ไม้ซึ่งได้มาแทนตามที่กราบทูลว่าสีแก่ไปหน่อยนั้น ชายงั่วเธอบอกรายงานว่าสีอ่อนเหมือนเก่าก็มี แต่มีตำหนิบุบสลาย จึ่งจำต้องเลือกเอาสีแก่อันปราศจากราคี

ข้อพระดำรัสตรัสเล่าถึงเวลาเรือออกไม่แน่นอน ประทานพระดำริว่าลงไปนอนคอยอยู่เสียในเรือก่อนเป็นดีนั้น เกล้ากระหม่อมก็นึกขันด้วยได้เคยคิดเช่นนั้นมาแล้ว แต่พลาดไปถนัดใจที่เมืองสมารังเมื่อไปครั้งก่อน ตั้งใจจะเดินทางบกเที่ยวไปตลอดเกาะชวา แต่ไปเกิดอันตรายขึ้นด้วยเมื่อไปถึงยกยา ทูลกระหม่อมก็ประชวร เกล้ากระหม่อมก็เจ็บ จึ่งต้องเปลี่ยนทางไปสมารังเพื่อกลับบันดุง เมื่อไปถึงสมารังกะโปรแกรมแยกกันกลับเป็น ๓ กอง กองทูลกระหม่อมกลับทางเครื่องบิน เพราะจะให้ถึงเร็ว กองลูกๆ กลับทางรถยนต์ เพราะรถจะกลับไปว่างเปล่าก็ป่วยการ ลูกๆ จึ่งไปกับรถ เพื่อไม่ต้องเสียเงินเป็นค่าอะไรอีก ส่วนเกล้ากระหม่อมต้องการรักษาตัวผะคบผงม อาศัยอากาศทะเลช่วยจึ่งสองคนกับแม่โตกลับทางเรือกำปั่นไฟ สองกองที่กล่าวก่อนนั้นไปแต่เช้าแล้ว ส่วนเกล้ากระหม่อมกับแม่โตยังอยู่ที่โฮเต็ล สืบที่โฮเต็ลได้ความว่าเรือเขาจะออกเวลาเที่ยง จึงคิดว่าไปนอนคอยอยู่เสียในเรือก่อนเป็นดีกว่า แล้วเรือเขาจะออกเมื่อไรก็ช่างเราไม่ต้องเป็นภาระ เพราะฉะนั้นพอ ๔ โมงเช้าก็ไปท่าเรือ แต่ผิดหมายไปถนัด ด้วยท่าสมารังน้ำตื้น เรือใหญ่เข้าเทียบถึงตลิ่งอย่างบตาเวียไม่ได้ ต้องทอดลอยลำอยู่ในทะเลไกลฝั่งมาก ต้องมีเรือช่วงรับคนโดยสารออกไปส่งเรือใหญ่ กำหนดที่ว่าเรือจะออกเวลาเที่ยงนั้นไม่ใช่กำหนดเรือใหญ่ กลายเป็นกำหนดเรือช่วงที่รับคนโดยสารออกจากกะไดน้ำไปส่งเรือใหญ่ นอกจากเรือช่วงซึ่งเขาจัดให้โดยเฉพาะนั้นแล้วจะหาเรือจ้างลำเล็กๆ โดยสารเช่นที่ท่าเมืองสิงคโปร์ก็ไม่มี เพราะเหตุฉะนั้นก็ต้องไปจู๊อยู่ที่หัวกะไดน้ำถึง ๒ ชั่วโมง หงายท้อง ที่จริงไม่ควรเป็น ด้วยทูลกระหม่อมทรงจัดไว้ให้นายแช่มเป็นผู้นำ เราก็ไว้วางใจนายแช่ม แต่ความจริงนายแช่มแกยังไม่เคยไปที่นั่นเลย แกไม่รู้ตำบลหนแห่งอะไรเท่ากับเราเหมือนกัน ทูลกระหม่อมทรงจัดให้แกอยู่ด้วยก็เพื่อให้แกเป็นธุระช่วยในการขนเข้าของเท่านั้น เป็นหมดดีกันด้วยเข้าใจผิดจะเป็นอย่างไรก็ต้องจำทน

ข่าวซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นที่ปีนัง ตามที่ตรัสเล่าประทานไปสองอย่างนั้น ในเรื่องฝนตกหนักน้ำท่วมผู้คนเจ็บไข้ จนได้ความรำคาญฝ่าพระบาทนั้น เป็นของธรรมดา ย่อมเป็นเช่นนั้นในที่หลายแห่ง แต่เรื่องเห็ดขึ้นเป็นควันนั้นประหลาดอยู่จะพยายามทูลอธิบาย “กดกิ่ง” ถวายลองดู เขาว่าเห็ดนั้นชอบขึ้นในที่ร้อนอบ คงเคยทรงได้ยินที่ว่าเห็ดขึ้นหัวเตาไฟ นั่นเป็นพยานที่ว่าเห็ดชอบขึ้นในที่ร้อนอบ บนเขาในชวาได้พบเนืองๆ ที่น้ำในแอ่งเดือดพลั่กๆ โคลนในหล่มเดือดปุดๆ นั่นเป็นด้วยมีไอร้อนขึ้นอบควันก็คือไอน้ำที่ถูกไอร้อนเผา เกรงว่าควันจะไม่ได้ขึ้นจากเห็ด เห็ดจะขึ้นที่ควัน เมื่อเห็ดยังไม่ขึ้นคนจะไม่ได้สังเกต ว่าที่ตรงนั้นมีควันขึ้นหรือไม่

ฝีพระโอฐสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ในทางจินตนากวีเกล้ากระหม่อมไม่รู้จักเท่ากับฝ่าพระบาท รู้จักแต่คำเรียง เห็นจะไม่ย่อหย่อนกว่าฝ่าพระบาท โคลงในพัดรองของสมเด็จพระพันวัสสานั้นไม่ใช่ฝีพระโอฐสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ เกล้ากระหม่อมเองเป็นผู้แต่ง พัดเล่มนั้นมีเรื่องขลุกขลักประดักประเดิด เดิมทีตรัสสั่งให้เกล้ากระหม่อมเขียนพัด โดยไม่มีข้อจำกัดว่าให้เขียนเป็นอย่างไร เกล้ากระหม่อมก็คิดเขียนถวายตามใจเป็นพระตราตามที่ทรงใช้อยู่นั้นตรงกลาง ขอบรอบพัดเขียนคาถาพระราชนิพนธ์ทูลกระหม่อมพระราชทานพระนาม ด้วยเห็นว่าจะเป็นมงคลอันล้ำเลิศ แต่ถวายขึ้นไปไม่โปรด ประทานคืนลงมาพร้อมด้วยคาถาเก่าเจ็ดแปดบท มีลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ทรงแปลกำกับถวายทุกบท ทรงกาประทานมาบทหนึ่งว่าโปรดบทนั้นให้แต่งคำแปลเป็นโคลง แล้วเขียนลงเป็นพัดถวายใหม่ เกล้ากระหม่อมก็รับรับสั่งแต่งเป็นโคลงและเขียนแบบเล็กๆ เทียบถวายแล้วก็เงียบไป ต่อมากรมพระจันทบุรีบอกว่า คาถาที่เขียนพัดนั้นแปลผิดได้กราบทูลแล้ว สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เธอก็โต้ทานว่าของเธอไม่ผิด เกล้ากระหม่อมไม่ใช่คู่คดีจึ่งไม่มีคำตอบอะไร นอกจากว่าจะเอาอย่างไรก็จดมาเถิด เกล้ากระหม่อมจะแก้โคลงเข้าหา ต่อมากรมพระจันทบุรีจดมาให้มิได้แก้คำแปล กลายเป็นตัดคาถาเก่าทิ้งเสียสองบาทในเบื้องต้นแต่งคำใหม่ประจุเข้าแทน เธออธิบายว่าสมเด็จพระพันวัสสาไม่ทรงยอมให้แก้โคลงเพราะความในโคลงเป็นที่ต้องพระทัยอย่างยิ่ง จึงต้องแก้คาถาเข้าหาโคลง ตกเป็นคาถาในพัดนั้นเป็นปะปน สองบาทในเบื้องต้นเป็นคำแต่งใหม่ สองบาทในเบื้องปลายเป็นคำเก่า ต้องเขียนแก้แต่คาถาสองบาทเบื้องต้น นอกจากนั้นคงตามเก่า

คุณพุ่มนั้นเกล้ากระหม่อมรู้จัก รู้จักเพียงว่าคนนั้นเป็นคุณพุ่มไม่เคยพูดจาวิสาสะกับท่าน เพราะยังเด็กเกินไป แต่เห็นเขาหัวเราะกันที่ว่าเป็นคนไม่ปกติ คำอธิษฐาน ๑๒ ประการนั้นเกล้ากระหม่อมไม่เคยได้ยินมาเลย ตามอธิบายที่จดประทานไปสังเกตเห็นว่าเป็นกลอนขอดค่อนคนครั้งรัชกาลที่ ๓ ขึ้นไปทั้งนั้น กลอนขอดค่อนย่อมมีดกดื่นในรัชกาลที่ ๓ เป็นแฟเช่น บรรดาคำขอดค่อนก็เหมือนกับหนังสือทิ้ง ตัวผู้ผูกคำค่อนย่อมต้องอำพรางซ่อนตัวไม่ให้ใครรู้ว่าใครแต่งเพื่อหลีกภัย จนแม้ผู้ถูกค่อนตายไปแล้วก็ยังต้องดูลูกหลานคนข้างเคียง หากไม่มีใครที่จะเคืองข้อก่อภัยแล้วจึ่งจะเผยตัวออกมาได้ ในระหว่างที่ซ่อนตัวอยู่นั้น ใครอยากรู้ก็ได้แต่เก็งกันเอาว่าคนนั้นแต่ง ย่อมมีถูกได้ผิดได้ จริงอยู่ คุณพุ่มเป็นคนเกิดในรัชกาลที่ ๓ แต่ในรัชกาลนั้น ท่านจะมีอายุได้สักเท่าไรก็ไม่ทราบ สามารถที่จะเป็นกวีได้หรือยังก็ไม่ทราบ ตามธรรมดากวีจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุชั้นผู้ใหญ่ เด็กจะเป็นกวีหาได้ไม่ ชื่อคุณพุ่มจะเฟื่องฟุ้งว่าเป็นกวีเมื่อไรก็ไม่ทราบ

ได้ให้ดีดพิมพ์ย่อเรื่อง “ปันหยีสะมิรัง” ถวายมากับหนังสือเวรคราวนี้ต่างหากด้วย ทูลกระหม่อมชายผูกพระทัยค้นหาเค้าเรื่องอิเหนาทางชวาอยู่มาก ฝ่าพระบาทจะทอดพระเนตรเห็นได้ในเรื่อง “ปันหยีสะมิรัง” นั้น ว่ามีเค้าเป็นเรื่องอิเหนาทีเดียว แต่ขาดข้อสำคัญอยู่ลางอย่าง ซึ่งทำให้ทูลกระหม่อมไม่ทรงสิ้นพระวิริยะที่จะค้นหาอีก ได้ตรัสบอกว่าลมหอบก็ค้นพบแล้ว อุณากันก็ทรงค้นพบแล้วแต่เป็นต่างเรื่องกันไปยังไม่ได้ทรงแปล ฟังดูก็ชอบกล ทางเราก็มีเรื่องอิเหนาใหญ่อิเหนาเล็ก มีตำนานว่าเจ้านายองค์หญิงสององค์ทรงปรุงต่างกันไป ส่วนทางประเทศชวาก็มีเรื่องราวแยกย้ายไปเป็นหลายเรื่อง ที่ยังหาไม่พบลางทีก็จะยังมี จะเป็นว่าทางชวามีหนังสือที่ร้อยกรองเก็บโน่นชนนี่มาแล้ว หรือพวกปักษ์ใต้จะจ๋ามจิบเล่าจับโน่นชนนี่ ต่างก็จะเป็นได้ทั้งนั้น เค้าเรื่องเราได้จากชาวปักษ์ใต้นั้นแน่ มีคำผันซึ่งในภาษาชวาไม่มี อยู่ในเรื่องอิเหนาของเราเป็นพยาน เช่น กหนุง บุหรง เป็นต้น

องค์หญิงใหญ่ หญิงกลาง หญิงเล็ก ในทูลกระหม่อมชายว่าจะออกมาปีนังในวันที่ ๒๙ เดือนนี้ องค์หญิงใหญ่ องค์หญิงกลาง ว่าจะลงเรือตามเสด็จทูลกระหม่อมไปประพาสอินเดีย องค์หญิงเล็กนั้นเข้าใจว่าเป็นแต่จะมาส่งเสด็จทูลกระหม่อม โดยนัยนี้ทำให้เข้าใจว่าทูลกระหม่อมจะเสด็จมาลงเรือที่ปีนัง หรือมิฉะนั้นก็เสด็จลงมาในเรือลำใดลำหนึ่งแล้ว ซึ่งเขาจะมาแวะจอดที่ปีนัง เป็นโอกาสที่องค์หญิงทั้งสองจะมาลงเรือร่วมตามเสด็จด้วยได้ หากเป็นดั่งนั้นก็เป็นโอกาสที่ฝ่าพระบาทจะได้เฝ้าอีกครั้งหนึ่ง

กับในคราวนี้ ได้ส่งหมายกำหนดการงานวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ มาถวายให้ทรงทราบฝ่าพระบาทด้วยฉบับหนึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ