- เมษายน
- วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ทูลถามข้อความที่สงสัย จาก จ.ท. ประชุม มินประพาฬ
- —วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ สนิท สุมิตร
- วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เรื่องสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —สำเนาพวกมิชชันนารีทูลถามปัญหาโบราณคดี
- —วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาอนุมานราชธน
- วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤษภาคม
- วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวิสาขบูชา
- วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —สำเนาลายพระหัตถ์ทูลกระหม่อมชาย
- วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มิถุนายน
- กรกฎาคม
- สิงหาคม
- กันยายน
- ตุลาคม
- วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
- —ที่ ๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทำขวัญขึ้นระวางเรือหลวง
- —ที่ ๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระกฐินหลวง
- วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๘/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ ๕
- —ย่อเรื่อง ปันหยี สะมิรัง
- วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —คำถามที่ ๓ ว่ายศเจ้าพระยามีมาแต่เมื่อใด
- วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- พฤศจิกายน
- วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —(สำเนาคำตอบปัญหาพระยาอินทรมนตรี)
- วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
- —ที่ ๑๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- —ที่ ๑๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
- —ที่ ๑๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน
- —ที่ ๙/๓ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เปลี่ยนแปลง)
- วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๙/๒ ๒๔๘๑ หมายกำหนดการรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน (เพิ่มเติม)
- วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ธันวาคม
- วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล
- วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร
- —ที่ ๑๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
- วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยเรื่องพระเชตวัน
- วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- —วินิจฉัยชื่อลำน้ำแม่กลอง
- วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- มกราคม
- วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๕/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศล ๗ วัน ศพเจ้าพระยายมราช
- วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๑๖/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกอง
- —ที่ ๑๗/๒๔๘๑ หมายกำหนดการสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป
- วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กุมภาพันธ์
- วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๐/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- —ริ้วขบวนแห่พระศพ
- —ที่ ๒๑/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์
- วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๒/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
- —ที่ ๒๓/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีรัชมงคล
- มีนาคม
- วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
- วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- —ที่ ๒๔/๒๔๘๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์
- วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร
บ้านซินนามอน ปีนัง
วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ
หม่อมฉันมีความยินดีที่จะตั้งต้นเขียนจดหมายเวรถวายต่อไปใหม่แต่วันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคมนี้ และมีความหวังว่าพระองค์ท่านกับพระญาติที่ตามเสด็จไปชวาจะกลับถึงกรุงเทพฯ ด้วยมีความสุขสนุกสบายด้วยกันหมด
หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ที่ประทานมาจากบันดุงกับทั้งที่ประทานมาจากสิงคโปร์นั้นแล้ว ที่ตรัสถามมาว่าหม่อมฉันอยากจะฟังอธิบายอะไรในเกาะบาหลีเป็นข้อสำคัญนั้น หม่อมฉันอยากทราบพระวินิจฉัยว่าด้วยแบบอย่างและกระบวนสร้างเทวสถานในเกาะบาหลีเป็นข้อต้น ต่อมาก็อยากทราบประเพณีของพวกชาวเกาะบาหลีอย่างใดที่ทรงพระดำริเห็นว่ามาแต่ครูเดียวกับไทย หรือที่แปลกเช่นการเล่นอย่างหนึ่งซึ่งเรียกวากะจั๊ก กะจั๊ก อันหม่อมฉันไม่ได้เห็น นอกจากนั้นก็แล้วแต่จะทรงเลือกตามพระหฤทัยว่าอะไรที่หม่อมฉันจะชอบรู้
ไม้ทานพระกรที่ซื้อได้ใหม่นั้นชายงั่วเธอไปซื้อถูกแหล่งแล้ว ร้านที่ขายเป็นโรงตั้งอยู่ในลานโฮเต็ลมิใช่อยู่ตามห้องขายของในตัวตึกโฮเต็ล หม่อมฉันทูลไปไม่กระจัดชัดความเอง อันเวลาเรือกำปั่นพวกรับทั้งคนโดยสารและสินค้าด้วยกันจะออกจากท่านั้น เป็นอาจินตัยไม่แน่นอนทุกลำและทุกบริษัท หม่อมฉันเคยถูกมาแล้วครั้งหนึ่งจะไปเมืองสิงคโปร์ด้วยเรือกำปั่นยนต์ ห้างอิสต์เอเซียติคบอกว่าเรือจะออกเวลา ๕ ทุ่ม หม่อมฉันกินอาหารเย็นแล้วไปลงเรือเวลายามเศษ แล้วเข้าห้องนอนเมื่อก่อน ๕ ทุ่ม ตื่นขึ้นก่อนเวลา ๒ โมงเช้ามองดูทางช่องหน้าต่างเห็นเรือแล่นเลียบเกาะใกล้ๆ นึกฉงนเพราะไปมาทางนี้แต่ก่อนไม่เคยเห็นเรือแล่นเลียบเกาะแห่งใด จนหญิงเหลือเข้าไปในห้อง บอกว่าเรือเพิ่งออกเมื่อโมงเช้า หม่อมฉันแต่งตัวแล้วออกไปดูยังแลเห็นตึกรามเมืองปีนังอยู่ข้างหลังได้ถนัด ต่อเป็นเรือสำหรับรับแต่คนโดยสารเวลาออกจึงค่อยแน่นอน ถึงกระนั้นเจ้าของเรือก็มักบอกเวลาผ่านไว้ราวชั่วโมงหนึ่ง เพราะคนโดยสารมักโอ้เอ้ไม่ไปลงเรือพรักพร้อมกัน มีเรือรับคนโดยสารของบริษัทเยอรมันลอยด์บริษัทเดียวที่ออกตรงต่อเวลาไม่เกรงใจใคร หม่อมฉันเคยลงไปส่งเพื่อนครั้งหนึ่งตามเวลาที่บอกว่าจะออกบ่าย ๕ โมง ไปถึงก่อนกำหนดสัก ๑๐ นาที พอปีนบันไดขึ้นไปถึงดาดฟ้าก็ได้ยินเสียงคนเป่าแตรสัญญาณ และมีพวกพนักงานในเรือมาต้อนพวกคนส่งให้ลงจากเรือ มีคนส่งพวกอื่นไปได้เพียงกลางทางต้องกลับก็มี เพราะฉะนั้นการโดยสารลงไปเสียก่อนเวลากำหนดไปนอนคอยอยู่ในเรือเป็นดีกว่าอย่างอื่น
หญิงจงเธอได้รับจดหมายจากบันดุง บอกว่าเมื่อขาเสด็จกลับจากบันดุงมาเมืองบะเตเวียท่านขึ้นทรงอากาศยานมา พอทราบก็เกิดความหวังใจในเบื้องต้นว่าคุณโตจะไม่เมา ถ้าหากไม่มีใครเมาแล้ว หม่อมฉันนึกว่าเห็นจะชอบและจะพิศวงด้วยกันทั้งนั้น ทั้งที่ได้ลองขึ้นอากาศยานและที่ได้เห็นภูมิมณฑลจากที่สูงเช่นนั้นแปลกประหลาดมาก
ที่ปีนังนี้ในระหว่างเวลาที่ท่านเสด็จไปชวามีเหตุการณ์ให้เกิดรำคาญหลายอย่าง เห็นจะเป็นด้วยปีนี้ฝนตกอย่างวิปลาศ มีวันที่ฝนตกตั้ง ๒๐ ชั่วโมงจนน้ำห้วยขึ้นท่วมถนนและลานบ้านเรือนคนที่อยู่ทางลุ่มถึง ๓ ครั้ง ตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่ก็ยังไม่เห็นเป็นเช่นนี้มาแต่ก่อน อาจจะเป็นด้วยอากาศชื้นนั้นเองเลยเกิดเป็นไข้หวัดติดต่อกันชุกชุมทั้งเมือง บางแห่งเจ็บกันทั้งบ้าน ที่บ้านหม่อมฉันก็เจ็บถึง ๘ คน ตั้งแต่หญิงพูน หลานหญิงดำ หลานหญิงแมว หลานหญิงน้อย และอบ ทั้งคนทำครัวก็เจ็บถึงต้องซื้อกับข้าวที่โรงเกาเหลามากินกันราวสัก ๗ วัน แต่หยาดคนทำกับข้าวของหม่อมฉันได้เจือจานให้ลูกหลานด้วย แต่เดี๋ยวนี้ใข้สงบหายเจ็บกันหมดแล้ว
มีเหตุประหลาดอีกอย่าง ๑ โจทกันว่าที่ศาลเจ้าบนภูเขาแห่งหนึ่ง เห็ดงอกมีควันไฟออกจากเห็ดนั้นอยู่เสมอ คนตื่นไปดูกันมาก หนังสือพิมพ์แต่งคนไปดูก็ว่าจริงอย่างนั้น แต่ทางที่จะขึ้นไปที่ศาลเจ้านั้นต้องปีนถึง ๘๐๐ ฟุตจึงจะถึงศาลเจ้า หม่อมฉันก็เลย “เชื่อ” ไม่ได้ไปดู พวกจีนถือระแวงว่าเทวดาสังหรณ์ให้รู้ว่าจะเกิดมหาสงคราม แต่ข่าวที่ลือก็เงียบไปแล้ว
คราวนี้จะทูลเรื่องเนื่องในโบราณคดีต่อไป เมื่อพระองค์หญิงอาภาเข้าไปสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ พอทำบุญหน้าพระศพครบ ๗ วันแล้ว เจ้าชาย (กลาง) โสภณ กับพระองค์หญิงมยุรฉัตร กลับออกมาปีนัง เพื่อจัดการขายเลหลังของที่ตกค้างอยู่ที่นี่ วันหนึ่งเจ้าชายกลางส่งสมุดพกของพระองค์หญิงอาภา อันมีโคลงเรื่องต่างๆ เขียนไว้ในนั้นหลายบท มาให้หม่อมฉันตรวจดู ว่าจะเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์หรือมิใช่ หม่อมฉันตรวจดูเห็นเป็นหลายสำนวนที่แต่งดีดูเป็นพระนิพนธ์กรมหลวงพิชิตก็มี ที่สำนวนเพียงกระนั้นเองก็มี มีลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระสวัสดิ์อยู่ในนั้นบ้าง แต่ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษวินิจฉัยโคลงบางบท หม่อมฉันไม่คุ้นกับสำนวนกลอนของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ หรือจะว่าให้ชัดกว่านั้น ไม่เคยเห็นกลอนของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ นอกจากโคลงที่ปักพัดรองงานซายิดของสมเด็จพระพันวัสสา (ถ้าหากสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ได้ทรงแต่งโคลงนั้นเอง) ก็ว่าได้ จึงบอกเธอไปว่าโคลงในสมุดพกนั้นดูแต่งหลายสำนวนหม่อมฉันไม่สามารถจะบอกได้ว่าใครแต่งบ้าง
แต่ข้อสำคัญที่หม่อมฉันจะทูลนั้น คือ ในสมุดพกนั้นมีคำอธิษฐานของคุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) จดไว้ครบทั้ง ๑๒ บท มีบอกอธิบายบ้างไม่มีบ้าง หม่อมฉันสันนิษฐานว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์คงได้ยินผู้ใดผู้หนึ่งท่องถวายได้ครบทั้ง ๑๒ บท จึงตรัสบอกให้พระองค์หญิงอาภาจดไว้ ที่ขาดคำอธิบายใบบางบทเห็นจะเป็นเพราะผู้ท่องไม่รู้อธิบาย คำอธิษฐานของคุณพุ่มนี้หม่อมฉันเคยได้ยินมา พระองค์ท่านก็เห็นจะเคยได้ทรงสดับมา แต่หม่อมฉันไม่เคยได้ยินตลอด ยังจำได้บทเดียวแต่ว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” เท่านั้น คำอธิษฐานเหล่านี้เกือบสูญแล้ว เมื่อมาได้พบครบทั้งชุดจึงยินดี จดถวายมาในจดหมายฉบับนี้ เผื่อท่านจะเคยทรงทราบอธิบายที่ยังบกพร่องอยู่บ้าง และเห็นว่าควรจะรักษาไว้เป็นตัวอักษรอย่าให้สูญไปเสีย
คำอธิษฐานของคุณพุ่ม
๑. ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
๒. ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
๓. ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
๔. ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
๕. ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย
๖. ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์
๗. ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
๘. ขออย่าให้เป็นดวงชตาของอาจารย์เซ่ง
๙. ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก
๑๐. ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
๑๑. ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง
๑๒. ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ
จะทูลอธิบายคำอธิษฐานเหล่านี้ ตามที่จดไว้ในสมุดพกประกอบกับเรื่องที่หม่อมฉันได้ทราบต่อไป
อธิบายคำอธิษฐานของคุณพุ่ม
๑) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” นั้นไม่มีในสมุดพก แต่หม่อมฉันทราบเรื่องอยู่เจ้าคุณผู้ใหญ่นั้นคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นสกุลสิงหเสนี) เล่ากันมาว่าเมื่อถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพไปรบญวนในรัชกาลที่ ๓ นั้น ฆ่าคนง่ายๆ แม้จนคนรับใช้ใกล้ชิด ถ้าทำความผิดไม่พอใจก็ให้ฆ่าเสีย
๒) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” นั้น อธิบายในสมุดพกตรงกับที่เล่ากัน คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ชอบใช้คนอย่างนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเวลาไปเรือ ถ้าเรือแล่นช้าไม่ทันใจว่าเรือขี้เกียจให้ยกขึ้นคว่ำบนบกแล้วให้ฝีพายถองเรือทุกคน เรือก็กลัวเจ้าพระยานครไปไหนพายแล่นเร็วเสมอ
๓) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระศรี” นั้น (ในสมุดพกเขียนว่า “ขออย่าให้เป็นน้ำร้อนของพระยาศรี” ไม่ได้ความ นึกได้ตามเคยได้ยินมาว่า “คนต้มน้ำร้อน” เช่นนั้นจึงจะได้ความ) พระยาศรีคนนั้นคือพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก ไปตั้งทัพอยู่เมืองเขมร ทางกรุงเทพฯ พระยาศรีได้เป็นอย่างราชเลขานุการกระทรวงมหาดไทย มีคนยำเกรงไปหาสู่มากทั้งกลางวันกลางคืน ต้องต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกตั้งวันละ ๒ กระถาง คนต้มไม่มีเวลาหยุดมือเลย
๔) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นมโหรีพระยาโคราช” นั้น คือ พระยานครราชสีมา (เห็นจะเป็นคนที่ชื่อว่าทองอินซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาเมื่อยกศักดิ์เมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นเอก ในรัชกาลที่ ๓) อยากมีมโหรีเหมือนขุนนางผู้ใหญ่กรุงเทพฯ เก็บเอาเด็กผู้หญิงพวกลูกเชลย เป็นข่าบ้าง ลาวพวนบ้าง เขมรบ้าง ประสมวงหัดเป็นมโหรี เห็นจะกะมอมกะแมมเต็มทีจึงเป็นของสำหรับค่อนกัน
๕) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย” นั้น ที่เรียกว่าลูกสวาสดิ์ในที่นี้เห็นจะหมายความเพียงว่าเป็นมหาดเล็กตัวโปรด จดอธิบายไว้ในสมุดพกว่าใช้ไม่เลือกว่าการไพร่การผู้ดี แม้ที่สุดจนไกวเปลเด็ก
๖) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์” นั้น จดไว้ในสมุดพกว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์โปรดให้ฝีพายเรือลำทรงขานยาวร่ำไปจนหัวเรือเกยตลิ่ง (เห็นจะเป็นเมื่อจะเข้าเทียบท่า)
๗) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า นั้น ไม่ทราบเลยทีเดียว ในสมุดพกก็ไม่บอกไว้
๘) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดวงชะตาของอาจารย์เซ่ง” นั้น อาจารย์เซ่งดูเหมือนจะเป็นพระ ในสมุดพกจดไว้ว่าเป็นผู้ชอบผูกดวงชะตา (เห็นจะมีชื่อเสียงในทางโหราศาสตร์) แม้จนหมาที่เลี้ยงไว้ออกลูกก็ผูกดวงชะตาลูกหมา
๙) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก” นั้น ใครเป็นคุณหญิงฟักคนนั้นหม่อมฉันไม่เคยได้ยิน จดไว้ในสมุดพกว่า ถ้าโกรธอาจจะถึงแก้ผ้าได้ หม่อมฉันอยากจะขอให้ผ่อนลงมาเพียงขัดเขมรถึงง่ามก้น
๑๐) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นสมปักพระนายไวย” นั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นที่จมื่นไวยวรนาถอยู่ในรัชกาลที่ ๓ สมปักไหมลายต่างกันตามชั้นยศเป็นของพระราชทานขุนนางเมื่อทรงตั้งเป็นตำแหน่ง สำหรับให้นุ่งเข้าเฝ้า โดยปกติขุนนางนุ่งผ้าอย่างสามัญ ต่อเมื่อถึงเวลาจะเข้าท้องพระโรงจึงผลัดผ้านุ่งสมปักที่ในวัง (ดูเหมือนมีรูปภาพขุนนางกำลังผลัดผ้าเช่นว่า เขียนไว้ที่ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์) ออกจากเฝ้าก็ผลัดนุ่งผ้าผืนเดิมกลับไปบ้าน ชรอยสมปักพระนายไวยจะใช้อยู่แต่ผืนเดียวนุ่งจนเก่า ไม่มีผืนสำรองสำหรับเปลี่ยน คุณพุ่มจึงแกล้งค่อน
๑๑) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง” นั้น เจ้าคุณวัง คือเจ้าจอมมารดาตานี รัชกาลที่ ๑ อันเป็นธิดาของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เกิดด้วยภรรยาเดิม และเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นสุรินทรรักษ ท่านชอบและชำนาญการร้อยดอกไม้มาก หม่อมฉันเกิดไม่ทันท่านแต่ทันได้เห็นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ เวลามีงานในวังเคยเห็นหม่อมเจ้าหญิงในกรมหมื่นสุรินทรรักษ อันเป็นหลานและเป็นศิษย์ของเจ้าคุณวังเดินตามกันเป็นแถวตั้งห้าหกองค์เข้าไปร้อยดอกไม้ในงานหลวงเป็นนิจ ที่คุณพุ่มอธิษฐานขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง คงหมายความว่าพอผลิก็ถูกเด็ดไม่ได้อยู่จนโรย
๑๒) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” นั้น ธรรมดาวัดย่อมมีกลองและมีระฆัง กิจที่ตีกลองมีวันละ ๓ ครั้ง คือตีบอกเวลาเพลครั้ง ๑ ตีบอกเวลาสิ้นเพลครั้ง ๑ บอกให้ส่วนบุญแก่สรรพสัตว์เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วเวลาเย็นครั้ง ๑ กิจที่ตีระฆังนั้น ตีเมื่อแสงอรุณขึ้นบอกให้พระสงฆ์ครองผ้าและเตรียมตัวออกบิณฑบาต ครั้ง ๑ ตีเวลาพลบค่ำเป็นสัญญาเรียกพระสงฆ์ให้ไหว้พระสวดมนต์ครั้ง ๑ เมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชเสด็จครองวัดบวรนิเวศ เพิ่มการตีระฆังเรียกพระลงโบสถ์เช้าเวลา ๒ โมงกับเวลาค่ำ ทุ่มเป็นปกติ และให้ตีระฆังเป็นสัญญาณเรียกพระในกิจอย่างอื่นอีก ตกว่าระฆังวัดบวรนิเวศตีมากกว่าวัดอื่นๆ คุณพุ่มจึงเอาไปเข้าในคำอธิษฐาน
คุณพุ่มนั้นหม่อมฉันเข้าใจว่าท่านก็คงรู้จักตัว ด้วยอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นผู้บอกสักวาวงหลวงอยู่หลายปี ดูเหมือนฝากตัวอยู่กับทูลกระหม่อมปราสาทด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด