วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๑

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

ข้อที่ทรงพระวินิจฉัยในคำว่า “จันทน์” “วิมานจันทน์” “วังจันทน์” นั้นดีนัก คำ “เรือนจันทน์” “ตำหนักจันทน์” “วิมานจันทน์” ลงกันหมด ซ้ำมีคำ “พระเสาวคนธกุฎี” มาเป็นคำแปลและเป็นพยานเข้าอีกด้วย ตลอดไปถึงชื่อเมือง “เวียงจันทน์” ก็เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกันกับ “วังจันทน์” คือ “เวียงจันทน์” “เวียง” กับ “วัง” ดูก็ไม่ไกลกัน อาจเป็นคำเดียวกันก็ได้

คำ “บวร” อาจเป็น “พระราชวังบวรสถาน” เท่านั้นมาก่อนก็ได้ คำ “มงคล” จะเติมต่อท้ายเข้าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ก็ควรอยู่

พระยาแพทย์พงษา ซึ่งไม่แน่พระทัยว่าชื่อเดิมชื่อ นาก หรืออะไรนั้น ขอประทานทูลรับรองว่าชื่อ นาก ถูกแล้ว

ตามคำที่ตรัสอธิบายไขข้อถึงวันหน้า เป็นเหตุให้นึกฉุนว่าชาวเราจะทำอะไรลงในภายหลัง ไม่ใคร่ได้คิดท่าทางเสียให้ดีก่อน อยากทำอะไรมีที่ว่างอยู่ก็ทำลงไป ในที่สุดก็รุงรังเสียท่วงทีหมด อาการเช่นนี้ไม่ไช่จะเพิ่งมีแต่ในชั้นกรุงเทพฯ ไปเที่ยวดูปราสาทหินเก่าๆ รุ่นเขมรก็พบบ่อย สร้างอะไรทำลงไปในที่ไม่ควรจะสร้าง เห็นได้ทันทีว่าทำทีหลังด้วยไม่ได้คิดว่าควรหรือไม่ควร

ฝ่าพระบาทจะเสด็จไปชวาวันที่ ๑๓ มิถุนายนนั้น เป็นกำหนดที่ขนาบคาบเกี่ยวกับหนังสือเวรซึ่งเขียนส่งมาถวายตามเคย คือต้องส่งวันที่ ๑๑ แล้วมาถึงปีนังได้จำหน่ายในวันที่ ๑๓ ซึ่งเป็นวันที่ฝ่าพระบาทจะเสด็จไปนั้นเอง แต่คิดว่าจะเขียนส่งมาถวาย ด้วยเชื่อว่าเรือ “เกดะห์” เขาคงไม่ออกแต่เช้ามืด ฝ่าพระบาทคงจะได้ทรงรับหนังสือก่อน แล้วต่อไปก็จะหยุด หากว่ามีฤกษ์งามยามดีจะเขียนถวายก็จะส่งไปบันดุง แต่ไม่เป็นการแน่ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม จึ่งจะเขียนหนังสือเวรส่งมาถวายที่ปีนังตามเคย

ทูลกระหม่อมชายนั้นอย่างไรกัน จะต้องเสด็จไปถึงเกาะบาหลีในปีเดียวกันถึงสามครั้ง คือตามเสด็จพระพันวัสสาครั้งหนึ่ง เสด็จไปกับฝ่าพระบาทอีกครั้งหนึ่ง แล้วจะเสด็จไปกับเกล้ากระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเสด็จไปกับกรมชัยนาทอีกครั้งหนึ่งก็เป็นสี่ติดจะอาการหนัก แต่กรมชัยนาทนั้นไปที่ไหนอย่างไรเงียบหายไปทีเดียว ไม่ได้ข่าวคราวมาเลย

หนังสือแจกงานศพเผ่าเทพ ตามที่ตรัสบอกว่าจะตีพิมพ์เรื่องก่อนประวัติศาสตร์นั้นให้นึกรู้สึกว่าเป็นเรื่องครึมครำเต็มที แต่ดีอยู่ที่เป็นเรื่องแปลกยังไม่มีใครรู้ ย่อมจะอ่านได้ความรู้ในนั้นมาก พระยาอนุมานเขาส่งเรื่องกำเนิดคนมาให้อ่าน นั่นก็ออกจากคำอธิบายของอาจารย์ดาร์วินเป็นเรื่องชนิดเดียวกัน อ่านก็สนุกดี ได้ความรู้ในนั้นมาก เมื่อเร็วๆ นี้เขามาลากเอาไปเผาศพ แล้วเขาแจกหนังสือให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่แต่งใหม่ แต่อ่านจนจบก็ไม่ได้อะไรใส่กระเป๋า ด้วยเป็นของรู้แล้วทั้งนั้น ออกจะเสียเส้น ตีพิมพ์หนังสือชนิดนั้นป่วยการเปล่าๆ

เผ่าเทพนั้นได้ความจากหม่อมแช่มว่าชอบอ่านตำราโรค นึกได้ถึงกรมขุนพิทยลาภเคยตรัสเล่าให้ฟังว่า เมื่อเสด็จอยู่เมืองนอก เสด็จไปเที่ยวร้านขายหนังสือ เห็นหนังสือตำราโรคก็ชอบพระทัย ทรงซื้อมาทอดพระเนตร ตาครูของท่านที่ถวายพระอักษรมาเห็นเข้าก็ฉุนเอามาฉีกทำลายเสียจนหมดสิ้น อธิบายว่าอ่านหนังสือชนิดนี้พาให้เห็นไปว่าตนเป็นโรคชนิดนั้นชนิดนี้ เป็นเหตุให้เสียใจทำลายความสุขไปเปล่าๆ เผ่าเทพนี้ก็ได้กันกับที่ครูในกรมขุนพิทยลาภว่านั้นแล

ได้ส่งหมายกำหนดการวิสาขบูขา อันเป็นการตามเคยถวายมาให้ทรงทราบฉบับหนึ่ง งานจับช้างที่ลพบุรีเขาวางกำหนดลงตรงในวันวิสาขบูชา เห็นจะหวังเอาวันหยุดการในกาลนั้นเป็นประโยชน์ เพื่อข้าราชการจะได้พากันขึ้นไปนอนค้างอ้างแรมดูจับช้างได้มาก ๆ

ผู้ซึ่งเขาไปพักผ่อนที่หัวหินกลับมาเล่าให้ฟังว่า ที่เขาไกรสาสมีงานออกร้านนมัสการพระพุทธบาท เกล้ากระหม่อมก็เห็นขันที่มีผู้ตั้งปัญหามาทูลถาม ว่าฝ่าพระบาทได้ทรงตั้งชื่อเขาลาดเป็นเขาไกรลาสหรือประการใดนั้น แม้ฝ่าพระบาทจะได้ตรัสตอบไปว่าไม่ได้ทรงตั้ง ก็เป็นอันได้ชื่อว่าเขาไกรลาสจนได้ เหตุด้วยหรูขึ้นกว่าชื่อเขาลาด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ