- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
เมื่อปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุรูป ๑ กับสามเณร ๒ รูป เข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช มาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณรชื่อรัตนปาละไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชณวัดมหาธาตุ สามเณรอิกรูป ๑ ชื่อหิธายะ ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเปนพระภิกษุสยามวงษ์ เพราะถือว่าเปนวงษ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีปซึ่งได้รับอุปสมบทแต่พระอุบาลีที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เปนนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แลพระราชทานนิตยภัตรไตรปีสืบมา ครั้นมาถึงปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อิกรูป ๑ ชื่อพระสาสนวงษ์ อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีปให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แต่ไม่มีสมณสาสนหรือสำคัญอันใดมา ครั้นไต่ถามถึงการพระสาสนาในลังกาทวีป พระสาสนวงษ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่าง ๆ ซํ้ามาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป จึงเปนเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤไทยว่าจะมีใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป ทรงพระราชดำริห์ว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีปก็เปนสมณวงษ์อันเดียวกันกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เริดร้างมาเสียเพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทรเปนราชธานี มีอิศรมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ การพระสาสนาแลสาสนวงษ์ในลังกาทวีปจะเปนอย่างไร ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี)[๑] วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือจะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง[๒] สมเด็จพระวันรัตน์จัดได้พระวัดราชบุรณะ ๔ รูป คือ พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป[๓] ๑ พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปราง รูป ๑ พระเซ่งรูป[๔] ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๘ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเปน ๑๐ รูปด้วยกัน
เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจอฉศก พ.ศ. ๒๓๕๗ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัดถ์ แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับ เทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เปนของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุแลพระเจดียฐานในลังกาทวีป[๕] แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือ บาตร ฝาแลเชิงประดับมุก ถลกบาตรสักลาดแดง ไตรแพรปังสี ย่ามหักทองขวาง เปนของพระราชทานพระสังฆนายก พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุณเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี[๖] แลมีสมณสาสนของสมเด็จพระสังฆราชไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง โปรดให้หมื่นไกรกรมการเมืองนครศรีธรรมราช เปนเวยยาวัจกรสมณทูตแลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย
สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเสียที่ปากน้ำเมืองชุมพร พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป ถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อณเดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือน ในระหว่างนั้นพระวลิตรภิกษุกับพระสาสนวงษ์พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พระวลิตรภิกษุกับพระรัตนปาละ พระหิธายะ ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่าง ๆ พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่าถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้นไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทย เกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทยแต่พระสาสนวงษ์รูปเดียว แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้วพระสาสนวงษ์ก็หลบหายไปอิก
พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปลงเรือที่เมืองตรัง ได้ออกเรือเมื่อณเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุญสัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกนนายห้างพราหมณ์อยู่ณเมืองบำบุดบำดัด[๗] ซึ่งเปนคนชอบกับเจ้าพระยานครได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้วก็ช่วยเปนธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อิกเดือนหนึ่ง จงได้บลิมแขกต้นหนคน ๑ เคยมาค้าขายที่เมืองตรังพูดไทยได้เปนล่ามแลนำทางไป ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้นบลิมก็รับไปด้วย เรียกค่าจ้างเปนเงิน ๑๘๐ รูเปีย ออกเดินไปจากเมืองบำบุดบำดัดเมื่อณเดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วันถึงท่าข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่ง ไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออิก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี เมื่อณวันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ พักอยู่ที่เมืองอนุราธ ๓ รัน กุมารสิยูมซึ่งเปนใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธนั้น จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศรีวัฒนบุรี เดินไปได้ ๑๖ วัน ถึงคลองน้ำชื่อว่าวาลุกคงคา เมื่อณวันเดือน ๘ ทุติยาสาธ ขึ้นค่ำ ๑ ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่าพระสงฆ์ไทยไปถึงคลองวาลุกคงคา จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ ทำปรำดาดผ้าขาวให้พักอาไศรยอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นณวันเดือน ๘ ทุติยาสาธ ขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์สามเณรราษฎรชาวลังกาชายหญิงออกมารับสมณทูตไทยแห่เข้าไปในเมืองสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วัดบุปผาราม[๘] เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเปนเมืองขึ้นใหม่ ๆ เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธสาสนา พระสงฆ์ชาวลังกาเคยได้รับนิตยภัตรจตุปัจจัยมาแต่เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไรก็คงให้อย่างนั้น พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะเหมือนภับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง ฝ่ายพระสังฆนายก พระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุงพาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมณเฑียร แลเชิญพระทันตธาตุออกให้นมัสการ แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดียฐานที่สำคัญทุกแห่ง สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือนจึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา
พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกันทำสมณสาสนตอบให้สมณทูตไทยถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑ ในสมณสาสนนั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายก ได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาศุกทุกองค์ จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำน่าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แลจัดได้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์ แว่นตาศิลาอันหนึ่งถวายสมเด็จพระสังฆราช อนึ่งเมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้นได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๓๖๐ ขุนนางอังกฤษที่เปนเจ้าเมืองกลัมพู[๙] เอาเปนธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวางให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน พระยานครศรีธรรมราชทราบว่าพระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้ว จึงแต่งเรือไปรับแลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อณเดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์[๑๐]ขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกษต้นหนึ่ง[๑๑] แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเปนที่พระคัมภีรปรีชา ตั้งพระอาจารย์เทพเปนที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือรู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเปนล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เปนคนฉลาดไหวพริบดี จึงทรงตั้งให้เปนพระวิสุทธิมุนี เปนพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป พระสงฆ์ที่ได้เปนสมณทูตไปลังกานอกจากนั้นก็พระราชทานไตรปีแลนิตยภัตรต่อมาเดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้างทุกรูป
[๑] ในเวลานั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยังมีพระชนม์อยู่ แต่เห็นจะมีความชราทุพลภาพมากอยู่แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เปนอนุนายกอยู่วัดมหาธาตุกับสมเด็จพระสังฆราช จึงเปนผู้ทำแทนในฝ่ายคณะเหนือ
[๒] จดหมายเหตุสมณทูตออกไปสังกาทวีปคราวนี้ หอพระสมุดได้มาจากเมืองเพ็ชรบุรีฉบับ ๑ ความพิสดาร แลบางแห่งแปลกกับที่จดไว้ในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ได้เอาจดหมายเหตุทั้ง ๒ ฉบับนี้ เทียบกันเก็บความจดลงในเรื่องนี้
[๓] พระห่วงนี้ ในจดหมายเหตุฉบับเมืองเพ็ชรบุรี ว่าชื่อพระจันทร์
[๔] พระเซ่งรูปนี้ เห็นจะเปนรูปเดียวกับที่ได้เปนสมเด็จพระวันรัตน์ อยู่วัดอรุณในรัชกาลที่ ๔
[๕] โสฬศเจดีย์ในลังกาทวีป ๑๖ แห่ง ซึ่งชาวลังกานับถือว่าเปนมหาเจดียสถาน ที่พระราชทานต้นไม้เงินทองไปบูชานี้ ปรากฎในสมณสาสนที่สังฆนายกลังกามีมาในรัชกาลที่ ๓ คือ ๑ พระทันตธาตุ ๒ มหิยังคณเจดีย์ ๓ นาคทีปังคณเจดีย์ ๔ กัลยาณีเจดีย์ ๕ รอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ๖ ทิวาคูหังคณเจดีย์ ๗ ทีฆวาปิเจดีย์ ๘ มุติงคณเจดีย์ ๙ ติสสมหาวิหาร ๑๐ พระมหาโพธิที่เมืองอนุราธบุรี ๑๑ มริจิวัฏฏิยเจดีย์ ๑๒ ถูปาราม ๑๓ อภัยคิรีวิหาร ๑๔ เชตวันมหาวิหาร ๑๕ เสลเจดีย์ ๑๖ กาจรคามคณเจดีย์
[๖] เมืองเดียวกับที่เรียกว่าเมืองแกนดีทุกวันนี้
[๗] เมืองบำบุดบำดัดนี้ เข้าใจว่าอยู่ที่เบงกอล ข้างเหนือเมืองมัทราส
[๘] วัดบุบผารามนี้ ที่พระอุบาลีออกไปอยู่ แลไปผูกพัทธสิมาเมื่อพระสงฆ์สยามออกไปให้อุปสมบทแก่ชาวสิงหฬ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงเก่า
[๙] ในจดหมายเหตุไทย เขียนชื่อเมืองนี้ว่าเมืองกลัมพู คือ ที่เรียกว่าเมืองโกลัมโบทุกวันนี้
[๑๐] พระอาจารย์อะไร สอบหาชื่อไม่ได้ บางทีอาจจะเปนพระอาจารย์เทพที่ไปในพวกสมณทูตนั้นเอง ตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุฉบับเมืองเพ็ชรบุรี พระอาจารย์เทพนี้เที่ยวอยู่ทางแหลมมลายู เมื่อสมณทูตออกไปจากกรุงเทพฯ พระอาจารย์เทพอยู่ที่เกาะหมาก ต่อจะออกเรือจากเมืองตรัง พระอาจารย์เทพจึงมาลงเรือไปพร้อมกับพระสงฆ์สมณทูต ที่เมืองกลันตันมีไทยที่นับถือพระสาสนามาก แต่โพธิ์ต้นนี้จะไปปลูกไว้ที่ไหนยังหาทราบไม่ ที่พระยานครศรีธรรมราช เอาไว้เมืองนครศรีธรรมราช ๒ ต้นนั้น เข้าใจว่าปลูกไว้ที่วัดพระเดิมต้น ๑ อิกต้น ๑ เห็นจะปลูกไว้ที่วัดท่าโพธิ์
[๑๑] เรียกว่าโพธิ์ลังกา ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ทั้ง ๓ ต้น