- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
มีการบางอย่าง ซึ่งถือเปนราชประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญเปนฤกษ์ เนื่องต่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเศก คือ (๑) ทรงตั้งพระราชาคณะ อันนับว่าเปนสาสนูปถัมภกิจ (๒) ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเลื่อนกรมแลตั้งกรมพระราชวงษานุวงษ์ ซึ่งสมควรจะได้เลื่อนพระเกียรติยศ (๓) พระราชทานยศบันดาศักดิแก่ข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบ (๔) ให้เร่งรีบชำระล้างความของราษฎรที่คั่งค้างอยู่ในโรงศาลให้สำเร็จกันไป ไม่เรียกค่าฤชาธรรมเนียม แลพระราชทานเงินพินัย ไม่เรียกจากคู่ความ (๕) ปล่อยนักโทษซึ่งสมควรจะได้รับพระราชทานพระกรุณาให้พ้นจากเวรจำ ต่อนั้นยังมีการอันเปนประเพณีที่ทำในเวลาในเวลาเริ่มรัชกาลใหม่อิก ๒ อย่าง คือ (๖) สักเลขขึ้นทเบียนพล (๗) เดินสวนเดินนา การเหล่านี้ก็เปนประเพณีเนื่องต่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ก็แต่เมื่อบรมราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ นั้น พองานแล้วไม่ถึงเดือนก็มีศึกพม่า ต้องรีบรัดจัดการต่อสู้ข้าศึก การต่างๆ ดังกล่าวมาตามวันคืนซึ่งพบในจดหมายเหตุ ต้องเลื่อนมาทำต่อเมื่อปีหลังๆ หลายอย่าง หลักฐานที่ข้าพเจ้าได้ทราบเปนดังจะกล่าวต่อไปนี้
(๑) เรื่องตั้งพระราชาคณะเปนฤกษ์ ไม่พบจดหมายเหตุแลบาญชีว่าทรงตั้งเมื่อใด แลตั้งพระราชาคณะองค์ใดบ้าง เมื่อบรมราชาภิเศกนั้น สมเด็จพระราชาคณะครั้งรัชกาลที่ ๑ ยังอยู่ทั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ แลสมเด็จพระพนรัตนวัดพระเชตุพน ซึ่งเปนอาจารย์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปรากฎว่าทรงตั้งพระญาณสังวร (สุก) วัดพลับ ซึ่งมีเกียรติคุณในทางวิปัสนาธุระแลเปนพระอุปัชฌาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชพระ แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชสามเณรนั้น เปนสมเด็จพระญาณสังวรองค์ ๑ นอกจากนี้เห็นจะทรงตั้งแต่พระราชาคณะผู้น้อย สมเด็จพระราชาคณะในรัชกาลที่ ๒ ต่อนั้นมา เมื่อสมเด็จพระพนรัตนวัดพระเชตุพนมรณะภาพ ทรงตั้งพระพิมลธรรม (มี) วัดราชบุรณะ เปนสมเด็จพระพนรัตน ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เปนสมเด็จพระสังฆราชมาอยู่วัดมหาธาตุ ทรงตั้งพระพิมลธรรม (อาจ) วัดสระเกษ เปนสมเด็จพระพนรัตน เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) มีอธิกรณ์ ต้องออกจากที่พระราชาคณะ ทรงตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เปนสมเด็จพระสังฆราช มาอยู่วัดมหาธาตุ ทรงตั้งพระพิมลธรรม (ด่อน) วัดสระเกษ เปนสมเด็จพระพนรัตน ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์ ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (ด่อน) เปนสมเด็จพระสังฆราช มาอยู่วัดมหาธาตุ ทรงตั้งพระพิมลธรรม (ทองดี) วัดระฆัง เปนสมเด็จพระพนรัตน[๑]
(๒) การสถาปนาพระเกียรติยศเจ้านายในพระราชวงษ์นั้น ได้พบจดหมายเหตุอาลักษณ ได้ความว่าต้องรอมาจนเสร็จการศึกพม่า จึงได้ทรงสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเปนปฐม เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมเมียโทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ การตั้งกรมพระราชวงษานุวงษ์นอกจากนั้น แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งต่อเมื่อปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ เปนคราวแรก ดังจะปรากฎในหนังสือนี้ต่อไปข้างน่า
(๓) การเลื่อนยศบรรดาศักดิข้าราชการผู้ใหญ่นั้น เลื่อนคราวเตรียมทัพรบพม่า ต่อติดกับงานบรมราชาภิเศก เสนาบดีที่เลื่อนคราวแรก สอบจดหมายเหตุได้ความดังนี้
๑. เลื่อนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (ปิ่น) สมุหพระกลาโหม เปนเจ้าพระยาอภัยราชา[๒]
เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นี้ เปนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อเสด็จผ่านพิภพ ยกความชอบในคำลูกขุนปฤกษา ว่าได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการสงครามมาหลายครั้ง ต้องสาตราวุธข้าศึก แลมีความชอบในการที่ชักชวนนายทัพนายกอง คุมกำลังเข้ามาระงับจลาจลในกรุงธนบุรี จึงโปรดให้เปนพระยาพลเทพ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ถึงอสัญกรรม จึงโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา เปนบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ ต้นสกุลสิงห์เสนี)
๒. มีสมุหนายกว่างมาแต่เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ถึงอสัญกรรม จึงโปรดให้พระยาพระคลัง (กุน) เลื่อนยศขึ้นเปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก
เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) นี้ เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เปนที่พระราชประสิทธิในรัชกาลที่ ๑ ได้เลื่อนยศขึ้นเปนพระยาศรีพิพัฒน์ แล้วได้เลื่อนขึ้นเปนพระยาพระคลัง ต่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เปนต้นสกุล รัตนกุล
๓ โปรดให้เลื่อนยศพระยายมราช (บุญมา) ขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุญมา) นี้ เปนบุตรพระยาจ่าแสนยากร ครั้งกรุงเก่า เปนพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ครั้งรัชกาลที่ ๑ เปนพระยาตเกิง ได้เลื่อนยศขึ้นเปนพระยายมราช เมื่อเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เลื่อนยศเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา
๔ โปรดให้เลื่อนยศพระยาอนุชิตราชา (น้อย) เปนเจ้าพระยายมราช
เจ้าพระยายมราช (น้อย) นี้ เปนบุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุลบุณย์รัตพันธุ์) ได้เปนเจ้าพระยาแต่บิดายังอยู่ แต่เมื่อก่อนเปนพระยาอนุชิตราชา จะได้เปนที่อะไรมาบ้างหาทราบไม่
๕ โปรดให้เลื่อนยศพระยาไกรโกษา (กร) เปนเจ้าพระยาพระคลัง
เจ้าพระยาพระคลัง (กร) นี้ เปนข้าหลวงเดิม ได้เปนปลัดกรมอยู่ก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ทรงรับอุปราชาภิเศก จึงเลื่อนยศขึ้นเปนพระยาไกรโกษา
๖ โปรดให้เลื่อนยศพระยาจ่าแสนยากร (สา) เปนเจ้าพระยาพลเทพ
เจ้าพระยาพลเทพ (สา) นี้ จะเปนข้าหลวงเดิมหรืออย่างไรไม่แน่ ปรากฎแต่ว่าเปนพระยาสันธมิตรอยู่ก่อน เมื่ออุปราชาภิเศกแล้ว ได้เปนที่พระยาจ่าแสนยากร
เสนาบดีที่ตั้งเมื่อแรกบรมราชาภิเศก มีจำนวน ๖ คน ดังกล่าวนี้
ส่วนตำแหน่งเสนาบดีกรมวังนั้นยังมีตัว เจ้าพระยาธรรมาฯ (สุด) ได้เปนมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เสนาบดีที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๒ ต่อมา จะรวมมากล่าวไว้ในที่นี้ มีลำดับดังนี้ คือ
๗ สมุหพระกลาโหม เมื่อเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุญมา) ถึงอสัญกรรมทรงตั้งพระยาราชบุรี (แสง) เปนเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ ที่สมุหพระกลาโหม
เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ (แสง) นี้ นับในราชินิกุลพวกบางช้าง เปนบุตรท่านยายเดื่อ ๆ เปนธิดาท่านยายเจ้าเมือง ๆ เปนพี่นางสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี ซึ่งเปนพระชนนีสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เชื้อสายสืบมาแต่เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ (แสง) รับราชการอยู่ที่เมืองราชบุรีแลที่เมืองสมุทสงครามโดยมาก ทุกวันนี้มีนามสกุลว่า วงศาโรจน
๘ เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ (แสง) ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งเจ้าพระยาพระคลัง (สังข์) เปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา
๙ สมุหนายก เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งเจ้าพระยายมราช (น้อย) เปนเจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก เปนบิดาเจ้าพระยาภูธราภัย อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๓
๑๐ กรมท่า เจ้าพระยาพระคลัง (กร) ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งพระยาศรีสุริยวงษ์ (สังข์) จางวางมหาดเล็กเปนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลัง (สังข์) นี้เปนราชินิกุล เปนบุตรเจ้าคุณทองอยู่ พี่นางสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
๑๑ เมื่อเลื่อนเจ้าพระยาพระคลัง (สังข์) เปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาแล้ว โปรดให้พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ) จางวางมหาดเล็กมาบัญชาการกรมท่า เปนพระยาสุริยวงษ์โกษาที่พระคลัง แล้วจึงเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาพระคลัง เปนเจ้าพระยาพระคลังต่อมาตลอดรัชกาลที่ ๓
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นี้ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์) เปนบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าคุณนวลน้องนางสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเปนมารดา เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เปนนายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเลื่อนเปนหลวงศักดินายเวร ถึงรัชกาลที่ ๒ เลื่อนเปนจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก แล้วเลื่อนเปนพระยาสุริยวงษ์มนตรี จางวางหมาดเล็ก
๑๒ กรมเมือง เมื่อเลื่อนยศเจ้าพระยายมราช (น้อย) ขึ้นเปนเจ้าพระยาอภัยภูธรแล้ว ทรงตั้งพระยาศรีสุริยพาห (น้อย) เปนเจ้าพระยายมราช
เจ้าพระยายมราช (น้อย ศรีสุริยพาห) นี้ เปนบุตรขุนนางครั้งกรุงเก่า แต่บิดาจะเปนตำแหน่งใดในไม่ปรากฎ เมื่อเปนพระยาศรีสุริยพาห ได้เปนราชทูตไปเมืองญวน เข้าใจว่าจะมีความชอบในการทูตนั้น เปนเจ้าพระยายมราชอยู่ตลอดรัชกาล
๑๓ กรมวัง เจ้าพระยาธรรมาฯ (สด) ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งพระยาเพ็ชรบุรี (เทศ) เปนเจ้าพระยาธรรมาฯ อยู่มาจนตลอดรัชกาล
๑๔ กรมนา เจ้าพระยาพลเทพ (สา) ถึงอสัญกรรม ทรงตั้งพระยาราชภักดี (ทองอิน) เปนเจ้าพระยาพลเทพ อยู่มาจนตลอดรัชกาล[๓]
(๔) ส่วนการชำระความที่คั่งค้างในโรงศาลนั้น เชื่อได้ว่าคงจะได้โปรดให้ทำตามราชประเพณี เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แต่ไม่พบจดหมายเหตุ
(๕) การปล่อยนักโทษนั้น ได้ความตามพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ชัดเจน ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยนักโทษ นอกจากพม่าข้าศึก ซึ่งต้องเวรจำอยู่ณคุกให้พ้นโทษไป มีจำนวน ๔๔๓ คน
(๖) การสักเลขนั้น ข้าพเจ้าได้พบตัวพระราชกำหนดในหนังสือเก่าที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช ปรากฎว่าลงมือสักเลขเมื่อปีมเมียโทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ พ.ศ. ๒๓๕๓ พระราชกำหนดนี้เปนหนังสือเก่า ให้ความรู้แบบแผนราชการในครั้งนั้น ข้าพเจ้าจึงเอามาลงไว้ในหนังสือนี้เต็มสำเนาต่อไปนี้
[๑] สมเด็จพระพนรัตน (ทองดี) นี้สงไสยอยู่ ว่าจะได้เปนในปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓ ไม่แน่
[๒] ทราบว่า เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) มีตำแหน่งเปนหัวน่าข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนอย่างครั้งพระยาพลเทพฯ ครั้งกรุงธนบุรี ไปเปนสมเด็จเจ้าพระยาวังน่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑
[๓] ลำดับเสนาบดีรัชกาลที่ ๒ ที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าจดตามหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยา ซึ่งพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียงไว้ แต่ยังไม่ได้พิมพ์ แก้ไขเล็กน้อย แต่ที่มารู้ว่าความเปนอย่างอื่น เมื่อกรมพระสมมตฯ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว