๙. เรื่องเดินสวนเดินนา

(๗) การเดินสวนเดินนานั้น ปรากฎในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าทำเมื่อปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔

การเดินสวนนั้น เพราะเหตุที่วิธีเก็บเงินอากรสวนเก็บตามจำนวนแลชนิดต้นผลไม้ซึ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าของสวน ต้นไม้อาจจะปลูกขึ้นใหม่ หรือของเก่าตายไป แลที่สุดที่สวนซึ่งเจ้าของเปลี่ยนเปนนา หรือที่ป่าเจ้าของทำขึ้นเปนสวน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีอยู่เสมอ เพื่อจะให้เจ้าของสวนได้รับความยุติธรรม คือ แบ่งส่วนผลประโยชน์ที่ได้โดยจริงเปนเงินอากรของหลวง ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป จึงมีประเพณีนานๆ แต่งเจ้าพนักงานออกไปเดินสวนครั้ง ๑ ให้รู้ความที่เปนจริงอยู่อย่างไร ถือเปนคติกันมาว่า เมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่เปนกำหนดที่จะเดินสวนครั้ง ๑ แต่ในรัชกาลเดียวที่นานปี เช่นรัชกาลที่ ๕ เดินสวนถึง ๒ หน ๓ หนก็มี ข้าหลวงเดินสวนมีน่าที่ตรวจรังวัดที่ดินแลทำโฉนดให้แก่เจ้าของสวน ในหนังสือโฉนดนั้นลงไว้ว่า สวนใดมีต้นผลไม้ซึ่งต้องพิกัดอากรอย่างใดเท่าใด เมื่อเดินสวนแล้ว เจ้าพนักงานพระคลังสวนก็เก็บเงินอากรตามโฉนดซึ่งข้าหลวงเดินสวนได้ทำไว้ทุกปีไป จนกว่าจะได้เดินสวนใหม่ เปนประเพณีมีมาดังนี้

การเดินนานั้น เหตุก็คล้ายกันกับการเดินสวน แต่ในครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังไม่ได้เก็บเงินค่านา ใช้เก็บหางเข้าตามอย่างโบราณ (วิธีเก็บเงินค่านาพึ่งมามีขึ้นในรัชกาลที่ ๓) ลักษณเก็บหางข้าวนั้น คือราษฎรทำนาได้เข้ามากน้อยเท่าใด แบ่งส่วนเปนภาคหลวงตามสมควร ในรัชกาลที่ ๒ เก็บภาคหลวงไร่ละ ๒ สัดครึ่ง เจ้าของนาต้องขนเข้าอันเปนส่วนหางเข้ามาส่งขึ้นยุ้งฉางของหลวงเอง แลลักษณการที่เก็บหางเข้านั้น กำหนดนาเปน ๒ อย่าง คือ นาในที่ใดอาไศรยได้ทั้งน้ำฝนแลน้ำท่าซึ่งหลากมาตามฤดูกาล กำหนดนาเช่นว่านั้นว่านาน้ำท่า วิธีเก็บหางเข้าเก็บด้วยวิธีคู่โค[๑] คือนับจำนวนโค (กระบือ) ที่ใช้ทำนาในที่นั้นๆ ด้วยถือเปนยุติว่า โคคู่ ๑ คงจะทำนาในที่เช่นนั้นได้ผลประมาณปีละเท่านั้น เอาเกณฑ์จำนวนโคขึ้นตั้งเปนอัตราหางเข้าที่จะต้องเสีย เพราะฉนั้นนาคู่โคถึงจะทำหรือมิทำจึงต้องเสียหางเข้า

นาอิกอย่างหนึ่งซึ่งอาไศรยทำแต่ด้วยน้ำฝนอย่างเดียว คือเปนนาที่ดอนซึ่งน้ำท่าขึ้นไม่ถึง วิธีเก็บหางเข้าเรียกว่าเก็บอย่างฟางลอย คือกำหนดเอาท้องที่ๆ ได้ทำนาจริงๆ จึงต้องเสียหางเข้า ที่แห่งใดถึงจะเปนนา ถ้าปีใดไม่ได้ทำก็ไม่ต้องเสียหางเข้า เอาตอฟางเมื่อเกี่ยวเข้าแล้วเปนที่สังเกตเก็บค่านาโดยวิธีนี้ จึงเรียกว่า นางฟางลอย

ข้าหลวงเดินนาเมื่อสำรวจรู้จำนวนนาเสร็จแล้ว ส่วนนาคู่โคออกหนังสือสำหรับที่ให้แก่เจ้าของ หนังสือนั้นเรียกว่าตราแดง ส่วนหนังสือซึ่งออกให้สำหรับนาฟางลอยเรียกว่าใบจอง หนังสือทั้ง ๒ อย่างนี้ให้กรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินผิดกัน ที่นาซึ่งมีตราแดง จะทำหมดหรือไม่หมดเนื้อที่ประการใดก็ตาม ถ้าเจ้าของที่เสียหางเข้าอยู่แล้วก็มีกรรมสิทธิ์ไม่ขาด ส่วนใบจองนั้น ถ้าเจ้าของที่ไม่ได้ทำเพียง ๓ ปี กรรมสิทธิ์กลับเปนของหลวง

มีการอิกอย่าง ๑ ซึ่งปรากฎว่าได้จัดในคราวปีมแมตรีศกนั้น คือตั้งพระราชกำหนดไม่ให้คนสูบแลซื้อขายฝิ่น ได้พบต้นหนังสือพระราชกำหนดที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้คัดมาลงไว้ต่อไปนี้



[๑] คำที่เรียกว่านาคู่โคยังเรียกกันมาจนทุกวันนี้ ท้องที่ซึ่งเก็บด้วยวิธีคู่โค แต่ก่อนมามีแต่ ๔ เมือง คือ กรุงเก่า เมืองลพบุรี เมืองอ่างทอง เมืองสุพรรณบุรี แต่เหตุใดจึงเรียกว่านาคู่โค ข้อนี้ ข้าพเจ้าเองแต่แรกก็ไม่ทราบอยู่นาน จนได้ไปเห็นวิธีเก็บหางเข้าที่เมืองปัตตานี เขานับตามจำนวนคู่โคที่ใช้ทำนา ว่ามีโคคู่ ๑ ต้องเสียหางเข้าเท่านั้น ๆ ได้ความว่าเก็บอย่างนั้นมาแต่โบราณ จึงได้ความรู้ว่า ที่เรียกว่านาคู่โคนั้น มาแต่วิธีเก็บอย่างนี้เอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ