- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ประสูตรเมื่อณวันพุฒ ที่ ๒๖ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ตรงกับวันทางจันทรคติ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุญ นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ (ค.ศ. ๑๗๖๗) ในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จดำรงตำแหน่งยศเปนที่หลวงยกรบัตรเมืองราชบุรี แลมีนิวาศสถานอยู่ณบ้านอัมพวา ในเวลานั้นกรุงเก่าพึ่งเสียแก่พม่าข้าศึกใหม่ๆ กำลังไทยพยายามจะเปนอิศร แต่ยังแยกกันเปนหลายพวกหลายเหล่าอยู่ ครั้นปีชวดสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีรบพุ่งมีไชยชนะพม่าข้าศึกซึ่งตั้งรักษากรุงเก่าแล้ว ลงมาตั้งเมืองธนบุรีเปนที่มั่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเสด็จเข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ย้ายนิวาศสถานเข้ามาตั้งอยู่ที่ใต้วัดรฆังโฆสิตาราม ครั้งนั้นยังเรียกว่าวัดบางว้าใหญ่ คือที่โรงทหารเรือทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระชัณษาได้ ๒ พรรษา ก็โดยเสด็จเข้ามาอยู่กรุงธนบุรีด้วย ครั้นทรงพระเจริญขึ้นพระชัณษาสมควรแก่การศึกษา สมเด็จพระบรมชนกนารถได้ทรงนำไปฝากให้ทรงศึกษาอักขรสมัยในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางว้าใหญ่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำศึกสงครามในครั้งกรุงธนบุรีนั้น ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเจริญพระชัณษาได้ ๘ พรรษา ก็ได้โดยเสด็จติดพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนารถไปในการสงครามทุกครั้ง ตั้งต้นแต่ขึ้นไปรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ แล้วกลับลงมารบพม่าที่บ้านนางแก้วเขาชงุ้มเมืองราชบุรี แล้วกลับขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่อิก จนลงมารบอแซวุ่นกี้ที่เมืองพิศณุโลก ต่อนั้นมาได้โดยเสด็จคราวไปปราบปรามเมืองนางรอง, เมืองนครจำปาศักดิ, แลไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตครั้งได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎ เสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรี พอพระชัณษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ ๑๓ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนารถ จึงจัดการพิธีโสกันต์ ต่อมาอิกปี ๑ ก็โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนารถคราวยกกองทัพออกไปกรุงกัมพูชา ในระหว่างนั้นข้างกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้น ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาศ บรรดาข้าราชการจึงพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นผ่านพิภพเมื่อปีขาลจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลานั้นพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ ๑๖ พรรษา ปรากฎในคำลูกขุนปฤกษาความชอบผู้ที่ได้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาแต่ก่อน ว่าในบรรดาราชวงษ์มีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยพระองค์เดียวที่ได้โดยเสด็จติดพระองค์มาในการศึกสงครามทุกครั้งทุกคราว จึงโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศเปนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ครั้นณปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ โปรดให้เสด็จไปประทับณพระราชวังเดิม[๑] ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ปากคลองบางกอกใหญ่
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จโดยกระบวนทัพหลวงไปทำสงครามกับพม่าข้าศึก ๔ ครั้ง คือไปต่อสู้กับทัพหลวงพระเจ้าปะดุงที่ตำบลลาดหญ้าแขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้ง ๑ ไปต่อสู้กองทัพมหาอุปราชา ที่ท่าดินแดงแขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อปีมเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙ ครั้ง ๑ ไปตีเมืองทวาย เมื่อปีชวดจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๓๕ ครั้ง ๑ เสด็จยกกองทัพหลวงด้วยพระราชประสงค์จะไปตีเมืองอังวะ เมื่อปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๓๖ ครั้ง ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้โดยเสด็จทั้ง ๔ ครั้ง เมื่อคราวไปตีเมืองทวาย ได้เปนตำแหน่งยกรบัตรทัพด้วย
เมื่อปีวอกสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑ พระชัณษาครบกำหนดที่จะทรงผนวชเปนพระภิกษุ สมเด็จพระบรมชนกนารถจึงโปรดให้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังเปนพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดราชสิทธาราม (ซึ่งภายหลังได้เปนสมเด็จพระสังฆราช) เปนพระกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว วันแรกเสด็จประทับอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับอยู่ณวัดสมอราย คือวัดราชาธิวาศในบัดนี้ ทรงศึกษาสมณกิจในสำนักพระปัญญาวิสารเถร (นาค) ตลอดพรรษา ๑ แล้วจึงลาผนวช[๒]เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เปนพระอรรคชายา มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ ๆ ใหญ่ซึ่งปรากฎพระนามภายหลังว่า เจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตลอดเวลาในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย รับราชการใกล้ชิดติดพระองค์อยู่ในราชสำนัก ดูแลการงานต่างพระเนตรพระกรรณตามพระราชประสงค์เสมอมา ถึงปีกุญเบญจศก พ.ศ. ๒๓๔๖ เวลานั้นพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ ๓๗ พรรษา เปนเวลาที่บ้านเมืองราบคาบสิ้นเสี้ยนศัตรูภายนอกแล้ว เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทประชวรคราวจะสวรรคต มีพระอาการประกอบด้วยทุกขเวทนากล้า พาให้เดือดดาลพระราชหฤไทยอยู่ช้านาน เปนเหตุให้เจ้านายแลข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ เกิดความคิดผิดไปว่ากรมพระราชวังบวรฯ มีความขัดแค้นในสมเด็จพระเชษฐาธิราชด้วยเหตุอื่น เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ประชวรพระอาการหนักลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกมีพระราชประสงค์จะเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรแลรักษาพยาบาล ข้าราชการผู้เปนเจ้าน่าที่ฝ่ายพระราชวังหลวงจะไปตั้งกองล้อมวงรักษาพระองค์เวลาเสด็จตามประเพณี พวกวังน่าก็พากันมาห้ามปรามขัดขืน มิให้พวกวังหลวงเข้าไปในพระราชวังบวรฯ เกือบจะเกิดเหตุขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ทรงทราบเหตุอันนั้น จึงเสด็จขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธ แลเจ้าพระยายมราช พาข้าราชการขึ้นไปตั้งกองล้อมวง พวกฝ่ายพระราชวังบวรฯ ก็ยำเกรง มิอาจที่จะเข้ามาขัดขวาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปประทับแรมรักษาพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ อยู่ ๖ วัน จนสวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว ได้ความตระหนักว่า พวกฝ่ายพระราชวังบวรฯ มีพระองค์ลำดวน พระองค์อินทปัต ซึ่งเปนลูกเธอในกรมพระราชวังบวรฯ เปนต้น กับพวกข้าราชการหลายคนคิดการกำเริบกระด้างกระเดื่องในครั้งนั้น จึงได้จับตัวชำระลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ ต่อมาอิก ๓ ปี กรมพระราชวังหลังก็ทรงพระประชวรทิวงคต หมดพระราชวงษ์ที่เปนชั้นใหญ่
ถึงปีขาลอัฐศก พ.ศ. ๒๓๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเศก สถาปนาพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ซึ่งเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรอยู่ในเวลานั้น ขึ้นเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับณพระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนัก ว่าขอให้ลูกเธอได้อยู่อาไศรยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ดำรงพระเกียรติยศเปนพระมหาอุปราชอยู่ ๓ ปี พระชัณษา ๔๓ ได้เสวยราชสมบัติ
[๑] นามที่เรียกว่าพระราชวังเดิมนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า คนมักสำคัญผิดโดยเข้าใจไปว่า เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เสด็จประทับอยู่ก่อนเสวยราชย์ จึงเรียกว่าพระราชวังเดิม ที่จริงนั้นหมายความว่าเปนพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี
อนึ่งที่พระราชวังเดิมนี้ เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทรแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานให้เปนที่ประทับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ก่อน เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จไปประทับอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๑ มาในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เสด็จไปอยู่ตลอดพระชนมายุแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับต่อมาจนทรงผนวช จึงเปนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดรัชกาลที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเสด็จไปอยู่ตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อกรมหลวงวงษาฯ สิ้นพระชนม์แล้ว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ไปประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ ต่อนั้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์จะหาเจ้านาย ซึ่งมีพระเกียรติยศสูงไปอยู่ ไม่มีพระองค์ใดเต็มพระไทยรับ จึงพระราชทานให้เปนโรงเรียนนายเรือ แต่มีกระแสรับสั่งกำชับไว้มิให้รื้อท้องพระโรง แลพระที่นั่งหลังขวางของเดิม จึงยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้
[๒] ในคราวเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงผนวชนั้น ทรงผนวชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศร์ แลสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งเปนพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์พระองค์ ๑ มีพระชัณษาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทั้ง ๒ พระองค์ เสนาบดีปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยพรชนมพรรษาอ่อนกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้ง ๒ พระองค์ ก็เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระเกียรติยศสูงกว่า ควรให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงผนวชก่อน คำปฤกษอันนี้ไม่เปนที่พอพระหฤไทยของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาเทพสุดาวดี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงทราบเมื่อรับบรรพชาโดยลำดับตามคำปฤกษาเสนาบดีแล้ว มีพระราชประสงค์จะระงับความขุ่นเคืองของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ จึงโปรดให้รับอุปสมบทตามลำดับพระชนมพรรษา เรื่องนี้มีแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พิมพ์ไว้ในหนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบาย