๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน

ปีฉลูนพศก จุล ๑๑๗๙ พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อณวันพุฒเดือน ๑ แรม ๗ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙ หมอควานเที่ยวโพนช้างในแขวงเมืองน่าน คล้องช้างพลายเผือกเอกช้าง ๑ วัดได้สูง ๓ ศอก ๒ นิ้ว พระยาน่านฝึกหัดเชื่องราบดีแล้ว พาช้างนั้นลงมาถวาย ถึงกรุงเทพฯ เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีฉลูนพศก เสด็จไปรับแลมีการแห่สมโภชเหมือนช้างเผือก ๒ ช้าง ที่ได้มาแต่ก่อน พระราชทานชื่อขึ้นรวาง เปนพระยาเสวตรคชลักษณ์ ประเสริฐศักดิสมบูรณ์ เกิดตระกูลสารสิบหมู่ เผือกผู้พาหนะนารถ อิศราราชธำรง บัณฑรพงษ์จตุรภักตร์ สุรารักษรังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุทธยา ขัณฑเสมามณฑล มิ่งมงคลเลิศฟ้า พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ พระยาน่านเปนอันมาก แต่มิได้เลื่อนยศขึ้น เพราะเหตุว่าผู้ครองเมืองน่านในครั้งนั้น เปนตระกูลเจ้ามาแต่ก่อน ใช้นามในพื้นเมืองว่าเจ้าฟ้าเมืองน่านเหมือนอย่างเจ้าเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ไม่ใช่เปนตระกูลซึ่งตั้งเปนเจ้าขึ้นใหม่เหมือนเจ้า ๗ ตน เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน

ที่ได้ช้างเผือกเอก ๓ ช้างในรัชกาลเดียวกัน ยังไม่ปรากฎว่าเคยมีมาแต่ก่อน ทั้งในสยามประเทศตลอดจนเมืองพม่าแลเมืองรามัญในเวลาเมื่อเปนอิศร ในครั้งกรุงเก่า เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ปรากฎว่ามีช้างเผือก ๗ ช้างจริงอยู่ แต่จะเปนเผือกเอกกี่ช้างก็ไม่ปรากฎ ประเพณีที่ถือกันในประเทศไทย, มอญ, พม่า มีเหมือนกันมาแต่โบราณ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใด ได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ถือว่าเปนมิ่งมงคลเพิ่มภูลพระเกียรติยศ ถึงถวายพระนามพิเศษแก่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ว่าพระเจ้าช้างเผือก เจ้าแผ่นดินพม่าได้มีพระนามพิเศษเรียกในพงษาวดารว่าพระเจ้าช้างเผือกลงมาจนพระเจ้ามังระที่มาตีกรุงเก่าคราวหลัง ด้วยประเพณีมีมาแต่โบราณอย่างนี้ เมื่อได้พระยาช้างเผือกถึง ๓ ช้างในรัชกาลที่ ๒[๑] จึงบังเกิดความชื่นชมยินดีในพระบารมีเปนอันมาก ได้ถวายพระนามตามโบราณราชประเพณีว่า พระเจ้าช้างเผือก แลในเวลานั้นโรงช้างเผือกในพระราชวังไม่พอกัน ทรงพระราชดำริห์ว่า เมื่อครั้งกรุงเก่าทำโรงช้างเผือกไว้ระหว่างพระที่นั่งวิหารสมเด็จกับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ๒ โรง ระหว่างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทกับพระที่นั่งสุริยามรินทร ๒ โรง ควรจะสร้างโรงช้างเผือกไว้ในพระราชวัง อย่างเดียวกับเมื่อครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้สร้างโรงช้างเผือกเปนโรงช่อฟ้าขึ้นตรงที่ในระหว่างประตูสนามราชกิจกับประตูพรหมโสภา[๒] ๔ โรง ๆ ต้นทางตวันออกไว้พระเทพกุญชร ซึ่งเปนช้างพังเผือกเอกได้ในรัชกาลที่ ๑ โรงที่ ๒ ไว้พระยาเสวตรกุญชร โรงที่ ๓ ไว้พระยาเสวตรไอยรา โรงที่ ๔ ไว้พระยาเสวตรคชลักษณ์



[๑] ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีช้างเผือก ๑๓ ช้าง เปนเผือกเอก ๓ ช้าง ช้างเผือกที่ได้ในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทรนี้ เปนมากกว่ารัชกาลอื่นที่ปรากฎมาในพงษาวดารประเทศทางตวันออกนี้ทุกประเทศ

[๒] คือตรงที่สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ โรงช้างเหล่านี้พึ่งรื้อเมื่อรัชกาลที่ ๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ