- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
ฝ่ายกรุงกัมพูชา ตั้งแต่เกิดเหตุดังกล่าวมาในตอนที่ ๑ แล้ว สมเด็จพระอุไทยราชากับนักองค์สงวนซึ่งเปนพระมหาอุปโยราช ก็มีความระแวงไม่ไว้ใจกัน ด้วยฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาไปนิยมข้างญวน แต่ฝ่ายพระมหาอุปโยราชยังซื่อตรงต่อไทย ครั้นณเดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ เวลากลางคืนพระมหาอุปโยราช กับพระยาพระเขมรเจ็ดนาย ไพร่ประมาณร้อยเศษ หนีสมเด็จพระอุไทยราชามาตั้งอยู่เมืองโพธิสัตว สมเด็จพระอุไทยราชาให้ขุนนางมาเกลี้ยกล่อมถึงสองครั้ง พระมหาอุปโยราชก็ไม่ยอมกลับไป กลับยึดเอาตัวขุนนางเหล่านั้นไว้ ข้าหลวงไทยซึ่งออกไปอยู่ที่เมืองพัตบอง และพระยาอภัยภูเบศร์ผู้รักษาเมืองพัตบอง ทราบเหตุดังนั้น ก็บอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ครั้นได้ทรงทราบฯ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พี่น้องวิวาทกันใหญ่โตจนถึงฆ่าขุนนางผู้ใหญ่แล้ว แลนักองค์สงวนก็หนีมาตั้งอยู่เมืองโพธิสัตว จะมีแต่ศุภอักษรออกไปว่ากล่าวให้สมัคสมานดีกันเปนปรกตินั้น เห็นจะไม่พอแก่เหตุการณ์ จำจะต้องให้มีกำลังออกไปด้วยจึงจะเปนที่ยำเกรง จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) คุมกองทัพไปสมทบกับทัพพระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ซึ่งไปตั้งอยู่ณเมืองพัตบองแต่ก่อน แลเชิญศุภอักษรออกไปว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้พี่น้องเปนสามัคคีกันเสีย เจ้าพระยายมราชได้ยกไปจากกรุงฯ ในเดือนสี่ปีมแมตรีศก
ครั้นถึงต้นปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๕ สมเด็จพระอุไทยราชาแต่งกองทัพเขมรให้ติดตามมาจับพระอุปโยราชหลายทาง พระยาอภัยภูเบศร์ผู้ว่าราชการเมืองพัตบอง จึงให้พระยาโกษา พระยาวิเศษ พระยาสุนทร กรมการเมืองพัตบองคุมกำลังลงไปเมืองโพธิสัตวคอยห้ามปรามอยู่ ครั้นเจ้าพระยายมราชยกลงไปถึงเมืองพัตบองได้ทราบความดังนั้น ก็ยกกองทัพตามลงไปตั้งอยู่ที่เมืองโพธิสัตว สืบได้ความว่าสมเด็จพระอุไทยราชา ให้พระยาสังคโลก พระยาเอกราช พระยาเพ็ชรเดโชเจ้าเมืองลาดปเอือย ยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่ตำบลริวิฉนากทัพหนึ่ง เจ้าพระยายมราชจึงคิดว่า ถ้าจะยกทัพลงไปเมืองบันทายเพ็ชรทีเดียว เกลือกว่าสมเด็จพระอุไทยราชาจะไม่ทันรู้เหตุผลหนักเบาก็จะตื่นตกใจหนีไป จึงให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองมีหนังสือแจ้งความลงไปให้สมเด็จพระอุไทยราชารู้ก่อน สมเด็จพระอุไทยราชาก็นิ่งเสียหาตอบหนังสือไม่ เจ้าพระยายมราชคอยท่าอยู่เห็นหายไป จึงแต่งให้พระภักดีนุชิตเชิญศุภอักษรลงไปแจ้งอิกครั้ง ๑ ครั้นถึงตำบลริวิฉนาก พระยายมราชเขมร พระยาพิศณุโลก พระยาเพ็ชรเดโช ซึ่งคุมกองทัพมาตั้งค่ายกั้นทางอยู่ ให้ยึดศุภอักษรแลคุมข้าหลวงผู้ถือศุภอักษรนั้นไว้ แล้วบอกไปถึงสมเด็จพระอุไทยราชา ๆ กลับให้พระยาพระเขมรมาขับไล่พระภักดีนุชิตข้าหลวงเสีย มิได้รับศุภอักษรไว้ พระภักดีนุชิตกลับมาแจ้งความแก่เจ้าพระยายมราช ๆ เห็นว่า สมเด็จพระอุไทยราชาบังอาจออกหน้าดูหมิ่นสิ้นยำเกรง ก็พานักองค์สงวนยกกองทัพลงไป พวกพระยาพระเขมรที่ตั้งค่ายอยู่ตำบลริวิฉนาก รู้ว่ากองทัพไทยยกลงไปก็พากันหลบหนี ทิ้งไว้แต่ค่ายเปล่า แต่พระยาสุรสงครามซึ่งคุมทัพแลเรือเสบียงมาถึงตำบลกระพงชนัง พบกองทัพเรือพระยาธรรมาเดโช พระยาโยธาสงคราม พระยามนตรีเสนหา พวกเขมรเอาปืนใหญ่น่าเรือยิงเอาพวกไทย ๆ ก็มิได้ยิงตอบ ทัพไทยให้รีบรุดลงไป ครั้นเรือใกล้กันเข้า พระยาธรรมาเดโช พระยาโยธาสงคราม พระยามนตรีเสนหา ก็ถอยทัพหนีไป พระยาธรรมาเดโชใช้ให้พระยามนตรีสงครามลงเรือเร็วรีบไปทูลแก่สมเด็จพระอุไทยราชา ว่ากองทัพเจ้าพระยายมราชยกลงไปทั้งทางบกทางเรือผู้คนมากนักเหลือที่จะสู้รบได้ สมเด็จพระอุไทยราชาได้ทราบดังนั้น ก็อพยพครอบครัวรวบรวมทรัพย์สิ่งของลงบรรทุกเรือล่องหนีไปจากเมืองบันทายเพ็ชร เมื่อณวันพุฒ เดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ ไปพักอยู่เมืองพนมเพ็ญ
ฝ่ายนักพระองค์อิ่มซึ่งเปนพระมหาอุปราช กับนักพระองค์ด้วงซึ่งเปนน้อง ต้องอพยพไปกับสมเด็จพระอุไทยราชาในเรือลำหนึ่ง ปฤกษากันว่า ถ้าจะไปด้วยสมเด็จพระอุไทยราชาผู้พี่ก็จะพลอยเปนขบถไปด้วย ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ เวลากลางคืน นักพระองค์อิ่ม นักพระองค์ด้วง จึงพาสมัคพรรคพวกขึ้นบกหนีกลับมา รุ่งขึ้นสมเด็จพระอุไทยราชารู้ความเข้าให้คนตามก็ไม่ทัน ฝ่ายพระยาสุรสงครามนายทัพเรือลงไปถึงโพโตก เขมรบอกความว่าสมเด็จพระอุไทยราชาพาครอบครัวลงไปทางเมืองพนมเพ็ญ พระยาสุรสงครามรีบตามลงไปหมายจะห้ามสมเด็จพระอุไทยราชาไว้ ก็มิทัน พบแต่เรือครอบครัวไพร่เขมรสับสนวุ่นวายอยู่ จึงประกาศป่าวร้องให้กลับขึ้นมาอยู่บ้านเรือนตามเดิม
ฝ่ายเจ้าพระยายมราชครั้นยกลงไปถึงเมืองบันทายเพ็ชร ได้ความว่าสมเด็จพระอุไทยราชาอพยพครอบครัวหนีไปถึงเมืองไซ่ง่อนแต่ณวันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำแล้ว เจ้าพระยายมราชจึงให้มีหนังสือไปถึงองต๋ากุนฉบับ ๑ ถึงสมเด็จพระอุไทยราชาฉบับ ๑ ชี้แจงว่ากองทัพกรุงเทพฯ ไม่ได้ยกลงไปเพื่อจะกระทำร้ายต่อสมเด็จพระอุไทยราชาอย่างใด โปรดให้เจ้าพระยายมราชออกไปว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้สมเด็จพระอุไทยราชากับน้องสมัคสมานเปนสามัคคีรศต่อกันอย่างเดิม อย่าให้แตกร้าวกันให้บ้านเมืองเปนจลาจลขึ้น สมเด็จพระอุไทยราชาแลองต๋ากุนก็นิ่งเสียไม่ตอบเจ้าพระยายมราชประการใด เจ้าพระยายมราชจึงตั้งรอฟังราชการอยู่ที่เมืองบันทายเพ็ชร แลนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง ซึ่งหนีสมเด็จพระอุไทยราชากลับมานั้น เมื่อแจ้งว่าเจ้าพระยายมราชกับนักองค์สงวนผู้พี่มาตั้งอยู่เมืองบันทายเพ็ชร ก็มาอยู่ด้วยองค์สงวน เจ้าพระยายมราชก็บอกข้อราชการเข้ามาณกรุงเทพฯ
ในวันนั้นพอที่กรุงเทพฯ ได้ทราบข่าวว่าดึกไทยเฮาซึ่งเปนพระชนนีของพระเจ้าเวียดนามยาลองสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้พระราชเสนาเปนราชทูต เชิญพระราชสาสนออกไปคำนับศพดึกไทยเฮาตามประเพณีทางพระราชไมตรี เมื่อณวันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ แลมีหนังสือเจ้าพระยาพระคลังไปถึงองเลโปฉบับหนึ่ง ใจความว่าขุนวิสูตรสงคราม ซึ่งออกไปเมืองไผทมาศ กลับเข้ามากราบทูลว่า ผู้รักษาเมืองไผทมาศบอกว่ามีหนังสือลงมาแต่กรุงเวียดนามว่า ณวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ ดึกไทยเฮาสิ้นพระชนม์ ครั้นจะงดไว้คอยฟังพระราชสาสนแลหนังสือบอกเข้ามาก็ช้านัก จึงแต่งให้พระราชเสนาราชทูต หลวงสุริยภักดีอุปทูต หลวงรัตนทิพตรีทูต คุมสิ่งของออกมาคำนับพระศพดึกไทยเฮา ส่วนในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ้าขาวน่าทอง ๒๐ พับ ผ้าขาวซ่าห่าน ๒๐ พับ ผ้าขาวผืน ๒๐๐ ผืน ขี้ผึ้งหนัก ๓ หาบ จันทน์เทศหนัก ๕๐ ชั่ง กฤษณาหนัก ๕๐ ชั่ง เครื่องหอมปรุงแล้วหนัก ๔๐ ชั่ง ส่วนในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขี้ผึ้งหนักหาบ ๑ จันทน์เทศหนักหาบ ๑ ไม้กฤษณาหนัก ๓๐ ชั่ง ผ้าขาวซ่าห่านสี ๑๐ พับ ผ้าขาวผืน ๑๕๐ ผืน เครื่องหอมหีบ ๑