๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี

เมืองไทรบุรีนี้ ตามเนื้อความที่ปรากฎมาในหนังสือพงษาวดารเมืองไทรบุรีเอง[๑] แลพงษาวดารไทย ดูเหมือนจะเปนเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแต่ครั้งพระนครศุโขไทยเปนราชธานี พวกที่ตั้งเมืองไทรบุรีก็น่าจะเปนชนชาติไทยด้วยซ้ำไป เพราะในหนังสือพงษาวดารเมืองไทรปรากฎว่า เจ้าเมืองไทรคนแรก มีนามว่าพระองค์มหาวงษ์ แลต่อมายังมีเจ้าเมืองที่เปนนามไทยอิกหลายคน เช่นพระองค์ศรีมหาวงษ์ พระองค์โพธิสัตว เปนต้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีชื่อท้องที่ซึ่งแขกเรียกแต่แปลความไม่ออก เช่น “คลองแก้ว” เปนต้น อันเปนภาษาไทยแท้ ๆ ปรากฎอยู่ในหนังสือพงษาวดารเมืองไทรก็หลายคำ ชาวเมืองไทรแต่เดิม นับถือพระพุทธสาสนา วัดวาของโบราณก็ยังปรากฎอยู่ พวกมลายูซึ่งเปนชาวเมืองสุมาตรา พึ่งอพยพข้ามมาอยู่ปะปนในชั้นหลัง แลพวกเมืองไทรทั้งที่เปนเชื้อไทยแลเชื้อมลายู พึ่งมาเข้ารีตถือสาสนาอิศลามในชั้นเมื่อกรุงเก่าเปนราชธานีนี้เอง ทุกวันนี้ก็ยังมีชนเชื้อไทยเดิมอยู่ในแขวงเมืองไทรเปนอันมาก ราษฎรชาวเมืองสตูลเปนพวกเชื้อไทยเดิมแทบทั้งนั้น คนพวกนี้มลายูเรียกว่า สามสาม[๒] ผิดกับมลายูที่พูดได้แต่ภาษาไทย แต่ถือสาสนาอิศลามเหมือนกับแขก พวกสามสามนี้เชื่อได้ว่าเปนเชื้อสายสืบมาแต่พวกไทยที่ลงไปตั้งเมืองไทรบุรี อนึ่งหลักฐานที่ปรากฎในพงษาวดารของไทย อันยุติต้องกับจดหมายเหตุของโปตุเกต ว่าเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมละกา ๆ อยู่ใต้เมืองไทยบุรีแลเมืองแประ ไทยคงตั้งกองทัพที่เมืองไทรบุรีในครั้งนั้น อนึ่ง เนื้อความที่ยุติต้องกันทุกฝ่าย ว่าถึงเมื่อพวกเมืองไทรบุรีเมืองแประเปนมลายูโดยมาก แลถือสาสนาอิศลามแล้ว ก็ยังเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยาตลอดมา จนกระทั่งเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก แลเมื่อเมืองไทยยังเปนจลาจลอยู่นั้น เมืองไทรบุรี เมืองแประ ตั้งตัวเปนอิศรเหมือนกับเมืองนครศรีธรรมราช แลเมืองปัตตานี ครั้งรัชกาลที่กรุงธนบุรีได้ลงไปปราบปรามเพียงเมืองนครศรีธรรมราช แต่ส่วนเมืองปัตตานีแลเมืองไทรบุรีนั้น ปรากฎในหนังสือกฎรับสั่งตั้งเจ้านครฯ เมื่อปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ พ.ศ. ๒๓๑๙ เพียงแต่ว่าให้เจ้านครฯ ลองยืมเงินพระยาปัตตานีกับพระยาไทรบุรี ว่าจะเอามาซื้อหาเครื่องสาตราวุธ เมืองละ ๑๐๐๐ ชั่ง ดูเปนทำนองลองใจ ไม่ปรากฎว่ามีผลอย่างไร แต่เชื่อได้ว่าคงไม่สำเร็จ ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ติดการทัพศึกทางอื่น ไม่มีเวลาจะลงไปปราบปราม เมืองปัตตานีแลเมืองไทรบุรีจึงตั้งเปนอิศรอยู่ได้จนตลอดรัชกาลกรุงธนบุรี ส่วนเมืองตรังกานูเแลกลันตันนั้น ตามความที่ปรากฎในหนังสือพงษาวดารของ ๒ เมืองนั้น เดิมเปนแต่เมืองขึ้นของเมืองปัตตานี มาเมื่อในราวรัชกาลกรุงธนบุรีนั้นเอง ญาติวงษ์ของพระยาปัตตานีคน ๑ ชื่อตุวันมาโซะไปได้กำลังจากเมืองยะโฮมาตั้งเมืองตรังกานู ครั้นเมืองตรังกานูมีกำลังมากขึ้น ตุวันมาโซะมาตีได้เมืองกลันตันไปเปนเมืองขึ้น จึงมีเมืองตรังกานูเปนเมืองใหญ่ขึ้นอิกเมือง ๑ เมื่อในชั้นปลายรัชกาลกรุงธนบุรี

อนึ่งในสมัยเมื่อตอนปลายรัชกาลกรุงธนบุรีนั้น พวกฝรั่งต่างชาติชาวยุโรปที่ไปมาค้าขายอยู่ทางตวันออก แย่งประโยชน์การค้าขายกัน ในครั้งนั้นอังกฤษอยากจะหาหัวเมืองเปนที่ตั้งทำการค้าขายแข่งพวกวิลันดาทางแหลมมลายู เห็นเกาะหมาก คือที่มลายูเรียกว่า เกาะปินัง อันเปนเขตรของเมืองไทรบุรีเหมาะแก่การอันนั้น จึงแต่งคนให้ไปว่ากล่าวกับพระยาไทร ๆ รังเกียจฝรั่งไม่ยอมให้ ครั้นถึงปีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกกองทัพลงไปปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วเลยไปตีได้เมืองปัตตานีด้วย ครั้งนั้นพระยาไทรอับดุลละ โมกุรัมซะ กำลังกลัวกองทัพไทยจะยกไปตีเมืองไทรบุรี จึงยอมให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก เมื่อปีมเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ พ.ศ. ๒๓๒๙ แต่หนังสือสัญญาที่ปรากฎ เปนข้อความที่เมืองไทรบุรีร่างไปฝ่าย ๑ โดยประสงค์จะให้อังกฤษต้องรับผิดชอบช่วยป้องกันศัตรูที่จะมาทำร้ายแก่เมืองไทรทุกทิศทุกทาง แต่ฝ่ายข้างอังกฤษแก้ร่างนั้นมา ยอมรับผิดชอบเพียงแต่ที่จะต่อสู้ศัตรูที่จะมาตีเกาะหมาก เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า อังกฤษกับพระยาไทรหาได้ทำสัญญากันในครั้งนั้นไม่ แต่ในเวลากำลังว่ากล่าวกันอยู่ด้วยเรื่องสัญญา อังกฤษเข้าปกครองเกาะหมาก เมื่อปีมเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ พ.ศ. ๒๓๒๙ นั้น ต่อมาครั้นเมื่อพระยาไทรมายอมอ่อนน้อมต่อไทยโดยดี เหมือนกับเมืองตรังกานู ไทยยอมให้เมืองไทรเปนเมืองประเทศราชอย่างเดิมไม่เบียดเบียน พระยาไทรก็เกิดความเสียดายเกาะหมากที่ยอมให้อังกฤษเข้าปกครอง เพียรว่ากล่าวเอาคืนก็ไม่สำเร็จ จึงเกิดรบกับอังกฤษเมื่อปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔[๓] พวกเมืองไทรก็เอาเกาะหมากคืนมาไม่ได้ กลับต้องทำหนังสือสัญญากับอังกฤษในปีนั้น ยอมให้อังกฤษเช่าเกาะหมากปีละ ๖,๐๐๐ เหรียญ แลสัญญายอมให้อังกฤษซื้อหาเสบียงอาหารที่เมืองไทรพามาบริโภคที่เกาะหมากได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรแก่เมืองไทร ครั้นต่อมาถึงปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๑๖๒ พ.ศ. ๒๓๔๓ เกิดเหตุเพราะมีแขกสลัดข้างทางฝั่งข้ามไปตีเกาะหมาก อังกฤษเข้าใจว่าพระยาไทรเปนใจด้วย จึงข่มขู่ขอเช่าแผ่นดินซึ่งอยู่ที่ฝั่งตรงเกาะหมากข้าม ที่อังกฤษเรียกว่า ปรอวินซ์ เวลเลสลี ได้จากเมืองไทร เพิ่มค่าเช่าให้อิกปีละ ๔,๐๐๐ เหรียญ รวมทั้งค่าเช่าเดิมเปนปีละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ที่เหล่านั้นจึงตกเปนของอังกฤษแต่นั้นมา

พระยาไทร (อับดุลละ โมกุรัมซะ) ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๑ น้องชายชื่อ ตนกูอับดุลละ ได้เปนพระยาไทร เปนอยูไม่ช้านักถึงอนิจกรรมอิก ความปรากฎว่า พระยาไทร (อับดุลละ โมกุรัมซะ) มีบุตรชาย ๑๐ คน พวกบุตรเหล่านี้โดยมากต่างมารดากัน เกิดชิงกันจะเปนเจ้าเมืองไทร เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ซึ่งเปนผู้กำกับหัวเมืองแขกฝ่ายตวันตก เห็นว่าพวกตนกูบุตรพระยาไทร (อับดุลละ โมกุรัมซะ) เปนผู้ใหญ่อยู่ ๒ คน คือ ตนกูปะแงรันบุตรใหญ่คน ๑ ตนกูปัศนูบุตรที่สองคน ๑[๔] จึงให้เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งตนกูปะแงรันคนใหญ่เปนพระยารัตนสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหะหมัด รัตนราชบดินทร์ สุรินทรวังษา พระยาไทรบุรี ทรงตั้งตนกูปัศนู เปนพระยาอภัยนุราชตำแหน่งรายามุดา ตนกูปะแงรันได้เปนพระยาไทร กลับออกไปเมื่อปลายรัชกาลที่ ๑

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อพม่ามาตีเมืองถลางในปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระยาไทร (ปะแงรัน) ได้ส่งกองทัพเมืองไทรมีจำนวน ๒๕๐๐ คนไปช่วยรบพม่าที่เมืองถลางคราว ๑ ต่อมาถึงปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๕ พระยาไทรยกกองทัพลงไปตีเมืองแประ ได้เมืองแประกลับมาเปนเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ ด้วยความชอบ ๒ ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาไลย จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศพระยาไทร (ปะแงรัน) ขึ้นเปนเจ้าพระยา เมื่อก่อนเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ได้เปนเจ้าพระยาปี ๑ นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช คือ เลี่อนเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขึ้นเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวาง แลทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (คือ เจ้าพระยานครฯ น้อย) เปนพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ได้เลื่อนยศไม่ช้า ก็เกิดแตกร้าวขึ้นกับพระยาอภัยนุราช (รายามุดา) ได้ความตามหนังสือเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเหตุเพราะพระยาอภัยนุราชจะขอเอาที่กวาลามุดาเปนบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรจะให้ที่อื่นก็ไม่ยอมรับ เหตุที่เกิดแตกร้าวกันนี้จะไม่สู้เปนการเล็กน้อยนัก เพราะปรากฎว่า ถึงบอกกล่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ แลโปรดให้พระยาพัทลุงเปนข้าหลวงออกไปว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ เมื่อปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ เจ้าพระยาไทรกับพระยาอภัยนุราชก็ไม่ปรองดองกันได้ ลงที่สุดโปรดให้ย้ายพระยาอภัยนุราชมาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูลขึ้นเมืองไทรบุรี แลทรงตั้งตนกูอิบรฮิมน้องที่สามเปนรายามุดาเมืองไทร การที่แตกร้าวกันจึงสงบไป

ตามเนื้อความที่ปรากฎดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้นพวกเมืองไทรเห็นจะแตกกันเปน ๒ พวก คือ พวกเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) พวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราชพวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบนอบฝากตัวกับพระยานครศรีธรรมราช โดยเฉภาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตรแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลอยู่ได้เพียง ๒ ปีก็ถึงอนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่า เชื้อวงษ์ของพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล แลฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชมาอย่างครั้งพระยาอภัยนุราช หรือยิ่งกว่านั้น[๕]

ถึงปีมโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ ได้ข่าวว่าพม่าเตรียมกองทัพจะยกมาตี เมืองไทย ดังกล่าวมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่า พม่าคิดชักชวน เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ให้เข้ากับพม่า แลจะชวนให้ญวนยกมาตีเมืองไทยด้วยอิกทาง ๑ ให้เปนศึกสามด้านในคราวเดียวกัน จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งออกไปให้สืบสวนแลให้กองทัพเมืองนคร เมืองสงขลา ไปตั้งต่อเรือที่เมืองสตูล เปนการคุมเมืองไทรไว้ด้วย ความปรากฎว่า เจ้าพระยาไทรได้ขอให้อังกฤษช่วยว่ากล่าวอิกครั้ง ๑

ครั้นเมื่อต้นปีมเสงตรีศก ตนกูม่อม ในพวกน้องคน ๑ ของเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เข้ามาฟ้องต่อพระยานครศรีธรรมราชว่าเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เอาใจไปเผื่อแผ่เข้ากับพม่าข้าศึก[๖]อิกทาง ๑ จีนหมาเก๊า ชื่อลิมหอย เปนพ่อค้าตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองถลาง ไปค้าขายที่เกาะหมาก แล่นเรือกลับมาพบเรือพม่าลำ ๑ เห็นผิดเรือลูกค้า มีความสงไสย จึงเข้าตรวจเรือพม่านั้น ค้นได้หนังสือรับสั่งของพระเจ้าอังวะมีถึงเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) จีนลิมหอยจึงจับพม่าที่มาในเรือนั้นกับทั้งเรือแลราชสาสนมาส่งยังพระยาถลาง ๆ บอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ แปลหนังสือพม่าได้ความว่า เจ้าพระยาไทรไปเปนไมตรีกับพม่า แลพระเจ้าอังวะชักชวนให้เจ้าพระยาไทรยกกองทัพแขกมลายู ขึ้นมาตีหัวเมืองไทยทางข้างใต้ เมื่อได้ความทั้ง ๒ ทางต้องกันดังนี้ จึงโปรดให้มีตราลงไปให้หาตัวเจ้าพระยาไทรเข้ามาจะไต่ถาม เจ้าพระยาไทรได้ทราบท้องตราก็เลยตั้งแขงเมือง ต้นไม้เงินทองก็ไม่ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายตามกำหนด[๗] จึงโปรดให้มีตราลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ว่าเจ้าพระยาไทรเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ข้าศึกเปนแน่แล้ว จะละไว้ให้เมืองไทรเปนไส้ศึกขึ้นอิกทาง ๑ ไม่ได้ ให้พระยานครฯ ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ลงไปตีเมืองไทรเอาไว้ในอำนาจเสียให้สิทธิขาด

พระยานครฯ ได้ต่อเรือรบเตรียมไว้ที่เมืองตรังแลเมืองสตูลครั้งเตรียมศึกพม่านั้นแล้ว เมื่อได้รับท้องตราสั่งให้ไปตีเมืองไทรจึงให้รวบรวมคนเข้าเปนกองทัพมีจำนวน ๗๐๐๐ คน ทำกิติศัพท์ให้ปรากฎว่าจะยกไปตีเอาเมืองมฤทแลเมืองตนาวศรีคืนมาจากพม่า แลสั่งลงไปให้เจ้าพระยาไทรเปนกองลำเลียงส่งเสบียงอาหาร ครั้นเตรียมกองทัพพร้อมแล้ว จึงให้เร่งเรียกเสบียงที่เมืองไทร เจ้าพระยาไทรก็บิดพริ้วเสียอิก พระยานครฯ จึงยกกองทัพบกทัพเรือพร้อมด้วยกองทัพเมืองพัทลุงเมืองสงขลายกทางบกลงไปตีเมืองไทรพร้อมกัน ได้สู้รบกันเล็กน้อย กองทัพพระยานครฯ ตีได้เมืองไทร เมื่อณเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำปีมเสงตรีศก[๘] จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) หนีไปอาไศรยอังกฤษอยู่ที่เกาะหมาก พระยานครฯ ให้กองทัพเรือไปตีเกาะลังกาวี ซึ่งเปนเกาะใหญ่ในแขวงเมืองไทรได้ด้วยอิกแห่ง ๑ แล้วให้กวาดครอบครัวแขกเมืองไทรบุรีส่งเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง เอามาไว้เมืองนครบ้าง ลดกำลังเมืองไทรบุรีให้น้อยลงแล้ว จึงให้พระภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรพระยานครฯ เปนผู้รักษาเมืองไทรบุรี แลให้นายนุชมหาดเล็กบุตรอิกคน ๑ เปนปลัดอยู่รักษาราชการที่เมืองไทรบุรี[๙] ต่อมาทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯตั้งพระภักดีบริรักษ์เปน พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ[๑๐] พระยาไทรบุรี แลตั้งนายนุชมหาดเล็ก เปนพระเสนานุชิต ตำแหน่งปลัด เมืองไทรบุรีจึงอยู่ในอำนาจเมืองนครศรีธรรมราชสิทธิขาดแต่นั้นมา



[๑] พงษาวดารเมืองไทรบุรี หนังสือเก่าแต่งไว้ในภาษามลายูเรื่อง ๑ เรียกว่าเรื่องพระองค์มหาวงษ์ แต่มลายูเรียกเพี้ยนไปเปนมะโรงมหาวงษ์ หนังสือเรื่องนี้หอพระสมุดได้พิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษแล้ว พงษาวดารเมืองไทรบุรีที่พิมพ์ภาษาไทยในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๒ แลที่นายพันโท โล อังกฤษ ได้เก็บใจความแปลเปนภาษาอังกฤษ เมื่อสมัยตรงในรัชกาลที่ ๓ อยู่ในพวกหนังสือเบอร์นีอิกฉบับ ๑ ก็เก็บจากหนังสือมะโรงมหาวงษ์นี้เอง

[๒] คำว่า “สามสาม” นี้ ฝรั่งที่ศึกษาโบราณคดีสันนิฐานว่าจะมาแต่ “สยามอิศลาม” คือเรียกเมื่อเข้ารีต ให้ผิดกับไทยที่ยังถือสาสนาเดิม

[๓] เรื่องที่เมืองไทรเกิดรบกับอังกฤษ ตามที่กล่าวมานี้ ปรากฎในใบบอกของครอเฟิดทูตอังกฤษที่เข้ามาเมื่อในรัชกาลที่ ๒ หนังสือเรื่องนั้นหอพระสมุดวชิรญาณได้พิมพ์แล้ว ปีที่รบกัน ประจวบเหตุที่ปรากฎในหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลาแลพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่ามีแขกสยัดมาแต่ต่างประเทศ มาคบคิดกับพวกมลายูเมืองปัตตานี ยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา เมื่อกองทัพไทยลงไปปราบปรามพวกแขกปัตตานีแตกฉานไป เห็นพระยาไทรบุรีจะเกรงความผิดในเรื่องเอาเกาะหมากไปให้ฝรั่งเช่า จะคิดเอาเกาะหมากคืน จึงเกิดรบกัน ก็เปนได้

[๔] ความปรากฎ ว่าเจ้าพระยานครอยากจะให้ตนกูปัศนูได้เปนพระยาไทร ทำนองตนกูปัศนูจะเปนบุตรภรรยาหลวง

[๕] พระธานินทรนิพัทธ (หวันอมัด) ซึ่งเปนน้าเจ้าพระยาไทร (อับดุลหะมิด) เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทรบุรีเล่าสืบกันต่อมาว่า แต่เดิมเมืองไทรบุรีได้พึ่งพระบารมีกรุงเทพฯ เปนศุขสบายดี ตั้งแต่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไทรก็ได้ความเดือดร้อนต่าง ๆ ด้วยเจ้าพระยานครฯ ประสงค์จะเอาเมืองไทรเปนอาณาเขตรของเมืองนครศรีธรรมราช จึงแกล้งเบียดเบียนแลหาความผิดต่าง ๆ ใส่เมืองไทรบุรี นี่เปนคำที่ชาวเมืองไทรบุรีกล่าว แต่ถ้าจะพิจารณาดูในทางความคิดของฝ่ายเจ้าพระยานครฯ ก็พอจะเข้าใจได้ เจ้าพระยานครฯ เวลานั้นเปนผู้กำกับหัวเมืองแขกมลายูข้างน่านอก เปนผู้รับผิดชอบในการรักษาพระราชอาณาจักรทางนั้น เหตุที่เมืองไทรคบฝรั่งดังกล่าวมาแล้ว จะทำให้เจ้าพระยานครฯ มีความสงสัยในความซื่อตรงของพระยาไทร จึงไม่ไว้ใจกัน

[๖] ข้อที่ว่าเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เอาใจไปเผื่อแผ่เข้ากับพม่า ถึงในหนังสือที่อังกฤษแต่งก็ยืนยันว่าเปนความจริง

[๗] ข้าพเจ้าได้พบท้องตราครั้งรัชกาลที่ ๒ สั่งเจ้าพระยานครฯ ให้คิดอ่านให้เจ้าพระยาไทรเข้ามากรุงเทพฯ แต่ก่อนเกิดเหตุที่กล่าวนี้หลายฉบับ เข้าใจว่าเจ้าพระยาไทรเห็นจะเกิดแตกร้าวกับเจ้าพระยานครฯ แลคิดเอาใจออกหากมาแต่ก่อนปีมโรงโทศกแล้ว

[๘] วันตีเมืองไทรได้ที่ว่าเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำตามฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ น่ากลัวจะผิด ด้วยในจดหมายเหตุของครอเฟิดทูตอังกฤษมาถึงเกาะหมากเดือน ๑ แรมค่ำ ๑ ว่าเวลานั้นพระยานครฯ ตีได้เมืองไทรบุรีแล้ว

[๙] เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เมื่อได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ในปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ เปนแต่พระยานครฯ จะได้เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาเมื่อไรยังไม่ทราบ ได้พบจดหมายรับสั่งกรมหมื่นศักดิพลเสพลงวันพุฒเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ยังเรียกว่าพระยานครฯ เห็นจะได้เลื่อนเปนเจ้าพระยาในปลายรัชกาลทีเดียว หรือจะได้เลื่อนต่อเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ก็เปนได้

[๑๐] ชื่อนี้ปรากฎในหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลา ที่พระยาวิเชียรคิรี (ชม) แต่ง แต่ยังไม่พบในที่อื่น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ