- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
ตามเนื้อความในหนังสือเก่า ซึ่งได้พบที่เมืองนครศรีธรรมราช เข้าใจว่า เห็นจะเปนในราวปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) จางวางเมืองนครศรีธรรมราชถึงอสัญกรรม เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) เปนบิดาเจ้าจอมมารดา (นุ้ย) ซึ่งเปนเจ้าจอมมารดากรมหมื่นศักดิพลเสพ เมื่อปลงศพเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมหมื่นศักดิพลเสพ เสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราชในการปลงศพเจ้าคุณตา แต่การที่เจ้านายเสด็จออกไปถึงหัวเมืองทางไกล เช่นเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยนั้นมีแต่เสด็จไปในราชการทัพศึกหรือราชการที่สำคัญ ไม่มีประเพณีที่เสด็จไปในการส่วนพระองค์อย่างทุกวันนื้ การที่กรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จลงไปปลงศพเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีครั้งนั้น กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงกำกับกระทรวงกลาโหมซึ่งบัญชาการหัวเมืองปักษ์ใต้ เชื่อได้ว่าคงโปรดให้เสด็จไปในราชการอื่นด้วย ข้อนี้สมกับคำกล่าวกันมาในเมืองนครศรีธรรมราชว่า[๑] เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จลงไปเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนั้น ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองตลอดจนจัดกำหนดเขตรแขวงสำหรับการปกครองท้องที่ ยังมีแผนที่แลทำเนียบตำแหน่งกรมการปรากฎ[๒]อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เนื้อความในหนังสือทำเนียบนั้นว่า เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมแม เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ วันศุกร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี แลทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ เปนพระยานครศรีธรรมราช พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ กราบบังคมทูลว่า กรมการเมืองนครฯ ขาดไม่ครบตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดแจงขึ้นให้ครบ
ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมแมตรีศก (พระยานครฯ กลับออกไปถึงเมืองแล้ว) จึงให้เชิญพระอัยการตำแหน่งซึ่งในพระบรมโกษฐทรงชำระใหม่[๓] กับสมุด (ทำเนียบ) ตำแหน่งกรมการเมืองนครฯ ครั้งพระยาศุโขไทยออกไปเปนเจ้าพระยานครฯ[๔] มาสอบกัน ในพระอัยการที่ทรงชำระใหม่ มีแต่ตำแหน่งกรมการผู้ใหญ่ แต่ทำเนียบครั้งพระยาศุโขไทย มีตำแหน่งกรมการผู้น้อยด้วย จึงเอาทำเนียบทั้ง ๒ ตำรานั้น รวมบรรจบกันเปนทำเนียบใหม่ สำหรับเมืองต่อไป[๕] ดังนี้
ก่อนที่จะกล่าวความในทำเนียบกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ควรจะอธิบายถึงทำเนียบหัวเมืองสักหน่อย หัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ก่อนมากำหนดเปน ๔ ชั้น เรียกว่าเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา หัวเมือง เอก โท ตรี มีเมืองขึ้นมากบ้างน้อยบ้างทุกเมือง แต่หัวเมืองจัตวาไม่มีเมืองขึ้น การที่กำหนดว่าหัวเมืองใดเปนชั้นใด ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูในทำเนียบสอบกับแผนที่ แลเรื่องราวที่มีมาในพงษาวดาร เข้าใจว่าอาไศรยเหตุต่างกัน หัวเมืองชั้นเอกแต่เดิมมีแต่ ๒ เมือง คือ ฝ่ายเหนือเมืองพิศณุโลก ๑ ฝ่ายใต้เมืองนครศรีธรรมราช ๑ แต่เมืองนครราชสิมานั้น แม้ในทำเนียบครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ก็ยังเปนแต่หัวเมืองโท ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะพึ่งมายกขึ้นเปนเมืองเอกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นี้เอง หัวเมืองเอกทั้ง ๓ เมืองนี้ ส่วนเมืองพิศณุโลก แลเมืองนครศรีธรรมราช จัดเปนเมืองเอก ด้วยเคยเปนราชธานีมีอิศร ราษฎรพลเมืองยังมีความนิยมต่อผู้ปกครองว่าเปนเจ้านาย ทั้งเปนเมืองใหญ่อยู่น่าด่าน จึงกำหนดเปนเมืองเอก[๖] ส่วนเมืองนครราชสิมานั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเปนเมื่อครั้งปราบขบถเวียงจันท์แล้วเมืองนครราชสิมาสำคัญขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยเปนหัวเมืองใหญ่น่าด่าน ต้องบังคับบัญชาการกว้างขวางทั่วไปในทิศตวันออก จึงยกขึ้นเปนหัวเมืองเอกอิกเมือง ๑ ส่วนหัวเมืองที่กำหนดเปนเมืองโทนั้น พิเคราะห์ดูโดยแผนที่ดูชอบกลอยู่บางเมือง เช่นเมืองตนาวศรี เมืองนครราชสิมา (แต่ก่อนมา) เมืองเพ็ชรบูรณ์ ๓ เมืองนี้เปนเมืองใหญ่อยู่น่าด่าน คล้ายเมืองเอกที่กล่าวมาแล้ว แต่ความสำคัญอย่างอื่นไม่เหมือนกัน จึงกำหนดเปนแต่เมืองโท เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ยังมีอิก ๓ เมือง คือ เมืองศุโขไทย เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพ็ชร ๓ เมืองนี้ ทั้งเมืองสงขลา ซึ่งยกขึ้นเปนเมืองโทชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้อิกเมือง ๑ อยู่ใกล้กับเมืองเอกนักหนา เวลามีศึกสงคราม เช่นรบพม่ารบแขกมลายู ก็ต้องอาไศรยกำลังเมืองเอกที่อยู่ใกล้ ด้วยกำลังผู้คนพลเมืองไม่มีมากมายเท่าใดทุกเมือง แต่ทำไมจึงยกขึ้นเปนเมืองโท ข้อนี้น่าพิเคราะห์อยู่ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนได้ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือเพราะเมืองศุโขไทย เมืองสวรรคโลก แลเมืองกำแพงเพ็ชร เคยเปนราชธานีแลเปนเมืองลูกหลวงมาแต่เดิม เมื่อได้มาเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยา ยังเปนเมืองสำคัญแลอยู่น่าด่าน จึงยกเปนเมืองโท แล้วก็เปนเมืองโทตลอดมาด้วยเหตุนี้ประการ ๑ ยังมีเหตุอิกประการ ๑ ซึ่งเห็นได้แต่โดยทางสันนิฐาน ว่าที่ยกเปนเมืองโทนั้น เพื่อจะกำกับเมืองเอก ไม่ให้แผ่อำนาจใหญ่โตเกินกว่าสมควรไป ส่วนหัวเมืองตรีนั้น เห็นได้ในทำเนียบ ว่าเอาท้องที่เปนใหญ่ คือ ท้องที่แห่งใดซึ่งต้องจัดการปกครองเปนเมือง แต่ไม่มีข้อสำคัญอย่างเมืองเอกเมืองโทจึงกำหนดเปนเมืองตรี ส่วนหัวเมืองจัตวานั้น เมื่อแรกจัดขึ้น จัดด้วยความมุ่งหมายจะขยายอำนาจในราชธานีให้กว้างขวางออกไป ดังข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำอธิบายพระราชพงษาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ข้อนี้จะพึงเห็นหลักฐานประกอบความสันนิฐานได้ในทำเนียบตำแหน่งกรมการ ซึ่งปรากฎอยู่ในกฎหมายลักษณศักดินา คือ กรมการเมืองเอกมีครบกระทรวง แลยังมีตำรวจด้วย กรมการเมืองโทเมืองตรี มีตำแหน่งน้อยลงมา แต่กังมีครบกระทรวง ส่วนเมืองจัตวานั้น ไม่มีตำแหน่งกระทรวงจตุสดมภ์ทีเดียว
ทำเนียบกรมการหัวเมือง ที่ลงไว้ในกฎหมายย่อมาก ข้าพเจ้าพึ่งได้พบฉบับพิสดารถ้วนถี่ แต่ทำเนียบเมืองนครศรีธรรมราชฉบับที่กล่าวมาแล้ว มีเนื้อความหลายข้อ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นสมควรจะนำมากล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ จึงได้คัดความข้อสำคัญในทำเนียบ มาลงไว้ต่อไปนี้[๗] คือ:-
๑ กรมการทุกตำแหน่ง แบ่งเปนอยู่ฝ่ายขวาหรืออยู่ฝ่ายซ้าย ลักษณการที่แบ่งเปนฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายนี้ น่าเข้าใจว่า มาแต่ลักษณกำหนดเปนฝ่ายทหารฝ่าย ๑ ฝ่ายพลเรือนฝ่าย ๑ ที่ในกรุงเทพฯ นี้ แต่เดิมศาลาลูกขุนใน (คือ ที่ประชุมข้าราชการฝ่ายธุระการ) ศาลามหาดไทยอันเปนฝ่ายพลเรือน ก็เรียกว่าศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย ศาลาลูกขุนสำหรับกลาโหมฝ่ายทหาร เรียกว่าฝ่ายขวา ถึงที่เฝ้าในท้องพระโรง ข้าราชการฝ่ายพลเรือนก็เฝ้าข้างซ้าย ข้าราชการฝ่ายทหารเฝ้าข้างขวา เปนแบบแต่โบราณมาจนทุกวันนี้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดู การที่จัดตำแหน่งแบ่งเปนขวา,ซ้าย, มูลเหตุเดิมเห็นจะไม่ได้เอาฝ่ายทหารแลพลเรือนเปนเกณฑ์ เพราะลักษณกำหนดตำแหน่งเปนขวาเปนซ้าย มีทั้งในกรมฝ่ายทหารแลในกรมฝ่ายพลเรือน ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจว่ามูลเหตุที่แบ่งเปนขวา,ซ้าย,นี้จะมาแต่อะไร แต่มีมาแต่โบราณ ว่าเฉภาะทำเนียบเก่าเมืองนครฯ ที่ได้พบ ทั้งปลัดแลยกรบัตรอยู่ฝ่ายขวา แต่มหาดไทยไปอยู่ฝ่ายซ้าย ตำแหน่งกรมเมือง, กรมนา, อยู่ฝ่ายขวา ตำแหน่งกรมวัง, กรมคลัง, อยู่ฝ่ายซ้าย ดังนี้
๒ กรมการ ตามทำเนียบเก่าเมืองนครฯ ถ้าจัดเปนชั้นตามศักดินา
ชั้นที่ ๑ ถือศักดินา ๓๐๐๐ ออกพระศรีราชสงครามรามภักดีปลัดคนเดียว
ชั้นที่ ๒ ถือศักดินา ๑๖๐๐ มี ๓ คน คือ ออกพระภักดีราชยกรบัตร ๑ ออก พระจ่าศรีสุรินทรภักดี พระมหาดไทย ๑ ออกพระไกรพลแสนยากรบดีศรีสุรินทรเดโชไชย (พระพล) ๑
ชั้นที่ ๓ ถือศักดินา ๑๔๐๐ มี ๘ คน คือ ออกพระศรีราชวังเมือง กรมเมือง ๑ ออกหลวงเทพมณเฑียร กรมวัง ๑ ออกหลวงอินทรมนตรีศรีรัตนโกษา กรมคลัง ๑ ออกหลวงพลพากรราชมนตรี กรมนา ๑ ออกพระวิชิตสงครามรามภักดีศรีปะลาวัน กรมท่า (ตรงกับตำแหน่งท้ายน้ำ) ๑ ออกพระพรหมเสนา พระสุรัสวดีกลาง ๑ ออกพระเทพเสนาบดีศรีสมุห พระสุรัสวดีขวา ๑ ออกพระไชยประยาบดีศรีสมุห พระสุรัสวดีซ้าย ๑
รองแต่ชั้นนี้ลงไป ถือศักดินา ๑๒๐๐ บ้าง ศักดินา ๑๐๐๐ บ้าง ศักดินา ๘๐๐ บ้าง แลลดลงไปโดยลำดับจน ๒๐๐ ไม่จำจะต้องนำมาพรรณนาในที่นี้โดยพิสดาร แต่ควรกล่าวไว้ในตำแหน่ง ๑ ที่เรียกว่าผู้ช่วยราชการ ตามทำเนียบเปนตำแหน่งพิเศษ ถือศักดินา ๑๐๐๐ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการนี้ เพราะเหตุที่ไม่มีหน้าที่จำกัดแลขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการเมือง จึงเปนตำแหน่งสำหรับทรงตั้งข้าราชการชั้นหนุ่ม ๆ เช่นบุตรผู้ว่าราชการเมืองซึ่งสำหรับจะรับราชการในตำแหน่งใหญ่ต่อไป ตัวอย่างที่ปรากฎมาในเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ก็เปนพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ เลื่อนจากผู้ช่วยก็เปนพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ (น้อยกลาง) บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ก็เปนพระเสนหามนตรี ผู้ช่วยราชการ แล้วเลื่อนเปนพระยานครฯ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนู) ก็เปนพระเสนหามนตรี ผู้ช่วยราชการ แล้วเลื่อนเปนพระยานครฯ การที่บุตรผู้ว่าราชการเมืองเปนผู้ช่วยราชการดังกล่าวมานี้ มีผลจนรู้สึกว่าตำแหน่งปลัด, ยกรบัตรทางหัวเมืองปักษ์ใต้ต่ำไปมาก เช่นที่เมืองสงขลา บรรดาเชื้อวงษ์ณสงขลาถ้ารับสัญญาบัตร ขอเปนผู้ช่วยราชการทั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยพบปลัด, หรือยกรบัตรเมืองสงขลา จนมาจัดการเปลี่ยนแปลงเปนมณฑลเทศาภิบาลเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ประเพณีเดิมที่ได้กล่าวมาจึงได้เลิก
๓ ตำแหน่งกรมการผ็ใหญ่ ในเมืองนครศรีธณรมราช มีตราตำแหน่ง มีเครื่องประจำยศ แลมีที่สำหรับเก็บผลประโยชน์ลงไว้ในทำเนียบ ควรจะยกมาพรรณนาไว้พอเปนตัวอย่างสักตำแหน่ง ๑ คือ
ออกพระศรีราชสงครามรามภักดี ปลัด ถือศักดินา ๓๐๐๐ ฝ่ายขวา คือตรารูปโตยืนบนแท่น (เครื่องประจำยศ) มีช้างพลาย ๑ ช้าง พัง ๑ จำลอง ๒ ธงทวน ๔ นวม ๖ แหลน ๔ ปืนนกสับหลังช้าง ๒ กระบอก หมวกม้า[๘] ๒ เครื่องม้า ๒๐ ปืนกระสุนนิ้วกึ่งบันดาศักดิ ๒ กระบอก ปืนกระสุน ๓ นิ้วชเลยศักดิ ๒ กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่ง ๑๘ กระบอก ปืนนกสับบันดาศักดิ ๒๔ กระบอก ปืนนกสับชเลยศักดิ ๑๘ กระบอก เสื้อพล ๔๒ หอกเขน ๓๐ ทวนเท้า ๑๕ เรือพนัก ๒ ลำ ได้รับพระราชทาน[๙]กิจกทงความแลเข้าผูกกึ่งเจ้าเมือง แลที่พกหมาก[๑๐] ตำบลเพนียนขนอม ขึ้นสำหรับที่ ๓ ตำบล มีนาสัด[๑๑] (ทิศตวัน) ออกเมือง ๒ เส้น
๔ การที่จัดหมวดกรม ตามทำเนียบกรมการเมืองนครฯ มีถึง ๓๖ กรม ตำแหน่งข้าราชการ มี พระ ๙ หลวง ๒๑ เมือง ๒ ขุน ๒๒๕ หมื่น ๑๔๙ พัน ๑๔ จ่า ๔ รวม ๔๒๔ คน จะรบุแต่กรมใหญ่ต่อไปนี้ คือ:-
๑ กรมปลัด
๒ กรมยกรบัตร
๓ กรมมหาดไทย
๔ กรมสุรัสวดี
๕ กรมเมือง
๖ กรมคลัง
๗ กรมนา
๘ กรมวัง
ขึ้นในกรมวังมี
(ก) กรมมหาดเล็ก
(ข) กรมสังฆการี
(ค) กรมหมอ
(ฆ) กรมโหร
(ง) กรมตำรวจ
(จ) ศาลแพ่ง
(ฉ) กรมท้ายวัง (เห็นจะเปนล้อมวัง)
(ช) กรมลูกเธอ (เห็นจะเปนสนมพลเรือน)
(ช) กรมช้าง
๙ กรมอาสา ๑๐ กรมฝีพาย
๑๑ กรมอาลักษณ์
๑๒ พราหมณ์ลูกขุนแลศาลหลวง
๑๓ กรมข้าพระ
๕ ส่วนการปกครองท้องที่นั้น จัดเปนหัวเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ๔ ชั้น รู้ได้โดยศักดินาผู้เปนหัวน่ารักษาการในท้องที่ คือ:-
ชั้นที่ ๑ เมืองตรังขึ้นฝ่ายขวา เมืองท่าทอง (คือ ที่ตั้งที่ว่าการมณฑลชุมพรที่บ้านดอนทุกวันนี้) ขึ้นฝ่ายซ้าย ผู้รักษาเมืองทั้ง ๒ นี้ถือศักดินา ๑๖๐๐
ชั้นที่ ๒ เช่นแขวงปากพนัง แลเกาะสมุยเปนต้น มี ๗ เมือง ผู้รักษาเมืองถือศักดินา ๑๒๐๐ ขึ้นฝ่ายขวา ๔ เมือง ฝ่ายซ้าย ๓ เมือง
ชั้นที่ ๓ ผู้รักษาเมืองถือศักดินา ๑๐๐๐ มี ๒ เมือง ขึ้นฝ่ายขวาเมือง ๑ ฝ่ายซ้ายเมือง ๑
ชั้นที่ ๔ ผู้รักษาเมืองถือศักดินา ๘๐๐ มี ๙ เมือง ขึ้นฝ่ายขวา ๓ เมือง ฝ่ายซ้าย ๖ เมือง
รองแต่ชั้นเมืองลงมา จัดเปนทำนองอำเภออย่างทุกวันนี้ มี ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ ผู้รักษาการถือศักดินา ๖๐๐ มี ๘ อำเภอ ขึ้นฝ่ายขวา ๓ ฝ่ายซ้าย ๕ ชั้นที่ ๒ ผู้รักษาการถือศักดินา ๔๐๐ มี ๒๖ ขึ้นฝ่ายขวา ๘ ฝ่ายซ้าย ๑๘
รองแต่นั้นลงมา จัดเปนด่านแลค่าย เข้าใจว่าเปนที่มีผู้อยู่ประจำตรวจทาง รวม ๑๔ แห่ง ขึ้นฝ่ายขวา ๒ ฝ่ายซ้าย ๑๒
ทำเนียบที่แสดงมานี้ จะจัดได้เต็มที่ทีเดียวหรือประการใดทราบไม่ได้ แต่น่ากลัวจะจัดไม่ได้ ด้วยจำนวนตำแหน่งมากนัก แต่เปนแบบเก่า จึงควรแสดงไว้ให้ผู้ศึกษาโบราณคดีทราบ
[๑] เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนู ณนคร) เคยเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีคนนี้เปนบุตรใหญ่ของเจ้าพระยานครฯ (น้อยกลาง) ได้เปนพระยานครฯ อยู่นาน เลื่อนเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเมื่อในรัชกาลที่ ๕ คนทั้งหลายเข้าใจกันว่าชื่อพร้อม แต่ตัวท่านเองได้เอาสัญญาบัตรใบแรกของท่านมาให้ข้าพเจ้าดูเปนพยานว่าที่จริงท่านชื่อหนู แต่ผู้อื่นไปเข้าใจว่าท่านชื่อพร้อม เหตุนี้ข้าพเจ้าจึงลงชื่อไว้ในหนังสือนี้ว่า “หนู”
[๒] หนังสือทำเนียบเมืองนครฯ ที่ว่านี้ พระยาศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น) ไปพบที่บ้านผู้เปนเชื้อสายกรมการเก่าแห่ง ๑ จึงได้ฉบับมา จะได้ลงพิมพ์เต็มสำเนาในหนังสือเทศาภิบาล
[๓] พระอัยการที่อ้างนี้ คือ ทำเนียบศักดินาตำแหน่งข้าราชการหัวเมือง ซึ่งปรากฎในหนังสือกฎหมายชำระในรัชกาลที่ ๑
[๔] พระยาศุโขไทยคนนี้ เห็นจะเปนคนเดียวกับพระยาไชยาธิเบศร์ ที่ได้เปนเจ้าพระยานครฯ เมื่อปีจอจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๐๔ พ.ศ. ๒๒๘๕ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงเก่า เรื่องได้พิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาล
[๕] ถ้าดูแต่ลำพังความที่กล่าวในบานแพนกทำเนียบ อาจจะทำให้เข้าใจว่า ทำเนียบกรมการเมืองนครฯ ได้จัดไว้เสร็จแต่ก่อนกรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จออกไป แต่ข้าพเจ้าได้พิเคราะห์ดูทำเนียบนั้นโดยถ้วนถี่ เข้าใจว่าบางทีจะได้โครงไว้ก่อนเปนเลาๆ แต่การที่ได้จัดจริงนั้น เชื่อตามคำเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนู ณนคร) ว่าจัดเมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จออกไป
[๖] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลก แลเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ๒ ตำแหน่งนี้ แต่โบราณมามีบันดาศักดิรองอรรคมหาเสนาธิบดี แลสูงกว่าจตุสดมภ์ จะพึงเห็นตัวอย่างได้ ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เปนตำแหน่งพระยายมราชอยู่ก่อน แล้วจึงเลื่อขึ้นเปนเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลก
[๗] ถ้าท่านผู้ใดอยากอ่านทำเนียบเมืองนครฯ โดยพิศดารจงไปดูหนังสือเทศาภิบาล
[๘] ที่เรียกว่าหมวกม้าในทำเนียบนี้ จะเขียนผิดหรือจะเปนหมวกสำหรับใช้ในเวลาขี่ม้า หรืออะไร ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ
[๙] ที่ว่าได้กิจกทงความแลเข้าผูก หมายความว่าค่าธรรมเนียมความ
[๑๐] ที่เรียกว่าที่พกหมาก ๓ ตำบล หมายความว่าบ้านส่วยนั้นเอง แต่จะเก็บอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ
[๑๑] ที่เรียกว่านาสัด เข้าใจว่า นาสำหรับตำแหน่งปลัด จัดให้บ่าวไพร่ทำเปนผลประโยชน์