- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
ในปีรกาเบญจศกนั้น ที่กรุงเทพฯ ได้ข่าวทางเมืองพม่าว่า พระเจ้าอังวะปะดุงให้หล่อพระพุทธรูปด้วยเหล็กองค์หนึ่งสูงแปดศอก ถวายพระนามว่าพระมหาจันทามุนี[๑] ประดิษฐานไว้ในมณฑปในพระราชวัง ทำรูปพระอรหันต์ ๘๐ องค์รอบมณฑปพระมหาจันทามุนีแล้ว พระเจ้าอังวะให้ประกาศราษฎรชาวเมืองว่า พระพุทธสาสนาของสมเด็จพระมหากรุณากำหนดไว้เพียง ๕,๐๐๐ ปี บัดนี้สิ้นพระพุทธสาสนาแล้วไม่มีพระสงฆ์ แต่นี้สืบไปให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงมาทำบุญให้ทานเฉภาะแต่แก่พระพุทธรูปแลรูปพระอรหันต์ จึงจะมีอานิสงษ์ไปภายน่า ซึ่งจะทำบุญแก่ภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้หามีประโยชน์ไม่ แล้วพระเจ้าอังวะให้เอาลูกพวกข้าพระมาโกนศีศะนุ่งผ้าเหลืองครบองค์พระอรหันต์ ครั้นพระเจ้าอังวะจะทำบุญครั้งใดให้แต่งเครื่องสักการบูชาอาหารบิณฑบาตถวายไว้น่าพระพุทธปฏิมากรส่วนหนึ่ง บิณฑบาตส่วนอุทิศแก่พระอรหันต์ ๘๐ องค์นั้น ให้คนนุ่งผ้าเหลืองนั่งหน้าพระอรหันต์เปนผู้ฉันแทน ให้ราชบัณฑิตย์นุ่งขาวนั่งตรงน่าพระพุทธปฏิมาถวายศีลแก่พระเจ้าอังวะ ครั้นเสร็จการทานบริจาคแล้ว ให้ราชบัณฑิตาจารย์ทำภัตตานุโมทนาบอกอานิสงษ์ทาน ครั้นสำเร็จทำบุญแล้ว พระเจ้าอังวะให้เอาใบบัวใบตองปูลาดลงกับพื้น เอาเข้าสุกกองเรียงไปทุกใบบัว ตักเอาแกงถั่วเทศถั่วเขียวใส่กระทงเรียงไป พระเจ้าอังวะเสวยเปนประธานพร้อมกับพระญาติวงษ์ แลพวกราชบริวารทั้งปวง เรียกว่ากินบวชคราว ๑ แล้วพระเจ้าอังวะประกาศห้ามไม่ให้สัปรุษทายกทำบุญให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ถ้าผู้ใดไม่ฟังจะลงโทษ พระภิกษุสามเณรรูปใดอยากบวชอยู่ ก็ให้คิดอ่านทำไร่นาค้าขายหากินเอง เพราะพระเจ้าอังวะสำคัญพระไทยว่าพระสงฆ์ญัตติอุปสมบทไม่ขึ้นแล้ว ที่บวชอยู่ก็ไม่เปนพระสงฆ์ ครั้งนั้นพระสงฆ์พม่าได้ความเดือดร้อน ก็พากันหนีไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่เปนอันมาก
เรื่องที่ว่าพระเจ้าปะดุงสำคัญแลประพฤติพระองค์วิปริตดังกล่าวมานี้ มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านคงจะจดตามคำให้การของพม่าหรือมอญ ซึ่งได้ถามเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าได้สอบหนังสือพงศาวดารพม่า ได้ความว่าพระเจ้าปะดุงได้ปราถนาจะบำเพ็ญพระบารมีหาเกียรติยศในทางจะเปนอรรคสาสนูปถัมภกคราว ๑ จริง นัยว่าถึงบังคับบัญชาให้พระภิกษุสงฆ์ประพฤติกิจวัตรไปตามทางคติที่ทรงนิยมว่าเปนถูกต้อง แต่จะจัดอย่างใดบ้าง หนังสือที่ข้าพเจ้าได้พบเปนหนังสือฝรั่งแต่ง ไม่ได้ความ แต่ได้ความต่อไปว่า พระเจ้าปะดุงคิดจะสร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์ ๑ ไม่ให้มีพระเจดีย์ที่ไหนในโลกนี้ใหญ่โตเท่า เกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวงแลหัวเมืองขึ้นตลอดออกไปจนเมืองยะไข่ ให้ผลัดเวรกันเข้ามาก่อสร้างพระเจดีย์เปนจำนวนผู้คนมากกว่ามาก ส่วนพระเจ้าปะดุงเองถึงมอบราชการบ้านเมืองให้พระมหาอุปราชดูแลต่างพระองค์ แล้วเสด็จออกไปตั้งพลับพลาอยู่ในที่ซึ่งจะสร้างพระเจดีย์ ทำการอยู่หลายปีก็ไม่สำเร็จ ราษฎรที่ถูกกะเกณฑ์มาทำการ เดือดร้อนล้มตามากนัก พระมหาอุปราชกับข้าราชการผู้ใหญ่ เห็นจะเกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมืองด้วยเรื่องพระเจดีย์ใหญ่องค์นั้น จึงคิดอ่านจะระงับเหตุที่เกิดความเดือดร้อน จะเปนด้วยอุบายของพระมหาอุปราช เพื่อจะให้พระเจ้าปะดุงเลิกการสร้างพระเจดีย์ใหญ่หรืออย่างไร ข้อนี้ไม่แน่ แต่พม่าเกิดทำศึกขึ้นกับเมืองกระแซในครั้งนั้น การสร้างพระเจดีย์ใหญ่ก็เปนอันงดมา โครงอิฐอย่างใหญ่ที่สุด ปรากฎอยู่ในเมืองพม่าจนตราบเท่าทุกวันนี้ ข่าวที่เลืองฦๅเข้ามาถึงเมืองไทยว่าเกิดวิปริตผิดผันอะไรต่าง ๆ ในเมืองพม่าที่กล่าวมาแล้ว เห็นจะมาแต่เสียงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถูกกะเกณฑ์สร้างพระเจดีย์ แลพวกพระพม่ารามัญที่ถูกบังคับให้ประพฤติสมณกิจตามพระราชนิยมของพระเจ้าปะดุงในครั้งนั้น แลอาไศรยเหตุที่พม่าเกิดทำศึกกับเมืองกระแซอยู่ฝ่ายเหนือในคราวนั้นเอง พม่าจึงให้เข้ามาขอเปนไมตรีดีกับไทย
ได้ความว่า เมื่อณเดือนยี่ปีรกาเบญจศก มีหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีเข้ามาว่า พม่าแต่งให้สุริยนันทสุรบุตรจมื่นเสมอใจราชครั้งกรุงเก่า กับพราหมณ์ชื่อสังฆรันชาวกรุงเก่าซึ่งตกไปอยู่เมืองพม่า นายไพร่รวม ๗๑ คน ถือหนังสือเจ้าเมืองเมาะตมะมาถึงพระยากาญจนบุรีว่า พระเจ้าอังวะรับสั่งให้เข้ามาขอเจรจาความเมือง พระยากาญจนบุรีให้พวกสุริยนันทสุรรออยู่ที่เมืองกาญจนบุรี มีใบบอกส่งหนังสือพม่าเข้ามายังกรุงเทพฯ เปนหนังสือเสนาบดีพม่ามีมาถึงเสนาบดีไทย แปลได้ความว่า หนังสืออรรคเสนาบดีผู้ใหญ่กรุงอังวะ มาถึงเสนาบดีผู้ใหญ่กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ด้วยพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะประกอบไปด้วยสัตยธรรม ๑๐ ประการ แต่ได้เสวยราชสมบัติรักษาแผ่นดินครองกรุงอังวะมา ก็ได้ทำราชยุทธนาการสงครามขับเคี่ยวกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามาถึงสองแผ่นดินแล้ว ก็ไม่แพ้ชนะกัน ทแกล้วทหารไพร่พลช้างม้าล้มตายทั้งสองฝ่าย เหลือที่จะนับจะประมาณจนพระชนมายุล่วงมาได้ถึงเพียงนี้ มีความสังเวชพระไทยนัก เหนื่อยหน่ายในการยุทธสงคราม บัดนี้ตั้งพระทัยฝักฝ่ายแต่ในการพระราชกุศลหาความพยาบาทมิได้ จะใคร่ให้สองพระนครเปนมหามิตรกัน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้อยู่เย็นเปนศุขไปชั่วบุตรแลหลาน จึงมีรับสั่งให้มีหนังสือมาถึงเสนาบดีกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ขอให้ตริตรองดูให้เปนผลประโยชน์ เมื่อเห็นชอบด้วย ก็ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าช้างเผือกกรุงศรีอยุทธยาให้ทรงทราบ ทรงพระราชดำริห์ประการใด ขอให้เสนาบดีไทยตอบไปให้แจ้งด้วย สิ้นความในหนังสือพม่าแต่เท่านี้
ในแผ่นดินพระเจ้าปะดุงนี้เอง พม่าได้เคยให้เข้ามาทาบทามจะเปนไม่ตรีกับไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ หลายครั้ง แต่การไม่เปนจริงดังคำพม่า มักจะเปนเวลาพม่าติดการทัพศึกข้างเหนือเมื่อไร ก็แต่งให้มาพูดจาทาบทามจะเปนไมตรีกับไทย ด้วยเกรงไทยจะยกกองทัพไปตีทางข้างใต้ ในเวลาพม่าติดการศึกสงความอยู่ทางอื่น เพราะฉนั้นพม่าให้เข้ามาขอเปนไมตรีคราวใด ต่อมาในไม่ช้า เมื่อพม่าว่างการศึกทางอื่นแล้ว ก็หันกลับมาทำศึกกับไทยอิก ไทยจึงไม่ไว้ใจพม่าในเรื่องขอเปนไม่ตรีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ในครั้งนี้จึงมีรับสั่งให้ทำเปนศุภอักษรเสนาบดีให้สุริยนันทสุพราหมณ์สังฆรันถือกลับไปยังเสนาบดีพม่า ใจความว่าเสนาบดีกรุงอังวะให้มีหนังสือมาว่าดังนี้ก็หลายครั้ง การก็ไม่จริงเหมือนถ้อยคำ ครั้งนี้ว่าพระเจ้าอังวะรับสั่งก็ไม่มีสลักสำคัญอันใด เปนแต่หนังสือเสนาบดีมีมาเจรจาความเมือง มิใช่พระราชสาสน ไม่ต้องด้วยอย่างธรรมเนียมราชประเพณีพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชแต่ปางก่อน เมื่อพระเจ้าอังวะมีพระไทยสังเวชเกรงบาปกรรมจะติดตามไปภายน่า จะเปนทองแผ่นเดียวกับกรุงมหานครศรีอยุทธยาจริง ก็ให้มีพระราชสาสนแต่งทูตานุทูตเชิญเข้าไปกับพระสงฆ์ไทยอันทรงศีลบริสุทธิ ให้ต้องอย่างธรรมเนียม แม้นมิทำดังนี้ก็อย่าเจรจาต่อไปเลย ถ้อยทีหาความศุขทั้งสองฝ่ายเถิด อย่าทำอันตรายแก่กันก็แล้วกัน แลโปรดให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าเมืองเมาะตมะด้วยฉบับหนึ่ง มีความว่า อักษรวรวาทีศรีสุทธิอัชฌาไศรย ในท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรีมาถึงท่านผู้ครองเมืองเมาะตมะ ด้วยให้สุริยนันทสุรกับพราหมณ์สังฆรันถือหนังสือมาถึงเรา มีความตักเตือนจะให้เราทำนุบำรุงพระราชไมตรีแลไมตรี ให้ราชธานีทั้งสองมีสมานสุจริตสนิทเสน่หาแก่กันไป จะเปนที่ตั้งพระบวรพุทธสาสนาเย็นอกสมณพราหมณประชาราษฎรทั้งปวง แลมีเนื้อความอื่นอิกเปนหลายประการ คือจะให้เรามีหนังสือส่งให้คนถือไปถึงท่าน ท่านจะได้ให้คนถือหนังสือขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ขอให้มีทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนมาถึงกรุงเทพมหานครเปนต้นนั้น เราได้ส่งหนังสือเข้าไปกราบเรียนท่านอรรคมหาเสนาบดี ท่านอรรคมหาเสนาบดีได้ชุมนุมเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตพรัอมกันปฤกษาว่า หนังสือนี้แก้เกี้ยว หาต้องกันกับข้อศุภอักษรซึ่งกรุงศรีอยุทธยาให้ไปแต่ก่อนนั้นไม่ ไม่ควรจะนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ท่านจึงบังคับให้เราตอบหนังสือมาว่า ซึ่งข้อ (ความที่กล่าวมาในจดหมายของท่านว่า) กาละมีสองประการ คือ กาลวิบัติ ๑ คือ กาลสมบัติ ๑ แลกาลวิบัตินั้น คือเกิดทุพภิกขันตรกัลป์ แลสัตถันตรกัลป์รบพุ่งฆ่าฟันกัน โรคันตรกัลป์ แลกาลวิบัตินี้จะใกล้สิ้นอยู่แล้ว จะถึงกาลสมบัติบริบูรณ์ขึ้นเพราะผลกุศลอุสาหะตั้งจิตรบำเพ็ญทานรักษาศีลภาวนาตามพระบวรพุทธสาสนาขึ้น อาจบันดาลให้เทวดารักษาโลกนำเอาความดีมาชี้แจงแก่ดวงจิตรกรุงกระษัตริย์ทั้งสองฝ่ายให้ตั้งอยู่ในประโยคสมบัติ ปรนิบัดิซื่อตรงกายแลวาจาต้องกันกับจิตรมิได้วิปริตแล้ว ก็เห็นว่ากาลวิบัติดังนั้นจะเสื่อมสูญ ถ้าแลตั้งอยู่ในประโยควิบัติปรนนิบัติผิด จิตรกับกายแลวาจามิต้องกันยังแผกผันกันอยู่ฉนี้ ก็เห็นว่าจะเกิดกาลวิบัติขึ้นไปกว่าเก่าได้ร้อยเท่าพันทวีอิก แลข้อที่ว่าอยู่ณเดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ ศักราช ๑๑๕๖ ชาวด่านสมิไปลาดตระเวนถึงริมคลองมีปรักได้หนังสือแขวน แล้วเอาไปส่งให้เยทางนรทานายบ้านอัดรัน ๆ จึงเอาหนังสือขึ้นไปให้เจ้าเมืองเมาะตมะ ๆ จึงแต่งคนให้ถือหนังสือแขวนขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะนั้น แลความข้อนี้เห็นว่าพระเจ้าอังวะจะแจ้งในหนังสือกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งตัดพ้อไปว่า ถ้าจะเปนทางพระราชไมตรีกันนั้น จะให้พระมหากระษัตริย์ทั้งสองฝ่ายร่วมเสวตรฉัตรกันหรือ ๆ จะให้แต่งเสนาบดีผู้ใหญ่น้อยทแกล้วทหารทำสัตย์กัน หรือจะไม่ทำสัตย์แล้วแต่จะไม่ทำยุทธสงครามแก่กัน ต่างคนต่างอยู่ประการใด ให้เสนาบดีเอาเนื้อความทูลพระเจ้าอังวะ ๆ จะประพฤติฉันใดก็ให้แต่งขุนนางพม่าเปนทูตานุทูต กับขุนนางไทยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจรบศึกเสียกรุงแก่พม่า ๆ จึงได้กวาดเอาไปไว้นั้นถือมา ถ้ามิได้ผู้ใหญ่แล้วจนแต่หะวหมื่นมหาดเล็กก็เอาเถิด ให้มาสักสามนายสี่นาย กับพระสงฆ์อันทรงศีลสังวรบริสุทธิ์ จะได้เปนสักขีพยาน จึงจะเปนสัตย์ธรรมมั่นคงได้ ถ้ากรุงอังวะแต่งมาดังนี้ จะบอกเข้าไปให้ท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่เอาเนื้อความกราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแห่งเรา ถ้าทำมิได้ก็อย่าเจรจากันต่อไปเลย แลว่าเนื้อความนี้ก็ได้กราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ทราบแล้ว ไฉนจึงเจ้าเมืองเมาะตมะไม่มีหนังสือมาถึงเรา (กลับ) ว่าให้ (เรา) แต่งคนถือหนังสือไปถึงเจ้าเมืองเมาะตมะ ๆ จะได้บอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะอิกเล่า เนื้อความนี้เห็นแปลกอยู่ แลข้อว่าให้ฝ่ายเรามีใจใสสุจริตในวัตปรหิตานุหิตประโยชน์ทั้งสองประการ แลให้มีหิริโอตตัปปะ แลให้ตั้งอยู่ในสัตย์สุจริตกล้าหาญมั่นคง สู้เสียชีวิตรคิดที่จะบำรุงพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งสองอย่าให้ขุ่นหมองพระไทยแก่กัน ให้เปนพันธมิตรมีพระไทยดำรงในพระราชไมตรีเปนอันหนึ่งอันเดียวกันสืบไป พึงวางใจว่าอย่าให้หดสั้น ควรกระทำให้ชอบในการที่จะได้เสวยรมณ์ชมศุขไปในปัจจุบันแลอนาคตนั้น ข้อนี้อย่าพักตักเตือนเลย ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาทุกวันนี้ก็มีพระราชบัญญัติไว้ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยกรมฝ่ายน่าฝ่ายในให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถ แลสิงคาโลวาทวัตรวินัย แลให้เข้าใจปรนนิบัติในหมวดพระโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ด แลอุโบสถสี่ประการ คือ ปรกติอุโบสถ ปฏิชาครอุโบสถ ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ แลอริยอุโบสถ แลให้ปรนิบัติตามอนุปุพพปฏิปทา ศีลขันธ์ พระสมาธิขันธ์ แลปัญญาขันธ์ มีพระอรหัตเปนที่สุดฉนี้ อย่าวิตกเลยที่ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจะมิตั้งอยู่ในสัตย์สุจริตที่จะมสู้เสียชีวิตรเอาความชอบช่วยทำนุบำรุงพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งสองให้ตั้งอยู่ในคลองพระราชประเพณีอันชอบนั้น ปรารภแต่ฝ่ายข้างท่านให้มั่นอยู่ในสัตย์สุจริตเถิด แลข้อว่ากรุงทวาราวดีนี้เปนกรุงอยุทธยาสืบมาแต่โบราณเปนราชธานีใหญ่สำหรับผู้มีบุญ กรุงมหาอมรบุรีก็มีนามตามพงษาวดาร แลบรรดากรุงใหญ่มีขอบขัณฑเสมา คือ กรุงสุนาปรันต์[๒] กรุงตามพทีป[๓] กรุงกัมพูชา เปนที่ตั้งพระบวรพุทธสาสนาเปนสัมมาทิฐินับถือพระรัตนไตรยาธิคุณด้วยกัน แม้ว่ากรุงใหญ่ใดใดจะคิดประทุษฐร้ายกัน ถึงจะได้รี้พลทแกล้วทหารช้างม้าโคกระบือตั้งร้อยพันหมื่นก็ดี ที่จะได้สำเร็จราชการเปนสิทธิ์ขาดทีเดียวนั้นก็หามิได้ มีแต่จะเปนเวรานุเวรสืบกันไป เปนโทษในอนาคต แลชมพูทวีปนี้กว้างถึงหมื่นโยชน์ อันกรุงสองกรุงไม่ควรจะเปนปรปักษ์กัน พอที่จะสำเร็จความเมืองได้ เพราะเหตุมีจิตรฉลาดชิงเชิงกันอยู่ จิงมิได้สำเร็จการ แลความทั้งนี้นักปราชญ์ปัณฑิตย์จะได้จดหมายเปนพระราชพงษาวดารไว้สืบไป แลให้เราผู้ครองเมืองกาญจนบุรีจงยำเกรงนั้น ประการนี้สมควรนัก คือ ชมพูทวีป ๑ แลดาวดึงษ์สวรรคเทวโลก ๑ อเวจีมหานรก ๑ มีปริมณฑลกว้างขวางหมื่นโยชน์เสมอกัน แลดาวดึงษเทวโลกนั้นก็มั่งคั่งไปด้วยพวกเทวบุตรเทวธิดา มีมโนภิรมย์หรรษาด้วยทิพสุขสมบัติ แต่ชมพูทวีปกับอเวจีนี้เปนคู่กัน ฝ่ายชมพูทวีปมีภูมิสถานว่าง บางแห่งร้างโรยเปนที่เปล่าไม่มีมนุษย์ที่จะไปอยู่ให้เต็มบริบูรณ์ได้ เพราะเกิดการวิบัติฉิบหายล้มตายด้วยประโยควิบัติปฏิบัติมิเปนยุติธรรม มีสันดานหนาไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อันเปนอกุศลมูล ช่วงชิงสมบัติพัศถานเกิดยุทธนาการแก่กัน เปนครุกรรมก่อการวิบัติฉนี้ ฝ่ายอเวจีก็มากขึ้นด้วยฝูงสัตว์เยียดยัดกันอยู่ มิได้ว่างช่องที่ห่างจากสัตวได้เลย ล้วนเปนทุกขเวทนาอยู่ในพื้นเหล็กทั้งนั้น แลให้เจ้าเมืองเมาะตมะรำพึงเพียรพิจารณาประพฤติราชกิจโดยสัตย์สุจริต เปนทางที่จะทำนุบำรุงพระราชไมตรีในทวัยราชธานีให้จิรัฏฐิติกาลเปนเกียรติยศไว้ชั่วกัลปาวสาน จะเปนพงษาวดารสืบต่อไป ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา (เมื่อ) เห็นเปนแท้เปนสัตย์ธรรมในทางสุจริตแล้วก็จะประพฤติตามกรุงอังวะทุกประการ[๔]
ครั้นถึงเดือน ๔ พระยากาญจนบุรีจัดเสบียงอาหารให้สุริยนันทสุรกับพราหมณ์สังฆรันนายไพร่ถือหนังสือตอบกลับออกไป
ฝ่ายข้างปักษ์ใต้ พระยาโยธา หลวง ขุน หมื่น ชาวด่านไปลาดตระเวนทาง ศิงขร[๕] เมื่อณวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ได้หนังสือพม่ามาแขวนไว้ที่ปลายด่านเมืองตนาวศรีฉบับหนึ่ง[๖] ส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ แปลออกได้ความว่า พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้พระนครทั้งสองเปนทองแผ่นเดียวไปมาหากันโดยสดวกแล้ว อย่าให้กองตระเวนฝ่ายไทยจับกุมรบพุ่งพม่าสืบต่อไป จึงโปรดให้ทำเปนหนังสือพระยาพลสงคราม เมืองเพ็ชรบุรี มีตอบไปแขวนไว้บ้าง ใจความว่าเราได้หนังสือแขวนไว้ได้เอาไปให้ท่านผู้ครองเมืองเพ็ชรบุรี ๆ สั่งให้เราตอบมาให้รู้ ว่าแต่พม่าแต่งคนถือหนังสือเข้ามาเจรจาความเมืองถึง ๖ - ๗ ครั้งแล้ว ก็ไม่มีความสัตย์ความจริงไม่เที่ยงแท้ จึงแต่งให้ออกไปลาดตระเวนจับเอาผู้คนมา พม่าซึ่งไทยจับมาได้ก็ให้การรับว่า ทูตซึ่งแต่งให้เข้ามาเจรจาความเมืองนั้นก็ไม่สัตย์จริงทั้งนั้น ด้วยเหตุที่เมืองอังวะจะไม่ปรกติเหมือนแต่ก่อน กลัวที่กรุงเทพพระมหานครจะยกทัพไปตี จึงเกลี้ยกล่อมทำไมตรีไว้ คำให้การพม่าว่ายั่งยืนอยู่ฉนี้เปนหลายคน แลซึ่งว่าไทยไปจับคน พม่าก็จะจับบ้าง ถ้ารบกันก็จะรบบ้าง อย่างนี้ก็เปนเยี่ยงอย่างธรรมดาทหารการสงครามเปนประเพณีสืบมา ถึงมาทว่าจะเปนคนดีมีปัญญา ใช่ว่าจะเหาะเหินเดินอากาศได้ก็หาไม่ พม่ากับไทยก็ย่อมหาบเสบียงผ่อนลำเลียงเลี้ยงชีวิตร โดยความคิดติดพันรบราฆ่าพันกันมาก็หลายครั้งหลายหน การแพ้แลชนะก็แจ้งมาแต่ก่อนนั้น ซึ่งอวดอ้างคนดีมีปัญญามาแต่อังวะว่ามีฤทธิ ความคิดเช่นนี้เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว หาตกใจไม่ ซึ่งจะให้คนคืนไปแต่ฝ่ายเดียวนั้นยังไม่ได้ ให้ส่งคนเมืองถลางซึ่งตกค้างอยู่เมืองมฤทเมืองตนาวศรีมาแลกเปลี่ยนกันเปนไมตรีจึงจะคืนไปให้ ข้อซึ่งว่าทั้งนี้ให้ชาวด่านผู้ได้หนังสือเอาขึ้นไปแจ้งแก่เจ้าเมืองมฤทเมืองตะนาวศรี ให้คิดดูแต่การที่ชอบ สิ่งใดจะเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองนั้นเทอญ
ครั้นถึงปีจอฉศกจุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ พม่าเอาหนังสือมาแขวนไว้ปลายด่านเมืองกาญจนบุรี ตอนหนังสือพระยากาญจนบุรีที่มีให้สุริยนันทสุรกับพราหมณ์สังฆรันถือออกไปเมื่อปีรกาเบญจศกนั้น ใจความในหนังสือพม่าว่า เนมิโยนนรทาเจ้าเมืองทวายแจ้งความมาถึงพระยากาญจนบุรี ด้วยมีหนังสือปิดตราใส่ถุงประจำครั่งออกไปถึงเมืองทวายนั้น ได้แต่งให้เยฆองคแยแคงปลัดเมืองทวายไปด้วยสุริยนันทสุรก้บพราหมณ์สังฆรันถือไปถวายพระเจ้าอังวะแล้ว กลับลงมาถึงเมืองทวายเมื่อณวันเดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีจอฉศกจุลศักราช ๑๑๗๖ มีหนังสืออรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ลงมาด้วยฉบับหนึ่ง ความว่าเจ้าเมืองกาญจนบุรีมีหนังสือออกไปถึงเมืองเมาะตมะนั้น เปนความเพียงเจ้าเมืองต่อเจ้าเมืองกล่าวติดพันกัน ที่จะให้เปนประโยชน์ในราชการก็ชอบอยู่แล้ว แต่ว่าจะนำขึ้นกราบทูลพระเจ้าอังวะยังมิได้[๗] ถ้าเปนหนังสือออกไปจากกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา จะได้เอาขึ้นกราบทูลให้ถึงพระเจ้าอังวะ ตัวเราผู้รักษาเมืองทวายปลายด่านข้างพม่าก็เปนผู้ต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้ากรุงอังวะ เมืองกาญจนบุรีเล่าท่านก็เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงให้รักษาน่าด่านกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา เราทั้งสองช่วยกันคิดอ่านให้เปนประโยชน์แก่พระนครทั้งสองให้สนิทสนมกันจึงจะชอบ สัตวทั้งปวงจะได้เปนศุข พระบวรพุทธสาสนาจะได้รุ่งเรืองสืบไป ตัวเราผู้รักษาเมืองทวายแลท่านผู้รักษาเมืองกาญจนบุรี (จง) ช่วยกันเร่งคิดอ่าน อย่าให้มีการจับกุมผู้คนกันสืบไป[๘] ณเมืองทวายยังคิดอ่านจัดเตรียมการจะให้คนถือหนังสือเข้ามา ฝ่ายกองตระเวนกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาออกไปลอบจับเอาคนกองด่านค่ายบ้านตแลงยามาเปนอันมากเมื่อณเดือน ๑๑ แรม ๗ ค่ำนั้น ความข้อนี้แม้นทราบไปถึงพระเจ้าอังวะจะพาความเก่าให้แปรปรวนไปเสีย เราทั้งสองเปนผู้ใหญ่ฝ่ายน่าด่านอย่าให้เสียถ้อยคำที่ว่าไว้แต่ก่อน คนที่จับมาได้นั้นขอให้ปล่อยออกไปอย่าให้เนิ่นช้า จะได้คิดอ่านการอันเปนประโยชน์แก่พระนครทั้งสองสืบไป พระยากาญจนบุรีบอกส่งหนังสือนั้นเข้ามาณกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีตอบไปประการใด
[๑] พระพุทธรูปพระองค์นี้ไม่ได้หล่อใหม่ ที่จริงคือพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระมหามัยมุนี หรือพระมหามุนี เปนพระสำคัญของเมืองยะไข่ พระเจ้าปะดุงยกกองทัพไปตีได้เมืองยะไข่ ให้เชิญพระพุทธรูปองค์นี้ลากข้ามเขามาได้ เอามาไว้ที่เมืองอมรบุระ
[๒] คือเมืองพม่า
[๓] หมายความว่าลังกาทวีป
[๔] หนังสือพระยากาญจนบุรีตอบเจ้าเมืองเมาะตมะฉบับนี้ ข้าพเจ้าลงไว้ตามสำเนาที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ เพื่อจะให้ผู้อ่านเห็นสำนวนจดหมายโต้ตอบกันในครั้งนั้น ประเพณีของพม่าเมื่อมีหนังสือไปเมืองต่างประเทศ ชอบพูดโอ้อวดอ้างอิงข้างทางสาสนาแลทางธรรม ไม่เฉภาะแต่หนังสือที่มีมาถึงเมืองไทย ชาติอื่นเช่นอังกฤษแลญวนซึ่งไม่ได้ถือคดีโลกคดีธรรมอย่างเดียวกับพม่า น่าจะไม่เข้าใจแลตอบไม่ถึงแต้มเหมือนกับไทย หนังสือตอบพม่าอย่างดีที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นนั้น คือ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปนจดหมายพระพรหมมุนี (ยิ้ม) มีตอบไปถึงเสนาบดีพม่า ซึ่งได้พิมพ์แล้วในหนังสือพระราชปุจฉา
[๕] เมืองศิงขร อยู่หลังเกาะหลัก ในแดนเมืองตนาวศรี
[๖] วิธีส่งหนังสือในระหว่างไทยกับพม่าในครั้งนั้น ต้องใช้เอาไปแขวนทิ้งไว้ตามต้นไม้ที่ปลายด่าน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีกองลาดตระเวนคอยตรวจตราจับคนสอดแนมแลผู้คนตามชายแดนที่ต่อกัน เมื่อพม่าแต่งทูตถือหนังสือเข้ามา จึงเลือกเอาไทยที่ตกไปอยู่เมืองพม่าให้เปนผู้ถือหนังสือ
[๗] ที่ว่าไม่นำขึ้นกราบทูลนั้น ที่จริงนำขึ้นกราบทูลทุกฉบับ ทั้งข้างไทยแลฝ่ายพม่า แลเชื่อได้ว่าเข้าใจความจริงข้อนั้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่ว่าไม่นำขึ้นกราบทูล เปนสักแต่ว่าอ้างไม่ให้เสียเปรียบกันโดยทางโวหาร
[๘] การจับคนพวกข้าศึกข้างปลายแดน ทำด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพื่อประโยชน์การสืบสวนเอาความรู้ข่าวคราวทางเมืองข้าศึก เข้าใจว่าตั้งแต่พม่าจู่มาตีเมืองถลาง เมื่อปีมเสงเอกศก ข้างไทยเห็นจะจัดการสืบสวนแขงแรงขึ้นมาก พม่าจึงบ่นนัก