๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี

ในเดือน ๔ ปีมเสงตรีศกนั้น มาร์ควิส เหสติงส์ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองอินเดียของอังกฤษ[๑] ให้เรสิเดนต์อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ มีหนังสือเข้ามาถึงเสนาบดีว่า จะแต่งให้นายครอเฟิด[๒]เปนทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในเวลานั้นตำแหน่งที่เจ้าพระยาพระคลังว่างอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ) จางวางมหาดเล็ก เลื่อนขึ้นว่าการในตำแหน่งจตุสดมภ์ที่พระคลัง ให้ทันในการที่จะจัดรับรองแลพูดจากับทูตอังกฤษที่จะเข้ามานั้น[๓]

เหตุที่อังกฤษแต่งทูตเข้ามาคราวนั้น ตามที่ปรากฎในหนังสือคำสั่งของ มาร์ควิส เหสติงส์ ที่ทำให้แก่ครอเฟิด ได้ความว่า เกิดแต่ด้วยเรื่องผลประโยชน์ที่ได้ในการค้าขายของบริษัทอิศอินเดียตกต่ำลงทั้งในยุโรปแลประเทศทางตวันออกนี้ เนื่องแต่เหตุที่ฝรั่งต่างชาติเกิดรบพุ่งกัน ไม่เปนอันที่จะได้ทำมาค้าขายอยู่กว่า ๒๐ ปี ครั้นเมื่อเลิกการสงครามกันแล้ว จึงตั้งต้นที่จะคิดบำรุงการค้าขายให้บริษัทอินเดียอังกฤษได้ผลประโยชน์มากดังแต่ก่อน ความปรากฎแก่อังกฤษว่า แต่ก่อนมาเมืองไทยแลเมืองญวนเปนแหล่งที่พ่อค้าฝรั่งต่างประเทศไปมาค้าขายหากำไรได้มากทั้ง ๒ แห่ง จึงคิดจะกลับให้มีการค้าขายไปมากับ ๒ ประเทศนี้ขึ้นอิก เมื่อปีมโรงโทศก ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ ได้แต่งพ่อค้าให้เข้ามาสืบการงานถึงกรุงเทพฯ ได้ความออกไปว่า เมื่อใน ๒ - ๓ ปีมา มีเรือฝรั่งชาติอเมริกันบ้าง โปตุเกตบ้าง อังกฤษบ้าง เข้ามาค้าขายถึงกรุงเทพฯ ไทยก็ยอมให้ค้าขายไม่รังเกียจ ด้วยไทยกำลังต้องการเครื่องสาตราวุธที่จะทำศึกกับพม่า อยากให้มีพ่อค้าบรรทุกปืนเข้ามาขาย เห็นเปนช่องที่จะมาทำไมตรีให้มีการค้าขายเจริญขึ้นอิกได้ แต่อังกฤษมีความรังเกียจอยู่ด้วยเรื่องวิธีเก็บภาษีอากร ทั้งวิธีของไทยแลของญวน ส่วนวิธีไทยนั้น ยกความข้อรังเกียจที่มีเจ้าพนักงานลงไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องพระราชประสงค์ หรือต้องการใช้ในราชการ ไม่ยอมให้ขายแก่ผู้อื่นนี้ข้อ ๑ แลรังเกียจที่มีวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเปนของหลวง ห้ามมิให้ผู้อื่นขายสินค้านั้น ๆ อย่าง ๑ แลห้ามสินค้าบางอย่าง มีเข้าเปลือกเข้าสารเปนต้น ไม่ให้บรรทุกออกจากเมืองทีเดียวอิกอย่าง ๑ อังกฤษจึงแต่งให้ครอเฟิดเปนทูตเข้ามาให้พูดจากับไทยโดยทางไมตรี เพื่อประสงค์จะขอให้ยกเลิกหรือลดหย่อนวิธีอันเปนที่รังเกียจดังกล่าวมา ซึ่งอังกฤษถือว่าเปนการลำบากแลรำคาญแก่คนค้าขาย จะขอให้คนในบังคับอังกฤษไปมาค้าขายโดยสดวก แลให้ค้าขายกับไพร่บ้านพลเมืองได้ทั่วไป ส่วนผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยที่เคยได้จากวิธีค้าขายอย่างแต่ก่อน ถ้าจะตกต่ำไปเพราะการงดลดเลิกวิธีที่กล่าวนั้น อังกฤษจะยอมให้ขึ้นอัตราค่าปากเรือทดแทน ขอให้เรียกรวมแต่เปนอย่างเดียว นี้เปนความประสงค์ที่อังกฤษแต่งทูตเข้ามาอย่าง ๑ อิกอย่าง ๑ จะให้ทูตเข้ามาพูดเรื่องเมืองไทรบุรี ด้วยเมื่ออังกฤษเช่าที่เกาะหมากจากพระยาไทร ๆ บอกแก่อังกฤษว่า เมืองไทรบุรีเปนเมืองมีอิศรภาพมิได้ขึ้นแก่ไทย (ซึ่งถ้าจะว่า ก็เปนความจริงอยู่คราว ๑ เมื่อเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก) ครั้นอังกฤษได้เกาะหมากตั้งขึ้นเปนหัวเมืองขึ้นของรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ให้ว่ากล่าวลงมาจนถึงเมืองสิงคโปร์ อังกฤษมาทราบภายหลังว่า เมืองไทรยอมเปนประเทศราชขึ้นไทยตามเดิม ก็เกิดความลำบากใจที่ได้เช่าเกาะหมากจากพระยาไทร โดยมิได้บอกกล่าวขอร้องต่อไทย ก่อน ในเวลานั้นอังกฤษก็ยังตั้งเมืองเกาะหมากไม่ได้มั่นคงเท่าใดนัก จำเปนต้องอาไศรยเสบียงอาหารจากเมืองไทรบุรี ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเข้าหนุนหลังพระยาไทรให้นิยมต่ออังกฤษ ครั้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เกิดความหวาดหวั่นขึ้นด้วยเรื่องพระยาอภัยนุราช (บัศนู) เข้าใจว่า พระยานครฯ (น้อย) จะหาเหตุเอาเมืองไทรเปนหัวเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช จึงขอให้อังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากช่วยว่ากล่าวกับไทยถึง ๒ คราว ดังกล่าวมาแล้ว เจ้าเมืองเกาะหมากบอกข้อความเหล่านี้ไปยังอินเดีย รัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย จึงให้ครอเฟิดมาพูดจาเรื่องเมืองไทรบุรีกับไทย ประสงค์จะขอให้พระยาไทรพ้นจากอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช โดยถือว่าเมืองไทรบุรีเปนประเทศราชอันอยู่ใกล้ชิดติดกับเขตรแดนของอังกฤษ อิกอย่าง ๑ ครอเฟิดมาคราวนั้น รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจัดให้มีพนักงานทำแผนที่แลผู้ชำนาญสภาวสาตรมาด้วยในกองทูต เพื่อการตรวจแผนที่แลตรวจพรรณพฤกษ์พรรณสัตวต่างๆ ประกอบกับข้อความที่ครอเฟิดจะต้องสืบสวนการงานต่างๆ ในบ้านเมือง ไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษด้วย ธุระของครอเฟิดที่เปนทูตเข้ามา ว่าโดยย่อเปน ๓ ประการดังกล่าวมานี้

ตามความอันปรากฎในหนังสือคำสั่งของผู้สำเร็จราชการอินเดียอังกฤษ ซึ่งสั่งครอเฟิดเปนลายลักษณอักษรมาในครั้งนั้น อังกฤษเข้าใจอยู่แล้ว ว่าการต่างๆ ที่อังกฤษมาขอจะไม่สำเร็จได้ดังประสงค์โดยง่าย ด้วยแต่ก่อนมา ฝรั่งต่างชาติที่ออกมาค้าขายทางประเทศตวันออกนี้ คือพวกโปรตุเกตเปนต้น ได้เคยมาคดโกงเบียดเบียนชนชาติที่เปนเจ้าของเมืองอันมีกำลังน้อยกว่าไว้เสียมากกว่ามาก จนความรังเกียจเกลียดชังฝรั่งมีแก่บรรดาชาวประเทศทางตวันออกนี้ทั่วไป ตลอดจนเมืองจีนแลยี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ คำสั่งที่ครอเฟิดได้รับมาให้พูดจาด้วยเรื่องการค้าขายครั้งนั้น รัฐบาลถึงกำชับไม่ให้มาขอที่ดิน แม้แต่เพียงที่ตั้งสถานีการค้าขาย ก็ไม่ให้ขอ ด้วยเกรงเจ้าของเมืองจะเกิดความสงไสยว่า จะมาตั้งป้อมปราการอย่างฝรั่งเคยทำแต่ก่อน ส่วนการที่จะขอร้องให้แก้ไขลดหย่อนภาษีอากรนั้น ถ้าได้ก็เปนการดี ถ้าไม่ได้ตามประสงค์ ก็ให้ทูตมุ่งหมายเพียงแต่ทำความคุ้นเคยเปนไมตรีกันไว้ในระหว่าง ๒ รัฐบาล พอมีเหตุการณ์อย่างใดให้มีหนังสือไปมาพูดจาถึงกันได้ แลให้คิดอ่านขอหนังสืออนุญาตของรัฐบาลไทยแลญวนให้พวกลูกค้าอังกฤษไปมาค้าขายได้โดยสดวก ถ้าในชั้นต้นได้เพียงเท่านี้ก่อน ก็เปนพอแก่ความประสงค์ ไว้เมื่อการค้าขายติดต่อกันเข้าจนเกิดผลประโยชน์แลเห็นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว จึงไว้คิดการอย่างอื่น เช่นทำหนังสือสัญญาเปนต้น ต่อไป

ส่วนเรื่องทำแผนที่นั้น รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียก็แคลงอยู่แล้วว่า บางทีไทยจะรังเกียจ จึงได้มีข้อกำชับในคำสั่งว่า ให้ระวังอย่าให้รัฐบาลเจ้าของเมืองสงไสยว่า มาทำแผนที่เพื่อความคิดร้าย ส่วนเรื่องเมืองไทรบุรีนั้น ในเวลาเมื่อครอเฟิดออกจากอินเดีย พระยานครฯ ยังไม่ได้ยกลงไปตีเมืองไทรบุรี ความปรากฎในคำสั่งครอเฟิดแต่ว่าข้อความที่จะพูดจากับไทยเรื่องเมืองไทรบุรี จะควรพูดอย่างไรให้ครอเฟิดมาฟังเรื่องราวแลปฤกษาหารือกับเจ้าเมืองเกาะหมากดูเถิด แต่กำชับมาให้ระวัง อย่าทำให้อังกฤษต้องเข้าไปได้รับความลำบากอยู่ในระหว่างไทยกับพวกมลายูเมืองไทรบุรี ด้วยเหตุการณ์เรื่องเมืองไทรบุรีนี้ได้

ครอเฟิดออกมาจากเมืองกาลกัตตา เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน คฤศตศักราช ๑๘๒๑ ตรงกับณวันอังคารแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๑๒ ปีมเสงตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ ตัวนายที่มาด้วย คือ นายร้อยเอก เดนเยอฟีลด์ เปนอุปทูตแลเปนพนักงานทำแผนที่ หมอฟินเลสัน เปนแพทย์แลเปนผู้ตรวจสภาวสาตร มีทหารซิปอยแขกมาด้วย ๓๐ นายร้อยโท รุเธอฟอด เปนผู้บังคับ เรือที่มานั้นรัฐบาลอินเดียเช่าเรือชื่อ “ยอนอดัม” เปนกำปั่นสองเสาครึ่งของพ่อค้า กับตันมัคดอนเนลเปนนายเรือ สั่งให้ครอเฟิดมาเมืองไทยก่อน ออกจากเมืองไทยจึงให้ไปเมืองญวน มาร์ควิส เหสติงส์ มีอักษรสาสนให้ครอเฟิดเชิญมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาฉบับ ๑ พระเจ้ากรุงเวียดนามฉบับ ๑

ครอเฟิดใช้ใบมาถึงเกาะหมาก เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ตรงกับวันจันทร์เดือนอ้ายแรมค่ำ ๑ ภายหลังพระยานครฯ ตีได้เมืองไทรบุรีไม่กี่วัน เวลานั้นเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) หนีไปอาไศรยอยู่ที่เกาะหมาก พระยานครฯ มีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองเกาะหมากให้ส่งตัวเจ้าพระยาไทร จึงเปนเหตุให้เกิดตื่นกันที่เกาะหมาก ว่ากองทัพไทยจะเลยลงไปตีเกาะหมากด้วย ในเวลาที่กำลังตื่นกันอยู่นั้น พอเรือครอเฟิดมาถึงเกาะหมาก แต่ที่จริงพระยานครฯ ไม่ได้ตั้งใจจะตีลงไปให้ถึงเกาะหมาก พอตีได้เมืองไทรบุรีแล้ว ก็เอาใจใส่ที่จะเปนไมตรีกับอังกฤษ พอพระยานครฯ ทราบว่าครอเฟิดเปนทูตอังกฤษมาถึงที่เกาะหมาก ก็แต่งคนให้ถือหนังสือไปถึง บอกให้ทราบว่าที่กองทัพไทยลงไปตีเมืองไทรบุรีนั้น ไมได้มีความประสงค์จะไปรบพุ่งถึงเกาะหมาก แม้พวกกองน่าที่ล่วงเลยเข้าไปในเขตรแดนเมืองไทรที่อังกฤษได้ปกครองอยู่ประมาณ ๓๐ คน เมื่อพระยานครฯ ได้ทราบความก็ให้ทำโทษ แลห้ามปรามมิให้ล่วงเลยเขตรแดนอิกต่อไป

ครอเฟิดออกเรือจากเกาะหมาก เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ตรงกับวันเสาร์เดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ มาถึงสิงคโปร์วันที่ ๑๙ พักอยู่ ๖ วันแล้วจึงออกเรือใช้ใบมากรุงเทพฯ



[๑] ในเวลานั้นการปกครองหัวเมืองอินเดียที่ขึ้นอังกฤษยังอยู่ในบริษัทอิศอินเดียอังกฤษ แต่รัฐบาลเปนผู้สำเร็จราชการเรียกว่า เคาเวอเนอเยเนราล แต่ในจดหมายเหตุไทยเราเรียกว่า เจ้าเมืองบังกล่าตามอย่างแขก ด้วยเหตุว่าที่ว่าการของผู้สำเร็จราชการตั้งอยู่ที่มณฑลบังกล่า หรือที่อังกฤษเรียกว่า เบงคอล

[๒] ในหนังสือจดหมายเหตุของไทยแต่ก่อน เรียกว่า การะฝัด นายยอน ครอเฟิด คนนี้แต่เดิมเปนหมอยา ออกมารับราชการอังกฤษ เคยอยู่ที่เกาะหมาก ๓ ปี แล้วเคยไปเปนเรสิเดนต์อยู่ในเมืองชวา เมื่อครั้งอังกฤษยังยึดไว้ในระหว่างสงคราม รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียเห็นว่าเปนผู้รู้ภาษามลายู แลชำนาญการทางหัวเมืองที่ใกล้ชิดกับเมืองไทย จึงแต่งให้เปนทูต ภายหลังได้ไปเปนทูตทำหนังสือสัญญาแลเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองอังวะ เมื่ออังกฤษทำสงครามชนะพม่าครั้งแรก

[๓] พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ) นี้ ที่ได้เปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ในรัชกาลที่ ๔ ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งไว้ กล่าวว่าเมื่อครอเฟิดเข้ามา เปนแต่พระยาสุริยวงษ์มนตรีว่าที่พระคลัง ต่อมาถึงเดือน ๖ ปีมเมียจัตวาศกจึงได้เลื่อนเปนพระยาสุริยวงษ์โกษาที่พระคลังในเวลาเมื่อครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ ความข้อนี้ยังได้พบจดหมายรับสั่งกรมหมื่นศักดิพลเสพฉบับ ๑ มีถึงพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ลงวันพุฒเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ยังเรียกในจดหมายนั้นว่า พระยาพระคลัง เห็นจะได้เปนเจ้าพระยาพระคลังราวปีมแมหรือปีวอกในรัชกาลที่ ๒ นั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ