- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
ปีมเสงเอกศก จุล ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[๑] เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งสิบเอ็ดห้อง ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อณวันพฤหัศบดีที่ ๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ตรงกับวันทางจันทรคติ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ (คฤสตศักราช ๑๘๐๙) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย) ได้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยสมเด็จพระบรมชนกนารถได้ทรงประดิษฐานไว้ในที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท
ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกรแรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งได้ดำรงพระยศเปนพระบัณฑูรน้อยมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ เสด็จเข้าไปสรงสการทรงเครื่องพระบรมศพเสร็จแล้ว เชิญพระบรมศพลงสู่พระลองเงิน ตำรวจแห่ออกประตูสนามราชกิจ เชิญขึ้นพระยานุมาศประกอบพระโกษฐทอง[๒] ตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานไว้ณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขตวันตก ภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร ตั้งเครื่องสูงแลเครื่องราชูประโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน แลมีนางร้องไห้ ประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[๓] เวลาเช้าเย็นเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณทุกวันมา
ครั้นจัดการพระบรมศพแล้ว พระราชวงษานุวงษ์ เสนามาตย์ราชเสวก ประชุมพร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธาน ให้อาลักษณ์เขียนคำกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นผ่านพิภพ อ่านคำกราบทูลนี้แล้ว พระสงฆ์เจริญไชยปริตถวายพระพรไชยมงคล แต่นั้นพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ จึงกระทำสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทต่อมาโดยลำดับ ทั้งในกรุงแลหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั่วกัน
[๑] พระนามนี้ ถวายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ จะปรากฎคำอธิบายต่อไปข้างน่า ในตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
[๒] เรื่องพระโกษฐทององค์นี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเดิม เรียกว่าพระโกษฐทองจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์น่า ๓๕๘ ดังนี้ “ในพงษาวดารพยายามที่จะกล่าวถึงเรื่องพระโกษฐอย่างหลงๆ ว่า (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด) ให้รื้อทองหุ้มพระโกษฐ ๆ อะไรไม่รู้ มาเติมทองขึ้นอิก ทำเปนพระโกษฐทองคำกุดันแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์ ๑ สำหรับพระองค์ดังนี้ ความที่ถูกต้องนั้นคือ รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐกุดั่น ทรงพระศพพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น มารวมกันทำพระโกษฐทองใหญ่ ไม่ใช่มาทำโกษฐกุดั่น ผู้เขียนพงษาวดารหมายว่ากุดั่น แปลว่าลวดลาย ลวดลายอย่างเช่นพระโกษฐทองใหญ่นั้น ควรจะเรียกว่ากุดั่น แต่ภาษาในราชการเขาเรียกพระโกษฐสมเด็จพระพี่นางนั้นว่า กุดั่นน้อยกุดั่นใหญ่ พระโกษฐแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ เขาเรียกว่าพระโกษฐทองใหญ่ พระโกษฐทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมโรง (สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑) นั้น ทั้งพระลองเงินด้วย รับสั่งให้เชิญเข้ามาตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเสด็จพระทับอยู่ คุณเสือพระสนมเอก ทูลห้ามปรามว่าทรงอะไรเช่นนั้น น่ากลัวเปนลาง เห็นพระโกษฐเข้าก็ร้องไห้ล่วงน่าเสียก่อน รับสั่งว่ากูไม่ถือ ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เปนหลายวัน ครั้นทูลกระหม่อมใหญ่ (คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ) สิ้นพระชนม์ลง ทรงพระโทมนัศมาก จึงรับสั่งว่าให้เอาพระโกษฐทองใหญ่ไปประกอบถวายทอดพระเนตร ยกไว้เสียแต่พระลองเงิน ด้วยเหตุที่พระราชทานครั้งนั้นเปนตัวอย่างต่อมา เจ้านายใหญ่ๆ ที่สำคัญจึงได้พระราชทานตั้งแต่กรมหลวงศรีสุนทรเทพเปนต้นติดต่อกันมา เรื่องราวที่ถูกต้องนั้น ดังนี้”
[๓] ที่เรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตรงนี้ เข้าใจว่าว่าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในเวลานั้นพระมหามณเฑียรหมู่นั้นยังเรียกรวมกันว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทั้งหมด