๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์

ในปีมเมียจัตวาศกนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า พระโตซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้เชิญลงมาจากวัดพระมหาธาตุเมืองศุโขไทย แลให้สร้างวัดประดิษฐานไว้กลางพระนครที่ใกล้เสาชิงช้า โดยทรงพระราชดำริห์จะสร้างวิหารใหญ่ขนาดวิหารวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า พระวิหารนั้นยังค้างอยู่[๑] จึงโปรดให้สร้างพระวิหารนั้นต่อมา จนยกเครื่องบนเสร็จ ค้างอยู่แต่ยังมิได้ยกช่อฟ้าใบระกา อนึ่งบานประตูพระวิหารนั้น โปรดให้สลักลายขุดด้วยไม้แผ่นเดียว กรมหมื่นจิตรภักดีเปนนายงาน เมื่อคิดอย่างสำเร็จแล้ว ให้ยกเข้ามาในท้องพระโรง ทรงสลักด้วยฝีพระหัดถ์ก่อน แล้วจึงให้ช่างทำต่อไป[๒]



[๑] พระโตองค์นี้ คือ พระศรีสากยมุนี ปากตลาดยังเรียกกันอยู่ว่าพระโตจนทุกวันนี้ เรื่องเชิญพระศรีสากยมุนีมากรุงเทพฯ แลแห่ขึ้นประดิษฐานที่วัดสุทัศน์เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์โดยพิสดาร ตั้งแต่น่า  ๓๘๕ ถึงน่า ๔๐๐

[๒] ลายสลักบานพระวิหารวัดสุทัศน์ สลักดีไม่มีที่ไหนเหมือน ยังเปนของควรชมอยู่จนทุกวันนี้ มีคำเล่ากันสืบมาว่า ช่างที่สลักบานพระวิหารวัดสุทัศน์นั้น เมื่อทำการเสร็จแล้ว ประสงค์จะไม่ให้ใครทำได้เหมือนต่อไป จึงเอาเครื่องมือทิ้งน้ำเสียหมด ความข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่มีความจริงอย่าง ๑ ซึ่งปรากฎในรัชกาลหลังต่อมา มีพระราชประสงค์จะทำบานอย่างพระวิหารวัดสุทัศน์ไปใช้ในที่อื่น ไม่มีช่างที่จะรับทำให้เหมือนได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ