๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์

ตั้งแต่เกิดไข้อหิวาตกะโรคคราวใหญ่มาแล้ว ทรงสังเวชสลดพระราชหฤไทย ที่กรรมบันดาลให้เกิดภัยพิบัติแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเปนอันมากในคราวนั้น เปนเหตุให้ทรงพระราชดำริห์บำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่าง มีที่ปรากฎในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ ว่าได้ทำสังคายนาสวดมนต์อย่าง ๑ ยกย่องในจดหมายเหตุว่า เปนคู่กับการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ได้ทำเมื่อในรัชกาลที่ ๑ แต่ลักษณการสังคายนาสวดมนต์ครั้งรัชกาลที่ ๒ หาได้ปรากฎในจดหมายเหตุนั้นว่าทำอย่างใดไม่ พึ่งมาพบหนังสือสวดมนต์แปล ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณได้ฉบับมาจากหอพระมณเฑียรธรรมฉบับ ๑ ได้มาจากเมืองเพ็ชรบุรีฉบับ ๑ ปรากฎอธิบายในหนังสือนั้นว่าแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงทำไห้เข้าใจว่า ที่กล่าวว่าทำสังคายนาสวดมนต์นั้น คือ โปรดให้แปลพระปริตทั้งหลายออกเปนภาษาไทยนั้นเอง[๑] ความข้อนี้สมด้วยเรื่องที่ปรากฎในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่า ในครั้งนั้นได้โปรดให้พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศศิธรเปนหัวน่า ชักชวนพระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการฝ่ายในฝึกหัดสวดพระปริต ให้ราชบัณฑิตย์เข้าไปบอกที่พระทวารเทวราชมเหศวร์ ข้างในท่องต่ออยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ นัยว่าครั้งนั้นข้างในฝึกหัดสวดมนต์ได้ชำนิชำนาญ ทั้งอักษรสังโยคแลทำนองตลอดจนขัดตำนาน สวดได้ทุกสูตรตลอดภาณวาร จนถึงสวดทำนองภาณยักษ์ ภาณพระ เช่นพระสวดพิธีตรุษ เวลากลางวันแบ่งกันซ้อมเปนพวก ๆ เวลากลางคืนพร้อมกันไปสวดที่ท้องพระโรงใน เมื่อเสด็จออกว่าราชการแล้ว เสด็จขึ้นทรงฟังข้างในสวดมนต์ถวายทุกคืน

อิกอย่าง ๑ นั้น โปรดให้ตั้งโรงทานขึ้นที่ริมประตูศรีสุนทรระหว่างกำแพงพระราชวังกับกำแพงเมือง พระราชทานอาหารเลี้ยงราษฎรที่มีความปราถนามารับพระราชทาน แลจัดที่แสดงธรรมนิมนต์ พระสงฆ์มาแสดงธรรมทานที่โรงทานนั้นทุกวันมิได้ขาด[๒]



[๑] หนังสือสวดมนต์แปลที่กล่าวนี พระยาประสิทธิศัลการ (สอาด สิงหเสนี) ได้พิมพ์แล้ว

[๒] การตั้งโรงทานนี้ มีคำเล่ากันมาว่า แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเปนกรม ทรงดำริห์จัดตั้งขึ้นที่วังก่อน ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย รับสั่งว่าแต่เขาเปนต่างกรมยังอุส่าห์ทำทาน ควรจะมีของหลวง จึงได้โปรดให้ตั้งโรงทานขึ้น อิกข้อ ๑ ที่โรงทานมีเก๋งน้อยข้างริมประตูศรีสุนทร เปนที่สอนหนังสือเด็ก นับว่าเปนโรงเรียนหลวงที่ได้จัดขึ้นเปนครั้งแรก ข้าพเจ้าก็ได้ทันเห็น เพราะโรงทานพึ่งรื้อเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ด้วยทรงพระราชดำริห์เห็นว่าการทั้งปวงเปลี่ยนแปลงมา โรงทานเปนประโยชน์แต่แก่เจ้าพนักงานผู้จัดการ มิได้เปนประโยชน์แก่ราษฎรจริงดังแต่ก่อน จึงโปรดให้เลิกเสีย ส่วนโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ที่โรงทานนั้น จะมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ หรือพึ่งมามีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่เลิกเมื่อตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นมาแล้ว จึงเอามารวมกับโรงเรียนหลวง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ