๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก

เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเศก สถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อยขึ้นเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งที่พระมหาอุปราช

ลักษณการพระราชพิธีอุปราชาภิเศก แลเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ ครั้งรัชกาลที่ ๒ มีร่างหมายรับสั่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแต่งไว้ ว่าทำพิธีตามแบบอย่างครั้งอุปราชาภิเศกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเปนพระมหาอุปราช เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงเก่า[๑] พรรณนาไว้ในหมายรับสั่งเปนเนื้อความดังนี้ :-

ณวันศุกร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมเสงเอกศก ฤกษ์เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๓ บาท จาฤกพระสุพรรณบัตรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำนองการพิธีเหมือนจาฤกพระสุพรรณบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระสุพรรณบัตรจาฤกว่า :-

สมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทีฆายุศมศิริสวัสดิ[๒]

เมื่อจาฤกแลเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัตรแล้ว ตั้งพระสุพรรณบัตรไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงวันเริ่มงานจึงเชิญขึ้นพระเสลี่ยงแห่ไปตั้งในพระแท่นมณฑลที่พระราชวังบวรฯ

ที่พระราชวังบวรฯ นั้น จัดที่ทำพระราชพิธี ๒ แห่ง คือ ที่พระที่นั่งพรหมภักตร จะเปนพระวิมานหลังใต้หรือหลังเหนือ เวลานั้นยังเรียกรวมกันหมดทั้งหมู่ว่าพระที่นั่งพรหมภักตร ในห้องที่พระบรรธมจัดตั้งเตียงสำหรับพระสงฆ์ คือ สมเด็จพระพนรัตนนั่งปรกรูป ๑ พระวัดพลับ ๔ รูป สวดมหาไชย

ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์[๓] จัดเปนที่ตั้งพระแท่นมณฑลตั้งเทียนไชย แลเปนที่พระสงฆ์ ๔๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธานเจริญพระพุทธมนต์ พระแท่นมณฑลนั้น ในหมายรับสั่งกล่าวว่า จัดเหมือนพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ สิ่งของตั้งพระแท่นมณฑลตามซึ่งกล่าวไว้ในหมายรับสั่ง มีดังนี้ คือ :-

พระบรมธาตุ พระไชย พระห้ามสมุท พระอุณาโลมทำแท่ง พระสุพรรณบัตร ดวงพระชัณษา พระมหามงกุฎ พระภูษารัตกัมพล พระมาลาเบี่ยง พระชฎา พระนพ พระมหาสังวาลสร้อยอ่อน พระมหาสังวาลพรามหมณ์ พระธำรงค์ ฉลองพระองค์เกราะ ฉลองพระองค์นวม พระมหามงคลย่น เครื่องพระพิไชยสงคราม เครื่องพระมุรธาภิเศก พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระเต้าเบญจครรภ พระเต้าปทุมนิมิตรทอง พระเต้าปทุมนิมิตรนาก พระเต้าปทุมนิมิตรเงิน พระเต้าปทุมนิมิตรสำริด (ใส่น้ำปัญจมหานที ทั้ง ๔ พระเต้า)

พระแสงที่เข้าพระแท่นมณฑลนั้นคือ :- พระแสงขรรค์ไชยศรี ๑ พระแสงดาบยี่ปุ่น[๔] ๑ พระแสงจักร ๑ พระแสงหอกไชย ๑ พระแสงตรีศูล ๑ พระแสงธนู ๑ พระแสงเขน ๔ พระแสงง้าว ๒ พระแสงทวน ๒ พระแสงหอกคู่ ๑ พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ๑ พระแสงขอตีช้างล้ม ๑ พระแสงชนักต้น ๑ พระกลด ๑ พระเสมาธิปัต ๑ พระฉัตรไชย ๑ พระเกาวพ่าย ๑ ธงไชยกระบี่ธุช ๑ ธงไชยพระครุธพ่าห์ ๑ ตรงมุขท้ายพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ปลูกพลับพลาเปลื้องเครื่องหลัง ๑ ข้างพระที่นั่งตั้งพระแท่นที่สรงมีเสาดาดเพดาน บนพระแท่นตั้งถาดทองแดง ในนั้นตั้งตั่งไม้มะเดื่อที่ประทับสรงมุรธาภิเศก ตั้งราชวัตรฉัตรทอง, ฉัตรนาก, ฉัตรเงิน ๗ ชั้น รายรอบที่สรง

น่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ปลูกโรงพิธีพราหมณ์ แลตั้งพนมบัดพลีสำหรับโหรบูชาเทวดา ในโรงพิธีพราหมณ์ตั้งเทวรูป พระอิศวร พระนารายน์ เปนต้น เหมือนพิธีบรมราชาภิเศก แลเครื่องพลีกรรมทำพิธีตามไสยสาตร ทั่วทุกสถานการพระราชพิธีวงสายสิญจน์ล่ามตลอดถึงกัน แลตั้งราชวัตรปักฉัตรเบญจรงค์ ๕ ชั้น รายรอบพระราชมณเฑียร แลราย ๒ ข้างถนนแต่พระราชวังบวรฯ ลงมาจนพระบรมมหาราชวัง ในเวลาทำการพระราชพิธีนั้น เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เข้ามาประทับแรมอยู่ที่โรงลครริมพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตวันตก[๕]

ถึงณวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จไปทรงเครื่องที่พระนั่งดุสิดาภิรมย์[๖] แต่งพระองค์ทรงสนับเพลาเชิงงอน ทรงพระภูษาจีบโจงหางหงษ์ รัดพระองค์หนามขนุน ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาเส้าสูงสีกุหร่า เสด็จขึ้นพระราชยานที่เกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีกระบวนแห่เสด็จ คือ :-

ตำรวจเลวหรือหวายนำริ้ว ๑๐ คู่ ตำรวจเดินสายนอก ๒ สาย ๘๔ คน มหาดเล็กวังหลวงเดินสายใน ๒ สาย ๘๔ คน กลองชนะ ๒๐ คู่ แตรฝรั่ง ๖ คู่ แตรงอน ๖ คู่ สังข์ ๒ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัด ๒ เครื่องสูงน่า สามชั้น ๕ คู่ ห้าชั้นคู่ ๑ บังแทรก ๔ มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องน่า พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑ พระแสงดาบคาบค่าย ๑ พระแสงเขน ๒ พระแสงหอก ๒ พระแสงหอกคู่ ๒ พระราชยานมีพนักงานถวายอยู่งานพระกลด ๑ บังสูรย์ ๑ พัดโบก ๑ พระทวย ๑

คู่เคียง ๔ คู่ คือ :- คู่ที่ ๑ พระยากำแพงเพ็ชร พระยาโชฎึก คู่ที่ ๒ พระยาพิศณุโลก พระยาพิพิธโภไคย คู่ที่ ๓ พระยานรินทร จมื่นเสมอใจราช คู่ที่ ๔ พระยานครสวรรค์ พระยาเทพมณเฑียร

กระบวนหลัง มหาดเล็กเชิญเครื่อง ธารพระกร ๑ พัชนีท้ายพระที่นั่ง ๑ ฉลองพระบาท[๗] ๑ เชิญตามเสด็จ พานพระขันหมาก ๑ พระสุพรรณศรี ๑ พระเต้าพระสุธารศ ๑ เครื่องสูง ห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๕ คู่ บังแทรก ๔ มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่อง พระแสงง้าว ๑ พระแสงตรี ๑ พระแสงหอกง่าม ๑ มหาดเล็กวังน่าเดินสายใน ๖๐ คน ตำรวจเดินสายนอก ๔๐ คน ม้าจูง ๔ (หัวพัน) มหาดไทย กลาโหม เปนผู้ตรวจ รวมกระบวนแห่ ๒๖๘ คน[๘]

แห่เสด็จไปจากพระบรมมหาราชวัง จนถึงพระราชวังบวรฯ ประทับเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องที่มุขท้ายพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เปลื้องเครื่องผลัดทรงพระภูษาลายพื้นทอง ทรงสพักฉลองพระองค์ครุยกรองทอง เสด็จเข้าในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ทรงนมัสการพระศรีรัตนไตรย สมเด็จพระสังฆราชจุดเทียนไชยแลถวายศีลแล้ว ทรงพระมหามงคลประทับสดับพระปริตจนจบแล้ว[๙] จึงแห่เสด็จกลับคืนมายังพระบรมมหาราชวัง

รุ่งขึ้นณวันพุฒ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จทรงพระเสลี่ยง มีแต่ตำรวจนำไม่มีกระบวนแห่ เสด็จขึ้นไปทรงประเคนเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เวลาบ่ายวันนั้นแลวันรุ่งขึ้น แห่เสด็จขึ้นไปทรงสดับพระปริตเหมือนวันแรก เวลาเช้าในวันคำรบ ๒ ก็เสด็จขึ้นไปทรงประเคนเลี้ยงพระเหมือนวันแรก

ครั้นณวันศุกร เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า เสด็จโดยกระบวนแห่ขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ เสด็จเข้าที่สรงสนานเวลาเช้าโมงกับบาทหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพนรัตน พระธรรมราชา พระญาณสังวร ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าปทุมนิมิตร[๑๐] พราหมณ์ถวายน้ำกรดน้ำสังข์แลใบมะตูม แล้วทรงเครื่องเสด็จมาทรงประเคนเลี้ยงพระสงฆ์ ครั้นเลี้ยงพระแล้ว เสด็จยังพลับพลาทรงเครื่องพระภูษาลายเขียนทองจีบโจงหางหงษ์ ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาเส้าสูงสีแสด ขึ้นทรงพระราชยานแห่ลงมาพระบรมมหาราชวัง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รับพระราชทานพระสุพรรณบัตร และทูลเกล้าฯ ถวายเทียนทองธูปเงินเข้าตอกดอกไม้ (แล้วแห่เสด็จกลับขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ) ครั้นเวลาบ่าย เจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ เปนเสร็จการพระราชพิธีอุปราชาภิเศกตามโบราณประเพณี

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งปรากฎพระนามในภายหลังว่า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์นี้ ประสูตรณกรุงธนบุรี เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมเสงเบศจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ พ.ศ. ๒๓๑๖ เปนพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เปนสมเด็จพระชนนี เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เปนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ แล้วได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเปนกรมหลวง แลเปนพระบัณฑูรน้อย เมื่อปีเถาะนพศก พ.ศ. ๒๓๕๐ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต ๒ ปี เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ได้อุปราชาภิเศกนั้น พระชัณษาได้ ๓๖ พรรษา



[๑] ที่จริงพระราชพิธีอุปราชาภิเศกครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่เหมือนครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เพราะไปทำพิธีที่วังน่า น่าจะเหมือนครั้งอุปราชาภิเศกสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐเอง การพระราชพิธีอุปราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั่นแล เหมือนครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ด้วยทำพิธีในพระราชวังหลวง

[๒] คำจาฤกพระสุพรรณบัตรกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฎในหมายรับสั่ง แต่เหมือนกันทุกรัชกาล ข้าพเจ้าจึงลงตามแบบครั้งอุปราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย

[๓] พระที่นั่งองค์นี้ ในหนังสือเก่าบางแห่ง เรียกพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ บางแห่งเรียก พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เหตุที่เรียกเปน ๒ ชื่อ ข้าพเจ้าจะอธิบายไว้ที่อื่นในหนังสือเรื่องนี้

[๔] พระแสงดาบยี่ปุ่นนี้ ของพระราชทานสำหรับพระเกียรติยศกรมพระราชวังบวรฯ

[๕] โรงลครนี้ สร้างแต่ในรัชกาลที่ ๑ ไม่ใช่สำหรับเล่นลครอย่างเดียว เปนโรงใหญ่สำหรับใช้ราชการอื่นๆ ในพระบรมมหาราชวังด้วย พึ่งรื้อปราบที่เปนสนามหญ้าเมื่อในรัชกาลที่ ๕

[๖] พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ครั้งนั้นเรียกว่าพระที่นั่งเย็น ไม่มีในหมายรับสั่งอุปราชาภิเศกครั้งรัชกาลที่ ๒ ว่าเสด็จไปทรงเครื่องที่นั้น แต่มีชัดในหมายรับสั่งอุปราชภิเศกครั้งรัชกาลที่ ๓ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าคงจะเหมือนกันกับเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒

[๗] ธารพระกร พัชนีท้ายพระที่นั่ง แลฉลองพระบาท สิ่งนี้ในหมายรับสั่งว่าให้เชิญถวาย

[๘] ในหมายรับสั่งอุปราชาภิเศกครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฎริ้วกระบวนแห่ บอกไว้แต่ชื่อผู้เปนคู่เคียง ริ้วกระบวนแห่ข้าพเจ้าเอาริ้วครั้งอุปราชาภิเศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยมาลง ด้วยเชื่อว่าคงเหมือนกัน

[๙] ที่ประทับทรงสดับพระปริต ถ้าเอาแบบอย่างวังหลวง ควรจะเสด็จไปประทับทรงสดับพระสงฆ์สวดภาณวาร ในห้องที่พระบรรธม ณพระที่นั่งพรหมภักตร แต่ในหมายรับสั่งไม่ได้กล่าวความไว้ให้เข้าใจเปนอย่างนั้นได้ ข้าพเจ้าจึงลงไว้ว่าทรงสดับพระปริตที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อันถูกต้องตามแบบของการตั้งกรมในครั้งนั้น

[๑๐] เข้าใจว่าเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานน้ำมนต์ ในพระเต้าเบญจครรภ แต่หากไม่กล่าวในหมายรับสั่ง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ