- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
เมื่อปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒ มีพระทวายหรือพม่ารูป ๑ ชื่อสมีเคียนอู่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้เจ้าพนักงานถามคำให้การได้ความว่า พระเจ้าอังวะปะดุงสิ้นพระชนม์
ในที่นี้จะแทรกอธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพม่าสักหน่อย ด้วยพระนามพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่ไทยเราเรียกกับที่พม่าเรียก แปลกกันอยู่หลายพระองค์ แลเรียกตามปากตลาดไม่ตรงพระนามในราชการด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายไทยเห็นจะเรียกอย่างมอญจึงแปลกกับพม่า ได้ให้สอบหนังสือมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เฉภาะนามพระเจ้าแผ่นดินในราชวงษ์อลองพญา ได้ความดังนี้
รัชกาลที่ ๑ มังลองนายบ้านมุกโชโบ เปนปฐมวงษ์ ได้เสวยราชย์เมื่อปีมแม จุลศักราช ๑๑๑๓ พ.ศ. ๒๒๙๔ ไทยเราเรียกว่าพระเจ้ามังลอง ตามนามเดิมบ้าง พระเจ้าอลองพญาบ้าง พม่าเรียกว่าพระเจ้าอลองมินตยาคยี แปลความว่า พระบรมโพธิสัตว ถ้าแปลตามศัพท์ อลอง แปลว่า หน่อ มินตยา แปลว่า ธัมมะ คยีแปลว่า บรม, มหา ถ้าจะแปลรวมความ น่าจะแปลว่าพระเจ้าทรงธรรม มากกว่าอย่างอื่น แต่ได้ยินแปลกันว่า พระโพธิสัตว เช่นใช้ในคำว่า หน่อพระชินสีห์ ครองราชสมบัติอยู่ ๘ ปี ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ตีไม่ได้ ประชวรกลับไป สิ้นพระชนม์ในระหว่างทางเมื่อปีมโรง จุลศักราช ๑๑๒๒ พ.ศ. ๒๓๐๓ ชนมายุได้ ๔๕ ปี
รัชกาลที่ ๒ ไทยเราเรียกว่า พระเจ้ามังลอก ตามนามเดิม เปนราชโอรสผู้ใหญ่ของพระเจ้าอลองพญา ในพงษาวดารพม่าว่าได้เปน (พระ) ศิริสุธรรมราชา แลได้เมืองทิปยินเปนเมืองส่วย แล้วได้อภิเศกเปนพระมหาอุปราช เมื่อได้ราชสมบัติ ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวรมหาธรรมราชา ครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปีกับ ๔ เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อปีมแม จุลศักราช ๑๑๒๕ พ.ศ. ๒๓๐๖ ชนมายุได้ ๒๙ ปี พระเจ้ามังลอกนี้ พม่าเรียกว่า พระเจ้านองดอคยี แปลว่า พระบรมเชษฐาธิราช
รัชกาลที่ ๓ ไทยเราเรียกว่า พระเจ้ามังระ (ที่ให้มาตีได้กรุงเก่าแลให้กองทัพพม่ามารบครั้งกรุงธนบุรี) เปนราชโอรสที่ ๒ ของพระเจ้าอลองพญา ได้เปนที่ (พระ) ศิริธรรมราชา ได้เมืองมะเยดูเปนเมืองส่วย เมื่อเสวยราชย์ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวรสุธรรมมหาราชา ชนินทาธิบดี ครองราชสมบัติอยู่ ๑๒ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๑๓๘ พ.ศ. ๒๓๑๙ ชนมายุได้ ๓๙ ปี พม่าเรียกว่า พระเจ้าสินพยุฉิน แปลว่า พระเจ้าช้างเผือก เพราะได้ช้างเผือกช้าง ๑
รัชกาลที่ ๔ ไทยเราเรียกว่า พระเจ้าจิงกูจา ตรงกับพม่า แปลว่าผู้กินเมืองจิงกู พม่าเรียกอิกนาม ๑ ว่า จิงกูมิน แปลว่า ขุนหลวงจิงกู เปนราชโอรสของพระเจ้ามังระ แลได้เมืองจิงกูเปนเมืองส่วยอยู่ก่อน เมื่อเสวยราชย์ขนานพระนามว่า พระเจ้ามหาธรรมราชาธิราช ครองราชสมบัติอยู่ ๕ ปี ถูกมองหม่องชิงราชสมบัติ แล้วถูกพระเจ้าปะดุงปลงพระชนม์เสีย เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๑๑๔๓ พ.ศ. ๒๓๒๔ ชนมายุได้ ๒๕ ปี
รัชกาลที่ ๕ ไทยเราเรียกว่า มองหม่อง เหมือนพม่า แต่พม่าเรียกอิกนาม ๑ ว่า ปองคามิน แปลว่า ขุนหลวงปองคา เพราะได้บ้านปองคาเปนบ้านส่วยขึ้นอยู่แต่ก่อน เปนราชบุตรพระเจ้ามังลอก ชิงราชสมบัติได้ แต่ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๗ วัน ก็ถูกพระเจ้าปะดุงจับสำเร็จโทษเสีย เมื่อในปีฉลูตรีศกนั้น
รัชกาลที่ ๖ ไทยเราเรียกว่า พระเจ้าปะดุง เพราะเหตุที่ได้เมืองปะดุงเปนเมืองส่วยอยู่แต่ก่อน พม่าเรียกเปน ๒ นาม นาม ๑ เรียกว่า ปะดุงมิน แปลว่า ขุนหลวงปะดุง ตรงกับที่ไทยเราเรียก อิกนาม ๑ เรียกว่า โบดอพญา แปลว่า พระไอยกาธิราช พระเจ้าปะดุงเปนราชโอรสที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญา ชิงราชสมบัติได้ เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๑๑๔๓ ก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทรปี ๑ เปนผู้ที่ได้ทำศึกขับเคี่ยวกับไทยตลอดรัชกาลที่ ๑ แลต่อมาจนรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสวยราชย์ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวร ชยานันทยศ ตรีภูวนาทิตยาธิบดี บัณฑิตมหาธรรมราชาธิราช ครองราชสมบัติอยู่ ๓๘ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒ ชนมายุได้ ๗๖ ปี พระเจ้าปะดุงนี้ที่สร้างเมืองอมรบุระขึ้นเปนราชธานี
บาดหลวงฝรั่งผู้ ๑ ไปอยู่ในเมืองพม่าเมื่อในแผ่นดินของพระเจ้าปะดุง จดหมายเหตุไว้ว่า พระเจ้าปะดุงนี้ดุร้ายนัก แต่ในการปกครองพระราชอาณาจักรมีความสามารถมาก แผ่ราชอาณาเขตรไปได้กว้างขวาง ได้เมืองยะไข่ เมืองมณีบุระ แลเมืองกระแซ ซึ่งอยู่ทางทิศตวันตกไว้ในอำนาจ จนต่อแดนอินเดียของอังกฤษ ทำศึกมีไชยชนะมาทุกทิศ มาแพ้แต่ไทย พระเจ้าปะดุงเพียรจะตีเมืองไทยหลายคราวก็ไม่ได้ดังปราถนา แลมีแต่ไทยชาติเดียวที่กล้าเข้าไปตีหัวเมืองในเขตรแดนพม่าเมื่อแผ่นดินพระเจ้าปะดุง พระเจ้าอังวะปะดุงมีราชโอรสด้วยอรรคมเหษีชื่อจันกาสุริยะ ตั้งให้เปนอินแซะมหาอุปราช ๑ ราชบุตรชายอิก ๘ องค์ ชื่อตะแครงปรอน ๑ ตะแคงตองอู ๑ มูมิตตะแคง ๑ มูปะแยตะแคง ๑ ตะแคงเลิงอะแมง ๑ ปะเยืองเตงแมง ๑ ปะเยียดซาแมง ๑ เสียงแคงตำแคง ๑ อินแซะมหาอุปราชมีบุตร ๔ คน ชื่อสะโกสิงขยา ๑ จักกายแมง ๑ แสรกแมง ๑ โปมูแมง ๑ สะโกสิงขยาบุตรใหญ่ของอินแซะมหาอุปราชมีบุตร ๒ คน ชื่อโพมองตะแคง ๑ ตะแคงอูตัว ๑ จันกาสุริยะที่ได้เปนอินแซะอุปราชสิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าอังวะปะดุง ๑๐ ปี พระเจ้าปะดุงจึงจัดตั้งจักกายแมงราชนัดดาซึ่งเปนบุตรอินแซะขึ้นเปนมหาอุปราชแทนบิดา ครั้นพระเจ้าอังวะปะดุงสิ้นพระชนม์แล้ว จักกายแมงซึ่งเปนอินแซะจึงได้ราชสมบัติ ชนมายุได้ ๓๕ ปี เมื่อพระเจ้าอังวะจักกายแมงเสวยราชย์แล้ว เกิดไฟไหม้พระราชวังให้โหรมาพยากรณ์ โหรทำนายว่า ชะตาเมืองอมรบุระไม่ดี จึงให้ย้ายราชธานีมาจากเมืองอมรบุระกลับลงมาตั้งอยู่ที่เมืองอังวะ
รัชกาลที่ ๗ ไทยเราเรียกว่า พระเจ้าจักกายแมง ตรงกับจักกายมิน แปลว่า ขุนหลวงจักกาย เปนราชนัดดาของพระเจ้าปะดุง คือเปนราชโอรสองค์ใหญ่ของพระมหาอุปราช ซึ่งสิ้นพระขนม์ไปเสียก่อนพระเจ้าปะดุง ๆ จึงตั้งจักกายแมงเปนพระมหาอุปราช เมื่อได้เสวยราชย์ ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริตรีภูวนาทิตยาธิบดี บวรบัณฑิตมหาธรรมราชาธิราช แต่พม่าเรียกว่า พระเจ้าพะคยิดอ แปลว่า พระบิตุลาธิราช พระเจ้าจักกายแมงคิดจะทำศึกกับไทยในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ. ๒๓๖๓ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างน่า) แต่เกิดรบขึ้นกับอังกฤษแพ้สงคราม อยู่มามีสติฟั่นเฟือน จึงถูกเอาออกจากราชสมบัติเมื่อปีรกา จุลศักราช ๑๑๙๙ พ.ศ. ๒๓๘๐ (ตรงในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร)
รัชกาลที่ ๘ ไทยเราเรียก พระเจ้าแทรกแมง พม่าเรียกว่าสาระวดีมิน ความตรงกัน แปลว่า ขุนหลวงเมืองสาระวดี เพราะเคยได้เมืองสาระวดีเปนเมืองส่วย ได้ราชสมบัติด้วยกำจัดพระเจ้าจักกายแมงผู้เปนพระเชษฐา ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวราทิตยโลกทีปวิไชยมหาธรรมราชาธิราช ย้ายกลับไปตั้งเมืองอมรบุระเปนราชธานี ครองราชสมบัติอยู่ ๙ ปี กับ ๖ เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อปีมเมีย จุลศักราช ๑๒๐๘ พ.ศ. ๒๓๘๙ (ตรงในรัชกาลที่ ๓) ชนมายุได้ ๗๐ ปี
รัชกาลที่ ๙ ในหนังสือไทยที่พบ เรียกแต่ว่า พระเจ้าอังวะ พม่าเรียก ภุกามมิน แปลว่า ขุนหลวงภุกาม เพราะได้เมืองภุกามเปนเมืองส่วยอยู่แต่เดิม เปนราชโอรสของพระเจ้าสาระวดีรัชกาลที่ ๘ เมื่อเสวยราชย์ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริสุธรรมดิลก บวรมหาราชาธิราช ครองราชสมบัติอยู่ ๖ ปีกับ ๓ เดือน ทำสงครามครั้งที่ ๒ แพ้อังกฤษ ถูกเอาออกจากราชสมบัติ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕ (ตรงกับรัชกาลที่ ๔)
รัชกาลที่ ๑๐ พระเจ้ามินดง เรียกต้องกันทั้งไทยแลพม่า เปนโอรสพระเจ้าสาระวดี เปนผู้ที่กำจัดพระเจ้าภุกามออกจากราชสมบัติขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวรวิชยานันทยศ บัณฑิตมหาธรรมราชาธิราช สร้างเมืองมันดะเลขึ้นเปนราชธานี ครองราชสมบัติอยู่ ๒๕ ปี กับ ๗ เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๔๐ พ.ศ. ๒๔๒๑ (ตรงในรัชกาลที่ ๕) ชนมายุได้ ๖๕ ปี
รัชกาลที่ ๑๑ พระเจ้าศรีป่อ หรือ ธิบอ เรียกตรงกันทั้งไทยแลพม่า ด้วยเหตุชนนีเปนไทยใหญ่ ธิดาเจ้าฟ้าเมืองศรีป่อ แลพระเจ้ามินดงผู้เปนพระราชบิดาประทานเมืองศรีป่อให้เปนเมืองส่วยด้วยอิกสถาน ๑ เมื่อเสวยราชย์ขนานพระนามว่า พระเจ้าศิริบวราทิตยโลกาธิบดี บัณฑิตมหาธรรมราชาธิราช ครองราชสมบัติอยู่ ๗ ปี เกิดสงครามกับอังกฤษเปนครั้งที่ ๓ อังกฤษเอาเมืองพม่าเปนเมืองขึ้น จับพระเจ้าศรีป่อไปกักไว้ในอินเดียจนบัดนี้ รวมพระเจ้าแผ่นดินพม่าในราชวงษ์อลองพญา ๑๑ องค์ ได้ครองราชสมบัติตลอดเวลา ๑๓๓ ปี
ในครั้งเมื่อพระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติเมืองพม่าใหม่ ๆ นั้น พวกเมืองมณีบุระขัดแขงไม่ยอมเปนเมืองขึ้นดังแต่ก่อน พระเจ้าอังวะจักกายแมงปราบปรามเมืองมณีบุระได้เรียบร้อยแล้ว คิดจะยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทย เพื่อจะให้ปรากฎเกียรติยศว่าทำการซึ่งพระไอยกาทำไม่สำเร็จนั้นได้ จึงให้ลงมือรวบรวมกำลังตั้งกองทัพที่เมืองเมาะตมะ แลให้ต่อเรือสำหรับบรรทุกพลทหารที่เมืองตนาวศรีแลเมืองมฤทเปนอันมาก ข่าวที่พม่าเตรียมกองทัพทราบถึงกรุงเทพฯ เมื่อณเดือน ๑๑ ปีมโรงโทศก ด้วยพระยาภักดีสงคราม สมิงอาทมาตกองตระเวน ซึ่งให้ออกไปลาดตระเวนสืบข่าวทางแดนพม่า จับได้อ้ายเยละนายด่านโป่ง อ้ายงะจันตนะ อ้ายงะโค ซึ่งเจ้าเมืองเมาะตมะให้คุมไพร่เข้ามาสืบราชการ ณตำบลด่านลุมช้าง ส่งตัวเข้ามายังกรุงเทพฯ อ้ายพม่าให้การว่าพระเจ้าอังวะ (ปะดุง) องค์เก่าสิ้นพระชนม์แล้ว อินแซะผู้หลานได้เปนพระเจ้าอังวะให้หาเจ้าเมืองทวาย เจ้าเมืองเชียง เจ้าเมืองเมาะลำเลิง ขึ้นไปคิดราชการ จะเข้ามาตีกรุงสยาม แลว่าเมื่อณเดือน ๙ สมิงหาญหักค่ายรามัญ หนีความไข้ออกไปเมืองมฤท บอกพม่าว่ากรุงเทพฯ เกิดความไข้ผู้คนล้มตายระส่ำระสายเปนอันมาก เจ้าเมืองเมาะตมะจึงแต่งให้งะสอยตาเจ้าเมืองพังดานนายไพร่ ๘๓ คนเข้ามาจับไทยทางท่าดินแดงแขวงเมืองกาญจนบุรีไปสืบ ถ้าได้ความจริงดังสมิงหาญหักค่ายกล่าวแล้ว เจ้าเมืองเมาะตมะ เจ้าเมืองมฤท จะขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะให้ยกกองทัพมาทางเมืองเมาะตมะ พระยาถลางแต่งคนไปสืบราชการทางเมืองมฤท เมืองตนาวศรี ก็ได้ความว่าพม่าลงมาตั้งต่อเรือขึ้นเปนอันมาก เมื่อได้ข่าวทั้ง ๒ ทาง ความยุติต้องกันดังนี้ จึงทรงปรึกษาพระราชวงษานุวงษ์เสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า การที่พม่าตระเตรียมกองทัพ ข้างฝ่ายไทยจะนิ่งประมาทไม่ได้ ควรให้มีกองทัพไทยไปตั้งขัดตาทัพอยู่ พม่ารู้ว่าไทยรู้ตัวแลมีกองทัพไทยไปตั้งสกัดอยู่ก็จะไม่ยกมา แม้ถ้ายกมาจริง กองทัพที่ยกไปก็จะได้ประทะประทังถ่วงไว้ พอจะกะเกณฑ์กองทัพใหญ่ยกไปช่วยกันได้ทัน จึงโปรดให้จัดกองทัพยกไปจากกรุงเทพฯ หลายกอง ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเปนแม่ทัพ คุมพลไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองเพ็ชรบุรีกอง ๑ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เปนแม่ทัพคุมคนหมื่นหนึ่งไปตั้งขัดทัพทางด่านเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรีทาง ๑ กองทัพทั้ง ๒ ทัพนี้ ได้ยกไปจากกรุงเทพฯ พร้อมกัน ณวันศุกรเดือน ๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมโรงโทศก[๑]
ส่วนทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกนั้น ได้ความในหนังสือเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราชว่า ในครั้งนั้นโปรดให้พรยากลาโหมราชเสนา (บิดาเจ้าพระยายมราช ศุข) คุมพลไปตั้งรักษาเมืองถลางกอง ๑ พระยาศรสำแดงไปรักษาเมืองสงขลากอง ๑ พระยาพิไชยสงครามไปรักษาเมืองพัทลุงกอง ๑ แลเกณฑ์พลเมืองสงขลาเมืองพัทลุงรวมกัน (ผู้ใดจะเปนหัวน่าหาปรากฎไม่) ยกออกไปตั้งต่อเรือลำหรับบรรทุกพลทหารที่เมืองสตูล[๒]หัวเมืองแขก ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า ส่วนที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น เวลานั้นพระยานคร (น้อย) ป่วย โปรดให้พระยาวิชิตณรงค์คุมกำลังลงไปช่วยรักษาการอยู่ที่เมืองนครฯ แลให้พระพงษ์นรินทร์ซึ่งเปนลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี รับราชการเปนหมอหลวงอยู่ ลงไปรักษาพระยานครฯ มีท้องตราสั่งลงไปว่า ถ้าพม่าข้าศึกยกมา ให้พระยานครฯ เปนแม่ทัพ (พระยาวิชิตณรงค์เปนปลัดทัพ) พระพงษ์นรินทร์เปนยกบัตรทัพ ยกกองทัพเมืองนครฯ ไปต่อสู้อิกทัพ ๑ ได้ความในหนังสือเก่าส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกดังนี้ ทำให้เข้าใจว่า ทางข้างฝ่ายเหนือคงมีกองทัพไปตั้งดักพม่าที่จะยกมาทางด่านแม่ลำเมา เข้าทางเมืองตากอิกกอง ๑ แต่หาปรากฎในหนังสือเรื่องใดไม่
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จไปตั้งทัพหลวงอยู่ที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี[๓] แต่งให้พระยารัตนจักรไปสืบราชการ จับได้พม่าที่ด่านมองละแขวงเมืองทวาย ๘ คน เอาตัวมาถาม พม่าให้การว่า เจ้าเมืองทวายจะให้ปลูกฉางเข้าขึ้น ๓ ฉาง ว่าจะขนเข้าเมืองยะไข่[๔]มาไว้ณฉาง เดือน ๖ เดือน ๗ จะให้ตั้งกองทำนาที่เมืองทวายสะสมเสบียงอาหารให้พอแลัว ปีมเสงตรีศกจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุงเทพฯ
กองทัพกรุงเทพฯ ตั้งกักด่านอยู่จนเข้าฤดูฝน ไม่มีกองทัพพม่ายกมา ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าพม่าให้ปลูกยุ้งฉางลำเลียงเสบียงอาหารมาสำรองไว้ เห็นจะคิดทำการสงครามต่อปีน่า ในเวลานั้นเข้าฤดูฝนพ้นฤดูที่กองทัพพม่าจะยกมาได้สดวก เห็นจะไม่มีศึกมาในฤดูฝนนั้น จึงโปรดให้มีตราให้หากองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ แลพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กลับคืนมากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ กอง[๕] ให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ พระยามหาโยธา คุมพลอยู่พอรักษาการ แลมีตราให้หาพระยากลาโหมราชเสนากลับเข้ามาคุมกองทัพเปนจำนวน ๘๒๐๐ ตั้งขัดทัพอยู่ที่เมืองราชบุรีแห่งเดียว
อนึ่งในเรื่องขัดทัพคราวนี้ ความปรากฎในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีมีลายพระหัดถ์ไปให้ทูลกรมหมื่นศักดิพลเสพฉบับ ๑ ว่าด้วยความประพฤติของพวกกองทัพที่ออกไปตั้งอยู่หัวเมือง เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ท่านได้ลงลายพระหัดถ์ไว้เต็มสำเนา ข้าพเจ้าเห็นว่ามีคติอยู่บ้างไม่ควรจะยกเสีย จึงได้คัดมาลงไว้ต่อไปนี้
“เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ทรงทราบความประพฤติของพวกกองทัพที่ตั้งอยู่เมืองเพ็ชรบุรี จึงมืจดหมายบอกไปถึงเจ้าพระยาโกษาธิบดี พระยาเสนาภูเบศร์ ให้กราบทูลกรมหมื่นศักดิพลเสพ ใจความว่า มีหนังสือห้ามปรามเตือนสติออกมาเกลือกว่าจะไม่เห็นด้วย จะว่าอิจฉาแกล้งใส่ความ ด้วยไม่มีตัวว่า เปนคำเล่าฦๅ บัดนี้ได้ความชัดรู้ด้วยกันมากแล้ว ว่ากักเรือราษฎรเก็บเรือจะลำเลียงเข้า เจ้าของเรือก็เปนบ่าวนายทัพนายกอง ต่างมีอาญาสิทธิคุ้มครองเสียสิ้น เวียนแต่ลากไปลากมาเกือบจะวิวาทชกต่อยกัน ที่ใครโฉดเขลาเก็บได้ก็ส่งไปลำเลียง ที่มีสติปัญญาชํ่าชองถึงใจก็รอดตัว โดยแต่เรือจะเข้าออกก็ต้องเสียเบิกล่องน้ำตาลหม้อหนึ่งจึงได้เข้ามา แล้วราษฎรมีเข้าอยู่เกวียนหนึ่งก็ต้องจัดซื้อเอาเสียบั้นหนึ่ง น้ำตาลราษฎรซื้อขายกัน ๖ หม้อเปนเงินบาทเฟื้อง ก็จัดซื้อว่าเปนหลวง ๗ หม้อบาท จะปฤกษาราชการก็เปนพวก ๆ กัน ถ้อยความเก่าใหม่ก็เอามาว่าสับสน บรรดาสิ่งของในเมืองเพ็ชรบุรีหาพอความคิดนายทัพนายกองจะประโยชน์ชไม่ เลยยึดลงไปจนไม้ไผ่แลเขาโคก็เปนของต้องการไปเสียสิ้น ในข่าวเล่าฦๅว่าดังนั้นก็พลอยวิตกกลัวจะเสียรังวัดด้วย ด้วยเปนผู้กราบทูลพระกรุณาให้ออกมาสำเร็จราชการ แล้วเห็นว่ามิใช่ผู้อื่น ตั้งพระไทยให้มีความดีไปภายน่า จะได้ช่วยราชการแผ่นดินเบาแรง ครั้นความเปนดังนี้ทรงพระวิตกอยู่ ด้วยทางปากแพรกเมืองราชบุรี (คือกองทัพกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) นั้น มีแต่คำไพร่บ้านพลเมืองสร้องสาธุการสรรเสริญ ไม่เหมือนทางเมืองเพ็ชรบุรี มีแต่ต่างคิดต่างทำ ด้วยเหตุว่าหามีผู้เตือนสติไม่ จึงเกิดความฟุ้งเฟื่องเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ดังนี้ ไม่ควรที่จะให้เกิดความเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลอายแก่ชาวเมืองเพ็ชรบุรี ด้วยการข้างน่ายังมีอยู่มาก ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้ ใช่จะเอาความผิดนายทัพนายกองฤๅก็หาไม่ ด้วยเห็นว่าพึ่งแรกออกโรงใหม่ ได้พลั้งเกินไปคนละเล็กละน้อยแล้ว ให้พระเจ้าน้องยาเธอฯ หาตัวมาพร้อมกันสะสางผ่อนปรนเสีย โดยควรโดยชอบแก่ราชการ”
ที่พม่าไม่ยกเข้ามาคราวนั้น เหตุด้วยพวกเมืองมณีบุระกำเริบขึ้นอิก พม่าต้องส่งกำลังไปปราบเมืองมณีบุระ พวกเมืองมณีบุระไปอาไศรยกำลังเมืองอัสสัม ซึ่งอยู่ต่อติดแดนแผ่นดินอินเดียของอังกฤษ เมื่อครั้งพระเจ้าปะดุงยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ เมืองมณีบุระ เมืองกระแซ พม่าก็บุกรุกเข้าไปจนถึงเมืองอัสสัม แลเมืองจิตตเกิง ซึ่งอังกฤษถือว่าอยู่ในฉายาบารมีของอังกฤษ แต่ในเวลาเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าปะดุง อังกฤษกำลังติดทำการสงครามอยู่ในอินเดียข้างตวันตกแลข้างเหนือ จึงจำต้องอดทนผ่อนผันเอาใจพม่า ครั้นมาถึงแผ่นดินพระเจ้าอังวะจักกายแมง อังกฤษว่างการสงครามทางอื่น เมื่อพม่าเข้าไปปราบปรามหัวเมืองซึ่งพระเจ้าปะดุงได้อำนาจไว้ในที่ต่อเขตรแดนอังกฤษ ๆ จึงเข้าอุดหนุนพวกที่เปนอริกับพม่า เปนมูลเหตุที่พม่าจะเกิดเหตุวิวาทขึ้นกับอังกฤษ ดังจะปรากฎเรื่องราวต่อไปข้างน่า
[๑] ทางที่พม่าเคยเดินกองทัพเข้ามาตีเมืองไทย มาได้ใกล้กว่าทางอื่น มี ๒ ทาง คือ ข้างเหนือทางด่านพระเจดีย์สามองค์เข้าทางเมืองกาญจนบุรี ทางนี้ที่พระมหาอุปราชายกเข้ามาครั้งกรุงเก่า แลพระเจ้าปะดุงยกเข้ามาครั้งรัชกาลที่ ๑ จึงให้กองทัพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปตั้งขัดไว้ที่เมืองกาญจนบุรี อิกทางหนึ่งอยู่ข้างใต้ เดินจากเมืองตนาวศรีเข้ามาทางด่านสิงขร แล้วเดินเลียบชายทะเลขึ้นมาเมืองกุย, เมืองปราณ, เมืองเพ็ชรบุรี ทางนี้ทัพม่ายกมาคราวเสียกรุงเก่า จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพคุมไปตั้งขัดอยู่ที่เมืองเพ็ชรบุรี
[๒] เมืองสตูลเวลานั้นยังขึ้นเมืองไทรบุรี แต่เข้าใจว่าเชื้อสายของพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) เห็นจะปกครองอยู่
[๓] ที่จดไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปตั้งอยู่ที่แม่น้ำน้อย ที่เมืองกาญจนบุรีนั้น คือ ตั้งอยู่ที่ตรงเมืองกาญจนบุรีทุกวันนี้นั้นเอง เมืองกาญจนบุรีเก่าตั้งอยู่ที่เขาชนไก่ ริมแม่น้ำแควใหญ่เหนือขึ้นไป ถ้าพม่ายกกองทัพบกต้องเดินทางนั้น แต่ในชั้นหลังเมื่อพม่ายกข้ามแนวเขาบรรทัดเข้ามาถึงสามสบแจ้ว แยกกันเข้ามาได้เปน ๒ ทาง เดินทางลาดหญ้าทางเก่าทาง ๑ ล่องแพทางเมืองไทรโยคลงทางแม่น้ำน้อยหลีกเมืองกาญจนบุรีเก่ามาได้อิกทาง ๑ ครั้งนั้นไทยจึงไปตั้งที่ลิ้นช้างตรงที่แม่น้ำแควใหญ่กับแควน้อยร่วมกัน เพื่อจะรับกองทัพพม่าได้ทั้ง ๒ ทาง ตรงนี้เปนที่เหมาะแก่การป้องกันข้าศึกพม่า ถึงรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีเข้ามาตั้งเปนเมืองมีป้อมปราการที่ตรงนี้
[๔] เมืองยะไข่อยู่ริมชายทเลอ่าวเบงคอล โดยปรกติเปนเมืองเอกราชชาติ ๑ ต่างหาก ต่อคราวใดพม่ามีอำนาจมาก จึงตีได้เมืองยะไข่ไว้ในอำนาจ ถ้าอำนาจพม่าลดลงเมื่อใด เมืองยะไข่ก็กลับเปนอิศรอิก เปนดังนี้มาหลายครั้งหลายคราว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกจ้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า ทรงสอบดูในพงษาวดาร ถ้าพม่าตีเมืองมอญเมืองยะไข่ไว้ได้ในอำนาจเมื่อใดแล้ว เปนมาตีเมืองไทยด้วยทุกครั้ง นับตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ (สุวรรณเอกฉัตร) เปนต้นมา เมื่อปีมโรงโทศกนั้น เมืองยะไข่เปนเมืองขึ้นพม่า พม่าตีได้แต่ครั้งพระเจ้าปะดุง พม่าจึงคิดจะเอาเข้าเมืองยะไข่มาเปนเสบียงทำศึกกับไทย
[๕] มีคำผู้ใหญ่เล่าสืบกันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากราชการทัพคราวนั้น ทรงปรารภถึงเหตุที่ได้เสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ จึงทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดจอมทองซึ่งเปนวัดเก่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระราชทานนามวัดจอมทองเปลี่ยนใหม่ ว่าวัดราชโอรส