๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก

ตามราชประเพณีที่ถือกันในประเทศนี้แต่โบราณมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จผ่านพิภพแล้ว ยังไม่ถือว่าเปนพระราชามหากระษัตริย์บริบูรณ์ จนกว่าจะได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ในระหว่างเวลาก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกนั้น บัตรหมายในราชการยังขานพระยศอย่างเดิม แลยังไม่ใช้พระราชโองการ อิกประการ ๑ การพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร คือ ที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ เสด็จขึ้นอยู่พระราชมณเฑียรในพระราชวัง ย่อมทำเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศก เวลาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเศก เสด็จประทับอยู่เพียงที่ประทับซึ่งจัดถวายชั่วคราว ด้วยเหตุเหล่านี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านพิภพแล้ว จึงหาพระฤกษ์ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แลเฉลิมพระราชมณเฑียรก่อนการอื่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จผ่านพิภพได้ ๗ วัน ก็ถึงกำหนดฤกษ์เริ่มงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกที่ทำในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทำตามตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเศกซึ่งตั้งเปนแบบแผนไว้เมื่อในรัชกาลที่ ๑

เรื่องตำนานการตั้งตำราอันนี้ มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารแลจดหมายเหตุแยกย้ายกันอยู่หลายแห่ง แลคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่าสืบกันมา ที่ยังไม่ได้จดไว้ก็มี สมควรจะรวมเรื่องตำนานมากล่าวไว้ในที่นี้ก่อน คือ มีคำผู้ใหญ่กล่าวสืบกันมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเศก ด้วยในสมัยเมื่อครั้งตั้งกรุงธนบุรีมีการทัพศึกไม่ว่าง แลนัยว่าเพราะเหตุนี้ หนังสือรับสั่งครั้งกรุงธนบุรีจึงไม่ได้ใช้พระราชโองการ ความที่กล่าวข้อนี้ เมื่อมาตรวจพบหนังสือครั้งกรุงธนบุรีในชั้นหลัง เช่นหนังสือเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชเปนต้น เห็นใช้พระราชโองการเต็มตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เพราะฉนั้น ในข้อที่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเศกนั้น น่าเชื่อว่าที่จริงเห็นจะได้ทำ แต่ในเวลาที่ทำนั้นกำลังบ้านเมืองระส่ำระสาย ตำราราชาภิเศกครั้งกรุงเก่าก็สูญเสียเมื่อกรุงเสียแก่พม่า ถ้าจะมีตำราอะไรที่เหลืออยู่ ซึ่งหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีนั้น ก็มีอยู่ฉบับเดียวแต่โคลงจมื่นไวยวรนารถแต่งไว้ แต่ด้วยกฎหมายเหตุ เรื่องบรมราชาภิเศกสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ[๑] ลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ที่ทำครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ว่ามีสวดมนต์เลี้ยงพระ ๓ วัน ในวันที่คำรบ ๓ เวลาเช้าสรงมุรธาภิเษก ทรงเครื่องแล้วเสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศแต่ทิศเดียว พระมหาราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลถวายศิริราชสมบัติแล้วสวดเวทถวายไชยมงคล เปนเสร็จการเพียงเท่านั้น ไม่ได้ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐ และไม่ได้ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พิธีที่เต็มตามตำรา มาทำครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรราชา รับราชสมบัติต่อรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ แต่ก็ไม่ได้มีตำราจดไว้ หรือจดไว้แต่หายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงเก่า ลักษณการพิธีบรมราชาภิเศกพระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นจะทำอย่างสังเขป อนุโลมตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ แลบางทีจะบกพร่องไปกว่านั้น ความเข้าใจจึงเกิดมีขึ้น ว่าลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกที่ได้ทำครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีทำไม่ถูกต้องตามตำรา ครั้นมาเกิดเหตุวิปริตขึ้นในปลายแผ่นดิน จึงเลยโทษกันว่าเพราะไม่ได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกให้ถูกต้องตามตำรา จึงเลยมีคำกล่าวสืบมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ราชาภิเศก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ ณปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น กำลังคาดว่าพม่าจะยกเข้ามาตีพระนครในไม่ช้า ด้วยเหตุในเมืองไทยเกิดเหตุจลาจลนั้นประการ ๑ แลอแซวุ่นกี้ตีตัดกำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว อย่างเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองประการ ๑ พอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ ในเดือนนั้นเองก็มีรับสั่งให้ย้ายพระนครข้ามมาตั้งข้างฝ่ายตวันออก ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองธนบุรีที่ตั้งเปนราชธานีอยู่แต่ก่อนไม่มั่นคงในการที่จะต่อสู้ข้าศึก

เหตุที่ย้ายพระนครมาตั้งข้างฝั่งตวันออกตามกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร อันแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริห์เห็นว่า “พระราชคฤหสถานใกล้อุปจารวัดแจ้งวัดท้ายตลาดติดอยู่ทั้ง ๒ ข้าง” จึงโปรดให้สร้างพระนครแลพระราชวังใหม่ ย้ายมาตั้งข้างฝั่งตวันออกนั้น ความที่กล่าวไม่สมเหตุสมผล แลมีหลักฐานที่จะลงเนื้อเห็นได้เปนแน่ว่าเหตุที่ย้ายพระนครมาสร้างข้างฝั่งตวันออก เหตุที่จริงเปนด้วยเตรียมจะต่อสู้ข้าศึกดังกล่าวมาแล้ว เพราะเมืองธนบุรีเมื่อสร้างเปนป้อมปราการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช ความมุ่งหมายจะให้เปนแต่เมืองด่านรักษาทางน้ำ เหมือนเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่สร้างขึ้นในชั้นหลัง แผนที่เมืองธนบุรีครั้งเปนราชธานีเหมือนอย่างเมืองพิศณุโลก คือ ตั้งป้อมกำแพงสองฟาก เอาลำแม่น้ำไว้กลางเมือง เมืองที่เอาลำน้ำไว้กลาง ถ้าลำน้ำนั้นแคบ ก็เปนประโยชน์ในการที่จะใช้เรือลำเลียงเข้าได้ถึงในเมือง แลเวลามีศึกสงคราม ก็อาจจะทำเครื่องกีดกันข้าศึกได้ในทางน้ำ แลทำสพานให้พลทหารข้ามถ่ายเทช่วยกันรักษาน่าที่ได้ง่าย แต่ถ้าลำน้ำกว้างออกจนกลายเปนแม่น้ำ ประโยชน์ที่จะได้ในการป้องกันเมืองก็หมดไปกลายเปนเมืองอกแตก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เคยทรงรักษาเมืองพิศณุโลกสู้ศึกอแซวุ่นกี้ คงจะได้ทรงพระราชดำริห์เห็นการเสียเปรียบข้าศึกดังกล่าวมานี้ จึงให้ย้ายพระนครมาตั้งข้างฝั่งตวันออกแต่ฝั่งเดียว เอาลำแม่น้ำเปนขื่อน่ารักษาพระนคร แลข้อที่ทรงคาดว่าจะมีศึกพม่าครั้งนั้น การก็เปนจริงดังพระราชดำริห์ ไม่ช้านานเท่าใดพระเจ้าอังวะปะดุงก็ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทยทุกทิศทุกทาง หากตีกองทัพหลวงพระเจ้าอังวะแตกพ่ายไปเสียแต่ที่ลาดหญ้าแขวงเมืองกาญจนบุรี แล้วตีกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางเหนือแตกไปแต่เมืองพิศณุโลก พม่าจึงมิได้ยกเข้ามาถึงชานพระนคร

พิเคราะห์ดูตามวันกำหนดที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพในเดือน ๕ ปีขาลจัตวาศก ตั้งหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทรเมื่อเดือน ๖ แลเสด็จข้ามมาประทับที่พระราชวังใหม่ เมื่อเดือน ๘ บุรพาสาธดังนี้ เห็นได้ว่าการที่สร้างพระนครใหม่ครั้งนั้นเปนการเร่ง แม้กำแพงพระราชวังก็ใช้แต่ปักเสารเนียด พระราชมณเฑียรที่เสด็จมาประทับแต่แรกคงจะทำขึ้นประทับชั่วคราว เห็นจะสร้างราวตรงหมู่ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทุกวันนี้ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จมาเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ ได้ทำพระราชพิธีปราบดาภิเศกแต่โดยสังเขป กล่าวรายการไว้ว่า พระสงฆ์สวดมนต์ที่พระราชมณเฑียรใหม่ ๓ วัน ครั้นวันที่ ๔ เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคข้ามจากพระราชวังเดิมมายังพระราชวังใหม่สรงมุรธาภิเศกแล้วเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลถวายศิริราชสมบัติ แลเครื่องราชูประโภคตามโบราณราชประเพณี การพระราชพิธีปราบดาภิเศกที่ทำโดยสังเขปครั้งนั้น มีเหตุควรเข้าใจได้ว่า แม้ในครั้งนั้นเองก็คงถือว่ายังทำไม่ถูกต้องตามตำราบรมราชาภิเศก ซึ่งควรจะทำ ด้วยมีจดหมายเหตุอยู่เปนสำคัญ ว่าต่อมาเมื่อเดือนยี่ปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ พ.ศ. ๒๓๒๖ ในเวลากำลังสร้างป้อมกำแพงพระนคร แลสร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเศกมหาปราสาทที่ในพระราชวัง ตรงหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวันนี้นั้น โปรดให้ข้าราชการผู้รู้แบบแผนราชประเพณีครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชยเปนประธาน ประชุมกันปฤกษาหารือกับพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีสมเด็จพระสังฆราชเปนต้น ให้ช่วยกันค้นคัมภีร์แลแบบแผนเก่าทำตำราบรมราชาภิเศกขึ้นไว้สำหรับพระนคร แลได้โปรดให้สร้างเครื่องราชูประโภคต่างๆ สำหรับการบรมราชาภิเศกขึ้นในครั้งนั้น การสร้างพระนครทำอยู่ ๓ ปี ครั้นสร้างพระนครแลพระมหาปราสาทสำเร็จแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกเต็มตำราโบราณราชประเพณีอิกครั้ง ๑ เมื่อปีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ ในคราวเดียวกับงานสมโภชพระนคร[๒] ลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกซึ่งทำเมื่อปีมเสงสัปตศกนี้ ที่เปนแบบอย่างทำในรัชกาลหลังๆ สืบมา

แต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเศกที่ทำในรัชกาลที่ ๒ มีการเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่ย้ายสถานมาทำพิธีราชมณเฑียรหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้วยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ แทนพระที่นั่งอมรินทราภิเศกมหาปราสาทที่ไฟไหม้นั้น เปนที่ประดิษฐานพระบรมศพอยู่[๓]

ลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกที่ทำในรัชกาลที่ ๒ มีรายการในร่างหมายรับสั่งซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุณย์รัตพันธุ์) แต่ง ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณ ลงวัน ๔ ค่ำ ปีรกาสัปตศก พ.ศ. ๒๔๒๘ ฉบับ ๑ แลมีโคลงยอพระเกียรติเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้แต่ยังเปนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์อิกฉบับ ๑ ข้าพเจ้าได้เอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้สอบกันดู เห็นความข้อสำคัญคลาศเคลื่อนกันอยู่บ้าง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายรับสั่งเปนหนังสือแต่งก่อนงาน อาจจะถูกแก้ไข แต่ส่วนพระราชนิพนธ์นั้นทรงเมื่อทำการพระราชพิธีแล้ว พรรณนาลักษณการถ้วนถี่ควรฟังยิ่งกว่าร่างหมายรับสั่ง แห่งใดที่ความผิดกัน ข้าพเจ้าจึงถือว่าพระราชนิพนธ์เปนถูกต้อง แต่พระราชนิพนธ์เปนหนังสือแต่งโดยมีข้อบังคับด้วยเปนโคลง จำต้องพิจารณาถอดเนื้อความออกจากโคลง ตามซึ่งเห็นว่าหมายความอย่างไรในโคลงนั้น การพิจารณาอาจจะผิดได้บ้าง แต่ข้าพเจ้าได้พิจารณาหลายทบหลายทวน แลได้ปฤกษากับท่านผู้อื่นซึ่งข้าพเจ้านับถือว่าเปนผู้รู้อิกชั้นหนึ่ง จึงเข้าใจว่าแม้จะผิด ก็จะไม่ผิดมากนัก ถ้าผู้อ่านสงไสยแห่งใด ก็จงสอบดูในหนังสือพระราชนิพนธ์โคลงยอพระเกียรตินั้น ด้วยเปนหนังสือพิมพ์แล้ว หาฉบับได้ไม่ยาก ข้าพเจ้าได้สอบสวนหนังสือทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ได้ความในเรื่องงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๒ ดังต่อไปนี้

โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเปนผู้อำนวยการพระราชพิธี เริ่มด้วยการพระราชพิธีจาฤกพระสุพรรณบัตร ข้าราชการผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกันที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราวเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ[๔] ครั้นได้ฤกษ์โหรลั่นฆ้อง ชาวประโคมๆ สังข์แตรแลพิณพาทย์อาลักษณจาฤกพระสุพรรณบัตรพระบรมราชนามาภิไธยว่า

“พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลย์คุณอกนิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร”[๕]

เมื่อจาฤกพระสุพรรณบัตรแล้ว พระมหาราชครูพราหมณ์เจิมแล้วรัดแผ่นพระสุพรรณบัตรด้วยไหมเบญจพรรณ วางไว้ในหีบทองมีถุงเยียรบับชั้นนอก ผูกประทับตราประจำครั่ง ตั้งบนพานแว่นฟ้าทองสองชั้นคลุมปักหักทองขวาง ตั้งไว้ในพระอุโบสถ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชแล้ว จึงเชิญพานพระสุพรรณบัตรขึ้นพระราชยานกั้นพระกลด ตำรวจแห่เข้าไปตั้งในพระแท่นมณฑล

ก่อนที่จะกล่าวถึงการจัดที่พระราชมณเฑียรสำหรับทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แลเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งรัชกาลที่ ๒ จำจะต้องอธิบายเรื่องชื่อพระที่นั่งก่อน ที่เรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่ก่อนหมายความว่าพระที่นั่งทั้งหมู่นั้น ที่มาเรียกพระมหามณเฑียรสามหลังแฝดซึ่งอยู่ข้างใต้ ว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เรียกพระที่นั่งหลังขวางสิบเอ็ดห้องซึ่งอยู่กลาง ว่าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เรียกพระที่นั่งอันเปนท้องพระโรงอยู่ข้างเหนือ ว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อย่างทุกวันนี้ พึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่ก่อนมาถ้าเรียกแยกเปนหลังๆ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เรียกว่าท้องพระโรง หรือพระที่นั่งบุษบกมาลา พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เรียกว่าหลังสิบเอ็ดห้อง ในโคลงพระราชนิพนธ์เรียกพระที่นั่งน่าพระโรงใน พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเรียกว่าพระวิมานบ้าง พระมหามณเฑียรบ้าง ในโคลงพระราชนิพนธ์เรียกว่า พระที่นั่งทักษิณไพศาล เห็นจะหมายความว่า พระมหามณเฑียรองค์ใต้ เรียกว่าพระที่นั่งทักษิณในโคลงถึง ๓ แห่ง แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ได้หมายความว่าหลังขวางสิบเอ็ดห้องนั้นเปนแน่ ชื่อพระที่นั่งที่จะเรียกต่อไปในเรื่องนี้ เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย จะเรียกตามชื่ออย่างที่เรียก แลรู้จักกันในปัจจุบันนี้

การจัดที่ทำพระราชพิธี ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รอบบริเวณพระที่นั่งทั้งหมู่ ที่ท้องพระลานด้านตวันออกระหว่างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ปลูกมณฑปพระกระยาสนานหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทอง บนเพดานพระมณฑปเปนที่ขังน้ำเบญจสุทธคงคา[๖] มีทุ้งท่อฝักบัวเงินที่เพดานสำหรับไขน้ำให้โปรยลงยังที่สรงมุรธาภิเศก ที่ฝักบัวนั้นห้อยพวงดอกจำปาทอง ที่พื้นภายในพระมณฑปตั้งเตียงเหลี่ยมหุ้มผ้าขาว บนเตียงตั้งถาดทอง ในถาดทองตั้งตั่งไม้มะเดื่อเปนที่เสด็จประทับสรงมุรธาภิเศก ตรงที่วางพระบาทลาดใบไม้ข่มนามปูผ้าขาวทับ รอบพระมณฑปตั้งราชวัตร, ฉัตรทอง, ฉัตรนาก, ฉัตรเงิน, ทั้ง ๔ ด้าน บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณจัดเปนที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ตั้งพระแท่นแว่นฟ้ามีเพดานรบายตาดเปนพระแท่นมณฑล ในพระแท่นมณฑลนั้น ตั้งพระพุทธปฏิมาไชย[๗] พระสุพรรณบัตร ดวงพระชัณษา พระอุณาโลมทำแท่ง[๘] พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ไชยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี ฉลองพระบาท พระนพ พระสังวาลพราหมณ์ พระสังวาลสร้อยอ่อน พระภูษารัตกัมพล พระชฎาเพ็ชร พระธำมรงค์ พระมาลาเบี่ยง ฉลองพระองค์เกราะ ฉลองพระองค์นวม เครื่องพระพิไชยสงคราม เครื่องพระมนต์พิเศษ เครื่องพระมุรธาภิเศก พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระเต้าเบญจครรภ พระเต้าปทุมนิมิตรทอง พระเต้าปทุมนิมิตรนาก พระเต้าปทุมนิมิตรเงิน พระเต้าปทุมนิมิตรสำริด พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพ็ชร พระแสงทวน พระแสงง้าว แลพระแสงอัษฎาวุธ คือ พระแสงดาบชเลย พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงธนู พระแสงดาบเขน พระแสงหอกไชย พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสโตง พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย นอกจากนี้ยังมีพระแสงปืนคาบศิลาเคยทรง พระแสงขอตีช้างล้ม พระแสงขอคร่ำ พระชนักต้น พระเสวตรฉัตร พระเสมาธิปัต พระฉัตรไชย พระเกาวพ่าย ธงไชยกระบี่ธุช ธงไชยครุธพ่าห์ พระกลด พานพระขันหมาก พระเต้าพระสุธารศ พระสุพรรณศรีบัวแฉก น่าพระแท่นตั้งเครื่องนมัสการ ต่อพระแท่นมณฑลตั้งเทียนไชย ต่อไปตั้งพระแท่นอัฐทิศทำด้วยไม้อุทุมพรลาดหญ้าคามีผ้าคลุมแลกั้นด้วยพระบวรเสวตรฉัตร ๗ ชั้น มีตั่งน้อยทำด้วยไม้ไผ่สีสุก ตั้งตรงที่ประทับทั้ง ๘ ทิศ เปนที่ตั้งกรดแลเทวรูปประจำทิศทั้ง ๘ ฝ่ายข้างฝ่ายตวันตกตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐทำด้วยไม้อุทุมพร กั้นด้วยพระบวรเสวตรฉัตร ๗ ชั้น ลาดผ้า พราหมณ์โปรยแป้งสาลีแลวางแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณ แล้ววางหญ้าคาแลปูผ้าคลุมข้างบนอิกชั้น ๑

บนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จัดเปนที่ทำพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระที่นั่งองค์ฝ่ายตวันตก ตั้งพระแท่นทองมีเพดาน บนพระแท่นนั้นตั้งพระบรมสารีริกธาตุแลพระพุทธรูปทองคำห้ามสมุท น่าพระแท่นตั้งเครื่องนมัสการ แลบาตรน้ำ ๕ บาตรทราย ๕ ต่อมาจัดอาศนะที่พระสงฆ์ ๓๙ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธานสวดพระพุทธมนต์ แลทอดราชอาศน์ที่ประทับทรงศีล ส่วนพระที่นั่งหลังตวันตกในห้องที่บรรธมนั้น จัดที่พระสงฆ์สมถะ ๕ รูปสวดภาณวารบนแท่นพระบรรธม[๙] แลทอดราชอาศน์ที่ประทับทรงสดับพระปริต ที่ทำพระราชพิธีทุกแห่งมีสายสิญจน์ล่ามวงถึงกัน ตลอดจนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเปนที่เสด็จประทับอยู่ในเวลาก่อนเฉลิมพระราชมณเฑียร แลจัดเปนแต่ที่ท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก ไม่ทำการพิธีอย่างไรในนั้น ข้างน่าพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ตั้งพนมบัดพลีสำหรับโหรบูชาเทวดา แลปลูกโรงพิธีพราหมณ์ เชิญเทวรูป คือ พระปรเมศวร ๑ พระพิศณุ ๑ พระพรหมธาดา ๑ พระพรหมสัทธาสิทธิ ๑ พระพิฆเนศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระลักษมี ๑ มาสถิตย์ในโรงพิธี มีเครื่องพลีกรรม พวกพราหมณ์กินบวชทำพิธีตามลัทธิไสยสาตร

ภายนอกพระบรมมหาราชวัง ให้ตั้งศาลาฉ้อทานเลี้ยงสมณะพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎร แลไถ่สัตวซึ่งคนจะฆ่ามาปล่อย กับประกาศห้ามมิให้ขายสุราเมรัย ตลอดเวลางานพระราชพิธี ๓ วัน

ถึงณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมเสงเอกศก เปนวันเริ่มงานพระราชพิธี ข้าราชการแต่งตัวนุ่งผ้าสมปักลายคาดเสื้อครุย พระราชวงษานุวงษ์ เสนามาตย์ แลเจ้าพนักงาน เข้ามาพร้อมกันอยู่ตามตำแหน่ง เข้าไปข้างในแต่เจ้านาย แลข้าราชการผู้ใหญ่กับเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ นอกนั้นอยู่ข้างน่า ครั้นเวลาบ่าย นิมนต์พระสงฆ์เถรานุเถระ ทั้งฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธาน เข้าไปยังที่สวดมนต์ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานหลังตวันตก ๓๘ รูป พระสงฆ์ฝ่ายสมถะ ๕ รูปสวดที่ห้องพระบรรธม[๑๐] เวลาพระเข้าชาวประโคมๆ สังข์แตรแลพิณพาทย์มโหรีขึ้นพร้อมกัน ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นขาว ทรงสายรัดพระองค์เพ็ชร ฉลองพระองค์กรองทอง เสด็จจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ขึ้นสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ สมเด็จพระสังฆราชจุดเทียนไชยแล้ว เสด็จขึ้นยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่พระที่นั่งหลังตวันตก สมเด็จพระสังฆราชถวายศีลแล้ว เสด็จไปประทับทรงสดับพระจตุภาณปริตในห้องที่พระบรรธม พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวดพระปริตเจ็ดตำนาน แต่พระสงฆ์ฝ่ายสมถะที่สวดในห้องที่พระบรรธมสวดจตุภาณวารแบ่งเปน ๓ ตอน สวดตอนละวัน ครั้นสวดพระปริตจบ เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งหลังตวันตก สมเด็จพระสังฆราชถวายอติเรกแล้ว พระสงฆ์ถวายพระพรลากลับวัด ชาวประโคมๆ ขึ้นพร้อมกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนยังที่ประทับณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อเจ้าพนักงานฝ่ายน่ากลับออกมาหมดแล้ว เกณฑ์ผู้หญิงซึ่งเปนพนักงานฝ่ายใน เฝ้ารักษาที่พระมณฑลซึ่งอยู่ฝ่ายในทุกแห่ง ครั้นเวลาเช้าในวันรุ่งขึ้น เจ้าพนักงานเตรียมสำรับเลี้ยงพระ แลของไทยธรรม นิมนต์พระสงฆ์ที่ได้สวดมนต์ทั้ง ๔๓ รูปไปพร้อมกันที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานหลังตวันตก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องขาวอย่างเมื่อเวลาเย็น เสด็จทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนไตรย สมเด็จพระสังฆราชถวายศีล พระสงฆ์ถวายพรพระเสร็จแล้ว ทรงอุทิศสังฆทานแลทรงหลั่งน้ำทักขิโณทก (พระสงฆ์อนุโมทนา) แล้ว ทรงประเคนภัตตาหารสมเด็จพระสังฆราช ข้าราชการประเคนแลปฏิบัติพระสงฆ์องค์อื่นต่อมา ครั้นพระสงฆ์ทำภัตรกิจแล้ว ถวายอติเรก[๑๑] ถวายพระพรลาแล้ว จึงเสด็จกลับคืนยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยณวันศุกร ขึ้น ๗ ค่ำ ณวันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำสวดมนต์เลี้ยงพระเหมือนกับวันแรก[๑๒]

ครั้นณวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เปนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องขาวอย่างวันก่อน เสด็จยังที่ประชุมสงฆ์ ทรงศีลแล้ว (เสด็จประทับคอยฤกษ์ที่ท้องพระโรงน่า) ครั้นได้ฤกษ์ หลวงโลกทีปลั่นฆ้องไชย ชาวประโคมๆ ขึ้นพร้อมกัน เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญเครื่องถอดถวายทรงแล้ว พราหมณ์เชิญพระพุทธปฏิมาไชย พระมหาราชครูโปรยเข้าตอกนำเสด็จตามทางลาดพระบาท สู่ที่พระมณฑปพระกระยาสนาน เสด็จขึ้นประทับเหนือตั่งไม้มะเดื่อ[๑๓] ผันพระภักตร์สู่ทิศบูรพา เจ้าพนักงานไขท่อสหัสธาราถวายมุรธาภิเศก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ถวายน้ำมนต์ในพระเต้าเบญจครรภ สมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน พระธรรมราชา วัดศาลาปูนกรุงเก่า พระญาณสังวร (สุก) วัดพลับ ถวายน้ำมนต์ในพระเต้าปทุมนิมิตร พราหมณ์ถวายน้ำสังข์น้ำกรดแลใบมะตูมประสิทธิด้วยมนต์ไสยเวท ครั้งสรงมุรธาภิเศกแล้ว ทรงเครื่องต้น[๑๔]เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับพระที่นั่งอัฐทิศ พราหมณ์ประจำทิศทั้ง ๘ ถวายไชย แลถวายน้ำสังข์ทีละทิศ ตั้งแต่ทิศบูรพาเปนต้น เวียนประทักษิณไปจนครบทั้ง ๘ ทิศแล้ว เสด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลฯ ถวายศิริราชสมบัติ แลถวายพระสังวาลพราหมณ์ ซึ่งสมมตว่าเปนของพระอิศวรทรง แล้วถวายพระสุพรรณบัตรแลเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มหาดเล็กแทนกำนัลทั้ง ๘ ถวายพระแสงอัษฎาวุธ ทรงรับด้วยพระหัดถ์แต่พระมหามงกุฎ[๑๕] พระแสงขรรค์ ๑ พระแสงดาบ ๑ พัดวาลวิชนี ๑ ธารพระกร ๑ พระเสวตรฉัตร ๑ ฉลองพระบาท พระมหาราชครูพราหมณ์วางถวาย ส่วนพระแสงอัษฎาวุธโปรดให้เจ้าพนักงานรับ เมื่อถวายเครื่องราชูประโภคแล้ว พระมหาราชครูพราหมณ์จึงอ่านเวทถวายพระพร ครั้นจบจึงมีพระราชโองการแก่พระมหาราชครูว่า พรรณพฤกษชลธีแลสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรนั้น ถ้าไม่มีเจ้าของหวนแหนแล้ว ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรจะปราถนาเถิด พระมหาราชครูรับพระราชโองการเปนฤกษ์ แต่นั้นบัตรหมายจึงใช้พระราชโองการต่อมา แล้วทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินสิ่งละพาน พระราชทานแก่พราหมณ์ มีพระมหาราชครูเปนประธาน ทรงพระเต้าทองหลั่งน้ำษิโณทก พราหมณ์ถวายบังคมแล้วเป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมขึ้นพร้อมกัน จึงเสด็จจากพระที่นั่งภัทรบิฐ ขึ้นสู่พระมหามณเฑียร ซึ่งพระสงฆ์ได้ทำภัตรกิจแล้ว แลคอยถวายพระพรอยู่นั้น ทรงนมัสการพระรัตนไตรยแล้ว ทรงประเคนไตรจีวรแลเครื่องบริขารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ถวายพระพร ถวายอติเรก ถวายพระพรลากลับไป

ครั้นพระสงฆ์กลับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงเวียด ทรงฉลองพระบาท เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระแท่นภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร พระราชวงษานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายทหารแลพลเรือนพร้อมกันอยู่ในที่เฝ้า กราบถวายบังคมแล้ว เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ที่สมุหพระกลาโหม กราบบังคมทูลถวายพระมหาพิไชยราชรถ เรือพระที่นั่งเรือกระบวนทั้งปวง แลเครื่องสรรพสาตราวุธพลทหาร แลหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งอยู่ในบังคับกลาโหม เวลานั้นตำแหน่งสมุหนายกว่าง พระยามหาอำมาตย์กราบบังคมทูลแทนที่สมุหนายก ถวายพระยาช้างต้น พระยาม้าต้น พลเรือน แลหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งอยู่ในบังคับมหาดไทย พระยาโกษาธิบดี (กุน) กราบบังคมทูลถวายราชพัทยากร แลราชสมบัติทั้ง ๑๒ ท้องพระคลัง (แลหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับกรมท่า) พระยายมราช (บุญมา) กราบบังคมทูลถวายกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทราโยทธยา อันเปนราชธานี เจ้าพระยาธรรมาฯ (สด) กราบบังคมทูลถวายพระมหาปราสาทราชมณเฑียรสถาน แลเสวตรฉัตรเครื่องสูง เครื่องประดับพระเกียรติยศทั้งปวง ตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพว่าง พระยาประชาชีพ กราบบังคมทูลถวายธัญญาหารแดนสถานลานนาเขตรทั้งปวง จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้มุขมนตรีผู้เปนเจ้าน่าที่จงรักษาสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นไว้ตามพนักงาน เพื่อจะได้ป้องกันพระราชอาณาเขตร ทนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาให้สถาพรสืบไป อรรคมหาเสนาบดีรับพระราชโองการ ข้าราชการถวายบังคมพร้อมกันอิกครั้ง ๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ข้าราชการฝ่ายในเฝ้าทูลลอองพระบาทพร้อมกัน ท้าววรจันทร์กราบบังคมทูลฯ ถวายสิบสองพระกำนัล แลมีพระราชปฏิสันถารแล้ว พอได้เวลาพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียร ชาวประโคมๆ ขึ้นพร้อมกัน จึงเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีนางในตระกูลสูงอุ้มวิฬาร์ ๑ เชิญพานทองรองเข้าเปลือก ๑ ถั่ว ๑ งา ๑ ผลฟักเขียว ๑ หินบด ๑ ตามเสด็จ แลมีนางชำระพระบาทเมื่อเสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร เสด็จสู่ห้องพระบรรธม ทรงนมัสการพระศรีรัตนไตรย ตั้งอธิฐานตามพระราชอัธยาไศรย แล้วผลัดเครื่องทรง เสด็จขึ้นพระแท่นบรรธม พระราชวงษ์ฝ่ายในถวายดอกหมากทองคำ ท้าววรจันทร์ถวายลูกกุญแจ ทรงรับวางข้างที่พระบรรธมแล้ว เอนพระองค์ลงบรรธมโดยทักษิณปรัศเปนฤกษ์ พระราชวงษ์ฝ่ายในซึ่งเจริญพระชัณษาถวายพระพรก่อนแล้ว พระราชวงษ์ฝ่ายในทั้งปวงจึงถวายพระพรพร้อมกัน

เมื่อเฉลิมพระราชมณเฑียรเปนฤกษ์ (แลเสวยพระกระยาหาร) แล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยทางฝ่ายใน ทรงโปรยเงินพระราชทานผู้ที่มาคอยเฝ้าถวายพระพรตลอดทาง จนถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ทรงอธิฐานขอพระราชทานพระพร แล้วเสด็จกลับคืนยังพระราชมณเฑียร เวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร ต่อมาพระราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน ถวายดอกไม้ธูปเทียนทั่วกัน[๑๖]

เมื่อเสร็จพิธีบรมราชาภิเศกแล้ว เสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี ทางเดินกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครครั้งนั้น ออกประตูวิเศษไชยศรี ประทักษิณพระบรมมหาราชวัง ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัษกร แล้วตรงไปจนถึงสพานข้ามคลองตลาด แล้วจึงเลี้ยวกลับขึ้นทางริมกำแพงพระนคร มาทางท้ายสนมเข้าถนนน่าวังที่ท่าพระ เลี้ยวกลับเข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ไม่ได้หยุดพักที่วัดพระเชตุพนอย่างเมื่อรัชกาลที่ ๔ แลต่อมา ตลอดถนนที่จะเดินกระบวนแห่นั้น เจ้าพนักงานจัดตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้นแลร้านน้ำเปนระยะ ปราบถนนโรยทรายเกลี่ยให้ราบรื่น แลให้รื้อร้านโรงอันกีดขวางอยู่ริมทางให้เปนที่เรียบร้อย ครั้นถึงวันกำหนด[๑๗] พวกทหารอาสา ๖ เหล่าซ้ายขวาตั้งกองจุกช่องรายทางที่จะเสด็จ ตั้งปืนคู่ขานกยางทุกแพรกถนน เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่เสด็จพร้อมกัน ริ้วกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครครั้งนั้น กระบวนน่าปลายริ้วฝรั่งแม่นปืน แต่งตัวเสื้อขลิบกำมะหยี่แดง ลากปืนจ่ารงรางเกวียน ๒ กระบอก แล้วถึงกระบวนนายม้าต้น ใส่เสื้อสีสอดสนับเพลาโพกผ้าแดงขลิบทอง ขัดดาบ ขี่ม้าถือธง ๘ ม้า แล้วถึงพลอาสาล้วนแต่งเครื่องเสนากุฎกองละ ๕๐ คน ตัวนายใส่เสื้อโพกผ้า มีประคำคล้องฅอแลสพายดาบเดินเปนกองๆ คือ อาสาเกณฑ์หัดถือปืนคาบศิลาปลายหอกกอง ๑ ถือธนูกอง ๑ ถือทวนกอง ๑ อาสายี่ปุ่นถือง้าวกอง ๑ พลอาสาถือดาบสองมือกอง ๑ พลล้อมวังถือดาบโล่ห์กอง ๑ ถือดั้งทองกอง ๑ พลอาสาถือดาบเขนกอง ๑ อาสาจาม ใส่เสื้อผ้าวิลาด โพกผ้าตะบิด ถือหอกซัดคู่เหน็บกฤชพวก ๑ แล้วถึงขุนหมื่นหกเหล่าคู่ชัก ใส่เสื้อแดง ผ้าโพกศีศะ ถือหอกเดินเรียงเปนสี่สาย ต่อนั้นถึงกระบวนขุนหมื่นตำรวจ ๘ กรม สพายดาบเดินสี่สาย แล้วถึงเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ เดินริ้วนอกสองสาย หุ้มแพรมหาดเล็ก เดินริ้วในสองสาย ล้วนแต่งตัวสอดสนับเพลานุ่งผ้าเกี้ยว คาดเจียรบาด ใส่เสื้อเทศ สวมประคำ โพกผ้าขลิบครุยสพายกระบี่ ในระหว่างกระบวนสี่สายตอนนี้ พวกกลองชนะล้วนแต่งเสื้อกางเกงแลหมวกแดง ๑๐๐ คู่ เดินเปนสองแถวข้างใน มีจ่าปี่ จ่ากลอง แล้วแตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ ต่อมาถึงชาวเครื่องนุ่งริ้วคาดลายเสื้อปล้อง ศีศะใส่ลำพอก เชิญเครื่องสูง ๕ ชั้น ๗ ชั้น ชุมสาย บังแทรก แถวกลางมีมหาดเล็กเชิญพระแสงดาบเขน พระแสงหอกไชย พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพ็ชร พระแสงหอกชวา เดินหว่างเครื่อง แล้วถึงพระที่นั่งพุดตาล ซึ่งเปนพระราชยาน มีเจ้าพนักงานเชิญพระกลดตาด บังสูรย์ พัดโบก พระทวย ขุนนางตำแหน่งปลัดทูลฉลองเปนคู่เคียง เดินสองข้างพระราชยาน ๖ คู่ ล้วนแต่งตัว (สอดสนับเพลานุ่งผ้าเกี้ยว คาดเจียรบาด) ใส่เสื้อริ้วโพกขลิบกรองทอง สพายดาบ นอกแถวคู่เคียงมีอินทรพรหมนุ่งสนับเพลา สวมเสื้อเขียวข้าง ๑ แดงข้าง ๑ ศีศะใส่เทริด ถือจามร กระบวนหลังต่อพระราชยานถึงเจ้ากรม ปลัดกรม กรมทหารใน พลพัน ทนายเลือก แลรักษาพระองค์ เดินเปนสี่สาย แล้วถึงกระบวนเครื่องสูงหลัง มีมหาดเล็กเชิญพระแสงง้าว (พระแสงตรี) พระแสงหอกง่าม เดินหว่างเครื่อง ต่อนั้นถึงมหาดเล็กเชิญเครื่อง คือ พานพระขันหมาก พระเต้า พระสุพรรณศรี เปนต้น แลเชิญพระแสงปืน พระแสงทวน พระแสงง้าว พระแสงหอก ตามเสด็จ ต่อมาถึงพระยาม้าต้น ม้าเทศผูกเครื่องกุดั่น ๒ ม้า แล้วจึงถึงกระบวนอาสา มีจำนวนกึ่งจำนวนกระบวนข้างน่าทุกหมู่ ฝรั่งแม่นปืนลากปืนจ่ารงรางเกวียน ๒ กระบอกเปนที่สุด ต่อนั้นถึงกระบวนพระราชวงษ์ทรง (สนับเพลาแล) ผ้าเขียนทอง คาดเจียรบาด (ฉลองพระองค์อย่างเทศทรงพระมาลา) ทรงม้า กั้นพระกลดหักทองขวาง เดินเปนคู่ๆ มีมหาดเล็กตามแล้วถึงกระบวนเสนาบดีนั่งแคร่ มีทนายตาม เปนที่สุดกระบวน รวมกระบวนพยุหยาตราเปนจำนวนคน ๘,๐๐๐

ในวันกำหนดนั้น ถึงเวลา ๒ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกท้องพระโรง ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทอง ฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียรบาดสายรัดพระองค์เพ็ชร เหน็บพระแสงกั้นหยั่น ทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ และพระมาลาเพ็ชร[๑๘] ทรงพระแสงเวียด เสด็จขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงพระราชยานเดินกระบวนแห่ออกจากพระบรมมหาราชวัง ทรงโปรยเงินพระราชทานราษฎรซึ่งมาคอยถวายพระพรอยู่ทั้ง ๒ ข้างทาง จนตลอดระยะทางแล้ว เสด็จกลับคืนเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง[๑๙]



[๑] ความที่อ้างถึงโคลงจมื่นไวยวรนารถเรื่องนี้ มีอยู่ในเรื่องปัญจราชาภิเศก ซึ่งพิมพ์ไว้ในท้ายหนังสือกลสัตรี ฉบับพิมพ์ณโรงพิมพ์หลวง เมื่อปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๔๑๔ ถ้าพิเคราะห์โดยเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐจะได้ราชสมบัติ ถึงเปนพระมหาอุปราชอยู่ก็จริง แต่เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ ไม่ยอมถวายราชสมบัติ ต้องรบพุ่งกันถึงเปนศึกกลางเมือง เมื่อพระมหาอุปราชมีไชยชนะได้ราชสมบัติ นัยว่าไม่ได้เครื่องราชูประโภคมาครบ ด้วยเจ้าฟ้าทั้ง ๒ รวบรวมพาหนีไป เรือไปล่ม ของจมน้ำหายเสียมาก อิกประการ ๑ ในเวลานั้นกำลังผู้คนสำส่อนระส่ำระสาย สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐไม่วางพระไทย จึงทำการพิธีบรมราชาภิเศกที่วังจันทรเกษม ซึ่งเปนพระราชวังบวรฯ แลยังประทับอยู่ที่วังจันทร์ต่อมาอิกนาน จึงเสด็จมาเฉลิมพระราชมณเฑียรอยู่พระราชวังหลวง

[๒] ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกคราวที่กล่าวนี้แล้ว เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ในหมู่พระที่นั่งอมรินทราภิเศก แล้วจึงรื้อพระมาหมณเฑียรที่ได้ทำขึ้นชั่วคราว สร้างพระมหามณเฑียรใหม่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทุกวันนี้

[๓] ในรัชกาลหลังต่อๆ มา พระมหาปราสาทก็เปนที่ตั้งพระบรมศพอย่างเดียวกัน จึงเปนประเพณีที่มาทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกในพระมหามณเฑียรหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ สืบมาทุกรัชกาล

[๔] วันจาฤกพระสุพรรณบัตร ไม่ปรากฎในหนังสือจดหมายเหตุ วันที่ลงนี้ ข้าพเจ้าคาดคเน

[๕] พระนามตามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตรนี้ เหมือนกับพระนามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ไม่ได้แก้ไข พระนามที่ปรากฎว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยก็ดี พึ่งมาถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เรื่องพระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนกรุงรัตนโกสินทร ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้โดยพิศดารในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขาเล่ม ๑ ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในตอนอธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ น่า ๓๘๙ จะเอามาลงที่นี้อิกยาวนัก

[๖] ที่เรียกว่าน้ำเบญจสุทธคงคานี้ อนุโลมตามตำราพราหมณ์ ซึ่งใช้น้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีป ได้พบสำเนาท้องตราว่า สั่งให้ตักน้ำ ๕ แห่ง คือ แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์แขวงเมืองนครนายกแห่ง ๑ แม่น้ำสัก ตักที่ตำบลท่าราบแขวงเมืองสระบุรีแห่ง ๑ แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้วแขวงเมืองอ่างทองแห่ง ๑ แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงษ์แขวงเมืองสมุทสงครามแห่ง ๑ แม่น้ำเพ็ชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชยแห่ง ๑ รวมเปน ๕ แห่งด้วยกัน แต่น้ำสรงมุรธาภิเศก ยังใช้น้ำอื่นนอกจากน้ำเบญจสุทธคงคาที่ว่ามาแล้ว คือ น้ำสระเกษ สระแก้ว สระ(คง)คา สระยมนา ที่เรียกว่าน้ำ ๔ สระ อยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้เปนน้ำสรงมุรธาภิเศกมาแต่ครั้งกรุงเก่าด้วย

[๗] พระพุทธปฏิมาไชย ที่ตั้งพระแท่นมณฑลครั้งนั้น เข้าใจว่า ๓ องค์ คือ พระไชยพิธีองค์ ๑ พระไชยหลังช้างองค์ ๑ พระไชยประจำรัชกาลที่ ๑ องค์ ๑

[๘] ที่เรียกว่าพระอุณาโลมทำแท่งนี้ ได้พบในหนังสือหลายแห่ง คือ แท่งครั่งประทับพระราชลัญจกรมหาอุณาโลม หมายความว่าพระราชโองการ เปนธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า จะเห็นได้ในเรื่องตั้งเจ้าพระยานคร ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาล แต่บางรัชกาลใช้พระราชลัญจกรพระครุธพ่าห์แทนมหาอุณาโลม ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา ตั้งหีบพระราชลัญจกรในพระแท่นมณฑล จึงเลิกใช้พระมหาอุณาโลมทำแท่ง

[๙] พระสวดภาณวาร ๕ รูปนี้ ในร่างหมายรับสั่งว่า สมเด็จพระพนรัตนนั่งปรก พระสงฆ์วัดพลับ ๔ รูปสวดมหาไชย แต่ในพระราชนิพนธ์ว่าสวดภาณวาร เห็นได้เปนแน่ว่าถูกต้องตามพระราชนิพนธ์

[๑๐] ที่ว่าจำนวนพระสงฆ์รวม ๔๓ รูปเท่าพระชัณษา มีปรากฎในจดหมายเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแห่งเดียว ไม่มีที่สอบ ด้วยหนังสืออื่นไม่บอกจำนวนพระ แต่หมายรับสั่งอุปราชาภิเศกบอกจำนวนพระสงฆ์ ๕๐ รูป มากกว่าวังหลวง จึงสงไสยอยู่

[๑๑] ประเพณีถวายอติเรก ครั้งรัชกาลที่ ๒ ถ้ากำหนดตามความในโคลงพระราชนิพนธ์ ถวายอติเรกมาแต่แรก แต่ตามแบบแผนชั้นหลังมา ต่อเมื่อบรมราชาภิเศกแล้ว เสด็จจากพระที่นั่งภัทรบิฐขึ้นไปยังที่ชุมนุมสงฆ์ สมเด็จพระมหาสังฆปรินายกจึงถวายอติเรกเปนหนแรก วิธีอันนี้จะพึ่งมีขึ้นเมื่องานบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๔ ก็เปนได้

[๑๒] พิธีสงฆ์ที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์โคลงยอพระเกียรติ ดังกล่าวมานี้ ผิดกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีจดหมายเหตุโดยพิศดาร แลรัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังมีผู้รู้ผู้เห็นอยู่ หลายอย่าง

[๑๓] ในโคลงว่าประทับตั่งไม้ไชยพฤกษ์ แต่ตำราบรมราชภิเศกแลตามการที่เปนจริงในพระราชพิธีบรมราชภิเศกชั้นหลังมา ตั่งที่ประทับใช้ไม้มะเดื่อ ข้าพเจ้าจึงแก้เปนไม้มะเดื่อ

[๑๔] ที่ว่าทรงเครื่องต้นตรงนี้ ว่าตามโคลงพระราชนิพนธ์ แต่เครื่องต้นที่ทรงนั้นจะอย่างไร สงไสยอยู่ ในร่างหมายรับสั่ง ที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแต่ง กล่าวตรงนี้ว่า ทรงพระภูษา (เขียนทอง) พื้นแดง ฉลองพระองค์กรองทอง ว่าทรงเครื่องต้นต่อเมื่อเสด็จออกท้องพระโรง แลเครื่องต้นนั้นพรรรณาเหมือนกับที่กล่าวไว้ในตำราเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย ว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงเมื่อราชาภิเศกครั้งกรุงเก่า มีรายชื่อ ๑๑ สิ่ง คือ สนับเพลาเชิงงอน ๒ ชั้น ๑ พระภูษาริ้ววะระวะหยี่จีบโจงโยคี ๑ รัดพระองค์หนามขนุน ๑ ฉลองพระองค์พระกรน้อย ๑ ฉลองพระองค์สีย่นนอก ๑ รัดพระองค์แครง ๑ พระแสงกั้นหยั่นภู่นิล ๑ พระธำมรงค์พลอยต่างกันสำรับ ๑ พระชฎาพระเกี้ยงแหวนแดง ๑ ฉลองพระบาท ๑ พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑

เครื่องต้นที่พรรณานี้ ผิดกับที่เคยเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงในชั้นหลัง จึงสงไสยว่า เครื่องต้นที่ทรงเมื่อบรมราชาภิเศกครั้งรัชกาลที่ ๒ จะอย่างไรไม่แน่

[๑๕] พิเคราะห์ความตามโคลงพระราชนิพนธ์ มีข้อควรสังเกตอย่าง ๑ ที่ไม่ได้กล่าวว่าพระราชครูพราหมณ์ถวายพระมหามงกุฎ หรือทรงพระมหามงกุฎ ในตำราเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย อ้างถึงแบบแผนครั้นกรุงเก่า ก็อย่างเดียวกัน แลยังปลาดที่มีคำเล่าสืบกันมา ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงพระมหามงกุฎเลยจนตลอดรัชกาล แต่ในชั้นหลัง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา ถือว่าพระมหามงกุฎเปนสิ่งสำคัญในเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระมหาราชครูพราหมณ์ถวาย ทรงเมื่อเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ แลทรงเมื่อเสด็จออกรับราชสมบัติที่ท้องพระโรง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ จะอย่างไรสงไสยอยู่ แต่เห็นในร่างหมายเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช มีพระมหามงกุฎอยู่ในสิ่งซึ่งพระมหาราชครูพราหมณ์ถวายด้วย ข้าพเจ้าจึงลงไว้

[๑๖] เรื่องลักษณการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ได้จดประทานมาดังนี้

การพิธีนั้น มีรดน้ำเปนเบื้องต้น ขึ้นราชาอาศน์เปนเบื้องปลาย วิธีที่เราทำอยู่นี้ซ้ำกัน สรงมุรธาภิเศกกับขึ้นอัฐทิศนั้น เปนรดน้ำอย่างเดียวกัน ขึ้นภัทรบิฐกับออกพระโรงนั้น เปนเถลิงราชาอาศน์อย่างเดียวกัน ชรอยเราจะได้ตำรามา ๒ แบบ แบบ ๑ ขึ้นบุษบกพระกายสนานเปนการใหญ่ แล้วออกพระโรงจริงๆ อิกแบบ ๑ รับน้ำบนอัฐทิศแล้วขึ้นภัทรบิฐ เปนการทำพอเปนสังเขป ตัดสินไม่ลงว่าจะเอาแบบไหน จึงเลยเอาเสียทั้งหมด

[๑๗] วันเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค จะเปนวันใด ไม่พบจดหมายเหตุ แต่คงอยู่ในระหว่างเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จนแรม ๒ ค่ำ เพราะแรม ๓ ค่ำ ก็เริ่มพิธีอุปราชาภิเศก

[๑๘] เครื่องแต่งพระองค์ที่พรรณาไว้ในโคลงพระราชนิพนธ์ ตรงกับที่เรียกว่าเครื่องอย่างเทศ ไม่ได้ทรงเครื่องต้น

[๑๙] ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนรัชกาลที่ ๓ เสด็จเลียบพระนครแต่ทางบก เลียบพระนครทางเรือพึ่งมามีในรัชกาลที่ ๔

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ