๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑

เมื่อพระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) พระองค์แก้ว แลพระยาพระเขมร ซึ่งสมเด็จพระอุไทยราชาให้เข้ามาเฝ้าต่างตัว กลับออกไปในต้นปีมเมียโทศกนั้น เปนเวลาที่กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีศึกพม่ามาอิกในไม่ช้า จึงมีศุภอักษรให้พระมหาอุปโยราชถือออกไปถึงพระอุไทยราชา ให้เกณฑ์กองทัพเขมรเข้ามาช่วยรักษาพระนคร สมเด็จพระอุไทยราชาได้ทราบสารตราแล้วก็นิ่งเฉยเสีย ฝ่ายพระมหาอุปโยราช พระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) พระยาสังคโลก ซึ่งเปนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงกัมพูชา มีความนับถือข้างกรุงเทพฯ กลัวจะมีความผิดเกิดขึ้น จึงคิดอ่านกะเกณฑ์คนจะยกเข้ามาช่วยราชการตามศุภอักษร สมเด็จพระอุไทยราชาได้ทราบความ มีความโกรธแค้น จึงให้พระยาแสนท้องฟ้า พระยาราชอาญา คุมกำลังไปจับพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) ฆ่าเสียทั้ง ๒ คน เมื่อณวันศุกร์ เดือน ๑๐ แรมค่ำ ๑ ปีมเมียโทศก พ.ศ. ๒๓๕๓ แต่พระยาสังคโลกรู้ตัวทันหนีเข้ามากรุงเทพฯ ได้ ทางโน้นสมเด็จพระอุไทยราชาบอกไปยังองต๋ากุนญวน[๑] ซึ่งสำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อนทาง ๑ ว่าพระยาจักรี พระยากลาโหม ยุยงน้องให้ขัดแขงต่ออำนาจพระเจ้ากรุงกัมพูชา จะทำให้เมืองเขมรแยกเปน ๒ แผ่นดิน ขอบารมีพระเจ้ากรุงเวียดนามเปนที่พึ่ง อิกฝ่ายหนึ่งสมเด็จพระอุไทยราชามีศุภอักษรตอบเข้ามายังกรุงเทพฯ ว่าได้ตระเตรียมเกณฑ์กองทัพเขมรจะยกเข้ามาตามศุภอักษรแล้ว พระยาจักรี พระยากลาโหม พระยาสังคโลก เปนขบถขึ้น จึงต้องงดกองทัพไว้ ให้ฟ้าทละหะแลพระองค์แก้วมีใบบอกเปนพยานเข้ามาด้วยอิกฉบับ ๑ ฝ่ายพระยาเดโช (เม็ง) เมื่อได้ข่าวว่าเกิดเหตุเรื่องพระยาจักรี พระยากลาโหม ก็หนีกลับเข้ากรุงเทพฯ อิก ครั้นทางกรุงเทพฯ ได้ทราบศุภอักษรของสมเด็จพระอุไทยราชาที่มีมา เห็นว่าการที่พระยาจักรี พระยากลาโหม แลพระยาสังคโลก คิดอ่านกะเกณฑ์กองทัพเอาโดยพลการนั้น ถึงแม้จะอ้างว่าทำโดยตั้งใจสามิภักดิต่อกรุงเทพฯ การที่ทำเปนการลเมิดอำนาจพระเจ้ากรุงกัมพูชา แลการยังมิได้ปรากฎว่าสมเด็จพระอุไทยราชาเอาใจออกหากจากกรุงเทพฯ โดยเปิดเผย ไม่ประสงค์จะให้ปรากฎว่ากรุงเทพฯ เข้าข้างผู้ผิด จึงโปรดให้เอาตัวพระยาสังคโลกคุมขังไว้

ฝ่ายข้างญวน เมื่อองต๋ากุนได้รับหนังสือสมเด็จพระอุไทยราชาเห็นได้ทีก็แต่งกองทัพญวนให้กิมเติงกรันคุมพล ๑๐๐๐ ยกขึ้นมาตั้งอยู่ที่เกาะจีน ประสงค์จะให้สมเด็จพระอุไทยราชาเข้าใจว่าญวนรับเปนที่พึ่ง ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาครั้นรู้ว่ากองทัพญวนขึ้นมาหนุนหลัง เห็นเปนช่องที่จะตีเอาเมืองพัตบองเสียมราฐคืน หรือจะเปนด้วยหวาดว่ากองทัพไทยจะยกลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ จึงแต่งกองทัพเขมรออกรักษาตามด่านทางที่ต่อแดนไทยทุกทาง แต่กองทัพญวนที่ยกขึ้นมาเห็นจะไม่ได้รับคำสั่งให้ทำการรุนแรงอย่างใด ปรากฎว่าเมื่อกิมเติงกรันยกขึ้นมาถึง เห็นการในกรุงกัมพูชาสงบอยู่ จึงมีหนังสือขึ้นมาถึงพระยาอภัยภูเบศร์ผู้สำเร็จราชการเมืองพัตบอง[๒] ต่อนั้นมาไม่ช้ากิมเติงกรันก็เลิกทัพกลับคืนไปเมืองไซ่ง่อน ข้างกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบความตามหนังสือกิมเติงกรัน ซึ่งพระยาอภัยภูเบศร์บอกส่งเข้ามา จึงโปรดให้พระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง หลวงสุเรนทรนุชิต คุมไพร่พลพอสมควร ถือหนังสือไปเจรจาความเมืองกับกิมเติงกรัน[๓] ครั้นออกไปถึงเมืองพัตบองได้ข่าวว่ากิมเติงกรันเลิกทัพกลับไปเมืองไซ่ง่อนเสียแล้ว จึงพักอยู่ที่เมืองพัตบอง



[๑] องต๋ากุนนี้ ได้ความในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งเมื่อเปนทูตไปเมืองญวน ว่าเปนชาวเมืองมิถ่อ ได้อยู่กับองเชียงสือมาแต่เด็ก เมื่อองเชียงสือเข้ามาอยู่เมืองไทย ก็ได้ตามเข้ามาอยู่ด้วย เมื่อองเชียงสือกลับไปทำศึกตีเอาเมืองคืน ผู้นี้เข้มแขงในการสงครามมีความชอบ เมื่อองเชียงสือได้อาณาเขตรญวนคืนทั้งหมดแล้ว จึงตั้งให้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อน ชื่อที่เรียกว่าองต๋ากุนนั้น เข้าใจว่าตรงกับยศอย่างจีนที่เรียกว่า ไต้กุ๋น เห็นจะได้เปนต่อเมื่อแผ่นดินมินมาง ปรากฎว่าในแผ่นดินมินมางนั้น บุตรชายองต๋ากุนได้ทำการวิวาห์กับเจ้าหญิงซึ่งเปนราชธิดาของพระเจ้าเวียดนามยาลอง เพราะฉนั้น คำที่เคยได้ยินกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า พระเจ้าเวียดนามมินมางนับถือองต๋ากุนเหมือนกับบิดาเลี้ยง เห็นจะเกิดแต่เหตุทั้งปวงที่อธิบายมานี้ นัยว่าการที่ญวนคิดบุกรุกเอากรุงกัมพูชา องต๋ากุนนี้เปนต้นคิดสำคัญ ซึ่งเชื่อได้ว่าเปนความจริง พอสิ้นองต๋ากุนแล้ว อำนาจญวนในกัมพูชาก็หย่อนลง

[๒] ความในหนังสือว่ากะไรไม่ปรากฎ สังเกตโดยเหตุผลเข้าใจว่าคงจะพูดเปนทางไมตรี ทำนองว่ามีพวกขุนนางเขมรคิดร้ายต่อพระเจ้ากรุงกัมพูชาๆ บอกไปยังองต๋ากุน ๆ จึงให้คุมกองทัพขึ้นมาเพื่อมิให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในเมืองเขมร ขออย่าให้เมืองพระตะบองเชื่อฟังอุดหนุนพวกพระยาพระเขมรที่คิดร้ายต่อเจ้ากรุงกัมพูชา ข้าพเจ้าคาดว่าใจความจะเปนทำนองนี้

[๓] จะเปนหนังสือเสนาบดีหรือหนังสือใครไม่ได้ความ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ