๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒

กฎให้ไว้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่เจ้าพระยา แลพระยา พระ หลวง เมือง เจ้าราชนิกุล แล (ข้า) เจ้าต่างกรม หากรมมิได้ ในพระราชวังหลวง แลกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ ณหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงจงทั่ว

ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชา นราธิบดี ศรีสุริยวงษ์ องคราเมศวรราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตวิริยาทิโพธาภิรัต กอปรด้วยบวรมัตถ์มหากรุณาปรีชาญาณ พระบวรสันดานหมายมั่นในกฤษฎาภินิหาร ภารที่จะทนุบำรุงรักษาพระบวรพุทธสาสนา สมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชากรทั่วประเทศ อันเปนพระราชอาณาเขตรขอบขันฑเสมา บรรดาพึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภาร ให้รับพระราชทานทำมาหากินอยู่เย็นเปนศุข เสด็จออกณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมด้วยอรรคมหาเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวีมนตรีมุข ทูลลอองธุลีพระบาทโดยอันดับ จึงมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ประเพณีสมเด็จพระมหาบรมกระษัตราธิราชแต่ก่อนสืบมา จักทนุบำรุงรักษาพระบวรพุทธสาสนาให้ถาวรวัฒนาการได้ ก็อาไศรยชุบเลี้ยงหมู่ทแกล้วทหารซ่องสุมพลโยธา สะสมเครื่องสรรพศาตราวุธ ประกอบกับพระบารมีพระราชเดชาอาณาจักรเปนประธาน จึงเสร็จการสู้รบทำสงครามปราบปรามปัจจามิตร มิให้พระพุทธสาสนาเปนอันตรายแก่ข้าศึกได้ เปนเยี่ยงอย่างลำดับพระมหากระษัตริย์สืบมา แลกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาทุกวันนี้ ไพร่พลโยธาหมู่ทหารซึ่งเคยทำราชการณรงค์สงครามแต่ก่อนมา ก็ชราพิการล้มตายร่วงโรยเบาบางไป ไพร่หลวงสมกำลังแลเลขหัวเมืองที่มีตัวอยู่ ก็โจทหมู่ไปต่างกรม ฝ่ายนายไม่ได้มาร้องขอแลกเปลี่ยน ยอมให้ มิได้ขัดขวางไว้ โดยวาศนาพลการก็มีบ้าง นายเดิมได้ติดตามว่ากล่าวยังค้างกันอยู่จนทุกวันนี้มิได้หักโอนบาญชีต่อกัน (ก็มีบ้าง) เหตุฉนั้นบาญชีจึงฟั่นเฟือนค้างเกินกันมาช้านาน บ้างก็อพยพหลบหลีกราชการหนีไปเข้าซ่องซุกซ่อนอยู่ป่าดงก็มีมาก เพราะเจ้าหมู่มูลนายใช้สอยตรำตรากไม่ผ่อนปรน ไพร่จึงขัดสนทนมิได้ ที่มีกิจศุขทุกข์ ฝ่ายนายหมวดนายกองหาเอาธุระไม่ กลัวโทษไภยจึงหนี บางทีหลบเจ้าหนี้หนีนายเงินไปโดยขัดข้อง บ้างก็ต้องทุกข์โทษสินไหมพินัย ครั้นจะกลับเข้ามาก็กลัวเพราะตัวกระทำความผิดไว้ จึงสู้ยากลำบากอยู่ในดงป่าช้านาน แลเลขจำพวกนี้ก็อาไศรยแอบแฝงอยู่ในเจ้าเมืองกรมการปิดบังไว้เปนอาณาประโยชน์ก็มี บางทีชักชวนกันคบเพื่อนพวกละ ๑๔ คน ๑๕ คน สมัครเข้ามาเปนข้า หานายหน้าให้เดินเอาหนังสือเจ้าต่างกรม หากรมมิได้ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่งตั้งกันออกไปเปนพวกซ่อง[๑]กองส่วยก็มีทุกหัวเมืองเปนอันมาก จึงคบหาพากันกำเริบใจ กระทำโจรกรรมลักช้างม้าโคกระบือเสือกไสเข้าไว้ในซ่อง เจ้าของติดตามรู้สึกตัวกลัวจะจับ กลับยักย้ายสับเปลี่ยนส่งต่อๆ ไป จึงได้เกิดวิวาทพยาบาทลอบฆ่าฟันกันเนืองๆ ให้ความเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐมาหลายปี บัดนี้พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จปราบดาภิเศกเสวตรฉัตร เสวยราชสมบัติใหม่ ตั้งพระไทยจะรักษาพระบวรพุทธสาสนาแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มิให้เปนอันตรายแก่ข้าศึกได้ จึงมีพระราชโองการสั่งให้สักเลขหมายหมู่ใหม่ แล้วให้กรมพระสัสดีชำระเลขซึ่งวิวาทเกี่ยวข้องค้างเกินกันมา แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ จะให้สำเร็จแก่กันในครั้งนี้ ให้ผู้มีคดีเกี่ยวข้องด้วยเลขนั้นเร่งมาว่ากล่าวให้สำเร็จ ถ้าละเลยไว้มิได้มาให้ชำระในขณะนี้ ไปภายน่าจะเอาเข้ามาว่ากล่าวนั้นมิได้ แลให้เจ้าเมืองกรมการสั่งแขวงนายบ้านนายอำเภอประกาศป่าวร้อง บรรดาข้าหนีเจ้าบ่าวหนีนาย ไพร่หลวงสมกำลัง ทาษชเลย ทาษสินไถ่ ที่ซุกซ่อนอยู่ณป่าดงจงทั่ว ให้เข้ามาหามูลนายเดิมโดยดี จะพระราชทานโทษภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่ง ถ้าแลมิสมัคอยู่กับนายเดิม จะสมัคอยู่กับเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใด แลเจ้าต่างกรม หากรมมิได้ ในพระราชวังหลวง แลกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยหมู่ใดกรมใด จะพระราชทานให้อยู่ตามใจไพร่สมัคแต่ในครั้งเดียวนี้เปนประฐมบัญญัติไว้ เบื้องน่าไปจะให้คงหมู่อยู่ตามสักครั้งนี้ อนึ่งเลขหัวเมืองซึ่งอพยพหลบหนีนั้นให้คงเมือง จะผลัดเปลี่ยนกันโดยใจไพร่สมัคได้แต่ในเมืองเดียวกัน เหตุว่าเลขหัวเมืองนั้นน้อยตัวจะร่วงโรยเบาบางไป ซึ่งจะให้ไปอยู่เมืองอื่น แลมูลนายผู้ใดๆ นั้นมิได้ ห้ามอย่าให้เอาไว้เปนอันขาดทีเดียว ถ้าแลเลขบรรดาอพยพหลบหนีทั้งปวงจะเอาป่าเปนที่พึง ดื้อดึงขัดขวางมิเข้ามาสามิภักดิโดยดี มีอยู่ณแขวงเมืองใด ก็ให้เจ้าเมืองกรมการเมืองนั้น จัดกองทัพออกตีติดตามจับเอาตัว (แล) บุตรภรรยามาใส่ตรางเสียให้สิ้นเชิง ถ้าหัวเมืองใดเกลี้ยกล่อมเลขได้มากน้อยเท่าใด ก็ให้เมืองนั้นบอกจำนวนเลขแลชื่อคนตำบลบ้าน ว่าเปนบ่าวไพร่มูลนายชื่อนั้นลงมายังลูกขุนณศาลาให้แจ้ง ห้ามอย่าให้ผู้รักษาเมืองกรมการปิดบังอำพรางไว้แต่คนหนึ่งขึ้นไปเปนอันขาดทีเดียว

แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ข้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ แลหัวเมืองทั้งปวง แลเจ้าต่างกรม หากรมมิได้ บรรดาได้ตั้งซ่องเกลี้ยกล่อมเลขไพร่หลวงสมกำลังข้าหนีเจ้าบ่าวหนีนายไว้แห่งใดตำบลใด ก็ให้ยกเลิกเสีย แต่เลขนั้นจะสมัคอยู่กับผู้ใด ให้ผู้นั้นนำสักจงสิ้นเชิง ห้ามอย่าให้ผู้ใดตั้งซ่องเกลี้ยกล่อมสะสมผู้คนไว้ณป่าดงสืบต่อไป แลเปนใจด้วยผู้หลบหนีเหมือนกระทำมาแต่หลัง ถ้าผู้ใดมิฟังยังให้ตั้งซ่องสะสมผู้คนไว้ณป่าดงเหมือนแต่ก่อน จะให้ลงโทษผู้นั้นเสมอโทษขบถ

อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สักเลขณกรุงฯ สิ้นจำนวนแล้ว จะให้ข้าหลวงกองสักขึ้นไปสักเลขณหัวเมืองไกลเมื่อใด ก็ให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการทั้งปวงสอดแนมจับเลขลอยแอบแฝงหาสังกัดมูลนายมิได้ ให้สักไว้เปนเลขหัวเมือง ถ้าเลขมีมูลนายอยู่ ยังมิได้สักครั้งนี้ ก็ให้เจ้าเมืองกรมการจับเอาตัวบอกส่งลงมา จะให้ลงพระราชอาญาตัวเลขแลมูลนายผู้ปิดบังจงหนัก แล้วจะให้ส่งตัวเลขนั้นเปนตะพุ่นหญ้าช้าง

อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่าเลขไพร่หลวงทั้งปวงนั้นใคร (ได้รับ) ราชการเหนื่อยยากตรากตรำมาหลายปี ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จปราบดาภิเศกใหม่ ทรงพระมหากรุณาจักลดหย่อนให้เข้ามารับราชการแต่เดือนหนึ่ง ให้ออกไปทำมาหากินอยู่สามเดือน แลให้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้จงทุกประการ ถ้าผู้ใดมิฟัง จะเอาตัวเปนโทษ

กฎให้ไว้ณวัน ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมเมียนักษัตรโทศก

อนึ่งวิธีสักเลขหมายหมู่ตามประเพณีแต่ก่อนมา ถ้ารัชกาลก่อนสักตรงแขนข้างท้องมือ รัชกาลต่อมาสักตรงแขนข้างหลังมือ ถึงรัชกาลต่อไป กลับไปสักข้างท้องมืออิก ข้าพเจ้าได้เคยพบคนแก่คน ๑ เปนไพร่หลวงล้อมวัง เคยสักตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ได้เห็นรอยสักดังกล่าวมานี้



[๑] คำว่า “ซ่อง” นี้ มักจะเข้าใจกันว่า เปนการที่ลอบลักตั้งชุมนุมผู้คน โดยอาการอันผิดด้วยกฎหมาย ที่จริงที่เรียกว่าตั้งซ่องตามประเพณีที่มีมาแต่เดิมนั้น หมายความว่าเกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งไปเที่ยวหลบหลีกแอบแฝงกระจัดกระจายอยู่ตามป่าดง ให้มาอยู่หรือเข้าทะเบียนรวบรวมเปนหมวดเปนกองกัน เพื่อจะให้เปนกำลังแผ่นดินได้ในเวลาต้องการ อย่างนี้เรียกว่าตั้งซ่อง แต่เพราะผู้ซึ่งไปจัดการตั้งซ่องไปทำการนั้นเพื่อหาประโยชน์ในทางทุจริต จึงติเตียนในพระราชกำหนดนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ