๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด

มีเรื่องราวเบ็ดเตล็ดอันเกี่ยวแก่พงษาวดารไทย ในเวลาเมื่อครอเฟิดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ปรากฎอยู่ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งบางเรื่องแต่ไม่เกี่ยวกับการทูตที่ครอเฟิดมา ข้าพเจ้าได้คัดมาลงไว้ต่อไปนี้ เพื่อให้ผู้ศึกษาโบราณคดีวินิจฉัย คือ:-

๑) เมื่อครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ พระยาพระคลังได้ถามว่าครอเฟิดมีประสงค์จะไปเฝ้าเจ้านายพระองค์ใดบ้าง ครอเฟิดสืบทราบความอยู่ก่อนแล้ว ว่าในเวลานั้น ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ แบ่งกันเปน ๒ พวก คือ พวก ๑ นับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ แลเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเปนหัวน่าในพวกนี้ แต่อิกพวก ๑ นับถือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเปนพวกเดียวกับพระยาพระคลัง ครอเฟิดเห็นว่าธุระของตัวอยู่ในน่าที่ของพระยาพระคลัง แลกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จะไปเกี่ยวด้วยอิกพวก ๑ จะไม่เปนที่พอใจข้างพวกนี้ จึงตอบพระยาพระคลังว่า ที่จะให้เฝ้าเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดนั้น แล้วแต่พระยาพระคลังจะเห็นสมควร แต่ของถวายเตรียมมาถวายแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์เดียว ไม่ได้เตรียมมาสำหรับถวายเจ้านายพระองค์อื่นด้วย เพราะธรรมเนียมเฝ้าในครั้งนั้นต้องมีของถวาย เมื่อครอเฟิดบอกว่าไม่มีของถวาย จึงไม่ได้เฝ้าเจ้านายพระองค์อื่น

๒) ในเวลาครอเฟิดอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น เกิดอหิวาตกะโรคขึ้นอิกครั้ง ๑ ว่าพระเจ้าน้องยาเธอสิ้นพระชนม์ด้วยโรคนั้นพระองค์ ๑ แต่อหิวาตกะโรคที่เกิดคราวปีมเมียจัตวาศกนี้ ไม่แรงเหมือนเมื่อครั้งปีมโรงโทศก แต่ได้ประกาศให้ราษฎรหยุดการงานทั้งปวง ทำบุญให้ทาน แลห้ามฆ่าสัตวตัดชีวิตร มีกำหนด ๗ วัน

๓) เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม เวลาครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ มีราชทูตญวนเชิญพระราชสาสนเข้ามาพักอยู่ณที่รับทูตข้างฝั่งตวันออกเหนือที่พักของครอเฟิด กล่าวในหนังสือครอเฟิดว่าอยู่ที่พระราชวัง ซึ่งควรเข้าใจว่าที่พักทูตญวนนั้นเห็นจะอยู่ราวท่าเตียน มีกระบวนแห่พระราชสาสนทางเรือ แลทูตญวนได้เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ครั้นถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ทูตญวนกลับไป[๑]

๔) เมื่อครอเฟิดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ไปเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ๔ ครั้ง ๆ แรกเฝ้าถวายของอย่างเสด็จออกแขกเมือง อิก ๒ ครั้งมีรับสั่งให้หาไปเฝ้าไปรเวต รับสั่งไต่ถามการงานต่าง ๆ แต่มิได้รับสั่งด้วยเรื่องราชทูตที่มา ครอเฟิดชมว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระปรีชาญาณ สมกับคำคนในกรุงเทพฯ ที่พูดกันว่าเฉียบแหลมกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม อันเปนวันที่ครอเฟิดกำหนดไว้ว่าจะออกจากกรุงเทพฯ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีรับสั่งให้หาไป รับสั่งบอกว่า มีกระแสพระราชโองการว่า แต่เดิมได้ตั้งพระราชหฤไทยจะโปรดให้ครอเฟิดเข้าเฝ้าทูลลา แต่ประจวบเวลาไม่สบายพระราชหฤไทย เหตุด้วยพระเจ้าน้องนางเธอสิ้นพระชนม์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีก็สิ้นพระชนม์ แลสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์ จึงมิได้ให้ครอเฟิดเฝ้าทูลลา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีรับสั่งรับรองแก่ครอเฟิดว่าให้พวกพ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายเถิด จะทรงเปนพระธุระทำนุบำรุงเอง

๕) มีข้อความกล่าวไว้ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่ง ว่าในเวลาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม เจ้าเมืองลาวคน ๑ ไปหาครอเฟิดถึงที่พัก จะเปนเจ้าเมืองไหน แลจะไปพูดกันด้วยเรื่องอะไร ครอเฟิดหาได้แสดงไว้ไม่ ข้าพเจ้าสันนิฐานดู เวลานั้นเปนฤดูแล้ง ไม่ใช่เวลาที่เจ้านายทางมณฑลพายัพจะลงมา เจ้าลาวที่ไปหาครอเฟิดนี้ เห็นจะเปนเจ้าอนุเจ้านครเวียงจันท์ เหตุที่ไปหาทูตอังกฤษนั้น คิดไม่เห็นว่าจะมีข้อราชการอย่างใด ดีร้ายจะไปโดยอำเภอใจเอง เพื่อจะฟังความประสงค์ของอังกฤษ คิดดูเวลาเมื่อครอเฟิดเข้ามา ก่อนเวลาเจ้าอนุเปนขบถไม่กี่ปี แลมีความปรากฎในจดหมายเจ้าอนุที่มีมาเมื่อก่อนจะเปนขบถ อ้างถึงว่าฝรั่งจะเข้ามาย่ำยี ดูสมเหตุสมผลกันอยู่

๖) เมื่อครอเฟิดล่องเรือลงไปตามลำแม่น้ำ ถึงเมืองนครเขื่อนขันธ์ ได้แวะขึ้นดูป้อม กล่าวไว้ในหนังสือว่า ปืนใหญ่สำหรับป้อมได้เอากลับคืนขึ้นมากรุงเทพฯ หลายปีมาแล้ว ด้วยเกรงจะเกิดขบถ ข้อนี้ประหลาดอยู่ ด้วยความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าป้อมที่ปากลัดนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเริ่มทรงสร้างแต่ในรัชกาลที่ ๑ ค้างอยู่ มาในรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เปนแม่กอง เสด็จลงไปสร้างป้อมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่ณเมื่อปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ ในระหว่างนั้นมาจนปีมเมียจัตวาศก ไม่ปรากฎว่ามีเหตุการณ์อันใดที่จะถึงต้องย้ายปืนกลับมาจากป้อมปากลัด แต่ครอเฟิดได้ไปเห็นแก่ตาเองแลจดไว้ดังกล่าวมา จึงคัดมาลงไว้ บางทีจะยังไม่ได้ตั้งปืนทีเดียว ด้วยความปรากฎว่าในปีมเมียจัตวาศกนั้นเอง ได้โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพลงไปสร้างป้อมเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ยังค้างอยู่

การที่รัฐบาลอินเดียแต่งครอเฟิดเปนทูตเข้ามาคราวนั้น แม้ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ของครอเฟิด แลเกิดเปนปากเสียงกันดังกล่าวมาก็ดี แต่เปนประโยชน์แก่อังกฤษ ดังที่รัฐบาลอินเดียต้องการ ด้วยตั้งแต่นั้นมา ก็มีเรือพ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่สุดจนมีคนอังกฤษชื่อ ฮันเตอร์[๒]เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ ฝ่ายไทยก็ทำนุบำรุงให้ไปมาค้าขายได้โดยสดวก เปนแต่ไม่ยอมลดหย่อนภาษีอากรให้อังกฤษผิดกับที่เก็บจากชาติอื่น ด้วยประเพณีการค้าขายในเวลานั้น ยังถือตามแบบเดิมที่มีมาครั้งกรุงเก่า



[๑] ทูตญวนที่มาคราวนี้ ไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาหิพากรวงษ์ ในหนังสือนั้นกล่าวว่า เมื่อปีมโรงโทศก เวลากำลังเกิดอหิวาตกะโรค ทูตญวนเข้ามา บางทีจะลงศักราชผิดปี ที่จริงจะมาในปีมเมียจัตวาศกดังปรากฎในหนังสือของครอเฟิต ในเวลานั้นก็มีอหิวาตกะโรค

[๒] ไทยเรียกกันในครั้งนั้นว่า หันแตร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ