- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ในปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๕ นั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ พระชนมายุได้ ๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า การพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า ก็ได้ทำเมื่อในรัชกาลที่ ๑ มีแบบแผนอยู่สำหรับแผ่นดินแล้ว แต่การพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้าตามตำราเก่า ยังหาได้ทำไว้ให้เปนแบบอย่างไม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นก็แก่ชราเกือบจะหมดตัวไปแล้ว แบบแผนพระราชพิธีอันนี้จะสาบสูญเสีย ควรจะทำไว้ให้เปนแบบอย่างอยู่สำหรับราชการแผ่นดินต่อไป ถึงเดือน ๔ ปีวอกจัตวาศกนั้น จึงรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิทักษมนตรี กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) เปนผู้อำนวยการ จัดตั้งพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่[๑]
ลักษณพระราชพิธีลงสรง เหมือนกับพระราชพิธีโสกันต์ในการทั้งปวง ผิดกันแต่พิธีโสกันต์ทำเขาไกรลาศที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่พิธีลงสรงทำแพพระมณฑปที่สรงในแม่น้ำ แพนั้นผูกเทียบที่น่าพระตำหนักน้ำ กลางแพมีพระมณฑปทำด้วยไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาว มีที่ลงสรงอยู่ในพระมณฑป ลดพื้นลงไปให้ต่ำกว่าพื้นน้ำ ปูพื้นด้วยกระดาน แลทำซี่กรงล้อมรอบชั้น ๑ ตรางไม้ไผ่ล้อมอิกชั้น ๑ แล้วถึงร่างแหล้อมอิกชั้น ๑ มีกระดานเลียบรอบนอกเสมอพื้นที่สรงพอคนลงไปได้ ที่สรงภายในซี่กรงนั้นกรุผ้าทั้งพื้นแลข้างๆ มีบันไดลงจากพื้นแพถึงที่สรง บันไดเงินอยู่ด้านเหนือ บันไดทองอยู่ด้านใต้ ด้านตวันออกริมพระตำหนักน้ำเรียกว่าบันไดแก้ว ด้านตวันตกนั้นตั้งพระแท่นสองชั้นสำหรับเปนที่สรงน้ำมุรธาภิเศก ในกรงนั้นมีรูปกุ้งทองกุ้งนากกุ้งเงิน แลปลาทองปลานากปลาเงิน มีมะพร้าวปิดทองคู่ ๑ ปิดเงินคู่ ๑ นอกพระมณฑปออกมา มีฝาแลซุ้มประตูสี่ทิศ มีราชวัตรฉัตรทองล้อมพระมณฑปชั้น ๑ ราชวัตรนากชั้น ๑ ราชวัตรเงินชั้น ๑ พราหมณ์ตั้งโต๊ะรองน้ำสังข์น้ำกรดบูชาถวายไชยสี่มุมกรง ราชวัตรชั้นกลางมีทหารถือทวนด้ามหุ้มทองประจำในเวลาเสด็จลงสรงทั้งสามด้าน ๆ ละ ๑๐ คน หว่างราชวัตรชั้นนอกมีทหารถือดาบโล่ห์ ๓ ด้าน ๆ ละ ๑๕ คน ทหารถือดาบนั่งรายริมแพนอกราชวัตรสามด้าน ๆ ละ ๑๖ คน ทหารถือดาบอยู่ในน้ำริมแพสามด้าน ๆ ละ ๑๖ คน ทหารถือปืนคาบศิลาอยู่นอกราชวัตรด้านเหนือ ๘ คน มีเรือบัลลังก์ประทับน่าพระตำหนักแพ แลมีเรือกันยาเรือกระบี่เรือครุธเรือดั้ง เรือรูปสัตวเรือพิฆาฏเขียนรูปสัตวต่าง ๆ ทอดทุ่นเหนือน้ำท้ายน้ำรายรอบล้อมวงรวม ๓๙ ลำ พลพายสวมเสื้อแดงหมวกแดง มีเรือหมอจรเข้เรือทอดแหสำหรับจับสัตวร้ายรายกันอยู่ในที่ล้อมวง ฝ่ายที่ในพระบรมมหาราชวังนั้นตั้งโรงพิธีพราหมณ์ตรงประตูออกโรงแสงใน แลจัดตั้งพระแท่นมณฑลที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ แลสวดภาณวารที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วงสายสิญจน์โยงตลอดสถานที่ทำพระราชพิธีทุกแห่ง เหมือนอย่างพระราชพิธีโสกันต์ฉนั้น
ครั้นณวันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แต่งพระองค์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ[๒]ทรงเครื่องขาว ครั้นเวลาบ่ายกระบวนแห่อย่างแห่โสกันต์เข้าไปรับเสด็จที่เกยข้างพระราชมณเฑียรฝ่ายตวันออกตรงสวนขวา แห่เสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ออกประตูราชสำราญ มาทางถนนริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง มาเข้าประตูพิมานไชยศรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ขึ้นพระยานมาศแล้ว เสด็จทรงพระราชดำเนินทางข้างใน เสด็จออกประทับที่เกยพระมหาปราสาท รับพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ จากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในรับพระกรต่อพระหัดถ์เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ มาชำระพระบาทในถาดเงิน เจ้าพนักงานถวายน้ำล้างพระบาทแล้ว เสด็จขึ้นบนพระมหาปราสาท ประทับสดับพระปริตอยู่ข้างในพระฉาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตามขึ้นไปภายหลัง เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีลแล้ว ประทับทรงสดับพระปริตจนจบแล้ว จึงเสด็จลงมาประทับที่เกย ข้างในรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ตามเสด็จ ทรงจูงพระกรส่งลงพระราชยานแล้ว แห่กลับคืนเข้าพระบรมมหาราชวัง แห่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ไปทรงสดับพระสงฆ์สวดมนต์เย็น ๓ วัน เหมือนกันดังกล่าวมานี้
ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำเวลาเช้า แบ่งพระสงฆ์ในพระราชพิธีลงไปคอยสวดถวายไชยมงคลที่ทิมสรงท่าน้ำ ๑๕ รูป แห่เสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ลงไปประทับที่เกย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จรับพระกรบนเกย ข้างในรับพระหัดถ์มาประทับที่พระตำหนักแพ เปลื้องเครื่องทรงพระภูษาแลฉลองพระองค์เครื่องถอด พอจวนเวลาพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจูงพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จจากพระตำหนักแพไปยังแพพระกระยาสนาน เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีรับต่อพระหัดถ์ เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ตามเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังที่พระมณฑป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่บนพระเก้าอี้ในราชวัตร ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ประทับที่เบาะอันทอดไว้ริมพระเก้าอี้ พระมหาราชครูพราหมณ์ลอยกุ้งทองกุ้งนากกุ้งเงิน ปลาทองปลานากปลาเงิน แลลอยมะพร้าวปิดทองปิดเงิน ๒ คู่ลงในกรงที่สรง พระโหราลอยบัตรตามกระแสน้ำ พอได้อุดมฤกษ์เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๓ บาท เจ้าพนักงานลั่นฆ้องไชยกระทั่งสังข์แตรประโคมเครื่องดนตรีแลยิงปืนสัญญาน่าเรือขึ้นพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จไปยังบันไดแก้ว เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รับต่อพระหัดถ์แล้วอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ลงสู่กรงที่สรง ให้ทรงเกาะมะพร้าวสรงน้ำแม่น้ำที่ในกรงก่อน แล้วรับเสด็จขึ้นมาประทับพระแท่นสรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ สมเด็จพระสังฆราชประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระราชวงษ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำพระเต้าปทุมนิมิตร[๓] พราหมณ์ถวายน้ำสังข์น้ำกรด ครั้นเสร็จสรงพระกระยาสนานผลัดพระภูษาแล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมายังตำหนักแพมาทรงเครื่องอย่างเทศ ส่วนกระบวนแห่ผลัดเครื่องแดงแห่กลับเข้าในพระราชวังไปเข้าประตูราชสำราญ ขึ้นสู่พระราชมณเฑียร เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ขึ้นพระราชยานที่ตำหนักแพแห่กลับแล้ว เสด็จมาที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงประเคนพระสงฆ์ทำภัตรกิจ ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ นั้นครั้นเปลื้องเครื่องเทศเสร็จแล้วแต่งพระองค์เสด็จมาทางข้างในพระราชวัง ขึ้นสู่มหาปราสาท ทรงประเคนไทยธรรมพระสงฆ์ แล้วเสด็จกลับเข้าในพระราชวังตามทางข้างใน ในวันนั้นเจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[๔] ตั้งพระแท่นที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ประทับตรงน่าบายศรี ครั้นเวลาบ่ายแต่งพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงเครื่องต้น กระบวนแห่แต่งเครื่องแดง แห่เสด็จแต่ภายในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ขึ้นพระราชยานแล้ว เสด็จมาทางในพระราชวังคอยรับพระกรอยู่ที่เกยน่าพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กระบวนแห่มาถึงแล้วก็ทรงรับพระกรเสด็จเข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จขึ้นสถิตย์บนเตียงทอง ได้ฤกษ์บ่าย ๒ โมง ๖ บาท ชาวประโคมๆ ขึ้นพร้อมกัน จึงพระราชทานพระสุพรรณบัตรจาฤกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร แล้วพระครูพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชแล้วแห่กลับคืนเข้าภายในพระราชวัง ในวันขึ้น ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ สมโภชอิก ๒ เวลา เปน ๓ เวลาด้วยกัน การพระราชพิธีลงสรงครั้งนั้นก็เหมือนอย่างแห่โสกันต์ทุกสิ่ง ผิดกันอยู่แต่ที่มีแพพระมณฑปที่ลงสรงแทนเขาไกรลาศเท่านั้น[๕]
[๑] ลักษณการพระราชพิธีที่พรรณาต่อไปนี้ ข้าพเจ้ากล่าวตามที่พรรณาไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ ได้แก้ไขถ้อยคำบ้าง แลเพิ่มเติมความตามที่ปรากฎในหนังสือพระราชวิจารณ์บ้าง
[๒] ในตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) เรื่องงานลงสรงคราวนั้น เรียกว่าพระที่นั่งน่าพระไชย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิฐานว่า จะเปนพระที่นั่งไพศาลทักษิณนั้นเอง พระบรมราชาธิบายแจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ น่า ๔๐๖
[๓] ในตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ไม่ปรากฎข้อที่ว่าพระราชวงษ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำ
[๔] คือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทุกวันนี้ เปนที่สมโภช
[๕] ลักษณการพระราชพิธีตอนพระราชทานพระสุพรรณบัตรแลสมโภช ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์กับตำราของเจ้าพระยาศรีธรรมธิราชผิดกันอยู่ ในตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชไม่กล่าวถึงข้อพระราชทานพระสุพรรณบัตร แลว่าแห่ไปสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าแห่มาสมโภชที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน คือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แลพระราชทานพระสุพรรณบัตรก่อนสมโภชวันแรก ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดู เห็นว่าตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเปนหนังสือแต่งถวายเมื่อก่อนงาน ส่วนความที่