- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
ในเดือน ๑๑ ปีมเสงเอกศก เดือนที่ได้ข่าวศึกพม่านั้น โปรดให้ทูตานุทูตไทย มีพระยาเพ็ชรปาณีเปนราชทูตไปเมืองญวน เชิญพระราชสาสนไปยังพระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง บอกข่าวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต แลที่พระองค์ได้เสด็จผ่านพิภพตั้งรัชกาลใหม่ ทูตไทยไปเมืองญวนครั้งนี้ นอกจากการเจริญพระราชไมตรีตามแบบอย่างในราชประเพณีเชื่อได้ว่าคงให้ออกไปพังเค้าเงื่อนความคิดญวนจะเปนอย่างไร ในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลในกรุงสยามด้วย
เรื่องพระราชพงษาวดารตอนนี้ ควรจะอธิบายเรื่องเมืองเขมร เมืองญวน ย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อย ผู้อ่านจึงจะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดเกี่ยวข้องกับเมืองญวนแลเมืองเขมร ทั้งในตอนนี้แลในตอนต่อไปได้ชัดเจนดี
เมืองเขมร หรือที่เรียกอิกนาม ๑ ว่ากรุงกัมพูชา เดิมเปนเมืองขอมหลวง มีอำนาจมากแลอาณาเขตรกว้างขวางในโบราณสมัย แต่อำนาจลดน้อยถอยลงโดยลำดับมา จนเมื่อไทยมาตั้งเปนใหญ่ได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายอาณาเขตรรุกแดนกัมพูชาลงไปจากข้างเหนือทาง ๑ แว่นแคว้นกัมพูชาซึ่งอยู่ทางริมทเล ตั้งแต่ปากน้ำโขงไปทางตวันออก ก็เกิดเปนประเทศอิศรขึ้นอิกประเทศ ๑ เรียกว่า จัมปาประเทศ ตามตำนานที่จะพึงรู้ได้ ไพร่พลเมืองจัมปานี้ปะปนกันหลายชาติ เปนพวกขอมเดิมบ้าง เชื้อสายแขกอินเดียที่มาอยู่ในเมืองขอมบ้าง พวกมลายูข้ามทเลมาอยู่บ้าง ลงปลายเมื่อการสั่งสอนสาสนาอิสลามแพร่หลายมาทางประเทศเหล่านี้ ชาวเมืองจัมปาโดยมากเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม บุคคลจำพวกที่เราเรียกว่าแขกจาม ก็คือ ชาวเมืองจัมปานี้เอง เมืองจัมปายังเปนอิศรมาจนในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุทธยา ด้วยได้พบในหนังสือจดหมายเหตุที่ฝรั่งแต่งไว้ ว่ามีราชทูตจัมปาเข้ามากรุงศรีอยุทธยาในครั้งนั้น ส่วนพวกญวนนั้น เข้าใจว่าเดิมเปนชนจำพวก ๑ ในชาติไทยนี้เอง คือพวกที่ลงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแว่นแคว้นเมืองตังเกี๋ย ครั้นจีนแผ่อาณาจักรออกมาถึงเมืองไทยเดิม ซึ่งเรียกว่ามณฑลฮุนหนำ มณฑลกุยจิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางไส ทุกวันนี้ จีนมีอำนาจมาจนถึงเมืองตังเกี๋ย ไทยชาวตังเกี๋ยต้องขึ้นแลสมาคมสนิทกับจีนยิ่งกว่าไทยใหญ่แลไทยในสยามประเทศ เมื่อช้านานหลายชั่วบุคคลเข้า ความนิยมของพวกชาวตังเกี๋ยก็ใกล้ไปข้างจีนมากเข้าทุกที จึงเกิดเปนชนชาติ ๑ ที่เราเรียกว่าญวน แต่ในภาษาเขาเองทราบว่า เรียกว่าแกว จะต้องกับคำว่า เงี้ยวนั้นเอง ต่อมาพวกเมืองตังเกี๋ยมีอำนาจมากขึ้น แลจะประจวบเวลาเหตุวิบัติอันใดมีขึ้นแก่เมืองจัมปาด้วย พวกญวนจึงแผ่อาณาเขตรตลอดลงมา จนได้แดนจำปาไว้ในอำนาจ แต่ราชธานีเมืองญวน ยังคงอยู่ที่เมืองตังเกี๋ย
ภูมิประเทศเมืองญวน ผิดกับประเทศอื่นในข้อสำคัญอยู่อย่าง ๑ อันจะพึงเห็นได้ในแผนที่ คือพื้นแผ่นดินที่อุดม ซึ่งเปนทำเลผู้คนแลสมบัติบริบูรณ์ อยู่แต่ข้างฝ่ายเหนือที่สุดคือ เมืองตังเกี๋ยตอน ๑ แลมาอยู่ตอนใต้ที่สุดตอนปากแม่น้ำโขงที่เปนเขตรเมืองจัมปาตอน ๑ แต่แผ่นดินตอนกลางที่เชื่อมกันนั้น เทือกเขาบันทัดออกไปใกล้ทเล ที่ซึ่งเหลืออยู่ในระหว่างเขาบันทัดกับชายทเลเปนที่แคบ แลไม่เปนที่ดินอุดมสำหรับการเพาะปลูก ต้องทิ้งเปนป่าเปล่ามาช้านาน เพราะภูมิแผนที่เปนเช่นนี้ เจ้าแผ่นดินญวนตอนแรกเมื่อตั้งเมืองตังเกี๋ยเปนมณฑลราชธานี จึงมีความลำบากในการปกครองราชอาณาจักรตอนใต้ เพราะเหตุที่อยู่ห่างไกลกันนัก อยู่มาเจ้าแผ่นดินญวนองค์ ๑ ปรารภถึงความลำบากในการปกครองราชอาณาจักรด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงมาตั้งเมืองเว้ขึ้นเปนราชธานี ตรงที่แผ่นดินแคบอยู่ในระหว่างมณฑลตังเกี๋ยแลมณฑลข้างปากน้ำโขงซึ่งญวนเรียกว่าดงไน ส่วนหัวเมืองทั้ง ๒ มณฑลนั้น ตั้งผู้สำเร็จราชการอยู่ปกครอง แต่ความคิดที่มาตั้งเมืองเว้เปนราชธานี ไม่เปนประโยชน์ได้จริงดังคาด ด้วยต่อมาเมื่อถึงเจ้าแผ่นดินญวนที่หย่อนอำนาจลง ผู้สำเร็จราชการมณฑลตังเกี๋ยแลมณฑลดงไน ซึ่งตั้งเมืองไซง่อนเปนเมืองหลวงนั้น ต่างก็รวบรัดเอาอำนาจแลความสิทธิ์ขาดไว้ในวงษ์ตระกูลของตน เจ้าแผ่นดินญวนที่เมืองเว้กลับกลายไปเปนอย่างเจว็ด มีอำนาจน้อยลงไปกว่าเมื่ออยู่เมืองตังเกี๋ย การเปนดังนี้มาช้านาน
ส่วนเมืองเขมร คือ กรุงกัมพูชา ตั้งอยู่ในระหว่างเมืองไทยกับเมืองญวน เวลาญวนหรือไทยข้างไหนมีอำนาจมาก เขมรก็ขึ้นแก่ฝ่ายนั้น ถ้าหากว่าเปนเวลาอำนาจไล่เลี่ยกัน เขมรก็ยอมขึ้นทั้ง ๒ ฝ่าย เปนดังนี้มาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เพราะเขมรนิยมในลัทธิแลประเพณีการต่างๆ อย่างไทย ตั้งแต่ลัทธิสาสนาเปนต้นตลอดจนประเพณีการบ้านเมือง โดยปรกติความสนิทสนมมาจึงมีอยู่ข้างฝ่ายไทยมากกว่าญวน ด้วยญวนไปนิยมเอาอย่างจีนเสียในการทุกอย่างทั่วไป
ในสมัยกรุงเก่าตอนปลาย ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ การในเมืองญวนจับจะไม่เปนปรกติ ด้วยเกิดเกี่ยงแย่งกันขึ้นในผู้ปกครองเมือง อำนาจญวนอ่อนลง เมืองเขมรจึงมาเปนประเทศราชขึ้นไทยสิทธิ์ขาดตลอดมาจนกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเปนราชธานีในสยามประเทศ ครั้งนั้นนักองค์ตนครองกรุงกัมพูชา ขนานนามว่าสมเด็จพระนารายน์ เกิดวิวาทขึ้นกับญาติวงษ์องค์ ๑ ชื่อนักองค์โนน ซึ่งมียศเปนพระรามราชา ๆ หนีเข้ามาพึ่งอยู่ในกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้มีศุภอักษรไปถึงสมเด็จพระนารายน์เจ้ากรุงกัมพูชาว่า กรุงศรีอยุทธยากลับตั้งเปนอิศรได้ดังแต่ก่อนแล้ว ให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาจัดต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายดังแต่ก่อน สมเด็จพระนารายน์เจ้ากรุงกัมพูชาตอบเข้ามาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่เชื้อสายราชตระกูลเก่าไม่ยอมขึ้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้กองทัพไทยลงไปตีกรุงกัมพูชาเมื่อปีฉลูเอกศก พ.ศ. ๒๓๑๒ ครั้ง ๑ เมื่อปีเถาะตรีศก พ.ศ. ๒๓๑๔ ยกลงไปตีอิกครั้ง ๑ ครั้งหลังนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเปนจอมพลลงไปเอง ตีได้หัวเมืองเขมรเปนอันมาก สมเด็จพระนารายน์เจ้ากรุงกัมพูชาสู้รบต้านทานไม่ได้ ก็พาครอบครัวอพยพหนีลงไปพึ่งญวนอยู่ณเมืองไซ่ง่อน ครั้นกองทัพไทยกลับมาแล้ว สมเด็จพระนารายน์เจ้ากรุงกัมพูชา ก็ขอกองทัพญวนกลับขึ้นมาตั้งอยู่ที่แพรกปักปรัด แต่มิอาจจะมาอยู่เมืองบันทายเพ็ชร ซึ่งเปนเมืองหลวงตามเดิม ด้วยครั้งนั้นไทยยึดหัวเมืองเขมรไว้ได้ทั้งฝ่ายเหนือแลฝ่ายตวันตก พระเจ้ากรุงธนบุรีให้นักองค์โนนที่เปนพระรามราชาลงไปตั้งเปนใหญ่อยู่ที่เมืองกำปอดซึ่งอยู่ชายทเล แลให้กองทัพไทยตั้งรักษาอยู่ที่เมืองพัตบองอิกแห่ง ๑ ในขณะนั้นพอทางเมืองญวนเกิดจลาจลขึ้น ด้วยพวกโจรไกเซินเปนขบถ ผู้สำเร็จราชการเมืองตังเกี๋ยเข้ากับพวกขบถ พากันยกมาตีเมืองเว้ จับเจ้านายในราชวงษ์ญวนฆ่าฟันเสียเปนอันมาก ที่เหลืออยู่พากันหนีลงมาอาไศรยอยู่เมืองไซ่ง่อน ในเวลานั้นทำนองสมเด็จพระนารายน์ (นักองค์ตน) เกรงกองทัพไทยจะยกไปตีอิก จะหมายพึ่งญวนก็ไม่ได้ดังแต่ก่อน จึงมีศุภอักษรเข้ามาขออ่อนน้อมยอมขึ้นต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ๆ ทรงขัดเคืองไม่ยอมเชื่อถือสมเด็จพระนารายน์ แต่จะได้เตรียมกองทัพไทยที่จะยกลงไปหรือไม่ ข้อนี้ไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ว่าเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ยอมทรงเชื่อถือสมเด็จพระนารายน์แล้ว ทางโน้นสมเด็จพระนารายน์ปฤกษากับพระยาพระเขมร เห็นพร้อมกันว่า ควรจะให้นักองค์โนน คือ พระรามราชาเปนเจ้ากรุงกัมพูชา ให้สิ้นวิวาทบาดหมางกับไทย จึงให้ไปเชิญพระรามราชามาจากเมืองกำปอด ยอมยกตำแหน่งเจ้ากรุงกัมพูชาถวายแก่พระรามราชา เมื่อความทั้งนี้ทราบถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงพระโสมนัศ จึงแต่งข้าหลวงลงไปให้อภิเศกนักองค์โนน เปนสมเด็จพระรามราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ส่วนนักองค์ตนซึ่งเปนสมเด็จพระนารายน์เจ้ากรุงกัมพูชาอยู่แต่ก่อนนั้น ยอมลดยศลงเปนพระมหาอุปโยราช แลมีพระมหาอุปราชอิกองค์ ๑ ชื่อนักองค์ธรรม เปนพระมหาอุปราชมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์ครองกรุงกัมพูชาอยู่
ตั้งแต่สมเด็จพระรามราชาได้เปนใหญ่ เมืองเขมรก็มาขึ้นไทยแต่ฝ่ายเดียว อยู่มามีผู้ร้ายลอบฆ่านักองค์ธรรมผู้เปนมหาอุปราชตาย นักองค์ตนซึ่งเปนพระมหาอุปโยราชนั้นอยู่มาไม่ช้าก็ป่วยเจ็บพิราไลยลงอิกองค์ ๑ ปรากฎว่าอายุเพียง ๓๙ ปี นักองค์ตนมีธิดา ๓ องค์ ชื่อนักองค์เมน ๑ นักองค์อี ๑ นักองค์เภา ๑ มีบุตรองค์ ๑ ชื่อนักองค์เอง นักองค์เองอายุได้ ๔ ขวบ บุตรธิดาองค์ตนทั้ง ๔ องค์นี้ต่างมารดากัน นักองค์เมนกับนักองค์เภามารดาเปนมเหษี แต่นักองค์อีกับนักองค์เองมารดาเปนนักสนม กรุงกัมพูชาเวลานั้น สมเด็จพระรามราชาได้เปนใหญ่อยู่แต่องค์เดียวก็จริง แต่ส่วนพระยาพระเขมรแตกกันเปน ๒ พวก ผู้ที่มิใช่พวกของสมเด็จพระรามราชา เชื่อว่าสมเด็จพระรามราชาแต่งคนไปลอบฆ่ามหาอุปราช อยู่มาไม่ช้าพระยาพระเขมรพวกนี้คิดการขบถ ชักชวนพวกญวนแลเขมรยกมารบสมเด็จพระรามราชา จับสมเด็จพระรามราชาได้ให้ถ่วงน้ำเสีย ฟ้าทละหะ (มู) จึงตั้งตนเปนผู้รักษาราชการกรุงกัมพูชาแทนนักองค์เองซึ่งยังเปนเด็กอยู่
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า พวกขุนนางเขมรเปนขบถฆ่าสมเด็จพระรามราชาเสีย ทรงพระพิโรธแก่พระยายมราช (แบน) ซึ่งครั้งนั้นเปนขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระรามราชา นัยว่า เพราะไม่ระวัง ปล่อยให้เขาทำร้ายเจ้านายได้ แต่เหตุที่จริง น่าจะกว่านี้ บางทีจะสงไสยว่าเปนใจกับพวกขบถ จึงมีรับสั่งให้มีท้องตราออกไปยังฟ้าทละหะ (มู) ให้ส่งตัวพระยายมราช (แบน) มายังกรุงธนบุรีแล้วเอาตัวจำไว้ณคุก ในเวลาเมื่อพระยายมราช (แบน) อยู่ในระหว่างโทษนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ยังเสด็จดำรงพระยศเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ได้ทรงพระกรุณาอุปการะจนได้พ้นโทษ พระยายมราช (แบน) จึงได้เปนข้าหลวงเดิมมาแต่ครั้งนั้น
ฟ้าทละหะ (มู) รักษาราชการเมืองเขมรมาได้ ๔ ปี ถึงปีฉลูตรีศก พ.ศ. ๒๓๒๔ เห็นจะคิดตั้งตัวเปนใหญ่เอง จึงไปฝากฝ่ายเข้ากับญวน ข่าวอันนี้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริห์เห็นว่า เมืองเขมรหมดเชื้อวงษ์เจ้านายที่จะครองเมือง มีแต่นักองค์เองก็เปนเด็ก แลยังซ้ำเปนบุตรนักองค์ตนสมเด็จพระนารายน์ซึ่งไม่เข้ากับพระเจ้ากรุงธนบุรีมาแต่เดิม จะปล่อยให้การเปนไปตามอำเภอใจพระยาพระเขมร ก็คงจะเกิดรบราฆ่าฟันกันไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงโปรดให้จัดกองทัพใหญ่ ให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศ เปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกเปนแม่ทัพ เสด็จไปปราบปรามเมืองเขมรพร้อมกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ แต่ยังเสด็จดำรงพระยศเปนเจ้าพระยาสุรสีห์ ในครั้งนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ซึ่งเรียกในพงษาวดารเขมรว่า พระเจ้าน้อย ไปในกองทัพด้วย มีรับสั่งไปว่า ถ้าปราบปรามกรุงกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว ให้อภิเศกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ครองกรุงกัมพูชาต่อไปทีเดียว[๑] แต่กองทัพไทยยกลงไปครั้งนั้นยังไม่ทันทำการปราบปรามกรุงกัมพูชาได้สำเร็จ พอข้างกรุงธนบุรีเกิดการจลาจล เหตุด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาศประพฤติผิดร้ายแรงต่างๆ จนพวกพระยาสรรค์คิดขบถยกเข้ามาตีพระนคร เอาพระเจ้ากรุงธนบุรีออกจากราชสมบัติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงทราบว่าเกิดการจลาจลขึ้นในราชธานี ก็รีบยกกองทัพกลับเข้ามา ครั้นเสด็จมาถึง ข้าราชการทั้งปวงจึงอัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติ ต้องทรงติดพระราชธุระจัดการภายในพระราชอาณาจักรอยู่มาก จึงต้องละการงานเมืองเขมรไว้คราว ๑
เวลานั้นทางเมืองญวน พวกขบถไกเซินยกตามลงมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือซึ่งเปนเชื้อราชวงษ์ญวนลงมาตั้งสู้รบพวกขบถอยู่ที่นั้น ให้ขึ้นมาเกณฑ์กองทัพเขมรไปช่วยรบพวกขบถ ฟ้าทละหะ (มู) จัดกองทัพลงไปช่วย ก็สู้พวกญวนขบถไม่ได้ ที่สุดองเชียงสือเองก็ต้องหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่ในกรุงเทพฯ ทางเมืองเขมร พอญวนสิ้นอำนาจลง พวกพระยาพระเขมรที่มิใช่สมัคพรรคพวกฟ้าทละหะ (มู) ก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้น ถึงกับจับฟ้าทละหะ (มู) ฆ่าเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้พระยายมราช (แบน) ซึ่งเปนผู้มีสมัคพรรคพวกมากออกไปรักษาเมืองเขมร พระยายมราช (แบน) ก็รักษาราชการกรุงกัมพูชาอยู่ไม่ได้ ด้วยเขมรแตกกันเปนหลายพวกหลายฝ่ายนัก พระยายมราช (แบน) กับพระยากลาโหม (ปก) จึงพาเชื้อวงษ์เจ้าเขมรที่ยังมีตัวอยู่ คือ น้องหญิงสมเด็จพระนารายน์ (นักองค์ตน) ๒ องค์ ธิดา ๓ องค์ นักองค์เองซึ่งเปนบุตรมีอายุได้ ๑๐ ขวบในเวลานั้นองค์ ๑ อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งพระยายมราช (แบน) เปนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ส่วนนักองค์เองนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯ รับเลี้ยงเปนพระราชบุตรบุญธรรม เจ้าหญิงซึ่งเปนพี่นักองค์เอง ๓ องค์ นักองค์เมนป่วยถึงแก่กรรม เหลือแต่นักองค์อี นักองค์เภา กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงรับไปเลี้ยงเปนพระสนมเอกในพระราชวังบวรฯ
ฝ่ายข้างทางเมืองเขมร พวกแขกจามกับพวกพระยาพระเขมรต่างชิงกันเปนใหญ่ รบพุ่งอ่อนกำลังลงด้วยกัน ลงที่สุดพวกแขกจามแพ้ พวกพระยาพระเขมรจึงมีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานนักองค์เองออกไปครองกรุงกัมพูชา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริห์เห็นว่า นักองค์เองอายุยังเยาว์นัก ถ้าส่งออกไปครองกรุงกัมพูชาในเวลานั้น ฉวยเกิดเหตุการณ์อย่างเปนมาแล้ว ก็จะสิ้นสูญวงษ์เจ้านายซึ่งเคยปกครองกรุงกัมพูชามาแต่ก่อน จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ออกไปเปนผู้รั้งราชการกรุงกัมพูชา อยู่ณเมืองอุดงฦๅไชย ตั้งแต่ปีมโรงฉศก พ.ศ. ๒๓๒๗ เปนต้นมา
ครั้นถึงปีมเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙ องเชียงสือญวนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ๔ ปี หนีกลับออกไปเมืองญวน เรื่ององเชียงสือนี้เปนปัจจัยแก่เหตุการณ์ในพระราชพงษาวดาร ตลอดมาจนรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ แลยังมีเรื่องราวขององเชียงสือที่ยังไม่ได้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร สมควรจะอธิบายเรื่องเมืองญวนต่อไปในที่นี้อิกสักตอน ๑ ต่อเรื่องที่ได้แสดงโดยเนื้อความมาข้างต้น จนกระทั่งถึงองเชียงสือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้น ส่วนเรื่องพิศดารที่เกิดขบถไกเซินในเมืองญวนอย่างไร มีแจ้งอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงธนบุรี แลพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ แล้ว ไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อิก จะกล่าวแต่เรื่ององเชียงสือเปนต้นไป คือ ตั้งแต่องเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดให้กองทัพไทยทัพเขมรออกไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนให้องเชียงสือ เมื่อปีเถาะเบญจศก พ.ศ. ๒๓๒๖ ครั้ง ๑ เมื่อปีมโรงฉศก พ.ศ. ๒๓๒๗ อิกครั้ง ๑ การไม่สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ทั้ง ๒ ครั้ง เหตุด้วยข้างกรุงเทพฯ กำลังติดรบพุ่งกับพม่าข้าศึก จะส่งกองทัพใหญ่ลงไปเมืองญวนยังไม่ได้ องเชียงสือเวลาอยู่ในกรุง ก็ได้พาพรรคพวกโดยเสด็จไปช่วยรบพุ่งข้าศึกหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้ทรงพระกรุณาแก่องเชียงสือมาก ครั้งนั้นพวกพ้องขององเชียงสือยังอยู่ในเมืองญวน เห็นว่าองเชียงสือเข้ามาพึ่งไทย หมายเอากำลังไปช่วยตีเอาบ้านเมืองคืนหลายปีแล้ว ก็ไม่สำเร็จ จึงไปคบคิดกับสังฆราชอาดรังฝรั่งเศส ซึ่งตั้งสอนสาสนาคริสตังอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน สังฆราชอาดรังแนะนำให้ไปขอกำลังฝรั่งเศสมาช่วย ตัวสังฆราชรับจะเปนผู้จัดการสื่อสารเอง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเปนด้วยพรรคพวกองเชียงสือบอกเรื่องนี้เข้ามา จึงเปนเหตุให้องเชียงสือหนีกลับไปเมืองญวน ตามเรื่องที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารนั้น ว่าเมื่อองเชียงสือจะหนี ได้ทำหนังสือวางไว้บนโต๊ะที่บูชาที่บ้านซึ่งโปรดให้เปนที่พัก (คือตรงที่ตั้งสถานทูตโปตุเกตทุกวันนี้) เนื้อความในหนังสือนั้น ว่าองเชียงสือได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่หลายปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยง แลได้โปรดให้กองทัพไปช่วยตีเอาบ้านเมืองคืนให้ถึง ๒ ครั้ง การก็ยังไม่สำเร็จด้วยติดพระราชธุระทำสงครามกับพม่าอยู่ องเชียงสือเปนห่วงถึงพรรคพวกบ้านเมือง ขอกราบถวายบังคมลากลับไปคิดอ่านเอาบ้านเมืองคืน ถ้าตีได้บ้านเมืองคืนแล้ว จะขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา ไม่คิดทรยศต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ถึงหากว่าการที่จะไปรบพุ่งพวกขบถ จะขัดสนกำลังวังชาอย่างใด จะบอกมาขอพระราชทานพระบารมีเปนที่พึ่ง ขอให้ช่วยทรงอุดหนุนแก่กองเชียงสือด้วย องเชียงสือทำหนังสือถวายไว้ดังนี้ ตามความที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อองเชียงสือหนีไปครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืองมาก กราบบังคมทูลขอให้แต่งกำลังออกไปติดตามจับองเชียงสือมาให้จงได้ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย รับสั่งว่า เมื่อองเชียงสือจะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็เข้ามาด้วยน้ำใจสมัคของเขาเอง ได้ทำดีไว้กับองเชียงสือมากแล้ว จะไปทำร้ายเมื่อปลายมือหาควรไม่ กรมพระราชวังบวรฯ ไม่พอพระไทยในพระราชดำริห์อันนี้ ถึงกราบทูลพยากรณ์ว่า ถ้าไม่ทรงเชื่อ ขืนปล่อยให้องเชียงสือไปตามอำเภอใจ ต่อไปภายน่าองเชียงสือจะทำให้ลูกหลานได้ความรำคาญเปนแน่แท้
เมื่อมาคิดดูในเวลานี้ กระแสพระราชดำริห์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลพระดำริห์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งผิดกันในครั้งนั้น น่าพิศวงที่เปนการถูกด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย สงไสยแต่ความที่จดไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร เห็นว่าจะไม่สิ้นกระแสพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงพระสติปัญญาในทางรัฐาภิบาลโนบายอย่างสุขุมคัมภีรภาพ ย่อมทรงพระราชดำริห์โดยรอบคอบ ข้อความที่ทรงพระราชดำริห์ แต่มิได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารจะยังมีอิกเปนแน่แท้ ถ้าจะคิดคาดดูเท่าที่แลเห็นได้ในเวลานี้ คือในสมัยนั้นกรุงรัตนโกสินทร์พึ่งตั้งขึ้นใหม่ยังไม่มั่นคง ต้องระวังเหตุร้ายอยู่ทั้งภายในแลภายนอก ด้วยพม่ากำลังพากเพียรที่จะเข้ามารบพุ่งย่ำยีอิก ถ้าพวกญวนขบถไกเซินได้อาณาเขตรญวนทั้งหมดไว้ในอำนาจ คงตั้งราชวงษ์ขึ้นใหม่ในเมืองญวน มีกำลังมากขึ้นข้างฝ่ายใต้อิกประเทศ ๑ ซึ่งอาจจะเปนศัตรูแก่พระราชอาณาจักร โดยเข้ากับพม่า หรือโดยลำพังญวนเอง ถ้าเช่นนั้นก็จะเกิดเปนศึก ๒ ด้าน การที่องเชียงสือยกออกไปรบพุ่งพวกญวนขบถ ฝ่ายใดจะแพ้จะชนะก็ตาม การศึกสงครามในเมืองญวนคงจะยังติดพันกันอยู่หลายปี มีเวลาที่ไทยจะตั้งมั่นแลทำศึกแต่กับพม่าน่าเดียวให้สำเร็จได้ แม้ว่าองเชียงสือตีอาณาเขตรคืนได้เพียงข้างฝ่ายใต้ ก็คงต้องอาไศรยกำลังกรุงเทพฯ อุดหนุน ดังปรากฎในกาลต่อมาว่าความจริงก็เปนเช่นนั้น ว่าโดยย่อ การที่ปล่อยองเชียงสือไปได้โดยสดวกในครั้งนั้น เปนการตัดห่วงทางใต้ได้ประโยชน์แก่การปกครองพระราชอาณาจักรอิกส่วน ๑ เท่ากับที่เปนยุติธรรม ดังกระแสพระราชดำริห์ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารดังกล่าวมา ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าพระราชดำริห์จะมีอย่างนี้ด้วย จึงได้ทรงอุดหนุนองเชียงสือ
เมื่อองเชียงสือหนีออกไปจากกรุงเทพฯ แล้วในคราวนั้น ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ไปอยู่ที่เกาะกูดแขวงเมืองตราดในพระราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบ พระราชทานเรือแลเครื่องสาตราวุธออกไปให้องเชียงสือถึง ๒ คราว แต่เนื้อความปรากฎในหนังสือของ ยอนครอเฟิด ผู้ที่เคยเปนทูตอังกฤษมาทั้งเมืองไทยแลไปเมืองญวนแต่งไว้ ว่าองเชียงสือให้พวกพ้องที่อยู่ในเมืองญวนไปคิดอ่านกับสังฆราชอาดรังฝรั่งเศส มอบบุตรขององเชียงสือคน ๑ ให้สังฆราชอาดรังพาไปเมืองฝรั่งเศส ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๖ ได้ทำหนังสือสัญญาตกลงกับฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสจะให้เรือรบออกมาช่วยองเชียงสือ ๒๕ ลำ มีพลทหารฝรั่ง ๕ กรม ทหารชาวอาเซียถอนมาจากอินเดีย ๒ กรม แลจะให้ทุนช่วยองเชียงสือเปนราคาล้านเหรียญ คิดเปนตัวเงินครึ่ง ๑ เปนเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ครึ่ง ๑ ฝ่ายข้างองเชียงสือยอมสัญญาว่า ถ้าได้บ้านเมืองคืนหมดแล้ว จะยอมยกแผ่นดินส่วน ๑ ตอนแหลมฮั่นแลอ่าวตุรันกับเกาะทั้งหลายที่อยู่ในหมู่นั้น กับทั้งแผ่นดินชายฝั่งทเลยาว ๑๕๐๐ เส้น กว้าง ๓๐๐ เส้นให้แก่ฝรั่งเศส แลยอมสัญญาว่า ถ้ามีชนชาติอื่นมารบพุ่งฝรั่งเศสถึงดินแดนที่องเชียงสือได้ยกให้ องเชียงสือจะยกกำลังหกหมื่นคนมาช่วย ถ้าหากว่าฝรั่งเศสต้องทำศึกทางอินเดียในที่อื่น ยอมให้ฝรั่งเศสเกณฑ์ญวนไปช่วยรบสี่หมื่นคน นอกจากนี้ยังยอมให้ประโยชน์ในทางการค้าขายแก่ฝรั่งเศสอิกหลายอย่าง เรื่องที่องเชียงสือไปทำสัญญากับฝรั่งเศสดังนี้ ความเห็นจะไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แต่การไม่เปนไปได้ดังสัญญา เพราะประจวบเวลาเกิดขบถเปนจลาจลขึ้นในเมืองฝรั่งเศส ถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ถูกจับปลงพระชนม์ พวกฝรั่งเศสต้องติดทำศึกสงครามกับประเทศอื่นในยุโรปต่อมาอิกช้านาน ครั้งนั้นสังฆราชอาดรังหาได้แต่นายทหารซึ่งชำนาญในการรบพุ่ง เปนนายทหารฝรั่งเศสบ้าง อังกฤษบ้าง ไอริชบ้าง รวม ๑๕ คน ออกมาช่วยองเชียงสือ ๆ ได้อาไศรยกำลังกรุงเทพฯ ช่วยอุดหนุน ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานเรือรบแลเครื่องสาตราวุธกระสุนดินดำช่วยองเชียงสือทุกคราวที่กราบบังคมทูลขอเข้ามา องเชียงสือทำศึกกับพวกไกเซินอยู่ ๓ ปี จึงตีได้อาณาเขตรญวนข้างตอนใต้ เมื่อปีจอโทศก พ.ศ. ๒๓๓๓ แล้วตั้งตัวเปนเจ้าอนัมก๊ก ถวายต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ ยอมเปนเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ ต่อมา ตามที่ได้สัญญาไว้ในหนังสือกราบถวายบังคมลานั้น
แต่เมื่อองเชียงสือตั้งตัวเปนเจ้าอนัมก๊กแล้วไม่เท่าใด ก็เกิดเปนอริกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ผู้รั้งราชการกรุงกัมพูชา แต่ไม่ถึงรบพุ่งกัน ด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เปนแต่บอกกล่าวโทษกันแลกันเข้ามายังกรุงเทพฯ มูลเหตุอันเปนข้ออริกันนั้นก็พอจะคิดเข้าใจได้ในเวลานี้ ด้วยญวนย่อมถือว่าเคยเปนใหญ่กว่าเขมรมาแต่ก่อน การที่สมาคม ญวนคงจะถือเปรียบแลหมิ่นเขมรว่าเลวกว่าตนอย่างเคยนิยมมา ฝ่ายข้างเขมรเห็นญวนเสื่อมอำนาจลดลงคงเปนแต่เมืองประเทศราช ไม่วิเศษอันใดกว่ากรุงกัมพูชาในเวลานั้น ก็ไม่ผันผ่อนอ่อนโยนให้แก่ญวนอย่างแต่ก่อน ข้อนี้เปนแน่แท้ ที่เปนมูลเหตุให้เกิดอริกันในระหว่างองเชียงสือกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เมื่อความอริกันในส่วนตัวเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาก็เลยบาดหมางกันในระหว่างเมือง เลยเปนเหตุให้ญวนคิดจะมีอำนาจเหนือเขมรดังแต่ก่อน แต่หากเกรงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องเชียงสือจึงไม่กล้าเบียดเบียนเมืองเขมรโดยเปิดเผย แต่น่าสงไสยว่าคงจะให้ท้ายพระยาพระเขมรพวกที่ไม่พอใจเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ให้ก่อความลำบากต่างๆ อย่างไรอยู่บ้าง โดยมิได้ออกหน้า มาถึงปีขาลฉศก พ.ศ. ๒๓๓๗ นักองค์เองมีชนมายุได้ ๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริห์เห็นถึงเวลาสมควรจะให้นักองค์เองครองกรุงกัมพูชาสืบเชื้อวงษ์ต่อไปได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้อภิเศกนักองค์เองเปนสมเด็จพระนารายน์ราชาออกไปครองกรุงกัมพูชา ทรงตั้งให้พระยากลาโหม (ปก) ซึ่งเปนพี่เลี้ยงของนักองค์เอง เปนสมเด็จฟ้าทละหะ หัวน่าข้าราชการ ในครั้งนั้นทรงพระราชดำริห์ว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ได้รั้งราชการกรุงกัมพูชาอยู่ช้านาน มีบำเหน็จความชอบ แต่มิใช่พวกนักองค์เองซึ่งเปนเจ้ากรุงกัมพูชาขึ้นใหม่ จึงมีพระราชดำรัสขอเขตรแดนเมืองพัตบอง เสียมราฐ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เปนผู้สำเร็จราชการ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ นักองค์เองก็ยอมยินดีถวายตามพระราชประสงค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองพัตบอง แลเปนต้นตระกูลวงษ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ซึ่งได้สำเร็จราชการเมืองพัตบองสืบมา
สมเด็จพระนารายน์ราชา (นักองค์เอง) ครองกรุงกัมพูชาอยู่ได้ ๔ ปี ก็พิราไลย ในปีมเสงนพศก พ.ศ. ๒๓๔๐ อายุได้ ๒๕ ปี มีบุตร ๕ องค์ ที่ ๑ ชื่อนักองค์จันทร์ อายุได้ ๖ ปี ที่ ๒ ชื่อนักองค์พิม ที่ ๓ ชื่อนักองค์สงวน มารดาเดียวกันกับนักองค์จันทร์ ที่ ๔ ชื่อนักองค์อิ่ม ที่ ๕ ชื่อนักองค์ด้วง มารดาเดียวกับนักองค์อิ่ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริห์เห็นว่า บุตรสมเด็จพระนารายน์ยังเยาว์นัก จึงโปรดให้สมเด็จฟ้าทะละหะ (ปก) เปนผู้สำเร็จราชการกรุงกัมพูชา ดูแลทนุบำรุงบุตรสมเด็จพระนารายน์ต่อมา
ในระหว่างนั้น องเชียงสือจะทำการศึกตีเอาเมืองเว้แลเมืองตังเกี๋ยคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดพระราชทานกำลัง แลให้กองทัพเขมรยกไปช่วยองเชียงสือ ๆ ทำศึกอยู่จนปีจอจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๔๕ ตีได้เมืองเว้แลมณฑลตังเกี๋ยตลอดแล้ว จึงตั้งตนเปนพระเจ้าเวียดนาม ถือความเปนอิศร ใช้นามแผ่นดินว่ายาลอง ไม่ถวายต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เช่นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ อย่างแต่ก่อน แต่ถึงกระนั้นยังแสดงความเคารพนับถือซื่อตรงต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตลอดมา จนที่สุดเมื่อปีชวดฉศก พ.ศ. ๒๓๔๗ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระเจ้าเวียดนามยาลองมีพระราชสาสนเข้ามาทูลตักเตือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า พระองค์ทรงชราลงแล้ว พระเจ้าลูกเธอหลานเธอล้วนทรงพระเจริญขึ้นตามกัน ควรจะทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย) ซึ่งเปนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเปนพระมหาอุปราช ในตำแหน่งที่รัชทายาท ให้เปนการเรียบร้อยมั่นคงแก่พระราชอาณาจักร การที่พระเจ้าเวียดนามยาลองมีพระราชสาสนมาอย่างนี้ เข้าใจว่าคงจะรู้การที่เปนอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยราชทูตไทยแลราชทูตญวนไปมาถึงกันอยู่เนืองๆ แต่ส่วนทางเมืองเขมรนั้น ปรากฎในหนังสือพงษาวดารเขมรว่า พอองเชียงสือตั้งตนเปนพระเจ้าเวียดนามแล้ว ก็ให้มีราชสาสนเข้ามายังฟ้าทละหะ บอกว่าตีอาณาเขตรคืนกลับตั้งประเทศเวียดนามเปนอิศรดังแต่ก่อนแล้ว เปนทำนองบอกให้รู้ว่าญวนมีอำนาจอย่างแต่ก่อนแล้ว แต่ก็ยังหาได้ทำการรุกรานอันใดแก่เมืองเขมรไม่ คงเปนเพราะติดอยู่ด้วยความยำเกรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ครั้นถึงปีขาลอัฐศก พ.ศ. ๒๓๔๙ สมเด็จฟ้าทละหะ (ปก) สำเร็จราชการกรุงกัมพูชามาได้ ๑๐ ปี เห็นว่าตัวมีความแก่ชรา แลนักองค์จันทร์ซึ่งเปนบุตรใหญ่ของสมเด็จพระนารายน์ (นักองค์เอง) ก็เจริญชัณษาได้ ๑๖ ปี ควรจะครองกรุงกัมพูชาได้ สมเด็จฟ้าทละหะจึงพานักองค์จันทร์ นักองค์อิ่ม เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กราบบังคมทูลให้ทรงทราบความปราถนา จึงทรงตั้งนักองค์จันทร์ให้เปนสมเด็จพระอุไทยราชาครองกรุงกัมพูชา แต่สมเด็จฟ้าทละหะ (ปก) เข้ามาถึงอนิจกรรมในกรุงเทพฯ เมื่อเข้ามาคราวนั้น
ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อนักองค์จันทร์ได้เปนสมเด็จพระอุไทยราชาแล้ว มีเหตุเกิดความโทมนัสขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๑ ด้วยความ ๓ ข้อ คือ ข้อ ๑ เมื่อจะกราบถวายบังคมลากลับออกไป สมเด็จพระอุไทยราชาเข้าไปกราบถวายบังคมลาเวลาเสด็จออกพระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณโดยอำเภอใจ ไม่รอให้เสนาบดีกราบทูลเบิกตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสติเตียนความประพฤติอันนั้น สมเด็จพระอุไทยราชาได้ความอัปยศนี้อย่าง ๑ อิกข้อ ๑ นั้น ว่าเมื่อกลับออกไปถึงกรุงกัมพูชาแล้ว สมเด็จพระอุไทยราชาเกิดวิวาทกับพระยาเดโช (เม็ง) สมเด็จพระอุไทยราชาสั่งให้จับพระยาเดโช (เม็ง) รู้ตัวจึงหนีเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระอุไทยราชามีศุภอักษรเข้ามากราบทูลขอตัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่พระราชทานให้ตามใจ จึงเกิดความโทมนัศ อิกข้อ ๑ นั้น ว่าสมเด็จพระอุไทยราชามีศุภอักษรเข้ามากราบทูลของนักองค์อีนักองค์เภาผู้เปนป้าซึ่งยังอยู่ในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงอนุญาตให้กลับไป เพราะเหตุด้วยนักองค์อีมีพระเจ้าลูกเธอกับกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ ๑ คือ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร แลนักองค์เภามีพระเจ้าลูกเธอพระองค์ ๑ คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก ไม่ควรจะให้เจ้าจอมมารดาต้องพลัดพรากกับพระองค์เจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น[๒] ความข้อนี้ว่าเปนเหตุอิกอย่าง ๑ ซึ่งสมเด็จพระอุไทยราชาเกิดโทมนัศน้อยใจมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระอุไทยราชาจึงบิดพลิ้วบอกป่วยเสียไม่เข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ แลเฝ้าถวายบังคมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเมื่อเสด็จผ่านพิภพ ตามประเพณีซึ่งเจ้าประเทศราชควรจะทำ เปนแต่ให้นักองค์อิ่มผู้น้องกับพระองค์แก้วแลพระยากลาโหม (เมือง) พระยาจักรี (แบน) เข้ามาแทน มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อณเดือน ๔ ปีมเสงเอกศกนั้น
เหตุที่สมเด็จพระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมพูชาเอาใจออกหากจากกรุงเทพฯ นั้น ข้าพเจ้ายังไม่ได้พบจดหมายเหตุหรือศุภอักษรในครั้งนั้น ซึ่งจะถือเปนหลักความสันนิฐาน มีแต่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เรียบเรียง ท่านก็พึ่งมาเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๕ บางทีท่านจะได้พบจดหมายเก่าบ้าง แต่เมื่อมาพิเคราะห์ดูสาเหตุ ๓ ข้อที่ยกมาแสดงดังกล่าวแล้ว ดูเปนแต่พลความ ไม่พอจะเปนเหตุให้เลยไปถึงการบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า เหตุอื่นจะมีนอกจากนั้นเปนแน่ เมื่อพิจารณาดูในเวลานี้ เห็นว่าข้อสำคัญนั้น จะเกิดแต่เรื่องที่พระยาพระเขมรแตกเปนต่างพวกกัน ดังปรากฎมาตั้งแต่ครั้งนักองค์ตนแลนักองค์โนนนั้นเองเปนต้นเค้า แต่เดิมมาพระยาพระเขมร ๒ พวกนี้ พวก ๑ เปนฝากฝ่ายข้างญวน พวก ๑ เปนฝากฝ่ายข้างไทย ในเวลาเมื่อเมืองญวนเปนจลาจลประจวบเวลามีเหตุวิบัติในราชวงษ์กรุงกัมพูชา ทั้งกรุงกัมพูชาแลอนัมก๊กเปนเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ต้องอาไศรยพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอุดหนุนอยู่ทั้ง ๒ เมือง การก็เรียบร้อยตลอดมา เมื่อทรงตั้งนักองค์เองเปนสมเด็จพระนารายน์ราชาออกไปครองกรุงกัมพูชา ความปรากฎเห็นได้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเข้าพระไทยดีทีเดียว ว่าเหตุที่พระยาพระเขมรแตกกันเปน ๒ พวกมาแต่ก่อนนั้นยังไม่สิ้นเชื้อ นักองค์เองได้เปนเจ้ากรุงกัมพูชา คงจะชุบเลี้ยงยกย่องพระยาพระเขมรพวกนักองค์ตนผู้บิดายิ่งกว่าพวกนักองค์โนน ด้วยเหตุนี้ จึงทรงตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ซึ่งเปนหัวน่าข้างพระยาพระเขมรฝ่ายนักองค์โนนให้มาอยู่เปนผู้สำเร็จราชการเมืองพัตบอง แลให้ฟ้าทละหะ (ปก) ผู้เปนพี่เลี้ยงนักองค์เองมาแต่เดิม ซึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นควรไว้วางพระราชหฤไทยได้ เปนผู้ใหญ่อยู่ในกรุงกัมพูชา ส่วนสมเด็จพระนารายน์ราชาก็เปนผู้ที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงตั้งแต่ยังเด็ก อยู่ในกรุงเทพฯ กว่า ๑๐ ปี แลได้ออกไปเปนเจ้ากรุงกัมพูชา เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงทนุบำรุงมาแต่ต้นจนปลาย ย่อมจะมีความสวามิภักดิมั่นคงอยู่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ส่วนนักองค์จันทร์ซึ่งเปนสมเด็จพระอุไทยราชานั้น ประวัติผิดกันกับสมเด็จพระนารายน์ผู้บิดาเกือบทุกอย่าง เปนต้นตั้งแต่ออกไปจากกรุงเทพฯ ก็ไปแต่ยังเด็กไปโตขึ้นในเมืองเขมร ในระหว่างนั้นจะได้ไปส้องเสพสมาคมกับพวกพระยาพระเขมรที่เปนอริกับพวกฝากฝ่ายข้างไทย ไปได้รับความอบรมจากพระยาพระเขมรที่มิได้สัตย์ซื่อต่อกรุงเทพฯ นี้เปนต้นเค้าที่ทำให้น้ำใจสมเด็จพระอุไทยราชากระด้างกระเดื่อง ข้อที่ว่าสมเด็จพระอุไทยราชาถูกทรงบริภาษเมื่อจะกราบถวายบังคมลาออกไป ถ้าหากจะเปนเหตุให้โทมนัศ ก็จะเปนเพียงทำให้รู้สึกในใจว่าไม่ทรงพระกรุณาแก่ตน เหมือนกับทรงพระกรุณาแก่บิดามาแต่ก่อน ข้อที่ทูลขอตัวพระยาเดโช (เม็ง) ไปทำโทษไม่ได้ดังปราถนา ก็จะทำให้รู้สึกเพียงว่า ข้างกรุงเทพฯ เข้ากับพระยาพระเขมรซึ่งมีความกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระอุไทยราชา ยังข้อที่ขอนักองค์อีนักองค์เภาไม่ได้ดังปราถนานั้น ถ้าจะคิดดูโดยมูลเหตุ นักองค์อีนักองค์เภาเปนแต่ป้าของสมเด็จพระอุไทยราชา มียศศักดิแลมีพระเจ้าลูกเธออยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว ทำไมจะต้องขอกลับคืนไปบ้านเมือง ข้อตอบข้อนี้มีอย่างเดียวแต่ว่า ประสงค์จะให้หมดตัวจำนำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่ได้จึงไม่พอใจ มิใช่ไม่พอใจเพราะขาดป้าไป ๒ คน ความสำคัญข้อซึ่งเปนเหตุให้สมเด็จพระอุไทยราชามีน้ำใจผันแปรไปตามคำยุยงของพวกพระยาพระเขมรจำพวกที่ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ น่าจะเปนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ถึงอสัญกรรมแต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ ทรงตั้งให้บุตรเปนพระยาอภัยภูเบศร์สำเร็จราชการเมืองพัตบองแทน ข้างพวกกรุงกัมพูชาคงจะอยากได้เขตรแดนเมืองพัตบองคืน ข้อที่ ๒ คือที่องเชียงสือกลับรวมเมืองญวนตั้งเปนประเทศอิศรได้ดังแต่ก่อน มีอำนาจญวนอยู่ข้างฝ่ายใต้ซึ่งจะหมายพึ่งได้ในเวลาไม่ถูกใจกับไทย ความทั้ง ๒ ข้อนี้เห็นจะเปนต้นเค้าที่พวกพระยาพระเขมรซึ่งไม่ชอบไทยจะเอามาเปนเหตุยุยงสมเด็จพระอุไทยราชาให้เอาใจออกหาก ทั้งญวนเอง แม้ในรัชกาลที่ ๑ จะไม่ได้ทำการอย่างใดให้เปนอริกับกรุงเทพฯ ด้วยพระเจ้ายาลองยังมีความนับถือคิดถึงพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่นั้นก็จริง แต่เมื่อมาแลดูเหตุการณ์ที่ปรากฎในภายหลัง น่าเชื่อว่า คงคิดตระเตรียมไว้แล้วที่จะขยายอำนาจญวนออกมาทางกรุงกัมพูชาเมื่อเวลาล่วงรัชกาลที่ ๑ แล้ว ข้อนี้ไม่มีที่สงไสย
อนึ่งในเวลาเมื่อสมเด็จพระอุไทยราชาแต่งให้นักองค์อิ่มกับพระองค์แก้วเข้าถวายบังคมพระบรมศพแทนตัวนั้น การที่สมเด็จพระอุไทยราชาคิดเอาใจออกหาก คงจะทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ บางทีพวกพระยาพระเขมรที่เข้ามากับนักองค์อิ่มนั้นเอง จะมาแจ้งความเรื่องนี้ให้ทราบเปนความลับ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงพระราชดำริห์ว่า ตำแหน่งเจ้านายผู้ใหญ่ในกรุงกัมพูชา เคยมีตำแหน่งพระมหาอุปโยราชตำแหน่ง ๑ พระมหาอุปราชตำแหน่ง ๑ รองจากเจ้ากรุงกัมพูชาลงมา ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม น้องสมเด็จพระอุไทยราชามีอายุสมควรจะได้รับยศศักดิอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งนักองค์สงวนเปนพระไชยเจษฎามหาอุปโยราช แลตั้งนักองค์อิ่มเปนพระศรีไชยเชษฐมหาอุปราช พระมหาอุปโยราช พระองค์แก้ว แลพระยาพระเขมร กราบถวายบังคมลากลับไปในต้นปีมเมียโทศก พ.ศ. ๒๓๕๓ ในคราวนั้นโปรดให้พระยาเดโช (เม็ง) ซึ่งหนีสมเด็จพระอุไทยราชาเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กลับออกไปกรุงกัมพูชาด้วย ทำนองไกล่เกลี่ยปรานีประนอมกันเปนที่เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระยาเดโช (เม็ง) กลับออกไป หาได้ไปอยู่ที่เมืองหลวงไม่ ไปอยู่เสียกับสมัคพรรคพวกที่เมืองกำพงสวาย
[๑] ความในพระราชพงษาวดารตรงนี้ มีความสันนิฐานของท่านผู้ศึกษาโบราณคดี ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยสดับมาแต่ก่อน ว่าที่พระเจ้ากรุงธนบุรีให้พาเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปอภิเศกเปนพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น มูลเหตุอาจจะเปนด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงการสืบสันตติวงษ์ในกรุงธนบุรี ด้วยลูกเธอที่สำคัญในเวลานั้นมี ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์นี้พระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าฟ้าเหม็น ที่เปนกรมขุนกระษัตรานุชิตเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ถึงยังทรงพระเยาว์อยู่ในเวลานั้นก็จริง แต่เปนพระนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีปลงพระไทยจะให้เจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์เปนผู้รับรัชทายาท จึงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ให้ไปครองกรุงกัมพูชา เพื่อจะมิให้เกิดเกี่ยงแย่งในการสืบสันตติวงษ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าความวินิจฉัยข้อนี้ชอบกลอยู่จึงได้จดลงไว้
[๒] ในหนังสือพระราชพงษาวดารเขมรว่า นักองค์เภาไม่ได้มีพระเจ้าลูกเธอ แลได้โปรดให้กลับคืนออกไปอยู่เมืองเขมร ทรงห้ามไว้แต่นักองค์อี ด้วยมีพระเจ้าลูกเธอกับกรมพระราชวังบวรฯ ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าวงษ์ขัติยาพระองค์ ๑