๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓

ฝ่ายเจ้าพระยายมราช (น้อย) ซึ่งยกกองทัพไทยลงไปตั้งอยู่ที่เมืองบันทายเพ็ชรนั้น ตั้งแต่มีหนังสือลงไปถึงสมเด็จพระอุไทยราชาแลองต๋ากุนญวนเจ้าเมืองไซ่ง่อนแล้ว รอฟังอยู่จนตลอดฤดูแล้งก็ไม่ได้รับตอบมาอย่างหนึ่งอย่างใด จึงเห็นว่าเปนอุบายของญวนที่จะแกล้งถ่วงเวลาไปให้ถึงฤดูน้ำจนใช้เรือได้สดวกแล้ว ญวนจึงจะยกกองทัพเรือขึ้นมาช่วยสมเด็จพระอุไทยราชา ถ้าปล่อยการรั้งรอไปให้สมความคิดญวน กองทัพไทยจะเสียเปรียบมากนัก เพียงแต่ที่ตั้งรั้งรออยู่เสบียงอาหารก็ขัดสนเข้าทุกที เจ้าพระยายมราชจึงปฤกษากับนักพระองค์สงวนซึ่งเปนพระมหาอุปโยราช นักพระองค์อิ่มซึ่งเปนพระมหาอุปราช แลนักพระองค์ด้วง ซึ่งเปนน้องสมเด็จพระอุไทยราชาทั้ง ๓ พระองค์ ว่าซึ่งสมเด็จพระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมพูชาหนีไปเอาอำนาจญวนเปนที่พึ่ง แลเมื่อไทยได้พูดจาด้วยโดยดีแล้ว แกล้งนิ่งเสียเช่นนั้น ความประพฤติของสมเด็จพระอุไทยราชาเปนฐานขบถโดยตรง จะรั้งรอไม่ทำอย่างไรต่อไปนั้นไม่ได้ จำจะต้องทำการที่เห็นว่าเปนประโยชน์อย่างดีที่สุดสำหรับกรุงเทพฯ นักองค์ทั้ง ๓ มีความสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ยอมที่จะทำตามคำแนะนำของพระยายมราชทุกประการ เจ้าพระยายมราชจึงให้เผาเมืองพนมเพ็ญ เมืองกระพงหลวง แลเมืองบันทายเพ็ชรเสียทั้ง ๓ เมือง เพื่อจะมิให้เปนที่อาไศรยของข้าศึก แล้วให้อพยพผู้คนเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองพัตบอง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง อยู่ฟังราชการที่เมืองบันทายเพ็ชร ส่วนเจ้าพระยายมราชพานักองค์ทั้ง ๓ เข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้เจ้าเขมรพักอยู่ที่บ้านเดิมของสมเด็จพระนารายน์ราชาริมสพานบ้านเขมรทุกวันนี้ นักพระองค์สงวนซึ่งเปนพระมหาอุปโยราชเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ได้ ๔ ปี ป่วยถึงอนิจกรรม คงอยู่ต่อมาแต่นักพระองค์อิ่มซึ่งเปนพระมหาอุปราชกับนักพระองค์ด้วง

ในเวลาเมื่อเจ้าพระยายมราชพานักพระองค์ทั้ง ๓ เข้ามานั้น พระราชเสนาซึ่งเปนราชทูตเชิญพระราสาสนออกไปในการศพดึกทายเฮายังอยู่ที่กรุงเวียดนาม จึงโปรดให้มีพระราชสาสนให้ขุนอนุรักษ์ภูธร หมื่นสุนทรภักดี เชิญออกไปให้พระราชเสนานำขึ้นถวายพระเจ้าเวียดนามยาลอง เล่าเหตุการณ์ทั้งปวงที่มีมาในกรุงกัมพูชาให้พระเจ้ากรุงเวียดนามทราบ ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงสมเด็จพระอุไทยราชามาแต่ยังเยาว์ จนได้ทรงอภิเศกเปนพระเจ้ากรุงกัมพูชา ก็มิได้มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ แม้เมื่อเสด็จสวรรคตก็บิดพลิ้วเสีย ไม่เข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ แลซ้ำประพฤติทนงองอาจขัดแขงต่อกรุงเทพฯ มาหลายครั้งหลายคราว ครั้นให้ลงไปว่ากล่าวโดยดีหวังว่าจะให้เปนการเรียบร้อย สมเด็จพระอุไทยราชาก็กลับหลบหนีลงไปอยู่เสียที่เมืองไซ่ง่อน จึงแจ้งความทั้งปวงมาให้พระเจ้ากรุงเวียดนามทราบความที่จริงไว้ ขุนอนุรักษ์ภูธรเชิญพระราชสาสนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๘ บุรพาสาธแรม ๑๐ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๕๕

ครั้นพวกทูตานุทูตกลับมาจากกรุงเวียดนาม เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าเวียดนามยาลองตอบเข้ามาว่า เจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือบอกขึ้นไปถึงกรุงเวียดนามว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้ยกกองทัพใหญ่ไปตั้งอยู่แดนพนมเพ็ญ เจ้าเมืองเขมรตกใจกลัวจึงหนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน กองทัพไทยตั้งแต่ไปอยู่เมืองเขมรเบียดเบียนริบรบาทว์ ไพร่พลเมืองเขมรได้ความเดือดร้อนนัก จนชั้นแต่ระเนียดค่ายวังของสมเด็จพระอุไทยราชาก็รื้อเอาไปทำฟืนเสีย พระเจ้ากรุงเวียดนามคอยฟังราชสาสนกรุงเทพฯ อยู่ จะได้รู้เหตุผลต้นปลาย ก็พอมีพระราชสาสนพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาออกไป ในพระราชสาสนมีความจะแจ้งอยู่ว่า ขอให้พระเจ้ากรุงเวียดนามช่วยทรงพระดำริห์ อย่าให้เสียประเพณีที่เมืองใหญ่โอบอ้อมเมืองน้อยดังนี้ พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นว่าพระราชไมตรีทั้ง ๒ พระนครจะยืดยาวไป ก็เพราะตั้งอยู่ในประเพณีกระษัตริย์ซึ่งอยู่ในสัตย์ธรรมทั้ง ๒ พระนคร ที่จริงนักพระองค์สงวนนั้นเปนข้าก็ไม่ตรงต่อเจ้า เปนบุตรก็หาความกตัญญูไม่ เปนน้องก็ไม่อดออมต่อพี่ โทษของนักพระองค์สงวนนั้นใหญ่ยิ่งกว่าผู้อื่น แต่เมื่อคิดไปนักพระองค์สงวนก็ยังเยาว์อยู่ ถ้ารู้ว่าตัวผิดรับขอโทษต่อพี่เสียก็พอจะหายโทษ ถ้าเปนได้ดังนี้แล้วเนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน กรุงเวียดนามจะแต่งให้ขุนนางพานักพระองค์จันทร์ (สมเด็จพระอุไทยราชา) กลับเข้ามาเมืองเขมร ขอให้กรุงศรีอยุทธยาแต่งขุนนางผู้ใหญ่ออกไป พระเจ้ากรุงเวียดนามจะได้ชี้แจงข้อความพร้อมกับขุนนางญวน แลให้พร้อมกันพาสมเด็จพระอุไทยราชากลับคืนมาเมืองเขมร อย่างนี้จึงจะควรกับสองพระนครอันเปนใหญ่ ที่จะปลูกฝังทำนุบำรุงเมืองน้อยขึ้น

เมื่อในกรุงเทพฯ ได้ทราบความตามพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงเวียดนามดังนี้ ก็เข้าใจได้ว่าญวนตั้งใจจะถือหางสมเด็จพระอุไทยราชา แลเห็นว่าญวนได้เปรียบอยู่ ด้วยได้สมเด็จพระอุไทยราชาไปไว้ในมือ ถ้าจะขัดขวางคงจะต้องส่งกองทัพลงไปยึดเมืองเขมรในเวลาฤดูแลในท้องที่อันเสียเปรียบญวนในเชิงสงคราม อิกประการ ๑ ถ้าเกิดสงครามขึ้นทางข้างใต้ อาจจะเปนเหตุให้พม่ายกกองทัพเข้ามาทางข้างเหนือ ด้วยศึกพม่าที่มาตีเมืองถลางเมื่อปีมเสงเอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ มิได้แตกยับเยินไปอย่างคราวก่อนๆ พม่ายังมีทั้งกำลังแลความมุ่งหมายที่จะหาโอกาศมาทำร้ายเมืองไทยอยู่ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงทรงพระดำริห์ว่า รักษาทางไมตรีกับญวนไว้ดีกว่าที่จะให้เกิดเปนอริกันขึ้นในเวลานั้น จึงโปรดให้พระยามหาอำมาตย์เปนราชทูต พระยาราชโยธาเปนอุปทูต พระท่องสื่อเปนตรีทูต เชิญพระราชสาสนไปกรุงเวียดนามเมื่อณวันจันทร์เดือน ๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๕๕ ครั้นไปถึงเมืองไซ่ง่อนองต๋ากุนให้รับแห่พระราชสาสน แลจัดการเลี้ยงทูตานุทูต มีงิ้วให้ทูตดู แลมีการประลองยุทธอวดกำลังญวนหลายอย่าง เปนต้นว่าให้เอาช้างศึกที่หัดไว้ออกสู้เสือสู้ไฟสู้ปืน ให้เห็นว่าช้างนั้นมิได้ตกใจกลัว เข้าแย่งร้านไฟแลแทงเสือ เสียงปืนสนั่นก็ไม่ถอยหนี เอาคนโทษที่ถึงตายมามัดให้ช้างแทงจนถึงตาย เปนการอวดทูตไทยต่างๆ ครั้นรับรองที่เมืองไซ่ง่อนแล้ว องต๋ากุนก็จัดพาหนะส่งพระราชสาสนแลทูตไทยขึ้นไปเมืองเว้ พระเจ้าเวียดนามยาลองรับทูตไทยคราวนั้น ตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ดูเปนการที่ตั้งพระไทยจะทำให้พวกทูตเข้าใจว่าทรงยินดีในการที่จะรักษาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม แลแสดงให้ทูตเห็นกำลังแลอำนาจของญวนด้วยประการต่างๆ เปนต้นว่าให้ขุนนางพาไปเที่ยวดูบ้านเมือง ฉางเข้า ตึกดินแลที่ไว้เครื่องสาตราวุธ แล้วมีงิ้วให้ทูตดู ฝึกหัดประลองยุทธให้ทูตดูที่สนามนอกกำแพงเมืองเว้เปนการใหญ่ ยิ่งกว่าเมืองไซ่ง่อนขึ้นไปอิก ให้ทำเปนแผงยกไปตั้งเปนค่ายสามชั้นห่างกันประมาณ ๓ เส้น น่าค่ายนั้นปักรูปหุ่นร้านไฟสลับกัน ๓๘ ร้าน มีคนถือปืนคาบศิลาปลายหอกอยู่ในค่ายประมาณชั้นละร้อยเศษ มีธงทวนสลับกับปืน แลมีกลองใหญ่คู่ ๑ มีร่มแดงกาง ๒ คัน มีคนหามองทงเจแม่ทัพอยู่กับกลองสัญญาของแม่ทัพ มีธงใหญ่อยู่กับองทงเจนั้น ๕ คัน สีเหลืองคัน ๑ สีแดงข้างละ ๒ คัน แล้วจึงตีกลองสัญญาขึ้น ๓ ที ให้คนขึ้นม้ามาน่าช้างประมาณ ๓๐ เศษ มีม้าเทศสีขาวม้า ๑ ห่าง ต่อมาช้างพลาย ๓๘ ช้าง ผูกสัปคับมีธงสักลาดแดงปักช้างละคัน ไสช้างให้วิ่งเข้าแทงหุ่นน่าค่าย แล้วเสยร้านไฟ คนถือปืนอยู่ในแผงค่ายยิงปืนจุดพลุตีฆ้องกลองม้าฬ่อเสียงโห่ร้องอื้ออึง ช้างก็เข้ายื้อแย่งแทงค่ายล้มกระจัดกระจย แต่ทำอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อเสร็จการประลองยุทธแล้วพระเจ้ากรุงเวียดนามมีรับสั่งให้ทูตานุทูตไทยเข้าไปเฝ้า รับสั่งว่าเรื่องเมืองเขมรนั้นจะให้สมเด็จพระอุไทยราชาไปขึ้นกรุงเทพฯ ดังเก่า แลจะให้ตัวเข้าไปเฝ้าถึงกรุงเทพฯด้วย ที่สมเด็จพระอุไทยราชาทำผิดมาแต่ก่อนนั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามขอพระราชทานโทษเสียสักครั้ง ๑ แล้วจึงให้องต๋ากุนพร้อมกับพระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา พระท่องสื่อ พาสมเด็จพระอุไทยราชามาส่งณเมืองบันทายเพ็ชรเมื่อณเดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๕๕ สมเด็จพระอุไทยราชาว่าเมืองบันทายเพ็ชรนั้นเปนที่ดอน ไม่พอใจอยู่ ขอตั้งอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญ ด้วยใกล้แม่น้ำ[๑] ครั้นเสร็จส่งสมเด็จพระอุไทยราชาแล้ว พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา ข้าหลวงไทยก็เดินบกมาเมืองพัตบอง

ครั้งนั้นองต๋ากุนทำสง่าอวดพวกไทยและเขมร สำแดงให้เห็นว่าเปนคนโอบอ้อมอารีมีเมตตาแก่ราษฎรเขมร หวังจะให้เขมรนับถือ ประกาศนายทัพนายกองไพร่พลของตัวอันเปนจำนวนคนถึงสองพันเศษ ไม่ให้ไปเที่ยวเบียดเบียนเอาทรัพย์สิ่งของพวกเขมร ตั้งแต่ผักต้นหนึ่งเปนต้นไป ถ้าใครไปเอาของที่มีเจ้าของมาแล้วจะประหารชีวิตรเสีย วันหนึ่งองต๋ากุนเห็นพวกญวนถือผักมากำมือหนึ่ง จึงให้เอาตัวมาถาม อ้ายญวนแจ้งว่าของชาวบ้านเขาให้โดยปรกติไม่ได้ข่มเหงเขา องต๋ากุนว่ากฎหมายวางไว้แล้วตัวรู้หรือไม่ อ้ายญวนก็ให้การว่ารู้แล้วแต่เห็นว่าไม่ได้ข่มเหงเขา องต๋ากุนตัดสินว่าในหมายประกาศไม่ได้ว่าขอเขาให้โดยดีแล้วไม่มีโทษ ตัวทำผิดต้องตาย จึงสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย เอาศีศะมาเสียบไว้ สมเด็จพระอุไทยราชาจะให้สิ่งใด ญวนก็ไม่เอา จึงให้จับสุนักข์แลจรเข้ไปส่งกองทัพญวน องต๋ากุนว่าสุนักข์แลจรเข้ไม่มีเจ้าของให้รับไว้แจกจ่ายกันเปนอาหาร องต๋ากุนให้เขมรปลูกหอสูงหลังหนึ่ง ตั้งโต๊ะเครื่องบูชาพระนามพระเจ้ากรุงเวียดนาม แล้วตั้งเปนกำหนดว่าถึงวันขึ้นค่ำ ๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำให้สมเด็จพระอุไทยราชาและพระยาพระเขมรผู้ใหญ่แต่งเครื่องแต่งตัวอย่างญวนตามยศซึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนามพระราชทานนั้น ขึ้นไปคำนับพระนามพระเจ้ากรุงเวียดนามทุกเดือน ให้คิดถึงพระเดชพระคุณพระเจ้ากรุงเวียดนามอย่าให้ลืมเสีย แต่ความที่พระเจ้ากรุงเวียดนามรับสั่งแก่ทูตไทย ว่าจะให้เมืองเขมรมาขึ้นกรุงเทพฯ อย่างเดิม แลจะให้สมเด็จพระอุไทยราชาเข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ นั้น จะเปนสักแต่ว่ารับสั่งหรือจะเปนด้วยองต๋ากุนเห็นเปนทีของญวนมาพลิกแพลงเสียอย่างไรไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ว่าตั้งแต่นั้นมาสมเด็จพระอุไทยราชาก็มิได้เข้ามาเฝ้า เปนแต่ส่งเครื่องบรรณาการเข้ามาถวายตามอย่างแต่ก่อนทุกปี คือผ้าแพรไม้เลี่ยน ๕๐ ผืน ผ้าด้าย ๒๐๐ ผืน ขี้ผึ้งหนักหาบ ๑ ผลเร่วหนัก ๒ หาบ ครั่งหนักหาบ ๑ รงหาบ ๑ น้ำรัก ๕๐ กละออม ที่กรุงเทพฯ จะบังคับบัญชาสิ่งไรไปก็ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ของบรรณาการจิ้มก้องเมืองญวนนั้น ขี้ผึ้งหาบ ๑ กระวานหาบ ๑ ครั่งหาบ ๑ รงหาบ ๑ เร่วหาบ ๑ งาช้างหาบ ๑ นอระมาด ๒ ยอด พระเจ้ากรุงเวียดนามรับสั่งว่าเมืองเขมรเปนเมืองยากจน เอาของไว้สิ่งละเล็กละน้อย นอระมาด ๒ ยอด งากิ่ง ๑ สิ่งของนอกนั้นก็เอาไว้แต่สิ่งละ ๑๐ ชั่งพอเปนเกียรติยศ แล้วจัดของตอบให้ทูตเขมรคุมมาพระราชทานสมเด็จพระอุไทยราชา ผ้าแพรลายมังกรทองแลแพรอย่างอื่นๆ กับผ้าขาวด้วย ตั้งแต่นั้นเมืองเขมรทั้ง ๓๔ หัวเมืองใหญ่ก็ไปขึ้นอยู่แก่ญวนฝ่ายเดียว ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ไทยจึงได้คืน ดังจะปรากฎเรื่องราวต่อไปในพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๓ การที่ญวนเอาใจเขมรด้วยแสดงให้ปรากฎการทำนุบำรุงด้วยความดีต่างๆ นั้น ไม่เปนไปได้จริงเพียงเท่าใด พอญวนเห็นว่าเขมรตายใจยอมอยู่ในอำนาจสิทธิ์ขาดแล้ว ญวนก็กะเกณฑ์เขมรให้ตัดไม้กงไม้กระดานส่ง แลเกณฑ์คนไปทำถนนหนทางใช้สอยการงานต่างๆ ของญวนตามชอบใจ แม้วัดในเมืองเขมรที่มีโบถวิหารแลพระพุทธรูปพระเจดีย์ ก็รื้อเอาอิฐไปทำกำแพงเมืองบ้าง สร้างตึกแลเก๋งที่อยู่ของญวนบ้าง พระพุทธรูปที่เปนทองเหลืองก็เอาไปหลอมหล่อทำปืนหลักปืนหามแล่น ใช้สอยพวกพระยาพระเขมรตลอดจนไพร่ได้ความเดือดร้อนทั่วไป จนพวกเขมรพากันคิดขบถขึ้นหลายราย ญวนรู้ก็จับฆ่าเสียเปนอันมาก



[๑] ทำเลท้องที่กรุงกัมพูชา ตอนข้างเหนือแต่เมืองบันทายเพ็ชรขึ้นมาเปนที่ดอน (ในฤดูแล้ง) ไทยไปมาถึงง่ายกว่าญวน ตอนข้างใต้แต่เมืองพนมเพ็ญลงไปเปนที่มีทางน้ำ ไปมาถึงเมืองญวนได้ง่าย แม้แต่ครั้งกรุงเก่าถ้ากรุงกัมพูชาเปนอริกับไทยเมื่อไร ก็มักไปตั้งเมืองพนมเพ็ญเปนเมืองหลวง ถ้าอริกับญวนก็มาตั้งข้างเหนือ เช่นเมืองบันทายเพ็ชร แลเมืองอุดงเปนต้น อันเปนที่ญวนมาถึงได้ยาก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ