๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย

ปีมแม จุล ๑๑๘๕ พ.ศ. ๒๓๖๖ เมื่อณเดือน ๕ ปีมแมเบญจศก จุลศักราช ๑๑๘๕ พ.ศ. ๒๓๖๖ เรือกำปั่นหลวงชื่อเหราข้ามสมุท ไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์กลับมา ครอเฟิดอังกฤษผู้รักษาเมืองสิงคโปร์ ผู้ซึ่งเคยเปนทูตเข้ามาเมื่อปีมเมียจัตวาศก บอกเข้ามายังเสนาบดีที่กรุงเทพฯ ว่าพระเจ้าอังวะจักกายแมง แต่งทูตพม่าให้ไปทำไมตรีกับญวน ชวนพระเจ้าเวียดนามมินมางให้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาพร้อมกับกองทัพพม่า เรือทูตพม่าถูกไฟไหม้ที่เกาะหมาก อังกฤษได้สำเนาราชสาสนของพระเจ้าอังวะที่มีถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามไว้ ผู้สำเร็จราชการอินเดีย ให้ส่งสำเนาราชสาสนนั้นเข้ามาให้ไทยทราบความ แต่ครอเฟิดทราบว่าในกรุงเทพฯ ไม่มีล่ามที่จะแปลภาษาอังกฤษเปนภาษาไทย มีแต่บาดหลวงฝรั่งเศส จึงให้แปลราชสาสนพม่าเปนภาษาฝรั่งเศสส่งเข้ามากับเรือเหราข้ามสมุท แลบอกมาให้ทราบว่า ญวนเปนไมตรีซื่อตรงกับไทย ไม่ยอมเข้ากับพม่า ราชสาสนพม่าที่ได้สำเนามาครั้งนั้น ให้บาดหลวงฝรั่งเศสแปลออกเปนภาษาไทย ได้ความดังนี้[๑]

ราชสาสนมาแต่เมืองใหญ่ถือสาสนาพระเที่ยงแท้ เปนเจ้าที่สูงเปนผู้ทำนุบำรุงเมือง มืเมืองขึ้นถึงร้อยเมือง มีช้างเผือกชื่อเสหะดันเจนเมน แลช้างเผือกอื่น ๆ ที่มีอยู่ที่เมือง มีอยู่ที่ป่า เปนเจ้าขุมทองขุมเงินแลของประเสริฐอื่น ๆ เปนเจ้าแผ่นดินแลเปนเจ้าทเล เปนผู้ทำนุบำรุงสาสนา เปนจักพรรดิทรงธรรมแลมีฤทธิทุกประการ ครอบครองบ้านเมืองทั่วทั้งปวง ด้วยพระบาทอันศักดิสิทธิ ทำราชสาสนนี้พร้อมด้วยเสนาบดีแม่ทัพแลผู้ใหญ่ทั้งปวง มาถึงมหาจักรพรรดิเมืองญวน เมื่อแรกตั้งแผ่นดินพระอาทิตย์พระจันทร์ ราษฎรทั้งปวงชุมนุมกันเลือกขุนนาง เลือกเอาคนตรงแน่นอนถือศีล ๑๐ เปนลูกพระอาทิตย์แลลูกเทวดา ชื่อว่ามุกาซามากา แปลว่าเปนขุนหลวงที่สูง เปนจักรพรรดิต่อ ๆ กันมาจนถึงองค์นี้ บังคับบัญชาแผ่นดินทุกวันนี้ด้วยบุญของมุกาซามากา จักรพรรดิองค์นี้เมื่อได้ครอบครองอาณาประชาราษฎร เหมือนหนึ่งบิดารักษาบุตร แล้วลดส่วยสาอากร ไพร่บ้านพลเมืองก็มีความยินดี เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น สว่างสุกใสเหมือนพระจันทร์ทรงกลด แล้วให้มีธรรมเทศนาสั่งสอน ไพร่บ้านพลเมืองให้พรว่า อยู่เย็นเปนศุขได้ครอบครองบ้านเมืองให้ยืดยาวไป แล้วก็ได้เมืองขึ้นอิก ชื่อเมืองปรันตา ๑ เมืองซำปูเดปา ๑ เมืองดูรักกา ๑ เมืองยะมินฮา ๑ เมืองศิริยกินเลรามา ๑ เมืองรายายาวุตตา ๑ เมืองกำปูรา ๑ เมืองโยคี ๑ เมืองนะการา ๑ เมืองเกมายาทา ๑ เมืองมหานักกรา ๑ เมืองศรีวิเจียร ๑ เมืองวลาอิปูรา ๑ เมืองงาเซงงาลา ๑ เมืองลารายาทา ๑ เมืองทาอูโมอุนชาฮา ๑ แลเมืองอื่นที่ส่งส่วย ชื่อมหาวิหิกาเยกะปูราที่พระมหามุนีออก มีเมืองขึ้นชื่อเดนหาวระดี ๑ เมืองกุราวดี ๑ เมืองมิกาวดี ๑ เมืองรามาวดี ๑ แลเมืองขึ้นทั้งนี้ส่งส่วยหญิงสาวที่ยังไม่มีผัว แลส่งส่วยเครื่องสาตราวุธช้างม้าแลของทั้งปวงตามระยะเมืองใกล้แลเมืองไกลทุกปี แลเมื่อครั้งขุนหลวงชื่อเจกาวะดีที่เหาะได้ขึ้นครองราชสมบัตินั้น ยกย่องพระสาสนาแลทำนุบำรุงพระสงฆ์วัดวาอาราม แลทำบุญให้ทานจำศีลภาวนาจนลืมตัว ทรงธรรมเมตตาแก่อาณาประชาราษฎรไพร่บ้านพลเมือง ถ้าราษฎรผู้ใดกระทำความผิดกับตัวเธอก็หาเอาโทษไม่ แลเจ้าอังวะได้ครองราชสมบัติครั้งนี้ ถืออย่างเหมือนเมื่อครั้งขุนหลวงเจกาวดี ครั้งมหาสมณโคดม ว่าแผ่นดินจะสว่างทั้ง ๔ ทิศ แต่ครั้งตา[๒]เจ้าอังวะองค์นี้เมื่อครองราชสมบัติ แต่งทูตไปเมืองญวน ไปทางบกทางเรือก็หลายครั้งแล้วหาถึงไม่ ครั้นเจ้าอังวะตายแล้ว เจ้าอังวะผู้หลานได้ครองราชสมบัติ จึงคิดฟื้นทางไมตรีกับเมืองญวน พอองโดยหลำ, องทูหับตรึง, มาถึงเกาะหมาก แจ้งความแก่จีนส่วยรังนกแขวงพม่า จีนส่วยรังนกรู้ความแล้วจึงนำองโดยหลำ, องทูหับตรึง ขึ้นที่เมืองทวายไปหาเมืองมาหัย เสนาบดีที่เปนแม่ทัพเมืองมัตมะ ขุนนางผู้ใหญ่ ๒ คน จึงเอาญวนลงเรือแห่ไปถึงเมืองจากอิน แลหัวเมืองส่งต่อขึ้นไปจนถึงเมืองหลวง ปลูกเรือนให้อยู่ใหญ่โตงามดีให้เลี้ยงดู แต่สงไสยอยู่ว่ามิใช่ทูตจริง จึงไม่สู้นับถือ ครั้นไต่ถามไล่เลียงดูเปนทูตมาเมืองอมรบุระค้างลมสำเภา จึงนับถือทูตญวนมากขึ้น องโดยหลำ องทูหับตรึง, ก็ได้เฝ้าพระเจ้าอังวะแล้ว ได้ไต่ถามทูตญวนหลายข้อ ทูตญวนทูลว่ามหาจักรพรรดิยาลองคิดนานแล้ว จะให้ทูตมา พอยาลองตายลง แลมินมางขึ้นเสวยราชย์ได้ ๒ ปีจึงให้มาเฝ้า องโดยหลำทูลต่อไปว่าญวนกับไทยมีสาเหตุกันน่อยหนึ่ง ด้วยเมืองเขมร ถ้าญวนกับพม่าตีเมืองไทยก็จะได้โดยง่าย[๓]

แต่ครั้งพระเจ้าอังวะเสวยราชสมบัติ เมื่อศักราชพม่าได้ ๙๐๐ ปี[๔] กรุงไทยเปนเมืองขึ้นอังวะอยู่นั้น เจ้ากรุงไทยไปอาไศรยอยู่ที่เมืองขึ้นกับเมืองอังวะได้นับถือทำตึกให้อยู่ คิดมาจนทุกวันนี้ได้ ๒๐๐ ปี ได้ยกที่แผ่นดินกรุงไทยแก่บุตรเจ้ากรุงไทยให้เสียส่วยปีหนึ่ง ช้าง ๓๐ ช้าง เงินสามหมื่นบาทแล้วก็หาเสียให้ไม่ บิดาของตาเราให้กองทัพมาตีเมืองไทย (ได้) คืน (ต่อมา) เมืองไทยต่อสู้ลอบลักทำเหมือนอย่างผู้ร้าย[๕] เราก็ทนมาจนทุกวันนี้ องโดยหลำ องทูหับตรึง ทูลว่าเมื่อจะกลับไปจะทำเหมือนเรือลูกค้า๔[๖] เจ้าอังวะเห็นว่าทูตญวนจะไปแต่ลำพังเห็นไม่ควร จึงจัดให้ เนมโยนรทา ๑ เนมโยสาวะนี ๑ เนมโยกังนรัต 9 เนมโยเสนรัต ๑ เสสะลินนรทา ๑ เนมโยเสริกอย่า ๑ เสริจุนดานรทา ๑ รวม ๗ นาย ให้ดวงตราทองสำหรับเมืองหลวงไปดวง ๑[๗] แหวนทับทิม ๒๐ วง แหวนไข่มุก ๒๐ วง แหวนนิล ๒๐ วง พลอยทับทิมยังมิได้เจียระไน ๓ กระสอบ ผ้าห่มนอนทอเมืองพม่าผืน ๑ แพร ๔ ไม้ ลูกประคำศิลาเหลือง ๑ เขียว ๑ สองสาย ตะบะลาย ๔ ใบ หีบมีเท้าใบ ๑ โคมมีเท้าใบ ๑ โต๊ะไม้ทาแดงใบ ๑ ถ้วยชาฝาใบ ๑ น้ำมันดิน ๓๐ หม้อ มีความไว้ใจจึงให้ขุนนางออกมาแจ้งความคิดทำลายเมืองไทยซึ่งเปนศัตรูทั้ง ๒ เมือง ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางทั้ง ๗ นายนี้ ซึ่งจะว่ากล่าวคิดอ่านทำแก่เมืองไทย เสร็จอยู่กับขุนนาง ๗ นายนี้ แล้วให้จักรพรรดิเมืองญวนมีพระราชสาสนตอบด้วยข้อความเรื่องให้ขุนนางทั้ง ๗ นายถือไปโดยเร็ว แล้วให้แต่งขุนนางญวนที่ไว้ใจกำกับไปด้วย สิ้นความราชสาสนแต่เท่านี้

เหตุที่อังกฤษส่งสำเนาราชสาสนพม่ามาให้ไทยในครั้งนั้น ด้วยอังกฤษกำลังเกิดอริจวนจะรบกับพม่า ประสงค์จะทำไมตรีเอาใจไทยไว้ ไม่ให้วุ่นวายทางเกาะหมาก ในเวลาเมื่ออังกฤษเกิดรบพุ่งติดพันกับพม่า เรื่องทูตพม่าไปเมืองญวนคราวนั้น ครอเฟิดรู้ความเลอียด ด้วยเมื่อทูตพม่ากลับจากเมืองญวนมาถึงเมืองสิงคโปร์ ทางโน้นอังกฤษกับพม่าเกิดรบกันขึ้น ทูตพม่าค้างอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ครอเฟิดถามเอาเหตุผลเรี่องราวที่ทูตพม่าไปเมืองญวน ได้ความเลอียด[๘] เรื่องราวเปนดังนี้ คือ:-

เมื่อปีมแมจัตวาศก องโดยหลำ หรือองทูหับตรึงคน ๑ นี้ บอกแก่องต๋ากุน[๙] ว่า ในเขตรแดนพม่ามีเกาะรังนกมาก ถ้าคิดอ่านไปขอซื้อรังนกจากพม่ามาส่งไปขายเมืองจีนจะได้กำไรมาก องต๋ากุนเห็นชอบด้วย จึงแต่งให้ขุนนาง ๒ คนนั้นไปซื้อรังนกที่เมืองพม่า การที่องต๋ากุนแต่งขุนนางญวนไปเมืองพม่าครั้งนั้น ไม่ได้ทูลให้พระเจ้าเวียดนามมินมางทราบ ครั้นขุนนางญวนไปถึงเกาะหมาก ไปพบพวกจีนพ่อค้าที่มาจากเมืองพม่า ขุนนางญวนทั้ง ๒ ไปพูดจาอวดอ้าง จนจีนพ่อค้านั้นเชื้อว่าเปนราชทูตไปจากเมืองญวน อยากจะเอาหน้า จึงช่วยพาไปถึงเมืองพม่า พวกเจ้าเมืองรายทางส่งต่อขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ แต่แรกพม่าไม่เชื่อว่าญวนทั้ง ๒ คนนั้นเปนราชทูต ด้วยไม่ได้เชิญพระราชสาสนไปเปนสลักสำคัญ จึงเอาตัวมาถามคำให้การ แต่ครั้นไล่เลียง เห็นว่าเปนขุนนางญวนจริง พม่ากำลังอยากจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอิก อยากได้ญวนเปนเพื่อนทำศึกตีเมืองไทยกระหนาบอิกด้าน ๑ จึงแต่งทูตพม่าให้เชิญพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงเวียดนามมินมาง ทูตที่มานั้นเปนพม่า ๒ คน เปนเชื้ออังกฤษชื่อคิบสันคน ๑ มาด้วยเรือของพม่า ครั้นเมื่อมาทอดอยู่เกาะหมาก เรือพ่อค้าไทยลำ ๑ เกิดไฟไหม้ขาดลอยไปพะเรือทูตพม่าไหม้ด้วย เก็บได้แต่ราชสาสนกับเครื่องราชบรรณาการบ้าง ทูตพม่าจึงโดยสานเรือพ่อค้าไปยังเมืองไซ่ง่อน เข้าหาองต๋ากุน ๆ รับรองเลี้ยงดูทูตพม่า แล้วมีใบบอกขึ้นไปยังเมืองเว้ ว่าพม่าแต่งทูตให้เชิญพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรรี ขอชวนให้เข้ากันทำศึกกับเมืองไทย พระเจ้ากรุงเวียดนามมินมางให้ทูตพม่ารออยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ให้หาองต๋ากุนขึ้นไปเมืองเว้ ประชุมข้าราชการผู้ใหญ่ปฤกษากันถึงเรื่องที่พม่าจะขอเปนไมตรีชวนตีเมืองไทย ข้างองต๋ากุนเห็นควรจะรับเปนไมตรีกับพม่า ด้วยประสงค์จะตีเอาเมืองพัตบองไปเปนของญวน แต่ฝ่ายองเลโบซึ่งเปนเสนาบดีว่าการต่างประเทศไม่เห็นชอบด้วย เห็นควรจะเปนไมตรีดีอยู่กับไทยอย่างเดิม ไม่ควรจะคบพม่า พระเจ้าเวียดนามมินมางเห็นชอบด้วยกับองเลโบ จึงไม่ยอมรับทูตพม่า เปนแต่มีราชสาสนแลส่งเครื่องราชบรรณาการตอบแทน ให้ทูตพม่าซึ่งคอยอยู่เมืองไซ่ง่อนถือกลับไป มีเนื้อความตามที่กล่าวไว้ในหนังสือของครอเฟิดดังนี้

แลการที่พม่าแต่งทูตไปเมืองญวนครั้งนี้ พระเจ้ากรุงเวียดนามมินมางให้องเลโบเสนาบดีญวนมีศุภอักษรบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อณเดือน ๖ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ แปลได้ใจความว่า เมื่อณปีมแมเบญจศก มีพม่าถือราชสาสนแลคุมเครื่องราชบรรณาการมาถึงเมืองไซ่ง่อน นายไพร่ ๔๗ นาย แจ้งว่าเรือที่มาแต่เมืองพม่าไฟไหม้ เสียที่เมืองเกาะหมาก ต้องจ้างกำปั่นอังกฤษมาส่ง ในพระราชสาสนพม่าว่าหยาบคายเปนอันมาก ตัดเอาแต่ใจความบอกกราบทูลเจ้าเวียดนาม ว่าแต่ครั้งพระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง ได้จัดให้ราชทูตมาหลายครั้งแล้วหาถึงไม่ ครั้งนี้ได้ยินว่าพระเจ้ากรุงเวียดนามขึ้นครองราชสมบัติใหม่ เมืองพม่ายินดีหาที่สุดมิได้ จึงจัดขุนนางผู้ใหญ่ให้เชิญราชสาสนมา ขอให้กรุงเวียดนามตัดทางไมตรีกับกรุงเทพฯ เสีย พม่าจะได้ทำศึกกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แล้วมีรับสั่งพระเจ้าเวียดนามว่า จะคบค้าด้วยพม่าก็จะเสียทางพระราชไมตรีกับกรุงเทพฯ ไป จึงมิให้ทูตขึ้นไปเฝ้า (ที่เมืองเว้) ให้กลับไปเสีย แล้วทูตพม่าอ้อนวอนให้รับเครื่องบรรณาการไว้ ขุนนางญวนพร้อมกันรับแหวนทับทิมไว้วง ๑ แลของทั้งปวงนั้นคืนให้ทูตไปสิ้นณเดือน ๓ ปีมแมเบญจศก พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดเรือส่งทูตพม่ากลับไป แลจัดอีแปะเสบียงอาหารพร้อมจ่ายให้ทูต ๆ กลับไปเมืองพม่าแล้ว พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นแก่ทางพระราชไมตรี จึงให้บอกข้อความเข้ามาให้กรุงเทพมหานครทราบ

การที่ญวนไม่ยอมเข้ากับพม่าในครั้งนั้น อาจจะเปนได้ด้วยเหตุหลายอย่าง มีคำที่ญวนอ้างภายหลังต่อมาว่า เมื่อพระเจ้าเวียดนามยาลองจะสิ้นพระชนม์ ได้มีรับสั่งว่าอย่าให้ลูกหลานคิดร้ายต่อกรุงศรีอยุทธยา ด้วยมีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้ายาลองในเวลาตกทุกข์ยาก ได้อุปการะอุดหนจนกลับเปนใหญ่ได้ ความที่กล่าวดังนี้ อาจจะมีมูลความจริงบ้าง มีพยานเมื่อครั้งพวกแขกเมืองตานีไปชวนพระเจ้ายาลองให้เปนขบถเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ายาลองก็ได้บอกเข้ามากราบทูลครั้ง ๑ มาครั้งนี้พม่าไปชวนให้ญวนเปนศัตรูต่อไทย ทีจริงก็ไม่มีความจำเปนอันใด ที่พระเจ้ามินมางจะต้องบอกเข้ามาให้ไทยทราบ หรือไม่ยอมให้ทูตพม่าเข้าเฝ้า ที่ทำอาจจะเปนด้วยรักษาทางพระราชไมตรีตามรับสั่งของพระเจ้ายาลองได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูตามเรื่องที่มีมาในพระราชพงษาวดาร การที่ญวนรักษาทางพระราชไมตรีต่อไทย ดูเหมือนจะตีขีดคั่นเพียงไม่คิดร้ายรุกรานเข้ามาในหัวเมืองไทย แต่ส่วนเมืองที่เปนประเทศราชขึ้นไทยในครั้งนั้น เช่นเมืองเขมรก็ดี ลาวก็ดี ซึ่งญวนถือว่าเปนเมืองขึ้น ๒ ฝ่ายมาแต่โบราณ ตั้งแต่ล่วงรัชกาลที่ ๑ แล้ว ญวนไม่ได้ยอมเสียเปรียบไทย คิดขยายอำนาจญวนออกมาเสมอ จึงเปนเหตุจนถึงต้องรบกัน เมื่อในรัชกาลที่ ๓



[๑] สำเนาราชสาสนพม่าที่ว่านี้ เมื่ออังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากได้ต้นฉบับ หรือสำเนาของเดิมซึ่งเปนภาษาพม่า คงให้แปลเปนภาษาอังกฤษ ส่งคำแปลนั้นไปให้ผู้สำเร็จราชการอินเดียอังกฤษ ๆ ส่งสำเนาภาษาอังกฤษนั้นมาให้ครอเฟิดแจ้งแก่ไทย ถ้าให้ฉบับภาษาพม่ามา เราคงจะแปลได้ความดีกว่า นี่แปลถึงสามต่อ ความจึงเคลื่อนคลาศมาก แต่ก็พอเข้าใจเค้าความได้ ข้าพเจ้าลงได้เต็มตามที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวคาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ไม่ได้แก้ไข

[๒] ที่แปลว่าตานี้ ที่จริงคือพระเจ้าอังวะปะดุงเปนปู่ มิใช่ตา มีข้อสำคัญเห็นความตรงนี้ได้อย่าง ๑ ว่าพม่าพยายามชวนญวนให้เข้ากันมาตีเมืองไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา เปนพยานให้แลเห็นว่าพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เอาใจแลอุดหนุนองเชียงสือนั้นไม่ผิดเลย

[๓] ความตรงนี้ หมายว่า ถ้าพม่าเข้ากับญวน คงจะตีเมืองไทยได้โดยง่าย

[๔] ตอนนี้ พม่ากล่าวความย้อนขึ้นไปถึงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะค้นจดหมายเหตุมาเปิดเมื่อแต่งราชสาสนนี้

[๕] ที่กล่าวว่าไทยลอบลักต่อสู้อย่างผู้ร้ายตรงนี้ พม่าประสงค์จะแก้หน้าเรื่องที่พระเจ้าปะดุงเข้ามาแตกทัพไทยไปยับเยินเมื่อในรัชกาลที่ ๑ แลแพ้ไทยหลายคราว กิติศัพ์คงจะเลื่องฦๅมาก จึงจำต้องหาอะไรมากล่าวแก้หน้าในราชสาสนนี้

[๖] ขุนนางญวนที่ไปเมืองพม่า ๒ คนนี้ ที่จริงมิใช่ราชทูตที่ไปจากพระเจ้าเวียดนาม ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า แต่ไปอวดอ้างเลยไป จนพม่าเชื่อว่าเปนราชทูต จึงคิดจะหลบหลีกให้พ้นความรับผิดชอบ แต่ฝ่ายข้างพม่ากำลังต้องการที่จะหาประเทศอื่นช่วยตีเมืองไทย ด้วยรู้อยู่ว่าจะตีโดยลำพังพม่าไม่ไหว จึงเลยเหมาเอาญวน ๒ คนนี้ให้เปนราชทูต ทั้งไม่มีอะไรเปนสลักสำคัญ

[๗] ที่ว่าดวงตราทองสำหรับเมืองหลวงตรงนี้ เข้าใจว่าสังวาลทอง อันเปนเครื่องราชอิศริยาภรณ์ของพม่า

[๘] ครอเฟิดลงไว้ท้ายเล่ม ๒ ในหนังสือเรื่องทูตที่เขาแต่ง

[๙] ในหนังสือครอเฟิด เรียกว่า “เจ้าคุณ ผู้ว่าราชการกรุงกัมพูชา” ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า คำอันนี้เปนคำที่ได้ยินจากทูตพม่า ที่จริงเห็นจะเปนองต๋ากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนนั้นเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ