- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
ปีมเมียจัตวาศก จุล ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำปีมเมีย ยังเปนตรีศก ครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ได้รับอนุญาตให้เรือกำปั่นขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ มาจอดที่น่าบ้านพระยาสุริยวงษ์มนตรี ซึ่งอยู่ฝั่งตวันตกใต้วัดประยุรวงษ์ฯ แลพระยาสุริยวงษ์มนตรีจัดตึกซึ่งสร้างไว้น่าบ้านเปนที่ไว้สินค้า ให้เปนที่พักของครอเฟิดแลพวกที่มา เมื่อครอเฟิดไปหาพระยาสุริยวงษ์มนตรีตามธรรมเนียมแล้วได้ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมท่า ส่วนอักษรสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งมาร์ควิส หัสติงส์ ให้ครอเฟิดคุมมาถวายนั้น พระยาพิพัฒน์โกษาแลเจ้าพนักงานลงไปรับ อักษรสาสนแปลได้ความดังนี้[๑]:-
“มาร์ควิส เหสติงส์ ฯ ล ฯ ผู้สำเร็จราชการอาณาจักรอังกฤษในอินเดีย ขอทูลมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามให้ทรงทราบ
ด้วยข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแสดงให้ปรากฎความเคารพนับถือของชนชาติอังกฤษที่มีต่อพระองค์ จึงได้แต่งให้ทูตเข้ามาเฝ้า เพื่อจะบำรุงทางพระราชไมตรี แลเกื้อกูลการไปมาหาสู่กันในระหว่างชนชาติอังกฤษแลชนชาติไทย ซึ่งได้กลับมีขึ้นอิกแล้วนั้น ให้เจริญยิ่งขึ้น
ชาวยุโรปต่างชาติได้รบพุ่งขับเคี่ยวกันมาหลายปี บัดนี้ก็ได้เลิกการศึกสงครามกลับเปนไมตรีดีกันแล้ว แม้ในแผ่นดินฮินดูสถานซึ่งเคยเปนเหยื่อแก่การสงครามแลเหตุจลาจลต่างๆ ไม่เรียบร้อยมาหลายชั่วอายุคนนั้น เดี๋ยวนี้ก็มีความสงบเรียบรัอยทั่วไป (ด้วยความสามารถของอังกฤษ)
อังกฤษเดี๋ยวนี้มีอำนาจ (ตลอดอาณาจักรอินเดีย) แลเปนที่นับถือแก่ประเทศอื่น ฝ่ายใต้ตั้งแต่สิงหฬทวีป ตลอดขึ้นไปฝ่ายเหนือจนจดเทือกภูเขาเขตรรแดนเมืองจีน ข้างตวันออก ตั้งแต่เขตรแดนเมืองอังวะตลอดไปฝ่ายตวันตก จนถึงแดนประเทศเปอเซีย แต่ประชาชนที่อยู่ในปกครองของอังกฤษมีกว่า ๙ โกฏิ เพราะฉนั้น อังกฤษจึงไม่มีความประสงค์ที่จะแสวงหาอาณาเขตรเพิ่มเติมต่อออกไปอิก
การภายในก็มีความเรียบร้อย ส่วนภายนอกนั้น อังกฤษก็เปนมิตรไมตรีกับนานาประเทศที่เขตรแดนติดต่อใกล้เคียงกัน เปนต้นว่าพระเจ้าแผ่นตินเปอเซียฝ่ายตวันออก พระเจ้าแผ่นดินเปอเซียฝ่ายตวันตก บรรดาเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นอาหรับ แม้สุลต่านประเทศเตอรกีแลพระเจ้ากรุงจีนก็เปนไมตรีกับอังกฤษ พวกพ่อค้าอังกฤษกับชาวเมืองของพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้าประเทศนั้นๆ ได้ค้าขายถึงกันอยู่เปนอันมาก ชนทั้ง ๒ ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ เพราะเหตุที่อาจจะไปมาค้าขายถึงกันได้โดยปราศจากความขัดข้องทั้งปวง จึงมีพวกพ่อค้าชาวต่างประเทศเหล่านั้นพากันมาค้าขายในแผ่นดินของอังกฤษเนืองนิจ ส่วนพ่อค้าอังกฤษก็ไปค้าขายถึงเมืองต่างประเทศนั้นๆ เปนอันมาก การค้าขายย่อมทำให้เจริญโภคทรัพย์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเปนบื้องต้น แล้วเปนปัจจัยให้ชนต่างบ้านต่างเมืองรู้จักคุ้นเคยกันดีขึ้น ที่สุดจึงเปนเหตุให้ผู้ซึ่งเปนเจ้าเปนใหญ่ของชนต่างชาติต่างภาษา ซึ่งไปมาค้าขายถึงกันนั้น มีไมตรีเปนมิตรสนิทกันยิ่งขึ้น
พระมหากระษัตริย์ผู้เปนใหญ่ในประเทศอังกฤษ เสด็จสถิตย์ณราชธานีอันอยู่ห่างไกลกับพระราชอาณาจักรในอินเดียประมาณถึงกึ่งพิภพ เพราะระยาทางห่างไกลกันนัก จะทรงปกครองราชอาณาจักรในอินเดียด้วยพระองค์เองไม่ได้สดวก จึงพระราชทานพระราชอำนาจให้ข้าพเจ้าเปนผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ปกครองแผ่นดินอินเดียนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจประสงค์จะให้ไพร่บ้านพลเมืองซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีรับสั่งให้ข้าพเจ้าเปนผู้ปกครองต่างพระองค์ มีความศุขแลความเจริญ จึงทูลขอต่อพระองค์ผู้เปนกระษัตราธิราชอันประเสริฐ ขอให้ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรี โปรดให้ประชาชนในประเทศอินเดียได้ไปมาค้าขายถึงพระราชอาณาจักรของพระองค์โดยสดวก ข้างฝ่ายข้าพเจ้าก็ขอเชิญให้บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ มาค้าขายตามหัวเมืองท่าค้าขายในประเทศเขตรแดนของอังกฤษอย่างเดียวกัน ถ้าหากว่าคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษ จะเปนชาวยุโรปก็ตาม จะเปนชาวอินเดียก็ตาม ไปค้าขายถึงพระราชอาณาจักรของพระองค์ ขอพระองค์จงได้ทรงพระกรุณาคุ้มครองป้องกันให้มีความผาศุกด้วย
ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะทูลขอที่แผ่นดินในพระราชอาณาจักรของพระองค์ เพื่อทำที่จอดเรือ ที่ตั้งบ้านเรือน หรือที่ป้อม ที่ไว้สินค้า[๒]แต่อย่างหนึ่งอย่างใด แม้กฎหมายอย่างธรรมเนียมอันใด ที่ใช้อยู่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าก็ไม่ทูลขอให้ยกเว้นเปนพิเศษสำหรับพวกพ่อค้าอังกฤษ ถ้าหากว่าอย่างธรรมเนียมอันใดในพระราชอาณาจักรขอพระองค์ อันเนื่องด้วยการค้า เปนความลำบากแก่พวกพ่อค้าอังกฤษ อันอาจจะเหนได้ว่าเปนเครื่องขัดขวางแก่ความเจริญของการค้าขายกับพระราชอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าก็หวังใจในพระปรีชาญาณ แลพระราชหฤไทยอันเปนไมตรีที่จะทรงพระราชดำริห์แก้ไขยกเว้น (ตามซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร)
นายครอเฟิดที่ข้าพเจ้าได้เลือกให้เปนทูตต่างตัวข้าพเจ้าไปเฝ้าครั้งนี้ เปนผู้เข้าใจความประสงค์ของข้าพเจ้าอยู่ทุกอย่าง ถ้าได้ปฤกษาหารือกับมุขมนตรีของพระองค์ คงจะสามารถที่จะคิดอ่านจัดการให้เปนประโยชน์ ที่จะเกิดโภคทรัพย์แลความเจริญทั้งฝ่ายไทยแลฝ่ายอังฤกษ นายครอเฟิดได้เคยเปนผู้ต่างตัวข้าพเจ้าอยู่ในสำนักสุลต่านเมืองชวาหลายปี ข้าพเจ้าได้เลือกนายครอเฟิดให้เปนทูตไปเฝ้าพระองค์ในคราวนี้ ก็เพราะเห็นว่านายครอเฟิดเปนผู้สันทัดอย่างธรรมเนียมในประเทศทางตวันออก เพราะได้คุ้นเคยมาช้านาน นายครอเฟิดเปนผู้ที่ได้รับความไว้วางใจของข้าพเจ้า ถ้าหากว่านายครอเฟิดยอมตกลงในการอย่างใดประการใดกับรัฐบาลของพระองค์ ความตกลงอันนั้นจะได้รับอนุมัติของข้าพเจ้าทุกประการ
ข้าพเจ้าได้มอบสิ่งของหลายอย่าง ให้นายครอเฟิดคุมมาถวายแด่พระองค์ ในนามของข้าพเจ้าด้วย”
เครื่องราชบรรณาการที่มาร์ควิส เหสติงส์ ส่งมาถวายในครั้งนั้น คือปืนคาบศิลาปลายหอก ๓๐๐ บอก ปืนคาบศิลาแฝดบอก ๑ ผ้าส่านขาว ๔ ผืน พรมเทศ ๒ ผืน เครื่องแต่งตัวหญิงอย่างฝรั่ง ๒ สำรับ เครื่องโต๊ะแก้วเจียรไนสำรับ ๑ ฉากอย่างดี ๕ แผ่น พรมอย่างดี ๒ ผืน หนังสือเรื่องราวพงษาวดารอังกฤษเล่ม ๑ รถมีเครื่องพร้อมรถ ๑ ม้าเทศสำหรับเทียมรถม้า ๑ ฉากเขียนด้วยหนัง ๔ บาน ฉากกระจก ๓ บาน รวม ๗ บาน
ณ วัน ๒ ๒ฯ ๕ ค่ำปีมเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ เสด็จออกพระที่นั่งบุษบกมาลาที่ท้องพระโรงเปนการเต็มยศทรงฉลองพระองค์ครุย โปรดให้ยอนครอเฟิดแลพวกอังกฤษที่มาในกองทูตเข้าเฝ้าฯ เมื่อเฝ้าแล้วจึงตั้งต้นปฤกษาหารือราชการกับพระยาสุริยวงษ์มนตรี ซึ่งเลื่อนขึ้นเปนพระยาสุริยวงษ์โกษาที่พระคลัง ต่อมาหลายครั้ง การไม่ตกลงกันได้ดังความประสงค์ของครอเฟิด ด้วยมีเหตุขัดข้องแลเกิดเข้าใจผิดกันหลายอย่างหลายประการ[๓] ที่เปนเบื้องต้น เพราะเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ;-
๑) ทั้ง ๒ ฝ่ายพูดไม่เข้าใจภาษากัน ในเวลานั้นไม่มีไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ อังกฤษก็ไม่มีที่พูดภาษาไทยได้ ทั้งหนังสือแลคำพูดต้องใช้แปลเปนภาษาโปตุเกตบ้าง ภาษามลายูบ้าง แล้วจึงแปลเปนภาษาไทย แลภาษาอังฤษอิกชั้น ๑
๒) ล่ามที่เปนผู้แปลเปนคนชั้นต่ำทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายข้างครอเฟิดได้ล่ามไทยมาแต่เกาะหมาก ก็เห็นจะจ้างไทยที่เปนบ่าวไพร่ใครที่หลบหนีไปอยู่ที่นั้น พอรู้ภาษามลายูมาเปนล่าม เปนคนซึ่งไทยในกรุงเทพฯ ย่อมรังเกียจไม่ให้เข้าในที่เฝ้า หรือแม้แต่เปนล่ามเมื่อทูตไปหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ฝ่ายข้างครอเฟิดก็โกรธหาว่ากีดกันห้ามปรามล่ามซึ่งตัวไว้ใจ ฝ่ายล่ามของไทยเล่า ล่ามที่สำหรับแปลภาษาโปตุเกตก็ใช้พวกกะฎีจีน ที่แปลภาษามลายูใช้แขกคน ๑ ชื่อนะกุด่าอลี ได้เปนที่หลวงโกชาอิศหากอยู่ในเวลานั้น ล่ามข้างฝ่ายไทย ทั้งล่ามฝรั่ง แลล่ามแขก ต่างคนต่างไปนินทากันให้ครอเฟิดฟัง ใช่แต่เท่านั้น ต่างคนต่างชิงกันเอาหน้าในทางที่จะเรียกร้องเอาของกำนันจากครอเฟิด ทำให้ครอเฟิดเกิดดูหมิ่นขึ้นมาถึงผู้ใหญ่ฝ่ายไทย ว่ามีแต่คนโลภ
๓) ที่มาร์ควิส เหสติงส์ เลือกให้ครอเฟิดเปนทูตเข้ามา เพราะเห็นว่าเปนผู้สันทัดอย่างธรรมเนียมทางประเทศเหล่านี้นั้น ที่จริงตั้งใจดีดังจะพึงแลเห็นได้ในหนังสือคำสั่งที่ให้แก่ครอเฟิด[๔] แต่ความชำนาญของครอเฟิดนั้น ไม่เปนไปแต่ในทางข้างดี เพราะคุ้นเคยแต่กับพวกชวามลายู อันเคยอยู่ในอำนาจฝรั่งมาแต่ก่อน ถือใจมาเสียแล้ว ว่าไทยก็เปนชาวตวันออกเหมือนกับพวกชวามลายูไม่ผิดอะไรกับคนพวกนั้น ผิดกันแต่ที่ไม่อยู่ในอำนาจ เมื่อเห็นไทยไม่ยำเกรงครอเฟิดเหมือนพวกชวามลายู ก็ยิ่งทำให้ไม่ชอบหนักขึ้น
๔) ข้อที่ครอเฟิดไม่ชอบไทย เห็นจะเริ่มตั้งแต่มาถึงเกาะหมาก เพราะประจวบเวลากองทัพไทยลงไปตีได้เมืองไทรบุรี แลชาวเกาะหมากกำลังตื่นกัน ว่าไทยจะตีลงไปถึงเกาะหมากด้วย ครอเฟิดได้รับคำสั่งรัฐบาลอินเดียให้มาพูดกับไทยเรื่องเมืองไทรบุรี ก่อนไทยตีเมืองไทร แลให้มาปรีกษากับอังกฤษที่เปนเจ้าเมืองเกาะหมาก ในข้อที่จะมาพูดกับไทยว่ากะไร ในเวลาครอเฟิดมาถึงเกาะหมาก อังกฤษที่เมืองนั้นกำลังขัดแค้นไทย ไม่ต้องบอกก็พอจะคาดได้ไม่ผิด ว่าความต้องการของเจ้าเมืองเกาะหมากในเวลานั้น จะไม่เปนอย่างอื่น นอกจากอยากให้อังกฤษยกกองทัพมาขับไล่ไทยออกไปเสียให้พ้นเมืองไทรบุรี แต่หากรัฐบาลอินเดียไม่ได้ตั้งใจที่จะทำการเปนศัตรู เจ้าเมืองเกาะหมากจึงต้องแนะนำครอเฟิดให้มาพูดกับไทยแต่โดยดี ตามคำสั่งเดิมของรัฐบาลอินเดีย แต่คำแนะนำนั้นที่ปรากฎในหนังสือของครอเฟิด ก็มีอย่างเดียวแต่ให้คิดอ่านให้ไทยออกไปเสียจากเมืองไทรบุรี แลให้คืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) อย่างเดิม ซึ่งจะตกลงกันไม่ได้อยู่เอง
๕) วิธีการค้าขายกับต่างประเทศในเวลานั้น ชาวต่างประเทศที่ไปมาค้าขายโดยมากก็จีน ซึ่งแสวงหาแต่กำไรในการค้าขายเปนใหญ่ยอมนบนอบหมอบคลาน ถวายตัวพึ่งบุญผู้ที่มีอำนาจแลเปนใหญ่ในบ้านเมือง ยอมที่จะทำการอย่างใด ๆ ให้พอใจเจ้าของเมือง ขอแต่ให้หากำไรได้โดยสดวก จึงเข้ากับไทยได้ดี แต่ฝ่ายข้างฝรั่งไม่เช่นนั้น ประโยชน์ในการค้าขายก็อยากจะได้ แลยังถือยศศักดิ์วางกิริยาอาการกระเดียดจะขู่เจ้าของเมือง ก็เปนอันยากที่จะทำให้เกิดความพอใจแก่ไทยได้อยู่โดยธรรมดา
๖) เหตุอิกอย่าง ๑ นั้น จำต้องว่าโดยที่จริง ประเพณีของไทยเราในครั้งนั้น ซึ่งถือมาตามคติโบราณ ยังมีการหลายอย่างซึ่งชวนจะให้ฝรั่งดูหมิ่น ยกตัวอย่างอย่างเดียวเพียงเรื่องไม่ใส่เสื้อ แม้พระยาพระคลังรับแขกเมือง ก็ไม่ใส่เสื้อ เมื่อฝรั่งแลเห็นแต่ตัวเปล่าไปตามกัน ตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงมาจนผู้น้อย ก็เห็นจะตั้งต้นดูหมิ่นว่าเปนชาวเมืองป่า ใช่แต่เท่านั้น การที่เจ้าพนักงานกรมท่าของเราเอง ทั้งกรมท่ากลาง กรมท่าขวา กรมท่าซ้าย ทำการค้าขายกับต่างประเทศ แสดงอาการแสวงหาประโยชน์ตนเองปะปนไปกับน่าที่ที่ทำในตำแหน่งราชการ นี่ก็เปนเหตุให้เกิดข้อสงไสยดูหมิ่นอิกอย่าง ๑
แม้เหตุขัดขวางมีอยู่ดังกล่าวมา การที่ปฤกษากันในส่วนราชการของทูตที่มาในครั้งนั้น ครอเฟิดไม่มีเหตุที่จะติเตียนได้ ว่าไทยพูดจาอย่างคนป่าเถื่อน หนังสือที่แต่งแม้ติเตียนไทยในอย่างอื่นโดยมาก ยังต้องชมความเรียบร้อยในการปกครองบ้านเมืองเมื่อในเวลานั้น แลชมว่าไทยฉลาดในการงาน แลรู้การต่างประเทศ คือการที่เปนไปในอินเดียเปนต้น ดีทีเดียว
ความที่ปฤกษากัน ตามที่ปรากฎในหนังสือของครอเฟิดนั้น เมื่อครอเฟิดเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เห็นมีกงสุลโปตุเกตอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว จึงมาขยายความคิดออกไปกว่าที่ปรากฎในคำสั่ง คือ จะขอให้ไทยท่าหนังสือสัญญายอมลดภาษีขาเข้าจากพ่อค้าอังกฤษประการ ๑ จะขอตั้งกงสุลประการ ๑ ความ ๒ ข้อนี้ ไทยก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจ เข้าใจว่าจะยอม ถ้าอังกฤษยอมตามประสงค์ของไทยในความข้อหนึ่งเปนข้อแลกเปลี่ยน คือ ขอให้เรือไทยที่ไปค้าขายตามเมืองของอังกฤษซื้อหาปืนได้ตามต้องการ ด้วยในเวลานั้นไทยกำลังต้องการปืนไว้ทำศึกกับพม่า พอพระยาพระคลังพูดข้อนี้ขึ้น ครอเฟิดก็พูดตัดเสียว่า อังกฤษยอมให้เรือไทยซื้อหาปืนมาได้ แต่เมื่อไทยเปนไมตรีกับประเทศที่อยู่ติดต่อกับอังกฤษ ประเทศที่ครอเฟิดพูดข้อนี้ รับไว้ในหนังสือที่แต่งว่า ตั้งใจหมายว่าพม่าทีเดียว[๕] เมื่อไทยได้ยินคำพูดอย่างนี้ ก็แลเห็นว่าไม่เปนประโยชน์อันใดที่จะทำสัญญากับอังกฤษ ด้วยอังกฤษจะเอาประโยชน์ข้างเดียว ส่วนประโยชน์ของฝ่ายไทยนั้นไม่ให้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าข้อนี้เปนมูลเหตุที่ไม่ตกลงกันได้ในคราวนั้น ครอเฟิดพยายามพูดจาต่อมาอิกหลายครั้ง ทางที่พูดต่อมาในตอนหลัง ครอเฟิดเลิกความคิดเรื่องตั้งกงสุล เปนแต่จะขอลดภาษี ข้างไทยจะให้ครอเฟิดรับประกันว่า จะมีเรืออังกฤษเข้ามาค้าขายไม่น้อยกว่าปีละ ๕ ลำ ครอเฟิดก็ไม่รับประกัน ฝ่ายไทยว่าเมืองไทยมีเกลือที่ดี จะบรรทุกเกลือไทยออกไปขายที่อินเดีย รัฐบาลอังกฤษจะลดภาษีให้อย่างไรบ้าง[๖] ครอเฟิดก็ไม่ตกลงที่จะยอมลดภาษีเกลือให้แก่ไทย เมื่อพูดจาเรื่องค้าขายกันจนลงปลายแล้ว ครอเฟิดจึงได้เริ่มพูดเรื่องเมืองไทรบุรี คือ ครอเฟิดถือหนังสือเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เปนใจความกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ แลจะขอเมืองคืน เข้ามายื่นต่อเสนาบดี ครอเฟิดจะขอให้ไทยยอมตามความประสงค์ของเจ้าพระยาไทร ข้างไทยตอบว่า เจ้าพระยาไทรบุรีก็เปนเจ้าเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑสิมา ถ้ามีทุกข์ร้อนอันใดควรจะเข้ามาเฝ้ากราบทูลความทุกข์ร้อนอันนั้น นี่มีท้องตราออกไปก็ไม่ตอบ ครั้นตัวได้ความเดือดร้อนก็ไม่เข้ามาเฝ้าฉันข้ากับเจ้า จะให้ไทยคืนเมืองให้อย่างไรได้ ข้างครอเฟิดกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ แทนเจ้าพระยาไทร ข้างไทยก็ยืนอยู่ว่า ให้เจ้าพระยาไทรเข้ามากล่าวโทษเอง จะมีตราให้หาเจ้าพระยานครฯ เข้ามาว่ากล่าวให้เปนยุติธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นครอเฟิดอ้างถึงประโยชน์การค้าขายของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทร พระยาพระคลังก็ส่งใบบอกของเจ้าพระยานครฯ ไปให้ครอเฟิดว่าตั้งแต่ไทยเข้าไปรักษาเมืองไทรบุรี ได้เอาใจใส่ในทางไมตรีกับอังกฤษที่เกาะหมากเปนการเรียบร้อยอย่างแต่ก่อน ไม่มีขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด โต้กันอยู่เพียงเท่านี้
ครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๔ เดือน เห็นการไม่สำเร็จได้ดังประสงค์คิดจะกลับ เกิดลำบากกันขึ้นด้วยเรื่องหนังสือตอบอิกอย่าง ๑ ข้างครอเฟิดจะให้มีพระราชสาสนตอบอักษรสาสน มาร์ควิส เหสติงส์ ข้างไทยว่า มาร์ควิส เหสติงส์เปนแต่ขุนนางผู้สำเร็จราชการหัวเมืองจะมีพระราชสาสนตอบอักษรสาสนนั้นผิดอย่างธรรมเนียม[๗] จะให้มีแต่ศุภอักษรของพระยาพระคลังตอบ ข้างครอเฟิดไม่ยอม ลงปลายตกลงกันว่า จะมีหนังสือของพระยาพิพัฒน์โกษาตอบไปถึงเลขานุการของมาร์ควิส เหสติงส์ ในส่วนเรื่องการค้าขายนั้น ตามที่ปรากฎในหนังสือของครอเฟิดว่า แต่เดิมไทยจะให้พระยาพิพัฒน์โกษาทำหนังสือให้ครอเฟิด เปนหนังสืออนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายในพระราชอาณาจักร ถ้าปีใดมีเรืออังกฤษเข้ามาค้าขายแต่ ๕ ลำขึ้นไป จะลดภาษีขาเข้าจากร้อยละ ๘ ลงเปนร้อยละ ๖ ครอเฟิดได้ไปตรวจร่างหนังสือนี้ที่บ้านพระยาพระคลังก็เปนที่พอใจ แต่ยังไม่ทันที่จะได้รับหนังสือนี้ ก็เกิดเหตุผิดใจกันขึ้นอิกอย่าง ๑
เหตุนั้นเกิดแต่เรื่องที่รัฐบาลอังกฤษเช่าเรือพ่อค้าให้เปนเรือทูตเข้ามาราชการ ด้วยประเพณีตามประเทศตวันออกในครั้งนั้น สิ่งของที่มาในเรือทูตไม่ต้องตรวจเก็บภาษีอากรอย่างหนึ่งอย่างใด ธรรมเนียมอันนี้ทราบอยู่ทั่วกัน กับตันเรือที่ครอเฟิดมา ชื่อกับตัน แมคดอลเนล เห็นประโยชน์ที่จะได้ในการที่เข้ามากับทูต จึงลอบบรรทุกสินค้าต่าง ๆ มาในระวางเรือเปนอันมาก ครอเฟิดมิได้ทราบความข้อนี้ ครั้นเมื่อเรือเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ พวกทูตขึ้นอยู่บนบก กับตันแมคดอลเนล ลอบเอาสินค้าออกจำหน่าย ความทราบถึงไทย ถามครอเฟิด ๆ ก็ยืนยันว่าธรรมเนียมของอังกฤษ เรือที่มาราชการจะค้าขายไม่ได้ ต่อมาครอเฟิดจึงได้ทราบความจริงว่า กับตันเรือของตนพาของหนีภาษีเข้ามาขาย ทำให้เสียวาจาที่ตนได้อ้างไว้ ครอเฟิดเกิดวิวาทขึ้นกับกับตันแมคดอลเนล ถึงต้องไล่กับตันแมคดอลเนลขึ้นจากเรือ กับตันแมคดอลเนลเปนผู้ไปมาคุ้นกับไทยในเวลาเมื่อขายของจะเปนกับตันแมคดอลเนลหรือผู้ใดไม่แน่ นำความมาแจ้งแก่พระยาพระคลังว่า เมื่อเวลาครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ให้เที่ยวหยั่งน้ำทำแผนที่ แลพูดว่าเมืองเช่นกรุงเทพฯ นี้ ถ้าอังกฤษจะต้องการ ส่งเรือรบมาเพียงสองลำสามลำก็จะตีเอาได้ ความทั้ง ๒ ข้อนี้ เปนเหตุให้ไทยเกิดขัดเคืองครอเฟิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียอัชฌาไศรยอย่างใด โปรดให้จัดเครื่องบรรณาการพระราชทานตอบ มาร์ควิส เหสติงส์ เปนสิ่งของต่าง ๆ คือ งาช้าง ๑๐ กิ่งหนัก ๒ หาบ เนื้อไม้หนัก ๒ หาบ กำยานหนัก ๒ หาบ กระวานหนักหาบ ๑ เร่วหนัก ๓ หาบ ดีบุกบริสุทธิ์หนัก ๑๕ หาบ พริกไทยหนัก ๑๕๐ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๑๕๐ หาบ รงหนัก ๕ หาบ มอบให้ครอเฟิดคุมออกไป ส่วนครอเฟิดเองได้พระราชทานน้ำตาลทรายหนัก ๓๐ หาบ ส่วนหนังสือตอบนั้นเปนแต่ให้พระยาจุฬาราชมนตรีทำหนังสือให้ครอเฟิดถือออกไป คงมีใจความแต่ว่า อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายตามอย่างธรรมเนียมบ้านเมือง
เมื่อครอเฟิดไปแล้ว มีหนังสือพระยาพระคลังไปถึงมาร์ควิส เหสติงส์ ฉบับ ๑ กล่าวโทษครอเฟิด ว่าเข้ามาพูดจาแลทำการเหลือเกิน ผิดกับความในอักษรสาสนที่เจ้าเมืองบังกล่ามีมา หนังสือฉบับนี้ส่งไปที่เจ้าเมืองเกาะหมาก ให้ส่งไปถึง มาร์ควิส เหสติงส์ ปรากฎในหนังสือราชการของอังกฤษว่า มาร์ควิส เหสติงส์ สอบถามครอเฟิด แลมีสำเนาหนังสือครอเฟิดแก้คำถาม ว่าเรื่องทำแผนที่นั้นได้ทำแต่เล็กน้อย แลได้ขออนุญาตพระยาพระคลังก่อนแล้วจึงทำ ข้อที่ว่าครอเฟิดพูดหมิ่นประมาทเมืองไทยนั้น ปฏิเสธ[๘]
ยอนครอเฟิดออกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวัน ๒ ๑๒ฯ ๘ ค่ำ ปีมเมีย จัตวาศก ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ ไปแวะตรวจที่เกาะสีชังก่อน แล้วออกจากเกาะสีชังใช้ใบไปเมืองญวน การไปที่เมืองญวนก็ไม่สำเร็จ ด้วยญวนรังเกียจการเกี่ยวข้องค้าขายกับฝรั่งยิ่งกว่าไทยขึ้นไปอิก ครอเฟิดกลับจากเมืองญวนจึงได้เปนเรสิเดนต์รักษาการอยู่ณเมืองสิงคโปร์ ตามความที่ปรากฎต่อมา ตั้งแต่ครอเฟิดมาเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ กลับวางอัธยาไศรยเปนไมตรีกับไทย มีหนังสือไปมากับพระยาพระคลัง แลเอาเปนธุระสงเคราะห์เรือไทยที่ไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์ กลับทำตามคำสั่งเดิมของรัฐบาลอินเดีย ถึงกับเอาเปนธุระบอกเข้ามาให้ไทยทราบ ว่าพม่าแต่งทูตไปชวนญวนให้ช่วยกันตีเมืองไทย ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า เห็นจะเปนด้วยเหตุอังกฤษเกิดวิวาทกันขึ้นกับพม่า ครอเฟิดจึงเห็นเปนประโยชน์ในการที่จะเอาใจไทย
[๑] อักษรสาสนที่มาร์ควิส เหสติงส์ มีมาถวายครั้งนั้น เขาแปลเปนภาษามลายูกำกับมา เราแปลจากภาษามลายู เพราะที่ในกรุงเทพฯ เวลานั้น ยังไม่มีผู้ที่จะแปลภาษาอังกฤษเปนภาษาไทยได้ แต่ตัวอักษรสาสนที่เปนภาษาอังกฤษ ครอเฟิดได้พิมพ์สำเนาไว้ในหนังสือที่เขาแต่ง สอบกับความที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ดูยังคลาศเคลื่อนมาก ข้าพเจ้าจึงแปลใหม่ ลงไว้ในหนังสือเรื่องนี้
[๒] ที่อังกฤษว่าไม่คิดจะขอที่ทำที่ไว้สินค้าแลทำป้อมเปนต้น ตรงนี้หมายจะให้ไทยเข้าใจว่า จะไม่ทำอย่างพวกโปตุเกตพวกวิลันดา ที่เคยเบียดเบียนประเทศทางตวันออกมาแต่ครั้งกรุงเก่า โดยวิธีไปขอที่ตั้งสถานีเปนที่ไว้สินค้าก่อน แล้วทำสถานีนั้นให้เปนป้อมปราการ ส่งทหารไปรักษา แล้วเลยเอาเปนกำลังแย่งหาอำนาจในเมืองนั้นๆ
[๓] ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์กล่าวเรื่องครอเฟิดเปนทูตเข้ามาคราวนั้นไว้แต่โดยย่อ เมื่อมาพิจารณาดูในหนังสือที่ครอเฟิดแต่ง แลใบบอกที่ครอเฟิดมีไปถึงรัฐบาลของเขาจึงแลเห็นเหตุขัดขวางแก่การที่จะตกลงพอใจกันได้
[๔] คำสั่งของมาร์ควิส เหสติงส์ พิมพ์ไว้ข้างท้ายเล่ม ๒ ของสมุดที่ครอเฟิดแต่ง ข้าพเจ้าได้คัดแต่ใจความลงไว้ ในตอนว่าด้วยเหตุที่อังกฤษจะแต่งทูตนั้นแล้ว
[๕] สอบตามพงษาวดารพม่า ที่จริงในเวลานั้นพม่ากับอังกฤษเกิดระหองระแหงจวนจะวิวาทกันอยู่แล้ว จะเปนด้วยอังกฤษยังเห็นประโยชน์ที่จะเอาใจดีต่อพม่าอยู่ รู้ว่าไทยต้องการปืนมาสำหรับทำสงครามกับพม่า กลัวพม่าจะโกรธ ครอเฟิดจึงไม่ยอม แต่ก็เปนการประหลาดอยู่ ด้วยความปรากฎว่า รัฐบาลอินเดียรู้อยู่แต่เมื่อก่อนแต่งทูตเข้ามา ว่าไทยกำลังต้องการปืน เครื่องราชบรรณาการที่ส่งมาถวาย ก็ถวายปืนกว่า ๓๐๐ บอก ทำไมจะมาขัดขวางเรื่องซื้อปืน
[๖] วิธีค้าเกลือในอินเดีย รัฐบาลผูกขาดขายเอง ไทยรู้ความข้อนี้ จึงเอาเรื่องสินค้าเกลือออกมาพูด ด้วยเปนการขอยกภาษีสินค้าผูกขาดของรัฐบาลอย่างเดียวกับที่อังกฤษขอเข้ามา
[๗] เมื่อครอเฟิดไปเมืองญวน ก็เกิดความลำบากเรื่องหนังสือตอบอย่างเดียวกันนี้
[๘] แต่ในสำเนาใบบอกของครอเฟิดฉบับ ๑ กล่าวความตรงกับคำที่หาว่าครอเฟิดพูด เพราะฉนั้น ทำให้เข้าใจว่า ครอเฟิดเห็นจะได้พูดกับพวกฝรั่งที่มาด้วยกัน บางทีความนั้นจะมาถึงไทยจากกับตันแมคดอลเนล ในเวลาเมื่อเกิดวิวาทกับครอเฟิด