- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๑๑. เรื่องศึกพม่า
พองานพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แลงานอุปราชาภิเศกเสร็จในเดือน ๑๐ ถึงเดือน ๑๑ ปีมเสงเอกศกนั้น ก็ได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางแลเมืองชุมพร
เมืองพม่าในเวลานั้น พระเจ้าปะดุงยังครองราชย์สมบัติอยู่ พระเจ้าปะดุงองค์นี้ เปนราชโอรสที่ ๔ ของพระเจ้าอะลองพญา ได้เสวยราชย์มาแต่ปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๑๔๓ พ.ศ. ๒๓๒๔ นับเปนรัชกาลที่ ๖ ในราชวงษ์นั้น ตามหนังสือซึ่งแต่งในเมืองพม่ากล่าวว่า พระเจ้าปะดุงนี้เข้มแขงในการศึกสงครามยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์อื่นในราชวงษ์เดียวกัน ตั้งแต่ได้เสวยราชย์ เมื่อจัดการภายในเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งต้นทำศึกแผ่ราชอาณาจักร ตีได้เมืองยะไข่ เมืองมณีบุระ เมืองกระแซข้างตวันตกสำเร็จแล้ว พระเจ้าปะดุงหมายจะขยายอาณาเขตรออกมาทางตวันออก จะเอาประเทศสยามไว้ในอำนาจด้วย เมื่อปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จึงเกณฑ์กองทัพใหญ่มีจำนวนพลกว่าแสน จัดเปนกองทัพ ๖ กอง ให้ยกมาตีเมืองไทยทุกทางที่เคยมา ศึกพม่าคราวนั้นเปนศึกใหญ่ที่สุดซึ่งได้เคยปรากฎมาในพงษาวดารสยาม พระเจ้าปะดุงเองยกกองทัพหลวงมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ เข้าในแขวงเมืองกาญจนบุรี ครั้งนั้นกำลังไพร่พลไทยมีไม่ถึงครึ่งจำนวนพลพม่าที่ยกมา แต่อาไศรยด้วยกระบวนกลศึกซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริห์กับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ แต่งกองทัพมีจำนวนพลน้อยๆ ไปตั้งขัดตาทัพทางอื่น แต่พอกีดกันไม่ให้พม่าล่วงล้ำเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ได้โดยง่าย ทรงรวบรวมกำลังจัดเปนกองทัพใหญ่ทัพเดียวรีบยกไปตีกองทัพหลวงที่พระเจ้าปะดุงยกมาทางเมืองกาญจนบุรี พอกองทัพพม่ายกข้ามเขาบันทัดเข้ามา ก็ได้รบกันที่ลาดหญ้า กองทัพไทยตีกองทัพพระเจ้าปะดุงแตกยับเยินไป ได้ปืนใหญ่ไว้เกือบหมด แม้พระเจ้าปะดุงเองก็เกือบจะหนีไปไม่พ้นมือไทย มีความปรากฎในหนังสือซึ่งพวกบาดหลวงฝรั่งที่อยู่ในเมืองพม่าครั้งนั้นแต่งไว้ว่า ถ้าในคราวนั้นกองทัพไทยติดตามออกไป แทบจะตีได้เมืองอังวะ ด้วยพลเมืองพม่าเมื่อรู้ว่าพระเจ้าปะดุงเสียทัพหนีไทยไป ก็พากันตื่นทั่วไปในหัวเมืองพม่า แต่ความจริงครั้งนั้นไทยติดตามไปไม่ได้ ด้วยกำลังยังน้อยนัก แม้รบชนะทัพหลวงทางกาญจนบุรีแล้ว ยังจะต้องไปตีกองทัพพม่าที่ยกมาทางอื่นๆ อิก ต้องทำศึกอยู่เกือบ ๒ ปีจึงตีพม่าแตกพ่ายไปหมด พระเจ้าปะดุงปราไชยกลับไปคราวนั้นแล้ว ยังไม่สิ้นประสงค์ที่จะตีเมืองไทย รุ่งขึ้นปีมเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙ ให้ราชโอรสซึ่งเปนพระมหาอุปราชาเปนแม่ทัพ ยกเข้ามาตีเมืองไทยอิก คราวนี้พม่ารวมกำลังเปนกองทัพใหญ่ ยกเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีทางเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงออกไปต่อสู้ ได้รบกันที่ท่าดินแดง ไทยตีกองทัพพม่าแตกยับเยินไปอิกครั้ง ๑ ตั้งแต่นั้นพระเจ้าปะดุงก็ขยาดฝีมือไทย ไม่กล้ายกกองทัพใหญ่เข้ามาเหมือนแต่ก่อน การสงครามในระหว่างไทยกับพม่าต่อมาในรัชกาลที่ ๑ เปนแต่รบกันด้วยไทยขยายอาณาจักรรุกเขตรแดนพม่าออกไปฝ่ายเดียว
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระเจ้าปะดุงให้ทาบทามที่จะเปนไมตรีถึง ๒ ครั้ง แต่ข้างไทยก็ไม่ยอมเปนไมตรี ด้วยไม่ไว้ใจพม่า แลยังเต็มอยู่ด้วยความแค้นเคืองครั้งพม่าทำแก่ไทยเมื่อตีได้กรุงเก่า จึงคุมเชิงกันตลอดมา ครั้นมาถึงปลายรัชกาลที่ ๑ เห็นจะเปนด้วยพระเจ้าปะดุงคิดเห็นว่าไทยอ่อนกำลังลง ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็สวรรคตเสียแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงยังเสด็จอยู่ ก็ทรงพระชราทุพลภาพ เห็นว่าไทยไม่มีแม่ทัพที่เข้มแขงจะไปทำศึกสงครามได้ดังแต่ก่อน เมื่อเดือนยี่ปีมโรงสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปะดุงจึงให้อะเติ่งวุ่นเปนแม่ทัพลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองพม่าแลเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองร่างกุ้งตลอดลงมาถึงเมืองทวาย ได้คนสี่หมื่น หมายว่าจะเข้ามาตีเมืองไทยลองดูอิกสักครั้ง ๑ แต่เมื่ออะเติ่งวุ่นมาตั้งจัดการเกณฑ์คนเข้ากองทัพอยู่ที่เมืองเมาะตมะครั้งนั้น จัดการไม่ดี ผู้คนหลบหนีคราวละหนึ่งพันบ้าง สองพันบ้าง สี่ร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง อะเติ่งวุ่นแต่งกำลังให้ไปเที่ยวจับตัวคนที่หลบหนีได้ทีละร้อยหนึ่งบ้าง ห้าสิบบ้าง หกสิบบ้าง ให้ลงอาญาอย่างสาหัส ไพร่พลก็ยังหลบหนี จึงข้ามฟากลำน้ำสลวินมาตั้งอยู่เมืองเมาะลำเลิ่ง เอาเรือคอยลาดตระเวนป้องกันมิให้ผู้คนในกองทัพหลบหนีข้ามฟากไป ฝ่ายขุนนางเมืองอมรบุระซึ่งเปนราชธานีพม่าในเวลานั้น ได้ทราบข่าวว่าการเกณฑ์ทัพคราวนั้น ผู้คนระส่ำระสายไม่พรักพร้อม เห็นว่าจะทำศึกใหญ่กับไทยไม่สมประสงค์ จึงพากันทูลทัดทานพระเจ้าปะดุง ว่าพระองค์ได้แต่งพระราชสาสนไปขอเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาแล้ว บัดนี้จะเกณฑ์ให้กองทัพไปตีบ้านเมืองไทยอิก จะมิเสียพระเกียรติยศไปหรือ พระเจ้าปะดุงทรงเห็นชอบด้วย จึงให้มีตราสั่งอะเติ่งวุ่นให้งดการเกณฑ์ทัพ อะเติ่งวุ่นได้ทราบความตามท้องตราแล้วมีใบบอกตอบขึ้นไปว่า ได้ลงทุนเสบียงอาหารเกณฑ์ไพร่พลไว้มากแล้ว เมื่อไม่โปรดให้ไปตีกรุงศรีอยุทธยา ก็จะขอไปตีเมืองชุมพร, เมืองตะกั่วป่า, เมืองตะกั่วทุ่ง, เกาะถลาง, กวาดต้อนครอบครัวหาทรัพย์สินมาใช้ทุนรอนที่ได้ลงไป พระเจ้าปะดุงทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย อะเติ่งวุ่นจึงยกกองทัพลงมาตั้งอยู่เมืองทวาย กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยเปนอันมาก ครั้งนั้นคนในกองทัพอะเติ่งวุ่นเกิดอหิวาตกะโรคตายวันละ ๕๐ คนบ้าง ๖๐ คนบ้างเสมอทุกวัน พอต่อเรือรบเสร็จ ถึงเดือน ๑๑ ปีมเสงเอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ อะเติ่งวุ่นจึงให้แยฆองเปนนายทัพคุมพล ๔,๐๐๐ ลงเรือรบมาตีเกาะถลางกอง ๑ ให้ดุเรียงสาลกะยอคุมพล ๓,๐๐๐ มาขึ้นที่เมืองระนอง, เมืองกระบุรี, ยกข้ามมาตีเมืองชุมพรกอง ๑ ดุเรียงสาลกะยอยกมาตั้งอยู่ปากจั่นแขวงเมืองกระบุรี แล้วข้ามมาตีเมืองชุมพรเมืองณวันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ
ฝ่ายข้างในกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบข่าวศึกพม่าจึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพยกออกไปต่อสู้ข้าศึก ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) คุมพล ๕,๐๐๐ เดินบกยกลงไปก่อน ให้เจ้าพระยาพลเทพไปอยู่รักษาเมืองเพ็ชรบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเสด็จไปจัดการคอยส่งกองทัพอยู่ที่เมืองเพ็ชรบุรี ถ้าการหนักแน่นมาประการใดให้เจ้าพระยาพลเทพเปนทัพน่า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเปนทัพหลวง ยกหนุนออกไปอิกทัพ ๑ แล้วจะโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเปนจอมพล เสด็จยกกองทัพหลวงออกไปทางสถลมารคอิกทัพ ๑ รวม ๒ ทัพเปนคน ๒๐,๐๐๐
ฝ่ายแยฆองซึ่งคุมกองทัพพม่าที่จะไปตีเมืองถลางนั้น ยกมาตีเมืองตะกั่วป่าได้เมื่อวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ แล้วก็ยกลงไปตีเมืองตะกั่วทุ่งได้อิกเมือง ๑ ด้วยเมืองทั้ง ๒ นั้นผู้คนพลเมืองน้อยไม่ต้องรบ พอทัพพม่ามาถึงราษฎรก็อพยพหนีเข้าป่าไปหมด พม่าได้เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแล้วยกเข้าไปเกาะถลาง[๑] ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ ฝ่ายพระยาถลางรู้ความก็บอกข้อราชการเข้ามาณกรุงเทพมหานคร แล้วเกณฑ์พลไพร่เข้าประจำรักษาค่ายอยู่พรักพร้อมกัน พม่าตั้งค่ายแล้วก็ยกไปตีค่ายบ้านดอนเมืองถลาง ตั้งค่ายล้อมอยู่ ๒๕ ค่าย พวกชาวเมืองถลางต่อสู้ป้องกันเมืองเปนสามารถ พม่าจะหักเอามิได้ จึงคิดอุบายให้ถอยทัพกลับลงเรือแล่นไปเมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม ฝ่ายพระยาถลางแต่งให้คนไปสืบดู ได้ความว่าพม่ายกกองทัพกลับไปหมดแล้ว สำหรับว่าพม่าเลิกทัพกลับไปเมือง ก็ปล่อยคนออกจากค่ายไปเที่ยวหากิน เพราะเวลาที่ถูกล้อมอยู่นั้น ในค่ายเมืองถลางขัดเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยากอยู่แล้วจึงมิได้กักคนไว้ พม่าคาดคเนการเห็นว่าไทยจะเลิกการเตรียมการต่อสู้แล้ว ก็กลับยกกองทัพมาขึ้นที่ปากพระบ้าง มาขึ้นที่ท่ายามูแขวงเมืองภูเก็จบ้าง เข้าล้อมเมืองถลางไว้อิกครั้ง ๑ เมื่อณวันอาทิตย์เดือนอ้ายขึ้น ๑๑ ค่ำ พระยาถลางให้เรียกคนเข้าค่ายก็ไม่ทัน คนไม่เต็มน่าที่ดังแต่ก่อน
เมื่อหนังสือเมืองถลางบอกข่าวศึกพม่าเข้ามากรุงเทพมหานคร จึงโปรดให้พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ คุมกองทัพเมืองไชยาขึ้นทางปากพนม ข้ามไปช่วยเมืองถลางทาง ๑ โปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) เปนแม่ทัพ พระยาท้ายน้ำเปนทัพน่า ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ให้เกณฑ์กองทัพไปสมทบเจ้าพระยายมราช ไปช่วยรักษาเมืองถลางด้วยอิกกอง ๑ เจ้าพระยายมราช พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ ได้ยกออกจากปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จออกไปเมื่อณวันอังคาร เดือนอ้ายขึ้น ๑๓ ค่ำ เสด็จทางชลมารคไปขึ้นที่เมืองเพ็ชรบุรี เจ้าพระยายมราชไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานคร ก็ยกลงไปตั้งอยู่ที่เมืองตรัง[๒] ครั้งนั้นข้างกองทัพไทยมีความขัดข้องสำคัญที่ไม่มีเรือจะรับกองทัพข้ามทเลไปยังเกาะถลาง แต่ฝ่ายข้างพม่านั้นได้ตระเตรียมเรือไว้เสียช้านาน กองทัพไทยที่ยกลงไปถึงเมืองตรังต้องไปตั้งต้นต่อเรือ แต่เห็นว่าถ้าจะรอจนต่อเรือแล้วจะยกไปไม่ทันช่วยเมืองถลาง จึงรีบหาเรือที่ราษฎรใช้สอยกันในพื้นเมืองตามแต่จะได้ ให้พระยาท้ายน้ำคุมไพร่พลกองหนึ่งยกข้ามทเลไปก่อน พระยาท้ายน้ำยกไปถึงเกาะชนัก พบพวกทัพเรือพม่าที่มาขึ้นท่ายามูนั้น ได้รบกันในทเล กองทัพไทยยิงเรือพม่าแตกหนีกระจัดกระจายไป เพราะพม่าเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นบกแลผ่อนผู้คนไปล้อมเมืองถลางเมืองภูเก็จ พวกพลที่เหลืออยู่สู้ไม่ได้ แต่เวลาเมื่อรบกันนั้น เรือพระยาท้ายน้ำมีความประมาทมิได้ปิดระวังถังดินให้ดี ลอองไฟปลิวไปตกถูกถังดินลุกขึ้นระเบิดเรือแตกออกไป พระยาท้ายน้ำแลคนในลำเรือนั้นตายเสียมาก เหลืออยู่แต่ ๑๕ คน หลวงสุนทรแลหลวงกำแหงซึ่งไปในกองพระยาท้ายน้ำ เห็นกำลังไพร่พลไม่พอที่จะยกขึ้นไปรบเอาไชยชนะพม่าที่เมืองถลางได้ แม่ทัพก็ตายในที่รบ จึงเก็บศพพระยาท้ายน้ำกลับมา ขึ้นที่คลองปากลาวแขวนเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนกองพระยาทศโยธาซึ่งยกไปตั้งอยู่ปากน้ำพูงา[๓] ก็ไปขัดข้องด้วยหาเรือส่งกองทัพไม่ได้อย่างเดียวกัน จึงข้ามไปช่วยรักษาเกาะถลางไม่ทัน ฝ่ายพม่ารู้ข่าวว่ากองทัพกรุงไปช่วยเมืองถลาง จึงเร่งรัดเข้าตีค่ายเมืองภูเก็จแตกแล้ว ก็รวมพลไปสมทบกันตีค่ายเมืองถลาง ตั้งล้อมเมืองอยู่ ๒๗ วัน เมื่อณวันเสาร์เดือนยี่ขึ้น ๙ ค่ำเมืองถลางก็แตก ในเวลาพม่ากำลังรวบรวมผู้คนทรัพย์สมบัติอยู่ที่เมืองถลางนั้น พอกองทัพพระยาทศโยธายกออกไปใกล้จะถึงที่ข้ามไปเมืองถลาง ประจวบกับกองทัพเรือเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าพระยานคร (น้อย) แต่ยังเปนพระบริรักษ์ภูเบศร์ คุมไปจากเมืองตรัง แลกองทัพแขกเมืองไทรบุรีซึ่งยกไปช่วยราชการ จวนจะถึงเข้าพร้อมกัน พม่าได้ข่าวอันนี้ ในคืนวัน ๑ พม่าได้ยินเสียงคลื่นในทเล สำคัญว่าเสียงปืนใหญ่กองทัพไทย ก็รีบกวาดต้อนผู้คนแลเก็บทรัพย์สมบัติลงเรือหนีไป กองทัพไทยได้เมืองถลางคืนโดยง่าย แลจับได้พม่าที่ยังตกค้างอยู่ที่เมืองถลางหนีไปไม่ทันอิกเปนอันมาก[๔] ต่อมาอิก ๔-๕ วัน เรือลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าซึ่งไม่รู้ว่าพม่าหลบหนีไปจากเมืองถลางแล้ว ตามมาส่งเสบียงกัน ไทยจับไว้ได้ทั้งผู้คนแลเสบียงอาหารเปนเรือ ๔ ลำ แต่เมืองถลางครั้งนั้นยับเยินมาก เพราะถูกพม่าเผาแลจับผู้คนเก็บทรัพย์สมบัติไปเสียก็มาก กรมการแลราษฎรที่หลบหลีกพ้นมือพม่าได้ ก็หนีข้ามมาอาไศรยอยู่ที่ฝั่ง ไทยตีได้แต่ตัวเมืองคืน
ส่วนกองทัพพม่าที่มาตีเมืองชุมพรยังตั้งอยู่ที่เมืองชุมพร สมเด็จอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงไปถึงทัน จึงมีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) ยกเข้าตีกองทัพพม่าที่เมืองชุมพร พม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามจับได้พม่าที่เมืองชุมพรแลเมืองตะกั่วป่าเปนอันมาก ครั้นสืบได้ความว่ากองทัพพม่าที่ไปตีเกาะถลางได้เมืองถลาง เมืองภูเก็จ แลเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนยากรอยู่รักษาราชการณเมืองชุมพร แลให้รวบรวมกรมการราษฎรเมืองถลางซึ่งหลบหนีพม่าเข้ามาอยู่ที่ฝั่ง ไปตั้งที่กราภูงา[๕] ขึ้นเปนเมือง เพื่อจะให้กลับไปตั้งอยู่ณเมืองถลางแลเมืองภูเก็จตามเดิมต่อไป[๖] ที่กราภูงาจึงได้เปนเมืองพังงามาแต่ครั้งนั้น เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงจัดวางการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึงเสด็จยกทัพหลวงกลับคืนพระนครด้วยเรือพระที่นั่งทางชลมารค คนที่เหลือเรือก็ให้เดินบกเข้ามา
[๑] เมืองถลางในเวลานั้นตั้งอยู่ที่เมืองเก่า อันอยู่ใกล้ชายทเลด้านตวันตกของเกาะตอนข้างเหนือ เมืองภูเก็จเปนเมืองขึ้นถลางอยู่ข้างด้านใต้ของเกาะอย่างทุกวันนี้
[๒] เห็นในหนังสือเก่าเขียนว่า เมืองตรังภุรา
[๓] คือปากน้ำเมืองพังงาทุกวันนี้
[๔] เรื่องพม่าหนีไปจากเมืองถลาง ด้วยสำคัญเสียงคลื่นเปนเสียงปืนนี้ มีในจดหมายเหตุหนังสือพระราชวิจารณ์ แลกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ แลปรากฎในหนังสืออื่นๆ อิกหลายเรื่อง เชื่อได้ว่าเปนความจริง
[๕] คำว่า กรา ตรงนี้เห็นจะมาแต่คำว่า กวาลา ภาษามลายู แปลว่าปากน้ำ
[๖] เมืองถลางครั้งนั้น เข้าใจว่าเปนเมืองร้างอยู่หลายปี จึงกลับไปตั้งขึ้นอิก ไม่ได้ตั้งที่เมืองถลางเดิม ที่อยู่ริมเกาะข้างน่านอก ด้วยข้าศึกจะจู่ถึงง่ายนัก เข้ามาตั้งเมืองใหม่ชิดชายเกาะข้างน่าใน ประสงค์จะให้ไปมาติดต่อกับหัวเมืองทางฝั่งได้ง่าย เมืองถลางยังมีที่เมืองเก่าแลเมืองใหม่อยู่จนทุกวันนี้