- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
เมื่อเดือน ๘ อุตราสาธ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พ.ศ. ๒๓๖๐ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรเปนพระยอดตรงพระที่นั่งทับก่อน ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยกลายเปนบาดพิศม์พระอาการมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวรทุกวันมิได้ขาด พระอาการกรมพระราชวังบวรฯ ทรุดหนักลง จึงเสด็จขึ้นไปประทับแรมพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่ในพระราชวังบวรฯ เจ้าพระยาอภัยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายกจึงให้เกณฑ์เวรประจำซอง เวรตั้งกองเชิงกำแพงรอบพระราชวังหลวงแลพระราชวังน่าชั้นในชั้นนอก แลให้ตั้งกองรายทางตามถนนตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรี ตรงขึ้นไปถึงประตูพรหมทวาร[๑] แลตามถนนตวันออก ถึงศาลาสารบาญชี[๒] ตามถนนตวันตกถึงประตูท่าพระให้เจ้าพระยาธรรมา พระยาเพ็ชรพิไชย รักษาพระราชวังหลวง ให้พระยารองเมืองตั้งกองอยู่ทุ่งพระเมรุน่าวัดพระมหาธาตุ ให้พระยาพลเทพ พระยายมราชตั้งกองอยู่ศาลาริมประตูพรหมทวารวังน่า เจ้าพระยาอภัยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายก ตั้งอยู่ริมประตูมหาโภคราช[๓]ข้างเหนือ[๔]
ครั้นถึงณวันพุฒ เดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงกับ ๗ บาท กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสู่สวรรคตณพระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์ พระชนมพรรษาได้ ๓๗ ปี เสด็จดำรงอยู่ในที่พระมหาอุปราชได้ ๗ ปี กับ ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปนประธานพร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ สรงน้ำพระศพแล้วเจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระศพเข้าสู่พระโกษฐ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เชิญพระโกษฐขึ้นพระเสลี่ยงแว่นฟ้าออกประตูพรหมภักตร[๕] เมื่อถึงข้างน่าแล้วเชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ ๓ ลำคานประกอบพระโกษฐ แล้วแห่เชิญพระศพมาประดิษฐานไว้ณพระที่นั่งสุทธาสวรรย์[๖]
อนึ่งในการอันเนื่องด้วย กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตนี้ ได้มีหมายประกาศให้คนโกนหัวแต่ที่มีสังกัดในฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ต้นหมายประกาศนี้ ได้พบในจำพวกท้องตราเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความชี้แจงการแก้ไขขนบธรรมเนียม จึงได้นำหมายประกาศนั้นมาลงไว้ต่อไปนี้
๏ สารตรา ท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงพรหมเสนา ว่าที่ปลัดหลวงเทพเสนา ว่าที่จ่า แลกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ณเดือนแปดข้างปฐมาสาธขึ้นปีฉลูนพศก ล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระประชวรพระโรคไม่คลาย อยู่ณวันเดือนแปดทุติยาสาธขึ้นสามค่ำเสด็จสู่สวรรคตแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่าเมื่อครั้งพระราชวังบวรสถานมงคลในพระบรมโกษฐ เสด็จสู่สวรรคตนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าลูกเธอหลานเธอข้างน่าข้างใน เจ้าต่างกรม หากรมมิได้ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน ในพระราชวังหลวง พระราชวังบวรสถานมงคล แลเจ้าเมืองกรมการอาณาประชาราษฎรโกนศีศะด้วยกันสิ้น แลครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะให้เปนอย่างธรรมเนียมถูกต้องตามราชประเพณีสืบมาแต่ก่อน จึงโปรดเกล้าโปรดกระหมอม ให้แต่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย บุตรภรรยาข้าใช้ในเรือนทั้งชายหญิงในพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ให้โกนศีศะให้สิ้นจงทุกคน กำหนดให้โกนเดือนละครั้งกว่าจะได้ถวายพระเพลิง แลเจ้าต่างกรม หากรมมิได้ฝ่ายน่า กับข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนในพระราชวังหลวงเจ้าเมืองกรมการ อาณาประชาราษฎรชายหญิงในกรุงนอกกรุงเทพพระมหานคร แขวงจังหวัดหัวเมืองทั้งปวงนั้นเกลือกจะมิรู้จะโกนศีศะเสีย ห้ามอย่าให้โกนเลย ให้เจ้าเมืองกรมการประกาศป่าวร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จงทั่ว[๗] ครั้นลุสารตรานี้ไซ้ก็ให้พระยานคร กรมการ กระทำตามรับสั่งมานี้จงทุกประการ
สารตรามาณวันจันทร์เดือนแปดทุติยาสาธขึ้นเจ็ดค่ำปีฉลูนพศก[๘]
[๑] ประตูพรหมทวาร เปนประตูพระราชวังบวรฯ ชั้นนอกข้างใต้ ตรงถนนน่าพระธาตุ
[๒] ศาลาสารบาญชีเปนหอทเบียนสัสดี อยู่ใกล้หลักเมือง
[๓] ประตูมหาโภคราช เปนประตูวังชั้นกลาง ตรงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
[๔] ความปรากฎในหนังสือเทศนาพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ว่าเมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถประชวรหนักคราวจะสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปประทับแรมอยู่รักษาพยาบาลเหมือนกัน ครั้งนั้นพวกวังน่ากับวังหลวงไม่ไว้ใจกัน ข้าราชการวังหลวงจึงต้องขึ้นไปตั้งกองล้อมวงรักษาพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในรัชกาลที่ ๒ ที่จริงไม่มีเหตุในระหว่างพวกวังน่ากับวังหลวงเช่นคราวก่อน แต่การล้อมวงเคยมีเปนประเพณีมาแล้ว ก็จัดตามประเพณี
[๕] ประตูพรหมภักตร เปนประตูวังชั้นใน อยู่หลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน มีทางแวะออกมาจากฉนวนข้างใน
[๖] พระที่นั่งองค์นี้ คือ พระที่นั่งองค์พื้นสูง ที่ไว้พระพุทธสิหิงค์ในพิพิธภัณฑ์สถานทุกวันนี้ ในหนังสือเก่าที่ได้พบ เรียกชื่อพระที่นั่งองค์นี้เปน ๒ ชื่อ บางแห่งเรียกว่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ บางแห่งเรียกว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ทำไมจึงเปน ๒ ชื่อ ข้าพเจ้าได้สันนิฐานตามเรื่องราวที่มีมา เข้าใจว่าเห็นจะมาสร้างในราวเมื่อปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พ.ศ. ๒๓๓๘ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงใหม่ ทำนองจะสร้างถวายเปนพุทธบูชา จึงเขียนผนังข้างในเปนรูปเทพชุมนุมแลเรื่องปฐมสมโพธิซึ่งยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ชื่อพระที่นั่งนั้นเห็นจะเรียกว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่แรกสร้าง ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต ที่วังน่าว่างอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๑ มีจดหมายเหตุปรากฎว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระวิตกเกรงผู้ร้ายจะเข้าไปลักพระพุทธรูป แลเครื่องพุทธบูชาในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์แลพระพุทธรูปเครื่องพุทธบูชาลงมาไว้ในพระราชวังหลวง ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรงที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีมีอยู่ทุกวันนี้ ในรัชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ โปรดให้ตั้งพระแท่นเสวตรฉัตรในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เปนที่ทรงธรรมแลเสด็จออก ชื่อพระที่นั่งในตอนนี้จึงปรากฎในหนังสือเก่า ว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระพุทธสิหิงค์อยู่ในพระราชวังหลวงตลอดรัชกาลที่ ๒ แลรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้ในพระบวรราชวังตามเดิม แลเข้าใจว่าชื่อพระที่นั่งจึงกลับเปลี่ยนเปนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามเดิม เรียกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
[๗] ความในท้องตราต่อนี้ ว่าถึงเกณฑ์สิ่งของทำพระเมรุไม่เกี่ยวแก่เรื่องที่จะกล่าว จึงตัดออกเสีย
[๘] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือพระราชวิจารณ์ ยังค้นไม่พบท้องตราฉบับนี้ ได้ทรงพบหนังสือฉบับ ๑ ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ อ้างว่าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ ว่าเมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคต บังคับให้โกนหัวแต่ผู้หญิงทั้งแผ่นดิน ทรงสงไสยหนังสือฉบับนั้นอยู่ แจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์น่า ๔๒๔ ที่มาพบท้องตราฉบับนี้ เปนอันสมกับที่ทรงพระราชดำริห์สงไสย แลได้ความรู้เปนแน่ ว่ากรมพระราชวังฯ สวรรคต โกนหัวทั้งแผ่นดินแต่เมื่อรัชกาลที่ ๑ คราวเดียว ต่อนั้นมา โกนแต่ข้าราชการบุตรภรรยาบ่าวไพร่ อันมีสังกัดฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนกันหมดทุกรัชกาล