- คำนำ
- ๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต
- ๒ ประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เมื่อก่อนเสด็จผ่านพิภพ
- ๓. เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
- ๔. เกิดเหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต
- ๕. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๖. พระราชพิธีอุปราชาภิเศก
- ๗. การอันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๘. พระราชกำหนดสักเลข รัชกาลที่ ๒
- ๙. เรื่องเดินสวนเดินนา
- ๑๐. พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลซื้อขายฝิ่น
- ๑๑. เรื่องศึกพม่า
- ๑๒. อุปฮาดเมืองนครพนมกับพรรคพวกอพยพเข้ามาณกรุงฯ
- ๑๓. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร
- ๑๔. เรื่องทูตญวนเข้ามาครั้งที่ ๑
- ๑๕. เรื่องญวนขอเมืองไผทมาศ
- ๑๖. เรื่องกรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ
- ๑๘. เรื่องทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๑
- ๑๙. เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
- ๒๐. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๑
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๒๓. เกิดเหตุเรื่องเมืองเขมรตอน ๒
- ๒๔. เรื่องพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๕. ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์
- ๒๖. เกิดเหตุเรื่องเขมรตอนที่ ๓
- ๒๗. พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
- ๒๘. ได้พระยาเสวตรกุญชรช้างเผือกเมืองโพธิสัตว
- ๒๙. เรื่องตั้งกรม
- ๓๐. เรื่องปิดน้ำบางแก้ว
- ๓๑. ไฟใหญ่ไหม้พระนคร
- ๓๒. เรื่องสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท
- ๓๓. เรื่องพม่าขอเปนไมตรี
- ๓๔. เรื่องสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
- ๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ
- ๓๖. เรื่องสมณทูตไปลังกา
- ๓๗. เรื่องเขมรตีเมืองพัตบอง
- ๓๘. เรื่องมอญอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี
- ๓๙. เรื่องจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช
- ๔๐. เรื่องตั้งเมืองกลันตันเปนประเทศราช
- ๔๑. เรื่องพม่าแหกคุก
- ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
- ๔๓. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่
- ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
- ๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์
- ๔๖. พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ
- ๔๗. ได้พระยาเสวตรคชลักษณ์ ช้างเผือกเมืองน่าน
- ๔๘. เรื่องใช้ธงช้าง
- ๔๙. เรื่องพิธีวิสาขบูชา
- ๕๐. พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
- ๕๑. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๕๒. สถานที่ซี่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร
- ๕๔. งานพระเมรุกรมพระกรมพระราชวังบวรฯ
- ๕๕. เรื่องขยายเขตรพระบรมมหาราชวัง
- ๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา
- ๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร
- ๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- ๖๐. เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ
- ๖๑. เรื่องโปตุเกตขอทำสัญญา
- ๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค
- ๖๓. ฉลองวัดอรุณราชวราราม
- ๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
- ๖๕. เรื่องสังคายนาสวดมนต์
- ๖๖. เรื่องข่าวศึกพม่า
- ๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒
- ๖๘. เรื่องตีเมืองไทรบุรี
- ๖๙. เรื่องอังกฤษขอเปนไมตรี
- ๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ
- ๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง
- ๗๒. เรื่องครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญา
- ๗๓. เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปรากฎในหนังสือครอเฟิด
- ๗๔. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์
- ๗๕. เรื่องสร้างวัดสุทัศน์
- ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
- ๗๗. เรื่องสร้างเมืองสมุทปราการ
- ๗๘. เรื่องขุดปากลัด
- ๗๙. เรื่องพม่าชวนญวนตีเมืองไทย
- ๘๐. เรื่องอังกฤษรบกับพม่าครั้งที่ ๑
- ๘๑. งานพระเมรุเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
- ๘๒. เรื่องพระยาช้างเผือกล้ม
- ๘๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเปนพระภิกษุ
- ๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒
- ๘๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๘๖. พระราชานุกิจ
- ๘๗. สวรรคต
- ๘๘. เรื่องสืบสันตติวงษ์
- ๘๙. พระราชโอรสพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
- ๙๐. พระนามพระองค์เจ้าลูกเธอ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๖๔. ราชทูตญวนเข้ามาบอกข่าวพระเจ้ายาลองสิ้นพระชนม์
ในต้นปีมโรงโทศก เมื่อกำลังเกิดอหิวาตกะโรคนั้น ราชทูตญวนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่เข้ามาถวาย ทูลให้ทรงทราบว่า พระเจ้ากรุงเวียดนามยาลองสิ้นพระชนม์ เมื่อณวันเดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒
พระเจ้าเวียดนามยาลองนี้ คือองเชียงสือที่ปรากฎนามมาในพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑ เมื่อเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพฯ ชนมายุ ๓๓ ปี อยู่กรุงเทพฯ ได้ ๔ ปี ปีมเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ หนีกลับไปทำศึกกับพวกขบถไกเซินอยู่ ๒ ปี ตีได้เมืองไซ่ง่อนเมื่อปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ ตั้งตัวเปนเจ้าอนัมก๊กยอมเปนประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ อยู่ ๑๕ ปี ครั้นปีจอจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ ได้แผ่นดินญวนคืนทั้งหมด จึงถืออิศรเปนพระเจ้ากรุงเวียดนามอยู่ได้ ๑๘ ปีสิ้นพระชนม์ รวมพระชนม์ได้ ๗๒ ปี มีราชบุตรชายหญิงเปนอันมาก ราชบุตรเกิดด้วยอรรคมเหษีนั้นชื่อดงกุง ให้ไปเรียนหนังสือแลวิชาที่เมืองฝรั่งเศสกลับมาเปนไข้พิศม์สิ้นชีพเสีย ยังแต่ราชบุตรเกิดด้วยมเหษีที่สอง ๓ องค์ ชื่อหมูบัวต้องปืนสิ้นชีพเสียแต่ครั้งไปรบเมืองกุยเยิน ๑ หมูกาม ๑ หมูกายต่อมาได้เปนที่องเกียนอาน ๑ หมูกามราชบุตรที่ ๒ ชนมายุได้ ๓๐ ปีจึงได้รับราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งยี่ห้อใช้นามแผ่นดินว่า มินมาง แลยกอิศริยยศเปนดึกว่างเด่ ตรงกับคำจีนว่าเปนฮ่องเต้[๑]
ทูตญวนเข้ามาครั้งนั้น องกายกับไพร่ ๑๐ คน เข้ามาเปนอหิวาตกะโรคตาย จึงโปรดให้รีบจัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทน แลมีศุภอักษรเจ้าพระยาพระคลังให้ทูตญวนถือกลับไปถึงเสนาบดีญวนว่า ที่ในกรุงเทพฯ ยังมีความไข้เจ็บชุกชุม เมื่อความไข้ค่อยสงบแล้ว จึงจะโปรดให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนออกไปคำนับพระศพพระเจ้ายาลอง แลเจริญทางพระราชไมตรีตามประเพณี
ครั้นณเดือน ๙ ปีมโรงโทศกนั้น จึงโปรดให้พระยาทิพโกษาเปนราชทูต จมื่นจิตรเสน่ห์เปนอุปทูต หลวงสำแดงฤทธิรงค์เปนตรีทูต เชิญพระราชสาสนออกไปยังกรุงเวียดนาม สิ่งของทรงยินดีถวายพระเจ้ากรุงเวียดนามพระองค์ใหม่ คือ หีบหมากเสวยทองคำเครื่องลงยาราชาวดี ๑ เครื่องทองคำในหีบ จอกคู่ ๑ ผะอบคู่ ๑ มีดด้ามหุ้มทอง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ บ้วนพระโอษฐทองคำลงยาราชาวดี ๑ เต้าน้ำพานรองทองคำลงยาราชาวดี ๑ เครื่องชาถาดทองคำ ปั้น ๑ ถ้วย ๑ จานรองปั้นเลี่ยมทองคำสำรับ ๑ กล้องไม้แก้วหุ้มทองคำ ๑ กระเป๋ายาสูบกล้องเครื่องทองคำ ๑ แพรจีนกิมต่วน ๕ ม้วน แพรมังกรเล่นน้ำ ๑๐ ม้วน แพรต่วนลาย ๕ ม้วน สุจหนี่ริมปักทองขวาง ๒ ผืน ผ้ายันตะหนี่ ๑๐ พับ โหมด ๒๐ ม้วน แพรกระบวนผูกทอง ๒๐ ม้วน ไหม ๑๐ ม้วน ผ้าแดงเทศ ๑๐๐ ผืน พิมเสนหนัก ๒ ชั่ง น้ำมันจันทน์หนัก ๔ ชั่ง น้ำมันกระดังงาหนัก ๔ ชั่ง
สิ่งของช่วยในงานพระศพพระเจ้าเวียดนามยาลอง ผ้าขาวอัสสห่าน ๑๐๐ พับ กฤษณา ๕๐ ชั่ง เครื่องพอมปรุงแล้ว ๕๐ ชั่ง จันทน์เทศหนัก ๕ หาบ น้ำตาลกรวดหนัก ๑๐ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๒๐ หาบ เงินสลึง ๑๐ ชั่ง
พวกทูตานุทูตไทยที่ไปเมืองญวนครั้งนี้ กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อณเดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ
พระเจ้ากรุงเวียดนามมินมางมีพระราชสาสนตอบเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า (พระเจ้า) กรุงพระมหานครศรีอธุทธยาให้ทูตานุทูตคุมสิ่งของออกไปทรงยินดีแลช่วยในการพระศพนั้น (พระเจ้า) กรุงพระมหานครศรีอยุทธยามีพระไทยไมตรีเสมอต้นเสมอปลาย ขอบพระไทยยิ่งนัก บัดนี้จัดได้ทองคำ ๕๐ ตำลึงจีน เงิน ๖๐๐ ตำลึงจีน มอบให้ทูตคุมเข้ามา ทรงยินดี ขอให้ (พระเจ้า) กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาทรงพระเจริญ จะได้เปนทางพระราชไมตรีสืบไป
ทูตกลับเข้ามาจากเมืองญวนครั้งนั้น ได้จดสำเนาหมายประกาศพระเจ้าแผ่นดินญวนพระองค์ใหม่เข้ามาด้วย หนังสือประกาศญวนฉบับนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ลงคำแปลไว้เต็ม ที่จริงไม่เกี่ยวกับเรื่องพระราชพงษาวดารของเรา แต่โวหารแลขนบธรรมเนียมญวนที่ปรากฎในประกาศฉบับนี้ น่าอ่านอยู่บ้าง ข้าพเจ้าจึงเอาลงไว้ต่อไปนี้เต็มตามฉบับเดิม มีความว่า “หนังสือประกาศ ด้วยเรามีกตัญญูรู้คุณบิดามารดา จึงได้เปนเจ้าของสำหรับได้เส้นในที่ไว้อักษรจาฤกชื่อปู่แลบิดาญาติพี่น้องทั้งปวงในหอท้ายเบี้ยว ได้เปนใหญ่แก่อาณาประชาราษฎรในแว่นแคว้นแดนเมืองญวน เดชะที่เราถือกตัญญูจึงได้สมบัติซึ่งเปนสินมรฎกดามบิดาเราสั่งโดยง่าย มิได้เหน็ดเหนื่อยสิ่งใด อุปมาเหมือนหนึ่งสวมเสื้อแต่งตัวเดินสบายเข้ามาครองราชสมบัติ ดังนี้ ด้วยเทพยุดาเอนดูเรา อันว่าราชสมบัตินั้น จะได้ก็แต่ผู้มีบุญ ซึ่งท่านแต่ก่อนได้รักษาแผ่นดินมาหลายชั่วคนกำหนดถึง ๒๐๐ ปีเศษ ครั้นตั้งแต่ ๒๐๐ ปีเศษมาแล้ว สมบัติบ้านเมืองญวนกระจัดกระจายไป อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน ว้างค้าวบิดาเราทรงพระอุสาหะไม่คิดเหน็ดเหนื่อย ออกน้ำพักน้ำแรงปราบข้าศึกศัตรู เมืองญวนจึงได้รวบรวมเปนปรกติราบคาบเหมือนสร้างแผ่นดินใหม่ อันพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ซึ่งได้บำรุงเมืองมาแต่ก่อนเปนอันมาก หามีเกียรติยศเหมือนหนึ่งว้างค้าวบิดาเราไม่ อันว้างค้าวบิดาเรานั้น มีบุญดุจหนึ่งลงมาแต่ฟ้า ครั้นได้เสวยราชย์แล้ว ก็ตั้งอยู่ในสัจธรรม เมตตาแก่อาณาประชาราษฎร ตั้งพระไทยแต่ที่จะบำรุงบ้านเมือง จะเหน็ดเหนื่อยก็มิได้คิดแก่พระองค์ ทุกข์ร้อนแทนขุนนางแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาได้ ๑๘ ปี บ้ดนี้ท่านสิ้นทุกข์ไปหาที่สบายแล้ว เหตุทั้งนี้ก็เพราะเทพยุดาให้เปนไป อุประมาเหมือนหนึ่งภูเขาใหญ่พังลงถ้ำเหว แลต้นไม้ใหญ่เล็กทั้งปวงก็หวั่นไหวสเทือนทั่วกัน ตัวเราก็ทุกข์อาไลยรักใคร่ในบิดาหาสิ่งใดจะเปรียบบมิได้ ซึ่งบิดาเรามอบราชสมบัติให้แก่เรานั้น ด้วยมีความเมตตาแก่เรา แต่ทว่าผู้จะรักษาสมบัติ อุประมาเหมือนหนึ่งอาไศรยนั่งอยู่บนกิ่งไม้อันสูง หรือมิฉนั้นก็เหมือนคนขี่เรือโคลง ต้องรักษาตัวอยู่ทุกเวลา เรามีความวิตก ได้อาไศรยขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุทำราชการมาแต่ก่อน ให้ช่วยว่ากล่าวตักเตือน ประการหนึ่งกฎหมายอย่างธรรมเนียมแบบแผนสำหรับกระษัตริย์ซึ่งจะรักษาแผ่นดินให้เปนศุขมีอยู่ประการใด ให้ท่านทั้งปวงช่วยเอามาชี้แจงสั่งสอนเราด้วย แล้วการพระศพยาลองสิบแปดปีนั้น ก็ได้จัดแจงที่ไว้พระศพ การทั้งปวงเสร็จในเดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ครั้นเดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำได้จาฤกพระนามว้างค้าว เชิญเข้าไว้ในหอท้ายเบี้ยวสำหรับเส้น แล้วได้คำนับพระศพเส้นสี่ทิศตามธรรมเนียม ณเดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน เชิญให้เราขึ้นนั่งณพระที่นั่งไทยว้าเตี้ยน แล้วเชิญหนังสือรับสั่งว้างค้าวซึ่งมอบราชสมบัติให้แก่เรานั้น มาอ่านในที่ประชุมขุนนาง เราได้เสวยราชย์ในเวลานั้น ตั้งศักราชมินมางปีต้น แลส่วยสาอากรซึ่งค้างกับอาณาประชาราษฎรมาแต่ว้างค้าว บิดาเราแรกเสวยราชสมบัติมาจนยาลองสิบแปดปีนั้นให้ยกเสียอย่าเรียกเอาแก่ราษฎรต่อไป อนึ่งมินมางปีต้นนี้ ส่วยสาอากรส่วยส่วนตัวคนแลภาษียกให้แก่ราษฎรปีหนึ่ง อนึ่งเจ้าน้อง เจ้าหลานซึ่งว้างค้าวตั้งให้เปนผู้มีตำแหน่งยศแล้วนั้น ให้พระราชทานเพิ่มเบี้ยขึ้นปีละห้าร้อยพวง เข้าสารปีละห้าร้อยถัง เจ้าน้องซึ่งยังเด็กอยู่มิได้มีตำแหน่งยศนั้นให้งดไว้ ต่อครบสามปีเติบใหญ่ขึ้นแล้วจึงให้เลโปจดหมายรายชื่อมาทูล จะได้ตั้งให้มียศตามตำแหน่ง อนึ่งเชื้อพระวงษ์ซึ่งยังมิได้เปนขุนนางนั้น ให้ตงเยินซึ่งเปนเชื้อวงษ์ผู้ใหญ่กับเลโปชำระดูว่า ผู้ใดสนิทผู้ใดห่างจะได้พระราชทานเพิ่มเบี้ยเพิ่มเข้าให้ตามสมควร อนึ่งขุนนางพลเรือนซึ่งทำราชการอยู่ในเมืองเว้แลหัวเมืองขึ้นทั้งปวง ต่ำจากชั้นที่ ๔ ที่ ๕ ลงไปจนถึงองโดยองกาย ตำแหน่งใดมีเบี้ยปีอยู่เท่าใด ก็ให้คิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอิกสองเดือน อนึ่งลูกข้าหลวงเดิมซึ่งบิดาเปนขุนนางชั้นที่ ๓ ขึ้นไป ให้ส่งไปเรียนหนังสือที่กวักตือยำซินแสหลวง ถ้าเรียนได้แล้วให้ขุนนางผู้ใหญ่จดชื่อมาให้เลโปทูล จะได้ตั้งแต่ให้เปนขุนนางตามสติปัญญา อนึ่งผู้ซึ่งได้ทำศึกมากับว้างค้าวบิดาเรา ตายเสียในท่านกลางศึกเปนอันมาก ยังอยู่แต่ลูกหลานว่านเครือที่ได้เปนขุนนางแล้วก็มี ที่ยังไม่ได้เปนขุนนางนั้น ให้ขุนนางจดหมายรายชื่อส่งมาให้เลโปทูล จะได้ตั้งเปนขุนนาง แลพระราชทานเบี้ยเข้าให้ตามสมควร อนึ่งขุนนางผู้มีความชอบตัวตายไปแล้ว หามีลูกหลานซึ่งจะสืบเชื้อสายต่อไปไม่ ยังแต่ภรรยาเปนหม้ายยู่ ให้เจ้าเมืองกรมการจดบาญชีชื่อเข้ามาให้เลโปทูล จะได้พระราชทานเบี้ยเข้าให้เลี้ยงชีวิตแลเส้นผู้ตายต่อไป อนึ่งเมืองใดมีศาลเทพารักษ์อยู่กี่ศาล เคยบวงสรวงสิ้นเบี้ยปีละเท่าไร ให้จดหมายบอกเข้ามาจะเพิ่มเบี้ยเส้นขึ้นให้ อนึ่งเมืองใด มีครูสอนหนังสืออยู่กี่แห่งให้เจ้าเมืองกรมการเอาเบี้ยหลวงเมืองนั้น จัดแจงทำเรือนแลที่อยู่ ให้กว้างขวาง กับจ่ายเบี้ยจ่ายเข้าให้ผู้เรียนหนังสือกิน อนึ่งเมื่อยาลอง ๑๘ ปี ผู้ที่เรียนหนังสือดีแล้วได้มาคั้วกับนายบ้านแลเจ้าเมือง ๓ ครั้ง ๔ ครั้งแล้วให้พ้นจากไพร่เรียนหนังสือต่อไป ที่ได้มาคั้วสองครั้งให้ยกส่วยส่วนตัวเสีย ๓ ปี ที่ได้มาคั้วแต่ครั้งเดียว ให้ยกส่วยส่วนตัวเสีย ๒ ปี แล้วให้เรียนหนังสือต่อไป อนึ่งคนโทษแต่ครั้งยาลองมาจนถึงมินมางปีต้นเดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ ให้ชำระดูคนโทษเบาให้ปล่อยเสีย ถ้าโทษหนักทำบาญชีมายื่นให้หินโปทูล ถ้าควรประการใดก็จะโปรดตามควร ถ้าโทษผู้ร้ายปล้นสดมตีเรือลูกค้าวานิชเมืองใดจับได้ไว้ ให้เจ้าเมืองกรมการเรียกเอาทานบนให้มุลนายมารับประกันตัวไว้แล้วให้ปล่อยไป แลตัวเราทุกวันนี้อยู่ในระหว่างทุกข์ ข้อรับสั่งซึ่งประกาศมานี้ เพื่อจะให้เปนประโยชน์แก่เจ้าเมืองกรมการ แลอาณาประชาราษฎรโดยประเพณีกระษัตริย์สืบมา ผู้ใดเห็นหนังสือนี้แล้ว ให้กระทำตามทุกประการ”
อนึ่งพระยาทิพโกษาได้ความมากราบทูลฯ ว่า เมื่อไปอยู่ที่เมืองเว้ ได้ทราบว่าหัวเมืองขึ้นญวนก็เกิดอหิวาตกะโรค ตามใบบอกขึ้นไปถึงเมืองเว้ จำนวนคนที่ตายเมืองกวางนามหมื่นเศษ เมืองกวางงายสามพันเศษ เมืองกุยเยินสี่พัน เมืองภูเวียงสองพันเศษ เมืองยะตรางพันห้าร้อยเศษ เมืองไซ่ง่อนสามหมื่นเศษ เมืองสมิถ่อพันเศษ เมืองล่องโหสองพันเศษ เมืองเต๊กเซียสามร้อย เมืองไผทมาศเจ็ดร้อยเศษ ที่เมืองเว้ก็ตายถึงสามหมื่น
[๑] มีคำเล่ากันสืบมา ว่าพระเจ้าเวียดนามมินมางชวนเข้ามาให้พระเจ้าแผ่นดินสยามใช้พระนามเปนฮ่องเต้เหมือนกันในครั้งนั้น ได้โปรดให้ตอบไปว่า เกียรติยศที่เรียกว่าฮ่องเต้นั้น เปนเกียรติยศตามประเพณีจีน ไทยใช้เกียรติยศตามประเพณีบ้านเมือง ซึ่งมีมาแต่โบราณเปนอย่างสูงอยู่แล้ว ไม่เห็นควรจะใช้เกียรติยศอย่างจีน