- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
คดีเรือสงครามครรชิต
คดีสำคัญเรื่องนี้ ได้อุบัติขึ้นเนื่องจากมิสเตอร์น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในเมืองไทยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มิสเตอร์น็อกซ์ได้มีหนังสือลงวันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ มาฟ้องต่อเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมว่า เรือรบสยามจับเรือไทฮินชักธงอังกฤษที่เกาะหลัก เป็นการผิดหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับอังกฤษ ความละเอียดปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ มีเนื้อความว่า
พระยาประภากรวงศ์เฝ้าถวายคำตัดสินเรื่องเรือสงครามครรชิตจับเรือไทฮินใช้ธงอังกฤษ ว่าวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ เจ้าพระยาสุรวงศ์นั่งว่าราชการออฟฟิศ มีบัญชาว่า มิสเตอนอกซ์กงสุลอังกฤษมีหนังสือลงวันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ มาฟ้อง (ต่อสมุหพระกลาโหม) ว่าเรือรบสยามจับเรือไทฮินชักธงอังกฤษที่เกาะหลักผิดหนังสือสัญญา ครั้นวันเสาร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ขุนนเรนทรนายเรือสงครามครรชิตเข้ามากรุงเทพ ฯ ถามได้ความว่า หนังสือสำหรับเรือแต่ปีชวดอัฐศก เครื่องอาวุธไม่มีในหนังสือ จึงได้ส่งตัวนายเรือ ๑ ไต้ก๋ง ๑ รวม ๒ คน มอบให้กรมการเมืองประจวบคีรีขันธ์รักษาไว้ ได้มีหนังสือลงวันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ส่งคำให้การขุนนเรนทรและสำเนาหนังสือสำหรับลำให้พระนรินทรราชเสนี พาขุนนเรนทรลงไปพร้อมด้วยเรือจีนตันโกโบ เจ้าของเรือไทฮิน ณ ศาลกงสุลอังกฤษ มิสเตอกูลด์ผู้ว่าการแทนไวซ์กงสุล กับพระนรินทรได้เรียกนายเรือ ไต้ก๋ง ลูกเรือรวม ๘ คน มาให้สาบาล แล้วถามทรัพย์สิ่งของที่หาย แล้วได้ตรวจที่ยังอยู่และที่หาย ก็ถูกต้องตามบัญชียื่นศาลกงสุล เมื่อเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มิสเตอนอกซ์ส่งบัญชีจำนวนเงิน ซึ่งเรือสงครามครรชิตต้องใช้ให้พระนรินทรมาเสนอ เห็นว่าการเป็นทั้งนี้ก็เพราะขุนนเรนทรเสนีโง่ไม่รู้ถึงการณ์ จะหาทางโต้เถียงก็ยาก จึงต้องยอม มิสเตอนอกซ์มีหนังสือลงวันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ บอกจำนวนเงินถูกต้องตามบัญชีเป็นเงิน ๖๕๖ บาท ๓ สลึง ให้พระยาประภา ฯ ซึ่งได้กำกับเรือรบทำตั๋วยืมเงินภาษีฝิ่นให้พระนรินทรพาไปใช้ที่ศาลกงสุลก่อน แล้วเบิกใช้โรงฝิ่นภายหลัง ได้คัดสำเนาหนังสือตอบ ๑ คำให้การขุนนเรนทร ๑ หนังสือสำหรับลำ ๑ บัญชีของ ๑ หนังสือกงสุล ๑ เข้าผนึกมาให้พระยาประภา เห็นว่าความเกี่ยวข้องกับเรือรบลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้ายดังนี้ ควรให้พระยาประภากราบบังคมทูลพระกรุณา ฯ ไว้
สำเนากงสุลมีฉะบับ ๑ ลงวันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ว่าเขาได้รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ ๒ ฉะบับ ลงวันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนหนึ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ เรื่องเรือใช้ธงอังกฤษที่เรือรบไทยจับนั้น เขายังไม่ทราบความละเอียดของดก่อน แต่จะต้องชี้แจงให้ท่านทราบตามเขาตรองเห็น ผู้ที่จับเรือนี้ได้ทำผิดข้อหนังสือสัญญาข้อสำคัญ ถ้าแม้นว่าเรือนั้น เมื่อเวลาจับอยู่ในทะเลของเขตต์แดนไทยก็ดี เมื่อสืบความต่อไปข้างหน้าเหมือนหนังสือท่านก็ดี ก็มีความผิดอยู่ เขาชี้แจงมานี้เพื่อจะไม่ให้มีการลำบากต่อไป ท่านหรือเจ้าพนักงานของท่านก็ไม่มีอำนาจรับการเกี่ยวข้องกับเรืออังกฤษ เว้นแต่จับได้ในกำลังลงมือผิดกฎหมายอย่างหนึ่ง หรือพะยานมั่นคงรู้แน่ว่าได้ทำการผิดจริง และเมื่อจับแล้วผู้จับเป็นโจทก์ ถ้าสืบไม่สมโจทก์ ๆ นั้นต้องใช้ทำขวัญ และค่าป่วยการแก่ผู้ต้องจับ
สำเนาเจ้าพระยาสุรวงศ์ ตอบลงวันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ว่า วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ขุนนเรนทรเสนี นายเรือสงครามครรชิตกลับมา ได้ถามดังคำให้การที่ส่งมา ขอแจ้งแก่ท่านว่า นายเรือลาดตระเวนกรุงเทพฯ นั้น ถืออยู่ตามธรรมเนียมโบราณ ถ้าพบปะเรือใดในทางทะเล เรียกหนังสือสำหรับลำมาตรวจเห็นผิดชื่อนายเรือแล้ว วัน ฯ หนังสือล่วงปีหนึ่งก็จับ อีกอย่างหนึ่ง ในเรือมีปืนใหญ่น้อย ถ้าไม่มีในหนังสือสำหรับลำที่จับ ที่จะคิดว่าเป็นเรือลูกค้าก็หามิได้ การเป็นอยู่ดังนี้ ถ้าต่อไปภายหน้าจะให้นายเรือประพฤติดังท่านชี้แจงมา ขอส่งสำเนาคำให้การขุนนเรนทรและสำเนาหนังสือสำหรับลำไป ขอให้ตริตรองโดยละเอียดก่อน
สำเนาคำให้การของขุนนเรนทรเสนีว่า ไปวันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ไปถึงเมืองปราน วันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ พระยาวิชิตชาญณรงค์ ผู้ว่าราชการและยกระบัตร์บอกว่า เมื่อเดือน ๗ ข้างแรม สลัดตีเรือลูกค้าเมืองกำเนิดนพคุณในแขวงเมืองกำเนิดนพคุณ ยิงคนตาย ๒ คน นายเรือโดยน้ำหนีมาได้ สลัดเอาเรือไปในแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ เจ้าเมืองปรานจัดให้นำร่องไปเที่ยวค้นหาสลัด แล้วแวะไปที่อ่าวเมืองประจวบ กำเนิด ปะทิว ชุมพร หลังสวน เที่ยวค้นทุกเมือง ๗ วัน ก็ไม่พบ วันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปเมืองกาญจนดิษฐ์ พัก ๒ วัน วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ออกไปอีก ๘ วัน ถึงเกาะหลักวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ทอดสมออยู่ในอ่าว ครั้นเวลาค่ำ ๒ ยาม เห็นเรือศีร์ษะฉลอมท้ายญวนเข้ามาทอดในอ่าว รุ่งเช้าให้คนไปเรียกจุนจู๊ก็ไม่มา จึงให้กระลาสีไปใช้ใบเข้ามาตามเรือจุนจู๊ว่า ชื่อจีนติง ตรวจดูในหนังสือชื่อจีนตันโกโบ แล้วเป็นหนังสือแต่ปีชวด ๓ ปีมาแล้ว ตรวจดูมีเครื่องอาวุธในเรือ หม้อดิน ๒ หม้อ ปืนใหญ่ ๔ ปืนน้อย ๕ กระสุนใหญ่ถัง ๑ เล็กครึ่งถัง หอก ๒ ง้าว ๒ เหล็กมีคมวงเดือน ๑ เครื่องอาวุธเหล่านี้ไม่มีหนังสือสำหรับลำ จึงพร้อมกับหลวงศรีนาวากรมการเมืองประจวบ ทำบัญชีอาวุธไว้ในเรือสงคราม สินค้าไว้ในเรือเขา แต่จุนจู๊ไต้ก๋งมอบให้กรมการรักษาไว้ แล้วได้มีหนังสือถึงพระพิไชยพลสินธุ์ ๆ ให้หลวงยกระบัตร์ หลวงวัง หลวงบันเทา มาตรวจดูว่าจะต้องส่งเข้ามากรุงเทพฯ เขาก็ไปลาดตระเวนต่อไป ครั้นกลับมาได้ทัองตราให้ปล่อยก็ได้ปล่อยไปแต่ ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ หนังสือสำหรับลำ พระยาพิพัฒนโกษา ลงวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด อัฐศก ฉะบับ ๑ บัญชีของสินค้าราคา ๓๖๘ บาท ๓ สลึง ค่าป่วยการค่าจ้างคนมาบอกข่าวเมื่อต้องจับ ๒๐๘ บาท รวม ๕๗๖ บาท ๓ สลึง กับค่าทำชวัญ คนละ ๕๐ บาท รวม ๘๐ บาท รวมหมด ๖๕๖ บาท ๓ สลึง
สำเนาหนังสือกงสุลอังกฤษเมาวันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยเงินค่าป่วยการและอื่น ๆ รวม ๖๕๖ บาท ๓ สลึง ถ้าคอเวอนแมนต์จะยอมใช้เงินนี้เขาจะยอมให้เป็นเลิกแล้วแก่กัน แต่ถ้าว่าเขาจะต้องชี้แจงอีกทีหนึ่ง ขอให้ไทยเอาเป็นธุระ อย่าให้ความอย่างนี้เกิดอีกต่อไป เพราะถ้าเกิดอีกต่อไปอย่างนี้ เขาจะให้แล้วกันง่ายเหมือนคราวนี้ก็เหลือกำลัง ในคราวนี้เมื่อชำระดู เรือไทฮินจะได้ค่าป่วยการเท่าไร เขาก็ปราณีมาก เพราะเห็นว่าการไม่ดีที่นายเรือรบนั้นทำ เป็นความโง่มาก ไม่สู้แกล้ง แต่ว่าเมื่อสืบต่อไปก็ได้ความบ้าง ให้ความสงสัยเกิดในใจเขาบ้าง การที่ขุนนเรนทรเสนีทำนั้นก็หาเป็นเพราะความโง่อย่างเดียวไม่ เขาเห็นว่าถ้าเขาจะสืบบ้าง ด้วยเรือรบนั้นได้จับเรือลำอื่นไป เที่ยวนี้ก็เห็นจะเป็นการบำรุงเรือลูกค้าทั้งปวง
คดีเรื่องเรือสงครามครรชิต จับเรือไทฮินใช้ธงอังกฤษดังที่เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ตัดสินมาข้างต้นนี้ เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายคำตัดสิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา เหน็บท้ายคำตัดสินพระราชทานพระยาประภากรวงศ์ไป มีพระกระแสพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้
ร. ที่ ๒๕๔/๔๐
ได้ตรวจดูคำตัดสินคุณสุรวงศ์ไวยวัฒน์ แลหนังสือตอบไปมากับกงสุลอังกฤษ แลคำให้การขุนนเรนทรเสนีซึ่งพระยาประภากรวงศ์นำมาให้ดูตลอดแล้ว
เห็นว่า ซึ่งขุนนเรนทรเสนี จับเรือในเวลาซึ่งอยู่ปกติแลไม่มีโจทก์มายืนยันว่าเป็นเรือสลัด จึงตัดสินเอาเป็นแพ้นั้นก็ชอบอยู่ ให้พระยาประภากรวงศ์ทำตามคำสั่งคุณสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ทุกประการเถิด
แต่การซึ่งยังเป็นที่สงสัยมีอยู่บ้าง คือ
ข้อ ๑. หนังสือสำหรับเรือไทฮิน ฉบับภาษาไทย ลงวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด อัฐศก ล่วงมาถึง ๓ ปีเข้าปีนี้แล้ว แต่พระยาประภากรวงศ์แจ้งความว่า หนังสืออังกฤษสำหรับลำนั้นลงปีเป็นดังนี้ หนังสือไทยสำหรับเรือลำค้าขายต่อไปภายหน้า จะต้องมีฤๅไม่ต้องมี
ข้อ ๒. ในหนังสือสำหรับภาษา ฉบับภาษาไทยไม่มีกำหนดอาวุธ แต่ในฉบับอังกฤษจะมีฤๅไม่มีไม่ทราบ ถ้าเป็นดังนี้หนังสือสำหรับลำเรือลูกค้าต่อไปภายภาคหน้า จะมีกำหนดอาวุธฤๅจะเลิกไม่มีกำหนด
ข้อ ๓. ในคำให้การขุนนเรนทรเสนีว่า สินค้าในเรือจีนดิ่งนั้น ลูกเรือจีนดิ่งรักษาไว้ในเรือ แต่จีนดิ่งกับไต้ก๋งมอบให้หลวงศรีนาวากรมการเมืองประจวบคีรีขันธ์รักษาไว้ดังนี้ เมื่อชำระบัญชีที่ศาลกงสุลตกลงจะต้องใช้เงินค่าของหาย ค่าป่วยการ ค่าจ้างคน ค่าทำขวัญเป็นเงิน ๖๕๖ บาท ๓ สลึง เงินค่าจ้างคนแลค่าทำขวัญ ค่าป่วยการคอเวอนแมนต์จะเสียควรแล้ว แต่ของหายนั้น คอเวอนแมนต์ไม่ได้เก็บริบสิ่งของลูกค้า ถ้าต้องใช้แทนผู้ได้มีราชการจับสลัด ต่อไปภายหน้า ของหายทั้งลำมิต้องใช้ทั้งลำฤๅ
ความทั้งสามข้อนี้ ให้พระยาประภากรวงศ์นำไปเรียนคุณสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ขอให้ตริตรองดู ความข้อ ๑ ข้อ ๒ นั้น มิใช่จะสู้รบความนี้ให้ชนะได้ คงต้องตกลงตามคำตัดสิน แต่เห็นว่าถ้าธรรมเนียมจะรักษาต่อไป ก็จะต้องทักท้วงขอร้องให้ได้ตามแบบแผนต่อไปในกาลข้างหน้าบ้าง ข้อ ๓ นั้นเห็นว่าถ้าไม่ไต่สวนเสียบ้างเมื่อจับเรือลูกค้ายังไม่ทันชำระ คนในเรือฤๅกรมการก็จะเก็บริบเอาสิ่งของของลูกค้าเสียดังนี้ไม่ควรเลย การที่ล่วงมาแล้วก็จะเป็นบ้างฤๅอย่างไรไม่ทราบ การต่อไปข้างหน้าก็คงจะเป็น เห็นว่าจะต้องกันกับท้ายหนังสือกงสุลอังกฤษข้อที่ว่า ถ้าเจ้าคุณจะให้สืบบ้างด้วยเรือรบนี้ได้จับเรือลำอื่นในเที่ยวนี้ ก็เห็นจะเป็นการบำรุงเรือลูกค้าทั้งปวง เขาว่ามาดังนี้จะประสงค์อย่างไรก็ไม่ทราบชัด แต่เห็นว่าถ้าจับลูกค้าไทยอย่างเช่นเรือไทฮินลำนี้แล้ว ของหายไปเท่าใดปล่อยเรือเสียแล้ว เจ้าของคงจะไม่ใคร่กล้ามาร้อง ถ้าไต่สวนตามทางที่ว่ามานี้ ก็เห็นเป็นการบำรุงลูกค้าเหมือนกัน ไม่ต้องไปไต่สวนถึงเรือลำอื่นดังเช่นกงสุลอังกฤษว่า
สั่งแต่ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐
ได้ส่งคืนคำสั่งฉบับหนึ่ง หนังสือกงสุลอังกฤษ ๒ ฉบับ คำตอบฉบับหนึ่ง คำให้การขุนนเรนทรเสนีฉบับหนึ่ง หนังสือสำหรับลำเรือไทฮินฉบับหนึ่ง บัญชีรายสิ่งของฉบับหนึ่ง รวม ๗ ฉบับมาในหนังสือนี้ด้วยแล้ว
(พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkorn R.S.
นอกจากนั้น ยังมีพระราชหัตถเลขาต่อเนื่องกับพระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวมาอีกฉบับหนึ่ง ความละเอียดในพระราชกระแสดังต่อไปนี้
ร. ที่ ๒๕๗/๔๐
ถึงคุณสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ด้วยพระยาประภากรวงศ์ มาแจ้งความแก่ฉันว่าได้สืบดูว่าหนังสือสำหรับเรือไทฮินนั้น ไม่เป็นหนังสือเบิกร่อง แต่เป็นหนังสือสำหรับลำ ถึงเกินกำหนดปีก็ยังใช้ได้ แลอาวุธสำหรับเรือไม่มีธรรมเนียมห้ามนั้น คำนี้ฉันว่าไปในข้อ ๑ ข้อ ๒ หนังสือฉบับที่ ๒๕๔/๔๐ ประสงค์แต่จะให้รักษาธรรมเนียมตามที่เคยใช้เป็นแบบมาแล้วนั้นอย่างเดียว
ถ้าเรื่องความเรือไทฮินนี้ เจ้าของเรือได้ทำถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยมาแต่ก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องจำกล่าวสิ่งใด ถ้ายังผิดแบบแผนแต่ก่อน แลการที่ผิดนั้น ยังอยากจะให้เป็นธรรมเนียมต่อไปข้างหน้าเรียบร้อยตามเดิม ก็ควรจะต้องทักท้วงขอร้องไว้บ้าง
อนึ่ง เรือรบจะออกไปเที่ยวลาดตระเวนจับสลัดผู้ร้ายชายทะเล เมื่อไม่ทราบแบบแผนว่าอย่างไร จะควรจับไม่ควรจับ ก็จะจับผิด ๆ ถูก ๆ ให้เป็นถ้อยความกันไป เห็นว่าควรจะจัดเป็นธรรมเนียมเสียว่า เรือสินค้าต้องมีสำคัญสิ่งนั้น ๆ สำหรับลำ สิ่งใดต้องห้าม สิ่งใดไม่ต้องห้ามให้ชัดเจน เมื่อเรือจะออกไปลาดตระเวนครั้งใดขอให้อินสตรักชั่น (instruction) คือข้อบังคับคำสั่งว่า เรียอย่างนั้นควรจับ เรืออย่างนั้นไม่ควรจับ และให้ทำการอย่างไรในการตามธรรมเนียมฤๅการจร ให้ละเอียดเหมือนดังธรรมเนียมอินสตรักชั่นของเรือรบชาติอื่น ๆ ที่ไปเที่ยวลาดตระเวน แลไปรับการต่าง ๆ ทุกครั้งทุกคราวจึงจะป้องกันเหตุที่นายเรือจะไปทำผิด ๆ ถูก ๆ แลเป็นคำโต้เถียงคำติเตียน ซึ่งจะว่าใช้เรือไปคุมเหงคนได้บ้าง
จดหมายมา ณ วันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐
(พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkorn R.S.
ตามที่เล่ามานี้เพียงประสงค์จะให้ทราบว่า พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีอย่างไร เพราะในขณะนั้นชาติมหาอำนาจกำลังปรารถนาเหยื่อของเขาอยู่ด้วยความกระหาย การอันใดพอจะหยิบยกให้เป็นเหตุการเมืองก็จะทำทันที อย่างเช่นกรณีนี้เป็นต้น ถ้าพลาดพลั้งก็อาจลุกลามไปใหญ่โตก็ได้
----------------------------