เจ้าจอมภู่

เจ้าจอมภู่ หญิงงามและศิลปินแห่งราชสำนัก ผู้เกือบจะเปลี่ยนโฉมหน้าแห่งประวัติศาสตร์และราชวงศ์ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือเจ้าจอมในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือที่เรียกกันว่า “วังหน้า” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความงามเป็นเลิศและเคยเป็นนาฏศิลป์มาก่อนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยแสดงเป็นตัวนางสีดาในเรื่องรามเกียรติ์จนได้รับสมญานามว่า “ภู่ สีดา” และเรื่องของสาวงามผู้นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า

...ว่าถึงนางรูปงามก็เป็นที่เถียงกันว่า คนนั้นดีกว่าคนนี้ คนนี้ดีกว่าคนนั้น ดีกว่าคนโน้น จะเป็นปากหนึ่งปากเดียวกันลงเป็นแน่ เหมือนช้างเผือกไม่ได้เพราะไม่มีลักษณะอันใดเป็นที่สังเกต เมียใคร ๆ ก็ว่าดี ถึงกระนั้นจะว่าแต่ด้วยของในหลวง ก็เป็นที่เห็นพร้อมกันที่ดูพร้อมกัน ก็แต่ละคอนผู้หญิง เป็นของมีไว้สำหรับแผ่นดินทุกแผ่นดินมา เว้นไว้แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ตัวพระเอกนางเอกในโรงละคอนหลวงนั้น ก็คนทั้งปวงเป็นอันมากมายอมพร้อมกัน เห็นว่านางในดีกว่านางอื่นแล้วจึงเลือกสรรให้เป็นพระเอกนางเอก ก็ได้ออกโรงเป็นที่เห็นของคนเป็นอันมาก ถึงกระนั้นก็เถียง ๆ กันอยู่ ในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี มีที่เล่าลือว่างามมากอยู่สามนาง เรียกว่า บุญนาค ตาสี ภู่ สีดา ศรี สีดา...

เจ้าจอมภู่ สีดาคนนี้ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า มีมารดาชื่อเอี้ยงแต่ชื่อบิดาไม่ปรากฏ เมื่อย่างขึ้นรุ่นสาวได้เป็นละครหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานทั้งลูกสาวและแม่ แก่สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท บุคคลทั้งสองจึงลงมา ณ วังหน้า เอี้ยงมารดาได้โปรดให้เป็นตำแหน่งนายวิเสทปากบาตร ส่วนภู่ธิดาสาวได้มีวาสนาเป็นเจ้าจอม

ชะตากรรมของบุคคลทั้งสองมิได้ลงเอยด้วยความสวยงามและความสมหวังที่ตั้งไว้สูงเกินวาสนา เพราะได้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นเกินความคิดของคนทั้งหลายในสมัยนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นตามพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า ปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๖ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชดำริว่า ตามธรรมดาพระสงฆ์องค์เจ้ารับบิณฑบาตตามบ้านของราษฎร ท่านไม่ต้องคอยท่ารอช้าอยู่ ได้รับโดยเร็วแล้วกลับไปวัดแต่เวลาเช้า ๆ แต่ในวังเจ้าและบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ ๆ นั้นปรากฏว่า พระสงฆ์ต้องไปคอยท่าอยู่ช้ามาก ได้รับต่อเวลาสาย ข้อนี้ทำความลำบากให้แก่พระสงฆ์ยิ่งนัก ทำบุญแล้วกลับจะได้บาปดูไม่สมควร จึงโปรดให้ตั้งพระราชกำหนดขึ้นใหม่ในวังหน้าว่า ให้เจ้าพนักงานเตรียมข้าวทรงบาตรมาตั้งยังที่ และให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์มารับให้พร้อมทันเวลา พระองค์จะเสด็จทรงบาตรเวลาเช้าโมงหนึ่งเป็นประจำ จึงด้วยเหตุนี้เองประตูดินวังหน้า หรือพระราชวังบวรฯ จึงต้องเปิดแต่ก่อนเวลาย่ำรุ่ง พวกวิเสทปากบาตรได้ขนข้าวทรงบาตรเข้าไปตั้งเป็นธรรมเนียมมา

ภายหลังออกพระราชกำหนดดังกล่าวไม่นาน ได้มีอ้ายบัณฑิต ๒ คน เป็นคนพเนจรร่อนเร่มาแต่เมืองนครนายก โอ้อวดว่ามีวิชาความรู้สามารถล่องหนหายตัวได้ มาอาศัยอยู่กับเอี้ยงนายวิเสทปากบาตรเป็นหลายวัน แล้วบังอาจคบคิดกันกับขุนนางหลายนาย มีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น กับเอี้ยงนายวิเสทปากบาตรวังหน้า ครั้งล่วงมาถึงวันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้าตรู่ พวกผู้หญิงวิเสทวังหน้าต่างขนกระบุงข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดิน เอี้ยงนายวิเสทปากบาตรผู้กำเริบเสิบสานเป็นต้นคิดแต่งตัวอ้ายบัณฑิตทั้งสองคน นุ่งห่มผ้าอย่างผู้หญิง ถือดาบซ่อนไว้ในผ้าห่ม แล้วลอบเข้าไปในพระราชวังบวรฯ ขึ้นไปแอบอยู่ ๒ ข้างพระทวารคอยดักจะทำร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

แต่ด้วยเดชะพระบารมีบุญญาภินิหาร วันนั้นพระองค์หาได้เสด็จทรงบาตรทางพระทวารมุขอย่างเคยไม่ เทพยดาดลพระทัยให้ทรงพระราชดำริจะลงมาเฝ้าเสด็จพระบรมเชษฐา ณ พระบรมมหาราชวัง ก็เลยเสด็จทางพระทวารข้างหน้า เสด็จพระราชดำเนินมายังวังหลวงแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตร ดังนั้นโอกาสอันโหดเหี้ยมของอ้ายบัณฑิตทั้งสองจึงพลาดไปอย่างหวุดหวิด ขณะที่กำลังหลบข้างประตูด้วยอาการกระหายเลือดนั้น นางพนักงานเฝ้าที่พบเข้าก็ตกใจร้องวิ่งอื้ออึงลงมาว่า มีผู้ชาย ๒ คนถือดาบขึ้นมาอยู่ที่พระทวารบนที่ แผนของอ้ายสองบัณฑิตแตก จึงตกกระไดพลอยโจน ไล่นางเฝ้าที่ลงมาติด ๆ ขณะนั้นพอดีกับขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่งคุมไพร่เข้าไปก่อถนนในพระราชวัง อ้ายกบฏบัณฑิตก็ไล่เอาดาบฟันขุนหมื่นผู้นั้นศีรษะขาด ล้มลงตายอยู่กับที่ ตอนนี้ความโกลาหลบังเกิดขึ้น พวกเจ้าจอมข้างในและจ่าโขลนก็พากันตกใจ ร้องอื้ออึงบอกมายังข้าราชการข้างหน้า พวกข้าราชการที่อยู่ข้างหน้าเป็นอันมากจึงพากันกรูเข้าไปในพระราชวังไล่ล้อมจับฆาตกรโหดทั้งสอง บ้างเอาไม้พลองและอิฐทุบตีขว้างปาเป็นอลหม่าน บ้างวิ่งมายังพระบรมมหาราชวัง กราบทูลเหตุให้ทรงทราบ

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระอนุชาธิราชเสด็จประทับอยู่ในท้องพระโรง ครั้นได้ทรงทราบฉะนั้นจึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวง และตำรวจทั้งวังหลวงและวังหน้า เร่งขึ้นไปจับอ้ายกบฏ ช่วยกันทุบตีล้มลง จับเป็นได้คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งถูกฆ่าตาย โปรดเกล้าฯ ให้ชำระถามอ้ายกบฏที่รอดชีวิตให้การซัดพวกเพื่อนที่ร่วมคิดด้วยกันเป็นอันมาก และมีข้าราชการทั้งวังหลวงและวังหน้าที่เป็นผู้มีฝีมือเคยผ่านการสงครามมาแล้วหลายคน อาทิพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น กับทั้งพวกหญิงวิเสทปากบาตรวังหน้า ยังนอกนั้นทั้งนายไพร่อีกหลายคน พระอนุชาธิราชมีพระราชบัณฑูรให้เฆี่ยนสองอ้ายบัณฑิตก็รับเป็นสัจ ส่วนเอี้ยงนายวิเสทปากบาตรให้การว่า เพราะตนหลงเชื่อฟังอ้ายบัณฑิตจนสาบานตัวว่าจะขอพึ่งบุญของมัน เพราะมันอ้างว่าเรื่องวิทยาอาคม เมื่องานนี้สำเร็จแล้ว จะยอมยกบุตรหญิงคือเจ้าจอมภู่ให้เป็นภรรยา เพื่อจะได้เป็นมเหสีต่อไป

วังหน้าจึงให้ลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ ดำรัสให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิตเสีย กับพวกเพื่อนชายหญิงทั้งสิ้น

การที่เกิดเหตุร้ายแรงถึงเลือดตกยางออกตามที่กล่าวมาและเป็นการเกิดขึ้นในบริเวณที่จะสร้างปราสาทเช่นนี้ ซึ่งเป็นระยะเดียวกันกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทกำลังโปรดให้สร้างปราสาทขึ้น เหมือนอย่างพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ที่กรุงศรีอยุธยานั้น เป็นมูลเหตุจูงพระทัยให้ล้มเลิกพระราชดำริที่จะสร้างต่อไปให้สำเร็จ รับสั่งว่าที่วังจันทรเกษมซึ่งเป็นวังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่มีปราสาท พระองค์มาทรงสร้างปราสาทขึ้นในวังหน้า เห็นจะเกินวาสนาไป จึงเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น จึงโปรดให้งดการสร้างปราสาทนั้นเสีย ให้เอาตัวไม้ที่ปรุงไว้ไปสร้างพระมณฑปที่วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุทุกวันนี้ ส่วนบริเวณที่ซึ่งกะไว้ว่าจะสร้างปราสาทนั้นเล่า ก็โปรดให้สร้างพระวิมานถวายเป็นพุทธบูชา ขนานนามว่า “พระพิมานดุสิต” เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ