เจ้าพระยาสุรสีห์

ตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ปรากฏว่าเจ้าชีวิตพระองค์นี้ทรงหลงใหลในวิชาวิปัสสนามาก จนเป็นมูลเหตุสำคัญให้พระองค์ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ และก็พลอยให้ทหารเสือคู่พระทัยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วย

มีเรื่องราวกล่าวไว้ต้องกันหลายแห่งว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนั่งพระกัมมัฏฐานที่พระตำหนักแพ สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) นั่งกำกับเป็นประธาน ขณะนั้นเป็นเวลายามเศษ เจ้าพระยาสุรสีห์ (คือสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๑) ข้ามฟากมาจากบ้าน จอดเรือเข้าที่ท้ายตำหนักแพแล้วจึงเดินขึ้นไป ปรารถนาจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินในพระราชวัง ครั้นเดินขึ้นไปมองดูตามช่องลูกกรงฝาพระตำหนักแพ เห็นข้าราชการล้อมวงอยู่มากก็เข้าใจว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ ณ ที่นี้แน่ จึงเดินตรงเข้าไปหมายจะเฝ้า เจ้าพนักงานที่ล้อมวงอยู่นั้น ร้องห้ามว่าอย่าเข้า มา กำลังทรงนั่งพระกัมมัฏฐานอยู่ ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์จึงแอบพระทวารมองดูเห็นพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่

ฝ่ายพระยาพิทักษ์ภูบาล จางวางรักษาพระองค์หมอบอยู่ ณ ที่นั้น โบกมือให้ออกไปเสีย แต่ข้างเจ้าพระยาสุรสีห์สำคัญว่ากวักมือให้เข้าไป จึงค่อยย่องเข้าไป ขณะนั้นสมเด็จพระวันรัตแลเห็น จึงถวายพระพรว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ย่องเข้ามาจะทำร้ายพระองค์เป็นแม่นมั่น สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงกระโดดขึ้นมาจับเอาตัวเจ้าพระยาสุรสีห์ไว้โดยฉับไว เนื่องด้วยพระองค์ทรงคล่องแคล่วในการมวยปล้ำกระบี่กระบอง แลทรงค้นหาเครื่องอาวุธที่จะเหน็บซ่อนมาในตัว ก็หาพบสิ่งใดไม่ แล้วจึงมีพระราชกระทู้ถามว่า เหตุใดจึงย่องเข้ามาที่ห้ามจะเป็นขบถหรือ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า พระยาพิทักษ์ภูบาลกวักมือให้เข้ามา กระหม่อมฉันสำคัญว่าจะมีธุระด้วยราชการสิ่งใด แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสถามพระยาพิทักษ์ภูบาล พระยาพิทักษ์ภูบาลกราบทูลว่าไม่ได้กวักมือ เป็นแต่โบกมือให้ออกไป เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ดื้อเข้ามา

สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสถามว่า ตัวเจ้าเล่าก็เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ย่อมเข้าใจในกฎหมายและธรรมเนียมอยู่สิ้นทุกประการ ข้าจะให้เจ้าปรับโทษตัวของเจ้าเอง ซึ่งเจ้าเข้ามาในที่ล้อมวงเช่นนี้ จะผิดชอบดีร้ายประการใดจงว่าไปเถิด เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า โทษข้าพระพุทธเจ้าต้องรับพระราชบาตร แล้วลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๙๐ ที ประหารชีวิตเลย อย่าให้คนทั้งปวงดูเยี่ยงอย่างต่อไป

สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงฟังก็สังเวชพระทัย กลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่ได้ก็ทรงพระกันแสงแล้วตรัสว่า เจ้าปรับโทษของเจ้าหนักเกินไป ข้าได้สัญญาไว้กับเจ้าเมื่อเจ้ารับแม่ของข้ามาให้แก่ข้านั้นว่าข้าจะไม่ฆ่าเจ้า เจ้าต้องปรับโทษตัวของเจ้าใหม่ให้เบาลงอีก เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไม่ประหารชีวิต ต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๖๐ ที แล้วส่งตัวไปจำคุกไว้ในคุกจนตาย ดำรัสว่ายังมากนักถ้าส่งตัวไปจำคุกจนตายข้าจะใช้ใครเล่า พี่เจ้าคนเดียวไม่พอใช้ ให้ปรับมาใหม่ให้เบาลงอีก เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ถ้าทรงพระกรุณาไม่จำคุกไว้จนตาย ต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๖๐ ที แล้วถอดออกจากขุนนางผู้ใหญ่ให้เป็นไพร่ สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสว่ายังเกินนัก เป็นไพร่เข้าใกล้พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ข้าจะปรึกษาหารือกับใครเล่า ให้ปรับมาใหม่อีกที เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ต้องลงพระอาญาเฆี่ยน ๖๐ ทีแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่งเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสว่าชอบแล้ว จึงดำรัสสั่งกรมพระตำรวจ ให้มัดมือเจ้าพระยาสุรสีห์คร่อมเสาพระตำหนักแพเข้าแล้วเรียกหวายมาทรงเฆี่ยนเจ้าพระยาสุรสีห์ด้วยพระหัตถ์ ๖๐ ที แล้วจึงดำรัสให้แก้มัดออกแล้วดำรัสว่าเจ้าจงทำราชการในตำแหน่งเดิมต่อไปเถิด

เจ้าพระยาสุรสีห์กราบถวายบังคม คลานถอยหลังออกมาพ้นหน้าพระที่นั่ง แล้วจึงลงอาบน้ำที่หน้าพระตำหนักแพ แก้เอาแพรหนังไก่ย่นที่คาดพุงออกมานั้น ถูหลังจนหนังกำพร้าถลกมีโลหิตไหลเป็นแผลพืดเสมอไป ซึ่งทำดังนั้นปรารถนาว่าเมื่อแผลหายจะได้ไม่เป็นรอยหวาย

สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ครั้นเมื่อวันต้นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์หรือกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพยาบาทขัดเคืองมาช้านานแต่ไม่มีช่องทาง ครั้นเมื่อมีโอกาสแล้ว ก็มีรับสั่งให้สึกสมเด็จพระวันรัตออกแล้ว ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๑๐๐ ที จะประหารชีวิตเสียด้วย แต่พระบรมเชษฐาทรงขอไว้ไม่ให้ประหารชีวิต เพราะเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาแต่กาลก่อน

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ