กฎหมายชาวเรือ

กฎหมายหรือพระราชบัญญัติฉบับนี้ นับว่าเป็นคันฉ่องส่องให้เห็นอดีตกาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดี แต่ชื่อของพระราชบัญญัติฉบับนี้ยาวมากดังนี้ “พระราชบัญญัติกฎหมายท้องน้ำ, บุกรุก, ห้ามยิงปืน, แลการเที่ยวอาละวาดของพวกกลาสี” ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ความโดยละเอียดมีว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหศวริยพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข พร้อมพระราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่โดยลำดับ จึงเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีว่าที่พระคลังกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทุกวันนี้เรือลูกค้าเมืองต่างประเทศเข้ามาค้าขายมาก เรือใหญ่ทอดก้าวก่ายกันไปไม่เป็นอันดับกัน แลกัปตันนายเรือก็ลงเรือเล็กตีกรรเชียงเที่ยวขึ้นล่องในลำแม่น้ำมิได้ขาด เกิดความขึ้นเพราะเรือโดนกัน แลความอื่น ๆ เป็นหลายอย่าง ขอพระราชทานพระราชบัญญัติ ไว้เป็นกฎหมายสำหรับลำแม่น้ำฉบับหนึ่ง ถ้ามีความเกี่ยวข้องไปข้างหน้า จะได้ตัดสินตามพระราชบัญญัติซึ่งโปรดไว้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า แต่ก่อนมาเรือลูกค้าวาณิชเข้ามาขาย ณ กรุงเทพมหานครน้อย จึงไม่มีกฎหมายสำหรับเรือใหญ่ มีแต่ว่าด้วยเรือเล็กขึ้นล่องในแม่น้ำ ในกาลนี้ ลูกค้าในกรุงเทพมหานคร ก็สร้างเรือใบใหญ่ ๆ ขึ้นมาก เรือลูกค้าต่างประเทศก็เข้ามาค้าขายทวีมากขึ้นทุกที จนถึงในปีที่ ๗ ที่ ๘ แห่งรัชกาลปัจจุบันนี้ เรือลูกค้าต่างประเทศมาในปีหนึ่ง ก็นับด้วยร้อยลำขึ้นไปแล้ว ถ้อยความในท้องน้ำที่เกิดขึ้นหลายอย่างหลายประการ คนต่างประเทศก็เข้ามาอยู่มากขึ้น แลความในหนังสือสัญญา ซึ่งเมืองใหญ่ต่างประเทศ ขอให้ราชทูตเข้ามาทำไว้กับกรุงเทพมหานคร ก็มีว่า บรรดาคนอยู่ในบังคับกงสุล ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพมหานครก็ต้องฟังบังคับบัญชาของกงสุลที่เข้ามาตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร กงสุลจะได้ทำตามหนังสือสัญญาใหม่นี้ แลข้อหนังสือสัญญาเก่าที่มิได้ยกเสียจงทุกประการ แล้วจะได้บังคับบัญชาคนในบังคับของกงสุลให้ทำตามด้วย แลกงสุลจะรับรักษากฎหมายการค้าขาย แลกฎหมายที่ห้ามปราม จะมิให้คนที่อยู่ในบังคับกงสุลทำผิดล่วงเกินกฎหมายสัญญาของอังกฤษ ของฝรั่งเศส ของอเมริกัน ของเดนมาร์ก โปรตุคอล กับไทยที่มีอยู่แล้ว แลจะมีต่อไปในภายหน้า ถ้าคนอยู่ในบังคับกงสุลจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับคนอยู่ในบังคับไทย กงสุลแลเจ้าพนักงานฝ่ายไทยจะปรึกษาตัดสิน ถ้าคนอยู่ในบังคับกงสุลทำผิด กงสุลจะทำโทษตามกฎหมายเมืองนั้น ๆ คนอยู่ในบังคับไทยทำผิด ไทยจะทำโทษตามกฎหมายเมืองไทย เพราะฉะนั้น การก็ควรจะตั้งกฎหมายทางบกทางน้ำไว้สำหรับแผ่นดิน ให้ใช้ได้ด้วยกันทั้งฝ่ายไทยแลคนต่างประเทศ ต่อไปข้างหน้ามีความเกี่ยวข้อง จะได้ชำระว่ากล่าวง่าย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือใหญ่ ๑๐ มาตรา เรือเล็ก ๗ มาตรา แพแลโพงพางแลของลอยน้ำ ๓ มาตรา ทางบก ๔ มาตรา รวมเป็น ๒๔ มาตราด้วยกัน

มาตรา ๑ เรือในกรุงเทพมหานครก็ดี เรือเมืองต่างประเทศก็ดี เรือใหญ่ก็ดี เรือลำเลียงก็ดี เข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา แลแม่น้ำหัวเมืองใด ๆ ในอาณาเขตกรุงสยาม ถ้าเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทอดสมอที่ด่านเมืองสมุทรปราการ ให้กัปตันนายเรือบอกชื่อกัปตันชื่อเรือว่ามาแต่เมืองนั้น ๆ คนมาในเรือเท่านั้นมีสินค้าสิ่งนั้น ให้เจ้าพนักงานตรวจตราเสียก่อน ถ้ามีปืนกระสุนดินดำก็ให้กัปตันนายเรือเอาปืนกระสุนดินดำมอบให้ผู้สำเร็จราชการเมืองสมุทรปราการ เก็บรักษาไว้ ถ้าเรือจะล่องออกไป เรือลูกค้าเมืองต่างประเทศก็ดี เรือลูกค้าในกรุงเทพมหานครที่ใช้กัปตันต้นหนคนชาวยุโรปก็ดี ให้มาบอกกับหลวงวิสูตรสาครดิษฐ หับประมาสะแตมเจ้าท่าให้รู้ก่อน แล้วให้ไปขอหนังสือเปิดร่อง แต่เจ้าพนักงานที่โรงภาษี แต่เรือลูกค้าที่ใช้ธงจีนแขกตามประเทศของตัวนั้น ให้บอกเจ้าพนักงานกรมท่าซ้ายกรมท่าขวา ขอเปิดร่องไปตามธรรมเนียมเรือล่องไปถึงด่านให้แวะทอดสมอที่ด่าน เอาหนังสือเปิดร่องไปส่งให้เจ้าพนักงานที่ด่าน เจ้าพนักงานตรวจตราดูแล้ว ไม่มีเหตุเกี่ยวข้องสิ่งใดให้ล่องไป ถ้าเรือขึ้นเรือล่องไม่แวะด่านทำให้ผิดหนังสือสัญญา จะปรับไหมเป็นเงิน ๘๐๐ บาท ตามในหนังสือสัญญาที่ว่าไว้ ถ้าเรือไปเข้าปากน้ำหัวเมืองใด ๆ เรือเข้าเรือออกให้ทอดสมอที่ด่าน ไปแจ้งต่อผู้สำเร็จราชการเมือง ๆ จะบังคับประการใด ให้ลูกค้าทำตามบังคับกฎหมายแลข้อสัญญา

มาตรา ๒ เรือเข้ามาในลำแม่น้ำแล้ว เวลากลางคืนให้จุดไฟโคมแขวนไม้ที่เสากระโดง ตั้งแต่ดาดฟ้าขึ้นไปสูงสามวาเป็นที่สังเกต ให้จุดไฟไว้ตั้งแต่เวลาพลบไปจนย่ำรุ่ง เรือเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครให้กัปตันนายเรือมาบอกเจ้าท่าให้รู้ก่อน เจ้าท่าให้ทอดสมอที่แห่งใดก็ต้องทำตามบังคับเจ้าท่า แล้วให้ทอดสมอสองสายทั้งน้ำขึ้นน้ำลง แล้วให้เลื่อนถอยเสาชี้เข้ามาเสีย เจ้าท่าจะบังคับการสิ่งไร ให้กัปตันนายเรือฟังบังคับเจ้าท่า ถ้าเจ้าท่าไม่ได้ลงไป จะมีหนังสือใช้คนไปบอกก็ได้

มาตรา ๓ ให้เจ้าท่าบังคับให้ลูกค้าทอดสมอเรืออย่าให้ชิดฝั่งนัก เรือหันขึ้นล่องอย่าให้โดนแพเข้าได้ อย่าให้ทอดสมอเรียงติด ๆ กัน ออกมาจนกีดทางเรือเดิน อย่าให้ทอดตรงปากคลองทุกแห่ง ให้ทอดเรียงลำต่อ ๆ เป็นลำดับลงไป ห้ามอย่าให้กัปตันนายเรือผูกหางเชือกหางโซ่ล่ามขึ้นไปผูกไว้บนตลิ่งให้กีดทางเรือเดินไปมา

มาตรา ๔ ถ้าเรือโดนกันแตกหัก ผู้คนล้มตาย เสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้มาบอกเจ้าท่า ๆ จะได้ไปดูว่าผู้ใดจะทำผิดทำชอบ แล้วเจ้าท่าจะไปบอกแก่ผู้ที่ควรจะชำระความได้ จะได้ชำระตัดสินให้ ถ้าเรือเข้ามาเป็นเหตุขึ้นรั่วจมน้ำอยู่ตามทางเรือเดิน เจ้าท่าจะบังคับให้นายเรือคิดอ่านจ้างคนเอาเรือออกไปเสียให้พ้นทาง ถ้านายเรือไม่จ้างคนเอาเรือที่จมนั้นไป เจ้าท่าจะจ้างคนเอาเรือไปให้พ้นทางเรือเดิน ลงทุนมากน้อยเท่าใด จะคิดเอาแต่นายเรือ

มาตรา ๕ ถ้าลูกค้าทั้งปวงไม่ทำตามบังคับ ในมาตรา ๒ มาตรา ๓ นั้น ถ้าเรือใหญ่ล่องลงไปแลแล่นขึ้นมา โดนถูกเรือของตัวแตกหัก จะเอาใช้แต่ผู้โดนไม่ได้ ถ้าเรือเล็กไปโดนเรือใหญ่ที่ทอดผิดกฎหมาย เรือเล็กล่มจมไป เสียของมากน้อยเท่าใด จะบังคับให้ใช้ของที่เสียไปให้ครบ แล้วต้องปรับไหม เงิน ๑๖๐ บาท แก่นายเรือ เพราะไม่ฟังบังคับในมาตรา ๒ มาตรา ๓ คดีเช่นนี้ทุกระวางซึ่งจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้าก็ดี แห่งนี้ก็ดี ถ้าผู้ต้องใช้สงสัยไม่เชื่อคำในการผู้เสียของ ก็ให้ผู้เสียของอ้างพยานที่เห็น เมื่อเอาของบรรทุกเรือมาสาบานให้ตามศาสนาคนนั้นนับถือ ถ้าพยานสาบานได้จึงปรับไหมให้ ขอให้มีเบี้ยปรับไหมเงินนั้นเป็นของแผ่นดินไทยทุกข้อ

มาตรา ๖ ว่าถ้านายเรือถอยเรือเข้าจอดริมตลิ่ง เพื่อจะรับสินค้าแลประโยชน์อื่น ๆ จะผูกเชือกแลสาวกะ ฉุดเรือเข้าไปในเวลากลางวันก็ได้ไม่ห้าม แต่อย่าให้ผูกทิ้งไว้จนกลางคืน ถ้าถอยเรือเข้ารับสินค้าผูกติดกับตะพานแต่ลำหนึ่งสองลำไม่กีดทางเรือเดิน แลเข้าจอดทิ้งอับเฉา หรือทำการสิ่งใด ๆ เรือจอดแอบตลิ่งอยู่ไม่มีหนทางเดินข้างใน จะผูกเชือกขนขดโยงเรือไว้ก็ได้ แลเรือพระที่นั่งทอดสมออยู่ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง แลพระบวรราชวัง ถึงจะเอาเชือกเอาโซ่ผูกโยงไว้บนตลิ่งก็ได้ เพราะใกล้เป็นหน้าพระที่นั่งที่ประทับริมน้ำ ไม่ควรที่คนทั้งหลายนอกจากข้าราชการจะพายหรือเข้าไปใกล้ในที่อันนั้น ถ้าผู้ใดพายเรือเข้าไปข้างในเรือพระที่นั่ง หน้าพระที่นั่งที่ประทับริมน้ำ โดนเชือกผูกเรือพระที่นั่ง เรือเล็กล่มลง ก็เป็นอันไม่ได้สินใช้ เพราะได้ห้ามไว้แล้วเฉพาะสองแห่งเท่านั้น

อนึ่ง เรือในคลอง เจ้าของเรือบรรทุกของออกทอดขายอยู่ที่ท้องน้ำ จะทอดสมออยู่ใกล้ฝั่งก็ได้ แต่ให้มีหนทางในระหว่างแพแลเรือนั้นให้เรือเล็กเดินไปมาได้ ตามที่ว่าไว้ในข้อ ๓ นั้น ถ้าเรือเล็กจะไปผ่านติดโซ่ที่ผูกโยงไว้ แลโดนเรือทอดอยู่ เรือของตัวล่ม เสียของไปเท่าใด เรือที่ล่มจะเอาใช้แลปรับไหมแต่เรือใหญ่ไม่ได้

มาตรา ๗ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทางชลมารค เรือทอดสมอกีดทางอยู่ เจ้าพนักงานแลเจ้าท่าไปบอกให้ถอยเรือไปเสียให้พ้นทางเสด็จ กัปตันนายเรือก็ต้องถอยเรือไปให้พ้นทางแต่ในสามชั่วโมง แต่บรรดาเรือลูกค้าที่ทอดอยู่ในลำแม่น้ำ ถ้าเรือพระที่นั่งมาถึงแล้ว ขอให้ชักธงรับตามธรรมเนียมคนซึ่งอยู่ในเรือนั้นจะหลบตัวเสียให้ลับก็ได้ หรือจะออกมาคำนับตามธรรมเนียมภาษาของตัวก็ได้ แต่ห้ามอย่าให้เดินไปเดินมา แลขึ้นนั่งห้อยเท้าบนปากเรือ ขึ้นทำงานบนเสากระโดง เป็นการหมิ่นประมาท ถ้าทำการหมิ่นประมาทดังนี้ แลไม่ถอยเรือไปให้พ้นทางเสด็จ ถ้าเรือลูกค้ากรุงเทพมหานคร จะให้เจ้าพนักงานทำโทษ ถ้าเรือลูกค้าต่างประเทศขึ้นแก่กงสุลเมืองใด จะฟ้องแก่กงสุลเมืองนั้น

มาตรา ๘ ว่าเรือใหญ่ซึ่งถอยขึ้นถอยล่องไปโดนเรือลูกค้าลำใดลำหนึ่ง ซึ่งจอดอยู่เป็นปรกติตามบังคับแล้วนั้นก็ดี โดนเรือแพบ้านเรือนที่จอดแลตั้งอยู่เป็นปรกตินั้นแตกหักพังไปก็ดี กัปตันนายเรือผู้ที่ถอยมาโดนนั้น ต้องคิดราคาใช้ให้ตามที่แตกหักเสียไปมากแลน้อย แต่เรือที่แล่นมาโดนเขาเข้านั้น ถึงจะแตกหักพังอย่างไร จะเอาสินใช้แต่เรือจอดแลแพบ้านเรือนนั้นมิได้ เพราะมาโดนเข้าเอง

อนึ่ง เรือกลไฟจะมีไปข้างหน้าหลายลำ จะไปมาตามน้ำทวนน้ำก็ดี อย่าให้เดินริมฝั่ง ให้เดินกลางน้ำริมแนวเรือใหญ่ทอด ด้วยเรือกลไฟมีกำลังเร็วมาก เรื่ออื่นจะหลีกไม่ทัน

มาตรา ๙ ว่าแพที่คนอยู่ก็ดี แพไม้ซุงไม้ไผ่ก็ดี เจ้าของถอยขึ้นล่องแลขาดลอยตามสายน้ำไป ถ้าเรือลำใดทอดอยู่ผิดทางที่บังคับไว้ในมาตราที่ ๒ มาตราที่ ๓ เมื่อแพมาโดนเข้าฟันแพให้แตกหักพังไม้ขาดหายไป ผู้ตัดฟันก็ต้องใช้ของแก่เจ้าของแพ ถ้าแพโดนเรือแตกหักไปอย่างไร เจ้าของเรือจะเอาสินใช้แต่เจ้าของแพก็ไม่ได้

อนึ่ง ผู้ใดจะล่องแพให้มีสายสมอกะโรยลงไป ให้เดินแต่ในระหว่างช่องเรือทอดแลแพที่จอด จะล่องไปข้างไหนก็ให้ไปข้างหนึ่ง ถ้าแลล่องไปโดนเรือที่จอดอยู่ ตามกฎหมายบังคับไว้ในมาตราที่ ๒ ที่ ๓ ก็ให้เจ้าของเรือตัดฟันแพที่มาโดนนั้นปล่อยไป แต่อย่าให้ทำอันตรายแก่ผู้คนแลเอาไม้ในแพนั้นไว้ เมื่อเป็นแต่ตัดให้พ้นเรือไปเสีย ถึงไม้หายไป เจ้าของแพจะเอาใช้แต่เจ้าของเรือก็ไม่ได้ ถ้าเจ้าของเรือไม่ได้ตัดแพ แพหลุดไปเอง แล้วเรือแตกหักเพราะแพโดน เจ้าของแพต้องใช้ให้ ห้ามอย่าให้เจ้าของแพเอาเชือกไปผูกกับสายสมอเรือที่ทอดอยู่ แลห้ามอย่าให้ล่องเรือใหญ่ล่องแพเวลากลางคืน อนึ่งถ้าผู้ใดจะล่องแพไปอย่าให้ชิดฝั่งนัก ถ้าชิดฝั่งไปโดนแพที่จอดเป็นปรกติแตกหักไป ให้เจ้าของแพที่มาโดนนั้น ใช้ของเจ้าของแพจอด ถ้าที่ใดในระหว่างกลางน้ำไม่มีเรือจอด จะล่องแพไปกลางน้ำได้ ถ้าแพจะเอาเชือกผูกไว้กับตลิ่งให้ชิดฝั่งก็ได้ ถ้าเรือผู้ใดพานเชือกโดนแพเรือล่ม เสียของไป จะเอาใช้แต่เจ้าของแพไม่ได้ เพราะแพไม่เหมือนเรือ เรือพายควรรู้แล้วต้องหลีกอย่าเดินข้างหลังแพที่จอดริมฝั่ง

มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ทิ้งศิลา ทราย ดิน อับเฉาลง ตั้งแต่ที่ใกล้สันดอนน้ำลึก ๗ วา เข้ามาในจนแม่น้ำเจ้าพระยา แลลำแม่น้ำอื่น ๆ ด้วย ถ้าจะทิ้งศิลา ทราย ดิน อับเฉา ให้บอกเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานจะได้ชี้ที่ให้ทิ้ง เมื่อบังคับให้ทิ้งที่แห่งใดแล้วจึงทิ้งได้ ถ้ากัปตันนายเรือไม่ฟังกฎหมายนี้ ขืนทิ้งอับเฉาลงในที่ห้ามไว้นี้ จะปรับไหมเงิน ๒๐๐ บาท

อนึ่ง ผู้ใดจะไปรับจ้างนำร่องเรือเข้าเรือออก ก็ให้มาหาหลวงวิสูตรสาครดิษฐ เจ้าท่าให้ไล่เลียงดูเสียก่อน เมื่อหลวงวิสูตรสาครดิษฐเห็นว่าเป็นคนรู้แท้แล้ว จะให้หนังสือสำหรับตัวไป ห้ามมิให้ไปรับจ้างนำร่องเอาเอง ถ้าผู้ใดไม่มีหนังสือเจ้าท่าสำหรับตัว นำเรือเข้ามาติดผิดหนทาง จะปรับไหมเอาค่าป่วยการให้เจ้าของเรือ ถ้าผู้ที่ได้รับหนังสือเจ้าท่าแล้วไปนำร่องเรือผิดหนทาง จะต้องชำระดูก่อน ถ้าควรจะปรับไหมจึงจะปรับไหมให้

ตั้งแต่นี้ไปเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือเล็กขึ้นล่องในลำแม่น้ำแลในคลอง

มาตรา ๑ เรือไปตามน้ำขึ้นก็ดี ไปตามน้ำลงก็ดี ให้ออกกลางน้ำ เรือทวนน้ำให้ไปริมฝั่ง ถ้าเรือตามน้ำมาเดินริมฝั่ง ถ้าเรือทวนน้ำไปเดินกลางน้ำ ให้ผิดทางที่บังคับไว้ จนเรือโดนกันล่มแตกหัก เสียสิ่งของไปให้เรือที่เดินผิดทางใช้ของเรือที่ล่ม ถ้าเรือเดินผิดทางล่ม จะเอาใช้แต่เจ้าของเรือที่เดินถูกทางนั้นไม่ได้ ถ้ามีการมีเหตุควรจะต้องไปริมฝั่ง ให้ระวังรักษาให้ดี อย่าให้โดนเรือทวนน้ำได้

มาตรา ๒ เรือขึ้นน้ำก็ดี เรือล่องน้ำขึ้นก็ดี ที่ไปตามกัน เรือลำหลังเร็วไปกระทั่งเรือหน้าแตกหักล่มไปก็ดี หรือไปกระทั่งเรือที่จอดอยู่ตามปรกติ แตกล่มไปก็ดี ให้ใช้ของเรือที่ล่ม

มาตรา ๓ เรือลำหนึ่งจะออกจากท่าไป หรือออกจากปากคลองก็ดี เรือลำหนึ่งจะเข้าจอดก็ดี หรือพายสวนมาตามทางก็ดี หลบหลีกกันมิทัน โดนกันเข้าล่มไปด้วยมิได้แกล้ง ให้เจ้าของเรือซึ่งมิได้ล่มนั้นอยู่ช่วยกู้เรือเก็บของ ถ้ามิได้อยู่ช่วย ให้ใช้ของเรือที่ล่มเสียของไปนั้นกึ่งหนึ่ง เพราะหาความเมตตากรุณามิได้

มาตรา ๔ เรือเบาให้หลีกเรือหนัก ถ้าเรือเบาไปโดนเรือหนักล่ม ให้ใช้ของท่านจงเต็ม ถ้าคนตาย ให้ใช้ค่าคนท่านตามกฎหมายเดิม ถ้าเรือหนักโดนเรือเบาล่มไม่ต้องใช้ ถ้าเรือเบาต่อเรือเบาหลบหลีกกันมิทันโดนกันล่ม ให้เรือที่ไม่ล่ม อยู่ช่วยกันกู้หรือเก็บของ ถ้าไม่อยู่ช่วย ให้ใช้ของเรือที่ล่มเสียไปนั้นกึ่งหนึ่ง อนึ่ง เรือข้างหนึ่งโต เห็นว่าเรือข้างหนึ่งเล็ก พอจะรั้งรอหลบหลีกได้ ไม่รอรั้งหลบหลีก เรือใหญ่แกล้งเกยเรือเล็กล่มจมไป ให้ใช้ของเรือที่ล่มจงเต็ม ถ้าเรือหนักต่อเรือหนักโดนกัน ข้างหนึ่งได้ร้องบอกแต่ไกลพ้น ๑๐ วา ให้รอไว้ ถ้ามิฟัง ขืนไปโดนเรือผู้ที่ร้องห้ามล่มไป เสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้ผู้โดนนั้นใช้สิ่งของเรือที่ล่มจงเต็ม ถ้ามิทันบอกกันแต่ไกล ๑๐ วา แลโดนกัน เรือนั้นล่มข้างหนึ่งควรว่าเป็นบาปเคราะห์

มาตรา ๕ เรือหนักที่บรรทุกเพียบ แลเรือเบาจอดอยู่ชิดกัน เรือเบาจะถอยจะเลื่อนที่ไป ต้องบอกคนในเรือหนักให้ระวังด้วยกัน อย่าให้โยนให้เกยเรือเพียบ ถ้าไม่บอกก่อนถอย แลเลื่อนเรือเบาไปเกยเรือหนักล่ม เจ้าของเรือเบาต้องใช้ของเรือหนักซึ่งเสียแลหาย ถ้ามิได้ถอยแลเลื่อน เป็นแต่เรือกระทบกระทั่งกันเข้า ด้วยลมพายุแลคลื่นระลอก เรือเบาโดนเรือหนัก เรือหนักล่ม ให้เจ้าของเรือเบาใช้ของกึ่งหนึ่ง เพราะเรือใหญ่กว่ามาจอดใกล้นักจึงโดน ถ้าเรือหนักใหญ่เรือเบาเล็ก กระทบกระทั่งกันเข้าล่มไปข้างหนึ่ง ด้วยพายุแลคลื่นระลอก จะว่าแก่กันมิได้ อนึ่ง เรือลำหนึ่งข้ามฟากขวางกระแสน้ำไป เรือลำหนึ่งล่องน้ำมา ถ้าเรือข้ามฟากเล็ก เรือล่องน้ำใหญ่ ให้เรือข้ามฟากหลีกเรือล่องน้ำ ถ้าเรือล่องน้ำเล็ก เรือข้ามฟากใหญ่ ให้เรือล่องน้ำหลีกเรือข้ามฟาก ถ้าเรือเล็กไม่หลีกเรือใหญ่ เรือเล็กแตกล่ม จะเอาใช้แต่เรือใหญ่ไม่ได้ ถ้าเรือเล็กหนัก เรือใหญ่เบา ให้เรือใหญ่หลีกเรือเล็ก ถ้าเรือใหญ่ไม่หลีกโดนเรือเล็กล่ม ให้ใช้ของเรือเล็ก ถ้าเรือใหญ่จอดอยู่แนบฝั่งพ้นทางเรือเดิน เรือเล็กหนักถอยเลื่อนไปโดนเรือใหญ่ เรือเล็กล่มไปเอง จะเอาใช้แต่เรือจอดมิได้

มาตรา ๖ เรือไปในลำคลองแคบที่จะไปตามบังคับในมาตรา ๑ ตามน้ำแลทวนน้ำนั้นมิได้ ด้วยคลองนั้นคับแคบ ก็ให้เรือเล็กหลีกเรือใหญ่ เรือใหญ่เบาให้หลีกเรือหนัก ถ้าเรือลำใดเป็นเรือเบาก็ดี บรรทุกของเพียบก็ดี ถ้าจะจอดให้จอดเรียงลำกัน แอบแนบอยู่ตามแนวคลอง อย่าให้จอดซ้อนลำกันออกมา จนกีดทางเรือเดินแลจอดขวางคลอง แลจอดปักหลักอยู่กลางคลอง แลจอดซ้อนลำกัน ถ้าเรือขึ้นล่องมาโดนเรือของตัวแตกหักล่ม เสียของไปมากน้อยเท่าใด จะให้ผู้โดนใช้นั้นไม่ได้ ถ้าเป็นเวลากลางคืน เรือที่มาโดนนั้นล่มเสียของไป ให้เรือที่จอดผิด บังคับใช้ของจงเต็ม

อนึ่ง รอบคลองกรุงเทพมหานครชั้นใน และคลองผดุงกรุงเกษม แลกลองสมมต คลองบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย เป็นทางเรือเดินไปมามากทั้งกลางวันกลางคืน ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือมาปักหลักคัดช้อนอยู่กลางคลอง ให้กีดทางเดินเรือ ถ้าจะคัดช้อนหากิน ก็ให้ไปทำเสียที่คลองอื่นที่มีเรือเดินน้อยไม่ห้าม

มาตรา ๗ มีกฎหมายเดิมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ห้ามมิให้คนทั้งปวงพายเรือแจวเรือตีกรรเชียงตัดหน้ากระบวน ตัดท้ายกระบวน แลพายเรือเคียงแข่งกระบวนไป แลเข้าปนไปในกระบวน แลเมื่อเสด็จลงลอยพระประทีปในเวลากลางคืน ณ ที่ประทับริมน้ำ ตามพระราชพิธีทุกปีในเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนละสามวัน หรือมีการนักขัตฤกษ์ บางครั้งเสด็จลงที่ประทับริมน้ำหน้าพระราชวังก็ดี ที่อื่น ๆ ก็ดี ถ้ามีตั้งกองจุกช่องล่องล้อมวง ห้ามคนแปลก ๆ ไม่ให้ล่วงเข้ามาในที่ล้อมวง ถ้าผู้ใดขืนพายเรือล่วงเกินเข้าไปในที่ล้อมวงจุกช่องห้ามปราม เจ้าพนักงานจะจับตัวไปทำโทษ ถ้าเป็นคนนอกประเทศซึ่งอยู่ในบังคับกงสุลต่าง ๆ ขอเสียเถิด อย่าให้ผิดกฎหมายนี้ ถ้าขืนทำให้ผิดกฎหมาย เจ้าพนักงานจะจับตัวส่งต่อกงสุล ถ้าต่อสู้ไม่ยอมให้จับวิวาททุบตีกันขึ้น แตกหักล้มตายประการใด จะว่ากล่าวเอาผิดแต่เจ้าพนักงานผู้จับไม่ได้ เพราะได้ประกาศแล้ว ถ้าคนนอกประเทศทำเจ้าพนักงานล้มตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย แลเมื่อมีเวลาที่จะเสด็จทางใดเมื่อใด หรือจะมีนักขัตฤกษ์เสด็จลงที่ประทับริมน้ำหรือที่อื่น ๆ เมื่อใด เจ้าพนักงานจะจดหมายไปบอกกงสุลให้ทราบไว้ก่อนวันหนึ่งหรือสองวัน เว้นแต่วันลอยพระประทีปปีละ ๖ วันนั้นไม่ต้องบอก ให้กงสุลทราบเอาเอง อนึ่ง ถ้าเสด็จไปประทับตั้งล้อมวงที่วังสวนนันทอุทยาน สวนสระประทุมวัน ก็ไม่ต้องบอก เพราะเป็นที่หลวงใช่ทางเดิน

ตั้งแต่นี้ไปเป็นพระราชกำหนดแก่ชาวแพ แลโพงพาง

มาตรา ๑ ห้ามไม่ให้ชาวแพปักหลักแพจนกีดทางเรือเดิน ถ้าจะปักหลักพอกันหน้าแพของตัวนั้น ก็ให้ห่างไว้เพียงสามศอก ถ้าผู้ใดไม่ฟัง ขืนปักหลักแพให้เกินกำหนดออกมา เรือมาโดนถูกหลักแพ เรือล่มเสียของไปมากน้อยเท่าใด จะบังคับให้เจ้าของแพใช้ของเรือที่ล่มจงเต็ม

มาตรา ๒ เรือทอดสมอผูกติด ๆ กันออกคัดช้อนอยู่กลางน้ำที่โพงพางมีลูกบวบทอดเรียงกันออกมากลางน้ำก็ดี เวลากลางคืนให้มีไต้เพลิงแลเป่าเขากระบือเป็นที่สังเกต ถ้าเรือแพขึ้นล่องมาโดนถูกเรือแลโพงพางขาดลอยไปประการใดก็ดี เจ้าของเรือเจ้าของโพงพาง จะให้ผู้มาโดนใช้ไม่ได้ เพราะว่าเรือคัดช้อนผูกติดกัน แลลูกบวบโพงพางรุงรังมาก ไม่เหมือนเรือใหญ่ที่บังคับให้ทอดเรียงลำกันกลางน้ำ หรือแพที่จอดเรียงกันริมฝั่ง ดังบังคับไว้ในเบื้องต้นนั้น แลจะบังคับลูกบวบโพงพาง แลเป็นเรือคัดช้อนให้ทอดอย่างอื่นไม่ได้ ด้วยเคยใช้การอย่างนั้น เป็นการทำมาหากิน ถึงเมื่อเรือแพมาโดนถูกเรือถูกโพงพาง เรือล่มแพแตก เสียสิ่งของแลผู้คนล้มตาย ก็จะเอาใช้แต่เจ้าของเรือเจ้าของโพงพางไม่ได้เหมือนกัน ให้ผู้ล่องเรือแพรู้แห่งที่โพงพางแลเรือคัดช้อน แล้วระวังตัวแต่ไกลเถิด โพงพางแลคัดช้อนก็ย่อมอยู่เป็นที่เป็นตำบล ไม่ได้ยักย้ายไปมาเนือง ๆ เหมือนเรือใบเรือทะเลดอก แต่ห้ามอย่าให้เจ้าของโพงพางเอาไม้ไผ่ผูกขวางช่องไว้ ขึงแต่เชือกรั้งลูกบวบให้หยุดยึดกันตามธรรมเนียมนั้นไม่ห้าม อนึ่ง ตั้งแต่ริมตลิ่งออกมาถึงลูกบวบเป็นทางเรือเดินนั้น ห้ามมิให้เอาเชือกขึง แลไม้ขวางออกไปให้กีดทางเรือเดิน ถ้าเจ้าของโพงพางขึงเชือกทอดไม้ออกไปให้กีดทางเรือเดิน เรือขึ้นเรือล่องไปพานเชือกพานไม้เรือล่ม ถ้าเสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้ผู้ขึงเชือกทอดไม้ไปแต่ตลิ่งใช้ของเรือที่ลุ่ม ถ้าคนตาย ให้ใช้ค่าคนท่านตามกฎหมายเดิม

มาตรา ๓ ว่าถึงกฎหมายเดิมที่ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บของตก แลของลอยน้ำ แต่ครั้นกาลนานมา คนไม่รู้กฎหมายก็สำคัญว่าไม่ห้าม เก็บเอาไว้ เจ้าของไปตาม ก็ทุ่มเถียงว่าตู่ทวง เกิดทะเลาะวิวาทกันบ้าง เอาเก็บซ่อนเสียบ้าง เป็นที่สงสัยว่าเป็นผู้ร้ายลักฉกเอามา มีเหตุต่าง ๆ วิวาทกันเนือง ๆ แลของหายในแม่น้ำ ก็ย่อมเป็นไม้ขอนสักแลกระดานที่แพล่องมาแตกกระจัดกระจายไปตามสายน้ำ เจ้าของไปเที่ยวตามรวบรวมไม่ทัน แลเรือที่ใช้สอยขาดลอยไปนั้นโดยมาก เพราะฉะนั้น บัดนี้ห้ามมิให้ผู้ใดทั้งคนในประเทศนอกประเทศ เก็บเอาไม้ขอนสักแลกระดาน แลเรือเครื่องกำปั่นขาดตกจมน้ำอยู่ก็ดี ของสิ่งใด ๆ ที่ลอยน้ำไปก็ดี เก็บเอาไว้ว่าเป็นของตัวให้ขาดจากเจ้าของ ด้วยถือว่าเก็บตกได้ไม่มีเจ้าของแล้ว ของเป็นของผู้เก็บได้ ตามลัทธิคนไม่รู้กฎหมายเลย ถ้าใครเห็นของลอยน้ำมาไม่มีเจ้าของก็ดี หรือไล่โจรผู้ร้ายได้ก็ดี ก็ให้เก็บเอาของนั้นไปมอบไว้ หรือบอกกล่าวแก่นายอำเภอหรือกำนันพันนายบ้าน แลผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ที่อยู่ใกล้ ถ้าเป็นเครื่องเรือ ก็ให้ไปบอกหลวงวิสูตรสาครดิษฐเจ้าท่าให้รู้ภายใน ๑๒ ชั่วโมง ให้เจ้าท่าหรือนายอำเภอกำนันพันนายบ้าน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ จดหมายไว้ให้แน่นอน แล้วคอยฟังดูเถิด ฝ่ายเจ้าของจงรีบไปเที่ยวสืบตามหาของตัวซึ่งหายไป ไต่ถามทุกอำเภอ ในกำหนดเดือนหนึ่ง อย่าให้ช้าไป แลให้ผู้เก็บได้หรือเจ้าท่า กำนัน นายอำเภอ แลผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งได้รับของไว้ หรือท่านบอกกล่าวนั้น บอกให้รู้แล้ว แล้วสอบดูของให้แน่นอนว่าจะถูกของรายนั้น หรือจะผิดรายไป ให้ได้ความเป็นแน่นอนแล้ว จึงจะคืนให้เจ้าของไปได้ ถ้ายังสงสัยว่าของไม่ต้องกัน ก็รอฟังรายอื่นอยู่ก่อน ถ้าผู้เก็บของลอยน้ำของจมน้ำ แลของไล่โจรผู้ร้ายได้แล้วเอาไปซ่อนเสีย ไม่เอาไปมอบแก่เจ้าท่านายอำเภอ หรือกำนันพันนายบ้าน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ภายใน ๑๒ ชั่วโมง สืบจับได้จะเอาเป็นผู้ร้าย ถ้าช่วยเก็บให้เจ้าของได้บอกแก่เจ้าท่าหรือนายอำเภอ กำนันพันนายบ้าน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ไว้แล้ว เมื่อเจ้าของมาตามพบจะเอาของคืนไป ผู้เก็บได้จะขอเอาค่าไถ่เป็นรางวัลบ้าง ก็ตามแต่เจ้าของแลผู้เก็บได้กับเจ้าท่า แลนายอำเภอ กำนัน แลผู้มีบรรดาศักดิ์ จะว่ากล่าวเปรียบเทียบให้ตกลงกัน

ตั้งแต่นี้พระราชบัญญัติว่าการทางบก

มาตรา ๑ มีพระราชบัญญัติว่าด้วยบุกรุกสำหรับแผ่นดินไว้แต่ก่อน มีเป็นหลายมาตรา เอาแต่ใจความว่า ถ้าผู้ใดวิวาทด่าตีกันพาพวกเพื่อนถือไม้ ก้อนอิฐ ก้อนดิน เครื่องศัสตราวุธต่าง ๆ รุกไปตีด่าฟันแทงท่านถึงที่เขตแดนบ้านเรือนโรงร้านเรือแพที่อาศัยอยู่เป็นปรกติ เจ้าของที่มีบาดเจ็บ ให้ปรับไหมผู้รุกทวีคูณ พวกไปด้วยมิได้ลงมือ ให้ไหมกึ่งต้นจงทุกคน ถ้าเจ้าของที่ตีฟันแทงผู้รุกนั้นบาดเจ็บแลถึงตาย จะเอาโทษเจ้าของที่ฟันแทงนั้นมิได้ ประการหนึ่งผู้ใดด่าตีฟันแทงกันที่กลางถนน หนทางสถานที่ใด ๆ ผู้แพ้หนีเข้าไปในเขตบ้านท่านผู้อื่น ผู้ตีรุกเข้าไปในเขตบ้านท่านว่าไม่เป็นรุก ถ้าผู้แพ้หนีขึ้นไปจนบนบ้านเรือนผู้มีชื่อแล้วยังตามขึ้นไปตีอีก ท่านว่าบังอาจเอาเป็นบุกรุก ประการหนึ่งผู้ใดไปหาท่านด้วยธุระสิ่งใด หรือไปซื้อสิ่งของเข้าไปในบ้านโรงร้านเรือนแพโดยสุภาพ เกิดวิวาทกันขึ้น จะเอาเป็นบุกรุกมิได้ เพราะการวิวาทเกิดขึ้นในที่อันนั้น ประการหนึ่งเจ้าหมู่มูลนายไปจับบ่าวไพร่แลทาสลูกหนี้ พบปะที่แห่งใดไล่ติดตามกันไป ผู้หนี ๆ เข้าไปในบ้านท่านผู้อื่นก็ดี บ้านของตัวก็ดี เจ้าหมู่มูลนายตามเข้าไปจับตัวจะว่าเป็นบุกรุกไม่ได้ ถ้าเป็นวังเจ้า บ้านขุนนาง แลบ้านคนต่างประเทศ ให้ผู้จับบอกเจ้าของบ้านเสียก่อน เจ้าของบ้านจะได้ชำระเอาตัวส่งให้ฯ บัดนี้ ประกาศกฎหมายนี้มาเพื่อให้คนในประเทศคนนอกประเทศทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้ใดบุกรุกเข้าไปวิวาทถึงที่บ้านเรือนโรงเรือแพท่าน เจ้าของบ้านเรือนโรงร้าน เรือแพทุบตีมีบาดเจ็บถึงสาหัสแลตายก็ดี จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวขึ้น ตระลาการผู้พิจารณาสืบได้ความจริงว่าบุกรุกแล้ว จะไม่ตัดสินให้ตามบาดเจ็บ เพราะทำผิดกฎหมายบุกรุกเจ็บเปล่า จะเอาเบี้ยปรับไหมแลทำขวัญมิได้เลย

มาตรา ๒ ว่าด้วยการที่คนในประเทศนอกประเทศยิงปืนใหญ่ด้วยธรรมเนียมในกรุงเทพมหานคร กฎหมายเก่าก็มีอยู่ ห้ามมิให้คนทั้งปวงยิงปืนใหญ่ที่จะมีเสียงดังถึง ๑๐๐ เส้น ด้วยเหตุใด ๆ คือเป็นการมงคลแลอื่น ๆ โดยตามใจตัว ไม่มีกำหนดเหตุที่ควรจะยิง แลเมื่อยิงในแขวงกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้บอกกล่าวให้เจ้าพนักงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทราบแลยอมให้ก่อน หรือถ้าแขวงหัวเมืองไม่ได้บอกผู้รั้ง กรมการให้ทราบแลยอมให้ก่อน ถ้าใครล่วงบังคับนี้ก็มีโทษ เพราะว่าเสียงปืนใหญ่ เมื่อใครยิงขึ้นไม่มีเหตุรู้ทั่วก่อนแล้ว ก็ย่อมเป็นที่ตกใจแก่คนเป็นอันมาก ว่าเกิดเพลิง แลเหตุอื่น เป็นที่เล่าลือกันต่าง ๆ ไป เพราะมีกำหนดอยู่ในกรุงเทพมหานครว่า เสียงปืนใหญ่เป็นที่สำคัญสัญญาในพระบรมมหาราชวัง ยิงเมื่อเวลาก่อนสว่าง ๔๘ นาทีทุกวัน วันละ ๔ นัด เพื่อจะให้คนที่ควรจะตื่นนอนเมื่อจนรุ่ง ตื่นต้องเวลาแน่นอนทั่วกัน แลในพระบวรราชวัง ยิงเมื่อเวลานับเต็ม ๘ นาฬิกา แต่เพียงนัดหนึ่ง ยิงเมื่อก่อนรุ่ง ๔๘ นาทีอีกนัดหนึ่งเสมอทุกวัน ที่โรงทหารตามการเคยสังเกตตามธรรมเนียมทหารในพระบวรราชวัง ถ้าปืนใหญ่ยิงเมื่อพ้นกำหนดเวลานี้ ก็สำแดงว่ามีเหตุ คือเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือน ถ้าเพลิงเกิดไกลพระราชวังยิง ๔ นัด ถ้าใกล้พระราชวังยิง ๘ นัด เมื่อคนทั้งปวงได้ยินเสียงปืนแลรู้ว่าเพลิงไหม้ไกลแลใกล้ตามสังเกตนั้น จะได้มาช่วยดับเพลิงทั่วกัน และเมื่อมีการจะยิงบูชาพระฤกษ์หรือคำนับหรือการพระราชพิธี แลจะลองจะซ้อมปืนใหญ่เป็นการหลวงในบางครั้งบางคาบ ก็ย่อมเคยให้มีประกาศให้ราษฎรทราบทุกอำเภอก่อน จึงได้ยิงตามกำหนดเวลาแลวัน เพื่อจะมีให้ราษฎรตื่นตกใจ ครั้นเมื่อครั้งเรือรบพาเซอยอนโบวริงเข้ามาทำสัญญา เมื่อจะยิงปืนคำนับตามธรรมเนียมอังกฤษนั้น ก็ได้บอกกล่าวให้ทราบก่อน จึงยิงตามกำหนด ภายหลังมาคนนอกประเทศที่ไม่รู้สำคัญว่าการยิงปืนตามธรรมเนียมเรือรบไม่ห้าม แลยิงคำนับเจ้านายของตน ตามวันในกำหนดในประเทศของตัวไม่ห้าม ก็ยิงปืนใหญ่โดยมิได้บอกกล่าวให้ทราบก่อน หรือพวกหนึ่งได้บอกแล้ว พวกอื่นได้ยินเสียงปืนขึ้นแล้ว ก็พลอยยิงบ้าง แลคนในกรุงที่มีความกำเริบใจสำคัญว่า บัดนี้คนต่างประเทศยิงปืนเล่นได้เนือง ๆ เห็นจะไม่มีที่ห้ามแล้วยิงบ้างโดยไม่มีกำหนด การที่ห้ามตามกำหนดเท่านั้นก็ลบเลือนโลเลไป เพราะฉะนั้นจะขอบังคับข้อห้าม ว่าตั้งแต่ในด่านเมืองสมุทรปราการเข้ามา ถ้าคนในประเทศนอกประเทศมีเหตุควรจะยิง คือยิงในการฤกษ์โกนจุกลงท่า หรือจะยิงคำนับตามชาติตามภาษาที่เคยนับถือ จะยิ่งในการบุญอย่างฝรั่งที่วัดฝรั่ง หรือที่อื่นปีละครั้งละคราวก็ไม่ขัดขวางห้ามปราม แต่ให้เจ้าของวัด เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน จดหมายบอกกล่าวต่อกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า กรมเมืองเสียก่อนแต่วันจะยิงสามวัน เจ้าพนักงานกรมเมืองจะได้ป่าวร้องให้ราษฎรรู้ว่า วันนั้น เวลานั้น คนนั้นจะยิงปืนใหญ่ด้วยธุระอย่างนั้น ๆ ข้าราชการแลราษฎรจะได้ไม่มีความสงสัย อนึ่ง ถ้าจะยิงปืนคาบศิลาแลปืนนกหลอก ตามวังเจ้าต่างกรมแลเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจะตั้งป้อมหัดบุตรหลานญาติพี่น้องบ่าวไพร่ให้ชำนิชำนาญในการยิงปืนเล็กก็ได้ แต่จดหมายไปบอกต่อเจ้าพนักงานกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม ให้รู้กำหนดเวลาทุกวัน หรือในวันที่กำหนด เจ้าพนักงานกรมมหาดไทยจะได้ให้กรมพระแสงไปตรวจตรา ดูป้อมที่จะหัดยิงให้พ้นหนทางคนเดินไปมาเมื่อหัดยิงนั้น จะได้ไม่ถูกเป็นอันตราย

อนึ่งถ้าจะยิงนกยิงสัตว์ก็ยิงได้แต่ที่ป่าที่ทุ่งนา ที่มิใช่ที่วัดที่บ้านมิใช่หนทางคนที่เดินไปมา ถ้าจะยิงในที่วัดที่บ้านที่หนทางคนไปมา ผู้ที่จะยิง ลางที่คนดีบ้าง คนเมาสุราบ้าง ไม่ทันเห็นคนที่จะไปถูกคนป่วยเจ็บตาย ครั้นไปเอาตัวผู้ที่ยิงคนตายนั้นมาจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมายว่ายิงคนตาย ผู้ที่ยิ่งนั้นก็เถียงว่าหาได้แกลังยิงคนไม่ ต้องทุ่มเถียงโอกเอกกันกว่าจะตัดสินตกลงก็ยาก ปืนนั้นก็เป็นอาวุธทางไกล อาจที่จะทำลายชีวิตคนได้ กว่าจักษุคนเห็น คือบังฝา บังต้นไม้ ไม่เห็นได้ด้วยจักษุ ปืนตลอดไปถูกคนตายได้ เหตุฉะนี้ จึงได้ตั้งกฎหมายไว้ห้ามมิให้ยิงปืนเล็กในที่วัดที่บ้าน ถึงที่ป่าที่ทุ่งก็ดี ห้ามมิให้ยิงช้าง ม้า แลโคกระบือ แลสัตว์ที่เจ้าของหวงห้ามเลี้ยงไว้ ถ้าผู้ใดมิฟัง ขืนยิงปืนให้ผิดแต่กฎหมายนี้ จะต้องปรับไหมเงินตั้งแต่ ๑๖๐ บาทขึ้นไป แล ๔๐๐ บาทลงมา ตามยิงมากแลน้อยตามกฎหมาย ถูกช้าง ม้า โค กระบือ สุกร เป็ดไก่ สัตว์ที่มีเจ้าของเลี้ยงอยู่ทำให้ตาย จะต้องคิดเงินให้ตามราคาของ ๆ เจ้าของตามของมากแลน้อยอีกส่วนหนึ่ง ถ้าคนฝ่ายไทยยิงถูกคนป่วยเจ็บตาย จะปรับไหมทำโทษตามกฎหมายเดิมในประเทศสยาม ถ้าคนต่างประเทศจะยิ่งถูกคนป่วยเจ็บตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมาย

มาตรา ๓ กัปตันนายเรือ แลนายห้างที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ห้ามอย่าให้กะลาสีลูกเรือแลลูกจ้างไทยจีน แลคนขาวคนดำถืออาวุธต่าง ๆ คือปืนยาวปืนสั้นแลมีด ไปเที่ยวตามลำน้ำลำคลองแลบนบก ถ้าจะมีธุระเที่ยวไปซื้อของก็อย่าให้มีอาวุธสำหรับตัวไป ให้ไปมือเปล่า แล้วให้สั่งแลกำมโตของนายห้างกำกับไปด้วย ถ้ากัปตันแลนายห้างไม่ห้ามปรามกะลาสีลูกเรือ แลลูกจ้างไทยจีน แลคนขาวคนดำ ปล่อยให้ถือเครื่องอาวุธต่าง ๆ คือปืนยาว ปืนสั้น แลมีดไปเที่ยวตามลำน้ำ ลำคลอง บนบก เวลากลางวันกลางคืนทำการวิวาทเจ้าพนักงาน หรือชาวบ้านจะช่วยกันจับตัวมาส่งต่อกงสุลให้ทำโทษ ถ้าไม่ยอมให้จับโดยดีต่อสู้กันถึงแตกหักมีบาดเจ็บอย่างไร จะเอาโทษแต่ผู้จับไม่ได้ ถ้าทิ่มแทงทุบตีผู้จับ เจ็บป่วยถึงตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย

อนึ่ง ลูกค้าถอยเรือขึ้นล่องมาในลำแม่น้ำ เรือค้างน้ำอยู่กลางทาง กะลาสีขึ้นไปเก็บผลไม้ในสวนกิน เจ้าของสวนห้ามปรามไม่ฟัง จะเอามีดไล่ทิ่มแทงเจ้าของสวน ความมีอยู่เนือง ๆ ครั้นจะให้เจ้าของสวนจับกุมเอาตัวมาฟ้องให้กงสุลทำโทษเล่า คนที่เฝ้าสวนนั้นน้อย มีอยู่แต่คนหนึ่งสองคนจะจับกุมก็ไม่ได้ ให้กัปตันนายเรือแลนายห้างห้ามเสีย อย่าให้กะลาสีแลลูกจ้างไปเก็บเอาผลไม้ของราษฎรชาวสวนเป็นอันขาด ถ้ามิฟังไปขนเก็บผลไม้ในสวน เจ้าของสวนแลคนเฝ้าสวนเอากระสุนยิงถูกแตกหักเจ็บป่วยประการใด จะเอาโทษแต่เจ้าของสวนไม่ได้ ถ้าทำเจ้าของสวนเจ็บป่วยล้มตาย กงสุลจะชำระโทษให้ตามกฎหมาย

มาตรา ๔ ห้ามมิให้คนเที่ยวไปในกำแพงวัง แลขึ้นลงที่ตำหนักน้ำในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลวังสวนนันทอุทยาน วังสวนสระปทุมวัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานแลนายประตูรักษาอยู่ เข้าไปไม่ได้ ต่อเจ้าพนักงานนำแลยอมแล้วจึงเข้าไปได้ ถ้าห้ามมิฟัง ขึ้นเข้าไปในที่ห้าม แลขึ้นลงในท่าพระตำหนักน้ำ แลเข้าไปในประตูพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลวังสวนนันทอุทยาน แลวังสวนสระปทุมวัน เจ้าพนักงานแลนายประตูจะจับตัวมาส่งต่อกงสุล ถ้าสู้รบกันล้มตายลง จะเอาผิดแต่เจ้าพนักงานแลนายประตูไม่ได้ ถ้าเจ้าพนักงานแลนายประตูตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษให้ตามกฎหมาย

พระราชบัญญัตินี้ได้ตีพิมพ์เป็นอักษรไทย อักษรอังกฤษ ประกาศมาในครั้งหนึ่งก่อน เมื่อกาลต่อไปข้างหน้า มีความเกี่ยวข้องขึ้นอีกนอกจากพระราชบัญญัตินี้ ก็จะตั้งพระราชบัญญัตินั้น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ให้พระสงฆ์สามเณร แลข้าราชการ ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน แลผู้สำเร็จราชการเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ แลราษฎรลูกค้าในประเทศนอกประเทศทุกภาษา ซึ่งเข้ามาค้าขายเรือใหญ่แลเรือเล็กไปมาในคลอง แลลำแม่น้ำให้รู้จงทั่วกัน แล้วให้ประพฤติทำตามพระราชบัญญัตินี้จงทุกประการ

ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๒๒

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ