ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระองค์จะได้ชื่อว่าเป็นนักยุทธศาสตร์โดยไม่ต้องใช้อาวุธ สามารถเบนหัวเรือกองทัพของนักล่าเมืองขึ้นผิวขาวให้ผ่านไปจากไทย รักษาความเป็นไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในภาคตะวันออก ที่ทรงรู้ภาษาอังกฤษอย่างดีเยี่ยมแล้ว พระองค์ยังได้ชื่อว่าเป็นยอดนักการเมือง หรือนักการเมืองเอกของโลกผู้หนึ่งที่โลกจะต้องจดจำพระนามของพระองค์ตลอดไป

เพราะถ้าพระองค์เป็นเจ้าชีวิตที่ไร้ความเป็นนักการเมืองเอกแล้ว ชาติไทยก็คงจะต้องมีประวัติอันชอกช้ำเหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่เสียเอกราช แม้จะกู้คืนมาได้ก็มิใช่ความสามารถ เป็นเพราะเหตุการณ์มากกว่า แต่ถึงอย่างไร ประวัติศาสตร์ก็คงจะเป็นหนามยอกอกสำหรับชาติซึ่งประสบมาแล้วกับคำว่า “เมืองขึ้น”

ความเป็นอัจฉริยบุคคลในทางการบ้านการเมืองของพระองค์ดูเหมือนว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องไปอ้างที่ไหนเลย เอาเพียงประกาศเรื่อง “ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี” ซึ่งทรงประกาศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ในปีที่พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย ขอเชิญพินิจพิจารณาทุกวรรคทุกตอนโดยละเอียดต่อไปนี้ว่า พระองค์ทรงมีสายพระเนตรไกล และทรงพหูสูตเพียงใด สมควรจะได้รับความยกย่องว่าเป็นยอดนักการเมืองในอดีตหรือไม่

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยามที่ ๔ ในกรุงเทพมหานคร ณ ประเทศบางกอกนี้ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสสั่งเจ้าพระยารวิวงศ์ มหาโกษาธิบดี ผู้ว่าราชการฝ่ายกรมท่า ว่าการต่างประเทศ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระราชนิพนธ์นี้ ประกาศแก่ผู้ซึ่งเป็นกงสุลแลขุนนางผู้ว่าการกงสุลนั้นด้วย หรือกงสุลต่างเมืองทั้งหลาย บรรดาที่มีหนังสือสัญญารักษาทางพระราชไมตรีอยู่กับแผ่นดินสยามนั้น ที่มาอยู่ในกรุงเทพ ฯ บัดนี้แล้วก็ดี แลซึ่งจะมาในเบื้องหน้าก็ดี อนึ่งให้ ประกาศแก่กงสุลฝ่ายสยาม แลผู้ช่วยราชการกงสุลซึ่งไปตั้งรักษาทางพระราชไมตรีอยู่ที่เมืองต่าง ๆ ห่างแลชิดนั้น ในบัดนี้ก็ดี หรือเบื้องหน้าก็ดี ให้ทราบพระราชดำรัสดังนี้ทั่วกัน ว่าถึงการรับพระราชสาส์นทั้งหลาย แลแห่แหนต่าง ๆ หรือรับเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งเป็นของยินดีของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายก็ดี หรือผู้ครองฝ่ายสยามได้ส่งพระราชสาส์น แลเครื่องราชบรรณาการเป็นสิ่งของทรงยินดีไปแต่พระเจ้าแผ่นดิน สยามเก่าใหม่ส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งหลายนั้น ซึ่งเป็นทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามนั้นก็มีมามากนัก หรือการรับทูตผู้ถือรับสั่งแห่งพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายนั้นก็ดี แลการที่พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งทูตไทยไปต่างประเทศทั้งหลายก็มีหลายหนหลายครั้ง มีเยี่ยงอย่างแบบแผนมาตั้งแต่โบราณ แลการใหม่ ๆ ที่มีอยู่เป็นตัวอย่างแล้วหลายครั้ง แต่การในโบราณนั้น ว่าด้วยการรับทูตหรือส่งทูตรับพระราชสาส์นแลส่ง ทั้งนี้ได้พบจดหมายใจความของโบราณนั้นหลายฉบับเป็นแบบมา บัดนี้จะขอตัดว่าแต่สั้น ๆ ว่าด้วยการรับพระราชสาส์นแลส่งพระราชสาส์น แลรับส่งเครื่องราชบรรณาการ หรือรับทูตที่มาแต่ต่างประเทศนั้น แลส่งทูตไปในต่างประเทศทั้งปวงนั้น เมื่อพิเคราะห์ไปตามการต่าง ๆ ในประเทศทั้งหลายนั้น จะได้มีหนังสือสัญญากันว่า จะทำด้วยการสำแดงยศอย่างนี้อย่างนั้นในหนังสือสัญญาก็ไม่มี การเป็นแต่ตกลงตามใจเจ้าของแผ่นดิน ๆ เห็นควรจะทำอย่างไรก็ทำไปตามน้ำใจอย่างนั้น ๆ อนึ่งการที่เจ้าแผ่นดินรับส่งราชสาส์นราชทูตนั้นด้วยอาการเอิกเกริก เพราะประสงค์เหตุที่ทำไปนั้น มีที่มุ่งหมายของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายนั้น ๆ อยู่ ๒ อย่าง ประการหนึ่งเพื่อจะอวดยศอวดสมบัติของตัวให้แขกเห็นตามประเทศนั้น ๆ อีกประการหนึ่งจะแสดงความต้อนรับนับถือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย แลยกย่องพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศให้เป็นการสมควรเสมอกับเกียรติยศของตัว ไม่ดูถูกดูแคลนว่าเป็นน้อยต่ำกว่าตัว การอันนี้เมื่อพิเคราะห์ไปแล้ว ก็เห็นชัดว่าเป็นแต่การยอมตกลงตามใจของผู้เจ้าของแผ่นดิน จะทำอย่างไรก็ทำได้อย่างนั้นแต่ที่ในการรับส่งราชทูตราชสาส์น ก็การอื่น ๆ ซึ่งมีเกิดขึ้นในภายหลังนั้นขอยกไว้ จะขอว่าแต่การรับแลการส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีนเป็นต้นเหตุเดิมมาหลายร้อยปีแล้ว เดิมแต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายสยามกับพระเจ้าแผ่นดินอื่นที่ยังไม่ได้รู้จักเป็นทางไมตรีหรือทางค้าขายนั้นก็เปล่า อนึ่งในเวลาล่วงไปก่อนนั้นหลายร้อยปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาก่อนนั้นโง่งมนัก ปราศจากวิริยะปัญญา ไม่รู้การอะไร ๆ ไกล ๆ ในต่างประเทศบ้างเลย ครั้งหนึ่งพวกจีนเมืองกวางตุ้งเข้ามาค้าขายในประเทศญวน แล้วก็เลยแวะเข้ามาขายของที่ประเทศไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินโง่ เสนาบดีเซอะ ราษฎรโซ ชวนกันยินดีซื้อสินค้าของจีนในสำเภานั้นไว้ใช้สอยชมเชย จีนหลอกขายได้แพง มีกำไรมาก จีนในสำเภามีความยินดีที่สุด ฝ่ายไทยในเวลาก่อนนั้นก็มีความยินดี ลุ่มหลงซื้อของจีนรับไว้ใช้ในบ้านในเมืองไทยนี้ ครั้นภายหลังจีนทั้งหลายในเมืองต่าง ๆ ก็มาค้าขายในแผ่นดินประเทศไทยเนือง ๆ จีนบางพวกมีความปรารถนาใหญ่เพื่อจะอยู่อาศัยในเมืองไทยนี้ เพราะประสงค์จะเก็บสินค้าของป่าต่าง ๆ ส่งไปขายในประเทศจีนโน้น จีนพวกที่คิดจะอยู่ในที่แผ่นดินไทยนั้น จึงให้พระยาโกษาธิบดีผู้ว่าราชการในกรมท่านั้น กราบทูลแต่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ว่าจะขออาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้นเพื่อจะเก็บสินค้าของป่าต่าง ๆ บรรทุกสำเภาไปขายในเมืองจีน แล้วจะได้เก็บเงินค่าปากเรือสำเภาส่งถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินไทยด้วย ครั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทราบการดังนั้นก็มีพระทัยยินดี จึงโปรดให้จีนพวกนั้นได้อยู่อาศัยในเมืองไทย เพราะเข้าใจว่าคบจีนจะมีประโยชน์ใหญ่ยิ่งรุ่งเรืองนัก ครั้นภายหลังพวกเมืองนอกก็โดยสารสำเภาเข้ามาอาศัยทำมาหากินในเมืองไทยนี้เป็นอันมาก ๆ ขึ้นทุกครั้งทุกปี แลฝ่ายไทยในเวลานั้น สำคัญคิดเข้าใจว่า จีนเป็นประเทศอันประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลาย แล้วเข้าใจว่าเมืองจีนอยู่ห่างไกลจะเป็นข้าศึกกับไทยไม่ได้ เพราะเขตแดนมิได้ใกล้ชิดติดต่อกัน

อนึ่งพวกจีนที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยนั้น มาทางทะเลเป็นทางกันดารนัก ไปมาด้วยยากเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม เพราะเหตุดังนี้ไทยจึงสำคัญรู้ ไม่รังเกียจว่าจีนเป็นศัตรูได้ ครั้นพวกจีนทั้งหลายบางคนทำมาหากินจนมั่งมีเงินทองขึ้นมากแล้ว จึงลงทุนต่อสำเภาบรรทุกสินค้าต่าง ๆ ในเมืองไทยไปขายเมืองจีนได้กำไรโดยมากที่สุด จึงเลือกซื้อสิ่งของที่ประหลาด ๆ ต่าง ๆ ในเมืองกวางตุ้ง เลือกเอาแต่ที่ดี ๆ เข้ามาเป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม แล้วกราบทูลสรรเสริญฝีมือช่างต่าง ๆ ในเมืองกวางตุ้งด้วย ขณะนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยได้รับของถวาย แลเสนาบดีไทยได้รับกำนัลของพวกจีนนั้น ๆ ก็มีความยินดีโสมนัสเพราะหลงโลภ ในเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระราชประสงค์จะแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายที่เมืองจีนบ้าง เพื่อจะเก็บเลือกสรรจัดซื้อสิ่งของที่ประหลาดมาใช้ในเมืองไทยบ้าง พวกจีนเหล่านั้นจึงมีอุบายกราบทูลว่า ไทยจะไปค้าขายในเมืองจีนนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยยังไม่รู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเรือสำเภาไทยจะไปค้าขายที่เมืองจีนเมื่อใดแล้ว พวกจีนนายด่านเขาจะจับเอาเรือนั้นไว้ แล้วจะริบเอาของทั้งสิ้น เพราะไม่ได้เคยไปค้าขาย เขาจะสำคัญคิดผิดไปว่าเป็นเรือข้าศึกต่างประเทศ ด้วยจีนยังไม่รู้จักคนไทยเลย ถ้าพระองค์จะอยากไปค้าขายที่เมืองจีนแล้ว จะต้องมีพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการพอสมควร ให้ทูตไทยออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ผูกพันสันถวะมิตรกับพระเจ้าแผ่นดินจีนเสียก่อน ให้รู้จักชอบอัชฌาสัยแล้ว จึงจะได้ใช้สำเภาไทยไปค้าขายในประเทศจีนได้โดยสะดวก พวกจีนเหล่านั้นกราบทูลเป็นกลอุบายล่อลวงยุยงพระเจ้าแผ่นดินไทยให้หลงเชื่อ แล้วจึงกราบทูลขอรับอาสาว่า จะนำพาทูตไทยไปให้ถึงกรุงปักกิ่ง คือเมืองหลวงของจีนทั้งปวง ขณะนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ทรงเชื่อถ้อยคำพวกจีนยุยง จึงโปรดให้เจ้าพนักงานแต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่งเป็นอักษรไทยมีความว่า ขอเป็นทางพระราชไมตรีต่อกรุงปักกิ่ง เพื่อประโยชน์จะไปมาค้าขาย พระราชสาส์นนั้นให้จารลงในแผ่นทองคำ แล้วม้วนไว้ในกล่องทองคำประดับพลอยต่าง ๆ แล้วโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงลิปูตาทั่ง คือเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงปักกิ่ง เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงต๋งตก คือเจ้าเมืองกวางตุ้งเป็นเมืองท่าสำเภา ต้นทางบกจะขึ้นไปกรุงปักกิ่งนั้น ครั้งนั้นพวกจีนเหล่านั้น จึงกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า ในเมืองจีนนั้น ล่ามจีนที่จะแปลภาษาไทยได้ก็ไม่มี และคนที่จะแปลพระราชสาส์นไทยนั้นก็ไม่มี อนึ่งพวกข้าพเจ้าเหล่านี้เป็นผู้นำไทยไปจากเมืองไทยนั้น ครั้นจะแปลเองก็ดูเหมือนว่าไปแกล้งพูดเล่นตามชอบใจไม่มีหลักหลาย เพราะเป็นจีนอยู่ที่เมืองไทยนี้ เกลือกว่าจีนที่เมืองจีนเขาจะไม่เชื่อแน่ เขาจะกลับสำคัญคิดผิด ๆ ไปต่าง ๆ แลธรรมเนียมจีน พระเจ้าแผ่นดินจีนก็ทรงพระราชสาส์นด้วยพระองค์เอง ลิปูตาทั่งแลต๋งตกก็อ่านหนังสือเอง จะได้ให้ล่ามแปลก็หามิได้ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นหลงใหลเชื่อคำพวกจีนเหล่านั้นกราบทูลหลอกลวงต่าง ๆ ช่างโง่เง่าทั้งพระเจ้าแผ่นดินแล เสนาบดีจึงยอมให้จีนพวกนั้นแต่งพระราชสาส์นเป็นหนังสือจีน แต่ว่ารับสั่งว่าให้ล่ามจีนพวกนั้นแต่งตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์น ซึ่งเป็นอักษรไทย แลความไทย ฝ่ายพวกจีนทั้งนั้นก็แต่งยักย้ายเสียใหม่ตามชอบใจของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้นแต่งเป็นหนังสือจีนก็กลับความเสียอย่างอื่น เขียนใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่ง ขออ่อนน้อมยอมตัวถวายเป็นข้าขอบขันธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แลขอถวายเมืองเป็นเมืองก้อง ๓ ปีครั้งหนึ่ง พอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเอกอุดมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงทั่วโลก จะขอให้พระเจ้ากรุงปักกิ่งทรงพระมหากรุณาอนุญาตให้สำเภาของพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ไปมาค้าขายที่เมืองจีน เหมือนได้โปรดให้ซื้อสิ่งของบนสวรรค์มาใช้ในเมืองไทยไกลทะเลกันดารนั้นเถิด ถึงหนังสือฉบับเจ้าพระยาพระคลังนั้น ไปถึงลิปูตาทั่งแลต๋งตกทั้ง ๒ ฉบับ นั้น ล่ามจีนเหล่านั้นกลับเอาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินไทย เป็นเจ้าของหนังสืออ่อนน้อมไปถึงต๋งตกแลลิปูตาทั่งไปหมดสิ้น ครั้นแต่งแล้วทั้ง ๓ ฉบับ จึงเอาฉบับของพระเจ้าแผ่นดินไทยมาถวายให้ทรงประทับตราตามธรรมเนียมพระราชสาส์น แลหนังสือ ๒ ฉบับซึ่งเป็นของเจ้าพระยาพระคลัง เอามาให้เจ้าพระยาพระคลังประทับตราไปตาม ซึ่งการเป็นไปโดยในหนังสือสำเนาไทย ข้อความในพระราชสาส์นดังนี้ ไทยได้ทราบต่อภายหลังล่วงกาลนานมากว่า ๒๐๐ ปีเศษ คำว่ากุ๋ยนั้นแปลว่าถวายบังคม หรือคำนับ คำว่าก้องนั้นแปลว่าขึ้นเป็นเมืองขึ้นในบังคับ พระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นโง่มักง่ายนัก ไม่หาผู้อื่นมาอ่านแปลสอบสวนให้ฟังให้แน่แท้ก่อน ด่วนประทับตราในหนังสือจีนให้ง่าย ๆ หลับตานัก แล้วก็แต่งทูตานุทูตไทยผู้มีบรรดาศักดิ์ให้ออกไปกับพวกจีนเหล่านั้นด้วย ยังทรงตั้งจีนพวกเหล่านั้นให้เป็นขุนท่องซือใหญ่ แลขุนท่องซือน้อยเป็นผู้พาพวกไทยไปถึงเมืองจีน คำว่าท่องซือนั้นแปลว่า เป็นผู้ซึ่งนำข่าวสาส์นต่าง ๆ พระเจ้าแผ่นดินไทยแลเสนาบดีไทยเวลานั้น พอใจถนัดไปแต่การข้างจะอวดยศของตัวว่า ดีกว่ามนุษย์ทั้งหลาย พระราชสาส์นนั้น เชิญเข้าไว้ในลุ้ง เขียนลายรดน้ำทอง แล้วยังตั้งบนพานทองคำ ๒ ชั้น คือพานแว่นฟ้า แล้วก็เชิญพานพระราชสาส์นตั้งบนบุษบกปิดทองมีคานหาม แต่พวกทูตานุทูตไทยที่จะไปนั้นก็แต่งตัวจนเกินงามในเวลานี้ แต่ในเวลาก่อนนั้นเขาจะเข้าใจว่าเป็นการดีแท้ แต่งตัวสวมชฎาทองคำชนิดชฎาอินทร์พรหม มีท้ายเชิดแล้วประดับสายสร้อยมะยมทองคำพัวพันคอรุงรัง เขาคิดเพลิดเพลินไปแต่ฝ่ายสำแดงยศอวดเจ๊ก แลพระราชสาส์นเมื่อจะออกจากพระราชวังกรุงเก่านั้น ก็มีแห่แหนอื้ออึง พานพระราชสาส์นนั้น เชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ แลมีเครื่องสูงเทวดาแห่หน้าหลัง มีแตรสังข์กลองชนะพิณพาทย์ พลถือธงต่าง ๆ บางสิ่งแห่หน้าหลัง โห่ร้องอื้ออึงมาลงเรือเอกไชย เรือรูปสัตว์ต่าง ๆ ยังมีเรือแห่เป็นขบวนแห่หน้าหลังคั่งคับตามลงมาส่งจนถึงเมืองสมุทรปราการ แล้วส่งขึ้นเรือใบน้อย ๆ เป็นเรือลำเลียง แต่ลงไปในเรือแล้วยังมิหนำซ้ำให้มีกลองชนะแตรสังข์ตามไปประโคม เพื่อจะให้เป็นการสำหรับยศพระราชสาส์น ประโคม ๓ เวลาเช้าค่ำแลกลางวันเสมอไป เวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินไทย แลเสนาบดี ก็มีแต่การขวนขวายแต่จะแสดงยศจะอวดอำนาจแก่เจ๊ก ไม่คิดอายอดสูแก่ประเทศอื่นเลย การนี้ก็เพราะไม่พิจารณาด้วยปัญญาอันละเอียด ครั้นไปถึงเมืองจีนแล้ว พวกจีนซึ่งเป็นที่ท่องซือก็พูดกลับความเสียอย่างอื่นหมด พูดว่าธรรมเนียมไทยซึ่งแต่งตัวอย่างธรรมดานั้นอย่างหนึ่งดังนี้ แต่แต่งตัวไปอย่างทูตนั้นเป็นการแต่งโดยความเคารพต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ถึงพระราชสาส์นแลการแห่แหนโห่ร้องดังนั้นก็เป็นการดี โดยความเคารพ ต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งทั้งสิ้น ขณะพระราชสาส์นถึงเมืองจีนนั้น พวกจีนที่เป็นผู้ดูแลบ้านเมืองเจ้าท่านั้น จะได้แห่รับไทยก็หามิได้ ไทยก็ต้องแห่หามบุษบกที่รับพระราชสาส์นประโคมของตัวไปเอง ไม่อดสูใจเลย แลครั้งนั้นพวกจีนล่ามที่เป็นท่องซือใหญ่แลท่องซือน้อยนั้น จะรู้เห็นเป็นใจนัดหมายกับขุนนางอื่นอย่างไรก็หาทราบไม่ เพราะหาได้มีในจดหมายเหตุโบราณนั้นไม่ ได้พบหนังสือมีความแต่ว่าเป็นเรื่องราวว่า พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีรับสั่งโปรดให้ขุนนางหัวเมืองจีนรับทูตไทย แลพระราชสาส์นไทยกับทั้งเครื่องราชบรรณาการรวมกันส่งไปให้ถึงกรุงปักกิ่งโดยการดี อย่าให้มีเหตุร้ายได้เลย ก็ครั้งนั้นพวกทูตไทยได้ขึ้นบกแต่เมืองกวางตุ้งไปจนถึงกรุงปักกิ่ง รอนแรมไปถึง ๓ เดือนกับ ๑๕ วัน จึงถึงกรุงปักกิ่งโดยความยากนัก พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็เสด็จออกรับพระราชสาส์นแลทูตไทย รับเมืองไทยเป็นเมืองก้อง คือรับอย่างหัวเมืองขึ้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งพระราชทานหองตั้งพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นเมืองก้องขึ้นมา คือตั้งเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงปักกิ่ง คำว่าหองนั้นเปรียบเหมือนว่าสัญญาบัตรตั้งหัวเมืองทั้งหลาย อนึ่งเครื่องมงคลราชบรรณาการของไทยไปถวายพระเจ้ากรุงปักกิ่งนั้น รวมหมดเป็นราคาเพียงสัก ๕๐ ชั่ง ฝ่ายข้างพระเจ้ากรุงปักกิ่งก็รักยศจะอวดสมบัติแลอำนาจแก่ไทย จนสู้เสียเงินค่าจ้างจีนราษฎรขนบรรณาการไทย ตั้งแต่เมืองกวางตุ้งส่งขึ้นไปถึงเมืองปักกิ่ง คิดดูค่าจ้างขนนั้น เป็นเงินมากกว่าราคาเครื่องราชบรรณาการของไทยที่ออกไปนั้นหลายเท่า คุ้มค่าจ้าง พระราชสาส์นไทยนั้นก็โปรดให้หามไปทั้งบุษบกรับพาน ทูตานุทูตไทยก็ขึ้นเกี้ยวขึ้นรถไปทุกคน คนที่หามพระราชสาส์นแลหามทูตนั้นพระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ต้องจ้างจีนหามสิ้น ราคาค่าจ้างมาก เพราะจะแสดงยศแก่ประเทศจีนทั้งปวง ครั้นเมื่อกาลล่วงมา พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ทรงตอบแทนเครื่องบรรณาการมาให้แก่กรุงไทยนั้น สิ่งของตอบแทนแต่ล้วนเป็นของมีราคาทั้งนั้น คือแพรอย่างดีสีต่าง ๆ ราคาก็มากกว่าเครื่องบรรณาการของไทยที่ไปนั้นหลายเท่า คิดราคาของตอบแทนกรุงปักกิ่ง ๒ ส่วน ข้างหน้าข้างใน ประมาณ ๖๐ ชั่งเศษใกล้ ๗๐ ชั่ง ทั้งนี้พระเจ้ากรุงปักกิ่งขาดทุนเปล่าไม่มีกำไร แต่ว่าต้องจำเป็นจำทำ เพราะว่าจะแสดงยศอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย

ฝ่ายลิปูตาทั่ง คือเสนาบดีในกรุงปักกิ่งนั้น แลต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งทั้ง ๒ แห่ง เขาก็มีหนังสือฝากมาถึงพระเจ้าแผ่นดินไทย เป็นหนังสือตอบตามหนังสือของไทยที่มีไปเป็นอักษรจีนนั้น แต่พวกจีนล่ามที่เป็นท่องซือก็พูดกลับแก้ความเสียใหม่ว่า ตราที่ไทยประทับพระราชสาส์นนั้นดวงหนึ่ง เพื่อสำหรับถวายแก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งพระองค์เดียวเท่านั้นต้องใช้ดวงนี้ต่างหาก แต่ดวงที่ประทับในหนังสือลิปูตาทั่งแลต๋งตกนั้น ต้องใช้ตราดวงหนึ่งต่างหาก ฝ่ายจีนก็เชื่อเอาแต่ในหนังสือของไทยที่เป็นอักษรจีนเป็นใหญ่ หาได้สอบบัตราไม่

อนึ่ง พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งนั้น เป็นหนังสือตาดท่อนหนึ่ง แล้วม้วนเข้าไว้ในกลักไม้ไผ่ทาสีเหลือง เขียนเป็นรูปตัวมังกร ๕ เล็บ หนังสือหองนั้นเขียนเป็นกระดาษสีเสนประทองเป็นเม็ด ๆ ม้วน มีดูกไม้อยู่กลาง มีหยกติดท้ายไม้ดูก ๒ ข้าง แล้วมีสายรัดผูกรอบสลักทำด้วยหยกเจียระไน มอบส่งให้ทูตานุทูตไทยไปตามการ เหมือนเช่นหนังสือฝากกันตามเมืองต่าง ๆ ทั้งหลาย เช่นกันกับท้องตราบังคับไปยังหัวเมืองขึ้นของพวกจีน จีนไม่ได้ยกย่องขึ้นนับถือเป็นพระราชสาส์นสนองตอบแทนในทางไมตรีนั้นเลย

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยกับเสนาบดีในเวลานั้นไซร้ไม่รู้เหตุการณ์ห่าง ๆ ไกล ๆ ที่เข้าใจสำคัญคิดผิด ๆ ไปต่าง ๆ จึงปรึกษากันว่า พระราชสาส์นของเราเมื่อส่งให้ทูตไทยไปนั้น ก็มีการแห่แหนมากมายหลายอย่างต่าง ๆ ก็เมื่อพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาถึงแขวงกรุงไทยนี้แล้ว ถ้าเราจะไม่มีการรับด้วยกระบวนแห่แหนต่าง ๆ นั้น พวกจีนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองเรา เขาก็จะมีความน้อยใจว่า เราไม่นับถือพระราชไมตรีของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แล้วก็จะมีคำติเตียนว่าเราชาวไทยไม่ยกย่องพระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงปักกิ่งให้เสมอกับตัวเรา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยแลท่านเสนาบดีไทยคิดพร้อมใจกันเป็นการตกลงด้วยดังนี้แล้ว จึงได้จัดขบวนแห่แหนทั้งทางบกทางเรือพร้อมมูลตามธรรมเนียมไทย ไปรับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ซึ่งตอบส่งมากับทูตไทยนั้น พวกทูตไทยกับพวกจีนที่เป็นล่ามท่องซือใหญ่ท่องซือน้อยพร้อมกันก็รับเชิญพระราชสาส์นของจีนมาเองนั้น การแห่แหนนั้นก็มีดุจดังการคล้ายกันกับเมื่อแห่ส่งพระราชสาส์นของไทยไปนั้น ครั้นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาถึงในกรุงไทยแล้ว เมื่อแปลนั้นพวกจีนท่องซือที่เป็นล่ามก็กลับแปลความกลับเอาชั่วเป็นดีไปเสียหมด แปลกลับว่าเป็นทางไมตรีแก่กรุงไทย กรุงปักกิ่งยอมรับกรุงไทยเป็นเมืองพี่น้องกันสนิท ล่ามแปลเป็นคำของจีนตอบมาให้สมควรกับพระราชสาส์นไทยที่ส่งไปนั้น แลหนังสือลิปูตาทั่งแลหนังสือต๋งตกนั้นทั้ง ๒ ฉบับก็กลับแปลแก้ไขเป็นว่า มาถึงเจ้าพระยาพระคลัง ให้สมกับหนังสือฉบับไทยของเจ้าพระยาพระคลังที่ส่งไปนั้น อันที่จริงนั้นต๋งตกแลลิปูตาทั่งเขามีมาถึงพระเจ้าแผ่นดินไทย ตามความในหนังสือของไทยที่เป็นฉบับหนังสือจีนลงไปนั้น หนังสือหองคือหนังสือของกรุงปักกิ่งตั้งไทยให้เป็นเมืองขึ้นนั้น พวกล่ามกลับแปล วามว่าเป็นหนังสือพระเจ้ากรุงปักกิ่งอวยชัยให้พรแก่กรุงไทยทั้งสิ้น ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามในเวลานั้น ที่เชื่อถือพวกท่องซือจีนไม่สงสัย เพราะว่าได้เครื่องบรรณาการตอบแทนของจีนกรุงปักกิ่งมามาก มีกำไรมากกว่าเครื่องบรรณาการที่ส่งออกไปนั้น มีกำไรราคาสูงขึ้นไปกว่าบรรณาการที่ส่งไปกรุงปักกิ่งนั้นหลายสิบชั่ง ฝ่ายเสนาบดีในเวลานั้นก็พลอยนิยมไปสิ้นไม่ขัดขวาง เพราะว่าได้ของตอบแทนแก่พวกจีนล่ามท่องซือนั้นบ้างเล็กน้อย แลพวกทูตานุทูตไทยไปครั้งแรกนั้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดยอมให้เรือสำเภาไทยไปค้าขายที่เมืองกวางตุ้งแห่งเดียว แต่ปีละ ๒ ลำเท่านั้น แล้วพระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งจัดที่แห่งหนึ่งให้แก่ไทย พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดพระราชทานที่แผ่นดินแห่งหนึ่งที่เมืองกวางตุ้งนั้น เรียกว่ากงกวนเป็นที่ของไทยสำหรับทูตไทยไปจะได้พักอาศัยจัดซื้อของต่าง ๆ ตามประสงค์ แล้วใต้ตึกใหญ่ ๔ หลังเป็นที่พัก ครั้นปีที่ ๒ จวบปีก้อง ฝ่ายต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งมีหนังสือมาถึงกรุงไทย ใจความว่าในปีหน้าให้พระเจ้ากรุงไทยแต่งขุนนางไปก้องกรุงปักกิ่ง คำว่าก้องนั้นคือว่าอ่อนน้อม ครั้นพวกจีนท่องซือล่ามก็กลับแปลคำว่าก้องกลับเสียว่า เป็นเจริญทางพระราชไมตรี ล่ามกลับแปลความว่า พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีความระลึกถึงทางพระราชไมตรีกรุงไทย ๓ ปีให้ไทยไปเฝ้าครั้งหนึ่งอย่าให้ขาด ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น คิดเพลิดเพลินเกินนัก ด้วยว่าการค้าขายสำเภามีกำไรมากมาย แลส่งเครื่องราชบรรณาการไปครั้งหนึ่งครั้งใดก็มีกำไรมากกว่าบรรณาการของที่ส่งไป แล้วพวกทูตานุทูตไทยที่ออกไปเมืองจีนก็ได้เบี้ยเลี้ยงแต่หัวเมืองจีนต่าง ๆ นั้น ๆ ก็จัดซื้อของที่ดี ๆ ประหลาด ๆ เอามาเป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย แล้วกำนัลเสนาบดีไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระดากกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งชิ่ว ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอดลงมาหลายชั่วอายุคน ความโง่เป็นไปทั้งนี้ ต้นเหตุใหญ่เพราะว่าหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลายพอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือจีนก็ไม่มีก็เมื่องมงายโง่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งหลายในเวลาก่อนนั้น แลเสนาบดีไทยก็โง่งมมาด้วยหลายชั่วแผ่นดินนั้น เพราะความมักง่าย ครั้นทูตแก่แลล่ามแก่ตายไปหมดแล้ว ได้ยินว่าคราวหนึ่ง มีล่ามจีนเป็นคนซื่อ แปลความตามฉบับหนังสือจีนที่จริง แจ้งความจริงให้ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ในเวลาที่ล่วงแล้วเป็นลำดับมานั้นให้รู้แท้แน่ว่า จีนกวางตุ้งดูหมิ่นดูแคลนมีหนังสือมาสั่งให้ไปก้อง คือให้ไปอ่อนน้อม ฝ่ายเสนาบดีไทยในเวลาหลังนั้น ก็นำความกราบทูลต่อพระเจ้ากรุงไทยในเวลาลำดับ ครั้นภายหลังพระเจ้าแผ่นดินไทยจะแต่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่งอีก จึงโปรดให้จัดหาล่ามจีนที่ซื่อตรงมาแปลพระราชสาส์นไทย แลหนังสือเจ้าพระยาพระคลังตามความในสำนวนไทย เขียนเป็นอักษรจีนส่งออกไปกับทูตานุทูตไทย ฝ่ายพวกจีนที่เป็นท่องซือใหม่ ๆ นั้น ครั้นออกไปถึงเมืองกวางตุ้งก็ไม่ไว้ใจ จึงเอาความไปแจ้งแก่ต๋งตกตามสำเนา พระราชสาส์นที่ส่งไปนั้น ฝ่ายต๋งตกเขาก็โกรธทูตไทย ต๋งตกเขาไม่รับร้อง เขาไล่ขับทูตไทยกลับมาโดยการขู่เข็ญว่า ถ้าจะขืนใช้หนังสือเป็นอย่างใหม่นี้ ไม่ใช้เหมือนอย่างเก่าแต่ก่อนนั้น สำเภาไทยไปมาค้าขายสืบได้ความแน่แล้ว เขาจะริบเอาไว้เสียสิ้น สำเภาเมืองจีนก็จะห้ามไม่ให้ไปมาค้าขายที่เมืองไทยสืบไป ครั้นพวกทูตานุทูตไทยได้ถูกขู่เข็ญดังนี้แล้ว ก็ต้องกลับมากรุงไทย แจ้งความกับเสนาบดีไทยทุกประการ ฝ่ายพวกพ่อค้าสำเภาจีนทั้งหลายในเมืองไทยนั้น บ้างมีญาติเคยไปมาค้าขายที่เมืองจีน ก็ร้องทุกข์กระสับกระส่ายขึ้นว่า ขอพระเจ้าแผ่นดินได้โปรดการเป็นดังนี้

ฝ่ายเมืองไทยในเวลานั้น ไม่มีทางค้าขายกับเมืองต่างประเทศ ฝ่ายทางทะเลมีแต่เมืองจีนแห่งเดียว จึงยอมกันทำหนังสือไปตามเคย แต่ฝ่ายฉบับเป็นพระราชสาส์นแท้อักษรไทยนั้น ก็ยังคงเขียนเป็นอักษรไทย ไปเป็นทางไมตรีอย่างเดิม หนังสือสำเนาก็ต้องแข็งใจข่มขืนเขียนไปเป็นหนังสือจีน ข้อความนั้นก็ต้องเก็บเอาความเก่าที่ล่ามจีนหลอกลวงเขียนไว้แต่ก่อนนั้น เขียนไปให้เป็นที่ชอบอัชฌาสัยพวกจีนปักกิ่ง พระราชสาส์นแลหนังสือเสนาบดีจีนที่มีมาแต่เมืองปักกิ่งนั้น ครั้นมาถึงเมืองไทยแล้วก็เขียนอ่านให้ชอบหูไทย อย่างเช่นแปลมาแต่ก่อนนั้น เป็นตัวอย่างแล้ว ๆ ก็เอาออกอวดกันเล่นในท้องพระโรงหลวงอ่านตามชอบใจไทย ให้เพราะหูไทยเท่านั้น ครั้นที่โง่เง่าไม่สืบรู้เท่าทัน ก็เชื่อเอาเป็นแน่แท้จริง ผู้ที่สืบรู้ก็กลั่นหัวเราะไม่ใคร่จะได้ พลอยอดสูใจไปด้วย แต่เป็นการจำเป็นต้องนิ่งงุบงิบเสีย เพราะไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ ธรรมเนียมนี้จึงเสียสืบมาแต่โบราณมิใช่การใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ ใคร ๆ อย่าพาโลทึกเอาไม่ได้

ว่าด้วยเรื่องเมืองจีนนี้ ว่าให้เห็นเป็นการเติมเสียมาแต่เดิมดังนี้ในธรรมเนียมที่แห่รับพระราชสาส์น ก็ทูตจีนนั้นจะมาส่งพระราชสาส์นแก่เมืองไทยสักครั้งหนึ่ง ที่ไม่มีเลย ไม่ได้ยินว่าจีนมาส่งบรรณาการไทยบ้าง เหมือนเช่นอย่างเมืองอื่น ๆ ยังว่าได้ยินบ้างตามเวลาสมควรไปมาหากันตามที่เหตุนั้น อาการที่ไทยไปส่งบรรณาการแก่จีนให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาก่อนนั้น ความจริงเรื่องนี้ไทยจะได้ถูกรบถูกตีด้วยกองทัพเมืองจีนนั้นก็หามิได้เลย เป็นเหตุเพราะในเวลานั้นล่วงแล้วกว่า ๕๐๐ ปีเศษ ด้วยต้นเดิมเสียธรรมเนียม เพราะไทยถูกล่อลวง จึงเป็นธรรมเนียมเสียไปตามการเท่านั้นเอง หรือว่าไทยจะหมายพึ่งพาอาศัยกับจีน ให้อำนาจจีนคุ้มเกรงปกปักรักษาอะไรได้ก็ไม่มีเหตุเลยสักอย่างหนึ่ง เป็นแต่ในเวลาล่วงลับไปแล้วนั้น ไทยหูสั้นตาสั้นจึงถูกล่อถูกหลอกลวงอย่างว่ามาแต่หลังนั้น จึงได้ทำให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยไปต่างๆ รู้ว่าถูกหลอกถูกลวงแน่แล้วก็เพราะเมื่อการถลำไปเสียมากแล้ว ก็เป็นแต่ว่าตกลงแต่อย่างเมืองที่ใกล้เคียงต่าง ๆ ห่างแลชิดทั้งปวงคือ เมืองมอญ เมืองพม่า เมืองลาวเชียงรุ้ง แลเมืองลาวล้านช้าง เมืองลาวหลวงพระบาง เมืองญี่ปุ่น เมืองลังกา แลเมืองแขก พราหมณ์ต่าง ๆ นั้น เมืองเหล่านี้ พวกทูตไทยมีความยืนยันว่า ได้พบปะทูตเมืองต่าง ๆ นี้ ไปส่งบรรณาการกรุงปักกิ่งทั้งสิ้น แล้วมีอีกหลายเมืองต่าง ๆ คือเมืองที่เสียงไทยเรียกว่า ลิ่วชิวหุ้ยหุย แลเมืองไซรต้อง เมืองคำดี เมืองพราห์โซม ยังอีกหลายเมือง หลายชาติต่าง ๆ ทั้งนี้ ต้องไปส่งบรรณาการกรุงปักกิ่งทั้งสิ้น เมืองที่กล่าวมานี้ ได้ยินทูตไทยว่าต้องไปขอหองไปซิ่วกรุงปักกิ่งหมดทั้งสิ้น ก็เมืองใกล้เคียงเหล่านี้เขาทำอย่างไร ไทยก็ขืนใจทำไปคล้าย ๆ กัน ด้วยเพศภาษาไม่ห่างกันใกล้เคียงประเทศจึงต้องจำใจทำไปตามกันทั้งนั้น เพราะแต่ก่อนนั้นไทยหูลีบตาแคบ รู้จักแต่เมืองจีนเท่านั้นเอง ไม่รู้จักคบหาในประเทศต่าง ๆ ที่ห่างไกลกับนา ๆ ประเทศ แลการแห่พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามเมื่อเวลาไปก็ดี แลการซึ่งแห่รับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งเมื่อเวลามาก็ดี การทั้งนี้ก็เป็นการที่ไทยทำไปเอง เมืองจีนแลกรุงปักกิ่งจะได้ส่งบังคับมาก็หามิได้ หรือพระเจ้ากรุงปักกิ่งจะได้มีอำนาจบังคับสั่งมาก็หาไม่ เมื่อพระราชสาส์นของไทยไปถึงเมืองจีน แต่ว่ายังอยู่ในมือทูตไทย ทูตไทยก็กระทำการประดับยศของไทยเอง คือประโคมแตรสังข์กลองชนะ บูชาพระราชสาส์นทุกเวลาทุกค่ำทุกเช้า แลกลางวันด้วย คือแสดงพระเกียรติยศให้ปรากฏแก่ชาวจีนทั้งหลาย ก็เมื่อทูตไทยได้ส่งมอบพระราชสาส์นไทยให้แก่เจ้าพนักงานอื่น ๆ รับไปนั้น พวกจีนเขาก็หามไปทั้งบุษบกที่รับพระราชสาส์นไทยนั้น เครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น จีนก้บรรทุกต่างหรือเกวียนไปตามลำดับทางบก รอนแรมไปตามหัวเมืองทั้งหลายจนตราบเท่าลุถึงเมืองหลวงของจีนคือกรุงปักกิ่ง ทูตไทยทั้งหลายนั้น พวกจีนหัวเมืองก็รับขึ้นเกี้ยวขึ้นแคร์ หามต่องแต่งโตงเตงไปตามทางใหญ่ จีนรับส่งกันต่อ ๆ ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ จนถึงกรุงปักกิ่ง แลการที่พวกจีนรับพระราชสาส์นแลทูตานุทูตไทยไปตามทางนั้น จีนเหล่านั้นคิดเอาค่าจ้างรับส่งทูตไทย เป็นการรายทางตามหัวเมืองต่าง ๆ แต่ค่าจ้างทั้งนี้พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดเสียใช้ให้แทนทูตไทย เพราะจะไว้เกียรติยศแก่ไทย จึงสู้ขาดทุนมากมาย เพราะการเสียค่าจ้างรับส่งทูตไทยนั้น แต่การซึ่งแห่แหนตามธรรมเนียมรับพระราชสาส์นต่างประเทศ ซึ่งมีเป็นธรรมเนียมสำหรับบ้านเมืองนั้น ในกรุงปักกิ่งไม่ได้แต่งการขบวนแห่ให้รับพระราชสาส์นของไทยเลย เป็นแต่รับส่งไปมาโดยการไม่มีแห่แหน เหมือนกับเช่นพ่อค้าขนสินค้าไปมาตามทางนั้น หรือลางคราวพระเจ้ากรุงปักกิ่งมีหนังสือรับสั่งลงมา ให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง รับทูตไทยไว้แต่ที่เมืองกวางตุ้งนั้นเอง ด้วยที่เมืองปักกิ่งเกิดเหตุร้ายจลาจลขึ้นในเมือง หรือมีกิจอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่ควรจะรับทูตไทยได้ในครั้งนั้น ลางที่พระเจ้ากรุงปักกิ่งไม่สบายพระทัยด้วยอาการต่าง ๆ ดังนี้ มีขึ้นในกรุงปักกิ่งแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ไม่ยอมรับทูตไทยให้ขึ้นไปกรุงปักกิ่งก็มีบ้าง บางครั้งบางคราว ถ้าครั้งใดคราวใดไม่ยอมรับทูตไทยทั้งนั้นแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็มีหนังสือรับสั่งลงมาถึงเมืองกวางตุ้ง รับสั่งบังคับให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง รับเครื่องมงคลราชบรรณาการของไทยไว้ที่เมืองกวางตุ้ง แต่ราชสาส์นไทยนั้นโปรดให้กรมการที่เมืองกวางตุ้งส่งขึ้นไปให้ถึงกรุงปักกิ่งโดยเร็ว เมื่อการเป็นดังนี้นั้น กรมการเมืองกวางตุ้งก็รับเชิญพระราชสาส์นไทยขึ้นผูกไว้บนหลังม้าเร็ว บังคับให้จีนพวกม้าเร็วรับพระราชสาส์นไทยเดินส่งกันต่อ ๆ ขึ้นไปเป็นลำดับ ตามหัวเมืองของจีนจนถึงกรุงปักกิ่ง แต่บุษบกหรือพานทอง ที่รองรับพระราชสาส์นนั้น ก็ตกอยู่ที่เมืองกวางตุ้งนั้นเอง พวกทูตานุทูตไทยก็ต้องรออยู่ที่เมืองกวางตุ้ง คอยฟังกระแสรับสั่งพระเจ้ากรุงปักกิ่งจะโปรดประการใด เมื่อพระราชสาส์นไทยที่พวกเจ้าพนักงานจีนรับเชิญไปสถิตย์อยู่บนหลังม้านั้นติดอยู่กับอานม้า ก็ไม่มีการประโคมแตรสังข์กลองชนะอะไร พระราชสาส์นเสด็จไปองค์เดียว น่าเปลี่ยวใจไม่มียศ พวกทูตไทยก็ไม่ได้ไปสำแดงกับจีนปักกิ่ง ครั้นการเป็นลำดับเวลามานั้นไม่ช้า พวกจีนพนักงานในม้าเร็ว ก็รับพระราชสาส์นตอบมาแต่กรุงปักกิ่ง อนึ่งพระราชสาส์นกรุงปักกิ่งนั้น ม้วนอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ทาสีเหลืองผูกมาบนหลังม้าของพวกจีนม้าเร็วมาถึงเมืองกวางตุ้งแล้ว ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งเขาก็เรียกพวกทูตไทยมาที่เรือนบ้านเจ้าเมือง เขาจึงมอบพระราชสาส์นตอบของพระเจ้ากรุงปักกิ่งส่งให้แก่ทูตไทยเท่านั้นเอง ไม่มีการแห่แหนรับส่งพระราชสาส์นอะไรเลย หรือการเคารพรับส่งพระราชสาส์นนั้น ก็ไม่มีเลยแต่สักอย่างหนึ่ง การแห่แหนรับส่งพระราชสาส์นนั้นไทยทำเอิกเกริกไปเอง ไทยทำการเคารพนับถือจีนข้างเดียว จีนไม่เคารพนับถือตอบแทนบ้างเลย จีนรับเอาไปเปล่า ๆ และส่งให้ง่าย ๆ ไม่มีการเคารพนับถือไทยเลย ไทยมีแห่ส่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่งนั้น มีการแห่แต่ที่กรุงสยามนั้นแล้ว ยังมิหนำซ้ำมีการประโคมต่าง ๆ ไปตามทางเรือ มีแห่ด้วยเมื่อขึ้นบกนั้น ที่เมืองจีนไทยอยากอวดยศแก่จีนก็ทำตามใจไทยเอง จีนไม่นำพาเอาใจใส่ในการรับพระราชสาส์นของไทยนั้น ในเวลาก่อนที่ล่วงไปแล้วนั้น ไทยหูตื่นตาตัวจึงเสียยศเพราะการเป็นดังนั้น สำแดงด้วยเรื่องส่งแลรับพระราชสาส์นไปมาที่เมืองจีนกรุงปักกิ่งนั้น สิ้นข้อความแต่เท่านี้

ว่าด้วยการพระราชสาส์น ที่ไปมาโดยเมืองต่าง ๆ มีเป็นครั้งเป็นคราว ไม่มีเป็นนิจเสมอเหมือนเช่นพระราชสาส์นส่งไปกรุงปักกิ่งประเทศจีนที่กล่าวมาแต่หลังนั้น หรือว่าเมืองใกล้เคียงเนื่องแนวแถวเดียว ไปมาถึงกันแลกันตามสมควร ครั้งหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งเป็นอย่างอื่น ตามเหตุการที่เป็นไปโดยเวลาควรกับเหตุนั้น ๆ คือว่าแต่เดิมเมื่อครั้งเมืองหลวงพระบางยังเป็นเอกราชธานีใหญ่ในเวลาโน้นนั้น หรือเมืองลานช้างคือเวียงจันทน์ก็เป็นเอกราชใหญ่ในฝ่ายทิศเหนือตะวันออกอีกตำบลหนึ่ง เมืองกำโพชาคือเมืองเขมร ก็เป็นเอกราชใหญ่ตำบลหนึ่งของทิศใต้ เมืองหงสาวดีก็เป็นเอกราชใหญ่โต มีอาณาจักรกว้างขวางอำนาจมากในเวลานั้น ก็เมื่อในเวลานั้นมีเรื่องเกิดเหตุกับเมืองทั้ง ๔ นี้เป็นครั้งเป็นคราว ถึงว่าพระราชสาส์นของไทยกับเมืองทั้ง ๔ นั้น ได้ใช้ไปมาถึงกันก็มีอยู่ปรากฏอยู่เป็นหลายครั้งหลายคราว ในการไมตรีบ้าง การศึกสงครามบ้างตามเวลา สำเนาพระราชสาส์นเก่าที่เหลือมาก็มีอยู่บ้าง ก็เป็นแต่จดหมายใจความไว้ในพระราชพงศาวดารมีบ้างเล็กน้อย จะเอาแน่แท้ชัดว่าเป็นฉบับเดิมไม่ได้ แต่ใจความในจดหมายเหตุนั้น พระราชสาส์นที่ไปมาถึงกันกับเมืองหงสาวดี โวหารทั้ง ๒ ฝ่ายใช้ว่าพี่ท่านน้องท่าน ตามข้างไหนชนมายุมากแลชนมายุน้อย แต่ยศศักดิ์ก็คงสำแดงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีความหมิ่นประมาทกัน ไม่เหมือนกรุงปักกิ่งดูถูกไทย ครั้นกาลล่วงมาภายหลัง กรุงหงสาวดีมีชัยชนะแก่กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้ากรุงหงสาวดีทรงตั้งพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลก ให้เป็นเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม แต่บังคับให้ขึ้นอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดี ครั้งนั้นพระราชสาส์นที่มีธุระต้องใช้ไปมาถึงกันแลกันนั้น ก็ยังคงใช้ว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินถึงกันแลกันทั้ง ๒ ฝ่าย เสมออยู่ไม่ลดหย่อนยศซึ่งกันและกัน แต่ฝ่ายไทยว่าเป็นการอ่อนน้อมข้างฝ่ายกรุงหงสาวดีว่ายกตัวสูงศักดิ์โตใหญ่ไป ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นพระราชสาส์นออกพระนามว่าพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ๆ ทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นภายหลังเมื่อเวลาล่วงแล้วต่อมา พระเจ้ากรุงหงสาวดีมีอำนาจใหญ่นั้นล่วงลับพระชนมายุ ฝ่ายไทยกลับแข็งเมืองกระด้างกระเดื่องไป ไม่มีความอ่อนน้อมยอมขึ้นอยู่ในอำนาจกรุงหงสาวดีดุจแต่ก่อน กลับมีการศึกสงครามกันต่อเนื่องไปอีก ในระหว่างนั้นไทยแลมอญได้เขียนหนังสือไปแขวนไปทิ้งให้กันในระหว่างศึกสงครามทั้ง ๒ ฝ่าย สำนวนไทยใช้ว่าพี่ท่านน้องท่านใช้ดังอย่างเก่า แต่สำนวนกรุงหงสาวดีนั้นว่าสูงศักดิ์เกินไป แต่ยังคงเป็นพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ได้ดูถูกดูแคลนเหมือนอย่างเจ๊กปักกิ่งดูถูกไทยว่าต่ำกว่าจีนปักกิ่งดังกล่าวมานั้น

แต่ฝ่ายเขมรนั้นเมื่อเวลาเป็นใหญ่แท้ ก็มีแต่การศึกสงครามกับไทยไม่หยุดหย่อน พระราชสาส์นไปมาถึงกันในระหว่างศึกนั้น จะมีความว่ากันเป็นประการใดก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เห็นจดหมายใจความต้นฉบับ ครั้นภายหลังเวลาล่วงไปแล้ว ฝ่ายไทยได้ไปครอบงำทำอำนาจให้เขมรพ่ายแพ้แก่ไทยแล้ว แล้วเขมรกลับกระด้างกระเดื่องแข็งเมืองขึ้นอีกเป็นหลายครั้ง ไทยต้องไปปราบปรามอีกทุกครั้งทุกที ภายหลังอีกนั้นเขมรกลับกระด้างกระเดื่องกับไทยอีกเล่า เมื่อทัพหงสาวดีมีมาติดกรุงไทยอีกครั้งใดคราวใด เขมรก็มาซ้ำเติมไทยทุกครั้ง ตามเวลาที่เป็นเหตุใหญ่กับมอญพม่า ครั้นไทยวายศึกสงครามกับหงสาวดี กรุงไทยสงบอยู่ ฝ่ายเขมรก็มาอ่อนน้อมกับไทย ดังนี้เป็นหลายหนหลายครั้ง ครั้นภายหลังพระเจ้ากรุงกำโพชา คือเมืองเขมรนั้น แต่งให้ทูตเข้ามาขอทำความสัญญาเป็นทางพระราชไมตรีกับไทย ว่าจะไม่ทำร้ายแก่กัน ถ้ามีศึกมาติดเมืองแล้วจะต้องช่วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นเมืองไมตรีกัน แล้วขอแบ่งปันเขตแดนลงเป็นเด็ดขาด ครั้นไทยยอมพร้อมกันกับเขมรทำสัญญาเสร็จแล้วไม่ช้าไม่นาน ฝ่ายกรุงหงสาวดียกกองทัพมาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าแผ่นดินเขมรโปรดให้พระอนุชาธิราชอุปราช ยกทัพเข้ามาช่วยฝ่ายไทยในราชการศึกหงสาวดีนั้น อุปราชเขมรมาถึงถวายบังคมแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ฝ่ายไทยเท่านั้น ไม่ได้คำนับพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ หรือพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ อุปราชเขมรยกตัวดีเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ - ๓ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ฝ่ายไทยในเวลานั้น ฝ่ายพระราชบุตรทั้ง ๒ องค์ก็มีความขุ่นเคืองพระทัย จึงได้สำแดงอาการให้อุปราชเขมรรู้ว่าดูหมิ่น อุปราชเขมรก็มีความพิโรธในใจแต่ในเมืองไทยนี้ไม่ว่าประการใด ครั้นกลับไปกรุงกำโพชานั้น จึงกราบทูลยุยงพระเจ้าแผ่นดินกำโพชาพระองค์ใหญ่ ให้ทำลายล้างทางพระราชไมตรีกับไทยเสีย ครั้นปีใหม่รู้ว่าไทยมีการศึกกับกรุงหงสาวดีอีก ฝ่ายเขมรที่ยกทัพมาที่บ้านเมือง ปลายเขตแดนของไทยที่อยู่ใกล้กับเขตแดนเขมรนั้น ฝ่ายไทยครั้นสงบการศึกหงสาวดี แล้วรู้ว่าเขมรขาดความสัตย์ จึงได้โอกาสยกทัพไปปราบปรามเมืองเขมรครั้งนี้นั้นเขมรยับเยินมากจนเขมรตั้งตัวขึ้นตีเสมอไม่ได้ ตั้งแต่ครั้งนั้นมาเขมรยับเยินมาก ครั้นภายหลังเขมรมีใจเป็นแต่แปรไปปรวนมา เมื่อขุ่นเคืองข้างไทยก็ไปพึ่งญวน เมื่อขุ่นเคืองข้างญวนก็มาพึ่งไทย หรือลางทีขุ่นเคืองกันขึ้นเอง ฝ่ายไหนใกล้ข้างไทยก็ไปพึ่งไทย ฝ่ายไหนใกล้ญวนก็ไปพึ่งญวน การเป็นแต่เช่นนี้มาจนสิ้นแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ในระหว่างนั้น ได้เห็นหนังสือฉบับเก่า ๆ ที่ยังคงเป็นพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินต่อพระเจ้าแผ่นดินถึงกันอยู่ ไม่ได้ลดยศศักดิ์กันเช่นจีนกรุงปักกิ่ง ในเวลานั้นเขมรว่าในพระราชสาส์นพูดตกต่ำอ่อนน้อม ฝ่ายไทยในขณะนั้นมีแต่สำนวนยกตัวเป็นใหญ่ เพราะมีอำนาจแท้ในเวลานั้น

อนึ่ง เมืองเวียงจันทน์นั้น หรือหลวงพระบางทั้ง ๒ นคร แต่ก่อนเขาก็ไม่ได้ขึ้นแก่ไทย เขาก็เป็นเอกราชใหญ่ ดูทีเหมือนเขาจะรู้ตัวว่าเป็นเมืองมีอำนาจน้อย ถึงเขาจะมีพระราชสาส์นไปมาถึงไทย ก็มีแต่ว่าอ่อนน้อมตกต่ำแก่ไทยไม่กระด้างกระเดื้อง ฝ่ายไทยก็มีพระราชสาส์นไปถึงเขาอยู่เนือง ๆ ก็เป็นแต่คำปราศรัยไม่ให้ขึดเคืองเลย ยกย่องพระ เกียรติยศของลาวไว้ให้เสมอกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นเหมือนจีนปักกิ่ง

ครั้นภายหลังกรุงหงสาวดีเสียแก่พม่า พระเจ้ากรุงอังวะแต่งพระราชสาส์นโปรดให้ทูตานุทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงไทย พระราชสาส์นของพม่าเขาก็ยกย่องไทยให้เสมอกับเขา เขาไม่ได้หมิ่นเลย ดังเช่นจีนปักกิ่งนั้น แต่ทูตพม่าที่มานั้นมันกระด้างกระเดื่อง ก่อความให้ขุ่นเคืองจนขาดทางพระราชไมตรีไปด้วยเหตุต่าง ๆ นั้น เพราะว่าทูตพม่าลางทีก็ไม่กินของที่เลี้ยงบ้าง ลางที่ไม่อ่อนน้อมกับท่านเสนาบดีไทยบ้าง เป็นเหตุทั้งนี้เนือง ๆ ว่ามาทั้งนี้ด้วยธรรมเนียมพระราชสาส์นไปมาที่เมืองใกล้เคียงกันตามสมควร แต่พระราชสาส์นที่ส่งไปส่งมานั้น ลางทีไม่มีเหตุร้ายแรงก็มีแห่แหนบ้าง ถ้ามีเหตุเกิดด้วยอาการไม่สมควรแล้วก็ไม่มีแห่แหนเป็นแต่ส่งไปกับทูตนั้น ว่าถึงกาลก่อนซึ่งพระราชสาส์นกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ได้ส่งไปมากับเมืองใกล้เคียงนั้นเป็นเหตุอย่างไรก็ว่ามาแล้ว ลำดับนี้จะว่าด้วยธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยาส่งพระราชสาส์นไปมากับเมืองไกล ๆ ห่างก็มีบ้าง คือได้ส่งแลรับพระราชสาส์นกับเมืองวิลันดาก็มีบ้างหลายครั้งแล้ว กับเมืองฝรั่งเศสก็มีบ้าง กับเมืองละบาเนียก็มีบ้าง ได้รับสมณอักษรสาส์นของโป๊ปก็มีบ้าง ในภายหลังเมื่อจวนจะเลิกร้างแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ได้รับแลส่งพระราชสาส์นกับพระเจ้าลังกาทวีปทรงพระนามว่า พระเจ้ากิติศิริครองเมืองกันดิเป็นเมืองหลวงแห่งเกาะลังกาทวีป ก็การรับแลส่งพระราชสาส์นกับเมืองไกลห่างอย่างว่ามานี้นั้น ได้จารึกอักษรลงในแผ่นพระสุพรรณบัตรเป็นพระราชสาส์นแผ่นทองคำทั้งสิ้น เมื่อได้รับพระราชสาส์นตอบของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายนั้น ก็ยังคงเป็นพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่าย แลมีแห่แหนส่งรับทั้ง ๒ ฝ่ายเสมอกัน แล้วบางครั้งบางคราวก็มีทูตไปมาส่งพระราชสาส์นตอบกันตามเวลาควรนั้นบ้าง ไม่เหมือนจีนอย่างกรุงปักกิ่งดูหมิ่นไทย ไม่รับไทยไว้เป็นไมตรี การทั้งนี้ต้นเหตุใหญ่เพราะไทยถูกหลอกถูกลวง จึงเสียพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินไทยตลอดลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบการนี้แล้วก็กลับพระทัย หาได้ส่งบรรณาการแก่กรุงปักกิ่งอีกไม่

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ