กำนันหญิง

ความเป็นไปและเหตุการณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เราท่านเป็นส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบ และบางเรื่องเมื่อทราบแล้วคิดเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ถึงอย่างไรก็ตามเป็นเรื่องควรแก่การศึกษา เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเหมาะสมกับอีกสมัยหนึ่งเสมอไป กาลเวลาฐานะความเป็นอยู่ของคนเราไม่แน่นอนคงที่วนเวียนกันอยู่ บางครั้งของเก่าที่สุดก็อาจมาแปลงร่างเป็นสมัยที่สุดก็ได้ เป็นเรื่องอนิจจังนั่นเอง

เรื่องกำนันหญิง หรือ “กำนันตลาด” ซึ่งเป็นผู้หญิงนี้ ผู้เขียนได้พบในพระราชกระแสเลิกเก็บอากรตลาด เปลี่ยนเป็นภาษีโรงร้านเรือแพ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๐๑ ขอคัดมาเพื่อเป็นการต่ออายุไว้ นักศึกษาจะได้พิจารณาดูดังนี้

ว่าอากรเก็บตลาดกรุงเทพมหานครแลเมืองนนทบุรี เป็นนายอากรเดียวกันมาแต่ก่อน แต่ครั้งท้าวเทพทากร ท้าวเงินทำมา ครั้นท้าวเทพทากร ท้าวเงินถึงแก่กรรมลง ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี กราบทูลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้นิ่มบุตรพระพิทักษ์ทศกร ทำต่อมาได้สองปี ครั้นล่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีนั้น ได้สมมัตยาภิเษกเป็นสมเด็จพระนางเธอ เป็นใหญ่ในฝ่ายข้างใน สมเด็จพระนางเธอทรงขัดเคืองแก่นิ่มมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว นิ่มหานับถือในพระเดชพระคุณไม่ จึงได้กราบทูลขอถอดนิ่มออกเสียจากที่กำนันตลาด แล้วทูลขอตั้งท่านจันภรรยาพระศรีไชยบานเป็นที่กำนันตลาดต่อมา ทำจำนวนเงินอากรตลาดกรุงเทพมหานคร แลอากรตลาดเมืองนนทบุรี ตามจำนวนซึ่งท้าวเทพทากร ท้าวเงิน ทำมาแต่ก่อนนั้น ไม่มีจำนวนประมูลเลยทั้งสองครั้ง ท่านจันภรรยาพระศรีไชยบานทำอากรมาตั้งแต่ปีชวด จัตวาศก จนปีมะเส็ง นพศกหกปี เงินอากรค้างทับงวดทับปีมาเป็นอันมาก จึงพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระยาราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติ พระยาพิพิธโภไคยศวรรย์ จมื่นศรีสรรักษ์ แลเจ้าพนักงานกรมสรรพากรปรึกษาเห็นพร้อมกัน เห็นว่าจะให้ท่านขุนทำต่อไปมิได้ จึงได้ไปคิดอ่านกับพระยาพิศาลศุภผล ให้แต่งให้หญิงคนหนึ่ง ชื่อเขียนเป็นกำนันตลาด หลวงบริบูรณ์สุรากรเป็นผู้เข้าส่วน ทำตามจำนวนเดิมทั้งกรุงเทพมหานครแลเมืองนนท์สองราย ครั้นจัดแจงกันแล้ว เจ้าพนักงานทั้งปวงจึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระกรุณา ขอพระราชทานตั้งเขียนเป็นตัวกำนันตลาด ตั้งแต่ปีมะเมีย สัมฤทธิศกนี้ไป ฯ เมื่อเวลานั้นจะทรงพระราชดำริจัดแจงการเสียใหม่ ก็ยังไม่ทันจะได้ทรงปรึกษากับผู้ใหญ่ที่ควรปรึกษา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเขียนเป็นกำนันตลาดไปก่อนตามธรรมเนียมเก่า แต่ ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก ลำดับนั้นจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ได้ทรงพระราชดำริคาดใจคิดถึงใจราษฎรอยู่ทุกหน้ามานานแล้ว ก็เห็นว่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนยากจนโดยมาก เลี้ยงชีวิตด้วยลงทุนหาของเล็กน้อยมาขาย หากำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้กำไรบ้างขาดทุนบ้าง ไม่พอใจจะเสียค่าตลาดทุกคนด้วยกัน เพราะฉะนั้นพระราชหฤทัยทรงพระเมตตากรุณาสงสาร อยากจะให้เลิกการเก็บตลาดเสียทั้งสิ้น ให้ราษฎรที่ยากจนได้หากินสบาย แต่เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ เงินค่าอากรตลาดที่ส่งเข้ามาในท้องพระคลังนั้น ก็เป็นเงินรวมสำหรับแจกเบี้ยหวัดข้าราชการสาธารณทั่วไป เหมือนของสงฆ์ของกลาง จะได้เป็นพระราชทรัพย์ส่วนที่จะทรงใช้สอยตามพระราชประสงค์อย่างอื่นหามิได้ บางส่วนเป็นเอกเทศแทบเท่าส่วนที่สี่ เป็นเงินขึ้นในพระบวรราชวังแลเจ้าต่างกรม แลเจ้ายังไม่มีกรมเป็นหลายแห่งด้วยกัน เพราะฉะนั้นเมื่อจะเลิกอากรตลาดเสียทั้งสิ้น ทั้งในกรุงแลหัวเมืองทั้งปวง จะเป็นเงินสักเท่าใดตกไปทุกปี เงินขึ้นในพระบวรราชวังแลเจ้านายอื่น ๆ ก็จะต้องเลิกไปหมด จำนวนเงินขึ้นพระคลังมหาสมบัติแลเงินขึ้นในพระบวรราชวัง แลต่างกรมทั้งปวงที่ตกไปอย่างนี้ ก็ยังไม่มีเงินที่อื่นจะมาใช้แจกเบี้ยหวัด แลเงินขึ้นพระบวรราชวังแลเจ้าต่างกรมทั้งปวงได้ จะต้องทรงปรึกษาหารือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบวรราชวัง แลพระบรมราชวงศานุวงศ์ เจ้านายบรรดาที่มีเงินอากรตลาดขึ้นอยู่ แลท่านเสนาบดีให้เห็นพร้อมกัน ตกลงกันว่าจะเลิกเพียงใดอย่างใดจะควร แลจะตั้งพิกัดอัตราผ่อนปรนเสียใหม่อย่างใดจึงจะเป็นไปเพื่อจะให้ความสุขสบายแก่ราษฎรที่ยากจน ลงทุนซื้อของเล็กน้อยมาวางขายในท้องถนนเป็นเวลา แลกระเดียดแบกเดินเร่ ขายหรือใส่ในเรือน้อยเที่ยวพายไปมาขายอยู่ในแม่น้ำลำคลอง แลของซื้อขายนั้นเป็นของเมื่อล่วงเวลาแล้วที่จะเน่าบูดเสีย เป็นเก็บไว้ไม่ได้ เป็นเหตุให้ผู้ขายไม่หมดได้จะต้องขาดทุน จะจัดแจงไฉนราษฎรที่ขัดสนคนจนดังนี้ จึงจะไม่ต้องลำบากด้วยเสียค่าตลาดแก่ในหลวง ต้องความเสียใจเพราะบางทีขาดทุนนั้น ฯ ให้พระยาราชภักดิ์ พระยาพิพิธโภไคยศวรรย์ จมื่นศรีสรรักษ์ ไปคิดอ่านปรึกษากับเสนาบดีดูให้เห็นพร้อมกันตั้งพิกัดเก็บตลาดเสียใหม่ ยกการเก็บเบี้ยแก่ไพร่ที่ขายของแผงลอยแลเร่ขายในบกแลเรือเล็กน้อยทั้งปวงเสีย ถึงอากรจะลดลงมากเท่าใดก็ตาม เงินขึ้นในพระบวรราชวังแลขึ้นต่างกรมจะขาดลงเท่าใด ให้คิดอ่านเงินขึ้นในท้องพระคลังรายอื่นใช้ให้ อย่าให้เจ้านายทั้งปวงพลอยเสื่อมเสียส่วนอากรตลาดที่เคยได้แลควรจะได้นั้นด้วย อย่าให้มีที่เสียใจแก่ท่านทั้งปวงที่จะไม่ยินดีตามพระราชดำริในครั้งนี้นั้นเลย เมื่อปรึกษากันตกลงแล้วอย่างไร ก็ให้ไปหาตัวพระยาพิศาลศุภผล เขียนกำนันตลาด แลหลวงบริบูรณ์สุรากร ผู้เข้าส่วนมาปรึกษาว่ากล่าวให้ตกลงกัน แล้วจึงทำตราตั้งเสียใหม่ตามพิกัดใหม่นั้นเทอญ ครั้นวันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นสิบสองค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเริ่มก่อการในพระฤกษ์ที่พระปฐมเจดีย์ พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดี แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จึงได้ทรงปรึกษาพระราชดำริในการที่จะให้เลิกเก็บตลาดแต่ราษฎรที่ยากจนขายของเล็กน้อยทั้งปวงเสียนั้น กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี เจ้าพระยายมราช ท่านทั้งปวงนั้นก็มีความชื่นชมเห็นชอบด้วยพระกระแสพระราชดำริ ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับแต่พระปฐมเจดีย์แล้ว วันหนึ่งเวลาบ่ายเสด็จทรงม้าพระที่นั่ง ประพาสลงไปถึงที่ตลาดประตูท่าพา ทอดพระเนตรเห็นตลาดออกขายของอยู่ มีพระบรมราชโองการดำรัสถามชาวร้านที่ขายของเล็กน้อยอยู่ในที่นั้น ว่าเสียค่าตลาดอยู่เท่าใด เสียเป็นรายเดือนหรือรายวัน ชาวตลาดกราบทูลว่าเสียวันละสองร้อยเบี้ย จึงทรงระลึกตรวจดูตามพิกัดในท้องตราตั้งกำนันตลาด ก็ได้ความว่าแผงลอยเช่นนี้ควรจะเสียแต่เพียงร้อยเบี้ย กำนันตลาดเก็บเกินพิกัดเป็นสองเท่า หากำไรมากเกินอยู่ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสประกาศแก่ชาวตลาดในที่นั้นว่า จะใคร่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกอากรตลาดเสียทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวันพระ แปดค่ำ สิบห้าค่ำ ต้องพระราชประสงค์จะให้ชาวตลาดมีอุตสาหะหาดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้ว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกวันพระ จะได้หรือมิได้ ชาวตลาดกราบทูลรับว่าได้ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ รับแก่ราษฎรชาวตลาดว่า จะให้เลิกอากรตลาดเสียในเร็ว ๆ เมื่อปรึกษาเสนาบดีตกลงแล้วนั้น ราษฎรได้ทราบต่อ ๆ กันไป ก็มีความยินดีมานมัสการพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้ว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามกำหนดวันพระแปดค่ำ สิบห้าค่ำ เป็นอันมากมาจนทุกวันนี้ ฯ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาพระราชวังแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเตือนพระยาราชภักดิ์ พระยาพิพิธโภไคยศวรรย์ ให้คิดอ่านปรึกษาให้ตกลงกันเร็ว ๆ จึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร แลท่านเสนาบดีทั้งปวง แลเจ้าพนักงานเจ้าจำนวนกรมพระคลังมหาสมบัติ ปรึกษากันตั้งพิกัดภาษีโรงร้านเรือแพที่ขายของแต่เจ้าของผู้ขายของรายใหญ่ ๆ แลตั้งไว้ให้มีผู้เช่า คิดตามค่าเช่า แลตั้งค่าเช่า ๑๒ ชักหนึ่ง แทนที่อากรเก็บตลาด แล้วประกาศให้ยกอากรเก็บตลาดในของเล็กน้อย ในราคาทุนตำลึงลงมาทั้งปวงเสียทั้งบกทั้งเรือ แลคิดให้เก็บภาษีเรือค้าขาย ทั้งต้องเสียแต่แห่งเดียวคราวเดียว ไม่ต้องเสียหลายแห่งตามกำนันตลาดในหัวเมืองต่าง ๆ พิกัดภาษีโรงร้านเรือแพตั้งแลยกอากรตลาดนั้น ได้ให้ไปแต่วันศุกร์ เดือนแปดบูรพาษาฒ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเมีย สัมฤทธิศกแล้ว ความพิกัด นั้นอย่างไรก็จงฟังคำประกาศที่ต่อนี้ลงไปนั้น เทอญ

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ