- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
ศาลพลเรือน
ศาลพลเรือน และการพิสูจน์ความผิดของคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากจดหมายเหตุของพ่อค้าฮอลันดาชื่อโยสเซาเต็น ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททอง ได้ให้ความรู้แก่ชาวเราพอสมควรในทัศนะของฝรั่ง เพราะผู้เป็นเจ้าของจดหมายนี้เข้ามาอยู่นาน และใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองและสังคมไทยเป็นอย่างดีพอใช้
จดหมายเหตุของเขาพรรณนาไว้หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การปกครอง การทหาร ศาสนา ขนบธรรมเนียม การค้า ฯลฯ แต่จะขอนำเฉพาะเรื่องศาลพลเรือน กับการพิสูจน์ความผิดถ่ายทอดมาไว้เท่านั้น เพราะเป็นจุดหมายของการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ เขาเล่าไว้อย่างน่าฟังว่า
ศาลแพ่งและศาลอาญาทั่วราชอาณาจักร มีผู้พิพากษาซึ่งประเพณีและกฎหมายแต่โบราณกำหนดให้เป็นผู้นั่งพิจารณาคดี เฉพาะในกรุงศรีอยุธยานั้น นอกจากศาลต่าง ๆ และผู้พิพากษาตามธรรมดาแล้ว ยังมีคณะลูกขุนอีก ๑๒ ท่าน ประกอบด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้หนึ่งเป็นประธาน ตั้งขึ้นไว้ประดุจศาลสูง ณ ศาลสูงนี้ ผู้ไม่พอใจในคำตัดสินศาลชั้นต้น ย่อมอุธรณ์ขึ้นมาให้ศาลสูงพิจารณาใหม่ได้ โดยมากศาลสูงมักจะพิพากษาตามมติของศาลชั้นต้น
ในศาลสูงและศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยต้องให้การผ่านทนายความ เป็นคำให้การด้วยปากเปล่า ๆ ก็มี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็มี การพิจารณาคู่คดีและพยาน มีเสมียนศาลคอยจดบันทึกคำให้การไว้ในสมุด ซึ่งคู่ความจะต้องเซ็นไว้เป็นหลักฐาน และผู้พิพากษาก็นำสมุดนี้ไปไว้จนถึงนัดหน้า ในการพิจารณานัดใหม่ผู้พิพากษาก็จะนำสมุดดังกล่าว มาเปิดให้คู่คดีได้รู้เห็นแล้วจึงดำเนินการพิจารณาต่อไป ข้อความที่คู่คดีกล่าวอย่างใด เสมียนศาลก็จดลงไว้อีก และให้คู่คดีเซ็นชื่อ ด้วยเหตุนี้ข้อพิพาทเป็นอันมาก กว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นก็กินเวลานาน บางคดีกว่าจะตัดสินได้กินเวลาเป็นปี ๆ ทีเดียว และทั้งโจทก์จำเลยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่ในที่สุดคดีก็จะมาถึงศาลสูง ลูกขุนทั้ง ๑๒ ท่านพร้อมด้วยท่านประธาน ก็จะเข้าประชุมพิจารณาปรึกษาโทษให้เด็ดขาดไป คำตัดสินของศาลสูงนี้เป็นที่สิ้นสุด
ในความคดีอาญา เช่นหมิ่นประมาท ลักขโมย ฆาตกรรม ขบถ ฯลฯ ผู้ถูกกล่าวหาอาญาจับกุมนำตัวมากักขังได้แล้ว จึงมีการเบิกตัวให้ผู้พิพากษาพิจารณาโทษ เมื่อมีหลักฐานอย่างแจ่มชัดแต่จำเลยยังยืนยันปฏิเสธความผิด จำเลยจะถูกทรมานให้รับสารภาพ คำให้การใด ๆ ในขณะถูกทรมานเสมียนศาลก็จะจดเอาไว้ในสมุด และนำไปให้ที่ประชุมผู้พิพากษา ครั้นแล้วจึงมีการพิพากษาและนำตัวไปลงโทษ แต่ถ้าหากว่าเป็นคดีร้ายแรงซึ่งจะต้องถูกลงโทษด้วยการประหาร คดีเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจของคณะลูกขุน พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ทรงโปรดให้ลงโทษประหาร หรือลดโทษเป็นอย่างอื่น หรือจะทรงปล่อยตัวไปก็ได้ทั้งนั้น สุดแล้วแต่น้ำพระทัยของพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ร้อนแรงด้วยอารมณ์ หรือพระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระเมตตา คนโทษก็จะถูกประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือลดหย่อนผ่อนโทษหรือได้รับการปลดปล่อยตามแต่พระอุปนิสัยของเจ้าชีวิตเป็นเกณฑ์
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ความผิดขั้นอุกฤษฏ์เช่นนี้มักจะถูกลงโทษตามความหนักเบาของความผิด เช่นจะถูกปรับ ปลดจากตำแหน่งถูกเนรเทศไปอยู่ในแดนทุรกันดาร ถูกจับตัวเป็นทาส ถูกริบทรัพย์สมบัติ ถูกตัดมือตัดเท้า ถูกต้มน้ำมัน ถูกตัดขาผ่าอก หรือถูกลงโทษอย่างทารุณกรรมอื่น ๆ คนโทษใดถูกประหารหรือถูกเนรเทศ ทรัพย์สมบัติของเขาจะถูกริบเข้าพระคลังมหาสมบัติหลวงโดยสิ้นเชิง
ในการพิจารณาความผิดโดยการให้พิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นความแพ่งหรือความอาญา และจำเป็นต้องใช้วิธีพิสูจน์เป็นทางเดียวที่จะทราบความจริง เช่นในกรณีที่ไม่มีพยานหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นผู้ผิดหรือผู้บริสุทธิ์ คณะผู้พิพากษาเมื่อไม่สามารถจะพิพากษาให้เด็ดขาดลงไปได้ และทั้งฝ่ายโจทก์จำเลย ขอร้องให้ใช้วิธีพิสูจน์ คณะผู้พิพากษาก็จะอนุมัติได้ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้นมีทำกันหลายอย่าง เช่นดำน้ำ ลุยไฟ เอามือจุ่มในกระทะน้ำมันกำลังเดือด ๆ หรือการกลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์ วิธีการพิสูจน์ดังกล่าว จำต้องมีพิธีการและต้องกระทำกันในที่เปิดเผยต่อหน้าคณะผู้พิพากษา และประชาชน การพิสูจน์ด้วยวิธีดำน้ำ เขากระทำดังนี้ ปักเสาสองเสาลงในน้ำแล้วให้คู่พิพาททั้งสองเกาะเสาลงดำไปใต้น้ำให้พร้อมกัน ผู้ที่อยู่ใต้น้ำได้นานกว่าผู้นั้นเป็นผู้ชนะคดี ผู้ที่โผล่ขึ้นมาก่อนเป็นผู้แพ้ การพิสูจน์วิธีอื่นก็เหมือนกัน เช่นการจุ่มมือลงไปในกระทะน้ำมันที่กำลังเดือด มือของใครพองน้อยกว่าผู้นั้นชนะ ในการเดินลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น คู่พิพาทจะต้องเดินลุยไฟที่กำลังลุกแดง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยกดบ่าไว้ทั้งสองข้าง ผู้ที่เดินลุยไฟไปได้โดยตลอดแลมีบาดเจ็บบวมเล็กน้อย จะเป็นผู้ชนะความ
ส่วนการพิสูจน์กลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์นั้น มีการประกอบพิธีให้ขลังโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเป็นประธาน คู่ความที่กลืนข้าวนั้นได้โดยมิมีการอาเจียนออกมาหรือว่าอาเจียนน้อยก็เป็นผู้ชนะ เมื่อการพิสูจน์โดยวิธีการต่าง ๆ ปรากฏผลแพ้และชนะกันไปเช่นนี้ ฝ่ายผู้ชนะจะได้รับฉันทานุมัติ จากผู้พิพากษาให้เป็นอิสระทันทีและประชาชนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บริวารของฝ่ายชนะก็จะแห่แหนพากลับบ้าน ส่วนผู้แพ้นั้นตรงกันข้ามเลยทีเดียว ถ้าหากเป็นคดีอาญาก็จะถูกลงโทษตามความผิดมากหรือน้อย แต่หากเป็นคดีแพ่ง จะถูกปรับไหมหรืออาจถูกจำขังด้วย
เล่าความตามข้อเขียนของชาวฮอลันดา สิ้นกระแสความแล้ว ที่นี้หันมาดูเรื่องราวอันเป็นจดหมายเหตุของไทยเราเองบ้างว่า เรื่องการพิสูจน์ความผิดดังกล่าวมา โดยเฉพาะการดำน้ำลุยไฟนั้น เขาเรียกว่า “ลักษณพิสูทธดำน้ำลุยเพลิง” มีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง โดยเขียนด้วยเส้นรง
ลักษณพิสูทธดำน้ำลุยเพลิง
พระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีสินธรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ผ่านพิภพถวัลราชศิริสมบัติในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดี ศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานบุรีรมย์ อุดมราชมหาสถาน เสด็จออกพระที่นั่งมังคลาภิเษก พร้อมด้วยชาวเจ้าเง่ายุพราชมุขมาตยามนตรีกระวีชาติราชปุโรหิตา โหราราชบัณฑิตยเฝ้าบำเรอบาท จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบันฑูรสุรสีหนาทตำรัส เหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ถ้าอาณาประชาราษฎรข้าขอบเขตขันธเสมามณฑลจะพิพาทหาคดีแก่กัน ถึงพิสูทธแก่กัน ให้กระทำตามพระราชบัญญัตินี้
๑ มาตราหนึ่ง มีพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า ถ้าโจทก์จำเลยจะถึงพิสูทธแก่กันมี ๗ ประการ ๆ หนึ่งให้ล้วงตะกั่ว ๑ สาบาล ๑ ลุยเพลิงด้วยกัน ๑ ดำน้ำด้วยกัน ๑ ว่ายขึ้นน้ำข้ามฟากแข่งกัน ๑ ตามเทียนคนละเล่มเท่ากัน ๑ เมื่อแรกจะพิสูทธนั้นให้ตระลาการคุมลูกความทั้งสองไปซื้อไก่เป็นแห่งเดียวกัน ซื้อสีผึ้ง ๑ ด้ายดิบ ๑ ฝักส้มป่อย ๑ ผลมะกรูด ๑ หม้อข้าวใหม่ ๑ หม้อแกงใหม่ ๑ ผ้านุ่ง ๑ ผ้าห่ม ๑ แห่งเดียวกัน จ่ายเครื่องบายสีแห่งเดียวกัน แล้วให้ตระลาการเกาะลูกความทั้งสองไว้ในตระลาการ ให้ลูกความนุ่งขาวห่มขาว อยู่กรรมในตระลาการ ๓ วัน อย่าให้คู่ความเดินไปมานอกกรรม แลให้กระลาการหุงข้าวให้ลูกความกิน ให้คอยดูลูกความจะดีร้ายประการใด ถ้าลูกความผู้ใดด่าตีลูกความข้างหนึ่ง ท่านว่ามันพิรุทธ ให้เอามันผู้ตีด่านั้นเป็นแพ้ อนึ่งถ้าคู่ความอยู่กรรมในตระลาการคอยระวังอย่าให้ผู้ใดไปมาหาสู่พูดจากันได้ แลลูกความข้างหนึ่งหนีออกไปนอกกรรม ท่านให้เอามันผู้หนีออกไปจากกรรมนั้นเป็นแพ้ อนึ่งถ้าโจทก์จำเลยจะถึงพิสูทธดำน้ำแก่กัน ให้ตระลาการปักหลักห่างกัน ๖ ศอก เมื่อจะดำน้ำให้ปลูกโรงศาลบวงสรวงเทพยดา แลให้แต่งเครื่องบวงสรวงขึ้นศาลจงถ้วนดั่งนี้ ผ้าขาว ๕ คืบ ๒ ผืน เป็ด ๒ ตัว ไก่ผู้ ๒ ตัว หม้อข้าวใหม่ ๔ ใบ หม้อแกงใหม่ ๔ ใบ เครื่องบายสีครบ จุดธูปเทียนบูชาเทพยดาก่อน
๒ มาตราหนึ่ง ถ้าจะพิสูทธลุยเพลิงดำน้ำต่อกัน ให้ตระลาการหมายให้แก่นายประกัน ให้เรียกเอาเงินแก่โจทก์จำเลย เงินใส่คราดข้างละ ๒ ๒
๓ มาตราหนึ่ง ถ้าจะพิสูทธลุยเพลิงแก่กัน ท่านให้ขุดรางเพลิงยาว ๖ ศอก กว้างศอก ๑ ฦกศอก ๑ ถ่านเพลิงหนาคืบ ๑ ให้ตระลาการเรียกเอาเงินค่าทำเนียมแก่โจทก์จำเลย ค่าที่นั่งข้างละ ๑ ค่าอ่านสัจจาธิษฐานข้างละ ๑ ๒ ค่าอ่านสำนวนข้างละ ๑ ๒ ค่าผู้คุมข้างละ ๑ ๒ ค่าบายสีข้างละ ๓ พิสูทธลุยเพลิงหน้าพระกาลข้างละ ๓ ค่าใส่คราดข้างละ ๒ ๒ เข้ากันเป็นเงิน ๓๓ ๒ ให้โจทก์ให้จำเลยล้างเท้าเสียจงหมด ให้ผู้คุมแลตระลาการผู้อ่านสัจจาธิษฐานพิจารณาฝ่าเท้านิ้วเท้าโจทก์จำเลย เป็นบาดแผลฟกช้ำอยู่เก่าใหม่ประการใดบ้าง ก็ให้ตระลาการผู้อ่านสัจจาธิษฐานเขียนเป็นรูปนิ้วเท้าฝ่าเท้า แล้วให้กฎหมายไว้ด้วยกัน อนึ่ง เมื่อลุยเพลิงแล้วให้ดูไปกว่าจะถึง ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันจงสิ้นกำหนด จึ่งให้ล้างเท้า อนึ่งถ้าเห็นสำคัญให้ลงเข็ม อนึ่งถ้าพิสูทธลุยเพลิงพอง หลังเท้าหลังนิ้วจะเอาเป็นแพ้นั้นมิได้ ถ้าแลโจทก์จำเลยมิได้พองด้วยกันทั้งสองข้าง ย่อมมีความสัจจังจริงด้วยกันทั้งสองข้าง จึ่งให้พิสูทธดำน้ำต่อไป ถ้าโจทก์จำเลยพองด้วยกันทั้งสองข้าง ท่านว่ามันย่อมมีเท็จทั้งสองข้าง จึ่งพองด้วยกัน
๔ มาตราหนึ่ง ว่าเนื้อความมันทั้งสองพิพาทถึงพิสูทธลุยเพลิง ถ้ามันข้างหนึ่งเป็นกลโกหก รู้เวทอาคมมนตราเสกเป่า มันผู้นั้นไม่พอง ให้ข้างหนึ่งพองแลพองด้วยกันก็ดี ให้เสมียนผู้คุมระวังดู ถ้าเห็นพิรุทธมันทำดั่งนั้น เอามาพิจารณาต่อไป...
การพิสูจน์ด้วยวิธีนี้ ประกอบพิธีกรรมตามลัทธิไสยศาสตร์ขออานุภาพเทพาอารักษ์ทั้งหลาย ช่วยคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ให้ดำได้นานและดลบันดาลให้ผู้ผิดมีอันเป็นไปต่างๆ นานา ที่ไม่สามารถจะดำอยู่ในน้ำได้นาน เช่นในโองการดำน้ำที่อาลักษณ์อ่านประกอบพิธีกรรม มีความตอนหนึ่งว่า
“ใครเท็จชวนกันสังหาร | อย่าไว้เนิ่นนาน |
จงผลาญอย่าทันพริบตา | |
สิทธิศักดิ์อารักษ์เทวา | สำแดงฤทธา |
ให้เห็นประจักษ์ทันใด | |
อาเพศเป็นงูเงือกใน | พรายน้ำเติบใหญ่ |
รวบรัดกระหวัดบาทา | |
เป็นรูปอสุเรนทร์ยักษา | แยกเขี้ยวเบี้ยวตา |
คำรามคคือถือคอ | |
คั้นคาบดุจเคี้ยวเขี้ยวงอ | ล่ำสันพึงภอ |
ตระมั่นตระมึ่นพึงกลัว | |
แลบลิ้นปลิ้นตาแสยงหัว | หนวดเคราพันพัว |
ท้องพลุ้ยขลุยกำยา | |
หลอกหลอนไล่รุมรันทำ | ทุบตีอวมอำ |
คำรามในพื้นคงคา | |
ให้ผุดหลุดโลดขึ้นมา | จากหลักคลาดคลา |
มฤษาเอาเท็จเป็นจริง” |
มีอีกตอนหนึ่งว่า
“อนึ่งผีเสื้อน้ำอยู่สิง | ในถ้ำธารชิง |
ชวนกันแต่ล้วนผีสาง | |
ตายโหงโกงโค้งกลางทาง | ตายพรายนอนคราง |
ตกน้ำแลช้ำผีตาย | |
เสือขบช้างแทงแรดควาย | ขวิดขวัญใจหาย |
แลตายในพื้นปัถพี | |
ใครเท็จชวนกันย่ำยี | เข้ากลุ้มรุมตี |
ให้ผุดอย่าทันอึดใจ | |
ผู้เท็จบันดาลเห็นภัย | ภูตพรายตัวใหญ่ |
จรเข้แลปลาโลมา | |
มังกรเงือกน้ำเหรา | ฉลามว่ายมา |
สะพรั่งพร้อมล้อมตน | |
เข้ากัดรัดรวบอลวน | ข้างต่ำข้างบน |
พิกลให้หลุดผุดหาย | |
ขึ้นมาหน้าสรากผีตาย |
เผือดเศร้าหมองหมาย |
ใจพรั่นประหวั่นหนี” |
ส่วนผู้บริสุทธิ์จริง ๆ ก็มีคำขอความคุ้มครองเช่นว่า
“ความจริงครั้นดำชลธี | น้ำแยกแตกหนี |
อย่ามีพิโรธสำแดง | |
ออกแต่กายาฝ่าแฝง | เดชฤทธิแรง |
เทเวศร์ช่วยอภิบาล | |
หายใจเข้าออกสำราญ | น้ำแยกแตกฉาน |
ดำลงสบายหายใจ | |
ความจริงอย่าได้หวั่นไหว | อุบัติพิทภัย |
จงไกลอย่ามากล้ำกราย | |
ใครชอบจงอยู่สบาย | อย่ามีอันตราย |
ประเภทหลากสักอัน” |
เรื่องการพิสูจน์ดำน้ำนี้มีปรากฏตัวอย่างที่ทำกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนที่จมื่นไวยกับขุนช้างเป็นความกัน โดยจมื่นไวยกล่าวหาว่าขุนช้างพยายามฆ่าตนเมื่อยังเป็นเด็ก แต่ขุนช้างปฏิเสธ จมื่นไวยจึงท้าให้พิสูจน์ด้วยดำน้ำว่า “ถ้าแม้นแพ้แก่สัตย์ดำนัทที ขอถวายชีวีพระทรงธรรม” สมเด็จพระพันวัสสาก็ทรงอนุมัติตาม เพื่อให้ได้เป็นรูปร่างความเชื่อมั่นในสมัยนั้น จะขอตัดตอนมาเล่าเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนจัดเตรียมพิธีพิสูจน์ดำน้ำดังนี้
“ครานั้นพระครูผู้รับสั่ง | ออกมานั่งยังที่ทิมดาบใหญ่ |
จัดแจงแต่งหมายแยกย้ายไป | สั่งให้เรียกหลักนครบาล |
ให้ทำมรงสำรองไว้สองหลัก | แล้วปักมณฑลแลทำศาล |
เสมียนเขียนฟ้องคำให้การ | สุภาภารให้อยู่ดูเป็นกลาง |
มิให้ส่งข้าวปลามาแต่บ้าน | ขุนศาลหาให้กินทั้งสองข้าง |
ให้โจทก์จำเลยหาผ้าขาวบาง | มาปูกลางศาลทั้งสองรองบัดพลี |
หมากพลูใส่กระทงประจงเขียน | ทั้งธูปเทียนดอกไม้บายศรี |
เครื่องตั้งสังเวยกรุงพาลี | มีมะกรูดส้มป่อยกระแจะจันทน์ |
ผ้าขาวนุ่งผ้าขาวห่มพรหมลาด | เสื้อสายสายสิญจน์ให้จัดสรรค์ |
หม้อข้าวหม้อแกงใหม่แลหม้อกรัน | กระโถนขันน้ำดั้งทั้งกระแชง |
กระติกเหล้าข้าวสารเชิงกรานใหม่ | ข่าตะไคร้หอมกระเทียมพริกแห้ง |
ครกสากคนใช้ไก่พะแนง | ทั้งสองแห่งจัดหาให้เหมือนกัน |
ขุนช้างกับพระไวยได้บัญชา | ก็รีบสั่งบ่าวข้าขมีขมัน |
บัดเดี๋ยวใจได้มาสารพัน | ถ้วนจบครบครันทั้งบัญชา |
เข้ามณฑลเสร็จถึงเจ็ดค่ำ | นักการทำไม้หลักไปปักท่า |
ที่ตำหนักแพโถงโรงนาวา | ทำมรงหาฆ้องไว้คอยตี |
คำสาบานแช่งชักอาลักษณ์อ่าน | ตระลาการอ่านสำนวนถ้วนถี่ |
เอาเชือกผูกเอวไว้ให้ดิบดี | ประจำที่คอยถ้าเสด็จมา” |
และในการพิสูจน์ดำน้ำครั้งนั้น ครั้งแรกพระไวยดำอยู่เหนือน้ำ ขุนช้างดำทางใต้น้ำ เมื่อดำลงไปแล้ว ขุนช้างก็รีบผุดขึ้นมาทันทีโดยอ้างว่าถูกวิชาพระไวย ดังเช่น
“ขุนช้างร้องโปรดก่อนพุทธิเจ้าข้า | พระไวยคนนี้มีวิชา |
เป่าซ้ำทำมาให้ต้องตน | ฤทธิ์เดชพระเวทย์เข้าจับใจ |
ทนไม่ได้หัวพองสยองขน | เอาจำเลยขึ้นเหนือน้ำดำข้างบน |
เป่ามนต์ลงมาข้าติดใจ” |
ครั้นแล้วสมเด็จพระพันวัสสา ก็ให้เปลี่ยนขุนช้างขึ้นข้างเหนือน้ำ และพระไวยมาอยู่ทางใต้น้ำกลับกัน แต่แล้ว
“ด้วยขุนช้างนั้นพิรุธทุจริต | พอดำมิดไม่ถึงสักกึ่งกลั้น |
บันดาลเห็นเป็นงูเข้ารัดพัน | ตัวสั่นกลัวสุดผุดลนลาน |
พระกาญจนบุรีโดดน้ำตามลงไป | อุ้มพระไวยขึ้นมาต่อหน้าฉาน |
เหล่าพวกผู้คุมนครบาล | เอาคลังใส่อ้ายหัวล้านลากขึ้นมา” |
จึงเป็นอันว่าการพิสูจน์ดำน้ำคราวนี้ ขุนช้างแพ้
-
๑. รง คือ ไม้ยืนต้น มียางเหลือง นิยมนำมาเขียนหนังสือในสมัยโบราณ; ยาง ที่ได้จากต้นรง (พจนานุกรมฉบับมติชน, พิมพ์ครั้งแรก, พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗, น. ๗๒๒.) ↩
-
๒. เครื่องหมาย กำหนดตำแหน่งมาตราเงินหรือน้ำหนัก เรียกว่า ตีนกา หรือ ตีนครุ เพื่ออ่านค่าโดยลำดับตามเลขคือเริ่มจากสั่งไปสิ้นสุดที่ไพ (๖) ไพ(๑) ชั่ง (๒) ตำลึง(๓) บาท (๕) เฟื้อง (๔) สลึง (เรื่องเดียวกัน, น. ๓๗๖ - ๓๗๗.) ในตัวอย่างนี้ ๒ ๒ อ่านค่าได้ว่าสองบาทสองสลึง ↩