เจ้าจอมปราง

เจ้าจอมปรางผู้นี้ เป็นหญิงที่สวยที่สุดคนหนึ่งในราชสำนักของพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นหญิงที่ทำให้เกิดความสงสัยในพระราชพงศาวดาร ตลอดจนการจบชีวิตของทหารเอกคู่ราชบัลลังก์คนหนึ่งของพระวีรมหาราช อันยังเป็นข้อกังขากันสืบมาถึงยุคปัจจุบันนี้

ก่อนอื่นจะขอนำความที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“ในเดือนสิบสอง ปีวอก อัฐศก จ.ศ. ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) นั้น เจ้าพระยาพิชัยราชา ผู้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ลงมารับราชการอยู่ ณ กรุง แต่งผู้เถ้าผู้แก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิม (คือเจ้าจอมปราง) พระสนมเอก บุตรเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในพระราชวังจะมาเลี้ยงเป็นภรรยา ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสว่ามันทำบังอาจ จะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงดำรัสให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะมาเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไปภายหน้า”

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณปรีดา ศรีชลาลัย นักเขียนประวัติศาสตร์รุ่นอาวุโส เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง เจ้าพระยาสวรรคโลก ฉบับพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันโทพระยาราชนรารักษ์ (แปลก กะรีวัต) เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ความว่า

ตามที่ว่าไว้ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังนี้ ถ้าเป็นจริงจะน่าเสียใจหาน้อยไม่ ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลก ดาวที่สุกปลั่งดวงหนึ่งของสยามต้องมาลงเอยเพราะเรื่องผู้หญิง ดูไม่น่าสมต้นสมปลาย การจะเป็นไปถึงอย่างนั้นได้เทียวหรือ นี่นับเป็นมลทินเรื่องที่ ๒ ซึ่งมีร่องรอยเลอะอยู่ในพงศาวดาร หรือพงศาวดารกล่าวให้เป็นรอยไว้ จะต้องหาทางสืบสวนให้ได้ความจริงมากที่สุด เพื่อเห็นแก่นักรบของไทยที่ได้รบจนกู้ชาติไทยสำเร็จ

ตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ มาจนถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ เวลา ๓ ปี ข้อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ชวนให้ผู้อ่านเห็นไปว่า รัศมีของท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกเริ่มเศร้าหมองอับแสงจนดับลงอย่างน่าอนาถที่สุด

ในชั้นต้น จงสังเกตดูลักษณะความผิดทั้งสองคราวนั้นเสียก่อน ความผิดคราวแรก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ เจ้าพระยาสวรรคโลกมิได้ปลงใจในราชการสงคราม ตั้งค่ายไม่ตลอดด้าน ไว้หนทางให้พะม่าหนีไปได้ ข้อนี้เท่ากับว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกต้องถูกตำหนิไม่น้อยกว่า ๔ ประการ คือ (๑) เป็นคนท้อถอยย่อหย่อนไม่เข้มแข็งในการศึก (๒) เป็นคนขลาดต่อการสงครามมาก เหมือนกับไม่เคยเป็นนักรบ (๓) ไม่เอาใจเจ็บร้อนด้วยการแผ่นดิน ประหนึ่งว่าเป็นคนไม่เคยคิดกู้บ้านเมืองกับเขาบ้างเลย (๔) อาจคิดทรยศเป็นใจด้วยข้าศึก

ความผิดครั้งที่ ๒ ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาสวรรคโลกแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิม ซึ่งอยู่ในพระราชวัง ข้อนี้ก็เท่ากับว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกทำการอาจเอื้อมไม่รู้ต่ำสูง ขาดความเคารพในองค์พระประมุขแห่งชาติทีเดียว ท่าทีจะหนักไปข้างมักมากในกามารมณ์

ในชั้นนี้ขอให้เราลองใคร่ครวญดูตามเค้าเรื่องไปก่อน ว่าบุคคลเช่นเจ้าพระยาสวรรคโลกจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นเทียวหรือ และความจริงควรจะเป็นได้แค่ไหน

ข้อที่หาว่า ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกมิได้ปลงใจในราชการสงครามปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ นั้น เราจะต้องระลึกก่อนว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกคือใคร ? เป็นมนุษย์ที่กลัวพะม่า ต้องหลบหนีเตลิดเปิดเปิงกระนั้นหรือ ?

ผู้อ่านย่อมทราบเป็นลำดับมาแล้ว ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกไม่ใช่ทหารหน้าใหม่ของพระยากำแพงเพ็ชร์ (สิน) แม่ทัพไทยผู้เรืองศักดิ์ แท้จริงท่านเป็นนายทหารคู่ชีพของท่านแม่ทัพกู้ชาติ ตั้งแต่แรกร่วมใจตีฝ่ากองทัพพะม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยา ได้ยอมเสียสละแล้วทุกอย่าง เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่สุด เสียสละเพื่อกู้ชาติไทยจริง ๆ พยายามทำตามบังคับบัญชาของท่านแม่ทัพจนสุดสามารถ ปฏิบัติการสำคัญที่ต้องประสงค์ให้สำเร็จลุล่วงตลอดมา จนในที่สุดกองทัพไทยสามารถขับไล่พะม่าแตกฉานซ่านเซ็นออกไปแล้ว และรวบรวมคณะไทยกับทั้งดินแดน ตั้งเป็นประเทศเอกราช อุ่นหนาฝาคั่งขึ้นได้ พร้อมกันประกอบพิธีปราบดาภิเษกพระยากำแพงเพ็ชร์ (สิน) เป็นองค์พระประมุขของไทยให้ครบลักษณะชาติอิศระ เพื่อประกาศให้โลกทั่วไปทราบว่า ไทยเป็นชาติเป็นปึกแผ่น ไม่ใช่ชาติเล็กชาติน้อยแตกก๊กแตกเหล่า ใครอื่นจะถือสิทธิอาจเอื้อมเข้ามาปกครองไม่ได้ ต่อมาท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกก็ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญในภาคเหนือครั้งนั้น เพื่อคอยรับมือกองทัพพะม่าเชียงใหม่ ในระหว่างที่เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก เมื่อถูกพะม่าเชียงใหม่ยกทัพใหญ่ลงมารุกราน ก็ต่อรบป้องกันเมืองไว้ได้ ตามพฤติการณ์ดังเล่ามานี้ ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่า ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลก ไม่เป็นบุคคลที่ย่อหย่อนหรืออ่อนแออย่างไร หากท่านเป็นชะนิดคนย่อหย่อนท้อแท้ พอตีหักพ้นกองทัพพะม่าแล้ว ท่านก็คงจะหาโอกาศเลี่ยงไปเสียจากกองทัพพระยากำแพงเพ็ชร์ (สิน) หลบเข้าแฝงในป่าในดงต่อ ๆ ไป จนกว่าบ้านเมืองจะสงบ ครั้นเมื่อมีผู้กำจัดพะม่าจนแผ่นดินไทยสิ้นเสี้ยนศัตรูแล้ว จึงค่อยออกมาหาที่พึ่งที่พำนักอย่างปลอดภัย มิดีหรือ แต่ตรงข้าม ที่แท้ท่านเป็นทหารเอกผู้สามารถ เป็นชาตินักรบอย่างแท้จริง ท่านแม่ทัพใช้ให้ทำอะไร ก็ทำสำเร็จเสร็จทันท่วงที การรบรุกบุกบั่นก็เข้มแข็งหาตัวจับยาก แต่เมื่อความจริงมีอยู่ทั้งนี้ เหตุไฉนถึงคราวยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่ในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ฉบับชำระเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๑ และฉบับพระราชหัตถเลขากลับแต่งว่าท่านไม่ปลงใจในราชการสงครามเล่า ?

ตามทางสืบสวนพบหลักฐานปรากฏว่า ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกมิได้ตามเสด็จงานพระราชสงครามคราวปราบมะม่าที่เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ นั้นเลย ดังจะนำสำเนาตราครั้งกรุงธนบุรีถึงเจ้าพระยาสวรรคโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ (มีฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ) มาแสดงให้ท่านผู้อ่านเห็นเป็นพะยานอันแน่ชัด ความในสำเนานั้นว่า

“ด้วยเจ้าพระยาสวรรคโลก กรมการ บอกหนังสือให้พระยุกรบัตรถือลงไปเป็นความว่า นายผ่องหนีมาแต่กองทัพพะม่า ให้การว่า พระเจ้าอังวะป่วยตาย ถูกพระเจ้าอังวะขึ้นเป็นเจ้าเมืองอังวะ และอาฆ่าลูกเจ้าอังวะเสีย โปขุกพลา โปมะยุง่วน ปรึกษากับนายกองทัพว่า จะยกลงไปเมืองใต้ไม่ได้แล้ว โปชุกพลาถอยไปตั้งอยู่บ้านจอมทอง และกองทัพทั้งปวงต่างคนต่างไปเมือง กองทัพโปขุกพลาเร่ร่อนจะไม่เข้าเมืองเชียงใหม่ จะไปเมืองอังวะ เจ้าพระยาสวรรคโลก กรมการ นายกองนายหมวด และไพร่ มีน้ำใจสวามิภักดิ์ จะทำการเมืองเชียงใหม่ ให้ทูลเกล้า ฯ ถวายนั้น ลูกขุน ณ ศาลาปรึกษาว่า ซึ่งเจ้าพระยาสวรรคโลก กรมการ จะอาษาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้า ฯ ถวายนั้น เจ้าพระยาสวรรคโลกมิได้ทูลละออง ฯ รับพระราชทานความรู้วิชาการ มีแต่ความรู้เก่านั้น จะเอาชัยชะนะแก่พะม่าข้าศึก เห็นไม่ได้แล้ว เจ้าพระยาสวรรคโลกมีความผิดล่วงพระราชอาชญา มิได้ไปทูลละออง ฯ ตามกำหนด ได้มีตรารับสั่งให้หลวงมหามนตรี ขึ้นไปลงพระราชอาชญาจำเจ้าพระยาสวรรคโลกลง ไป ณ เมืองธนบุรี ให้พระปลัดเป็นแม่กองทัพ เกณฑ์กรมการและคนแบ่งลงไปตามเสด็จ ฯ อยู่แล้ว แลจะเอาเนื้อความกราบทูลพระกรุณา ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกอาษาไปมิได้ ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกรับพระราชอาชญาจำลงไปตามมีตราโปรดขึ้นมาแต่ก่อน ถ้าแลหลวงขุนหมื่นกรมการผู้ใด จะมีน้ำใจอาษา เสด็จ ฯ ขึ้นไปเถิงหัวเมืองแล้ว จึงให้กราบทูลพระกรุณา”

สำเนาตราฉบับนั้น บ่งให้เราเห็นได้ชัดแล้วว่า ขณะทัพหลวงยกขึ้นไปจากกรุงธนบุรี ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกต้องรับพระราชอาชญาจำจากสวรรคโลกลงมา ณ กรุง ฯ หาได้ตามเสด็จ ฯ ไปเชียงใหม่ด้วยไม่ มูลเหตุที่ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกจะถูกลงโทษนั้น มีปรากฏอยู่ในสำเนาตราอีกฉบับหนึ่ง เป็นใจความว่า

“เจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าพระยาสรศรี (บุญมา) พระยาพิชัย (ทองดี ดาบหัก) พระยาสุโขทัย ขุนนาง ๔ นาย ลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ แจ้งราชการ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ตรัสเนื้อความด้วยจำเพาะพระที่นั่งว่า เดือน ๑๐ หาราชการไม่ ให้พร้อมกันลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ อีก จะพระราชทานความรู้วิชาการสำหรับไว้ต้านต่ออริข้าศึก ครั้นถึงกำหนดแล้ว เจ้าพระยาสรศรีกับพระยาสุโขทัยลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ แต่เจ้าพระยาสวรรคโลก กับพระยาพิชัย (ทองดี ดาบหัก) มิได้ลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ”

เป็นอันได้ความจากสำเนาตรา ๒ ฉบับนั้นรวมกันว่า เมื่อต้นปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ เจ้าพระยาสวรรคโลก พร้อมด้วยเจ้าพระยาสรศรี (บุญมา) พระยาสุโขทัย พระยาพิชัย (ทองดี ดาบหัก) ๔ นายพร้อมกันลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ ณ กรุงธนบุรี จึงมีพระราชดำรัสสั่งกำชับว่า ถ้าในเดือน ๑๐ ว่างราชการให้ลงมาเฝ้าอีก จะพระราชทานความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นพระราชจริยานุวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือทรงอบรมแม่ทัพนายกองในหน้าฝน โปรดให้ตัดถนนสร้างป้อมในหน้าหนาว การที่ทรงเลือกเอาหน้าฝน เป็นเวลาอบรมแม่ทัพนายกอง เพราะเป็นคราวว่างศึกสงคราม แต่เจ้าพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัย (ทองดี ดาบหัก) มิได้ลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ รับพระราชทานความรู้เพิ่มเติมตามกำหนดนั้น จะเป็นเพราะเข้าใจผิด หรือเพราะติดราชการพัวพันอยู่จึงลืมกระแสพระราชดำรัสสั่ง ก็ไม่ทราบแน่ ในที่สุดต้องถูกลงพระราชอาชญา จำลงมา ณ กรุงธนบุรี เพราะละเมิดพระราชโองการ

เมื่อความจริงปรากฏว่า ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกมิได้ตามเสด็จ ฯ ในงานพระราชสงครามปราบพะม่าที่เชียงใหม่ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังนำสำเนาตรา ซึ่งเป็นข้อความครั้งกรุงธนบุรี มาแสดงให้เห็นหลักฐานแล้วเช่นนี้ เรื่องของท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกที่กล่าวไว้ในฉบับชำระเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๑ และฉบับพระราชหัตถเลขา ฉะเพาะประเด็นสำคัญคือว่า (๑) ท่านโดยเสด็จในงานพระราชสงครามขับไล่พะม่าที่เชียงใหม่ (๒) ท่านถูกลงโทษเฆี่ยน ๕๐ ที แล้วจำครบไว้ที่เชียงใหม่ เพราะตั้งค่ายล่าช้า ปล่อยให้หัวหน้าพะม่าข้าศึกตีแหวกหนีไปได้ดังนี้ ก็นับว่าคลาดเคลื่อนจากหลักฐาน ถ้าข้อความที่กล่าวนั้นผิดแน่ ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกก็พ้นจากความมัวหมองดังที่กล่าวมาแล้ว

ครั้นต่อมา ฉบับพระราชหัตถเลขายังพรรณนาเหตุการณ์ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ ว่า ท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกต้องถูกประหารชีวิต เพราะความผิดที่หักหาญแต่งเถ้าแก่ เข้าไปสู่ขอน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมถึงในวังหลวง

อันที่จริง ฉะเพาะท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกตามประวัติของท่านก็บ่งอยู่แล้วว่า คงไม่ชะล่าใจถึงปานนั้นเลย ตั้งแต่แรกเริ่มทำการกู้ชาติมา ก็ไม่ปรากฏว่า เมื่อตีเมืองไหนได้เป็นเก็บลูกสาวเมืองนั้นมาไว้ที่บ้านด้วย เหตุไฉนจะมามีเรื่องอย่างนี้ขึ้นได้ ดูประหลาดมาก

ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามหลักฐานที่แสดงว่า (๑) พระองค์มีพระเมตตากรุณาเป็นพื้นพระราชหฤทัยอยู่เสมอ (๒) ทรงรักการแผ่นดินยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนพระองค์ (๓) ทรงรักเจ้าจอมหม่อมห้ามไม่ยิ่งไปกว่าทรงรักทหาร หรือจะว่าทรงรักทหารไม่น้อยกว่ารักเจ้าจอมหม่อมห้าม คืออย่างน้อยก็ทรงรักทหารเสมอกับที่ทรงรักเจ้าจอมหม่อมห้าม ฯลฯ

ฉะเพาะพระคุณข้อที่ ๓ ข้าพเจ้าจะขอยกเรื่องที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาพระราชทานเจ้าจอมปรางให้แก่เจ้าพัฒเป็นตัวอย่าง เจ้าพัฒมีความชอบในราชการสงคราม ในขณะที่เจ้าพัฒไปราชการสงครามนั้น บังเอิญชายาอยู่ข้างหลังสิ้นชีพลง ชายานั้นก็คือพี่สาวคนหนึ่งของเจ้าจอมปราง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงพระราชทานเจ้าจอมปรางไปเป็นชายาเจ้าพัฒ แทนพี่สาวที่สิ้นชีพ เรื่องนี้ก็เห็นได้ชัด ๆ ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงรักทหารมากเพียงไร มากพอจนถึงกับทรงพระกรุณายกเจ้าจอมของพระองค์ ให้เป็นภรรยานายทหารได้ ซึ่งยากที่มนุษย์สามัญจะมีหัวใจใหญ่เท่านี้

รวมข้อความทุกประการ อันเกี่ยวแก่เจ้าพระยาสวรรคโลกก็ดี เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี ดังนำมาแสดงให้เห็นเงาความจริงบ้างแล้ว ซึ่งพอจะพิสูจน์โดยปริยายได้ว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกคงไม่หาญพอที่จะแต่งเถ้าแก่เข้าไปสู่ขอน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมในพระราชวัง ดังกล่าวไว้ในฉบับพระราชหัตถเลชา และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเล่า ก็ไม่ทรงร้ายกาจถึงกับให้ประหารชีวิตนายทหารเอกคู่ชีพของพระองค์ง่าย ๆ เรื่องเหล่านี้ชวนให้เห็นว่า ข้อความเกี่ยวกับเจ้าพระยาสวรรคโลกถูกประหารชีวิต น่าจะเป็นเรื่องที่เคลื่อนคลาด ดังข้าพเจ้าจะได้นำสืบดูหลักฐานต่อไป

ในชั้นต้น ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตไว้ก่อนว่า (๑) พระราชพงศาวดารฉบับชำระเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๑ ไม่กล่าวถึงเรื่องเจ้าพระยาสวรรคโลกถูกประหารชีวิต (๒) จตหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งนับถือกันว่ามีความจริงอยู่โดยมาก ก็มิได้กล่าวถึงเลย ความจริงของเรื่องนี้ หากว่ามีเป็นแน่แล้ว ก็คงจะอึกกะทึกไม่น้อย เมื่อเช่นนั้นเหตุไฉนจึงไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับชำระเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๑ และในจดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี นี่เป็นข้อชวนให้น่านึกว่า ชะรอยเรื่องนี้จะเพิ่งเติมลงในชั้นหลัง จึงบังเอิญมีแต่ในฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น

ในชั้นต้นจะต้องสืบสวนว่า เรื่องของน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมนั้น จะมีกล่าวไว้อย่างไรในที่อื่นบ้างหรือไม่ ?

ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๓ มีกล่าวว่า น้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิม ชื่อปราง แต่หนังสือลำดับสกุลเก่า ภาคที่ ๑ ว่าชื่อหนูเล็ก บางทีในชั้นต้นจะเรียกนามว่า หนูเล็ก ครั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นเปลี่ยนชื่อว่า ปราง ก็อาจเป็นได้ ต่อไปจะให้ออกนามท่านว่า ปราง

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงท่านปรางให้เป็นเจ้าจอม อยู่มาเจ้าพัฒ ซึ่งเคยเป็นอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช สามีของท่านนวล ธิดาคนใหญ่ของพระเจ้านคร ไปราชการสงคราม ชายาอยู่ข้างหลังสิ้นชีพลง ครั้นเสร็จการสงคราม เจ้าพัฒมีความชอบ กลับมาเฝ้าทูลละออง ฯ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระดำรัสปลอบว่า อย่าเสียใจเลย จะให้น้องสาวไปแทนตัวจะได้เลี้ยงลูก เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจึงดำรัสสั่งท้าวนางให้ส่งเจ้าจอมปรางไปพระราชทานเจ้าพัฒ ท้าวนางกราบทูลกระซิบว่า เจ้าจอมปรางขาดระดูมา ๒ เดือนแล้ว แต่มีพระราชดำรัสหนักแน่นว่า ได้ลั่นวาจาเสียแล้ว ให้ให้ไปเถิต ท้าวนางก็จัดส่งเจ้าจอมปรางพระราชทานไปเป็นชายาเจ้าพัฒ ตามพระราชโองการ

ตรงนี้คล้ายกับเรื่องราชาธิราช ตอนพระเจ้าราชาธิราชพระราชทานเจ้าจอมตัวโปรด แก่สมิงนครอินทร์ ทหารเอกของพระองค์

ในหนังสือพระราชวิจารณ์ข้อ ๖๐ กล่าวความเรื่องเจ้าจอมปรางสืบไปอีกว่า เมื่อเวลาพระราชทานนั้น เจ้าจอมปรางมีครรภ์ได้ ๒ เดือนแล้ว เจ้าพัฒจะไม่รับก็อึกอัก ด้วยทรงพระกรุณาพระราชทาน ครั้นเมื่อรับไปแล้วไปตั้งไว้เป็นนางเมือง ไม่ได้เป็นภรรยา เพราะเจ้าพัฒเคารพนับถือในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมากที่สุด บุตรที่เจ้าจอมปรางมีครรภ์ไปนั้นเป็นชายชื่อท่านน้อย ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (บรรพบุรุษของสกุล ณ นคร, โกมารกุล ณ นคร, จาตุรงคกุล) (ท่านเจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้นี้มีอำนาจมากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน)

เมื่อจะสืบสวนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานเจ้าจอมปรางแก่เจ้าพัฒไปเมื่อใดนั้น เห็นอยู่ทางหนึ่ง คือจะต้องทราบปีเกิดของเจ้าพระยานครนัอยเสียก่อน ประวัติของเจ้าพระยานครน้อยมีอยู่ในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ แต่ในหนังสือนั้นมิได้กล่าวถึงปีเกิดของเจ้าพระยานครน้อย จะเป็นเพราะไม่ทราบหรือลืมจดไว้ก็ไม่แน่

ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๓ มีคำยืนยันของราชบัณฑิตยสภา กล่าวไว้ในหน้า ๑๐๕ ว่า (เจ้าจอมปราง) คลอดบุตรเมื่อปีมะเมียจุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗) บุตรนั้นคือ เจ้าพระยานครน้อยดังนี้ ก็เป็นอันได้ความชัดเจนว่า เจ้าพระยานครน้อยเกิดเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ถ้าเช่นนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่พระราชทานเจ้าจอมปรางแก่เจ้าพัฒในปลายปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ หรือ ในต้นปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ นั้นเอง รวมความว่าหลักฐานต่าง ๆ จะต้องยุติดังนี้ คือ

(๑) น้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิม ที่ฉบับพระราชหัดถเลขาว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอนั้น ชื่อท่านปราง

(๒) ท่านปรางเป็นธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช ได้รับราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมอยู่งานจนทรงครรภ์

(๓) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเจ้าจอมปรางขณะเมื่อทรงครรภ์ได้ ๒ เดือนล่วงแล้วนั้น แก่เจ้าพัฒผู้มีความชอบในการสงคราม เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗

(๔) ในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ นั้นเอง ท่านปรางคลอดบุตรชาย ชื่อท่านน้อย ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่สามารถรักษาอาณาจักรสยามฝ่ายใต้ไว้ได้โดยตลอด

(๕) ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ คือปีที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอเจ้าจอมปรางนั้น ตามหลักฐานปรากฏว่า เจ้าจอมปรางกำลังเป็นชายาเจ้าพัฒ และทั้งมีบุตรชายคือท่านน้อย อายุย่างขึ้น ๓ ขวบแล้วด้วย

หลักฐานต่าง ๆ ที่รวบรวมมานี้ย่อมกำจัดมลทินของเจ้าพระยาสวรรคโลกทุกข้อ ขอให้ท่านทั้งหลายนึกดูถึงความจริงว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานเจ้าจอมปรางแก่เจ้าพัฒไป จนมีบุตรชายอายุย่างขึ้น ๓ ขวบ เจ้าพระยาสวรรคโลกยังจะแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอชายาเจ้าพัฒได้อย่างไรกัน เมื่อความจริงไม่อาจเป็นได้เช่นนี้ ท่านปรางและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ไม่ต้องพลอยเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ตอนท้ายเรื่องของคุณปรีดา ศรีชลาลัย เขียนไว้ว่า

ในหนังสือสกุล “บุญ-หลง” ว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกได้รับพระราชทานเจ้าหญิงโสภาเป็นภรรยา เจ้าหญิงโสภานั้นเป็นเจ้าครั้งกรุงศรีอยุธยา นี่ก็เป็นพะยานอีกชื่อหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงหมกมุ่นในพระยศและพระกามารมณ์นัก ทรงเห็นแก่ราชการแผ่นดินเป็นที่ตั้ง จึงทรงสามารถพระราชทานเจ้าหญิงแก่เจ้าพระยาสวรรคโลกได้ และก็เป็นข้อพิสูจน์อีกแห่งหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดปรานท่านเจ้าพระยาสวรรคโลกไม่น้อย ฯลฯ

เจ้าพระยาสวรรคโลก ถึงอสัญญกรรมในราวปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ หรือต้นปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้พบสมุดบัญชีของมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี ยังมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติจนทุกวันนี้ กล่าวถึงช้างมฤดกของเจ้าพระยาสวรรคโลก ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ ว่ามีจำนวน ๒๒ ช้างบอกรายชื่อไว้พร้อม

คำที่ทางราชการใช้ว่า มฤดก กับระบาทว์ ผิดกันอยู่ในข้อสำคัญ คือว่า ถ้าช้าราชการตายไม่มีผิดก็เรียกสมบัติของผู้ตายนั้นว่า มฤดก เช่นมฤดกเจ้าพระยาจักรี (หมุด) มฤดกเจ้าพระยาสรรค์ มฤดกเจ้าพระยาสวรรคโลก หากขุนนางตายโดยมีความผิด ต้องถูกประหารชีวิตริบทรัพย์ ก็เรียกสมบัติของผู้ตายนั้นว่า ระบาทว์ เช่น ระบาทว์อ้ายบุญเมืองเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นทางราชการเรียกสมบัติของเจ้าพระยาสวรรคโลกว่า มฤดก ก็หมายความว่า เจ้าพระยาสวรรคโลกถึงอสัญญกรรมโดยปรกติ ที่เป็นไปตามธรรมดาแห่งสังขารอันมีแตกดับเป็นที่สุด ซึ่งมนุษย์หรือใครอื่นจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นเลย แต่อสัญญกรรมของเจ้าพระยาสวรรคโลก ทำให้ความมั่นคงของเมืองสวรรคโลกลดลงไปมาก หรือจะพูดว่าเท่ากับหลักเมืองของสวรรคโลกล้มลงก็ว่าได้ ถ้าท่านยังคงอยู่ครองเมืองนั้น และได้ต้อนรับกองทัพอะแซหวุ่นกี้มหาศัตรูของสยาม บางทีเมืองสวรรคโลกจะไม่ถูกพะม่าเหยียบย่ำสะบั้นลงก็เป็นได้ แต่ประจวบเป็นคราวเคราะห์ของเมืองสวรรคโลกและของสยาม บังเอิญนายทหารเสือตัวยง ไม่ได้อยู่รับผิดชอบในเมืองสวรรคโลก มิฉะนั้นเราจะได้เห็นฝีมือหลวงพิชัยราชา นายทัพหน้าของพระยากำแพงเพ็ชร์ (สิน) อีกครั้งหนึ่ง

เพื่อให้ได้ทัศนะอย่างกว้างขวาง ในเรื่องชาติกำเนิดของเจ้าพระยานครน้อย มีปรากฏเรื่องราวซึ่งเขียนโดยฝรั่งที่เมืองเกาะหมาก ลงพิมพ์ไว้แต่ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนชื่อนายพันโตโลเป็นต้น นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า

ลูกเขย (เจ้าพระยานครหนูหรือหลวงนายสิทธิ์) ผู้นี้ คือเจ้าพระยานครน้อยที่เรียกกันว่าเจ้าพัด เป็นต้นวงศ์ของพวกนครศรีธรรมราช เดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้านครเป็นภรรยา จึงไปเป็นมหาอุปราช เรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อเจ้านคร (หนู) เสียเมืองก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ด้วย ครั้นเมื่อเจ้านคร (หนู) กลับออกไปเป็นเจ้าครั้ง (กรุงธนบุรี) นี้ ก็โปรดให้กลับออกไปเป็นวังน่าตามเดิม อยู่มาเมื่อปลายแผ่นดินตากชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร หรือเพราะความคิดของเจ้ากรุงธนบุรีที่จะคิดปลูกฝังลูกให้ได้ครองเมืองอื่น ๆ กว้างขวางออกไป แนวเดียวกันกับกรมขุนอินทรพิทักษ์ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านคร ซึ่งเป็นน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงษ์นรินทร์ให้ออกไปเป็นชายาบุตรเจ้าพระยานครคนเล็กนี้ ที่เจ้าพระยาพิไชยราชามาขอ กริ้วว่า บังอาจจะมาเป็นเขยน้อยเขยใหญ่ ให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิไชยราชาเสียนั้น กล่าวกันว่า เมื่อเวลาพระราชทานมีครรภ์ ๒ เดือน เจ้าพัดจะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ต้องไปตั้งไว้เป็นนางเมือง ไม่ได้เป็นภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเป็นชายชื่อน้อย ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย และพวกบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันในเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรีกับพวกนครศรีธรรมราช พระยาเสน่หามนตรี บุตรเจ้าพระยานครน้อย ได้คุณปลัดเสงี่ยม บุตรพระพงษ์นรินทร์เป็นภรรยา ส่วนบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีอื่น ๆ ไม่ได้มีสามีเป็นขุนนางเลย ได้แต่กับเจ้านายในพระราชวงศ์ปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น นี่เหตุที่นับว่าเป็นญาติกันจึงยกให้กัน บุตรเจ้าพระยานครพัดที่เกิดด้วยชายาเก่าทำราชการในรัชชกาลที่ ๑ สองคน คุณนุ้ยใหญ่อยู่วังหลวง เป็นเจ้าจอมมารดากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ คุณนุ้ยเล็กอยู่วังน่า เป็นเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าปทัมราช คุณนุ้ยเล็กคนนี้ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ รับสั่งเรียกหม่อมป้านุ้ย อยู่มาจนถึงรัชชกาลปัจจุบัน (ที่ ๕) นี้ บุตรภรรยาน้อยของเจ้าพระยานครพัดที่ข้าพเจ้ารู้จักคือ ท่านผู้หญิงหนูภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ