มรดกและสินสมรส

คดีตัวอย่างระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความยุติธรรมแก่พสกนิกรของพระองค์เพียงใด จะเห็นได้จากประกาศพระราชบัญญัติมรดกสินเดิมและสินสมรสเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่ง มีสาระสำคัญว่า

...พระยามหาอำมาตย์ นำข้อความนายภามาร้องถวายฎีกากล่าวโทษพระยาชลบุรี กรมการ กับขุนเทพอาญา ขุนศาล ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เดิมอำแดงอูมารดาจีนหก ให้เถ้าแก่มาขออำแดงเจียมต่อนายสุกอำแดงดี บิดามารดาอำแดงเจียม ให้เป็นภรรยาจีนหก มีเงินสินสอด ๑๐ ตำลึง เงินทุน ๒ ชั่ง เรือนหอฝากระดานหลังหนึ่ง นายสุกอำแดงดี ยกอำแดงเจียมให้อยู่กินเป็นผัวเมียกับจีนหก เกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง อยู่มาจีนหกตาย ฝ่ายอำแดงอูมารดาจีนหกมาฟ้องต่อพระยาชลบุรีจะขอสินเดิมคืน พระยาชลบุรีประทับฟ้องให้ขุนมหาดไทยเป็นตุลาการพิจารณาเสร็จสำนวน ส่งสัจเข้ามาให้พระกระเสมผู้ปรับ ๆ สัจไปว่า ให้อำแดงเจียมคืนเงินทุน ๒ ชั่ง กับเรือนหอหลังหนึ่งให้กับอำแดงอูมารดาจีนหกตามกฎหมาย ฝ่ายอำแดงเจียมมีคำทุเลาว่า อำแดงเลี่ยมกับจีนหกมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง จะไม่ได้ส่วนทรัพย์ของปู่ย่าบ้างหรือ อำแดงเจียมไม่ยอม ติดใจอยู่ พระยาชลบุรี ขุนมหาดไทยให้ยกคำเสีย จะเร่งเอาสินเดิมคืนให้อำแดงอูมารดาจีนหกผู้ตายตามใบสัจ

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ซึ่งพระกระเสมปรับสัจว่าให้อำแดงเจียมคืนสินเดิมให้อำแดงอูมารดาจีนหกนั้น หาเป็นยุติธรรมไม่ ประเพณีบิดามารดาประกอบให้บุตรมีภริยาสามี แล้วบริจาคเงินทองทรัพย์สิ่งของทั้งปวงให้แก่บุตรชายบุตรหญิง ปรารถนาจะให้สืบสกุลวงศ์เป็นเชื้อสายบริบูรณ์ไปภายหน้า บุตรเขยบุตรสะใภ้อยู่กินเป็นผัวเมียกัน จนมีบุตรด้วยกัน บุตรของผู้ตายนั้น ก็นับเนื่องอยู่ในหลาน เป็นสัมพันธญาติหาใช่ผู้อื่นไม่ ควรจะให้บุตรผู้ ตายซึ่งเป็นหลานได้ส่วนแบ่งปันทรัพย์มรดกในสินเดิมบ้าง จึงจะเป็นยุติธรรม ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าชายหญิงสมรสด้วยกัน เขาตายจากกัน สินเดิมมากน้อยเท่าใดให้ทำเป็น ๑๐ ส่วน ให้หลานซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายได้ส่วนแบ่งปันคนหนึ่งให้ได้ส่วนหนึ่ง ถ้ามีบุตร ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๒ - ๘ - ๙ คน ก็ได้ให้คนละส่วนจงทุกคน ถ้าสินเดิมนั้นเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด จึงให้คืนสินเดิมให้กับบิดามารดา ญาติพี่น้องของผู้ตายไป ถ้าผู้ตายมีบุตรถึง ๑๐ คนแล้ว ก็ให้ยกสินเดิมเสีย อย่าให้คืนสินเดิมให้แก่บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายเลย ถ้าผู้ตายมีสินสมรสมาก บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายหาแบ่งปันเอาสินสมรสไม่ จะขอเอาสินเดิมคืนดังนี้ ก็อย่าให้เอาเงินในสินเดิมมาแบ่งปันให้แก่หลานเลย ด้วยเหตุว่าหลานได้ส่วนแบ่งในสินสมรสมากกว่าที่จะได้ส่วนแบ่งปันในสินเดิมแล้ว ถ้าสินสมรสที่บิดามารดาญาติพี่น้องจะยกให้ไว้แก่หลานไม่แบ่งปันเอานั้น น้อยกว่าที่จะได้ส่วนแบ่งปันในสินเดิม ก็ให้คิดแบ่งเฉลี่ยในสินเดิมไปบรรจบกับสินสมรสให้ครบคนละส่วนทุกคน ถ้าบิดามารดาฝ่ายชายก็ดี หญิงก็ดี ถึงแก่มรณภาพทั้งบิดามารดา ยังแต่ญาติพี่น้อง จะขอเอาสินเดิมคืน ก็ให้แบ่ง ๑๐ ส่วน ให้บุตรผู้ตายได้คนละ ๒ ส่วน เหลืออยู่เท่าใดจึงแบ่งปันให้ตามพระราชกฤษฎีกาเดิม ถ้าไม่มีบุตรด้วยกัน มีสินเดิมมากน้อยเท่าใด ให้ทำเป็น ๒๐ ส่วน ถ้าอยู่กินเป็นผัวเมียกันใน ๑๐ ปีลงมา ฝ่ายชายก็ดี หญิงก็ดี ตายจากกัน สินเดิมมีมากน้อยเท่าใด ให้คืนให้กับบิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายตามมากน้อย ถ้าอยู่กินด้วยกันพ้น ๑๐ ปีขึ้นไป ฝ่ายชายหรือหญิงก็ดี ตายจากกันตั้งแต่ ๑๑ ปีขึ้นไป ถึง ๑๙ ปี ให้คิดลดสินเดิมไว้ส่วนผู้ตายให้ผู้ยังปีละส่วน ถ้าอยู่กินด้วยกันถึง ๒๐ ปีขึ้นไป เขาตายจากกัน ก็อย่าคืนสินเดิมเต็มให้แก่บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายนั้นเลย สินสมรสทำได้ด้วยกันมากน้อยเท่าใด ให้แบ่งปันให้กับบิดามารดาญาติพี่น้องบุตรหลานเขาผู้ตาย ตามพระราชกฤษฎีกาเดิม

ขึ้นชื่อว่า “ความทรงไว้ซึ่งยุติธรรม” แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไว้พระราชทานแก่ประชาชนพลเมืองอย่างเหลือหลาย ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือใหญ่โตปานใดก็ตาม ความยุติธรรมจากพระองค์ย่อมนำมาซึ่งความอบอุ่นใจโดยทั่วกัน

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ