- คำนำผู้เขียน
- ๑. เจ้าจอมปราง
- ๒. คนทำเงินแดงปลอม
- ๓. ตั้วเฮียอั้งยี่
- ๔. ฝรั่งอยู่เมืองไทย
- ๕. ทาส
- ๖. กฎมณเฑียรบาล
- ๗. ไทยไว้ผมเปีย
- ๘. ภิกษุสามเณรอนาจาร
- ๙. แจกเงิน
- ๑๐. มหาดาผู้วิเศษ
- ๑๑. เสรีภาพสาวชาววัง
- ๑๒. พานทองคำรองพระชุด
- ๑๓. เทวดารักษาในหลวง
- ๑๔. ศาลพลเรือน
- ๑๕. เถรจั่นวัดทองเพลง
- ๑๖. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
- ๑๗. รางวัลนำจับพระ
- ๑๘. อ้ายยักษ์ อียักษ์
- ๑๙. สังฆราชเลอบอง
- ๒๐. ศพค้างคืน
- ๒๑. นักโทษถวายฎีกา
- ๒๒. ศัพท์แสง
- ๒๓. ฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- ๒๔. ยอดนักการเมืองบูรพาทิศ
- ๒๕. เจ้าจอมกลีบ
- ๒๖. คดีเรือสงครามครรชิต
- ๒๗. เจ้าจอมเฒ่าแก่ นางบำเรอ
- ๒๘. กำนันหญิง
- ๒๙. โทษการทักว่า “อ้วนผอม”
- ๓๐. หม่อมฉิม หม่อมอุบล
- ๓๑. เจ้าพระยาสุรสีห์
- ๓๒. มรดกและสินสมรส
- ๓๓. คดีพระนางเรือล่ม
- ๓๔. ดาวหาง
- ๓๕. เจ้าจอมภู่
- ๓๖. กฎหมายชาวเรือ
- ๓๗. จับหญิงถวายในหลวง
- ๓๘. เหตุเกิดที่พระพุทธบาท
- ๓๙. ตัดศีรษะบูชาพระ
- ๔๐. หญิงหม้าย ชายบวชนาน
- ๔๑. สมาคม “ตั้วเฮีย”
- ๔๒. บ่อนพนันใน “วังหน้า”
- ๔๓. พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)
- ๔๔. เสรีภาพหนังสือพิมพ์
- ๔๕. “พันปากพล่อย”
- ๔๖. พระยาละแวก
- ๔๗. คนกองนอก
- ๔๘. พระสงฆ์หลายแบบ
- ๔๙. ออกแขก
- ๕๐. เจ้าพระยาจักรี (ขุนเณร)
- ๕๑. แซงเรือพระที่นั่ง
- ๕๒. ท้าวศรีสุดาจันทร์
- ๕๓. เจ้านักเลง
- ๕๔. ขุนนางขโมยเสื่อ
- ๕๕. แม่กองพระเมรุ
- ๕๖. ผัวขายเมีย
- ๕๗. พันท้ายนรสิงห์
- ๕๘. คดีอัฐปลอม
- ๕๙. ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ
- ๖๐. ธรรมเนียมหมอบเฝ้าฯ
- ๖๑. หม่อมลำดวน
- ๖๒. ประกาศแช่งน้ำ
- ๖๓. เสพสุราวันสงกรานต์
- ๖๔. ขึ้นขาหยั่งประจาน
- ๖๕. สองกรมหมื่นนักเลงสุรา
- ๖๖. นายสังข์มหาดเล็ก
- ๖๗. ระบอบเลือกตั้งเสรี
- ๖๘. พุทธทำนายเมืองเขมร
- ๖๙. สักหน้าผากจีนเสง
- ๗๐. เรื่องของ “สมี”
- ๗๑. เจ้าจอมทับทิม
- ๗๒. คดีพระยอดเมืองขวาง
- ๗๓. ความหัวเมือง
- ๗๔. นายกล่อมฝรั่ง
- ๗๕. ภาษีพลู
หม่อมลำดวน
ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้บังเกิดมีคดีอันอื้อฉาวร้าวราน และเสียดแทงพระราชหฤทัยมากเกี่ยวกับสมเด็จพระอนุชาธิราช และเรื่องชู้สาวของเจ้านายชั้นสูง ซึ่งนับเป็นจุดด่างดำจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์
ความเดิมของเรื่องมีว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ “วังหน้า” ประชวรมาก มีเรื่องเล่าว่า แต่ก่อนมาได้มีพระราชบัณฑูรประภาษเป็นนัยอุบายแก่พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่ทั้งสองพระองค์ ให้คิดการแผ่นดิน มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปากว่า เมื่อครั้งทรงพระประชวรหนักนั้น มีรับสั่งว่า พระที่นั่งนั้น ๆ ได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมาย เป็นของประณีตบรรจงงดงามดี ทรงพระประชวรเสียนาน ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นรอบคอบเลย จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทม พิงพระเขนย แล้วเชิญเสด็จไปรอบ ๆ พระที่นั่ง เมื่อเสด็จไปนั้น ทรงรำพึงรำพันว่า ของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะตกเป็นของท่านผู้อื่น ภายหลังเมื่อทรงพระประชวรมากแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาที่วัดมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสง ทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่งแล้วทรงปรารถนาจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ ครั้งนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุก แย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงโทมนัสทอดพระวรกายลงทรงพระกันแสงด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ นานา เจ้านายเหล่านั้นก็พากันเข้าปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้วเชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ
เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ ว่าข่มเหงน้ำพระทัย ภายหลังมีพระราชดำรัสอีกว่า
“สมบัติทั้งนี้ เราได้กระทำศึกสงคราม กู้แผ่นดินขึ้นได้ก็เพราะข้าทั้งสิ้น ไม่ควรจะให้สมบัตินี้ได้แก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมันมีสติปัญญา ก็ให้เร่งคิดเอาเถิด”
ตั้งแต่นั้นมา พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัตก็มีความกำเริบ ได้ร่วมคบคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน) ซึ่งเป็นคนแข็งทัพจับศึกของวังหน้า และเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานมากที่สุด กรมพระราชวังบวรฯ เคยตรัสว่า รักเหมือนบุตรบุญธรรม พระยากลาโหม (ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัตตั้งกองเกลี้ยกล่อมคนที่ดีมีวิชาความรู้มาฝึกซ้อมทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน และถ้ามีเหตุการณ์พลาดพลั้งถึงตายก็ฝังศพไว้เสียในกำแพงวังเป็นจำนวนหลายคน จนความเรื่องนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ก็ทรงเก็บงำไว้มิให้แพร่งพราย
ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว จะชำระจับกุมก็ยังไม่มีโจทก์ จึงแต่งข้าราชการที่ซื่อสัตย์คิดไปเข้าด้วยกับวังหน้าเพื่อค้นหาความจริง ก็ได้เรื่องราวที่เชื่อถือได้มากราบทูลทรงทราบทุกประการ ครั้นถึงวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ก็ให้จับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตมาชำระเป็นสัตย์ และซัดทอดไปถึงพระยากลาโหม (ทองอิน) กับพรรคพวกเหล่านั้น พระยากลาโหม (ทองอิน) ให้การว่า แผนการนั้นกะไว้วันถวายพระเพลิง จะลงมือทำร้ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อได้ความกระจ่างชัดเพื่อช่วงชิงราชสมบัติ จึงโปรดให้ถอดพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต เสียจากเกียรติยศ แล้วไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ ส่วนอ้ายทองอินกลาโหม กับสมัครพรรคพวกที่มีหลักฐานชัดว่าคิดการร้ายทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียด้วยกันกับพระยาเกษตราธิบดี (บุญรอด) ที่เคยเป็นผู้ยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราช ให้เอาปืนขึ้นป้อมจะยิงกับวังหลวง นอกจากนั้นก็มีหม่อมจันทา พระสนมเอก อันเป็นที่โปรดปรานของ “วังหน้า” มาก แต่มิได้มีความกตัญญรู้พระเดชพระคุณ บังอาจเป็นชู้กับอ้ายทองอินกลาโหม ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียด้วย
ความเรื่องนี้ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงขัดเคืองพระทัยมาก จะเห็นได้จากในการพระเมรุวังหน้านั้น ทรงพระราชดำริโดยทรงพระโทมนัสในเรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต ตรัสว่า กรมพระราชวังบวรฯ เขารักลูกยิ่งกว่ารักแผ่นดิน ให้ท้ายลูกกำเริบเสิบสานจนถึงคิดประทุษร้ายแผ่นดิน เมื่อผู้ใหญ่ไม่ดีก็จะไม่เผาผีกันละ เสนาบดี ข้าราชการหลายนายต่างช่วยกันกราบทูลทัดทานว่า ซึ่งจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงนั้นไม่สมควร ด้วยราษฎรและหัวเมืองเป็นอันมากที่ทราบก็จะมี ที่ไม่ทราบก็จะมี จะตำหนิติเตียนไปต่าง ๆ
นั่นแหละ... พระองค์จึงรับสั่งว่า ขุนนางจะให้เผาก็จะเผา แต่จะทำพระเมรุนั้นจะทำบูชาพระบรมธาตุ เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้ว จึงจะเผาต่อภายหลังกันความครหานินทา ครั้นมาถึงเดือน ๗ ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๑ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ การพระเมรุแล้ว จึงเชิญพระบรมธาตุ ซึ่งประดิษฐานในระย้ากินรี ออกไปสมโภชเวียนเทียนแล้วจึงได้เชิญพระศพ “วังหน้า” ไปยังพระเมรุ ได้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วเสด็จพระราชทานเพลิง มีการสมโภชพระอัฐิอีก ๑ วัน ๑ คืน เป็น คำรบ ๘ วัน ๘ คืนแล้วแห่พระอัฐิกลับ
ว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงขัดเคืองและน้อยพระทัยสมเด็จพระอนุชาธิราช “วังหน้า” ก็เพียงชั่วแล่นตามวิสัยของปุถุชนเท่านั้น แต่โดยน้ำพระทัยแท้แล้วทรงรักพระอนุชาฯ มาก ค่าที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่ครั้งเก่าก่อน ซึ่งย่อมจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าพระองค์จะไม่ทรงพระราชทานอภัยให้แก่พระอนุชาที่รักของพระองค์
----------------------------