ประหารพระเจ้ากรุงธนฯ

ปัญหาและเบื้องหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือวีรมหาราชของชาติไทย เป็นเรื่องที่เล่ากันไม่รู้จืดและก็ไม่วายคลางแคลงใจอยู่ตลอดมา ข้อความต่อไปนี้ไม่มีจุดประสงค์ที่จะเล่าพระราชประวัติโดยละเอียด หากเพียงเล่าถึงธุลีหนึ่งเท่านั้น และเป็นธุลีแห่งพระราชประวัติอันน่าสลดใจของพระองค์

จดหมายเหตุของมองสิเออร์เดคูวีแยร์ บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๒๕ ในหัวข้อที่ว่า เรื่องพระเจ้าตากสละราชสมบัติ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนราชวงศ์ มีความว่า

คนทั้งหลายคงอยากจะทราบถึงการที่เกิดขบถขึ้นในเมืองไทย ข้าพเจ้าจะได้เล่าให้ฟังอย่างย่อ ๆ ตามเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาจากจดหมายผู้เขียนมาถึงข้าพเจ้าจากเมืองไทยบ้าง ได้ทราบมาจากข้าราชการไทย ๑ กับคนเข้ารีตคน ๑ ซึ่งได้มาพักอยู่ที่นี้ได้เดือน ๑ แล้วบ้าง

เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าตากได้กดขี่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินและชาวต่างประเทศที่เข้าไปอยู่ หรือไปทำการค้าขายในเมืองไทยอย่างสาหัสมาก เมื่อปีกลายนี้พวกจีนซึ่งเคยไปมาค้าขายในเมืองไทย ต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติหนีไปหมด ด้วยทนความกดขี่ของพระเจ้าตากไม่ไหว มาในปีนี้พระเจ้าตากซึ่งเสียพระสติแล้วนั้น ได้กลับกดขี่ข่มเหงพวกพลเมืองมากกว่าเก่าขึ้นอีกหลายเท่า บางทีก็จับพระสนม หรือพระราชโอรสผู้เป็นรัชทายาท หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตรวนเสียบ้าง ลงพระราชอาญาเฆี่ยนเสียบ้าง แล้วแต่พระทัยจะฉุนเฉียวกลับกลอกอย่างไร ก็ทำเอาตามพระทัยทั้งสิ้น บางคนก็ถูกบังคับให้รับผิดในสิ่งที่ตัวไม่รู้เรื่องราวเลยก็มี เพื่อจะได้ปรับผู้นั้นเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้นั้นจะมีให้ได้ บางคนที่ถูกพระเจ้าตากบังคับให้ซัดคนโน้นคนนี้ ซึ่งหาความผิดมิได้แต่เป็นคนมีเงิน เพื่อจะได้ทรงปรับเอาเงินเข้าท้องพระคลังหลวงให้มาก ๆ ข้าราชการเข้ารีต ๒ คนได้ถูกซัดเงินนี้ พระเจ้าตากกลงพระอาญาเฆี่ยนจนคน ๑ ทนความเจ็บปวดที่ถูกเฆี่ยนไม่ไหวก็เลยตาย การที่พระเจ้าตากทรงประพฤติเช่นนี้ทำให้ราษฎรพลเมือง ตลอดถึงเจ้าพนักงานข้าราชการเกลียดเป็นอันมาก ข้าราชการบางคนซึ่งได้รับสั่งให้ทำการข่มเหงต่าง ๆ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็ตกลงปรึกษากันว่า “เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราไม่ทำตามรับสั่งเราก็จะถึงที่ตาย ถ้าเราคงทำตามรับสั่ง ราษฎรก็จะเกลียดชังเราเท่ากับที่เขาเกลียดชังพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว และเราก็คงจะไม่พ้นมือพวกราษฎรเป็นแน่

เมื่อข้าราชการได้ปรึกษากันดังนี้แล้ว จึงได้ตกลงกันจะยุให้ราษฎรเป็นจลาจลขึ้น เพราะราษฎรก็คอยจะลุกอยู่แล้ว และเต็มใจที่จะทำตามคำแนะนำของข้าราชการเหล่านี้ ครั้นเวลา ๒ ยาม ข้าราชการกับราษฎรได้ตรงไปล้อมพระราชวัง และได้พยายามที่จะเข้าไปในพระราชวังให้จงได้ แต่พวกทหารเข้ารีต ๓๖ คน ซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชวัง ได้เอาปืนใหญ่ปืนเล็กและอาวุธต่าง ๆ ต่อสู้และได้ต้านทานพวกจลาจลไว้จนตลอดสว่าง พวกจลาจลหาได้เข้าไปในพระราชวังได้ไม่ พวกจลาจลจึงได้ล้อมพระราชวังเอาไว้มิให้ใครเข้าออกได้ รุ่งขึ้นพระเจ้าตากทรงเห็นว่าจะสู้พวกจลาจลไม่ได้เสียแล้วจึงได้ทรงขอร้องจะทรงผนวช หัวหน้าพวกขบถก็ยอมให้พระเจ้าตากได้ทรงผนวชตามพระราชประสงค์ พระเจ้าตากจึงได้ปลงพระเกศา ทรงครองผ้าเหลือง แล้วจึงได้ทรงอนุญาตให้พวกขบถเข้าไปในพระราชวังได้ ข้าราชการจึงได้นำความไปแจ้งต่อขุนนางสำคัญของเมืองนี้ ๒ คน ซึ่งในเวลานั้นยังกำลังไปทัพทางเมืองเขมรและญวน ขุนนางทั้งสองนี้พอได้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุง ก็ได้จัดทหารและนายทหารให้รีบลงไปบางกอกโดยเร็ว พอทหารและนายทหารเหล่านี้ได้ลงมาถึงบางกอก ก็ได้มาเปลื้องผ้าเหลืองออกจากพระองค์พระเจ้าตากแล้วได้เอาตัวพระเจ้าตากจำตรวนไว้ อีกสองสามวันขุนนางที่สำคัญสองคนนั้นคืออัครมหาเสนาบดีและเป็นแม่ทัพของกองทัพไทยก็ลงมาถึงบางกอก ขุนนางทั้งสองนี้เป็นพี่น้องกัน ผู้ที่เป็นอัครมหาเสนาบดี พอได้มาถึงบางกอก อาณาประชาราษฎรก็ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติทีเดียว

ต่อมาข้าพเจ้าได้รับจดหมายมาอีกฉบับ ๑ บอกข่าวมาโดยเฉพาะ ว่ามีเสียงกล่าวกันว่า ที่พระเจ้าตากต้องสวรรคตลงนั้น เป็นด้วยพวกราษฎรมีความโกรธแค้นนัก จึงได้จับพระเจ้าตากฆ่าเสีย แต่พระเจ้าตากจะสวรรคตด้วยประการใดก็ตามที่เป็นอันแน่นอนว่าพระเจ้าตากได้ถูกปลงพระชนม์สวรรคต เมื่อวันที่ ๗ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕

อย่างไรก็ดีเรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตนี้ โปรดมาพิจารณากันให้กว้างขวาง ในหนังสือเล่มหนึ่งโดยนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความตอนหนึ่งว่า

เดิมทีเดียวเมื่อหลายปีมาแล้ว คือ พ.ศ. ๒๔๖๕ ข้าพเจ้าได้เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ และต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ข้าพเจ้าจึงจำต้องตรวจค้นข้อเท็จจริงจากหนังสือประวัติศาสตร์และพงศาวดารหลายเล่ม ซึ่งเทียบเคียงกันและวินิจฉัยตามความเป็นจริงพร้อมกับหลักฐานและเหตุผล โดยเฉพาะแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอะไรอย่างหนึ่งที่บังเกิดผุดขึ้นในใจข้าพเจ้าในขณะโน้น และอะไรที่เกิดขึ้นนั่นเอง ได้กระทำให้ข้าพเจ้าคลายจากความเชื่อถือในข้อบันทึกไว้ จากนั้นข้าพเจ้าได้เริ่มขบคิด และค้นถึงข้อเท็จจริงปรากฏแล้ว ก็ให้รู้สึกเศร้าและสลดใจเป็นอย่างยิ่งในพฤติการณ์ของนักประวัติศาสตร์บางคนที่ได้บันทึกไว้ในลักษณะมุ่งร้ายป้ายสีในพฤติการณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในตอนที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อันเป็นเหตุให้อนุชนรุ่นหลังพลอยเข้าใจผิดไปด้วย กล่าวคือ กลับขาวให้เป็นดำ กลับดำให้เป็นขาว บันดาลให้ดีกลายเป็นร้าย เอาร้ายกลายเป็นดี เป็นต้นว่า พระองค์มิได้ทรงเสียสติ ถูกป้ายสีว่าเสียพระสติ ไม่ได้ทรงเฆี่ยนตีพระภิกษุสงฆ์ ถูกกล่าวหาว่าเฆี่ยนตีพระภิกษุสงฆ์ ไม่ได้มีพระทัยอำมหิตโหดร้ายทารุณเช่นที่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่นักประวัติศาสตร์ผู้มีอคติบันทึกไว้อย่างน่าเกลียด ฯลฯ

และมีอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ต่อมาไม่ช้าพระองค์ก็ถูกจับยัดใส่กระสอบ และถูกทุบด้วยท่อนจันทน์จนสิ้นพระชนม์ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่ แล้วนำพระบรมศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้จนถึงทุกวันนี้ แม้ ณ บัดนี้ก็ยังมิได้ถวายพระเพลิงซึ่งพระบรมศพอันแท้จริงของพระองค์ท่าน

แต่บันทึกอันแท้จริงของประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า

ผู้คุมและเพชฌฆาตกหามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ขุดหีบศพพระเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพ แล้วพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ