ขึ้นขาหยั่งประจาน

โทษทัณฑ์ที่ใช้กันในสมัยโบราณกาลลงมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมื่อมานึกดูในสมัยเรานี้ก็น่าทึ่งน่าพิสดารและหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย ค่าที่ผู้ต้องโทษทัณฑ์มิได้ตายหรือพ้นความเจ็บปวดโดยรวดเร็ว เหมือนการลงทัณฑ์ในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะโทษที่ต้องขึ้นขาหยั่งประจาน ภายหลังจากถูกตระเวนรอบเมืองนั้น ขอให้วาดภาพหลับตาดูเอาเองก็แล้วกันว่าน่าสยดสยองเพียงใด รายละเอียดของเรื่องนี้อยู่ใน "คำพิพากษาแลพระราชกระแสตัดสินเรื่องโทษอ้ายกลับพระยาไชยา” เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๐๑ กล่าวไว้โดยละเอียดลออว่า

พระยาวิชิตภักดีศรีวิไชยสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองไชยาคนเก่า ชื่อตัวชื่อนายกลับ เดิมเป็นพระบริรักษ์เมืองพังงา เป็นโทษแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๆ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาตัวเข้ามาขังไว้ในกรุงถึงสามปี มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีผู้มาฟ้องกล่าวโทษพระบริรักษ์ภูธร (กลับ) คนนี้ ว่าเจรจาหยาบช้าต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความที่ว่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงจำได้ว่าเป็นโวหารถ้อยคำหยาบช้าตามคำหม่อมไกรสร ซึ่งเป็นชาติเวรต่อพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนเป็นแน่ เพราะคำนั้นไม่เป็นวิสัยคนไพร่ผู้เป็นโจทก์ แลพระบริรักษ์ภูธร (กลับ) คนนี้ แต่ก่อนก็ได้ประจบประแจงอยู่กับหม่อมไกรสร แลสมคบกับเจ้าฟ้าอาภรณ์ เมื่อกำลังฝากตัวเข้าเป็นหลานสนิทของหม่อมไกรสรนั้น เพราะฉะนั้น เห็นพระบริรักษ์ภูธร (กลับ) จะว่าหยาบช้านั้น ด้วยได้มาแต่ปากหม่อมไกรสรหรือเจ้าฟ้าอาภรณ์ แล้วที่พูดต่อไปเป็นแน่ ด้วยเป็นความวัด ๆ วา ๆ พระ ๆ สงฆ์ ๆ ตามวิสัยพวกนั้น ไม่เป็นวิสัยแก่เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ หมู่อื่น กรมอื่น นอกจากหม่อมไกรสรแลเจ้าอาภรณ์ ที่ถนัดหาคำวัด ๆ วา ๆ มานั้นเลย แต่เพราะความหยาบช้าทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเสีย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นชอบด้วย ทรงโมทนาด้วย จึงได้โปรดให้ยกความนั้นเสียทีเดียวไม่ให้ชำระ ถึงพระบริรักษ์ภูธร (กลับ) กราบทูลยอมขอให้ชำระ ก็ไม่ทรงชำระเลย แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระบริรักษ์ภูธร (กลับ) ไปเป็นที่พระยาไชยา ได้ว่าราชการเมืองไชยามาได้ ๔ ปี ภายหลังมีผู้มาฟ้องกล่าวโทษพระยาไชยาหลายข้อ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเทพวรชุน หลวงนายสิทธิ นายจ่าเขมงศัสตรียาวุธออกไปชำระ ก็มีผู้มาฟ้องกล่าวโทษพระยาไชยาเข้าอีกมากมายหลายเรื่องนัก นับกว่า ๖๐ เรื่อง ๗๐ เรื่อง ชำระไปให้ก็แพ้โจทก์ทุกเรื่อง แต่พระยาไชยาไม่อ่อนน้อมกระด้างกระเดื่องต่อตุลาการ ๆ จึงได้มีใบบอกกล่าวโทษเข้ามาอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีตราสั่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชขึ้นมาช่วย ชำระ เพราะพี่สาวพระยาไชยาได้เป็นภรรยาเก่าของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชมาแต่ก่อน แต่ตัวพระยาไชยานั้น ให้มีท้องตราไปถอดถอนเสียจากที่แล้วให้จำตรวนไว้ แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งพระสิงคิคุณอดุลย์ภูมานุรักษ์ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำเนิดนพคุณไปเป็นที่พระยาไชยาว่าราชการต่อไป ครั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชขึ้นมาชำระความอยู่ ณ เมืองไชยา ป่วยลง กราบถวายบังคมลากลับลงไปเมืองนครศรีธรรมราช ความ ๖๐ หรือ ๗๐ เรื่อง ซึ่งราษฎรฟ้องกล่าวโทษพระยาไชยานั้น ได้ความจริงเป็นสัจแน่แล้ว ๒๘ หรือ ๒๙ เรื่อง แล้วยังค้างอยู่เป็นอันมาก ท่านเสนาบดีปรึกษาเห็นพร้อมกันกราบทูลพระกรุณาว่า พระยาไชยาคนนี้ ครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเป็นพระบริรักษ์ภูธรอยู่เมืองพังงา ก็มีความผิดเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจะให้อยู่ในเมืองพังงาไม่ได้ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้หาตัวมากักขังไว้ในกรุงเทพมหานครนี้ ไม่โปรดให้กลับออกไป ครั้งนี้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้มีบรรดาศักดิ์สมแก่ชาติตระกูล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เอาปฏิญญาทานบน แล้วจึงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระยาไชยา พระยาไชยากลับมีความฮึกเหิมหนักไป คิดว่าไกลพระเนตรพระกรรณ เมื่อได้ยศศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองแล้ว ก็เห็นเป็นช่องที่จะหาลาภหาผล จึงทำการข่มเหงราษฎร ทำให้เดือดร้อน มากมายหลายเรื่อง ไม่ควรจะเอาไว้ ขอรับพระราชทานให้ประหารชีวิตเสีย อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ซึ่งจะทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองไกล ๆ ต่อไป แต่อ้ายกลับพระยาไชยาทำความข่มเหงราษฎรมากมายหลายเรื่องนัก ถ้าจะชำระไปก็มิรู้สิ้นรู้สุดลงเหมือนกับครั้งความหม่อมไกรสร ทำข่มเหงคนเป็นอันมากมาช้านาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชำระความ เกิดทับ ๆ มาหลายร้อยเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่สุดลง จนต้องโปรดให้ลูกขุน ณ ศาลา แลลูกขุนศาลหลวงปรึกษา ก็ต้องพร้อมกันขอรับพระราชทานไปให้สำเร็จโทษใช้ทุกข์ราษฎรทั้งปวงเสียเป็นตัวอย่างที่สูง ถ้าจะว่าตัวอย่างที่ต่ำก็เหมือนอ้ายม่วงอ้ายเมือง ที่เป็นขุนชำนาญแลหมื่นรามกองกระบือของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย อยู่บ้านนาเริ่ง แลอ้ายปานซึ่งเป็นที่หมื่นรักษาพลกองนอกขึ้นในกรมพระกลาโหม อยู่แขวงเมืองราชบุรี คนสามคนนั้นได้ฉ้อฉกลักช้างแลโคกระบือปล้นกลางทางเปลี่ยว แลสมคบทาสลูกหนี้เจ้าเบี้ยนายเงินไปเป็นอันมากนับเรื่องไม่ถ้วน จะชำระไปไม่สุดสิ้น จึงต้องพร้อมกันขอรับพระราชทานให้ประหารชีวิตให้เป็นอันใช้ทุกข์แก่ราษฎรเสีย ในปีเถาะ สัปตศกนั้น เป็นอย่างมาแล้ว ครั้งนี้อ้ายกลับ พระยาไชยาคนนี้ ก็ขอรับพระราชทานให้ ทรงอนุญาตให้เสนาบดีมีท้องตราบังคับสั่งให้ประหารชีวิตใช้ทุกข์แก่ราษฎร ซึ่งได้ทุกข์เพราะอ้ายกลับ พระยาไชยาทำนั้นเสีย ตามแบบอย่างทั้งอย่างสูงอย่างต่ำนั้น เทอญ ฯ

จึงทรงพระราชดำริว่า ความคิดของท่านเสนาบดีว่าดังนี้ ก็ชอบด้วยทางราชการหนักหนาแล้ว แต่ทรงพระราชดำริว่าจะให้มีท้องตราออกไป ให้ประหารชีวิตเสียตามคำท่านเสนาบดี ญาติพี่น้องของอ้ายกลับพระยาไชยาที่มีอยู่ในกรุงบ้าง ก็จะให้อ้อนวอนพระสงฆ์ให้มาทูลขอ ครั้นจะไม่พระราชทานพระสงฆ์ก็จะติเตียนว่า ไม่ทรงทำตามธรรมิกโอวาท ของสมณพราหมณ์ จะพระราชทานเล่า บุญคุณความดีก็จะตกอยู่แก่พระสงฆ์ฝ่ายเดียว ดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระราชหฤทัยเมตตากรุณาแก่สัตว์เลย ถ้าจะตรัสตอบสงฆ์ว่า การเรื่องนี้สุดแต่ท่านเสนาบดีเถิด เพราะเป็นความของท่านเสนาบดีตัดสิน พวกพ้องอ้ายกลับพระยาไชยา ก็จะรบกวนพระสงฆ์ให้ไปขอต่อท่านเสนาบดีมีให้ประหารชีวิต ท่านเสนาบดีก็จะอ้างรับสั่งในหลวงเล่า การก็จะโย ๆ เย ๆ เป็นล้อเลียนกัน ไปไม่เป็นราชการแผ่นดิน บัดนี้จึงทรงพระราชดำริตัดสินการที่ควรให้เห็นพร้อมว่า อ้ายกลับพระยาไชยา เมื่อออกไปเป็นพระยาไชยาก็มีความชอบอยู่ ด้วยเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งจะล่วงบังคับการงานสิ่งไรที่ชัดต่อการแผ่นดิน นอกจากท้องตราพระคชสีห์ใหญ่ที่ออกไปจากกรมพระกลาโหมแล้ว อ้าย กลับพระยาไชยากไม่เชื่อฟังเลย เชื่อฟังแต่ท้องตราพระคชสีห์ ซึ่งไปแต่กรมพระกลาโหมอย่างเดียว อันนี้เป็นความชอบต่อราชการแผ่นดินมากอยู่ ครั้นจะให้ประหารชีวิตอ้ายกลับพระยาไชยา ตามที่ท่านเสนาบดีพร้อมกันกราบทูลพระกรุณา ใช้ทุกข์ของราษฎรที่ได้ความเดือดร้อนเพราะอ้ายกลับนั้นเล่า คนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าประหารชีวิตด้วยเรื่องอะไร ก็จะเป็นเหตุให้เล่าลือกันไปผิด ๆ ถูก ๆ ต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ออกไปลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายกลับพระยาไชยาสามยก แล้วตระเวนบกสามวัน ตระเวนเรือสามวัน แล้วเอาขึ้นขาหยั่งประจานว่าเป็นโทษเพราะได้ทำราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน จึงได้รับพระราชอาญาอย่างนี้ แล้วให้ริบราชบาตรอ้ายกลับพระยาไชยาให้สิ้นเชิง แล้วรวบรวมเอาทรัพย์สินเงินทองบรรดามี แลสิ่งของมีราคาควรจะขายได้ก็ให้ขายเอาเงินเพิ่มเข้าแล้ว เฉลี่ยแจกใช้ให้แก่ราษฎรทุก เรื่องความที่อ้ายกลับได้ข่มเหงนั้นโดยสมควร แต่บุตรภรรยาทาสชายหญิงของอ้ายกลับนั้น จงเก็บเอามาเป็นหลวง ที่มีค่าตัวจะประทานเงินหลวงตามค่าตัว ที่ไม่มีค่าตัวจะพระราชทานตามเกษียณอายุ เอาไปรวมแจกให้ราษฎรจนสิ้น เพื่อจะมิให้ใครดูเยี่ยงอย่างต่อไป ทรงพระราชดำริดังนี้ เมื่อท่านเสนาบดีผู้ใดไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้กราบทูลพระกรุณาให้ยักย้ายอย่างใดก็ตาม เมื่อทรงเห็นขอบด้วยก็จะทรงประพฤติตาม

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ