พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)

พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) พระราชาคณะวัดราชบูรณะหรือวัดเลียบเดิม เป็นพระเถระที่มีความรู้ปราดเปรื่องทางอักษรศาสตร์และภาษาศาสตร์มากองค์หนึ่ง แต่บั้นปลายของชีวิตถูกพระพรหมเล่นงานเสียอย่างโชกโชน ถึงกระนั้นก็ดี ก็ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์แต่งหนังสือเรียนคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สองแห่งราชวงศ์จักรี หลวงทุกขราษฎร์ กรมการเมืองเพชรบุรีเป็นอาจารย์ใหญ่ บอกพระปริยัติธรรมคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกแก่บรรดาพระภิกษุสามเณรในเมืองเพชรบุรีนั้น ต่อมาภายหลังหลวงทุกขราษฎร์เข้ามารับราชการในกรุงเทพพระมหานคร ประจำอยู่ในกรมราชบัณฑิตฝ่ายพระราชวังบวรฯ หรือที่เรียกกันว่า “วังหน้า” ได้ว่าที่หลวงญาณปรีชา เจ้ากรมขวา ในกรมราชบัณฑิตนั้น ไม่ช้าไม่นานก็ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นที่พระมหาวิชาธรรม จางวางกรมราชบัณฑิต แล้วก็ได้เป็นอธิบดีแม่กองสอบไล่หนังสือขอมพระปริยัติธรรมพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นแผนกสอบไล่ฝ่ายในพระราชวังบวรฯ

ครั้งนั้นพระมหาวิชาธรรม มาได้ภรรยาในเมืองหลวงชื่อผ่อง เป็นธิดาหลวงธรรมรักษา (บุญเกิด) มีบุตรกับภรรยาหลวงเป็นชายชื่อว่านายผึ้ง นายผึ้งผู้นี้ได้ไปเล่าเรียนอ่านหนังสือไทยและขอมกับพระญาณสมโภช ณ วัดมหาธาตุ แล้วได้เล่าเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกในที่ประชุมพระเถรานุเถระที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในขณะที่เป็นสามเณรสามารถสอบได้ ๕ ประโยค ในครั้งแรก ได้รับตาลิปัตรมหากับเขาด้วย

ครั้นเมื่อสามเณรผึ้งมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้บวชเป็นพระภิกษุในพรรษาต้น ได้เข้าสอบไล่ได้ ๓ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๘ ประโยค ได้รับพระราชทานนิตยภัตและตาลปัตรเลื่อนตามตำแหน่งยศเปรียญเอก

ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระมหาผึ้งเปรียญเอกเป็นที่พระเทพย์โมฬีพระราชาคณะสามัญวัดราชบูรณะในพระนคร พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) ผู้นี้มีนิสัยเป็นนักปราชญ์ฉลาดทางหนังสือขอมและหนังสือไทยเป็นอันมาก และเป็นผู้ตัดสินคิดประดิษฐ์แต่ง ปฐมมาลา เป็นตำราสั่งสอนวิชาหนังสือไทยให้ใช้อย่างถูกต้อง ตามทำนองแบบหนังสือ จินดามณี ใช้ตัวพยัญชนะและสระถูกต้อง พระเทพย์โมฬีผู้นี้มีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการเทศนา เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก กล่าวได้ว่าจะหาพระราชาคณะองค์ใดมาเสมอเหมือนมิได้เลย นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่ติดอกติดใจของท่านเจ้าขุนมูลนายราษฎรทั่วไปในฝีปากเทศน์อีกด้วย

แต่ในกาลต่อมาบังเกิดมีพระอมรโมฬี (สา) พระราชาคณะสามัญ วัดบวรนิเวศอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เฉลียวฉลาด เป็นนักปราชญ์อีกองค์หนึ่ง ถวายเทศนาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดปรานมากเสมอเท่าพระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ พระอมรโมฬีรูปนี้ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อยู่ต่อมาในกาลครั้งหนึ่ง จวน ๆ จะถึงกำหนดการฉลองวัดพระเชตุพน เป็นงานมหกรรมสมโภชพระอารามหลวง ซึ่งในเรื่องการวัดวาอารามเช่นนี้ ย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทได้ทุกอย่างเพื่อพระบวรพุทธศาสนา ครั้งนั้นทรงจัดสรรเครื่องไทยทานสำหรับที่จะพระราชทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะนั้นรูปหนึ่ง ราคาไทยทานไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชั่ง อันเป็นจำนวนมิใช่เล็กน้อยเลย และทรงจัดสรรสิ่งของที่มีค่าสำหรับจะถวายแก่พระสงฆ์

การครั้งนี้พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) มาจินตนาการว่า ถ้าเราจะอยู่ในที่พระราชาคณะเช่นนี้ ก็คงที่จะต้องรับพระราชทานไทยทานของหลวงราคาสิบชั่งในการฉลองวัดพระเชตุพนครั้งนี้ ถ้าเรารับแล้วจะถวายพระพรลาสึก ก็ดูจะน่าเกลียดมากโขอยู่ เหมือนกับว่ารับไทยทานของราคาสิบชั่งแล้วก็เอามาทำทุนในเพศฆราวาส ไม่ควรจะรออยู่จนรับพระราชทานเลย

เมื่อมาดำริเช่นนี้แล้ว จึงได้ตระเตรียมการที่จะเข้าไปถวายพระพรลาสิกขาบทต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ทันจะเข้าเฝ้า ณ พระบรมมหาราชวัง ก็พอดีมีฎีกากรมสังฆการีมาวางความตามฎีกาว่า

“ขออาราธนาเจ้าคุณเทพย์โมฬี เข้าไปถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษ ในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มไหยสุริยพิมาน (ท้องพระโรง) ในพระราชวังหลวงเมื่อเวลายามหนึ่ง”

ปรากฏว่าพระเทพย์โมฬีตกใจมาก จึงรีบเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระพรลาสิกขาบท ก่อนเวลาจะถวายเทศน์กัณฑ์พิเศษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นความลุกลี้ลุกลนของเจ้าคุณเทพย์โมฬีดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า

“ชีต้นผึ้งเข้ามาหาโยมทำไม มีธุระร้อนอะไรหรือ หรือหลงวันเข้ามาจะเทศน์ วันนี้ยังไม่ทันถึงวันกำหนดนัดที่จะมีเทศน์”

ฝ่ายพระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) จึงถวายพระพรว่า

“ขอถวายพระพรเจริญแด่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า อาตมาภาพขอถวายพระพรลาสึก ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธมาก มีพระบรมราชดำรัสว่า

“โยมชอบใจฟังชีต้นผึ้งเทศน์ เมื่อชีต้นจะสึกไม่เทศน์ให้โยมฟังก็ตามแต่ใจเถิด” พร้อมกันนั้นมีพระบรมราชโองการว่า

“เฮ้ย อ้ายสังฆการีที่มึงไปวางฎีกานิมนต์ชีต้นผึ้งเทศน์นี้ ให้ถอนฎีกาเอามานิมนต์ชีต้นสาวัดบนเทศน์เถิด”

ฝ่ายสังฆการีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ แล้วไปถอนฎีกาที่พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) ย้ายมาถวายพระอมรโมฬี (สา) วัดบนหรือวัดบวรนิเวศต่อไปตามรับสั่ง

แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก กล่าวคือพระอมรโมฬี (สา) เมื่อได้รับฎีกาแล้วตกใจเป็นล้นพ้น ตอบแก่พวกสังฆการีว่า

“อาตมภาพรับฎีกาไม่ได้” ครั้นแล้วก็รีบเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ท้องพระโรง แล้วถวายพระพรว่า “อาตมภาพขอถวายพรลาสึก" กราบทูลห้วน ๆ แล้วก็รีบกลับวัด

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทวีความพิโรธขึ้นเป็นสองเท่า มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า

“ข้าชอบฟังเทศน์ท่านเจ้าผึ้ง ท่านเจ้าผึ้งก็ลาสึก ครั้นย้ายมานิมนต์ท่านเจ้าสาก็สึกเสียอีก ที่นี้ข้าจะไปฟังเทศน์ใครหนอ แต่เออว่าข้าไม่ของ้อท่านทั้งสอง ทีนี้ละเฮ้ย อ้ายสังฆการีมึงไปนิมนต์เหมาท่านเจ้าถึกวัดโพธิ์ทีเดียวเถอะหว่า” (ท่านเจ้าถึกคือ พระธรรมวโรดม เปรียญเอก ๙ ประโยค วัดพระเชตุพน)

ครั้งนั้น จึงมีพระราชดำรัสสั่งแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (หม่อมไกรสร) อธิบดีกรมธรรมการสังฆการีว่า

“ท่านวังนอก เธอจงตกลงยอมให้ท่านเจ้าผึ้งกับท่านเจ้าสาลาสึกได้”

เจ้าคุณผู้ร้อนผ้าเหลืองทั้งสอง มีโอกาสได้รับคำอนุญาตให้สึกแล้ว นายผึ้งเข้าไปถวายตัวเป็นข้าในกรมพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ส่วนนายสาเข้ามาถวายตัวเป็นข้าในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอรรณพ

อยู่มามิช้ามินาน นายผึ้งเคราะห์ร้าย มีโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าเป็นปาราชิก กับเจ้าจอมมารดาม่วงแจ้ พระสนมเอกในกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าจอมมารดาม่วงแจ้เป็นบุตรเจ๊สัวแจ้) ครั้งนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศร์ นำข้อความขึ้นกราบทูลพระกรุณา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (กระต่าย) เป็นตุลาการ พิจารณาชำระความปาราชิก นายผึ้งให้การสารภาพรับเป็นสัตย์ตามคำกล่าวหาของโจทก์ทุกกระทงความ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำตัวนายผึ้งไปสักหน้าผากเป็นตะพุ่นหญ้าช้างตามโทษานุโทษ

อนึ่ง เมื่อวันฉลองวัดพระเชตุพนนั้น มีโขนขุดอุโมงค์โรงใหญ่ (คือโขนชักรอกเรื่องรามเกียรติ์) ครั้งนั้นพระราชาคณะถูกเกณฑ์ทำต้นพุ่มดอกไม้เพลิงมาปักล้อมวัดพระเชตุพน เป็นการประกวดประขันกัน

เรื่องของนายผึ้งยังไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ช่างวาดเขียนฝีมือดีวาดรูปนายผึ้ง วาดลงไว้ในแผ่นกระดาษใหญ่ เขียนให้เท่ารูปคนจริง ๆ ทั้งให้เขียนเหมือนนายผึ้ง นุ่งผ้าเขียวตะพุ่น ยืนหาบหญ้ามือถือเคียว และที่กระดาษรูปนายผึ้งนั้น มีฉลากปิดเป็นอักษรไทยอยู่ในแผ่นกระดาษว่า “นายผึ้ง เทพย์โมฬีหาบหญ้า” เป็นการประจานกันกลางเมืองทีเดียว

จะอย่างไรก็ตาม พระเทพย์โมฬีหรือผึ้งผู้นี้ ชีวิตของเขาย่อมเป็นไปตามกรรมลิขิต อันเป็นหลักธรรมดาในความเป็นมนุษย์ปุถุชน แต่ผลงานในทางแต่งตำราเรียนสอนกุลบุตรธิดานั่นสิ นับว่าได้ทำกุศลไว้มากและกุศลอะไรจะแรงไปกว่า “วิทยาทาน” ย่อมหายาก

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ